รูปเหมือน“หลวงพ่อทวด”

รูปเหมือน“หลวงพ่อทวด”

ขอนำเสนอคอลัมน์ใหม่ถอดด้าม The Best of Tourist ว่าด้วยเรื่องที่สุดที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะไม่ว่าจะมุมไหนในโลก ต่างก็มีเรื่องที่สุดๆให้เป็นที่ตื่นเต้นแปลกตา ทั้งด้วยฝีมือที่มนุษย์สร้างหรือบางอย่างก็เป็นฝีมือธรรมชาติ ซึ่งหาดูได้ทั้งที่ในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อเบิกโรงเอาฤกษ์เอาชัย ก็จึงขอเริ่มว่าด้วยพระดังที่ทั้งศักดิ์สิทธิ์และมีขนาดใหญ่เป็นที่สุด นั่นก็คือ “รูปเหมือนหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก” ที่ประดิษฐานอยู่ที่ วัดห้วยมงคล ต.ทับใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
โดย ผู้จัดการออนไลน์

คงจะมีน้อยคนที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อเสียงกิตติคุณของหลวงพ่อทวด ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วประเทศถึงความศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ มีผู้ให้ความเคารพเลื่อมใสมาเป็นเวลานาน และรู้จักกันเป็นอย่างดี ในนาม “สมเด็จหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด”

ในประวัติของหลวงพ่อทวด กล่าวไว้ว่า หลวงพ่อทวด หรือสมเด็จพะโคะ มีชื่อเดิมว่าปู เป็นลูกชายของนายหูและนางจัน เกิดในปลายสมัยพระมหาธรรมราชา (อาจจะเป็นปี พ.ศ. 2125 หรือ 2131) ตอนเด็กชายปูยังเป็นทารก มีเรื่องเล่าเป็นปาฏิหาริย์เอาไว้ว่าหลังจากนางจันเลิกอยู่ไฟก็ออกเกี่ยวข้าวทันที วันหนึ่งนางไปเก็บข้าวก็เอาลูกชายไปด้วย และได้ผูกเปลใต้ต้นหว้า งูตะบองสลาได้ขึ้นมานอนบนเปลนั้น เมื่อพ่อกับแม่มาเห็นงูก็เลื้อยหายไป แต่ได้คายแก้ววิเศษเอาไว้ให้

รูปเหมือนหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก

จนเมื่อเด็กชายปูอายุได้ 7 ขวบ ผู้เป็นพ่อได้ฝากกับท่านสมภารจวงซึ่งเป็นพี่ชายของนางจันผู้เป็นแม่ (หลวงลุง) วัดกุฏิหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือ เด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว

เมื่ออายุได้ 10 ขวบ ก็บวชเป็นสามเณรและผู้เป็นพ่อได้มอบแก้ววิเศษไว้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับพระชินเสนที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงมากมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่ออายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถรปิยทัสสี ต่อมาก็ได้เข้ารับการอุปสมบท มีฉายาว่า “ราโมธฺมมิโก” แต่คนทั่วๆ ไปเรียกว่า “เจ้าสามีราม” และได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด

เมื่อเห็นว่าการศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอแล้ว จึงได้ขอโดยสารเรือสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพรได้เกิดคลื่นลมทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ ต้องทอดสมออยู่ถึง 7 วัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมด

บรรดาลูกเรือจึงตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดอาเพศในครั้งนี้เป็นเพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจให้ส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะ ได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาด ขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้นท่านได้ห้อยเท้าซ้ายแช่ลงไปในทะเล ก็บังเกิดอัศจรรย์ น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกายใสแวววาว ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืดจึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ขึ้นสำเภาอีก และตั้งแต่นั้นเจ้าสามีรามก็เป็นอาจารย์ของเจ้าสำเภาอินสืบมา

อภินิหารที่ท่านสามีรามเหยียบน้ำทะเลจืด เป็นที่โจษขานมาถึงบัดนี้ และเหตุการณ์ตอนนี้มีเล่าเสริมพิสดารขึ้นว่า ตอนแรกนายอิน เจ้าของสำเภาเชื่อมั่นว่าพระสามีรามเป็นกาลกิณี เรือจึงต้องพายุเพราะก่อนมาไม่เคยเป็น เมื่อคลื่นสมสงบจึงคิดจะเอาเจ้าสามีรามปล่อยเกาะ แต่พอได้เห็นปาฏิหาริย์จึงขอขมาโทษ

ในยุคสมัยนี้ เกือบจะไม่มีชาวไทยคนใดเลย ที่จะไม่ได้ยินหรือได้ฟังกิตติศัพท์เล่าลือเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ความศักดิ์สิทธิ์อันนี้ บ้างก็เป็นเรื่องของการคลาดแคล้วจากอุบัติเหตุสยองจากไฟไหม้หรือจากภัยพิบัติต่างๆ และหลวงพ่อทวดไม่ใช่จะคุ้มครองเฉพาะในด้านอุบัติเหตุเท่านั้น แม้แต่ในทางโชคลาภก็ให้ผลอย่างดีที่สุด เหรียญรุ่นต่างๆ ของหลวงพ่อทวด จึงเป็นที่นิยมของเซียนพระอยู่ไม่น้อย ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวมาสักการะบูชาหลวงพ่อทวดจำนวนมาก

เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และด้วยความเคารพศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อทวด ภาครัฐและเอกชนจึงได้ร่วมกันสร้าง “หลวงพ่อทวด” องค์ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้น ณ “วัดห้วยมงคล”

รูปเหมือนหลวงพ่อทวด องค์ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ สร้างด้วยเนื้อโลหะผสม ที่งดงามอลังการมาก โดยมีหน้าตักกว้าง 9.9 เมตร สูง 11.5 เมตร บนฐานสูง 3 ชั้น ชั้นล่างกว้าง 70 เมตร ยาว 70 เมตร นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้คณะกรรมการจัดสร้างอัญเชิญพระนาภิไธยย่อ ส.ก. ขึ้นประดิษฐานที่หน้าองค์รูปหล่อองค์หลวงพ่อทวดด้วย

นอกจากนี้ที่วัดห้วยมงคลแห่งนี้ยังมีหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดแกะสลักจากไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่อายุกว่าพันปี ที่ฝังอยู่ในทรายใต้แม่น้ำยม จังหวัดแพร่ ลึกกว่า 10 เมตร ชาวบ้านเชื่อกันว่าต้นไม้ที่แก่นสูง 1 คืบขึ้นไป จะมีรุกขเทวดาสถิตอยู่เพื่อดูแลปกป้องคุ้มครองคนที่มาสักการบูชา เมื่อนำต้นตะเคียนทองมาทำรูปเคารพ เช่นแกะเป็นหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด จึงมีอานุภาพและความศักดิ์สิทธิ์เป็นทวีสิทธิ์ ดลบันดาลให้ผู้กราบไหว้ได้มีความสุขความเจริญปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

หลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ วัดห้วยมงคล ไม่เพียงจะเป็นที่เคารพสักการบูชาและเป็นที่พึ่งทางใจของเหล่าพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่พักผ่อนที่สงบ เพราะบริเวณรอบๆ ที่ประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงพ่อทวดนั้น ได้จัดเป็นสวนหย่อมสวยงาม ในแต่ละวันจึงมีทั้งพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวเดินทางไปนมัสการกราบไหว้ และชื่นชมความงดงามและยิ่งใหญ่ของหลวงพ่อทวดจำนวนมาก

“วัดห้วยมงคล” นั้นแต่เดิมใช้ชื่อว่า “วัดห้วยคต” ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านห้วยคต ต.ทับใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามใหม่จาก ห้วยคต เป็น ห้วยมงคล ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นทั้งชื่อหมู่บ้าน วัด โรงเรียน และโครงการต่างๆ อีกมากมาย

กว่า 40 ปีแล้ว ที่หมู่บ้านห้วยมงคล เป็นที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาเยี่ยมประชาชนด้วยโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพสกนิกรได้มีฐานะดีขึ้น และโครงการต่างๆก็ดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะมีส่วนราชการให้การดูแล รวมทั้งทรงอุปถัมภ์วัดห้วยมงคลไว้ให้เป็นที่พึ่งทางใจสำหรับชาวบ้าน โดยปัจจุบันมีพระครูปภัสสรวรพินิจ หรือพระอาจารย์ไพโรจน์ ปภัสสโร เป็นเจ้าอาวาส

http://watraja.org/index.php

. . . . . . .