สืบสานปณิธานของท่านพุทธทาสภิกขุ

สืบสานปณิธานของท่านพุทธทาสภิกขุ

พระไพศาล วิสาโล
บทความจากหนังสือ
อยู่ใน ใจเหนือ เกื้อโลก : เมกะเทรนด์ – เมกะธรรม

๘๐ ปี สวนโมกข์ ควรคิดอ่านทำอะไร ? อย่าให้พุทธทาสร้องไห้

แบ่งปันบน facebook Share
เมื่อท่านอาจารย์พุทธทาสเริ่มก่อตั้งสวนโมกข์นั้น ความตั้งใจแต่เดิมคือมุ่งศึกษาหาคำตอบว่าการปฏิบัติที่ถูกต้องของพุทธศาสนานั้นคืออะไร ทั้งนี้เพราะท่านพบว่า การศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนาในเวลานั้นผิดทางไปมากโดยเฉพาะในกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพุทธศาสนา ท่านเชื่อว่าคำตอบนั้นสามารถหาได้พุทธวจนะที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ดังนั้นในปีแรก ๆ ของชีวิตที่สวนโมกข์ ท่านจึงศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ผลที่เกิดขึ้นคือหนังสือ ตามรอยพระอรหันต์ ซึ่งล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์โดยตรง จุดหมายนั้นมิใช่เพื่ออะไรอื่น หากเพื่อ “ค้นคว้าสำหรับไว้ใช้เอง เพื่อตามรอยเอง” แต่เมื่อท่านเห็นว่าคนอื่นสามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย จึงให้มีการพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่สู่คนวงกว้าง นับแต่นั้นมาสวนโมกข์ก็มิใช่เป็นแค่สถานที่สำหรับการศึกษาและปฏิบัติส่วนตัวของท่านอาจารย์พุทธทาสเท่านั้น หากยังมีงานเผยแผ่รวมทั้งงานส่งเสริมปริยัติและปฏิบัติที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง การ “ฟื้นฟูการปฏิบัติพุทธศาสนาที่มันสูญหาย” * (เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา น.๑๓๘)มิใช่เพื่อตัวท่านเองเท่านั้น แต่เพื่อชาวพุทธทั่วไปด้วย
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดในรอบร้อยปีของไทย กล่าวโดยสรุปแล้ว คุณูปการสำคัญที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ทำในส่วนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ประการแรกได้แก่ การกอบกู้พุทธศาสนาจากการครอบงำของไสยศาสตร์ ตลอดจนประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่บดบังพอกหุ้มแก่นแท้ของพุทธศาสนา ท่านได้ชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์นั้นต่างกันอย่างไร อีกทั้งประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ นั้นทำให้เกิดความหลงงมงายอย่างไร พูดอีกอย่างคือท่านกอบกู้พุทธศาสนาจากการปฏิบัติตามประเพณีสืบ ๆ กันมาซึ่งคลาดเคลื่อนจากพุทธวจนะมากขึ้นทุกที

ประการต่อมาคือ การกอบกู้พุทธศาสนาจากการครอบงำของโลกิยธรรมและวัตถุนิยม ท่านได้ชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนานั้นมิใช่เป็นคำสอนเพื่อความสุขอย่างโลกย์ ๆ คือเพื่ออายุ วรรณะ สุขะ พละและธนสารสมบัติ หรือการทำความดีในระดับศีลธรรมเท่านั้น หากมุ่งเพื่อการอยู่เหนือโลก โดยการฝึกตนให้เกิดปัญญาจนสามารถเข้าถึงปรมัตถธรรม ท่านได้ทำให้มิติด้านโลกุตตรธรรมของพุทธศาสนาเด่นชัดขึ้น ขณะเดียวกันท่านก็เป็นแบบอย่างของการปฏิบัติเพื่อไปพ้นจากการครอบงำของวัตถุนิยม (ทั้งในความหมายที่เป็นค่านิยมเชิดชูหลงใหลวัตถุและโลกทัศน์ที่มองว่ามีแต่วัตถุเท่านั้นที่เป็นจริง) ชนิดที่สวนทางกับกระแสบริโภคนิยมที่กำลังครอบงำผู้คนอยู่ในปัจจุบันไม่เว้นแม้แต่วงการสงฆ์

ประการสุดท้ายคือ การกอบกู้พุทธศาสนาจากการครอบงำของปริยัติที่ไร้การปฏิบัติ ในสมัยของท่านนั้นพุทธศาสนาถูกลดทอนจนเหลือแต่ด้านปริยัติศึกษา ส่วนการปฏิบัตินั้นสูญหายไปมาก ท่านเองก็เคยเชื่อว่าการศึกษาด้านปริยัติจะทำให้คนพ้นทุกข์ได้ จึงหลงเข้าใจผิดแต่วัยหนุ่มว่า “พระอรหันต์เต็มไปทั้งกรุงเทพ ฯ” (น.๘๓)เนื่องจากมีพระที่ได้ประโยค ๙ มากมาย แต่เมื่อได้ไปศึกษาปริยัติในกรุงเทพ ฯ ก็พบว่าเป็นความเข้าใจผิด ท่านจึงเปลี่ยนเข็มหันมาเน้นการปฏิบัติโดยกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิด นับแต่นั้นท่านก็ได้เป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูการปฏิบัติขึ้นมา โดยไม่ทิ้งปริยัติ แต่เป็นปริยัติที่ส่งเสริมการปฏิบัติ มิใช่ปริยัติเพื่อปริยัติ หรือปริยัติเฟ้อ

แม้ว่าคุณูปการดังกล่าวของท่านอาจารย์พุทธทาสไม่ถึงกับทำให้พุทธศาสนากระแสหลักในเมืองไทยเปลี่ยนทิศทาง แต่อย่างน้อยก็ทำให้พุทธศาสนาในไทยมีชีวิตชีวามากขึ้น และมีสารัตถะหรือภูมิปัญญาที่สามารถเป็นคำตอบให้แก่ผู้แสวงหาความหมายของชีวิตและการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของศรัทธาที่ปราศจากปัญญา จะว่าไปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเพียรพยายามมากว่าครึ่งศตวรรษ นับว่าเกินความคาดหวังของท่าน ดังท่านเคยกล่าวว่า “เดี๋ยวนี้ก็เรียกได้ว่าผลเกินความคาดหมาย หลายร้อยหลายพันเท่า เพราะเราต้อการเพียงให้เป็นชนวน เดี๋ยวนี้คนทำมากมายเกินกว่าที่เราหวังไว้”(น.๑๗๘)

กอบกู้พุทธศาสนาจากลัทธิปัจเจกนิยม

อย่างไรก็ตามการกอบกู้พุทธศาสนาที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้พากเพียรทำมาทั้งชีวิตนั้น เป็นภารกิจที่ยังต้องการการสานต่อ เนื่องจากจากไสยศาสตร์ โลกิยธรรม วัตถุนิยม ยังคงมีอิทธิพลครอบงำพุทธศาสนากระแสหลัก (ส่วนปริยัติที่ไร้การปฏิบัตินั้น ตอนนี้ได้กลายเป็น สภาพที่ไร้ทั้งปริยัติและปฏิบัติ ไปแล้วก็ว่าได้) อันที่จริง เพียงเท่านั้นก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว แต่ทุกวันนี้ยังปัญหาอื่นเพิ่มขึ้นมาอีก ที่สำคัญได้แก่ การครอบงำของความคิดแบบปัจเจกนิยม ซึ่งทำให้การนับถือพุทธศาสนากลับกลายเป็นการส่งเสริมความเห็นแก่ตัวและไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม

ปัจจุบันมีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่แม้สนใจในการทำบุญ รักษาศีล ปฏิบัติธรรม แต่มุ่งเฉพาะประโยชน์ตน โดยไม่สนใจประโยชน์ท่าน เช่น ทำบุญก็เพราะหวังความมั่งมีศรีสุขในโลกนี้หรือความสุขในโลกหน้า แต่เมื่อประสบพบเห็นผู้เดือดร้อน กลับไม่สนใจช่วยเหลือ นักปฏิบัติธรรมผู้หนึ่งมีน้องชายที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยไม่มีใครดูแลช่วยเหลือทั้ง ๆ ที่อาการหนักมาก เมื่อพยาบาลติดต่อขอให้เธอไปช่วยดูแลน้องชายบ้าง เธอกลับตอบว่า “เป็นกรรมของเขา เขาต้องใช้กรรมของเขาเอง” ว่าแล้วเธอก็ปฏิบัติธรรมของเธอต่อไปที่วัดตามเดิม ในทัศนะของนักปฏิบัติธรรมผู้นี้ การช่วยเหลือน้องชายที่ป่วยหนัก หาใช่การปฏิบัติธรรมไม่ การปฏิบัติธรรมในทัศนะของเธอก็คือ การอยู่วัด สวดมนต์ รักษาศีล หรือทำสมาธิภาวนาตามรูปแบบ ที่น่าวิตกอีกประการหนึ่งคือ การใช้กฎแห่งกรรมมาเป็นข้ออ้างในการละทิ้งน้องชาย หรือพูดอีกอย่างคือ เอามาใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนการแสวงหาความสุขเฉพาะตน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มีชาวพุทธที่คิดแบบนี้มากขึ้น อันที่จริง อย่าว่าแต่การลงมือช่วยเหลือผู้อื่นเลย แม้แต่การแผ่ส่วนบุญหรืออุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ผู้อื่น มีหลายคนที่ลังเลใจที่จะทำ เหตุผลก็คือ กลัวบุญของตนเองจะเหลือน้อยลง ทัศนะดังกล่าวนอกจากบ่งบอกถึงความไม่เข้าใจการทำบุญในพุทธศาสนา (ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อดังกล่าว คือยิ่งอุทิศส่วนบุญก็ยิ่งได้บุญ บุญชนิดนี้เรียกว่าปัตติทานมัย) ยังแสดงถึงความเห็นแก่ตัว คือนึกถึงแต่ตัวเอง ไม่มีน้ำใจแม้แต่จะเผื่อแผ่บุญกุศลให้แก่ผู้อื่น

หลักธรรมอีกประการหนึ่งซึ่งนับวันจะถูกตีความหรือใช้ในทางที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว สนใจแต่เรื่องของตัวเอง แต่นิ่งดูดายต่อส่วนรวม ก็คือ การปล่อยวาง วิจักขณ์ พานิช เล่าว่าเคยออกข้อสอบสำหรับนักศึกษาวิชาพุทธศาสนา ข้อสอบข้อหนึ่งมีว่า

“เช้าวันหนึ่ง นาย ก.อ่านคำสอน “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรยึดถือเป็นตัวเราของเรา”หน้าหิ้งพระ รู้สึกปล่อยวางและเบาสบาย ก่อนออกจากบ้าน นายก.หยิบขยะไปทิ้ง และสังเกตเห็นว่าซอยข้างบ้านเต็มไปด้วยขยะที่คนในชุมชนข้างซอยเอามากองทิ้งไว้ บ่ายวันนั้นฝนตก น้ำชะขยะส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ นาย ก.เห็นเหตุการณ์นี้ครั้งแล้วครั้งเล่า รู้สึกทุกข์ใจ และรำคาญใจกับสภาพและกลิ่นขยะในขณะเดียวกัน แต่นาย ก.ก็ตระหนักว่า”ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อคุณไม่ปล่อยวางและยึดมั่นถือมั่น”

ปรากฏว่านักศึกษากว่าร้อยละ ๘๐ เห็นด้วยกับความคิดและการกระทำของนายก.ว่า เป็นการตีความถูกต้อง “ตรงตามพระคัมภีร์” แสดงให้เห็นว่าในทัศนะของนักศึกษาเหล่านี้ คำสอนของพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการ “ทำจิต” เท่านั้น ไม่มีเรื่องของการ “ทำกิจ” เลย ขณะเดียวกันก็บ่งชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยวาง ซึ่งมุ่งแก้ความทุกข์ทางใจ ส่วนความทุกข์ทางกายภาพนั้น ก็ต้องอาศัยการทำกิจ เช่น ถ้าเจ็บป่วยก็ต้องเยียวยารักษา หากสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ก็ต้องช่วยกันฟื้นฟู สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเรื่องการปล่อยวางดังกล่าว ได้ทำให้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยละเลยที่จะเอาใจใส่ส่วนรวม ส่งเสริมให้เกิดการปลีกตัว สนใจแต่ความสุขส่วนตัว ซึ่งเท่ากับส่งเสริมความเห็นแก่ตัวให้เพิ่มพูนขึ้นท่ามกลางสภาพสังคมที่เสื่อมโทรมลง

ในยุคที่ความคิดแบบปัจเจกนิยมมีพลังรุนแรง พุทธศาสนานับวันจะถูกตีความไปในทางที่ส่งเสริมความสุขเฉพาะตัว จนกลายเป็นความเห็นแก่ตัว แนวโน้มดังกล่าวไม่เพียงสวนทางกับคำสอนของพระพุทธองค์เท่านั้น แต่ยังสวนทางกับคำสอนและการปฏิบัติตนของท่านอาจารย์พุทธทาสอีกด้วย ท่านอาจารย์พุทธทาสนั้นเมื่อเริ่มต้นตั้งสวนโมกข์ แม้จะมุ่งที่การศึกษาและการปฏิบัติส่วนตนของท่าน แต่ยิ่งศึกษาและปฏิบัติมากขึ้น ท่านก็ยิ่งนึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ผู้อื่น และเห็นความสำคัญของการทำงานเพื่อเผยแผ่พระศาสนาในวงกว้าง ดังท่านเคยกล่าวว่า “ก่อนนี้มันคิดถึงแต่แง่ของส่วนตัว ทีนี้พอมาทำเข้าเห็นว่ามันไม่พอ ที่สอน ๆ กันอยู่มันไม่พอสำหรับคนทั่วไป จึงตัดสินใจมาช่วยฟื้นฟูในด้านปริยัติกันอีกเรื่องหนึ่งด้วย” (น.๑๑๘) ท่านเองยอมรับว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป การปฏิบัติเพื่อประโยชน์ส่วนตัวใช้เวลาน้อยกว่าการทำงานเพื่อพระศาสนา “รวมความแล้ว เวลาที่ทำหนังสือมันมากกว่า (การปฏิบัติส่วนตัว)” (น.๔๕๙) ที่จริงมิใช่แต่งานหนังสือหรืองานเผยแผ่เท่านั้น แม้แต่งาน “กรรมกร” ท่านก็ไม่ปฏิเสธ อีกทั้งยังเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของสวนโมกข์ในช่วงบุกเบิก

หากจะตามรอยพระพุทธเจ้าและท่านอาจารย์พุทธทาส ภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธในปัจจุบันก็คือ การกอบกู้พุทธศาสนาจากการครอบงำของลัทธิปัจเจกนิยมและความเห็นแก่ตัว นั่นคือจะต้องทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า พุทธศาสนานั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อความสุขเฉพาะตน หรือเพื่อความเจริญงอกงามส่วนตน แต่เพื่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ด้วย สิ่งที่จะวัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมก็คือ มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง และมีเมตตาต่อผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งพร้อมเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แทนที่จะนึกถึงแต่ความมั่งมีศรีสุขหรือความสุขเฉพาะตนเท่านั้น

พระสงฆ์ควรเป็นแบบอย่างในด้านนี้ ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ทำมากว่าครึ่งศตวรรษ โดยไม่เพียงอุทิศตัวเพื่อประโยชน์ของพระศาสนา หากยังพากเพียรเน้นย้ำว่า หัวใจของพุทธศาสนา คือ ความไม่เห็นแก่ตัว นอกจากการทำงานเผยแผ่หรือฟื้นฟูพุทธศาสนาแล้ว การใส่ใจรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ ทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรม ประการหลังนี้บรรพชิตและคฤหัสถ์ควรร่วมมือกันและแบ่งบทบาทตามความถนัด กิจการดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ท่านเท่านั้น หากยังเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนด้วย เพราะเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อลดละตัวตน ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อความเจริญงอกงามทางธรรมของผู้คน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยภายนอกนั้นมีผลต่อปัจจัยภายในด้วย สิ่งแวดล้อมที่ดีงามย่อมช่วยส่งเสริมให้เกิดคุณภาพจิตที่ดี ง่ายต่อการเปิดรับหรือปลูกฝังกุศลธรรม การปล่อยให้สิ่งแวดล้อมทั้งทางสังคมและกายภาพเสื่อมโทรม โดยมุ่งแต่สร้างประโยชน์ตนนั้น ในที่สุดย่อมส่งผลกลับมาบั่นทอนประโยชน์ตนนั้นเอง แม้แต่การปฏิบัติธรรม หรือการดำเนินชีวิตให้ถูกธรรม ก็จะกลายเป็นเรื่องยากหากผู้คนรอบตัวแก่งแย่งเบียดเบียนหรือสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ดังปัจจุบันผู้คนมากมายประสบด้วยตัวเองว่า การสอนลูกให้เป็นคนดี ท่ามกลางสังคมที่หลงใหลในบริโภคนิยมและเกลื่อนกล่นด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น เป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง

กอบกู้พุทธศาสนาจากอุปาทานรวมหมู่

ในขณะที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น (รวมทั้งอุเบกขา) ถูกใช้ไปในทางที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัวและการไม่รับผิดชอบสังคม แนวโน้มอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นและดูเหมือนจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม ก็คือ การยึดติดถือมั่นในพุทธศาสนาว่าเป็น “ตัวกูของกู”อย่างเหนียวแน่น จนจิตใจคับแคบ มองเห็นคนที่นับถือศาสนาอื่นเป็นคนละพวกละฝ่าย หรือถึงกับเห็นเป็นปฏิปักษ์ อีกทั้งยังมองเห็นคนที่ไม่นับถือพุทธศาสนาอย่างตนไปในแง่ลบ ใครที่วิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนา ก็จะมีความโกรธเกลียดและตอบโต้ด้วยการโจมตี แทนที่จะเปิดใจรับฟังหรืออธิบายด้วยเหตุผล พุทธศาสนากลายเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ ขณะเดียวกันหากศาสนาใดมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่า หรือเรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้ ก็จะรู้สึกไม่พอใจ มองเห็นเป็นภัยคุกคามต่อพุทธศาสนาเลยทีเดียว

ความยึดติดถือมั่นด้วยอำนาจของทิฏฐุปาทานดังกล่าว ในด้านหนึ่งทำให้เกิดความรู้สึกหวงแหนในพุทธศาสนา พร้อมจะปกป้อง ไม่นิ่งดูดายเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ขาดการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพุทธศาสนา ไม่ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากสาเหตุภายใน (หรือถึงแม้จะเห็นปัญหาบ้างก็ไม่กล้าพูดเสียงดัง) แต่จะอ่อนไหวต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนนอก (หรือแม้แต่ชาวพุทธด้วยกัน) จึงเท่ากับปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังต่อไป ขณะเดียวกันก็มักจะมีปฏิกิริยาที่ดุดันก้าวร้าวต่อคนนอกและต่อศาสนาอื่น อุปาทานดังกล่าวมิได้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับผู้คนเป็นอันมาก ซึ่งถือพุทธศาสนาว่าเป็นอัตลักษณ์ของตน กลายเป็นอุปาทานรวมหมู่ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน และง่ายที่จะปลุกให้เกิดความโกรธเกลียดซึ่งกันและกัน

ควรกล่าวด้วยว่าอุปาทานดังกล่าวมักเป็นความยึดติดถือมั่นในกระพี้หรือเปลือกนอก เช่น พิธีกรรม สัญลักษณ์ ในขณะที่แก่นแท้หรือหลักธรรมคำสอนนั้นกลับถูกมองข้าม ดังนั้นแม้จะมีเจตนาปกป้องพุทธศาสนาแต่กลับใช้วิธีการที่ไม่เป็นพุทธ เช่นใช้วาจาที่หยาบคาย ข่มขู่คุกคาม หรือถึงกับสนับสนุนวิธีรุนแรง ท่าทีดังกล่าวบางครั้งก็มีต่อกลุ่มคนที่ตนเห็นว่าไม่ใช่ “คนดี” (เช่น ผู้ประท้วง หรือก่อความไม่สงบ) ยิ่งนับถือศาสนาอื่นด้วยแล้ว ก็ถึงกับเห็นดีเห็นงามกับการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคนดังกล่าว โดยปราศจากความเมตตา

การยึดติดถือมั่นพุทธศาสนาเช่นนี้ ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นปัจจัยส่งเสริมความโกรธเกลียดตลอดจนความรุนแรงซึ่งมีอยู่มากแล้วในสังคม ให้เพิ่มพูนขึ้น ผลก็คือง่ายมากที่พุทธศาสนาจะถูกโยงเข้ากับความรุนแรง ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธองค์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสภาพการณ์ดังกล่าวมีแต่จะฉุดรั้งให้พุทธศาสนาเสื่อมทรุดลงยิ่งกว่าเดิม

ภารกิจอีกประการหนึ่งของชาวพุทธ จึงได้แก่ การกอบกู้พุทธศาสนาจากอุปาทานรวมหมู่ ด้วยการทำให้ผู้คนตระหนักเห็นโทษของความยึดมั่นดังกล่าว รวมทั้งมีสติรู้เท่าทันเมื่อเกิดความยึดมั่น จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมีความเข้าใจถึงหัวใจของพุทธศาสนาที่มุ่งให้เกิดความอิสระทางจิตใจด้วยวิถีแห่งปัญญา ที่จริงแม้ใจจะยังไม่ปลอดพ้นจากความยึดติดถือมั่น แต่หากพัฒนาฝึกฝนตนให้มีเมตตากรุณา มีขันติธรรม รวมทั้งเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องการเปิดใจรับฟังคำวิจารณ์ โดยใช้วิจารณญาณยิ่งกว่าอารมณ์ ก็เพียงพอที่จะช่วยให้ไม่ถูกครอบงำด้วยทิฏฐุปาทานและความโกรธเกลียดหรือแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

การกอบกู้พุทธศาสนาไม่ว่าจากลัทธิปัจเจกนิยมหรืออุปาทานรวมหมู่ โดยเนื้อแท้แล้วก็คือ การสืบทอดปณิธานข้อแรกของท่านอาจารย์พุทธทาสนั่นเอง ได้แก่ การทำให้พุทธศาสนิกชนเข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งสุดแห่งศาสนาของตน หากปณิธานข้อนี้สัมฤทธิผล ปณิธานอีก ๒ ข้อย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก นั่นคือ การทำให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา และ ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม จะว่าไปแล้วการสืบทอดปณิธาน ๓ ประการ ยังมีผลในการกอบกู้พุทธศาสนาจากการครอบงำของไสยศาสตร์ โลกิยธรรม และการศึกษาที่ผิดทาง ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ริเริ่มเอาไว้ด้วย

ในวาระครบรอบ ๘๐ ปีสวนโมกข์ และ ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นี้เป็นโจทย์ที่ชาวพุทธควรใส่ใจอย่างจริงจัง เพราะไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นใด ย่อมส่งผลอย่างมากต่อพุทธศาสนาในเมืองไทย รวมทั้งขบวนการสวนโมกข์ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ริเริ่มเอาไว้

* ข้อความในอัญประกาศในบทความนี้เป็นคำสัมภาษณ์ของท่านพุทธทาสภิกขุ จากหนังสือเรื่อง “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” ฉบับพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กรกฎาคม ๒๕๓๕ โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง หมายเลขท้ายข้อความคือ เลขหน้าในหนังสือดังกล่าว

http://www.visalo.org/article/bud80suanMoke.htm

. . . . . . .