ธรรมบรรยาย แก่นสารของชีวิต

ธรรมบรรยาย แก่นสารของชีวิต

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน

เจริญสุขท่านพุทธศาสนิกชน อุบาสก อุบาสิกา ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ เป็นวันใคร่ธรรมสัมมาปฏิบัติ ที่พุทธบริษัททั้งหลายมาบำเพ็ญประโยชน์ บำเพ็ญกุศลให้ชีวิตมีแก่นสารและสารธรรม เป็นการฝึกกริยาในจิตใจของท่านให้อดทนพร่ำภาวนา จิตใจจะได้เข้ามุ่งมาดปรารถนาในสารธรรม ความดีเป็นแก่นสารของชีวิตนี้มาก ไม่มีอะไรดีกว่านี้แล้ว และวันนี้เป็นวันปฐมบรมกษัตริยวงศ์จักรี เป็นวันที่ระลึกพระคุณของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นวันมิ่งขวัญมงคลวันหนึ่งของประชาชนชาวไทย ที่มีพระราชามหากษัตริย์ขัตติยะรุ่งเรืองมาตามอันดับ ก็มีแก่นเนื้อหาสาระและสารธรรมเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ประจำชีวิตของท่านทั้งหลาย
การประพฤติตนให้เป็นแก่นสารเรียกว่า สารธรรม การเจริญพระกรรมฐานการปฏิบัติธรรมเพราะต้องการประพฤติตนให้เป็นเนื้อหาสาระแก่ชีวิต พระกรรมฐานทำให้ชีวิตมีค่า ทำให้เวลามีประโยชน์แก่ท่าน สร้างกิจกรรมให้แก่ตนเอง เป็นเรื่องของการทำตนเองให้เป็นแก่นสาร ก็ความดีทั้งหมดนี้เป็นแก่นสารของชีวิต ความดีที่จะเป็นแก่นสารของชีวิตได้ท่านต้องเจริญพระกรรมฐาน เจริญสติปัฏฐาน ๔ สร้างความดีให้แก่ตน เพื่อดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาด

การบำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะต้องการให้จิตใจเข้าถึงเนื้อหาสาระ มีจิตใจเข้มแข็ง มีจิตใจมุ่งมาดปรารถนาในความดีเป็นแก่นของชีวิตนั่นเอง การมีปัญญารอบรู้แก้ไขปัญหาของชีวิตได้ก็ด้วยการเจริญพระกรรมฐาน การเจริญกรรมฐานจึงมีประโยชน์แก่ท่านเอง ท่านทั้งหลายที่เรามาปฏิบัติธรรมกันในวัดวาอาราม ไม่ใช่หมายความว่าเข้าวัดมาทำสังฆทานเท่านั้น ทานนี้ยังไม่เพียงพอ ยังไม่สามารถเป็นสารธรรม ยังไม่สามารถเป็นความดี ในการถวายสังฆทานให้เข้าถึงจิตใจแก่นสารเนื้อหาสาระได้ ท่านต้องเจริญกุศลภาวนา บำเพ็ญศีล บำเพ็ญจิตภาวนา เราเพียงมาทำบุญตักบาตรข้าขันแกงโถมาในวัดก็ยังไม่มีเนื้อหาสาระ การจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นการมีอัธยาศัยของบุคคล มีอัธยาศัย มีน้ำใจ ก็เรามีสติสัมปชัญญะควบคุมจิตได้ จิตทานถึงจะมีแก่นสาร ชีวิตท่านถึงจะมีเนื้อหาสาระได้ บางคนมีเงินมีทองมากมายก่ายกอง แต่ขาดสติ ใช้เงินไม่เป็น ใช้เงินฟุ่มเฟือย ออกไปชอปปิ้งที่โน่นชอปปิ้งที่นี่ ไม่มีแก่นสารเนื้อหาสาระแต่ประการใด ชีวิตจะอับเฉา ชีวิตจะเบาปัญญา ไม่ได้มีหน้ามีตา เหมือนคนอื่นเขาที่มาปฏิบัติกรรมฐาน
เนื้อหาสาระนี้ไม่ใช่ไม้ฉำฉา ไม้ต้องมีแก่น คนต้องมีหลักฐาน คนต้องมีงานทำ เรียกว่าเนื้อหาสาระ เรียกว่าไม่มีแก่น พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า สารัญ จะ สาระโต กัลยัตปราวา อสารัญ จะ อะสาระโต เปสะรัง อภิขัตขันติ สัมมาสังกัปโป สัมมาสังกัปปะ โคจะรัญ นี่แหละท่านทั้งหลาย มีความหมายอันนี้ เราประชาชนทำตนให้เป็นแก่นสารเข้าถึงธรรม เข้าถึงเนื้อแท้ เข้าถึงศีล สมาธิ ปัญญา ถึงกรรมฐานเป็นการชดเชยสังขารร่างกายว่าตามปกติไม่มีแก่นสารอะไรเลย เกิดมาแล้วก็แปรเปลี่ยนไปทุกอย่าง จนกระทั่งผลสุดท้ายทนอยู่ไม่ไหว ต้องแตกดับทำลายไป ร่างกายอยู่ในสภาพไร้วิญญาณ เลิกทำ เลิกพูด เลิกคิด เลิกทุกอย่าง ปล่อยวางภาระให้คนอื่นเขาจัดการแทนต่อไป
นี่แหละความดี แก่นสารของชีวิตเป็นอย่างนี้ ท่านจะเอาอะไรที่แน่นอน ไม่มีอะไรที่แน่นอน ท่านสะสมบุญเถอะ เจริญกุศลภาวนา ท่านจะมีเนื้อหาสาระแก่นสารของชีวิตแน่นอน ชีวิตท่านจะเป็นปกติดีตลอดรายการเช่น เดินจงกรม ต้องเดินให้มีสติ ยืนให้มีสติ นั่งให้มีสติ ยืนหนอ ๕ ครั้ง ยืนมีสติแล้ว เดินมีสติอยู่ที่ปลายเท้า จะเหลียวซ้ายแลขวา จะคู้แขนเหยียดขา มีสติสัมปชัญญะ สาระอยู่ตรงนั้น ถ้าท่านขาดการกำหนดแล้ว ท่านจะไม่ปรารถนาธรรม จิตใจไม่เป็นกุศล จิตใจจะเป็นมลทิน จิตใจจะเป็นบาปอกุศล จิตใจไม่เป็นผลงานไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องดั่งทองคำธรรมชาติที่หล่อเหลา เนื้อหาสาระก็หายไป เลยก็กลายเป็นไม้ฉำฉา ไม่มีเนื้อแก่นแต่ประการใด มีแต่กระพี้ต้นไม้ล้มลุก เช่นต้นพริก ต้นมะเขือ เดี๋ยวก็ล้มตายไป แต่ต้นไม้มีแก่นต้องใช้เวลาปลูกนาน สร้างความดีก็ต้องใช้เวลานานเช่นเดียวกัน
ต้นไม้ที่เราปลูกจะมีแก่นก็ต่อเมื่อ ต้นไม้ถึงคราวเวลาเมื่อได้ที่ของมันก็มีแก่น เหมือนอย่างคนเราสร้างความดีก็เป็นแก่นสารทั้งนั้น ชีวิตเป็นแก่นสารก็คือมีแก่น มีรากแก้ว มีความอดทน มีสัจจะ มีเมตตา มีสามัคคี มีวินัย การเจริญกรรมฐานท่านเข้าใจอะไรหรือ ต้องการจะเอาชีวิตเป็นแก่นสารไหม ชีวิตมีแก่นสาร สำคัญที่การเจริญกุศล บางคนขาดสติมาก แม้มีสตางค์เยอะ หากขาดสติสตางค์ก็ไร้ความหมาย ถ้ามีเงินมีทอง ต้องมีสติมีความคิดใช้เงินทองให้เป็นประโยชน์เป็นแก่นสารใช้แล้วให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัว ใช้แล้วให้มีประโยชน์แก่ส่วนรวม ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม นี่แหละเรียกว่า สารธรรม
การปฏิบัติกรรมฐาน ทำให้เราคิดได้ คิดถูก คิดดี คิดอย่างมีปัญญา จะทำอะไรก็มีหน้ามีตา มีหลักมีฐาน มีความเป็นอยู่ของชีวิตที่แน่นอน อาตมาก็ขอกล่าวเบื้องต้นว่า การเจริญกรรมฐานทำให้มีเนื้อหาสาระ ทำให้ไม้ฉำฉาหรือไม้ก้ามปูน่าดูในแก่น ถึงหากมันจะไม่แข็งแรง แต่เอามาเลื่อยเข้า เอามาต่อโต๊ะ ต่อเก้าอี้มันก็เป็นแก่นดำ ๆ สวยเหมือนกัน ต้นไม้ไร้แก่น เหมือนต้นไม้ไร้ใบ มันก็เหมือนคนไร้ความดี การเจริญกรรมฐานจึงเป็นบ่อกำเนิดของคนดีมีปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหา บางคนไม่เอาเนื้อหาสาระแต่ประการใด มีแต่กระพี้ มีแต่มอดกิน ไม้เนื้ออ่อนมอดกิน มันอ่อนเกินไป มันไม่แก่ มันไม่แน่น ไม้อ่อนมากมันจะผุไว มอดมันจะกิน ไม้แก่แข็งแรงมีแก่น แก่นไม้ประดู่ไม้แดงมันใช้เวลานานมาก
การเจริญกรรมฐานจึงต้องใช้เวลาสะสมไปเรื่อย ๆ สะสมเนื้อหาสาระบนความดีเป็นแก่นของชีวิตแล้ว ชีวิตท่านจะโปร่งใส ชีวิตท่านจะมีปัญญา ชีวิตท่านจะแก้ปัญหาสมปรารถนาได้ทุกคน นี่เราเรียกว่าแก่นสาร แก่นสารตัวนี้แปลว่า แก่นของชีวิต
คนที่ไม่เจริญกรรมฐาน จิตใจจะไม่มั่นคงเลย ทำอะไรก็เหลาะแหละเหลวไหล อย่างนี้เรียกว่าแก่นสารของชีวิตหายไป มีแต่กระพี้ มีแต่เปลือก มีแต่เศษมนุษย์บุรุษโคมลอยไม่เอางานเอาการ คนที่ขาดเนื้อหาสาระและสารธรรมจะไม่เอางานเอาการแน่นอน ทำอะไรเหยาะ ๆ แหยะ ๆ ทำทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่เอางานเอาการ เห็นอะไรก็ไม่เอาธุระ ปัดผ่านไปเหมือนปัดสวะออกจากหน้าบ้านของตัวเองเท่านั้น เหมือนเขี่ยขยะไปไว้หน้าบ้านของคนอื่น ทำความเดือดร้อนให้บ้านอื่นเขาอีก ไม่เคยช่วยใคร คนเราอยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้ แต่คิดจะพึ่งเขาโดยไม่พึ่งตัวเองก็ไม่ได้ คนต้องพึ่งตัวเองเท่านั้น อย่าไปหวังพึ่งคนอื่นเขา ท่านจะผิดหวังอย่างน่าเสียดาย หวังพึ่งลูกคนเล็กว่าจะได้ช่วย เขาก็ไม่เคยช่วย เราในฐานะเป็นพ่อเป็นแม่เขา เราก็จะผิดหวัง พึ่งตัวเองเถิดจะเฒ่าชะแรแก่ชราแค่ไหนก็เจริญกรรมฐานพึ่งตนเอง ทำความดีให้เป็นแก่นสารของชีวิตติดตัวท่านไป
ทุคคติ ปาฏิกังขา สุคติ ปาฏิกังขา ทำอะไรถูกแบบถูกบทมันจะได้หมดจดเหมาะเจาะ ท่านจะได้ไม่ต้องพึ่งใคร แก่แล้วก็พึ่งไม้สักเท้าประคองตัว หนักเข้าพึ่งไม้สักเท้าไม่ได้ก็ต้องทิ้งสักเท้าไป ก็ต้องนอนหงายผึ่ง เตรียมตัวตายไม่มีใครไปอีนังขังขอบท่านแน่นอน จงทำชีวิตให้มีค่าให้เวลามีประโยชน์ต่อชีวิตเรา จะเฒ่าชะแรแก่ชราอย่างไรก็ขอให้ชีวิตเป็นแก่นสาร ไปไหนมีคนนับหน้าถือตา จะแก่แค่ไหนจะแย่แค่ไหนอย่าลืมพระคุณของตัวเอง อย่าลืมพระคุณของบุคคลที่มีพระคุณอุ่นใจ
อาตมาไม่เคยลืมพระคุณใครเลย ตั้งแต่เป็นเด็กเกิดมาเราจึงเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพร เราจะหาแต่เนื้อหาสาระและแก่นสารอย่างนี้ตลอดมา จะไม่ขออย่างอื่น คนไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์องค์เจ้า จะเป็นแม่ชี จะเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ตาม มันอยู่ตรงที่มีสารธรรมมีเนื้อหาไหม มีความดีเป็นแก่นสารในชีวิตไหม ชีวิตมีประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัวและสังคมไหม เขาดูกันอย่างนั้น มีเมตตาสามัคคีไหม มีวินัย มีความดี มีสัจจะ มีเหตุผลดีหรือไม่ประการใด
ดังนั้นขอให้ท่านฟังคำพังเพยเปรียบเปรยในกรรมฐานว่า เนื้อหาสาระมีประโยชน์อยู่ตรงไหนประการใด ทั้งทางโลกและทางธรรม นี่พูดทางธรรมมาแล้วต้องเจริญกรรมฐาน ใจท่านจะมั่นคงดำรงศาสตร์ ถ้าไม่เจริญกรรมฐานแล้วจิตใจไม่มั่นคง ศีลก็ไม่ฟูกับตัวท่าน ไม่จำเป็นต้องไปรับกับพระ ศีลหมดไปเลยขาดสตินี่เอง คนขาดสติแล้วจะไม่มีเหตุผล ไม่มีเนื้อหาสาระ จะมีศีลมีธรรมได้อย่างไร คนที่มีเนื้อหาสาระ จะมีทั้งศีล จะมีทั้งธรรม มีทั้งกิจกรรมที่มีประโยชน์กับตนและประโยชน์ต่อส่วนรวม ประโยชน์ต่อประเทศชาติ มันมีประโยชน์มากมายหลายประการ ดังนั้นท่านอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายโปรดได้นำไปพิจารณาถึงแก่นสารและเนื้อหาสาระว่าเป็นอย่างไร
ต่อไปนี้จะเปรียบเทียบชี้แจงถึงเรื่องว่า ความดีเป็นแก่นสารของชีวิตนั้นอย่างไร สมดังในพุทธสุภาษิตที่ว่า “อะจิรังวะตะยังกาโย ปะฐะวิงอะธิเสสติ ฉุฑโฑอะเปตะวิญญาโน นิรัตถังวะกะริงคะรัง” ชั่วระยะเวลาไม่นานนักเมื่อร่างกายนี้ปราศจากวิญญาณแล้ว ก็จะถูกทอดทิ้งราวกับไม้ท่อน ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งนั้นเพราะความจริงของร่างกายมีอยู่เช่นนี้ ทุกคนจึงไม่ควรหลงติดเพียงแค่ร่างกายเท่านั้น ควรจะได้หันมาปรับปรุงร่างกายนี้ให้มีแก่นสารขึ้นในจิตใจด้วยการสร้างความดี การเจริญกรรมฐานให้มาก ๆ เพราะคนที่ทำความดีไว้ ถึงจะแก่ก็เชื่อว่าแก่ดี ถึงจะตายก็เชื่อว่าตายดี เหมือนกับมีดที่กร่อนไปด้วยการใช้ดีกว่ากร่อนไปเพราะสนิมขุม ดีกว่ากันอย่างนี้
ผู้ที่ฉลาดคือผู้ที่ยึดถือเอาแต่เฉพาะสิ่งที่มีสาระ แต่ว่าการที่จะทำตนให้มีแก่นสารได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่ที่ความรู้แล้วพัฒนาความรู้พัฒนาความคิด พัฒนาความตั้งใจ พัฒนาประสบการณ์ปัญหาชีวิต นี่แหละ ความรู้ความเห็นเป็นสำคัญคือ ถ้าเห็นถูกแล้วการทำตามคำพูดก็ถูกตามไปด้วย อย่างที่กำหนดก่อนจะพูดจะทำ ได้ยินเสียงก็กำหนด เสียงหนอ ๆ เป็นต้น คิดหนอ เป็นต้น นี่แหละหลักปฏิบัติในแก่นสารดังพุทธภาษิตที่ว่า สารัญจะ สารโต ภควา เป็นอาทิ ความว่า ชนเหล่าใดรู้ว่าสิ่งที่เป็นสาระย่อมเป็นสาระ สิ่งที่ไร้สาระก็รู้ว่าไร้สาระ ชนเหล่านั้นชื่อว่ามีความดำริถูกต้อง เขาย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระดังนี้
พระคาถานี้ พระบรมศาสดาตรัสปรารภแก่พระสาวกทั้งสอง คือพระโมคคัลลา พระสารีบุตร ที่ท่านได้กราบทูลเรื่องราวของท่านแต่หนหลัง เนื่องจากชีวประวัติของพระอัครสาวกทั้งสองนี้น่าศึกษามาก ให้ความรู้ให้ทั้งข้อปฏิบัติ ฉะนั้นก่อนอื่นจึงขอถือโอกาสพาท่านผู้ฟังศึกษาประวัติของท่านดูบ้าง ท่านคงจะเคยเห็นรูปอนุสาวรีย์พระอริยสงฆ์สองรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ข้างพระพุทธรูป บางแห่งก็สร้างเป็นรูปยืน บางแห่งก็สร้างเป็นรูปนั่งพนมมือ ในลักษณะถวายความเคารพพระพุทธเจ้า นี่แหละคือคู่อัครสาวกที่กล่าวถึงต่อไปนี้
เบื้องซ้ายนั้นคือพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นเอตทัคคะทางมีฤทธิ์เดชเดชานุภาพ ส่วนเบื้องขวานั้นคือ พระสารบุตร เป็นเอตทัคคะทางปัญญามาก ประวัติเดิมของท่านทั้งสองเป็นบุตรพราหมณ์ผู้มั่งคั่งในเมืองราชคฤห์มีชื่อในสมัยเป็นฆราวาสว่า อุปติสสปริพาชกและโกลิตปริพาชก เป็นเพื่อนสนิทรักใคร่กันมาก ใช้ชีวิตอย่างสำราญเยี่ยงชายหนุ่มผู้ร่ำรวยทั้งหลาย
วันหนึ่งสองสหายพากันไปดูมหรสพ ตลอดเวลาหาได้สนุกรื่นเริงอย่างเช่นเคยไม่ เมื่อเห็นอาการผิดปกติซึ่งกันและกันจึงเกิดไต่ถามกันขึ้น ก็ได้ความตรงกันว่า เศร้าใจที่มหรสพเหล่านี้ไม่มีสารประโยชน์อะไร ทั้งคนดูและคนแสดงไม่ถึงร้อยปีก็ต้องตายหมด จึงปรึกษาตกลงกันว่าควรหาทางพ้นทุกข์ดีกว่า
จากนั้นก็ได้พากันไปบวชอยู่สำนักอาจารย์สัญชัย ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในสมัยนั้น ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อยก็จบการศึกษา ต่างมีความเห็นตรงกันอีกว่า ลัทธินี้ไม่ใช่การพ้นทุกข์แน่ จึงขอลาออกจากสำนักอาจารย์สัญชัย ก่อนแยกทางกันได้ให้สัญญากันไว้ว่า ถ้าใครพบอาจารย์ที่สามารถบอกทางพ้นทุกข์ได้ ขอให้ช่วยส่งข่าวให้กันและกันทราบด้วย
ต่อมาท่านอุปติสสะได้พบท่านอัสสชิ ซึ่งเป็นพระเถระรูปหนึ่งจำนวน ๕ รูป ที่เรียกกันว่า ปัญจวัคคีย์ ซึ่งขณะนั้นท่านกำลังบิณฑบาตอยู่ เห็นแล้วก็รู้สึกเลื่อมใสในมารยาทของท่านมาก คอยอยู่จนได้โอกาสเหมาะจึงเข้าไปหาแล้วปรนนิบัติจนท่านฉันเสร็จ ต่อมาได้ฟังธรรมของท่านจนบรรลุพระโสดาบัน ภายหลังจากนั้นไม่นานนัก สหายโกลิตะก็ได้บรรลุโสดาบันเช่นเดียวกัน เมื่อได้ฟังธรรมที่ท่านอุปติสสะนำมาแสดง และก่อนที่สองสหายจะไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่เวหารเวฬุวันนั้น ได้พากันไปชวนเชิญอาจารย์สัญชัย เพื่อให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย แต่กลับได้รับการปฏิเสธอย่างแข็งขัน เมื่อหมดโอกาสเช่นนั้นทั้งสองจึงจำใจลาอาจารย์แล้วพาบริวาร ๒๕๐ คนไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ให้พระองค์ทรงประทานอุปสมบทให้ ภายหลังจากที่บวชแล้วท่านอุปติสสะก็ได้นามใหม่ว่า พระสารีบุตร เพราะมารดาของท่านชื่อนางสารี ส่วนท่านโกลิตะได้นาใหม่ว่าพระโมคคัลลานะ เพราะมารดาของท่านชื่อนางโมคคัลลี ต่อมาท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และเนื่องจากพระสารีบุตรมีปัญญาเป็นเลิศ พระบรมศาสดาจึงทรงตั้งท่านในตำแหน่งเอตทัคคปทักขิณะ เลิศทางปัญญา ทรงตั้งพระโมคคัลลานะในตำแหน่งเอตทัคคะเลิศทางฤทธิ์
ทั้งสองได้บำเพ็ญประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่งใหญ่ไพศาล พุทธศาสนิกชนต่างสำนึกในบุญคุณของท่านอย่างมาก จึงได้สร้างรูปอนุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับสักการะบูชาดังที่เห็นปรากฎอยู่ทั่วไปในอุโบสถ
อีกอย่างหนึ่งท่านทั้งสองได้มีโอกาสกราบทูลเรื่องราวแต่หนหลังของท่านถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์สัญชัยยึดถือในสิ่งไม่มีสาระว่ามีสาระ ส่วนสิ่งที่เป็นสาระท่านว่าไม่เป็นสาระ อาจารย์สัญชัยมีความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฐิ ส่วนเธอทั้งสองเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่ไร้สาระว่าไม่มีสาระ แล้วละสิ่งไร้สาระเสีย ยึดถือเอาแต่เฉพาะสิ่งที่เป็นสาระเท่านั้น เพราะเธอทั้งหมดเผอิญเป็นคนฉลาด และแล้วพระองค์ก็ทรงภาษิตคาถาดังที่ว่าไว้แล้วในเบื้องต้น มองทุกสิ่งตามความเป็นจริง
พระพุทธภาษิตนี้เป็นเครื่องสอนใจให้ทุกคนเห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริง รู้สิ่งใดดีก็ให้เห็นว่าดี สิ่งใดชั่วก็ให้เห็นว่าชั่ว อย่าบังควรไปเห็นกลับกันเสีย ไปยึดเรื่องที่ยาก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว หรือเห็นดอกบัวเป็นกงจักร อะไรทำนองนี้ เพราะการเห็น เป็นสิ่งสำคัญมาก ลงได้เห็นผิดแล้วจะทำผิด จะพูดก็ผิด อาจารย์สัญชัยมีมิจฉาทิฐิ มีความเห็นนอกลู่นอกทาง ยึดมั่นในลัทธิเดิมซึ่งหาสารประโยชน์อะไรไม่ได้ ให้สติแล้วทำให้เดินถูกทางก็ยังไม่ฟังเสียง ปักหลักมั่นไม่ยอมถอนกล้ายกับเรื่องหนอนที่เล่ากันมาเป็นคติว่า
เทวดาคิดถึงหนอน ซึ่งเมื่อชาติก่อนเคยเกิดเป็นมนุษย์ด้วยกัน รักใคร่กันมาก ปากแต่ทำความชั่ว ตายแล้วจึงไปเกิดเป็นหนอนอยู่ในส้วม ส่วนตัวเองเกิดเป็นเทวดา เพราะทำความดีไว้ เมื่อเทวดานึกถึงเพื่อนเก่าซึ่งเกิดเป็นหนอนขึ้นนั้น ก็สมเพชเวทนา จึงลงมาชวนให้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ โดยพรรณนาว่าบนสวรรค์นั้นสุขสบายทุกอย่าง เช่นเรื่องอาหารการกินก็บริบูรณ์ อยากเมื่อไรก็ให้รำลึกเอาได้ตามความต้องการ แต่ทว่าตัวหนอนกลับปฏิเสธโดยอ้างว่า ที่นี่สบายกว่าบนสวรรค์มากมายนัก และเรื่องอาหารการกินไม่ต้องห่วง มีอาหารอยู่แล้ว คนเนรมิตให้อย่างเหลือเฟือ ไม่ต้องอนาทรร้อนใจ มีคนเนรมิตให้ทุกอย่างกินไม่หวาดไหว ผลสุดท้ายเทวดาก็ต้องกลับวิมานไปด้วยความผิดหวัง นี่แหละหนอเทวดาบนสวรรค์ไม่ต้องเนรมิตของเรามีคนเนรมิตให้อุจจาระหล่นให้ทุก ๆ วันบริบูรณ์ในส้วม เทวดาก็กลับสวรรค์ไปด้วยความผิดหวัง นี่แหละเรื่องของการมองคนละอย่าง มองคนละแง่
ถ้าใครมองในแง่เสีย กลับยืนกรานอยู่ในภาวะเดิมแล้วเป็นอย่างไร อาจารย์สัญชัยก็ยังเป็นอาจารย์สัญชัย ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไม่รู้จักจบจักสิ้น ส่วนศิษย์ทั้งสองกลับมีความเห็นตรงกันข้ามกับอาจารย์เพราะเป็นคนฉลาดรู้ดีว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรมีประโยชน์อะไรมีโทษ แล้วเลือกถือเอาแต่เฉาพะสิ่งที่มีประโยชน์เท่านั้น ผลสุดท้ายแล้วท่านก็พ้นทุกข์พร้อมทั้งได้รับตำแหน่งอันสูงเกียรติเป็นถึงพระอัครสาวกมีชื่อเสียงโด่งดังและมีอนุสาวรีย์ของท่านปรากฎให้อนุชนรุ่นหลังกราบไหว้บูชาพระโมคคัลลาพระสารีบุตร และยึดถือเป็นหลักปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านสืบมาจนทุกวันนี้
นี่คือผลของการเข้าใจมอง คือมองให้เข้าไปถึงใจ จนเห็นชัดเจนตามความเป็นจริง เหมือนนั่งกรรมฐานเห็นของจริงเกิดขึ้น ท่านทั้งสองเป็นคนเข้าใจมอง เข้าใจคิดไม่ยอมหลงติดในการเล่นเต้นรำเหมือนหนุ่มสาวอื่น เพราะท่านเห็นว่าไร้สาระ ไม่ใช่ของจริงที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ ทั้งที่ชื่อก็บอกอยู่ชัด ๆ ว่าเล่น คือไม่ใช่ของจริงนั้นเอง ถ้าใครขืนจะมาหาสาระในของเล่น ๆ เหล่านั้นก็เท่ากับพยายามหาหนวดเต่าหาเขากระต่ายซึ่งไม่มีวันจะได้พบเลย นี่แหละรู้เรียน รู้เล่น เป็นเวลา อีกอย่างหนึ่งเห็นว่า ทั้งคนเล่นทั้งคนดูไม่ถึงร้อยปีก็ตายหมด ความจริงแล้วเรื่องตายนั้นพระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ให้หมั่นนึกกันไว้เสมอเพราะเป็นเหมือนห้ามล้อป้องกันการหลงรัก หลงชัง หลงเขลาได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ดังประพันธ์ภาษิตของมหาเถระรูปหนึ่งว่า นึกถึงความตายสบายนัก มันหักรักหักหลงในสงสาร บรรเทามืดโมหันต์อันตระการ ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ และก็เรื่องตายนี่เองที่เป็นจุดแรกที่ทำให้ท่านทั้งสองสังเวชใจแล้วทิ้งสมบัติอันมหาศาลออกบวช ชีวประวัติของท่านตอนนี้นับว่าเป็นคติดีมาก เพราะสอนไม่ให้ติดในการเล่นเกินไป ควรดูบ้างเพื่อเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อคลายอารมณ์ที่เคร่งเครียดในการงาน อย่าให้ถึงเข้าขั้นเสียการศึกษาเล่าเรียนและเสียการเสียงานเป็นใช้ได้
นอกจากนี้ตอนที่ท่านอยู่กับอาจารย์สัญชัยก็ตั้งใจเรียนอย่างจริงจัง ชั่วระยะเวลาเพียงเล็กน้อยก็เรียนสำเร็จการศึกษา นี่แหละ แสดงว่าวิชาทุกอย่างถึงจะยากอย่างไร ถ้าตั้งใจจริงไม่ควรท้อถอย จงตั้งหน้าศึกษาเล่าเรียน เพราะรู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชา ไปข้างหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ เมื่อท่านทั้งสองเรียนจบแล้วพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์แน่ จึงเปลี่ยนทางใหม่ด้วยสัญญากันไว้ว่าถ้าใครพบอาจารย์ดีจะต้องส่งข่าวให้กันทราบทันที คนคนเช่นไรย่อมเป็นคนเช่นนั้น หลังจากที่ท่านอุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมของพระอัสสชิจนสำเร็จพระโสดาบันแล้ว ท่านก็ได้นำข่าวนี้บอกแก่สหายโกลิตะ นี่แสดงถึงความซื่อสัตย์สุจริตที่รักษาคำมั่นสัญญาไว้ได้อย่างมั่นคง ทั้งส่อถึงความเป็นมิตรที่ดีชักชวนกันเดินในทางที่ดีมีประโยชน์ ซึ่งผิดกับเพื่อนบางคนที่คอยแต่จะชักพากันเข้ารกเข้าพง ผลสุดท้ายก็เสียคน ซึ่งเรื่องนี้คอยระมัดระวังกันไว้มันก็จะปลอดภัยดี
อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ ก็คือมารยาทอันงดงามของพระอัสสชิที่สามารถผูกใจท่านอุปติสสะให้เลื่อมใสเป็นศิษย์ได้ทั้ง ๆ ที่นับถือศาสนาอื่น เรื่องเสน่ห์นี้เชื่อว่าทุกท่านคงชอบและควรหันมารับปรุงกายของเรา วาจาของเราให้ดีให้อยู่ในพระกรรมฐาน ลักษณะที่เรียกว่า ทำอะไรอย่าให้เขาขัดตา พูดจาอย่าให้เขาขัดหู เท่านี้ก็มีเสน่ห์ถมไปแล้ว มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ และมีเมตตากรุณาหนุนนำ
อีกตอนหนึ่งที่ท่านทั้งสองออกไปชวนอาจารย์เพื่อให้ไปเฝ้าพระศาสดา นับว่าท่านมีความกตัญญูดีมาก เพราะเมื่อตนได้พบของดีแล้วก็ไม่ลืมครูบาอาจารย์ แต่น่าเสียดายที่อาจารย์สัญชัยมิได้สนใจใยดี ปฏิปทาของท่านทั้งสองนี้ควรที่ทุกคนจะยึดเป็นแบบอย่าง มีกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ของท่าน ต่อพ่อแม่ของท่าน และผู้มีพระคุณทั่ว ๆ ไป เพราะแม้แต่ร่มไม้ที่ให้ความร่มเย็นยามเดินทาง คนดีเขายังไม่กล้าลิดก้านลิดกิ่งแต่ประการใด เอาไว้ให้ร่มเงา เพราะเขาสำนึกถึงคุณต้นไม้นั้นได้ ฉะนั้นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ซึ่งมีพระคุณล้นเหลือ ใครหนอจะลืมท่านได้ลงคอเล่า
อีกอย่างหนึ่งในเรื่องนั้นก็คือ รู้จักเสียสละด้วยการตัดบ่วง ซึ่งท่านทั้งสองตัดได้หมดทั้งบ่วงนอกบ่วงใน บ่วงนอก คือสมบัติมหาศาลที่ท่านตัดทิ้งแล้วออกบวช ซึ่งเราควรยึดแบบของท่านไว้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเกณฑ์ให้ทุกคนพากันทิ้งสมบัติแล้วเข้าวัด แต่ว่าให้รู้จักเสียสละกันบ้างตามสมควร โดยเฉพาะท่านที่ทรัพย์สินเหลือกินเหลือใช้ หากจะได้สละออกมาเพื่อช่วยคนยากคนจน ช่วยโรงพยาบาล ช่วยโรงเรียน ช่วยสร้างห้องน้ำก็เป็นมหากุศล ช่วยคนที่ไม่มีทุนการศึกษา ก่อตั้งมูลนิธิอันประเสริฐดีกว่ากักตุนสะสมเอาไว้ บำเรอความสุขเฉพาะในวงแคบ ในครอบครัวด้วยความภูมิใจที่ได้อยู่บนกองเงินกองทอง ฉะนั้นในสภาพของคนที่กินของเก่าแล้วก็กอดสมบัติตายจากไป ทิ้งสมบัติเอาไว้ให้ลูกหลานยื้อแย่งแบ่งกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย แต่สำหรับศพนั้นรับรอง่าไม่มีใครแย่งแน่ อันธรรมดาต้นไม้ยังมีอะไรดี ๆ ผลิออกจากลำต้นให้ประชาชนได้อาศัย ส่วนเราเล่าได้ผลิอะไรออกมาให้เป็นประโยชน์แก่โลกบ้าง โปรดคิดดูเถิด
ท่านสาธุชนทั้งหลาย บ่วงอีกบ่วงหนึ่งคือ บ่วงใน ได้แก่กิเลสซึ่งท่านทั้งสองสลัดทิ้งจนจิตบริสุทธิ์ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ดังกล่าวมา สมบัติก็ดี กิเลสก็ดี ที่จัดว่าเป็นบ่วง ก็เพราะเป็นเครื่องผูกมัดรัดสัตว์โลกให้ติดอยู่ในกองทุกข์ ฉะนั้นเมื่อใครตัดได้ ทุกข์ก็ไม่มี นับว่าท่านทั้งสองได้สร้างชีวประวัติอันงดงามให้พวกเราได้ศึกษาในเชิงธรรมชีวิต ให้เป็นสารประโยชน์ด้วยการบำเพ็ญความดีต่าง ๆ ดังกล่าวมา เพราะชีวิตนี้น้อยนัก ทั้งไม่มีแก่นสารอะไร เราจะอยู่อาศัยโลกนี้คนละไม่กี่ปี เราก็จะจากกันไปแล้ว ฉะนั้น จึงควรสร้างความดีชดเชยไว้ให้มาก กๆ อานุภาพของความดีที่สร้างไว้ก็จะบันดาลให้ได้รับความสุข ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ถ้าวาสนาบารมีแก่กล้าก็จะได้นำมาให้พ้นทุกข์ ถึงบรมสุขคือพระนิพพานโดยทั่วหน้ากัน
อาตมาได้บรรยายเรื่องเนื้อหาสารธรรมอันเป็นแก่นสารแก่ชีวิตมาพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้เพียงแค่นี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ ของความเจริญงดงามไพบูลย์จงมีแก่ท่านทั้งหลายในธรรมสัมมาปฏิบัติในหน้าที่และจงเจริญไปด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ นึกคิดสิ่งหนึ่งประการใดสมความมุ่งมาดปรารถนา ด้วยกันทุกรูปทุกนาม ณ โอกาสบัดนี้เทอญ

๖ เมษายน ๒๕๔๐

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://palipage.com/watam/buddhology/42-08.htm

. . . . . . .