พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน)

พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน)

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน)

วัดบวรนิเวศวิหาร

ภูมิลำเนาเดิม : ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรนายน้อย นางกิมน้อย คชวัตร

วันประสูติ : ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๖ ในรัชกาลที่ ๖

วันสถาปนา : ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระชนมายุ : ๘๙ พรรษา

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ นามสกุล คชวัตร นามฉายาว่า สุวัฑฒโน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ลำดับที่ ๖ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา

พระประวัติ
สมเด็จฯ มีชาติภูมิอยู่ ณ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนที่ ๑ ในจำนวนบุตร ๓ คน ของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร ชาติกาล ณ บ้านวัดเหนือ ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เวลา ๐๔.๐๐ น. เศษ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
อายุได้ ๘ ขวบ ได้เข้าศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม และโรงเรียนในสมัยนั้นก็คือ ศาลาวัดนั่นเอง จบชั้นประถม ๓ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ มีอายุย่างเข้าปีที่ ๑๔ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม มีพระครูอดุลสมณกิจ (ดี พุทธโชติ) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อออกพรรษาแล้วได้ไปเรียนบาลีไวยากรณ์ที่วัดเสนหา จังหวัดนครปฐม ในพรรษานั้น เพื่อกลับมาสอนที่วัดเทวสังฆาราม ในพรรษาต่อมาคือ พ.ศ. ๒๔๗๒ พระครูอดุลสมณกิจได้พาสมเด็จฯ มาถวายตัวต่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (พระยศในขณะนั้นของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาต่อ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ประทานนามฉายาว่า สุวัฑฒโน

พ.ศ. ๒๔๗๒ อายุ ๑๗ ปี สอบได้นักธรรมชั้นตรี เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็สอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญ ๔ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จฯ มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้กลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆาราม พระครูอุดมสมณกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทแล้วอยู่จำพรรษาช่วยสอนปริยัติธรรม ณ วัดเทวสังฆาราม ๑ พรรษา ออกพรรษาแล้วจึงกลับมาวัดบวรนิเวศวิหาร อุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุตอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ เจ้าพระคุณสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (พระสมณศักดิ์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ในขณะนั้น) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ แม้จะกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ยังคงไปมาช่วยสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามอยู่อีก ๒ ปี
พ.ศ. ๒๔๗๖ อายุ ๒๑ ปี สอบได้เปรียญ ๕ ประโยค จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๘๔ อายุ ๒๙ ปี ก็สอบได้เปรียญ ๙ ประโยค
ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๗-๘ สมเด็จฯ ได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาสันสกฤต เป็นพื้นฐานได้ศึกษาด้วยตนเองในเวลาต่อมา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ สมเด็จฯ ทรงนำมาใช้ประโยชน์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ สมเด็จฯ ยังได้ศึกษาภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสด้วย โดยใช้เวลาว่างในตอนเย็นหรือกลางคืน ศึกษากับครูคฤหัสถ์ที่มาสอนเป็นการส่วนตัว แต่เนื่องจากไม่มีเวลาศึกษาอย่างติดต่อ ภายหลังจึงได้เลิกร้างไป
เมื่อสอบได้เปรียญชั้นสูงแล้ว สมเด็จฯ ก็เริ่มรับภาระหน้าที่ต่างๆ ทั้งวัดบวรนิเวศวิหาร ของคณะสงฆ์ และขององค์กรต่างๆ ทางพระพุทธศาสนามาโดยตลอด

สมณศักดิ์
ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๔ จนถึงปัจจุบัน สมเด็จฯ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ที่สำคัญดังต่อไปนี้
พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระโสภณคณาภรณ์
พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นเทพในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จออกทรงผนวช เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม ถึง ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระราชอุปัธยาจารย์ ทรงเลือกสมเด็จฯ เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระหว่างที่ทรงผนวช และก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์รักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกา ในศกนี้
พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)
พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร
พ.ศ. ๒๕๓๒ วันศุกร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๓๒ ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

รูปภาพจาก http://www.dhammajak.net/history-somdet/somdet1.html

ข้อมูล จาก http://mahamakuta.inet.co.th/buddhism/somdet/somdet.htm

http://www.jariyatam.com/th/thai-superme-patriarch/somdet-19/319

. . . . . . .