ปฏิปทาการปฏิบัติเพื่อการค้นพบวิชาธรรมกาย ( 2 )
ก่อนที่คุณผู้อ่านจะได้สัมผัสเรื่องราวที่อาจารย์การุณย์ บุญมานุชจะนำมาบอกเล่าถึง “ตำนานสถานที่แห่งการสร้างบารมีของหลวงพ่อท่านว่ามีอะไรบ้าง ผมขอคั่นเวลาและอารมณ์ของคุณผู้อ่านนิดหนึ่งก่อนนะครับ เพื่อนำพาคุณผู้อ่านย้อนภาพเหตุการณ์ตอนที่หลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ บรรลุธรรม ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของท่านเช่นกันในสำนวนเชิงพรรณนาโวหาร ที่คณะมูลนิธิธรรมกายได้ทำการบันทึกไว้ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ“ทางไปสู่ความสุข” มีอยู่ตอนหนึ่งผมอ่านทีไรซึ้งใจทุกที เพราะมองเห็นภาพชัดเจนได้เป็นฉาก ๆ ไป จึงขอนำข้อความตอนนั้นมานำเสนอไว้ในที่นี้ ซึ่งมีใจความดังนี้ว่า “ จันทร์เพ็ญเดือน 10 ลอยฟ่องฟ้าอยู่ท่ามกลางดวงดาวที่ดารดาษระยิบระยับสาดแสงนวลลูบไล้ไปทั่ว กระทบพื้นน้ำคลองบางกอกน้อยที่มีลมอ่อน ๆ พัดละลอกให้พลิ้วเข้าสู่ฝั่งมิขาดสาย ฝนที่เพิ่งขาดเม็ดเมื่อตอนค่ำยังคงทิ้งหยาดละอองน้ำติดค้างอยู่ตามใบหญ้าสะท้อนรับแสงจันทร์ ดูแพรวพราวราวกับเพชรที่โปรยปรายเอาไว้ ภายในโบสถ์วัดบางคูเวียงดูเงียบสงัดวังเวงได้ยินแต่เสียงหรีดหริ่งเรไรดังแผ่ว ๆ มาจากข้างนอก แสงจันทร์ที่ส่องผ่านหน้าต่างบานใหญ่เข้ามา ช่วยให้มองเห็นพระปฏิมากรประดิษฐานอยู่บนแท่นและทุกสิ่งภายในโบสถ์ได้อย่างชัดเจน บนพื้นเบื้องล่างตรงพระพักตร์องค์พระปฏิมากร สมณะรูปหนึ่งนั่งสงบนิ่งอยู่ในท่าสมาธิคู้บัลลังก์ กายตั้งตรงไม่ไหวติงเสมือนสิ่งไร้ชีวิต นานแสนนานจวบจนแสงจากดวงจันทร์ที่เคลื่อนคล้อยหลังเที่ยงคืน สาดปะทะร่างจนเห็นได้ทั้งองค์ คะเนอายุราว 30 เศษ รูปร่างสันทัด หน้าผากกว้างบ่งถึงลักษณะของผู้ทรงปัญญาอันล้ำเลิศ ลมเย็นพัดมาวูบหนึ่งผ้ากาสาวพัสตร์ที่ครองอยู่สั่นพลิ้วน้อย ๆ พร้อมกับมีเสียงถอนลมหายใจยาวดังจนได้ยินชัด รอยยิ้มค่อย ๆ ปรากฏขึ้นบนมุมปาก ใบหน้าอิ่มเอิบเต็มไปด้วยความปรีดาปราโมทย์รำพึงออกมาเบา ๆ “ เออ…มันยากอย่างนี้นี่เอง ถึงได้ไม่บรรลุกัน ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ต้องรวมเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับเมื่อดับแล้วจึงเกิด” เสียงรำพึงเงียบลงในฉับพลัน ขยับกายเล็กน้อยกลับคืนสู่ท่าสงบ ข้อความปีตีที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป หลับตาเพ่งพิจารณาธรรมทบทวนให้แน่ใจทั้งอนุโลมและปฏิโลม ความปีติเป็นศัตรูของสมาธิ แต่ก็เป็นการยากแก่พระภิกษุรูปนี้ที่จะระงับมิให้เกิดความปีติเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นความสำเร็จในความพากเพียรที่ได้พยายามมาเป็นเวลานานตลอดระยะเวลา 11 ปีในชีวิตสมณเพศ นับตั้งแต่ละฆราวาสวิสัยจากหนุ่มพ่อค้าข้าว
ซึ่งในสมัยโน้นพอเอ่ยชื่อ “สด มีแก้วน้อย” บรรดาีพ่อค้าและชาวนา อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่างรู้จักกันดีว่า เป็นพ่อค้าข้าวที่ขยันหมั่นเพียร สัตย์ซื่ออารีอารอบ น่าจะเป็นพ่อค้าที่มั่งคั่ง และมีอนาคตไกลคนหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งปรารถนา เพราะได้ตั้งจิตมุ่งจะตัดปลิโพธและอาลัย เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ศึกษาธรรมของพระผู้พิชิตมารให้บรรลุจนได้ รุ้งเช้า..เมื่อกลับจากบิณฑบาตหลังสำเร็จภัตตกิจแล้ว ขณะนั้นประมาณ 2 โมงเช้าเศษๆ ภิกษุสดเริ่มทำความเพียรทางใจ หลับตาภาวนา “สัมมาอะระหัง” เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า เพิ่มความเป็นเหน็บและปวดเมื่อยขึ้นมาทีละน้อยๆถึงขั้นหนักเข้า จนมีความรู้สึกว่า กระดูกทุกชิ้นส่วนเริ่มเขม็งเกลียวลั่นกรอบ แทบจะระเบิดหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ เพราะความเมื่อย ความกระวนกระวายใจเริ่มตามมา “ เอ…แต่ก่อนเราไม่เคยรู้สึกเช่นนี้เลย พอตั้งสัจจะลงไปว่า ถ้ากลองเพลไม่ดังจะไม่ลุกจากที่ เหตุใดมันจึงเพิ่มความกระวนกระวายใจมากอย่างนี้ ผิดกว่าครั้งก่อน ๆ ที่นั่งภาวนา เมื่อไรหนอกลองเพลจึงจะดังสักที คิดไปจิตก็ยิ่งแกว่งซัดส่ายหนักเข้าเกือบจะเลิกนั่งก็หลายครั้ง แต่เมื่อได้ตั้งสัจจะลงไปแล้วจะแพ้ไม่ได้ เมื่อกายไม่สงบใจจะไปสงบได้อย่างไร ในที่สุดก็อดทนนั่งต่อไปใจเริ่มค่อยสงบลงทีละน้อย เพราะไม่แวบไปเกาะที่ปวดเมื่อยช่างมันปะไร มันเป็นเรื่องของสังขาร ในที่สุดใจก็หยุดเป็นจุดเดียวกันเห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ใจสบายอย่างบอกไม่ถูก ความปวดเมื่อยหายไปไหนไม่ทราบ ก็พอดีกลองเพลดังกังวานขึ้น..” วันนั้นฉันภัตตาหารเพลมีรสที่สุด เพราะเหตุว่าไม่ใช่รสแห่งอาหารอย่างเดียว หากเจือระคนด้วยรสแห่งธรรมผสมผสานกันไปด้วย จิตจึงเกิดปราโมทย์ ใจยังอิ่มเอิบชุ่มชื่นอยู่ ฉันภัตตาหารไปใจก็อดที่จะมองดูที่ศูนย์กลางกายไม่ได้ “อ้อ!….ยังเห็นอยู่ เออ!….นี่ก็แปลกลืมตาก็ยังมองเห็นชัด ความสว่างเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนเลยในชีวิตของการบำเพ็ญธรรม เราไม่เคยเห็นความสว่างใดที่จะเทียบเท่าได้ ความสว่างแห่งดวงอาทิตย์ก็ยังห่างไกล เท่าที่เห็นอุปมาเหมือนแสงหิ่งห้อยกับโคมไฟ” พระภิกษุสดฉันไปก็อดที่จะอมยิ้มออกมามิได้ด้วยเปี่ยมสุข ทำให้หวนระลึกถึงพุทธวจนะบทหนึ่งว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ” แปลว่า “สุขอื่นนอกจากความหยุดนิ่งไม่มี” “ท่านสด! ทำไมวันนี้ท่านจึงฉันไปอมยิ้มไป ท่านยิ้มกับผู้ใดหรือ?” เพื่อนภิกษุถามด้วยความสงสัยในอาการของท่าน “เปล่าหรอกท่าน! ผมกำลังระลึกถึงคุณของพระบรมศาสดาของเราเลยอดที่จะอมยิ้มปีติโสมนัสใจไม่ได้”ท่านตอบเลี่ยง ๆ “ ท่านสดนับว่าเป็นผู้ไม่ประมาท แม้แต่ฉันภัตตาหารยังภาวนาระลึกถึงคุณของพระบรมศาสดาเป็นพุทธานุสติ หากพระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ คงต้องตรัสสรรเสริญท่านท่ามกลางพระขีณาสพทั้งหลายเป็นแน่” พระภิกษุเพื่อนกล่าวเชิงสัพยอกด้วยความยินดี หลังจากลงฟังพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนภิกษุ ท่านก็ยิ่งรู้สึกเบากายเบาใจยิ่งขึ้น ความแหนงใจเกี่ยวกับอาบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ ถูกขจัดออกไปจากใจ….หลังจากนั้นมีท่านเพียงลำพังเริ่มปรารภความเพียรทางใจ ขณะลงนั่งในพื้นอุโบสถต่อหน้าพระประธานผู้เป็นตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเริ่มสวดอ้อนวอนเบา ๆว่า“ขอพระองค์ได้ทรงโปรดประธานธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด หากว่าการบรรลุธรรมของข้าพระพุทธเจ้า จะเกิดประโยชน์แก่พระศาสนาอย่างมหาศาลล่ะก็ ขอทรงได้โปรดประทานเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะรับอาสาเป็นทนายแก้ต่างให้แก่พระพุทธศาสนา หากว่าไม่เกิดประโยชน์แล้วไซร้ ขออย่าได้ทรงประทานเลย ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายชีวิตอัตภาพนี้เป็นพุทธบูชาแด่พระองค์” พอเมื่อนั่งฝนก็เริ่มตกลงมาทให้อากาศเยือกเย็นไปทั่วบริเวณ ท่านเหลือบไปเห็นมดคี่กำลังไต่ขึ้นมาตามรอยแตกของพื้นโบสถ์ ก็เกิดความกริ่งใจกลัวหมดคี่จะมากัดท่าน ทำให้ถอนจากสมาธิจึงเอานิ้วจุ่มน้ำมันก๊าด เพื่อขีดวงล้อมรอบตัวกลัวมดคี่ขึ้นมากัด แต่ต้องเลิกล้มความคิดนั้น เพราะฉุกใจคิดได้ว่าชีวิตนี้เราได้สละให้แก่พระพุทธศาสนาแล้วจะกลัวใยกับมดคี่ จึงเริ่มปฏิบัติต่อไปใหม่ทันที คราวนี้ดวงกลมโตใสบริสุทธิ์ขนาดเท่ากับฟองไข่แดงของไข่ไก่ ซึ่งติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายเมื่อตอนเพลนั้น มาบัดนี้ยิ่งใสสว่างมากขึ้นและขยายใหญ่ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า เห็นอยู่อย่างนั้นเป็นนานนับหลายชั่วโมง จากทุ่มเศษขณะนี้เลยเที่ยงคืนไปหนึ่งชั่วนาฬิกาแล้ว ดวงใสก็ยังสว่างอยู่อย่างนั้น โดยท่านก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะทุกสำนักที่ท่านได้ศึกษามาไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้ ขณะที่นั่งนิ่งอยู่นั้นเสียงหนึ่งผุดขึ้นมาจากกลางดวงนั้นว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” อ้า…! ทางสายกลางไม่ตึงไม่หย่อนนัก ในความหมายของปริยัติ แต่ขณะที่เสียงนั้นดังแผ่วขึ้นมาในความรู้สึกพลันก็เห็นจุดเล็ก ๆ เรืองแสงสว่างวาบขึ้นมาจากกลางดวงนั้นเหมือนจุดศูนย์กลางของวงกลม ความสว่างของจุดนั้นสว่างกว่าดวงกลมรอบ ๆ ท่านมองเรื่อยไปพลางคิดในใจ “นี่กระมังทางสายกลาง?” จุดเล็กที่เราเพิ่งเห็นเดี๋ยวนี้อยู่กึ่งกลางพอดี “ลองมองดูซิจะเกิดอะไรขึ้น?” จุดนั้นค่อย ๆ ขยายขึ้นและโตเท่ากับดวงเดิมดวงเก่าหายไป เมื่อท่านมองเรื่อยไปก็เห็นดวงใหม่ลอยขึ้นมาแทนที่ เหมือนน้ำพุที่พุ่งขึ้นมาแทนที่กันนั้นแหละ ต่างแต่ใสยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดจึงเห็นกายต่าง ๆ ขึ้น กระทั่งถึง “ธรรมกาย” เป็นพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูมใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าพระพุทธรูปบูชาองค์ใดที่เคยเห็นมา “เสียงธรรมกาย”กังวานขึ้นมาในความรู้สึกได้ยินกับหูมนุษย์ “ถูกต้องแล้ว ๆ “ แล้วก็หับพระโอษฐ์ทันที ความรู้สึกเป็นปีตีสุขเกิดขึ้นจึงออกอุทานดังข้างต้นนั้น…”
คุณผู้อ่านครับ..ข้อความทั้งหมดดังกล่าวนี้ ที่ได้หยิบยกมานั้น เป็นธรรมลีลาที่ทรงคุณค่ายิ่ง ย่อมเป็นการตอบคำถามที่ว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำเจริญสมาธิภาวนาอย่างไร ได้บรรลุธรรมกายที่ไหน,เมื่อไรได้เป็นอย่างดีแล้ว เนื้อหาอาจจะซ้ำกับข้อมูลเบื้องต้นที่นำเสนอไปแล้วนะครับ แต่จุดนี้ผมต้องการนำเสนอให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพการบรรลุธรรมของหลวงพ่อได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก อันก่อเกิดแรงศรัทธาแห่งความปรารถนาที่จะเจริญรอยตามท่านในการฝึกปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมได้ในที่สุด คุณผู้อ่านเชื่อหรือไม่ครับว่าในโลกของเราทุกวันนี้มีคนรู้เรื่องราวของหลวงพ่อแค่หยิบมือเดียวเอง ถ้าหากเอาไปเทียบกับประชากรในโลกใบนี้ คุณผู้อ่านนับว่าเป็นผู้โชคดีมีบารมีธรรมไม่น้อย ถึงได้มารับรู้เรื่องราวต่างๆของท่านได้ หากว่ากันในส่วนละเอียดแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในข่ายบารมีรัศมีญาณ เคยเป็นลูกเป็นหลานและญาติธรรมร่วมสร้างบารมีกับท่านมาก่อน มิเช่นนั้นแล้วก็ยากยิ่งครับที่จะมาสนใจใคร่รู้เรื่องราวของท่านได้ บางคนเคยเกิดร่วมสมัยเดียวกับหลวงพ่อและมีเคหสถานบ้านเรือนอยู่ในละแวกวัดปากน้ำฯด้วยซ้ำไป แต่ไม่เคยคิดที่ย่างกรายเข้ามาเพื่อร่วมสร้างบารมีกับท่านเลย มัวแต่สนใจในสิ่งไร้สาระอันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดในชีวิต ในทางกลับกันคนที่มีวาสนาบารมีที่เคยทำร่วมกันมากับหลวงพ่อ ถึงแม้จะอยู่กันคนละมุมโลกก็ดั้นด้นมาหา มาเรียนรู้ฝึกปฏิบัติจนบรรลุธรรมกายกันไปเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อสดถึงกับปฏิญาณในพระอุโบสถว่า“บรรพชิตที่ยังไม่มา…ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข” ฉะนั้นใครจะบ่ายหน้ามาพึ่งท่านไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส จึงไม่ได้รับคำปฏิเสธกลับไป ใครพูดถึงจำนวนพระภิกษุสามเณรว่ามากมายเกินไป ท่านดีใจกลับหัวเราะแล้วพูดว่า “เห็นคุณพระพุทธศาสนาไหมล่ะ” ถ้าพูดถึงเรื่องนี้แล้วละก็เป็นถูกอารมณ์หลวงพ่อมากทีเดียวครับ ท่านไม่พูดว่าเลี้ยงไม่ไหวมีแต่พูดว่า “ไหวซิน่า” แล้วก็หัวเราะท่านคงจะปลื้มใจที่ความคิดฝันของท่านเป็นผลสำเร็จ ขอให้คุณผู้อ่านจงภาคภูมิใจในวาสนาบารมีของตนเองเถิดครับ ว่าเรายังไงก็เป็นหนึ่งในนั้นที่โชคดีที่ก้าวมาถึงจุดที่รับรู้เรื่องสำคัญเช่นนี้ได้ ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ในเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งต่อไปในครั้งหน้าได้อีกที เมื่อคุณผู้อ่านเข้าใจตามนี้แล้ว เรามาเสริมปัญญาบารมี ด้วยการศึกษาเรื่องของหลวงพ่อท่านกันต่อนะครับ
https://sites.google.com/site/baromjuk/