ครูบาเหนือชัย นั่งเข้ากรรมฐานแก้พิษยาสั่ง (นักบุญแห่งขุนเขา)
ครูบาเหนือชัย โฆสิโต วัดถ้ำอาชาทอง ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
ปุจฉาวิสัชชนา ครูบาเหนือชัย… “นักบุญแห่งขุนเขา”
ภาพ “พระเณรขี่ม้าออกบิณฑบาต” นำโดย “ครูบาเหนือชัย โฆสิโต” นอกจากสร้างความประทับใจต่อ พุทธศาสนิกชนไทยแล้ว ยังกระฉ่อนโด่ง ดังไปทั่วโลก เหตุที่พระ เณรและลูกศิษย์ต้องขี่ม้าบิณฑบาต เนื่องจาก สำนักอยู่ห่างไกลจากชุมชน และถนนหนทางยังไม่สะดวก การใช้ม้าจึง มีความสะดวกในการเดินทาง กว่า ๑๐ ปี ของการออกธุดงค์ เผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าตาม ชายแดนไทย-พม่า โดยไม่แบ่งชาติพันธุ์ ในที่สุดท่านก็ได้รับการขนาน นามว่า “นักบุญแห่งขุนเขา”
นอกจากจะมีชื่อเสียงในรูปแบบและวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว นักบุญแห่งขุนเขายังมีชื่อ เสียงใน เรื่องของเครื่องรางของขลัง ด้านอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยมและเกี่ยวกับการค้าขาย ให้มีความเจริญก้าวหน้า ร่ำรวยอีกด้วย จนเป็นที่กล่าวขวัญของบรรดาชาวบ้านและพุทธศาสนิกชน ทั้งในเมืองไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนจะดีเพียงใดนั้น ต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์แบบ “คม ชัด ลึก”
“คำว่า “นักบุญแห่งขุนเขา” ใครเป็นผู้ตั้งให้ครับ ?”
“นักบุญแห่งขุนเขา” ฉายานี้ได้มาจากเจ้าหน้าที่ที่ร่วมงานกันในโครงการ “มิตรมวลชน คนชาย แดน” ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังเฉพาะกิจ กรมการทหารราบที่ ๑๗ กองพันที่ ๓ (ฉก.ร.๑๗ พัน ๓) ตั้งให้ เพราะเห็นว่าเราเป็นพระที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่า เผยแผ่ธรรมะอยู่ในป่า”
“การตั้งสำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทองมีที่มาที่ไปอย่างไรครับ ?”
“ครูบาเผยแผ่ธรรมะอยู่ในป่า มานั่งวิปัสสนากรรมฐานอยู่หน้าถ้ำป่าอาชาทองแห่งนี้ มีชาวบ้านมา ถวายภัตตาหาร และมาทำบุญบ่อยๆ ก็เลยมีคนบอกว่าน่าจะตั้งเป็นวัดดีกว่า ประกอบกับท่านเจ้า ประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จสังฆราช องค์ปัจจุบัน มีดำริให้ดำเนินโครงการ “บวร” พุทธ ศาสนา อันหมายถึง บ คือ บ้าน ว คือ วัด ร คือ โรงเรียน เป็นการนำหลักธรรมเผยแผ่ให้ครบทั้งสาม สถาบัน”
“ที่สำนักปฏิบัติธรรมมีพระเณรและเด็กวัดเท่าไรครับ ?”
“พระ ๔ รูป สามเณร ๑๗ รูป และมีเด็กในอุปการะอีก ๒๐ คน เด็กที่รับอุปการะส่วนใหญ่เป็นเด็ก กำพร้าพ่อแม่ เพราะติดคุกเรื่องยาเสพติด บางคนพ่อแม่เสียชีวิต ก็เพราะไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็เลยรับอุปการะเด็กๆ เหล่านี้ไว้ แล้วส่งให้เรียนหนังสือและช่วยทำงานต่างๆ ในสถานปฏิบัติธรรม เช่น เลี้ยงม้า ทำความสะอาด รวมถึงหัดแม่ไม้มวยไทย ให้เด็กๆ ด้วย”
“ปัจจัยส่วนใหญ่ได้มาจากไหนครับ ?”
“ส่วนใหญ่เป็นเงินรายได้ที่คนมาบูชาเครื่องรางของขลัง วัตถุมงคลต่างๆ อีกทางหนึ่งได้มาจากการ ขายปุ๋ยอินทรีย์คือ ปุ๋ยที่ได้จากม้า เด็กๆ ก็จะมีรายได้จากการทำงานด้วย วันหยุดเสาร์อาทิตย์ เด็กๆ จะมีรายได้วันละ ๑๐๐ บาท เอาไว้เป็น เงินค่าขนมตอนไปโรงเรียน”
“นอกจากนั้นยังมีการชกมวยทุกๆ วันเสาร์ การชกมวยไม่เหมือนมวยตู้ ไม่มีการพนัน ชกจบมีค่าขนม ให้ทั้งคู่ คนชนะ ได้ ๗๐๐ บาท คนแพ้ได้ ๓๐๐ บาท เป็นการฝึกให้เด็กๆ ออกกำลัง แต่ไม่สนับสนุน ให้เด็กๆ ชกมวยหาเงินนะเพราะเป็น การพนัน เด็กจะเสียคน อีกอย่างผิดวัตถุประสงค์ของมวยที่ฝึก ในวัด คือ มวยคู่แผ่นดิน ใช้สำหรับป้องกันตัว”
“ความคิดเรื่องขี่ม้าออกบิณฑบาตมาจากไหนครับ ?”
“ครั้งแรกเลยไม่เคยมีความคิดจะใช้ม้าในการออกรับบิณฑบาตหรอก แต่มีชาวบ้านบนขอให้หายป่วย พอหายป่วยก็ เลยเอาม้ามาแก้บน ครูบาเห็นว่าเราอยู่ในป่าเขา ใช้ม้าเป็นพาหนะ ย่อมมีความสะดวกกว่า ม้าไม่ต้องใช้น้ำมันด้วย ก็เลย ใช้ม้ามาตั้งแต่ตอนนั้น”
“ม้าตัวแรกได้มาจากไหนครับ ?”
“ก็ชาวบ้านเอาม้ามาแก้บนไง เลยต้องเลี้ยงไว้เพราะเขาเอามาถวาย เราเป็นพระไม่รับก็ไม่ได้ การขี่ม้าเพื่อออกบิณฑบาต นั้นก็เพราะแต่ละหมู่บ้านอยู่ห่างไกลกันมาก ต้องข้ามเขาเป็นลูกๆ การเดินด้วยเท้าจะลำบาก ยิ่งหน้าฝนทางเดินลื่นมาก ใช้ม้าช่วยให้การออกรับบาตรสะดวกขึ้น และยังช่วยให้การเผยแผ่หลักธรรมตามหมู่บ้านชาวเขาในแนวชายแดนที่ห่างไกล ได้สะดวกขึ้นด้วย ส่วนความเหมาะสมหรือไม่ที่พระขี่ม้า เห็นว่าน่าจะดูที่การปฏิบัติกิจของสงฆ์มากกว่า ครูบาได้ใช้ม้าเพื่อเผย แผ่ศาสนาในโครงการ “มิตรมวลชน คนชายแดน” ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงรับเป็นองค์สังฆราชูปถัมถ์โครงการนี้ด้วย
“การฝึกให้พระเณรขี่ม้านี่ยากไหมครับ ?”
“ของแบบนี้ต้องใช้เวลา เริ่มตั้งแต่ให้พระและเณรเลี้ยงม้าเอาหญ้ามาเป็นอาหารของม้า ม้าของพระเณรรูปใด พระเณร รูปนั้นจะต้องเป็นคนดูแลเอง เมื่อทำความคุ้นเคยแล้วก็จะเริ่มหัดขี่ม้าได้ไม่ยากหรอก สามเณรที่นี่อายุ ๑๐ ปี ก็ขี่ม้าเป็นแล้ว”
“ใครเป็นผู้ตั้งชื่อม้าครับ ?”
“ชื่อม้าแต่ละตัวที่เห็นนั้น สมเด็จพระสังฆราช ทรงพระเมตตา ประทานชื่อให้ ครูบาไม่ได้ ตั้งเองหรอก จำได้ทุกตัว ตัวแรกชื่อ เพชรเทวดา อาชาทอง หนุ่ม โพธิ์ชัย อาเธอร์ ส่วนตัวที่เห็นนี่ ชื่อคชสีห์อาชาทอง ปัจจุบันที่นี่มี ม้าทั้งหมด ๒๐๐ ตัว ตอนหลัง นอก จากม้า ๒๐๐ ตัวแล้ว ก็ยังมี ไก่อีกประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว ช้าง ๙ เชือก วัว ๑๕ ตัว และควายอีก ๑๖ ตัว”
“ใช้ม้าออกรับบิณฑบาตแล้วชาวบ้านว่ายังไงบ้างครับ ?”
“ชาวบ้านไม่ว่าอะไรหรอก เขาอยู่ในพื้นที่ เขารู้เขาเห็นเขาเข้าใจถึงเหตุผล แต่หลังจากที่เป็นอันซีน ไทยแลนด์นี่แหละ มีเสียงสะท้อนออกมา ทั้งดีบ้างไม่ดีบ้าง บางท่านก็ว่าไม่เหมาะสม”
“ครูบาสักยันต์เพื่ออะไรครับ ?”
“ไม่มีคำว่ากลัวตายหรอก ตายไวเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น เพราะถ้ามีชีวิตอยู่ยิ่งนานเท่าไรก็ต้องแบกรับ ภาระทุกอย่างไว้ เหตุที่ครูบาสักยันต์เต็มตัวนี่เพื่อประกาศให้ทุกคน รวมทั้งโยมผู้หญิง (เมีย) รู้ว่าเรา ได้มอบร่างกายและจิตใจเพื่อพระพุทธศาสนาแล้ว เพราะในเมื่อใจเรามุ่งไปในพุทธรรมแล้วก็เหมือน ได้ตายจากทางโลก รอยสักที่เห็นตามร่างกายก็คือคำสอนในพุทธศาสนา”
“รู้สึกอย่างไรที่ ททท.มาโปรโมทท่านเพื่อการท่องเที่ยว ?”
“เรื่องนี้ก็ใช้เวลาคิดอยู่นานเหมือนกันคือประมาณปี ๒๕๔๕ มีเจ้าหน้าที่จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เขาเข้ามาสำรวจ เขาเห็นว่าแปลกดี ต้องการ สนับสนุนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เราก็ยังไม่ตกลงเพราะเราต้องการความ สงบมากกว่า เราไม่อยาก ดังหรอก”
“เพราะอะไรถึงตกลงเข้าร่วมโครงการได้ล่ะครับ ?”
“ก็พอดีปี ๒๕๔๕ เขามาสำรวจ เราไม่ตอบตกลง เขาก็ติดต่อมาอีกหลายครั้ง แล้วอีกประมาณ ๒ ปีได้ คือปี ๒๕๔๗ เราก็มานั่งคิดว่าถ้าต้องการให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เห็นว่าการท่อง เที่ยวนี่แหละที่จะช่วยให้ชาวบ้านมี ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้เร็วกว่าวิธีอื่น เพราะถ้ากลายเป็นแหล่ง ท่องเที่ยว ชาวบ้านก็สามารถขายของได้ มันเร็วกว่าที่ จะไปทำไร่ทำนา ก็เลยจัดสินใจเข้าร่วมเป็น อันซีน ไทยแลนด์”
“การปฏิบัติธรรมยังเหมือนเดิมหรือเปล่าครับ ?”
“เรายังปฏิบัติเหมือนเดิม แต่ก็ต้องเพิ่มเวลาที่ใช้ปฏิบัติธรรมเพิ่ม เพราะเวลาที่มีญาติโยมมาพบก็จะมีเวลา ปฏิบัติธรรมน้อยลง”
“ที่ว่าใช้เวลาเพิ่มนี่ ครูบาทำอย่างไรครับ ?”
“เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติธรรมก็ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เคยใช้เวลาในการปฏิบัติเท่าไรก็ให้เวลา เหมือนเดิม จนบางคืนต้องนอนดึกกว่าปกติ ส่วนพื้นที่ใน สถานปฏิบัติธรรมก็ต้องมีการแบ่งเขต เป็นส่วนฆราวาสและส่วนสงฆ์ ให้เป็นสัดส่วน”
“ครั้งหนึ่งท่านเคยถูกรุมทำร้ายระหว่างเผยแผ่ธรรมจริงหรือเปล่าครับ ?”
“เป็นความจริง เหตุเกิดที่บ้านหัวแม่คำ มีคนมาทำร้ายประมาณ ๔๐ คน แต่ก็เอาตัวรอดมาได้”
“แสดงว่ามีของขลังเลยรอดมาได้สิครับ ?”
“(หัวเราะ) ไม่ใช่ด้วยของขลัง แต่เป็นเพราะมีสติและใช้วิชาความรู้ที่ได้เรียนมา เลยเอาตัวรอด”
“วิชาอะไร แล้วครูบาทำอย่างไรครับ ?”
“วิชาแม่ไม้มวยไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าครูบาสู้กับคน ๔๐ คนนะ อาศัยว่าวันนั้นกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ เราก็จุดเทียนใช้ตอนกลางคืน เมื่อมีคนเข้ามาเราก็ใช้วิธีดับเทียน ทีนี้มันก็มืดใช่ไหม แล้วคนตั้ง ๔๐ คน มองอะไรก็ไม่เห็น เราก็หมอบลงอยู่กับพื้นเฉยๆ นี่แหละ บาง คนก็วิ่งชนกัน ชกกันเอง กลายเป็นพวกเดียวกัน จัดการกันเอง ก็เลยกลายเป็นที่เล่าขานกันมาจนทุกวันนี้”
“มีเหตุหนักกว่านี้ถึงขนาดมีคนจ้องทำร้ายถึงขั้นยิง วางยาสั่งกันเลย จริงหรือเปล่าครับ ?”
“เรื่องนี้ไม่เคยคุยกับใครเลยนะ รู้มาจากไหน ครูบาเป็นพระป่า อยู่ในพื้นที่นี้ ซึ่งก็ทราบกันดีว่าเป็น พื้นที่ ชายแดน และก็ต่อต้านเรื่องยาเสพติดอยู่แล้ว เราก็อาจจะไปขวางทางใครเข้าก็ไม่ทราบ เลย โดน ครูบาก็มีครูบาอาจารย์ เขาใช้วิธี ฟัน แทง ยิง ไม่ได้ผล ก็เลยโดนยาสั่ง ตอนปลายปี ๒๕๔๓ แทบแย่ ตอนนี้ก็ยังรักษาตัวอยู่เลย ร่างกาย ก็ฟื้นมาได้ซัก ๘๐ เปอร์เซ็นต์”
“ครูบาโดนยาสั่งได้อย่างไร และมีอาการอย่างไรบ้างครับ ?”
“มีศรัทธามาทำบุญตักบาตร เราก็นำมาฉัน ก็เลยรู้ว่าโดนยาสั่ง เวลาโดนจะอาเจียนออกมา ครั้งนั้น เต็มถังน้ำ อาเจียนจนหมดแรงเลย ก็ต้องใช้วิธีนั่งเข้ากรรมฐานแก้พิษ”
“แล้วยาสั่งนี้เขาทำกันอย่างไรครับ ?”
“เขาก็จะใช้หมูตัวผู้มาทำยาสั่ง เริ่มด้วยเลี้ยงหมูด้วยพิษจากงู เห็ด ว่านต่างๆ หรือคางคก เอาให้กิน ทีละน้อยๆ พอโตได้ที่ก็ฆ่า แล้วนำไปย่างไฟแดง ๗ วัน ๗ คืน แล้วนำมาตากน้ำค้างอีก ๗ วัน ๗ คืน เสร็จแล้วนำมาบดให้ละเอียด แล้วก็ปลูกฟักแฟงในป่าช้า เอาเมล็ดออกแล้วนำผงที่ได้จากหมูมายัด ใส่แทนจนลูกฟักลูกแตงตาย แล้วจึงเอาลูกฟัก ลูกแตง ไปทำพิธีบนกิ่งไม้ใหญ่ เวลาทำพิธีต้องอยู่ เหนือลม เวลานำฟัก แตงมากินก็จะเกิดอาการทันที”
“เครื่องรางของขลังของครูบาที่สร้างขึ้นมีกี่อย่างครับ ?”
“ก็จะมีประเภทอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม ค้าขายรุ่งเรือง ส่วนใหญ่จะนิยมเรื่องอยู่ยงคง กระพัน เพราะคน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายแดน”
“ของขลังของครูบาดีดีด้านไหนครับ ?”
“เครื่องรางของขลังปลุกเสกขึ้นเพื่อเอาไว้ใช้ป้องกันตัว คนที่นำติดตัวต้องมีพุทธรรมอยู่ในใจจึงจะ เกิดผล แต่หากคิดไม่ดี ทำไม่ดี พุทธะไม่อยู่กับตัว และหลักพุทธรรมก็เป็น หลักธรรมที่ใช้เผยแผ่ ให้กับพุทธศาสนิกชนทั่วไป ครูบาจะบอกเสมอว่าพุทธะอยู่ที่ตัวเรา หากกินเหล้าก็เหมือนกับเราเอา เหล้ามารดพระที่อยู่ในตัวเรา หากเราคิดจะ ฆ่าผู้อื่นก็เหมือนเราคิดจะฆ่าพระในตัวเรา แล้วอย่างนี้ พระจะอยู่กับเราได้อย่างไร เครื่องรางจะขลังได้อย่างไร”
“เรื่องการสอนศิลปะมวยไทยมีมาตั้งแต่ตอนไหนครับ ?”
“เดิมครูบาเผยแผ่ศาสนาให้กับชาวเขาตามแนวตะเข็บชายแดน มีลูกศิษย์มากมาย และได้ออกติด ตามครูบา เพื่อช่วยในเผยแผ่ศาสนาในหลายพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่เราไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่าเขา คิดอะไรกับเราอย่างไร ซึ่งลูกศิษย์บางคนก็ถูกทำร้ายร่างกายกลับมา ครูบาจึงได้ถ่ายทอดวิชาศิลปะ มวยไทยที่ตนเองได้รับการถ่ายทอดมา จากบรรพบุรุษ และอาจารย์อีกหลายท่านก่อนที่ครูบาจะบวช เป็นพระได้เคยร่ำเรียนมาจากบรรพบุรุษ เป็นวิชาที่ สืบทอดมาจากบุคคลที่เป็นทหารในการรักษา ขาช้างที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงช้างออกไปทำศึก จึงเป็นศิลปะที่มี ความแข็งแกร่ง ยากที่จะมีผู้ที่ ต่อกรแต่อย่างไร”
“ทำไมครูบามีความคิดที่จะฝึกสอนมวยให้กับเด็กๆครับ ?”
“อยากให้เด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่และเด็กกำพร้าที่รับอุปการะไว้ มีวิชาความรู้เกี่ยวกับแม่ไม้มวยไทย เอาไว้ป้องกันตนเอง ป้องกันประเทศชาติก่อนจะฝึกทุกคนต้องบวชก่อน เพื่อจะได้ซึมซับหลักธรรม และมีธรรมะอยู่ในใจ การฝึกเป็นการฝึก แม่ไม้มวยไทยคู่แผ่นดิน ไม่ต้องการให้ฝึกเพื่อไประรานผู้อื่น”
ชาติภูมินักบุญแห่งขุนเขา
นายเสมอ ใจปินตา เป็นชื่อและสกุลเดิมของ ครูบาเหนือชัย โฆสิโต เจ้าอาวาสสำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทอง ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ปัจจุบันอายุ ๔๓ ปี พรรษา ๑๔ เกิดเมื่อวัน จันทร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๐๕ ปีขาล บิดาชื่อ สามยอด มารดาชื่อ น้อย เป็นบุตรชายคนโตในจำนวนพี่น้อง ๓ คน
โยมพ่อและโยมแม่พื้นเพเป็นคนเชื้อสายยอง ซึ่งบรรพบุรุษ อพยพมาจาก จ.ลำพูน โยมแม่เป็นคนมีลูกยากจึงไป ขอลูกจากพระธาตุดอยตุง เมื่อกลับมาถึงบ้านคืนหนึ่งโยมแม่ฝันว่ามีม้าสีขาวมารับ แล้วพาท่องไปทั่วจักรวาล สักพักหนึ่ง จึงท้อง แล้วคลอดครูบาเหนือชัยขึ้นมา
สมัยเป็นเด็กเลี้ยงยาก ร้องไห้ตลอดเวลา จึงไปหาหมอดูประจำเผ่า ได้รับคำ แนะนำว่าให้ใช้ช้างและม้ามารับขวัญ ทำให้โยมพ่อซึ่งขณะนั้นไม่มีเงิน แต่ด้วยความเป็น พ่อจึงได้ออกกุศโลบายนำ ถ่านที่ใช้หุงต้มมาเขียนเป็นรูปช้างและม้าติดไว้ที่ฝาผนังบ้าน แล้วบอกกับ ครูบาว่า นี่เป็นช้างกับม้าที่พ่อซื้อมารับขวัญ หลังจากนั้นมาก็กลายเป็นเด็กเลี้ยงง่าย
ครูบาเหนือชัย จบชั้น ป.๗ จากโรงเรียนบ้านแม่คำชั้น และจบชั้น ม.ศ.๕ จากโรงเรียนแม่จันวิทยา คม จากนั้น เดินทางไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ โดยเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ศึกษาถึงปีที่ ๓ ก็ต้องลาออก เพื่อกลับมาช่วยงานที่บ้านเนื่องจากบิดาป่วย
ในวัยเด็ก ครูบาเหนือชัยมีความสนใจในเรื่องพระพุทธศาสนามาก เพราะเป็นคนที่ชอบใช้ชีวิตอยู่ สองแห่ง คือ หากไม่อยู่ที่วัดก็จะอยู่ตามทุ่งนาเพื่อฝึกสมาธิ ชอบเข้าหาพระธุดงค์และหนาน (ทิด) โดยศึกษาธรรมกับเจ้าอาวาสวัดแม่คำ ขณะเดียวกันก็มีความสนใจและศึกษาศิลปะการป้องกันตัว ตามตำรา “อัฏมาศ” หรือที่รู้จักกันในชื่อการต่อสู้ตามแบบ กองกำลังจตุรงคบาท ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกระบี่ กระบอง พลองไทย และแม่ไม้ มวยไทย
เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๕ ได้อุปสมบท ณ อุโบสถวัดล้านตอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมี ครูบาทองสืบ วิสุทธจาโร เจ้าอาวาสวัดล้านตอง เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาธรรมโดยการออกธุดงค์อยู่ ในป่าเขาตามแนวชายแดน และปฏิบัติธรรมอยู่บริเวณถ้ำป่าอาชาทอง จึงได้ตั้งสำนักปฏิบัติธรรมถ้ำ ป่าอาชาทองขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ตราไปรษณียากรชุดมุมมองใหม่เมืองไทย”พระ-เณร ขี้ม้าบิณฑบาต อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย”
พระเณรแห่งสำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทอง อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลเส้นทางคมนาคม จำเป็นต้องใช้ม้าเป็นพาหนะในการออกบิณฑบาตร ตราไปรษณียากรดวงนี้ส่งไปประทับตราได้ที่ ปณ.เชียงราย 57000 และ ปณ.แม่จัน 57110
อาชาทอง’ม้าหนุ่มร่างกำยำ ควบตะบึงพา’พระครูบา’ข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่าเพื่อรับบาตรจากญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา แลเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ อาหารที่เหลือจากการบิณฑบาตถูกแจกจ่ายให้ชาวเขาผู้ยากไร้ กว่า 13 ปีแล้วที่ ‘พระครูบาเหนือชัย’พากเพียร ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ชาวเขาเผ่าต่างๆที่อาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน จ.เชียงราย เพื่อเปลี่ยนพวกเขาจากกลุ่มผู้ลักลอบขนยามาเป็นชาวไร่ผู้หวงแหนและร่วมพิทักษ์ผืนแผ่นดินไทย
จากนักเลงมวยสู่ร่มกาสาวพัสตร์
‘พระครูบาเหนือชัยโฆสิโต’ เจ้าอาวาส ‘วัดป่าอาชาทอง’ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้เปลี่ยนฐานะจาก ‘นายเสมอชัย ใจบินตา’ หนุ่มวัย 29 ปีที่ชอบวิชาหมัดมวยมาบวชเป็นภิกษุเพื่อศึกษาธรรมะ ท่านตัดใจจากภรรยาและลูกน้อยชาย-หญิงทั้ง 2 คน หลังจากมีครอบครัวได้เพียง 8 ปี ด้วยเห็นทุกข์ของชีวิตทางโลก โดยบอกกับภรรยาว่าจะบวชเพียง 7 วัน แต่นับจากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 13 ปีแล้วที่ท่านมุ่งศึกษาและเผยแผ่ธรรมะแก่บรรดาชาวเขาตามแนวตะเข็บชายแดน
หลังครองผ้ากาสาวพัสตร์ได้เพียง 1 วัน ท่านก็ออกธุดงค์เพื่อแสวงหาความสงบ โดยยึดโอวาทจากพระอุปัชฌาย์ว่า ‘บวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง’ ท่านเดินทางมาจนถึง’ดอยผาม้า’และเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมจึงยึดเป็นที่ปฏิบัติธรรม พระครูบานั่งสมาธิ พิจารณาขันธ์ 5 ด้วยใจมุ่งมั่นที่จะบรรลุธรรม ครั้งหนึ่งท่านนอนหลับและฝันว่า ‘หลวงปู่สด’ วัดปากน้ำภาษีเจริญ มาสอนวิชาธรรมกาย ให้ท่านทำใจใสๆ กำหนดองค์พระอยู่ศูนย์กลางกาย
ท่านไม่มั่นใจว่าฝันนั้นเป็นจริงหรือไม่ จึงอธิษฐานจิตว่าหากหลวงปู่สดมาพบในฝันจริงขอให้มีญาติโยมนำปัจจัยมาถวาย 1,000 บาท พอรุ่งเช้าก็มีนักข่าวของสถานีวิทยุท้องถิ่นนำปัจจัยมาถวายตามคำอธิษฐาน และขอสมัครเป็นศิษย์ ท่านจึงให้ญาติโยมดังกล่าวพาท่านไปยังวัดปากน้ำ และนำเงิน 1,000 บาทที่ได้ทำบุญกับทางวัด จากนั้นท่านจึงนำคำสอนของหวงปู่สดมาใช้ในการนั่งสมาธิเรื่อยมา
นั่งสมาธิ 15 วันจนผึ้งเกาะเต็มตัว
ครั้งหนึ่งท่านนั่งสมาธิบนโขดหินโดยอธิษฐานว่า ” จะขอนั่งอยู่ตรงนี้จนกว่าจะบรรลุธรรม แม้ตายก็จะไม่ลุกจากที่นี่ ” ท่านนั่งนิ่งอยู่ 15 วัน จนผึ้งมาเกาะทำรังตามเนื้อตัว ท่านรู้สึกเจ็บจึงพยายามแยกความรู้สึกของกายออกจากจิต แม้กายจะเจ็บ แต่จิตนิ่งใสสว่าง ความเจ็บก็ทุเลาลง ท่านนั่งจนหมดสติไป และในฝันท่านเห็น ‘หลวงปู่เกษม’ ซึ่งศึกษาฌานสมาบัติอยู่ ณ สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง มาบอกว่า นี่คือการเข้านิโรธสมาบัติ แยกจิตกับกาย และให้มั่นเพียรนั่งสมาธิ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการบรรลุธรรม
เมื่อท่านยังเห็นพระซึ่งเป็นครูบาอาจารย์มากมายมารายล้อมและบอกกับท่านว่า “นับแต่นี้จะมีผู้คนมากมายมาสนับสนุนการเผยแผ่ธรรมมะของท่าน” และก็เป็นจริงเช่นนั้น เพราะหลังจากท่านฟื้นขึ้นก็พบว่า มีชาวบ้านเดินทางมากราบไหว้และถวายอาหาร เนื่องจากในช่วงที่พระครูบาเหนือชัยนั่งหลับตาและมีผึ้งมาเกาะนั้น มีชาวบ้านมาพบเข้าและเกิดจิตศรัทธาจึงไปชักชวนชาวบ้านคนอื่นๆมากราบไหว้ พร้อมทั้งช่วยกันสร้างที่พักให้ จนกลายเป็น ‘วัดป่าอาชาทอง’ จนถึงปัจจุบัน
ที่มาของการขี่ม้าบิณฑบาต
จากเดิมที่พระครูบาเหนือชัยเดินขึ้นลงเขาเพื่อรับบาตรจากญาติโยม ได้ฉันบ้าง ไม่ได้ฉันบ้าง ด้วยหนทางที่ห่างไกล กว่าท่านจะเดินถึงวัดก็เลยเวลาฉันเพล ชาวบ้านจึงสงสารนำม้ามาถวายเพื่อให้ท่านใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง ซึ่งม้าดังกล่าวเป็นม้าที่มีลักษณะดี ร่างกายกำยำ พระครูบาจึงตั้งชื่อให้ว่า ‘ม้าอาชาทอง’ และใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อวัดด้วย จึงเป็นที่มาของ ‘วัดป่าอาชาทอง’ และพระขี่มาบิณฑบาต ซึ่งสร้างความแปลกใจให้ผู้พบเห็นจนกลายเป็นหนึ่งใน ‘unseen Thailand’
เมื่อท่านมีม้าเป็นพาหนะจึงทำให้การบิณฑบาตและเดินทางเผยแผ่ธรรมะได้รับความสะดวกมากขึ้น แม้พระครูบาจะต้องขี่ม้าเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 5 กิโลเมตรเพื่อรับบาตรจากสาธุชนผู้มีจิตศรัทธา
” บางครั้งอาหารที่ได้มาตกหล่นไปกว่าครึ่ง เพราะเวลาม้าควบตะบึงไปตามทาง มันคดโค้ง ขรุขระ ของก็กระเด้งกระดอนหล่นหมด พระครูบาท่านทนร้อนทนหนาวข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่า เพื่อนำอาหารที่เหลือจากฉันไปแจกจ่ายให้ชาวเขา เพราะพวกนี้ยากจนมาก ท่านก็เผยแผ่ธรรมะไปด้วย ท่านก็ไม่เคยบ่น ไม่เคยท้อนะ ท่านอยากให้ชาวบ้านมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม” สุทธิพงศ์ ชุติมากุลทวี ผู้ประสานงานของวัดป่าอาชาทอง หนึ่งในลูกศิษย์ที่ติดตามรับใช้พระครูบาเหนือชัยมาตลอด เล่าถึงภารกิจของพระครูบา
รณรงค์ให้ชาวเขาเลิกยา จน’ขุนส่า’ไม่พอใจ
เนื่องจากชาวเขาส่วนใหญ่นับถือผีและเป็นคริสต์ศาสนิกชนตามคำแนะของฝรั่งที่เข้าไปช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ ชาวบ้านจึงไม่เข้าใจการเผยแผ่ธรรมะของพระครูบาเหนือชัย บางครั้งท่านถูกชาวเขาหลายสิบคนรุมทำร้าย แต่ก็รอดมาได้ด้วยบุญบารมีและวิชาหมัดมวยที่ท่านร่ำเรียนมา ด้วยปณิธานของท่านที่ต้องการดึงชาวเขาที่หลงผิดไปค้ายาและรับจ้างขนยาตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าให้หันมาประกอบสัมมาอาชีพ และเป็นแนวร่วมในการดูแลรักษาผืนแผ่นดินไทย พระครูบาจึงเมตตาให้ความช่วยเหลือทุกคนที่เดือดร้อนไปพร้อมๆกับการอบรมธรรมะ
” ชาวเขาส่วนใหญ่จะรับจ้างขนยา แล้วพวกนี้ก็เสพยาเองด้วย เด็กอายุแค่ 10 ขวบก็ติดยาแล้ว ติดกันทั้งหมู่บ้าน ฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า มีหมด ครูบาท่านมองว่าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ท่านก็พยายามเอาชาวเขามาเรียนหนังสือ มาฝึกอาชีพ สอนมวยไทยให้เด็กๆ พอโตหน่อยพวกนี้ก็ไปรับจ้างแสดงในเมือง มีรายได้ขึ้นมา ใครมาวัดก็ให้ข้าวของติดมือกลับไป แล้วก็สอนธรรมะไปด้วย สอนว่ายาเสพติดมันไม่ดี หลังๆชาวบ้านก็เลิกเสพเลิกค้าไปเยอะ
จนขุนส่าเริ่มไม่พอใจ ก็มาดูตัว มาคุยกับพระครูบา แต่สุดท้ายราชายาเสพติดอย่างขุนส่าก็ยอมรับในตัวครูบาและขอให้ท่านไปอยู่ที่เมืองยอน ซึ่งเป็นเมืองของพวกว้าแดง เขาจะสร้างวัดให้ แต่ครูบาท่านไม่ไป ท่านบอกท่านเป็นคนไทยจะอยู่และตายบนผืนแผ่นดินไทย” สุทธิพงศ์ เล่าถึงช่วงวิกฤตที่ครูบาเหนือชัยรับมือกับขุนส่า
เผยแผ่ธรรม อย่างนักบุญ
พระครูบาเหนือชัยพยายามดึงชาวบ้านเข้ามาร่วมในกิจกรรมของวัด โน้มน้าวให้ชาวเขาส่งลูกๆมาบวชเรียน มีการสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยท่านเป็นผู้เลี้ยงดูอาหารการกินทั้งหมด ชาวบ้านที่มาเรียนหนังสือ มาฟังธรรมะ หรือช่วยงานวัด นอกจากจะได้รับความรู้และข้อคิดคุณธรรมต่างๆแล้ว ยังได้ข้าวปลาอาหาร รวมถึงข้าวของเครื่องใช้กลับไปบ้านด้วย ข้าวของที่ญาติโยมถวายมานั้นพระครูจะแจกจ่ายให้เกือบหมด เหลือไว้ให้พระเณรที่วัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากหมู่บ้านใดอยู่ไกล ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาที่วัดท่านและลูกวัดก็จะขี่ม้าข้ามเขานำข้าวของไปให้
ด้วยคุณธรรมของท่านทำให้ผู้มีจิตศรัทธานำข้าวของและม้ามาถวายให้ท่านเป็นจำนวนมาก ด้วยต้องการสนับสนุนการเผยแผ่ธรรมะของท่าน จากสถานปฏิบัติธรรมเล็กๆ ปัจจุบันวัดป่าอาชาทองจึงมีวัดสาขาถึง 10 วัด มีม้าถึง 100 กว่าตัว มีโค-กระบือ 10 ตัว มีคนงานชาวเขาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถึง 60 คน ซึ่งม้าดังกล่าวนั้นครูบาอนุญาตให้ชาวเขา ข้าราชการครูและตำรวจ-ทหารในพื้นที่หยิบยืมไปใช้ได้
โครงการพัฒนาของ’ครูบาเหนือชัย’
พระครูบาเหนือชัย เล่าถึงโครงการที่ท่านกำลังดำเนินการในขณะนี้ว่า ตอนนี้มีอยู่ 10 โครงการ เช่น โครงการนิมนต์พระนำธรรมะสู่ชายแดน ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระสังฆราชของให้พระทางวัดไปร่วมด้วย เป็นการเผยแผ่ธรรมะให้แก่ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล , โครงการโรงเรียนนานาเผ่า โดยจะมีการสร้างโรงเรียนชื่อ’ยุทธลีลานานาเผ่า’ เพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้านและเด็กๆชาวเขา ทั้งความรู้ด้านการอ่าน-เขียนภาษาไทย ภาษาของชนเผ่าต่างๆ การสานไม้ไผ่ ซึ่งเขาจะสามารถนำกลับไปใช้สร้างบ้าน สานเครื่องมือเครื่องใช้ และประกอบอาชีพได้
โครงการสำนึกรักบ้านเกิด เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้ชาวเขารู้ว่าเขาก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง มีหน้าที่ปกปักรักษาผืนแผ่นดินไทย , โครงการสอนศิลปะการต่อสู้ เช่น มวยไทย ฟันดาบ กระบี่กระบอง เพื่อให้ชาวบ้านและเด็กๆชาวเขามีความสามารถในการป้องกันตัว อันจะเป็นประโยชน์ในการดูแลประเทศต่อไป อีกทั้งยังนำความรู้ดังกล่าวไปแสดงเพื่อหารายได้ได้ด้วย
ตัดสินใจ 3 ปี จึงร่วม ‘unseen Thailand’
หลังจากที่ข่าวเรื่องพระขี่ม้าบิณฑบาตได้รับการกล่าวขานออกไปแบบปากต่อปาก จนเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วไป การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงมาขอให้พระครูบาเหนือชัยนำวัดป่าอาชาทองเข้าร่วมในโครงการ ‘unseen Thailand’ เพื่อช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวของเชียงราย ซึ่งครูบาเหนือชัยใช้เวลาคิดใคร่ครวญอยู่นานถึง 3 ปี จึงตัดสินใจตกลงเข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2547 เนื่องจากพระครูบารู้ดีว่า เมื่อการท่องเที่ยวย่างกรายเข้ามาวิถีชีวิตอันเงียบสงบของชาวเขาย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป
” พอนักท่องเที่ยวเข้ามาวิถีชีวิตมันก็เปลี่ยนไปนะ ที่อาตมาเข้าป่าก็เพราะต้องการแสวงหาความสงบ แต่ก็ต้องแลกกันเพราะเราอยากช่วยชาวบ้านให้เขามีรายได้ จะได้ไม่ไปยุ่งกับยาเสพติด ของบริจาคเยอะขึ้นก็ช่วยเขาได้มากขึ้น บางคนก็มีรายได้จากการขายอาหารใส่บาตรพระ เงินบริจาคที่ได้ส่วนหนึ่งก็จะนำไปสร้างโรงเรียน ตอนนี้ก็มีคนบริจาคไม้ทำเสาเข็มและอุปกรณ์ต่างๆมาบ้างแล้ว
แต่อาตมาไม่ได้แจกข้าวของให้ชาวบ้านทุกคนนะ จะให้เฉพาะคนที่ขยัน ต้องเป็นคนดี ก่อนแจกของก็ต้องให้ศีลด้วย ชาวบ้านที่มาทำงานในวัดก็ต้องเรียนหนังสือวันละ 2 ชั่วโมง เขาได้ทั้งรายได้และความรู้” พระครูบา กล่าว
พระครูบาเหนือชัย ยังพูดถึงบทบาทของท่านหลังจาก ‘พระขี่ม้าบิณฑบาต’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ’unseen Thailand’ ว่า
” ถึงภารกิจบางอย่างจะเปลี่ยนไป แต่อุดมการณ์ของเรายังเหมือนเดิม ทุกวันนี้อาตมาอยู่กับโลก แต่ไม่ใช่คนของโลก กายเป็นของโลก แต่ใจเป็นของพระนิพพาน ขุนเขาไม่สะท้านฟ้าฉันใด ผู้มีธรรมะย่อมไม่สะท้านต่อโลกธรรม 8 ฉันนั้น
ขอขอบคุณ http://board.palungjit.com/f4/ครูบาเหนือชัย-นั่งเข้ากรรมฐานแก้พิษยาสั่ง-นักบุญแห่งขุนเขา-222484.html
http://www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php?topic=68480.0;wap2