การถือพุทธศาสนา ที่มุ่งตรงแต่ตามตัวหนังสือ กับ การถือที่มุ่งจะเอาแต่ใจความนั้น
ย่อมทำให้เกิดผลแตกแยกตรงกันข้าม เป็นสองฝ่าย เกิดบุคคล เป็นสองพวก และ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ เกิดพุทธศาสนา เป็นสองชนิดนั่นเอง และ ผลที่ตามมาก็คือ
ความปั่นป่วน.
พวกที่ถือ ตรงตามตัวหนังสือ นั้น ครั้นความต้องการของตน เกิดขัดกันขึ้น
กับความหมายเดิม ก็ถือเลิศเอาแง่ตามตัวหนังสือนั่นเอง เป็นข้อแก้ตัว ในส่วนวินัย
เช่น ห้ามรับเงิน ก็มีเงินได้เป็นจำนวนมาก โดยแก้ตัวว่า วินัยห้ามรับเงิน เท่านั้น
หรือ การห้ามนั่งบนเบาะสำลี แต่ก็นั่งบน เบาะนวม มีสปริง เป็นต้นได้ เพราะ
วินัย มิได้ห้ามไว้ เตียงเหล็กมีเท้าสูง เอาแผ่นกระดาน มาตีปะ ให้ดูปกลงมาเป็น
แม่แคร่จนเท้าเหลือนิดเดียว เตียงตัวนั้นเองก็กลายเป็นเตียงที่ใช้ได้ไม่ผิดวินัยไป
ดังนี้เป็นต้น การมีเงินได้โดยไม่ต้องมีการรับเงิน เช่นนี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้
เห็นว่า เกิดมาจากการแกล้งถือตามตัวหนังสือ ถ้าจะมองดู แม้ในพวกที่หวังดี
โดยบริสุทธิ์ใจ ก็ยังมีอาการอย่างอื่นๆ เช่น ที่เรียกกันเป็นเชิงล้อว่า
“เถรส่องบาตร” เป็นต้น เป็นตัวอย่าง แห่งการถือตรงตามตัวหนังสือ
อยู่มากเหมือนกัน ในเมืองไทย ฤดูฝนไม่ตรงกับเดือนฤดูฝนในอินเดียภาคกลาง
แต่เมืองไทย ก็ต้องถือระยะกาลจำพรรษาอย่างของอินเดีย จนปรากฏว่าใน
บางส่วนของประเทศไทย ฝนเพิ่งจะตก เมื่อพระออกพรรษา แล้วก็มี นี่ก็ดู
ไม่แพ้ อาการของตาเถรที่ส่องบาตร ในส่วนธรรมก็ไม่แพ้ในเรื่องของวินัย
มีผู้เข้าใจความหมายของคำว่า สัพพัญญู เป็นพระพุทธองค์ ทรงรู้อะไร
ไปหมดทุกอย่าง รู้ภาษาทุกภาษาในโลก รู้วิชาทุกอย่างที่โลกมี ทั้งในอดีต
ปัจจุบัน และแถมอนาคต กระทั่ง เวลาที่พระองค์หลับ ทั้งนี้ เพราะคำว่า
สัพพัญญู แปลว่า ผู้รู้สิ่งทั้งปวง พระองค์ ทรงรู้จัก ถิ่นฐานในโลก ทุกแง่
ทุกมุม เพราะพระองค์ เป็นโลกวิทู ดังนี้ก็มี ครั้นใครสักคนหนึ่ง แย้งว่า
พระองค์ไม่เคยเสด็จ ไปอเมริกา เพราะอเมริกา ยังไม่เกิด การเถียงกัน
อย่างคอเป็นเอ็น ก็เกิดขึ้นว่า ทรงทราบด้วย อนาคตญาณ