อารมณ์ขันของท่านพุทธทาส
โดยสันติเทพ ศิลปบรรเลง
พระธรรมโกศาจารย์ หรือในนาม “พุทธทาสภิกขุ” ท่านเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการพระพุทธศาสนา ผลงานเขียนและการแสดงธรรมของท่านมีมากมายมหาศาล แต่ละเรื่องก็ล้วนแต่เป็นหลักธรรมขั้นสูงที่เรียกว่า “ปรมัตถ์” แทบทั้งสิ้น ท่านเป็นพระภิกษุผู้ประเสริฐเลิศด้วยปัญญาและเมตตา อีกทั้งปฏิปทาการประพฤติปฏิบัติก็เป็นแบบอย่างที่ดีของพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือ “สุปฏิปันโน” อันหาที่ติไม่ได้ บุคลิกภาพ จรรยามารยาทอันงดงาม น้ำเสียงอันอ่อนโยนนุ่มนวลยังคงประทับใจผู้พบเห็นมิรู้วาย ส่วนผลงานของท่านที่พิมพ์ออกมาเป็นเล่มให้เราได้อ่านกันก็เหมือนกับได้ฟังธรรมอันทรงคุณค่าและเป็นอมตะประดับไว้ในบรรณพิภพ แม้ว่าไปไหน เหมือนกับคำกลอนที่ท่านเขียนไว้ให้เป็นปริศนาข้อคิดว่า………
“พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย….”
ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงประวัติของท่านแต่จะกล่าวถึงอารมณ์ขันของท่านพุทธทาสที่แฝงไว้ในบทธรรมคำกลอนบางเรื่อง เพื่อให้เห็นว่าถึงแม้ท่านจะเป็นปราชญ์ระดับอัจฉริยะก็ตาม ท่านก็ยังมีอารมณ์ขันเหมือนกัน แต่ไม่ใช่อารมณ์ขันครื้นเครงตลกคะนองแบบคนทั่วไป กลับเป็นอารมณ์ขันอันแฝงเร้นไว้ซึ่งธรรมะในชั้นลึกเลยทีเดียว
เช่น หัวข้อธรรมคำกลอน เรื่อง “ความสุข” ท่านประพันธ์ไว้ดังนี้
ความเอ๋ย ความสุข ใคร ๆ ทุก คน,ชอบเจ้า เฝ้าวิ่งหา
“แกก็สุข ฉันก็สุข ทุกเวลา แต่ดูหน้า ตาแห้ง ยังแคลงใน”
ประโยคนี้ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นถึงอารมณ์ขันของท่านอย่างชัดเจนโดยแทบไม่ต้องอธิบาย สรุปก็คือ “แกก็สุข ฉันก็สุข” แต่ทำไมดูหน้าตาแห้งเหี่ยวหมองคล้ำคล้ายมีความทุกข์ซึ่งตรงกันข้ามกับที่บอกว่า “แกก็สุข” “ฉันก็สุข” ทำให้คลางแคลงใจนัก.
ในเรื่อง “กิเลสคุย” จะเห็นได้ชัดถึงอารมณ์ขันที่ท่านเขียนออกมาด้วยความขบขันแกมสมเพชกับผู้ที่อวดอ้างตนเองว่ารู้ธรรมะมากมายแล้วเที่ยวคุยโม้โอ้อวดว่ารอบรู้หลักธรรมข้อนั้นข้อนี้ แต่ความจริงตนเองประพฤติธรรมใด ๆ ไม่ได้เลย กลับมีกิเลสตัณหามากมายยังมีโลภ-โกรธ-หลงอยู่มาก เช่นซื้อล๊อตเตอรี่หวังจะรวยทางลัด ใครยุแหย่ยั่วเย้าหน่อยก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ หลงอยู่ในอบายมุขทั้งปวง ทั้งที่อ่านตำราหนังสือธรรมะเต็มโต๊ะแต่ยังเป็นทาสของกิเลสอยู่นั่นเองตามคำกลอนดังนี้
“คุยเสียดี ที่แท้ แพ้กิเลส น่าสมเพช เตือนเท่าไร ก็ไม่เห็น ว่าเป็นทาส กิเลส อยู่เช้าเย็น จะอวดเป็น ปราชญ์ไป ทำไมนา
คันธรรมะ หาทางออก อุ้มกิเลส ท่านสมเพช จริง ๆ เที่ยววิ่งหา ตำรานี่ ตำรานั่น สรรหามา ได้เป็นข้า กิเลสไป สมใจเอย”
ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยพร่ำสอนกับผู้ที่มาเยี่ยมชมหรือปฏิบัติธรรมที่สวนโมกขพลารามอยู่เสมอว่า มาถึงสวนโมกข์แล้วก็ควรจะศึกษาปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะจนกระทั่งได้รับ “ปริญญาจากสวนโมกข์” จึงจะนับว่าสำเร็จการศึกษาไม่ต้องเล่าเรียนอะไรกันต่อไปอีกเลย แต่มีผู้สงสัยถามขึ้นว่า “สวนโมกข์มีการให้ปริญญาเหมือนกับมหาวิทยาลัยด้วยหรือ” ท่านพุทธทาสตอบว่าไม่มีการมอบปริญญาเป็นวุฒิบัตรอะไรหรอก แต่สวนโมกข์มีปริญญาที่ผู้ศึกษาปฏิบัติเข้าถึงแล้วจะได้ปริญญาเป็นของตนเอง คือ “ปริญญาตายก่อนตาย” ว่าแล้วก็ให้ดูปริศนาธรรมคำกลอนที่ท่านเขียนไว้ให้ทุกคนอ่าน ดังนี้
“ปริญญาจากสวนโมกข์”
“ปริญญาตายก่อนตาย” ใครได้รับ เป็นอันนับ ว่าจบสิ้น การศึกษา
เป็นโลกุตตร์ หลุดพ้น เหนือโลกา หยุดเวียนว่าย สิ้นสังสาร-วัฏฏ์วน
ปริญญา แสนสงวน จากสวนโมกข์ คนเขาว่า เยกโยก ไม่เห็นหน
ไม่เห็นดี ที่ตรงไหน ใครสัปดน รับเอามา ด่าป่น กันทั้งเมือง
นี่แหละหนา “ปริญญาตายก่อนตาย” คนทั้งหลาย มองดู ไม่รู้เรื่อง
เขาอยากอยู่ ให้เด่นดัง มลังเมลือง เขาเลยเคือง ว่าเราชวน ให้ด่วนตาย
คำกลอนนี้ในส่วนสองประโยคสุดท้ายที่ว่า “เขาอยากอยู่ให้เด่นดังมลังเมลือง เขาเลยเคืองว่าเราชวนให้ด่วนตาย” นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ขันอย่างเด่นชัดอีกทั้งยังมีนัยประชดประชันแกมหยอกล้ออีกด้วย หมายความว่าปริญญาจากสวนโมกข์ก็คือ ปริญญา “ตายก่อนตาย” แต่คนคิดปริศนาไม่เข้าใจเลยขัดเคืองหาว่าชวนให้รีบตายเป็นงั้นไป นี่แหละคือการสอนธรรมอัน ล้ำลึกและแฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันของท่านพุทธทาสภิกขุ
หนังสือ อริยธรรม ๑๒
มูลนิธิกลุ่มศรัทธาธรรม
พิมพ์ สุวิภา กลิ่นสุวรรณ์
http://www.kanlayanatam.com/sara/sara23.htm