ตามรอยวิถีธรรม 20 ปี มรณกาล ‘พุทธทาสภิกขุ’ (จบ)
หลังจากทราบประวัติความเป็นมาของท่านพุทธทาสภิกขุ ตั้งแต่พื้นฐานครอบครัวที่ตั้งรกรากอยู่ที่ตลาดพุมเรียง เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนกระทั่งเรื่องราวชีวิตวัยเยาว์ วัยหนุ่มและช่วงแรกๆ ในเพศบรรพชิต ซึ่งในช่วงพรรษาที่ 3-4 ท่านพุทธทาสสอบนักธรรมเอกได้และเป็นอาจารย์สอนนักธรรมอยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยา
ในขณะเดียวกัน นายธรรมทาส พานิช น้องชายท่านพุทธทาสได้รวบรวมญาติมิตรที่สนใจในพระพุทธศาสนามาจัดตั้งคณะขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ.2472 และนี่คือจุดเริ่มก่อนที่จะกลายเป็น “คณะธรรมทาน” ในเวลาต่อมา
เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าให้ฟังว่า “นายธรรมทาสเขามีนิสัยอยากส่งเสริมพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ตั้งแต่ตอนที่เขาไปเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาฯ (พ.ศ.2469) เขาไปพบบทความเกี่ยวกับการเผยแผ่พุทธศาสนาทางสมาคมมหาโพธิ ของธรรมปาละ และหนังสือยังอิสต์ ของญี่ปุ่น ได้เร้าใจให้เขาเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา และหาหนังสือทางพุทธศาสนามาจากหอสมุดนั้นมาอ่านเสมอ
พอกลับมาบ้าน (พ.ศ.2470) ก็มาตั้งหีบหนังสือให้คนอื่นอ่านกันในเวลาต่อมา (พ.ศ.2472) รวบรวมหนังสือธรรมะที่หาได้ในสมัยนั้น รวมทั้งเทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ไทยเขษม วิสาขะ เป็นต้น ก็ก่อหวอดให้เกิดความสนใจในหมู่คนแถวนั้น ไม่กี่คนหรอก จับกลุ่มสนทนากันเรื่องจะทำพุทธศาสนาให้มันบริสุทธิ์ ให้มันถูกต้องอย่างไร
ต่อมาคนเหล่านี้ก็เป็นกำลังตั้งสวนโมกข์และคณะธรรมทาน มีนายเที่ยง จันทเวช นายดาว ใจสะอาด นายฉัว วรรณกลัด นายเนิน วงศ์วานิช นายกวย กิ่วไม้แดง เป็นตัวตั้งตัวตี
นายธรรมทาสเขาได้รู้จักกับชาวลังกาชื่อ สิริเสนา ที่มาพักอยู่ที่บ้านท่าโพธิ์ จึงได้รู้เรื่องกิจการของสมาคมมหาโพธิ และอนาคาริกะธรรมปาละ ซึ่งพยายามฟื้นฟูพุทธศาสนาในลังกาและอินเดีย
นายธรรมทาสเขาก็มีจดหมายติดต่อรับหนังสือมหาโพธิ ต่อมาก็รับ บริติชบุดดิสต์ ของสมาคมมหาโพธิ ลอนดอน บุดดิสต์ อิน อิงแลนด์ และ บุดดิสต์ แอนนวล ออฟซีลอน ทำให้เขารู้ว่าข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในต่างประเทศ”
เมื่อหมดหน้าที่สอนนักธรรมแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุจึงเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2473 เมื่ออยู่กรุงเทพฯ ท่านพุทธทาสคิดเพียงแต่จะมุ่งเรียนภาษาบาลีเท่านั้น และทิ้งเรื่องการลาสิกขาเอาไว้ก่อน แต่ท่านไม่ได้เข้าเรียนในช่วงกลางวัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการสอนที่อืดอาด ไม่ทันใจ จึงให้พระครูชยาภิวัฒน์ (กลั่น) สอนพิเศษในช่วงกลางคืน
นอกจากการเรียนภาษาบาลีแล้ว ท่านยังสนใจเรื่องการท่องเที่ยว การถ่ายภาพ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นวิทยุ เครื่องเล่นแผ่นเสียง ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ข่าวสารบ้านเมือง ทั้งยังติดตามงานเขียนของปัญญาชนทั้งหลายในสมั้ยนั้น ไม่ว่าจะเป็น ครูเทพ น.ม.ส. พระองค์วรรณฯ เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และหลวงวิจิตรวาทการ
เมื่อประกาศผลสอบปีแรก ปรากฏว่าท่านสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และกลายเป็น “พระมหาเงื่อม อินทปัญโญ” ในปีเดียวกันนี้เอง ท่านมีงานเขียนเป็นบทความขนาดสั้นชิ้นแรกชื่อ “ประโยชน์แห่งทาน” ปรากฏอยู่ในหนังสือที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) พระอุปัชฌาย์ของท่านพุทธทาส และมีบทความขนาดยาวเรื่อง “พระพุทธศาสนาสำหรับปุถุชน พิมพ์ในหนังสือที่ระลึกครบรอบโรงเรียนนักธรรม วัดพระบรมธาตุไชยา”
ท่านพุทธทาสกลับมายังพุมเรียงเมื่อปลายปี พ.ศ.2474 โดยใช้วัดพุมเรียงเป็นที่อาศัยชั่วคราว ขณะเดียวกันก็เริ่มเสาะหาสถานที่เหมาะสมในการจะสร้างสถานปฏิบัติธรรม จนในที่สุดก็พบวัดตระพังจิก ซึ่งเป็นวัดร้างและมีป่ารก ท่านเขียนถึงเรื่องการสร้างสถานปฏิบัติธรรม และเล่าถึงสภาพวัดตระพังจิกเอาไว้ว่า
“ในปลายปี พ.ศ.2474 ระหว่างที่ฉันยังศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้มีการติดต่อกับนายธรรมทาส พานิช โดยทางจดหมายอยู่เสมอ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการส่งเสริมปฏิบัติธรรม ตามความสามารถ ในที่สุดในตอนจะสิ้นปีนั่นเอง
เราได้ตกลงกันถึงเรื่องจะจัดสร้างสถานที่ส่งเสริมปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อความสะดวกแก่ภิกษุสามเณรผู้ใคร่ในทางนี้ ซึ่งรวมทั้งตัวเองด้วย โดยหวังไปถึงว่า ข้อนั้นจะเป็นการช่วยกันส่งเสริมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคซึ่งเราสมมติกันว่า เป็นกึ่งพุทธกาลส่วนหนึ่งด้วย เมื่อไม่มีที่ใดที่เหมาะสำหรับพวกเราจะจัดทำยิ่งไปกว่าที่ไชยา เราก็ตกลงกันว่า จำเป็นที่เราจะต้องจัดสร้างที่นี่
เมื่อลงมาแล้วก็เริ่มหาที่ที่เหมาะสม โดยมีคณะอุบาสกธรรมทาน 4-5 คน เป็นคนออกไปสำรวจ ไม่นานนัก สักเดือนกว่าๆ จึงตกลงกันว่าจะใช้วัดร้างชื่อ วัดตระพังจิก เป็นวัดที่ผมไม่เคยรู้ด้วยซ้ำไป พวกนายเที่ยง นายกวย พวกนี้เขารู้มาอย่างไรก็ไม่ทราบ แล้วก็แนะกันไปดู ไปดูครั้งเดียวเห็นว่าพอใช้ได้ก็เอาเลย ต่อจากนั้นเขาก็ไปทำที่พักให้ง่ายๆ หลังพระพุทธรูป
มันก็ไม่มีเรื่องอะไรนัก เป็นวัดร้างมานาน เป็นป่ารก ครึ้มไปหมด เป็นที่ที่ชาวบ้านเขาชอบไปเขี่ยเห็ดเผาะ เขาใช้เหล็กอันเล็กๆ เขี่ยดินหาเห็ดเผาะ แถวนั้นมันมีมาก ผู้หญิงจะไปหาเห็ดเผาะ ผู้ชายจะไปหาเห็ดโคน
พวกชอบกินหมูป่าก็จะไปล่าหมูป่าที่แถวนั้น และเป็นที่กลัวผีของเด็กๆ พวกผู้หญิงที่ไม่มีลูก ก็ไปบนบานขอลูกกับพระพุทธรูปในโบสถ์ร้างที่เขาถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในทางนั้น ในสระก็ว่ามีผีดุ มีผีอยู่ในสระ มีไม้หลักที่เรียกว่าเสาประโคนปักอยู่กลางสระ”
ท่านพุทธทาสภิกขุย้ายเข้าอยู่วัดตระพังจิตเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา (ก่อนการเปลี่ยนระบอบการปกครองประมาณ 1 เดือน) ที่วัดตระพังจิก ท่านพบว่ามีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งพ้องกับคำในภาษาบาลีคือ โมกข แปลว่าความหลุดพ้น และ พลา แปลว่า กำลัง ท่านพุทธทาสจึงนำสองคำนี้มาต่อกันและใช้ตั้งชื่อสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ว่า สวนโมกขพลาราม ซึ่งแปลว่า สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น
การดำเนินชีวิตในสวนโมกขพลาราม ท่านพุทธทาสภิกขุยึดคติที่ว่า “เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง” โดยชีวิตประจำวันของท่านเป็นไปอย่างสันโดษและสมถะ สำหรับวัตถุสิ่งของภายนอก ท่านพุทธทาสจะพึ่งพาก็แต่เพียงวัตถุสิ่งของที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ และวัตถุสิ่งของที่จำเป็นในการเผยแพร่ธรรมะเท่านั้น โดยไม่พึ่งพาวัตถุสิ่งของฟุ้งเฟ้ออื่นใดที่เกินจำเป็นเลย เรียกได้ว่ามีความเป็นอยู่อย่างต่ำที่สุด
หากแต่การกระทำในความเป็นอยู่นั้นเป็นการกระทำอย่างสูงที่สุด นั่นคือเป็นการกระทำเพื่อศึกษา ปฏิบัติและเผยแพร่พระพุทธศาสนา การศึกษาและปฏิบัตินั้นเป็นการกระทำอันนำไปสู่มรรคผล และแม้กระทั่งนิพพาน ซึ่งเป็นอุดมคติที่สูงที่สุดที่ชีวิตมนุษย์ควรจะบรรลุถึง
ส่วนการเผยแพร่นั้นเป็นการกระทำเพื่อนำกระแสธรรมอันบริสุทธิ์ให้อาบหลั่งไหลรินรดคนทั้งโลกและทุกโลก เป็นการชี้ทางสว่างให้เพื่อนมนุษย์ ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้บรรลุถึงอุดมคติที่สูงที่สุดของชีวิตมนุษย์ไปด้วยกัน หรืออย่างน้อย ก็จะทำให้มนุษย์เรานั้นได้ลดการเบียดเบียนตนเอง และลดการทำร้ายผู้อื่น อันจะก่อให้เกิดทั้งสันติสุขและสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งตัวมนุษย์และโลกมนุษย์ปรารถนา
เมื่อปี พ.ศ.2486 ท่านพุทธทาสได้ย้ายสถานที่ปฏิบัติธรรรมจากสวนโมกข์แห่งแรก มาอยู่ที่วัดธารน้ำไหล ซึ่งตั้งอยู่บนเขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 บริเวณกิโลเมตรที่ 134 ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในปัจจุบัน.
http://www.thaipost.net/tabloid/230613/75399