หลวงพ่อตอบปัญหาปัญญาชนตะวันตก (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม)
หลวงพ่อตอบปัญหาปัญญาชนตะวันตก
โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม)
วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ๑๖๑๖๐
บันทึกการสนทนาธรรม
ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล
(จรัญ ฐิตธมฺโม) (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) กับ
ดร.เจอร์รัลด์ แมกเคนนี่ หัวหน้าภาควิชาศาสนศึกษา
มหาวิทยาลัยไรซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ดร.เจอร์รัลด์ แมกเคนนี่ หัวหน้าภาควิชาศาสนศึกษา
มหาวิทยาลัยไรซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีภรรยาเป็นคนไทยชาวพุทธ
แต่ตัวเองเป็นชาวคริสเตียน สนใจศึกษาพุทธศาสนา
มาตั้งแต่ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยชิคาโก อ่านหนังสือภาษาไทยได้
แต่ไม่คล่องดี ในปัจจุบันกำลังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพุทธศาสนา
โดยเฉพาะในเรื่องกฎแห่งกรรม การปฏิบัติกรรมฐาน
และงานสังคมสงเคราะห์ของพระสงฆ์
ในเรื่องกฎแห่งกรรม อาจารย์เจอร์รัลด์ ได้ถามหลวงพ่อว่า :
ใครเป็นผู้สร้างกฎแห่งกรรม ?
ทำไมคำสอนของพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องกฎแห่งกรรมมาก ?
การให้ความสำคัญแก่กฎแห่งกรรมจะเป็นการสอนให้คน
ไม่มีความกระตือรือร้น และความพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือไม่ ?
หลวงพ่ออธิบายว่า : กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติไม่มีผู้ใดสร้างขึ้นมา
มีฐานะเช่นเดียวกับกฎธรรมชาติข้ออื่น เช่น กฎของความเปลี่ยนแปลง
พุทธศาสนาเน้นเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะต้องการให้คนทุกคน
มีความสุขทั้งในชาตินี้และชาติต่อไป
ทั้งนี้เพราะความสุขหรือทุกข์เป็นผลมาจากการกระทำของเรา
แต่ละคนเองทั้งนั้น ไม่ได้เป็นรางวัลหรือการลงโทษของอำนาจศักดิ์สิทธิ์
แต่อย่างใด คำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมไม่ได้ต้องการให้ชาวพุทธ
เป็นคนขาดความกระตือรือร้นหรือความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ
ด้วยตนเอง กฎแห่งกรรมเพียงแต่เน้นความสำคัญว่าการกระทำทุกอย่าง
มีผลต่อผู้กระทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนานมากบ้างน้อยบ้าง
ตามประเภทของการกระทำ
ดังนั้นเราจึงควรระมัดระวังทำแต่สิ่งที่ดีงามทุกครั้ง
และถึงแม้ว่าชีวิตปัจจุบันจะเป็นผลมาจากการกระทำของเราในอดีต
แต่ก็มิได้หมายความว่า เราไม่มีเสรีภาพที่จะสร้างชีวิตใหม่
ชีวิตมีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงแล้ว
ดังนั้น เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
อนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงเปิดกว้างไม่มีขอบเขต
อนาคตจะมีลักษณะเช่นใด หรือมีขอบเขตจำกัดเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในปัจจุบันเป็นสำคัญ
ถึงแม้ว่าชีวิตปัจจุบันจะเป็นผลของการกระทำของเราในอดีต
แต่ชีวิตปัจจุบันก็ยังมีช่องว่างหรือเสรีภาพอยู่
ทำให้เรามีโอกาสรังสรรค์ปั้นแต่งชีวิตของเราในอนาคตได้
ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงเน้นความสำคัญของการกระทำในปัจจุบัน
มากเป็นพิเศษ ศาสนาพุทธไม่ต้องการให้เราไปเศร้าสร้อย
หรือดีใจกับอดีตที่ผ่านมาแล้ว และในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการ
ให้เราเพ้อฝันถึงอนาคต แต่ต้องการให้เราสนใจปัจจุบัน
และทำชีวิตปัจจุบันให้ดีที่สุด จะได้เป็นปัจจัยสำหรับอนาคตที่ดีได้
อาจารย์เจอร์รัลด์ เห็นด้วยกับคำอธิบายของหลวงพ่อที่มีเหตุมีผล
และขอบคุณหลวงพ่อที่ได้เมตตาช่วยเหลือให้เขาเข้าใจ
แนวความคิดของพุทธศาสนา เรื่องกฎแห่งกรรมดีขึ้น
หลวงพ่อได้อธิบายเพิ่มเติมว่า : กฎแห่งกรรมมีอยู่จริง
และตัวหลวงพ่อเองนอกจากมีประจักษ์พยานจากประสบการณ์โดยตรง
เกี่ยวกับผลของกรรมในอดีตที่มีต่อชีวิตของหลวงพ่อในปัจจุบัน
แล้วยังได้ประจักษ์พยานจากประสบการณ์ของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก
ที่หลวงพ่อรับทราบอีกด้วย ด้วยเหตุผลนี้ทำให้หลวงพ่อจึงอุทิศตัวเอง
ให้แก่การสอนอบรมคนทุกวัยให้ทำแต่ความดีงามและละเว้นจากความชั่ว
ทั้งปวงเพื่อจะได้สร้างกรรมดีให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต
ในอนาตทั้งใกล้และไกล
อาจารย์เจอร์รัลด์ ถามต่อมาว่า : พุทธศาสนาสอนวิธีแก้กรรมหรือไม่นั้น
หลวงพ่ออธิบายว่า : พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้า
แต่ให้คนทุกคนเชื่อในความสามารถของตนเองว่า
ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาจิตของตนให้เจริญสูงสุด
ได้ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง
พุทธศาสนาเน้นเรื่องกฎแห่งกรรม
เพราะต้องการให้เรามีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองอย่างเต็มที่
ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง
เราจะมีความสุขหรือความทุกข์ เพราะการกระทำของเรา
ซึ่งมีทั้งทางกาย วาจา และใจ
สำหรับในกรณีของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
พุทธศาสนาสอนว่าตราบใดที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่
เราก็ย่อมจะทำอะไรผิดพลาดได้ง่าย
ที่สำคัญก็คือ เมื่อทำอะไรผิดพลาดไปแล้ว
เราต้องยอมรับผิดและใช้ความผิดพลาดนั้น
เป็นบทเรียนป้องกันไม่ให้ทำความผิดเช่นนั้นอีกต่อไป
การยอมรับผิดและความตั้งใจที่จะทำความดีเป็นกุศลอย่างหนึ่ง
การเรียนรู้ (สิกขา) และการมีสติจะช่วยให้เราทำความผิดพลาด
น้อยลงทุกทีจนเมื่อจิตเปลี่ยนสภาพเป็นอริยจิต
เช่น ในกรณีของพระอรหันต์ แล้วความผิดพลาดต่างๆ หรือการกระทำ
ที่ไม่ดีก็จะไม่เกิดขึ้นอีกนอกจากนั้นหลวงพ่อยังได้เน้นว่า :
สำหรับผู้ที่ต้องการจะรู้สาเหตุของความทุกข์ของตนในปัจจุบัน
ที่เป็นผลของวิบากกรรมที่ไม่ดีในอดีตนั้น
ก็อาจจะใช้การปฏิบัติกรรมฐานเป็นเครื่องมือได้
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีสำคัญในพุทธศาสนา
ที่จะสร้างกุศลและปัญญาให้เกิดขึ้นในตัวผู้ปฏิบัติ
ในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีค้นพบสาเหตุและประเภทของวิบากกรรม
ที่ผู้ปฏิบัติกำลังประสบอยู่ได้
ความรู้นี้อาจเป็นประโยชน์ในการคิดหาการกระทำ
ที่จะให้กรรมนั้นสิ้นสุดลง หรือลดความรุนแรงลง
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า การปฏิบัติกรรมฐานแก้กรรมได้
พร้อมกันนั้นหลวงพ่อก็ได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์
ของผู้มาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวัน มาประกอบคำอธิบาย
ทำให้อาจารย์เจอร์รัลด์เข้าใจคำสอนของหลวงพ่อได้ดี
หลังจากที่ได้สนทนากับหลวงพ่อเป็นเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง
อาจารย์เจอร์รัลด์กล่าวขอบคุณและยกย่องหลวงพ่อ
ว่าสามารถสอนให้เขาเข้าใจความคิดที่ซับซ้อนของพุทธศาสนา
(เช่น เรื่องกรรม และ กรรมฐาน) ได้
ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อไม่ได้มีความรู้ในเรื่องต่างๆ เหล่านั้น
จากการศึกษาในคัมภีร์ศาสนาเท่านั้น
แต่จากการวิเคราะห์ประสบการณ์เป็นพื้นฐาน
ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันในวงวิชาการศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา
เพราะเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจคำสอนศาสนาได้ลึกซึ้ง
และกว้างขวาง ไม่จำกัดอยู่ที่ความคิดในคัมภีร์
อาจารย์เจอร์รัลด์ดีใจมากที่มีโอกาสได้สนทนากับหลวงพ่อ
และสัญญาจะนำความรู้ที่ได้รับจากความเมตตาของหลวงพ่อนี้
ไปเผยแพร่แก่นักศึกษาชาวอเมริกันที่ศึกษากับตน
สนทนาธรรมกับ
ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ เป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา
ชาวต่างประเทศคนอื่นที่หลวงพ่อเมตตาอธิบาย
คำสอนพุทธศาสนาให้เป็นกรณีพิเศษ
คือ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจวตท์ และภรรยา
ศาสตราจารย์ผู้นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา
และสอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ
ในประเทศสหรัฐอเมริกา มาไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี
ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว และมาช่วยสอนที่
ศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา
ที่นักวิชาการชาวตะวันตกเขียนไว้หลายเล่ม
และมีข้อสงสัยหลายประการ เมื่อมีโอกาสได้พบหลวงพ่อ
จึงขอคำอธิบายจากหลวงพ่อ
เรื่องแรกที่ศาสตราจารย์ผู้นี้สงสัย คือ เขาสังเกตเห็นว่า
เวลาที่หลวงพ่อสอนญาติโยมทั้งหลาย
หลวงพ่อมีกิริยาท่าทางคล่องแคล่ว กล้าหาญและมีกำลังวังชา
เช่น นักรบ เขาจึงสงสัยว่าก่อนที่หลวงพ่อจะบวชนั้น
หลวงพ่อเคยเป็นทหารหรือเป็นผู้ฝึกทหารหรือไม่
หลวงพ่อตอบว่าอดีตของหลวงพ่อนั้นมีประวัติยาวนาน
ที่ได้เคยเล่าให้ญาติโยมทั้งหลายฟังแล้ว แต่ไม่ต้องการจะเล่าซ้ำอีก
และเป็นเรื่องที่ศาสตราจารย์ผู้นี้จะเข้าใจได้ยาก
เพราะไม่ได้เป็นชาวพุทธ และไม่มีความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง
โดยเฉพาะในเรื่องกฎแห่งกรรม
การขาดความรู้นี้อาจทำให้เขามองดูเรื่องราวของหลวงพ่อ
ที่เป็นแม่ทัพในอดีตชาติว่าเป็นเรื่องเหลวไหลได้
หลวงพ่อต้องการที่จะพูดคุยกับเขาเฉพาะในเรื่องที่เขาจะเข้าใจได้เท่านั้น
ด้วยเหตุผลนี้หลวงพ่อจึงไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าวอย่างละเอียด
เพียงแต่พูดว่าเคยเป็นทหารมาและเวลานี้ดาบที่เคยใช้
ก็เก็บไว้ที่วัดอัมพวันเท่านั้น
อย่างไรก็ตามหลวงพ่อก็กล่าวชม ดร.สจ๊วตท์ ว่าเป็นคนช่างสังเกต
สมกับที่เป็นนักวิชาการ การเป็นคนช่างสังเกตนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญ
ของผู้รักความรู้ การสังเกตจะทำให้เกิดความสงสัยและความต้องการ
ที่จะเข้าใจสาเหตุต่างๆ ความต้องการนี้เป็นบ่อเกิดของความรู้ต่างๆ
ของมนุษย์ ถ้าหากพระพุทธเจ้าไม่ทรงสังเกตลักษณะต่างๆ
ที่ไม่น่าชื่นชมของชีวิตมนุษย์แล้ว
พระองค์ก็คงจะไม่เสด็จบรรพชาและพุทธศาสนาก็คงจะเกิดมีขึ้นไม่ได้
คำถามต่อมาที่ ดร.สจ๊วตท์ ถามหลวงพ่อคือ :
หนังสือที่เขาอ่านเกี่ยวกับพุทธศาสนามักจะเน้นว่าพระภิกษุสงฆ์
เป็นผู้ที่ตัดตัวเองออกจากสังคมที่อยู่ และแสวงหาความวิเวกโดยลำพัง
ไม่สนใจต่อทุกข์ของชาวโลก
แต่เขาสังเกตเห็นว่าหลวงพ่อมีภาระกิจทางสังคมมาก
นอกจากจะอบรมสั่งสอนเยาวชนและศาสนิกชนแล้ว
หลวงพ่อยังได้จัดทำโครงการที่ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนต่างๆ
อีกด้วยของมวลมนุษย์เป็นสำคัญ
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีการหนึ่งที่จะชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์
จากกิเลสตัณหาต่างๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถช่วยเหลือสังคม
ได้อย่างแท้จริง การช่วยเหลือด้วยวิธีนี้จะยังประโยชน์อย่างมาก
ให้แก่สังคม เพราะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นแต่อย่างเดียว
ไม่มีประโยชน์ตนปนอยู่เลย
ต่อจากนั้นหลวงพ่อก็อธิบายว่า :
สาเหตุสำคัญที่ทำให้หลวงพ่อถือเป็นภาระหน้าที่ตลอดชีวิต
ที่จะช่วยเหลือสังคมไทย เพราะหลังจากหลวงพ่อมีชีวิตรอด
จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งสำคัญที่สุดแล้ว
หลวงพ่อก็ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
ดังนั้นจึงได้อุทิศตัวเองเพื่อพัฒนาคนอย่างเต็มที่ด้วยวิธีการต่างๆ
เช่น ด้วยการอบรมสั่งสอนชาวพุทธไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก
ให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและจริยธรรมไม่หลงผิด
และด้วยการนำปัจจัยต่างๆ ที่ได้รับบริจาคไปช่วยเหลือผู้ยากไร้
ตามท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนต่างๆ
ให้ดีขึ้น สำหรับที่วัดอัมพวันนั้น นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรม
ข้าราชการของหน่วยงานต่างๆ แล้วยังมีบริการอาหารฟรี ให้แก่ทุกคน
และมีที่พักให้สำหรับผู้มาปฏิบัติกรรมฐาน
สำหรับเงินที่ใช้ในกิจการต่างๆ เหล่านี้
เป็นเงินที่หลวงพ่อได้รับจากการบริจาคทั้งนั้น
อนึ่งในการช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลต่างๆ นั้น
หลวงพ่อไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเฉพาะแก่ชาวพุทธเท่านั้น
แต่รวมไปถึงศาสนิกชนของศาสนาอื่น
เช่น ชาวมุสลิมและชาวคริสเตียนด้วย ในการให้ความช่วยเหลือ
แก่บุคคลเหล่านี้ หลวงพ่อไม่ได้ต้องการให้พวกเขาเปลี่ยนศาสนา
มาเป็นชาวพุทธ หลวงพ่อต้องการให้พวกเขาเป็นชาวมุสลิม
หรือชาวคริสเตียนที่ดี
คนดีไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ หรือ อิสลาม
ย่อมเป็นประโยชน์แก่สังคมทั้งนั้น
ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ กล่าวเสริมว่า :
การกระทำเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อมีจิตใจกว้างขวาง
โอบอ้อมอารี นับว่ามีความเมตตาอย่างแท้จริง
เขาสังเกตเห็นว่ามีผู้คนมาพบหลวงพ่อจำนวนมากมาย
และหลวงพ่อก็ต้อนรับและพูดคุยกับคนทุกคน
โดยไม่แสดงท่าทางอิดหนาระอาใจ หรือเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด
นอกจากนั้นเขายังทราบว่าหลวงพ่อนำพลังมาจากไหน
จึงสามารถทำงานกิจการงานต่างๆ ได้สำเร็จไม่ขาดตกบกพร่อง
หลวงพ่อตอบว่า : การพักผ่อนไม่จำเป็นต้องเป็นการนอนเท่านั้น
หลวงพ่อมีวิธีพักผ่อนอยู่หลายวิธี
วิธีที่ใช้อยู่เสมอ คือ การปฏิบัติกรรมฐาน
คือ การให้จิตอยู่ในสมาธิไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม
จิตที่อยู่ในสมาธิเป็นจิตที่สงบและมีพลังมาก
ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ กล่าวว่า :
เขาได้ศึกษาทฤษฎีจิตวิทยาเกี่ยวกับสมาธิมาบ้าง
แต่เพิ่งจะเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากชีวิตการงานของหลวงพ่อ
สำหรับเขาการให้จิตอยู่ในสมาธิตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งยากลำบาก
ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้เช่นนั้น เขาจึงชื่นชอบในหลวงพ่อมาก
และดีใจที่หลวงพ่อได้เมตตาฝึกสอนผู้คนให้มีพลังจิตเข้มแข็ง
และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
คำถามอีกข้อหนึ่งที่ ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ ถามหลวงพ่อ คือ :
หลวงพ่อมีความเห็นเช่นไร เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ในสมัยโลกาภิวัตน์ ?
หลวงพ่อตอบว่า : เมื่อมองดูสังคมมนุษย์เวลานี้รู้สึกเป็นห่วง
เพราะคนในสังคมหลงไหลในวัตถุนิยมมาก
จนปล่อยให้วัตถุมามีอำนาจเหนือชีวิตตน
ปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า
วัตถุนิยมไม่สามารถให้ความสุขแก่มนุษย์ได้
ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทุกสังคมกำลังประสบอยู่
ชี้ให้เห็นอันตรายของวัตถุนิยม
ถ้าหากมนุษย์เรายังคงยึดถือวัตถุนิยมเป็นสรณะ
โลกก็คงจะถึงกาลอวสานในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน
และนั่นหมายถึงจุดจบของมนุษยชาติ
หลวงพ่อไม่เชื่อว่ายุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคของความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์
เราจะอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่แก้ไขปัญหาต่างๆ ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
เพราะเทคโนโลยีแต่ละอย่าง ต่างก็สร้างปัญหาใหม่แทนที่
หรือเพิ่มจากปัญหาเก่า
เราจำเป็นต้องนำวิชาการทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า “พุทโธโลยี”
มาใช้จัดการกับวิกฤตทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
พุทธศาสนาเป็นระบบความรู้กว้างขวางมาก
หลักธรรมพุทธศาสนาลึกซึ้งและครอบคลุมถึงหมดทุกเรื่อง
ถ้าหากเรานำพุทโธโลยีมาใช้ให้เต็มที่
สถานการณ์ปัจจุบันก็จะเปลี่ยนแปลงไป
ประโยชน์ของพุทโธโลยีมองเห็นได้ง่าย
คือ กรณีที่เกี่ยวกับสภาวะจิตใจของคน
หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับคนที่มีกลิ่นตัวเหม็น
ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะจิตใจไม่ปกติ
ในกรณีนี้การปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งเป็นส่วนของพุทโธโลยี
สามารถช่วยให้ผู้นี้ค้นพบความผิดปกติดังกล่าวด้วยตนเอง
คือ เมื่อจิตของผู้นั้นสงบ ผู้นั้นสามารถขุดลงไปในส่วนลึกของจิตตัวเองได้
และรู้ถึงสาเหตุทางจิตใจที่ทำให้ตนเองมีกลิ่นตัวเหม็นได้
และในขณะเดียวกันก็มองเห็นวิธีที่จะใช้บำบัดรักษาให้จิตของตน
กลับคืนมาสู่สภาวะปกติไม่มีความเกลียดอยู่ต่อไป
ถึงแม้ว่าตัวอย่างดังกล่าว เป็นเรื่องง่ายไม่สลับซับซ้อน
แต่ก็แสดงให้เห็นว่าหลักธรรมและการปฏิบัติของพุทธศาสนา
สามารถนำไปใช้บำบัดรักษาทางจิตได้
พุทธศาสนาสอนว่าจิตเป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ ทั้งทางกาย
และทางสังคมสิ่งแวดล้อม
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เราควรพิจารณาสภาวะของจิตของตนก่อน
ในเรื่องของความซึมเศร้านั้น
การปฏิบัติกรรมฐานจะทำให้ดวงจิตของผู้ปฏิบัติสงบมีสติ
และมีจุดสนใจอยู่ที่ปัจจุบันเท่านั้น
สิ่งนี้ทำให้จิตใจไม่มีความพัวพันหรือผูกติดกับอดีต
ดังนั้นจึงสามารถมองดูอดีตได้ราวกับว่าไม่ได้เป็นอดีตของตน
สิ่งนี้ทำให้เขามองเห็นและยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเอง
ในสภาพความเป็นจริงโดยไม่เศร้าโศกเสียใจ
ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจที่เกิดจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์
ความรู้สึกของตนได้ ก็จะสามารถทำได้ถ้าหากปฏิบัติกรรมฐาน
ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ ยอมรับว่า จิตใจและร่างกายมีความสัมพันธ์
เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นจิตใจที่อยู่ในสภาวะไม่ปกติ
จึงมีผลต่อการแสดงออกทางร่างกาย
เช่นในกรณีของกลิ่นตัวที่หลวงพ่อยกมาเป็นตัวอย่าง
และบอกว่าวิธีการบำบัดรักษาทางจิตที่ หลวงพ่อยกตัวอย่างนั้น
เป็นวิธีการรักษาที่น่าสนใจมาก และเขาจะพยายามศึกษา
การปฏิบัติกรรมฐานให้ลึกซึ้งขึ้น
ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ มีปัญหาจะถามหลวงพ่อ
เกี่ยวกับพุทโธโลยีอีกหลายข้อ
แต่เมื่อทราบว่ามีผู้รอพบหลวงพ่ออีกจำนวนมาก
จึงหยุดและกราบลาหลวงพ่อ
ก่อนที่จะจากกัน หลวงพ่อได้กล่าวว่า การที่ศาสตราจารย์ผู้นี้และภรรยา
ใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการเดินทางไปสอนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ
ทั้งในประเทศของตนและในประเทศต่างๆ
โดยไม่รับเงินค่าตอบแทนนั้น เป็นการกระทำของคนดี
ที่ควรยกย่องสรรเสริญ
ความสุขที่ลึกซึ้งไม่ได้เกิดจากการไขว่คว้าสิ่งต่างๆ
มาเป็นสมบัติของตน แต่เกิดจากการให้การทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น
อาชีพครูและอาชีพแพทย์ เป็นอาชีพที่ส่งเสริมให้คนเรา
มุ่งหาความสุขในทางนี้
บันทึกการสนทนาธรรม
ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) กับ
ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา
เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑
หลวงพ่อได้เมตตาให้ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์
เข้าพบเป็นครั้งที่สอง ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑
เพื่อถามปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับคำสอนของพุทธศาสนา
(ตามเอกสารที่ได้ส่งให้หลวงพ่อ)
และหลวงพ่อได้เมตตาตอบแต่ละข้อดังนี้ :
ถาม : เป็นความจริงหรือไม่ว่าคนฉลาดเท่านั้น
สามารถบรรลุมรรคผลนิพานได้
ส่วนคนมีสติปัญญาต่ำจะไม่สามารถบรรลุนิพพานได้เลย
ตอบ : คนทุกคนไม่ว่าจะมีสติปัญญาสูงหรือไม่
ต่างก็มีศักยภาพที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ทั้งนั้น
แต่ส่วนจะบรรลุสิ่งนี้ได้เร็วหรือช้านั้นเป็นเรื่องของปัจจัยต่างๆ
หลายประการและบุญบารมีของแต่ละคนที่สร้างไว้
หลวงพ่อให้สังเกตว่า คำว่า “สติปัญญา” นี้
มีความหมายแตกต่างกันในทางโลกและทางธรรม
และวิธีการวัด “สติปัญญา” ก็แตกต่างกันด้วย
คนที่มีสติปัญญา ในทางโลกไม่จำเป็นต้องมีสติปัญญาในทางธรรม
ถาม : การที่ศาสนาพุทธมีคำสอนต่างๆ มากมาย
ที่ต้องการให้คนยึดถือและปฏิบัติตามนั้น
แสดงว่าพระพุทธศาสนาไม่ส่งเสริมคนใช้ปัญญาความคิดของตนเองเลย
ใช่หรือไม่
ตอบ : พุทธศาสนาส่งเสริมคนให้ใช้ปัญญาของตนเอง
ในการคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ แต่เพื่อที่จะให้ปัญญานี้มองเห็นสัจธรรม
อันสูงสุดและเพื่อจะป้องกันไม่ให้ปัญญานี้นำอันตรายมาสู่ตนเอง
และผู้ที่เกี่ยวข้อง พุทธศาสนาจึงเน้นให้เราพัฒนาปัญญาให้สามารถ
“รู้แจ้ง” และอยู่ในกรอบของความดีงาม
ดังนั้นสิ่งที่พุทธศาสนาต้องการให้เราทำ
คือ การพัฒนาปัญญาของคนแต่ละคนให้เป็นปัญญาที่ดีงาม
และในขณะเดียวกันก็เป็นปัญญาที่สามารถมองเห็นสัจธรรมสูงสุดได้
ถาม : พระพุทธศาสนามีแนวความคิดเช่นไรเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้า
ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เช่น เรื่องการผสมเทียม
(การนำอสุจิของผู้ชายมาผสมกับไข่ของผู้หญิงในหลอดแก้ว
แล้วนำสิ่งที่ผสมแล้วไปใส่ไว้ในมดลูกของผู้หญิง
วิธีนี้ช่วยให้ผู้หญิงที่ไม่สามารถมีลูกได้ ตั้งท้องและมีลูกได้)
และการปลูกถ่ายพันธุกรรม (การนำเอาเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของสัตว์
เช่น แกะมาเลี้ยงจนทำให้เกิดสัตว์ตัวใหม่ที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสัตว์ตัวเดิม)
การที่มีมนุษย์สามารถใช้วิธีการต่างๆ เหล่านี้
สร้างชีวิตขึ้นมาได้นั้นขัดกับคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมหรือไม่
ตอบ : พุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี และเห็นด้วยว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จะต้องเจริญก้าวหน้าต่อไป แต่ในขณะเดียวกันพุทธศาสนา
ก็เตือนให้เราช่วยกันระมัดระวังไม่ให้ความเจริญก้าวหน้านี้
นำอันตรายมาสู่มนุษยชาติและโลกที่อยู่
วิธีการสำคัญในการป้องกันอันตรายดังกล่าว
คือ การนำสิ่งที่อาจเรียกว่า “พุทโธโลยี” มาใช้ควบคู่กับวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เราใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อย่างระมัดระวังรอบคอบและมีสติอยู่ตลอดเวลา
ไม่อยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหาต่างๆ
สำหรับเรื่อง “การผสมเทียม” นั้น พุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านแต่อย่างใด
ตราบใดที่วิธีการนี้ไม่มีการทำลายชีวิตเกิดขึ้น
แต่ปัญหาที่ควรพิจารณา คือ ในกรณีของการใช้อสุจิหรือไข่จากผู้อื่น
ที่ไม่ใช่บิดามารดา การผสมเทียมด้วยวิธีนี้อาจนำความทุกข์ระยะไกล
มาสู่จิตใจของเด็กที่เกิดจากวิธีนี้และบิดามารดาได้
ดังนั้นผู้ที่ต้องการมีลูกโดยใช้วิธีนี้จึงควรคิดให้รอบคอบเสียก่อน
โดยเฉพาะผลกระทบต่อความสุขของเด็กและครอบครัว
พุทธศาสนาไม่ต้องการให้คนมีความทุกข์
การกระทำใดก็ตามถ้าหากนำความทุกข์มาสู่ผู้กระทำ
และผู้เกี่ยวข้องแล้วไม่ใช่การกระทำที่ดีงาม
ส่วนเรื่อง “การปลูกถ่ายพันธุกรรม” นั้นก็เช่นเดียวกัน
พุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านวิธีการนี้
แต่ก็ให้ข้อสังเกตว่า “สิ่งที่เราควรคิดก่อนที่จะนำวิธีการนี้มาใช้กับมนุษย์
ก็คือ เราต้องยอมรับความจริงว่าวิธีการนี้ไม่สามารถรับประกันได้ว่า
คนที่ปลูกถ่ายพันธุกรรมมานั้น
จะสืบทอดนิสัยดีงามของผู้ที่เป็นต้นแบบมาด้วย
เพราะบุคลิกลักษณะและสภาพของจิตใจของมนุษย์นั้น
เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้”
นอกจากนั้นเรายังควรคิดด้วยว่าเป็นการสมควรหรือไม่
ที่เราจะใช้วิธีการนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของธรรมชาติ
ในเมื่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนี้อาจจะร้ายแรง
เกินความคาดหมายได้ เราต้องไม่ลืมว่าการถ่ายทอดพันธุกรรมมนุษย์
เป็นเรื่องใหญ่โตมาก และจะมีผลกระทบต่อหลักจริยธรรมของสังคม
ครอบครัวและชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคน
ดังนั้นถ้าหากเราทำความผิดพลาดให้เกิดขึ้นในเรื่องนี้แล้ว
เราก็จะไม่มีทางที่จะแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้อีก
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะไม่ต่อต้านเรื่องนี้
พุทธศาสนาก็ยังไม่ต้องการให้เราเดินหน้า
ในเรื่องการถ่ายทอดพันธุกรรมมนุษย์
ตราบใดที่เราไม่แน่ใจว่าการกระทำดังกล่าวนี้
จะไม่นำอันตรายมาสู่มนุษย์
ถาม : “นิพพาน” หมายถึงสถานที่ที่อยู่ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว หรือหมายถึงสภาวะของจิตที่ปราศจากกิเลสตัณหาต่างๆ
ในทำนองเดียวกัน “สวรรค์” และ “นรก” เป็นสิ่งที่มีตัวตนอยู่จริง
หรือว่าเป็นเพียงสภาพของจิตใจมนุษย์
ตอบ : เรื่อง “สวรรค์-นรก” นั้น จากประสบการณ์ของหลวงพ่อเอง
และประสบการณ์ของผู้อื่นที่หลวงพ่อรับทราบ
นรกและสวรรค์ไม่ได้เป็นเพียงสภาพของจิตใจมนุษย์
เช่นที่พูดว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ”
แต่มีสภาวะอยู่จริงๆ ในมิติที่คนทั่วไปไม่อาจมองเห็นได้
ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงสอนว่า
“สวรรค์และนรกมีอยู่จริง เช่นเดียวกับกฎแห่งกรรม
ส่วนสภาพของจิตใจนั้นเป็นเพียงแสดงให้เห็นถึงลักษณะของบาปบุญ
ที่แต่ละคนมีอยู่และเมื่อตายไปแล้ว
ก็จะต้องรับผลของบาปบุญนี้อย่างแน่นอน”
ส่วนเรื่อง “นิพพาน” นั้น ยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่
ในบรรดานักวิชาการและนักปฏิบัติธรรม
แต่สำหรับหลวงพ่อแล้ว “นิพพานเป็นสภาวะของจิต
ที่ปราศจากกิเลสตัณหาต่างๆ โดยสิ้นเชิง
ผู้ที่มีสภาวะจิตเช่นนี้ เมื่อสิ้นชีวิตลงย่อมไม่ไปเกิดในสังสารวัฏอีก”
ถาม : พ่อแม่ที่มีลูกพิการมาแต่กำเนิด
จะถือว่าเป็นผู้ที่ได้ทำบาปไว้มากในอดีตชาติ
และการที่เด็กเกิดมาเป็นคนพิกลพิการนั้น
เป็นผลมาจากบาปของพ่อแม่ใช่หรือไม่
ตอบ : เด็กที่เกิดมาพิการนั้นเป็นกรรมร่วมของบิดามารดาและเด็ก
แต่อย่างไรก็ตามพุทธศาสนา เน้นให้บิดามารดาทำตัวให้เป็นคนมีศีลธรรม
และสร้างแต่กรรมดีแต่อย่างเดียว
เพราะผลของกรรมชั่วนั้นย่อมกระทบต่อบุตรของตนด้วย
การที่บิดามารดาทำบาป ย่อมเป็นปัจจัยให้วิบากกรรมของลูกที่มีอยู่แล้ว
แสดงผลออกมาร้ายแรงเต็มที่
ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากบิดามารดาทำแต่กรรมดีอย่างเดียว
ถึงแม้ว่าลูกจะมีวิบากกรรมไม่ดีติดตัวมา
แต่เกิดความดีนั้นก็จะช่วยให้วิบากกรรมดังกล่าวลดความรุนแรง
ลงไปได้บ้าง เช่น ถ้าหากบิดามารดาเลี้ยงดูลูกพิการ
ด้วยความรักเอาใจใส่เป็นอย่างดี
และในขณะเดียวกันก็ทำบุญทำกุศลอยู่เสมอ
ลูกพิการก็จะมีความทุกข์จากความพิการลดน้อยลง
และสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพได้ตามอัตภาพ
ถาม : การปฏิบัติกรรมฐานสามารถใช้รักษาคนเป็นโรคจิต
ประเภทย้ำคิดย้ำทำ และซึมเศร้าได้หรือไม่
การที่มีผู้พูดว่าการปฏิบัติกรรมฐาน
ทำให้เป็นบ้านั้นเป็นความจริงหรือไม่
ตอบ : การปฏิบัติกรรมฐานสามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีสติมากขึ้น
ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานได้สำเร็จจะเป็นผู้มีความสุขและสงบ
ไม่มีอารมณ์ฟุ้งซ่านหรือผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคจิต
แต่คนที่เป็นโรคจิตอยู่แล้ว ยังไม่ควรมาปฏิบัติกรรมฐาน
เพราะจิตใจยังไม่เป็นปกติ
ถ้าหากมาปฏิบัติกรรมฐานก็อาจเป็นบ้าได้
โดยทั่วไปแล้ว การปฏิบัติกรรมฐานในระยะแรก
ควรมีพระอาจารย์คอยช่วยเหลือ
พระอาจารย์ที่สอนกรรมฐานสามารถส่งกระแสจิตไปดูแล
ระมัดระวังและช่วยตักเตือนไม่ให้จิตหลงไปในทางที่เป็นอันตรายได้
บันทึกการสนทนาธรรม
ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) กับ
ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา
เป็นครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑
(๑) ความเครียด
ปัญหาแรกที่ถามเป็นปัญหาเกี่ยวกับความเครียด
อาจารย์สจ๊วตท์สังเกตเห็นว่าในสังคมไทยในปัจจุบัน
บุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจนักการเมืองและนักเรียน
ต่างก็มีความเครียดในการทำหน้าที่การงานในความรับผิดชอบ
ของตนทั้งนั้น ไม่ทราบว่าการปฏิบัติกรรมฐาน
สามารถแก้ความเครียดในการทำงานได้หรือไม่ ?
หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีความเครียดนั้นไม่สมควรมานั่งกรรมฐาน
เพราะการปฏิบัติกรรมฐานไม่อาจทำให้หายเครียดได้
สิ่งที่ควรจะทำในเมื่อมีความเครียดมาก
ก็คือ รักษาให้จิตใจอยู่ในสภาพปกติเสียก่อน
ซึ่งอาจทำได้ด้วยการใช้ยาของการแพทย์ปัจจุบัน
(ในกรณีที่ต้องใช้ยาระงับประสาทช่วย)
หรือการผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ (ในกรณีที่เป็นไม่มาก)
เช่น การเล่นกีฬา การฟังดนตรี การเดินเล่น และการพักผ่อนหย่อนใจ
ทั่วไปที่ไม่ใช่อบายมุข
การพยายามคลายเครียดโดยใช้อบายมุขต่างๆ นั้น
จะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น
เพราะอบายมุขนำสิ่งที่เป็นอันตรายมาสู่ตัวเองแต่อย่างเดียว
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีสำคัญที่จะให้จิตใจไม่เครียด
อยู่ในสภาพเป็นปกติตลอดเวลามีสติสัมปชัญญะ
ดังนั้นจึงป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้
หลวงพ่อย้ำว่าคนที่มีความเครียดมาก
ยังไม่สมควรมาปฏิบัติกรรมฐาน
ต้องทำให้จิตใจผ่อนคลายจากความเครียดก่อน
จึงควรมาปฏิบัติกรรมฐาน
การเชื่อว่าการปฏิบัติกรรมฐานทำให้หายเครียดได้นั้น
เป็นความเข้าใจผิดที่จะนำอันตรายมาสู่ผู้ปฏิบัติกรรมฐานได้
(๒) ชีวิตแต่งงานและครอบครัว
ปัญหาที่สองเป็นปัญหาเกี่ยวกับชีวิตแต่งงานและครอบครัว
อาจารย์สจวตท์อยากทราบว่าในความคิดเห็นของหลวงพ่อนั้น
ทำอย่างไรชีวิตแต่งงานและครอบครัวจึงจะมีความสุข ?
เกี่ยวกับเรื่องนี้หลวงพ่ออธิบายว่าการเลือกคู่ครองเป็นเรื่องสำคัญมาก
และเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
ควรจะเลือกคู่ครองด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ความรู้สึก
และด้วยวิธีการดูดวง
การใช้เหตุผลจะช่วยให้เราสามารถรู้ว่าผู้ที่เราจะแต่งงานด้วยนั้น
เป็นคนที่มีนิสัยใจคอรสนิยม และฐานะความเป็นอยู่
ที่จะเหมาะสมกับตัวเราได้มากน้อยเพียงใด
นอกจากนั้นเมื่อแต่งงานกันแล้ว
ต่างฝ่ายก็ควรจะปรับตัวเองและมีความเอื้ออาทรต่ออีกฝ่ายหนึ่ง
อย่างสม่ำเสมอ ความเอื้ออาทรนี้อาจจะเป็นไปในรูปของการเคารพ
ซึ่งกันและกัน ความจริงใจและการไม่เห็นแก่ตัว
จากประสบการณ์ของหลวงพ่อ
ชีวิตแต่งงานที่ไม่มีความสุขนั้น
เกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายไม่เหมาะสมกันในด้านต่างๆ
และไม่มีความเอื้ออาทรต่อกัน
สำหรับเรื่องชีวิตครอบครัวนั้น
หลวงพ่อให้ข้อสังเกตว่าการที่ครอบครัวแตกแยก
พ่อ แม่ และลูกเข้ากันไม่ได้นั้นสาเหตุสำคัญ (ที่หลวงพ่อทราบ)
คือ พ่อแม่ทำตัวเองเป็นแบบอย่างไม่ดี
กล่าวคือ ทำตัวเองไม่สมกับที่เป็นพ่อแม่
เช่น เป็นคนเจ้าอารมณ์และทำตามใจตัวไม่มีเหตุผลที่ดี
ดังนั้นถ้าหากพ่อแม่ต้องการให้ตัวเองและลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
พ่อแม่ก็ต้องทำตัวเองให้เหมาะสมในทุกเรื่อง
และสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ ลูกจึงจะรักและเคารพ
สิ่งสำคัญ ก็คือ พ่อแม่จะต้องรู้จักความต้องการของลูก
ไม่ใช้อำนาจบีบบังคับให้ลูกทำตามความต้องการของพ่อแม่เท่านั้น
หลวงพ่อเน้นว่า ความต้องการที่สำคัญที่สุดของลูก คือ อิสระเสรีภาพ
หรือการเป็นตัวของตัวเอง
พ่อแม่จะต้องให้สิ่งนี้แก่ลูกแต่ไม่ใช่ด้วยการตามใจลูกไปทุกเรื่อง
ในเรื่องที่ไม่สมควร พ่อแม่อาจจะให้คำแนะนำที่มีเหตุผลแก่ลูก
โดยชี้ให้เห็นว่าการกระทำที่ลูกต้องการจะทำนั้น
มีผลไม่ดีอย่างไรบ้าง แล้วให้ลูกเป็นคนตัดสินใจเอง
ถ้าหากได้รับการส่งเสริมที่ดีแล้วความรัก อิสระเสรีภาพนี้
ก็จะทำให้ลูกเป็นคนรักแสวงหาความรู้ ไม่ยึดติดกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว
การทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขนี้
เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพ่อแม่เป็นสำคัญ
ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรจะมุ่งแต่การทำงานและสะสมทรัพย์สมบัติ
แต่อย่างเดียว แต่ควรจะเอาใจใส่และปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้ดีที่สุดด้วย
อาจารย์สจ๊วตท์เห็นด้วยกับหลวงพ่อ
ในเรื่องวิธีการเลือกคู่ครองและการเลี้ยงดูลูก
แต่ก็สงสัยว่าการปฏิบัติกรรมฐานจะช่วยให้พ่อแม่และลูกดีได้อย่างไร ?
หลวงพ่ออธิบายว่า “การปฏิบัติกรรมฐานจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติค้นพบตัวเองได้
กล่าวคือ รู้จักส่วนดีและส่วนไม่ดีของตนเอง
ตลอดจนมีสติและรู้สำนึกถึงสิ่งไม่ดีต่างๆ ที่ตนได้ทำไว้แก่ผู้อื่น
จากประสบการณ์แล้ว การมีสติและการรู้สำนึกนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติ
เป็นคนดีได้ เช่น พ่อแม่และลูกต่างก็รู้หน้าที่ที่ตนจะต้องปฏิบัติต่อกัน
เมื่อทุกคนทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนด้วยสติแล้ว
ปัญหาต่างๆ ที่ตนจะทำให้เกิดมีขึ้นก็จะมีน้อยลงหรือไม่มีเลย
การปฏิบัติกรรมฐานนอกจากจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเป็นคนรู้จักหน้าที่
ความรับผิดชอบแล้ว ยังช่วยให้ผู้นั้นมีความเมตตากรุณาด้วย
ความเมตตากรุณานี้เป็นพลังสำคัญที่จะนำความสุขมาสู่ผู้นั้น
และผู้เกี่ยวข้องได้ ด้วยเหตุนี้พ่อแม่และลูกที่ปฏิบัติกรรมฐาน
จึงจะมีความรักความเมตตาต่อกัน
สิ่งนี้จะนำไปสู่การรู้จักให้อภัยกัน
ซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญในคำสอนของพุทธศาสนา”
(๓) มิตรภาพ
สำหรับคำถามต่อไปที่ว่า ทำอย่างไรในการมีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบัน
ที่มีการแข่งขันกัน เราจึงจะมีเพื่อนที่ดีได้ ?
หลวงพ่อตอบว่า ปัญหาเรื่องการมีเพื่อนที่ดีนี้เป็นปัญหาสำคัญของสังคมปัจจุบัน
ที่คนทุกอาชีพต้องแข่งขันกันแม้แต่ในการศึกษาเล่าเรียน
นักเรียนก็ต้องแข่งขันกัน เช่น เพื่อจะได้ทุนการศึกษาและรางวัลต่างๆ
ในเรื่องของการมีมิตรที่ดีนั้น ถึงแม้ว่าเราจะต้องอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันกัน
แต่เราก็อาจจะมีมิตรแท้ได้ ในทัศนะของหลวงพ่อมิตรแท้เป็นเพื่อนที่รู้จิตใจกัน
ราวกับว่าเป็นคนคนเดียวกันและมีความเอื้ออาทรต่อกัน
ส่วนมิตรเทียมเป็นคนที่มุ่งยึดถือประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น
แต่อย่างเดียว การที่เราจะมีมิตรแท้ได้นั้น เราจำเป็นจะต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม
ศาสนาพุทธเองมีคำสอนเรื่องคุณธรรมที่จะทำให้เราสามารถผูกมิตรกับผู้อื่นได้
อยู่หลายเรื่องด้วยกัน การเป็นคนดีมีคุณธรรมนี้จะเป็นเสมือนเสน่ห์ที่ดึงดูดคนอื่น
ให้สนใจและเอาใจใส่ตัวเรา
นอกจากจะเป็นคนมีคุณธรรมแล้วเรายังควรสร้างบุญกุศลอีกด้วย
เพราะบุญกุศลจะช่วยให้เราพบกับคนดีและคุ้มครองป้องกันเรา
ไม่ให้ได้รับอันตรายจากความชั่ว
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์เห็นด้วยว่าการเป็นคนดีมีคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญ
ที่จะได้พบมิตรแท้ได้อย่างไร ?
หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับชาวพุทธบุญกุศลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก
บุญกุศลที่ทำไว้แต่ก่อนจะเป็นพื้นฐานให้เราพบมิตรแท้และคุณธรรมที่มีอยู่ในตัวเรา
จะทำให้เรารักษามิตรภาพให้ยั่งยืนต่อไปได้
ดังนั้นผู้ที่ยังไม่มีมิตรแท้จึงควรสร้างบุญกุศลให้มาก
ส่วนผู้ที่มีมิตรแท้อยู่แล้วก็ควรจะสร้างคุณธรรมให้มีอยู่ในตัวเช่นเดียวกัน
จะได้มีมิตรแท้ตลอดไป คนเราถ้าหากไม่มีบุญกุศลหนุนแล้วจะทำอย่างไร
ก็จะประสบปัญหาอยู่เสมอ
บุญกุศลนี้ไม่ใช่สิ่งอื่นนอกจากผลการกระทำของคนแต่ละคนเอง
ดังนั้นก่อนจะทำทำอะไรเราจึงควรคิดให้รอบคอบ ทำแต่สิ่งที่ดีงาม
เพื่อจะได้มีบุญกุศลติดตัวตลอดไป
หลวงพ่อเองได้ประสบพบเห็นอำนาจของบุญกุศลด้วยตัวเอง
ทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์ของผู้อื่นที่หลวงพ่อรับทราบ
ดังนั้นหลวงพ่อจึงสอนเน้นเรื่องความสำคัญของการทำความดีอยู่เสมอ
(๔) การแข่งขันและความสันโดษ
ศาสตราจารย์สจวตท์สงสัยว่า พุทธศาสนาสอนให้คนมีความเอื้อเฟื้อ
เผื่อแผ่และช่วยเหลือกัน แต่ในชีวิตจริงแล้วนักเรียนและนักกีฬา
จะต้องแข่งขันเอาชนะกัน ไม่ทราบว่าศาสนาพุทธมองเห็นความสำคัญ
ของการแข่งขันหรือไม่ ?
คนตะวันตกเชื่อว่าการแข่งขันกันทำให้สังคมและชีวิตของคน
แต่ละคนเจริญก้าวหน้า
ดังนั้นจึงเน้นให้มีการแข่งขันกันในทุกวงการ
ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหรือธุรกิจการค้า
แต่ดูเหมือนว่าศาสนาพุทธสอนให้ทุกคนมีความสันโดษ
การสอนเช่นนี้ทำให้สงสัยว่าสันโดษจะช่วยให้คน
และสังคมเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร ?
ในเรื่องนี้หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านการแข่งขันกัน
โดยเฉพาะในกรณีที่การแข่งขันนั้นไม่ได้เกิดจากโลภ โกรธ และหลง
การแข่งขันในเรื่องการศึกษาและการกีฬาเป็นเรื่องปกติของชีวิต
ที่ยังอยู่ในโลก ที่สำคัญก็คือ ในการแข่งขันเราต้องไม่โกรธ
และมีใจเป็นนักกีฬา การแพ้ชนะเป็นเรื่องธรรมดา
ที่เกิดขึ้นได้แก่คนทุกคน
การปฏิบัติกรรมฐานจะฝึกจิตใจเราให้สงบและมีปัญญามากเพียงพอ
ที่จะแข่งขันกับผู้อื่นได้
มีนักเรียนจำนวนมากที่หลังจากมาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวัน
ในระยะเวลานานพอสมควรแล้วสามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ตามความต้องการ
บางคนสอบชิงทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ
และบางคนสามารถชนะการประกวดประเภทต่างๆ ได้เช่นกัน
หลวงพ่อเองมีความเห็นว่าการแข่งขันกันในกรณีที่กล่าวมา
เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง
ที่แต่ละคนมีต่อชีวิตของตน
แต่ในขณะเดียวกันเราก็ควรจะระวังให้การแข่งขัน
เป็นไปในครรลองครองธรรมและไม่ให้ความต้องการจะเป็นผู้ชนะ
มีความรุนแรงมากจนกลายเป็นความโลภ ความโกรธ
และความหลง (ผิด) ไป
ผู้ชนะที่แท้จริงคือผู้ชนะกิเลสตัณหาต่างๆ ในตัวเอง
เช่นที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง
สำหรับเรื่องสันโดษนั้น คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่า
คำสอนเรื่องสันโดษในพุทธศาสนาขัดขวางความเจริญก้าวหน้า
ของบุคคลและสังคม ตามความเป็นจริงแล้วพุทธศาสนาสอนให้
คนเราขยันและปรับปรุงตัวเองให้เจริญก้าวหน้า
สันโดษ หมายถึง การยอมรับขอบเขตจำกัดของตน
และการไม่มีความโลภ พุทธศาสนาสอนเน้นเสมอว่า
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ไม่อยู่กับที่
ดังนั้นจึงสามารถพัฒนาตัวเองได้อยู่ตลอดเวลา
ส่วนจะพัฒนาได้มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับ
ความอุตสาหะและความตั้งใจจริง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างด้วย
ที่สำคัญคือ เราต้องศึกษาเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่น
แล้วนำความรู้นั้นมาใช้ปรับปรุงตัวเองให้เจริญก้าวหน้าเท่า
หรือเหนือกว่าผู้นั้น
พุทธศาสนามองดูสังคมมนุษย์ว่าเป็นสังคมไม่อยู่กับที่ตลอดเวลา
แต่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
สิ่งที่ทำให้สังคมมีสภาพเช่นนี้ก็คือมนุษย์ที่ไม่อยู่เฉย
การปฏิบัติกรรมฐานทำให้จิตนิ่งและเกิดปีติ
แต่พุทธศาสนาต้องการให้เราใช้จิตนิ่งและใช้ความสุขนั้น
ในการทำงานเพื่อให้ตัวเองและสังคมที่อยู่เจริญก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ
หลวงพ่อไม่ส่งเสริมให้คนมาปฏิบัติกรรมฐานเพื่อจะได้อยู่เฉยๆ
ไม่ทำการงาน แต่ต้องการให้ผู้ปฏิบัติใช้ผลที่ได้รับจากกรรมฐาน
ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนและผู้อื่น
(๕) ความเสื่อมของสังขาร
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์ถามต่อไปเรื่องความเสื่อมของสังขาร
ต้องการทราบว่าศาสนาพุทธสอนให้ทำอย่างไร
คนเราจึงจะไม่มีความทุกข์ เพราะความเสื่อมของสังขาร
และใช้ความเสื่อมนี้ให้เป็นประโยชน์ในวัยชรา ?
หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนาสอนให้เรายอมรับความเป็นจริง
ของชีวิตทุกด้าน ในเรื่องของความเสื่อมของสังขารก็เช่นเดียวกัน
เมื่อสังขารต้องเสื่อมลงตามธรรมชาติ (ทั้งๆ ที่พยายามทำนุบำรุง)
เราจำเป็นต้องยอมรับสังขารที่เสื่อมลงนี้
เตือนเราไม่ให้ประมาทในการมีชีวิตอยู่และให้เร่งรัดทำบุญกุศล
วัยชราเป็นวัยของการเตรียมตัวตายให้มากขึ้น
เพราะมีเวลาเหลือน้อยลงไปทุกวัน
การเตรียมตัวตายที่เหมาะสม คือการฝึกจิตให้มีสติทุกวินาที
เช่นที่พุทธศาสนาสอนไว้ในมหาสติปัฏฐาน
ที่จิตมีสติตามคำสอนนี้เป็นจิตที่มีอิสระ
ไม่อยู่ใต้อำนาจของสิ่งหนึ่งสิ่งใด
และเมื่อดับไปก็จะหลุดพ้นไปโดยสิ้นเชิง
หลวงพ่อสรุปว่าการมีสังขารอยู่เป็นภาระอย่างหนึ่งของมนุษย์
เราต้องทำนุบำรุงดูแลสังขารให้ดีที่สุด
แต่เมื่อสังขารต้องเสื่อมลงโดยธรรมชาติ
เราก็ไม่ควรเศร้าโศกเสียใจหรือพยายามดิ้นรน
ด้วยวิธีการต่างๆ หยุดยั้งความเสื่อมนั้น
การออกกำลังกาย อาหารและการมีชีวิตที่ดีงาม
อาจช่วยให้การเสื่อมของสังขารช้าลง
แต่สังขารก็ต้องเสื่อมและดับไปในที่สุดอยู่นั่นเอง
ดังนั้นแทนที่จะพยายามต่อสู้กับความเสื่อมของสังขาร
เช่นที่บางคนทำอยู่ เราควรให้ความเสื่อมของสังขาร
เตือนเราให้เร่งทำความดีก่อนที่จะสายเกินไป
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์กล่าวชมหลวงพ่อว่า
อธิบายคำตอบต่างๆ ได้สมเหตุสมผลดีมากจนเขาไม่สามารถโต้แย้งได้
อย่างไรก็ตามเขามีปัญหาจะขอความเมตตาจากหลวงพ่อ
ให้ตอบอีกหลายเรื่อง เพราะการค้นคว้าหาหนังสืออ่านเองแล้ว
ยังไม่เข้าใจ หลวงพ่ออนุญาตให้ศาสตราจารย์สจ๊วตท์
ถามต่อไปได้และกล่าวว่า ความจริงแล้วที่หลวงพ่ออธิบายมาทั้งหมดนั้น
หลวงพ่อไม่ได้อธิบายตามหลักของเหตุผล
แต่อธิบายจากประสบการณ์ การที่คำอธิบายเหล่านั้นมีเหตุมีผลดี
คงจะเป็นเพราะว่าประสบการณ์ของมนุษย์
มีเหตุมีผลอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว
จึงไม่จำเป็นต้องไปหาเหตุผลจากที่อื่นมาอธิบาย
แต่เราจะมองเห็นเหตุผลในประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ก็ต่อเมื่อจิตเราเปิดกว้างปราศจากทฤษฎีใดๆ
ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาและชีวิต
หลวงพ่อได้มาจากการปฏิบัติธรรม
และการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางคนหลายประเภท
๖) พุทธานุภาพ
คำถามต่อมาของศาสตราจารย์สจ๊วตท์เน้นเรื่องเกี่ยวกับพุทธานุภาพ
เขาสงสัยว่าพระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานไปนานหลายพันปีแล้ว
จะมีพุทธานุภาพคงอยู่ในโลกได้อย่างไร ?
เกี่ยวกับเรื่องนี้หลวงพ่อตอบด้วยการยกตัวอย่างว่า
ถึงแม้ดวงอาทิตย์จะลับฟ้าไปแล้ว
แต่ไออุ่นก็ยังค้างในโลกเป็นเวลานานแสนนาน
พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่ประเสริฐสุด
มีพุทธานุภาพมากกว่าอำนาจของดวงอาทิตย์มากมายจนเทียบไม่ได้
ทำไมกระแสพุทธานุภาพจะไม่คงอยู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดวงใจของผู้ที่เปิดรับพุทธานุภาพนั้น
ถึงแม้ว่าคนที่คิดค้นเรื่องไฟฟ้าสิ้นชีวิตไปนานแล้ว
แต่ไฟฟ้าก็ยังคงมีอยู่ให้เราได้ใช้ประโยชน์ทุกวันนี้
ในความหมายหนึ่งแล้วพุทธานุภาพที่แสดงให้เห็น
และที่พิสูจน์ได้ คือ พระธรรมและผลที่ได้จากการปฏิบัติตามพระธรรม
ข้อพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผลที่เกิดขึ้นแก่ตัวเร
จากการมีพุทธานุสติอยู่ตลอดเวลา
หลวงพ่อเองมีประสบการณ์เกี่ยวกับพุทธานุภาพอยู่หลายกรณี
แต่เกรงว่าศาสตราจารย์สจวตท์จะไม่เข้าใจ
เพราะเพิ่งเริ่มสนใจศาสนาพุทธ
ดังนั้นหลวงพ่อจึงไม่ได้เล่าให้ฟัง
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์ยอมรับว่าพุทธานุภาพเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ
โดยเฉพาะสำหรับคนต่างศาสนา
เพราะพุทธานุภาพในศาสนาอื่นที่หลวงพ่ออธิบายนั้น
ไม่มีลักษณะเป็นเช่นการแสดงอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า
แต่แสดงออกมาในรูปของการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ยึดถือ
ในทางที่ดีขึ้น
(๗) การช่วยเหลือคนจน
คำถามสุดท้ายที่ศาสตราจารย์สจวตท์สงสัยก็คือ
คำถามเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนจนและคนที่อดอยากหิวโหย
ที่มีอยู่ทั้งในประเทศไทยและส่วนต่างๆ ของโลก
เขาไม่แน่ใจว่าคนไทยที่เป็นชาวพุทธ
สนใจที่จะช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้บ้างหรือไม่
เพราะเขามองเห็นชาวพุทธไปทำบุญแต่ที่วัด
ไม่ชอบทำบุญทางด้านสาธารณประโยชน์
ส่วนการช่วยเหลือคนยากจนที่หิวโหยในประเทศต่างๆ นั้น
เขาไม่ทราบว่ามีอยู่หรือไม่ ?
หลวงพ่อตอบว่า คำสอนของพุทธศาสนาเน้นให้ชาวพุทธ
ช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์โดยไม่คำนึงว่าเป็นคนชาติใด
หรือนับถือศาสนาใด ตามความเป็นจริงแล้วคนไทยชาวพุทธ
ที่ทำสาธารณประโยชน์และช่วยเหลือคนยากจนมีจำนวนมากพอสมควร
แต่คนประเภทนี้ไม่ชอบเอาหน้า
ดังนั้นจึงไม่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์
หลวงพ่อยอมรับว่าชาวพุทธชอบทำบุญกับพระสงฆ์
มากกว่าที่จะช่วยเหลือคนยากจน
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากเพราะเป็นความเชื่อที่ฝังจิตใจมานาน
ในการแก้ไขปัญหานี้พระสงฆ์เช่นหลวงพ่อได้นำวัตถุสิ่งของต่างๆ
ตลอดจนเงินทองที่ได้รับจากพุทธศาสนิกชน
ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมและคนยากจนทั่วไป
เมื่อคนมองเห็นว่าเงินที่บริจาคให้แก่หลวงพ่อ
ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นอย่างมาก
คนก็ยิ่งบริจาคเงินให้หลวงพ่อมากขึ้น
หลวงพ่อจึงชอบพูดเสมอว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้”
สำหรับการช่วยเหลือคนยากจนที่หิวโหยในประเทศต่างๆ นั้น
คนไทยที่เป็นชาวพุทธก็มีส่วนช่วยเหลือบ้าง
ตามความจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่
แต่การช่วยเหลือนี้ก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์
ดังนั้นจึงแทบจะไม่มีคนทราบเลย
หลวงพ่อยอมรับจากการช่วยเหลือของคนไทยชาวพุทธส่วนมากแล้ว
เป็นการช่วยเหลือที่เกิดจากการริเริ่มของคนบางคน
ที่ไม่หวังผลตอบแทนอะไร
นอกจากช่วยบรรเทาความทุกข์ยากลำบากของคนยากจน
เป็นครั้งคราว ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการช่วยเหลือในรูปแบบนี้
ก็คือ การขาดแผนงานช่วยเหลือ
ซึ่งทำให้การช่วยเหลือดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มากเท่าที่ควร
การช่วยเหลือคนยากจนควรจะมีวัตถุประสงค์มากกว่า
การช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของคนเหล่านี้เป็นครั้งคราว
แต่ควรเป็นการช่วยเหลือให้ช่วยตัวเองได้ด้วย
อย่างไรก็ตามหลวงพ่อก็เน้นว่าในขณะที่องค์กรพุทธศาสนา
ยังไม่มีแผนงานที่แน่นอนในเรื่องการทำงานเพื่อสังคม
พุทธศาสนิกชนก็ควรจะช่วยเหลือบรรเทาทุกข์คนที่มีความทุกข์
ไม่ว่าจะเกิดจากความยากจนหรือจากปัจจัยอื่น
การมีความเมตตากรุณาต่อกันและการช่วยเหลือจุนเจือกัน
จะทำให้สังคมอยู่ต่อไปได้ด้วยความสงบ
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก
แต่เพื่อให้ศาสนิกชนคนอื่นได้มีโอกาสกราบ
และนมัสการกับหลวงพ่อบ้าง
ศาสตราจารย์ผู้นี้จึงกราบนมัสการลาหลวงพ่อ
และสัญญาว่าจะนำคำอธิบายต่างๆ ของหลวงพ่อ
ไปเผยแพร่ให้แก่นักศึกษาและชาวอเมริกันทั่วไป
บันทึกการสนทนาธรรม
ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) กับ
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ลินเบค เป็นครั้งที่ ๔
ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญสาขาปรัชญาและศาสนา
รองศาสตราจารย์ ดร.พินิจ รัตนกุล
ผู้อำนวยการศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลพา
และศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ลินเบค ชาวอเมริกัน
ผู้เชี่ยวชาญและศาสนา มาพบพระราชสุทธิญาณมงคล
ที่วัดอัมพวันในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒
ศาสตราจารย์ผู้นี้จบการศึกษาสขาศาสนจากมหาวิทยาลัยเยล
ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์การสอนวิชาศาสนา
ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา ๔๐ ปี
ได้ศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจากหนังสือและตำราภาษาอังกฤษ
ที่นักวิชาการ จากหนังสือและตำราภาษาอังกฤษ
ที่นักวิชาการชาวตะวันตกเป็นผู้เขียน
และ มีข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับคำสอน
และการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
เมื่อมีโอกาสได้มาคารวะพระราชสุทธิญาณมงคล
ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกตามบุคคลทั่วไปว่า “หลวงพ่อ”
หรือ “หลวงพ่อจรัญ” จึงขอความเมตตาให้หลวงพ่ออธิบาย
ข้อสงสัยต่างๆ ให้ โดย ดร.พินิจ รัตนกุล
เป็นผู้แปลและบันทึกการสนทนา
พระพุทธศาสนาและสมาธิ
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ในปัจจุบันชาวอเมริกัน
ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธสนใจการปฏิบัติสมาธิกันมาก
แต่โดยเหตุที่บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการสอน
ในเรื่องการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนาเลย
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต จึงสงสัยว่า
การปฏิบัติสมาธิดังกล่าว
จะให้ประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติหรือไม่
เพราะได้อ่านหนังสือวิสุทธิมรรคแล้วเข้าใจว่า
การปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนามีขั้นตอนต่างๆ
ที่จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนภายใต้การแนะนำของอาจารย์
หลวงพ่ออธิบายว่า ที่จริงแล้วการปฏิบัติสมาธิมีอยู่ในคำสอน
ของทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม
หรือศาสนาฮินดู ในสมัยพุทธกาล พวกฤาษีโยคีต่างๆ
ปฏิบัติสมาธิตามความเชื่อในลัทธิของตนจนมีฤทธิ์เดชต่างๆ
การปฏิบัติสมาธิจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนา
แต่อย่างเดียว ส่วนการปฏิบัติสมาธิจะมีผลอย่างไรนั้น
ขึ้นอยู่กับระดับของสมาธิที่ผู้ปฏิบัติทำได้
โดยทั่วไปแล้วการปฏิบัติสมาธิ
สามารถทำให้จิตใจของผู้ปฏิบัติสงบสว่างและมีปัญญาเกิดขึ้น
และส่งผลให้ผู้นั้นสามารถทำกิจการต่างๆ
สำเร็จตามความต้องการได้
การปฏิบัติสมาธิระดับสูง เช่นที่ฤาษีโยคีต่างๆ
ปฏิบัติอยู่ในสมัยพุทธกาล สามารถทำให้เกิดจิตตานุภาพ
ที่มีพลังแข็งแกร่งจนมีฤทธิ์เดช
ผลของสมาธิตั้งแต่การมีจิตใจสงบ
ไปจนถึงการมีจิตตานุภาพที่กล่าวมาเป็นผลทางโลกียะเท่านั้น
เพราะเป็นประโยชน์ที่เสริมสร้างอำนาจให้แก่ตัวเอง
แต่ในพระพุทธศาสนา การปฏิบัติสมาธิมีเป้าหมายสูงกว่า
ประโยชน์ทางโลกียะ คือ มีเป้าหมายให้จิตของผู้ปฏิบัติ
หลุดพ้นจากอำนาจกิเลสตัณหาต่างๆ มีโลภ โกรธ หลง เป็นสำคัญ
อันจะทำให้ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป
ประโยชน์ประเภทนี้เรียกว่า ประโยชน์ทางโลกุตระ
โดยเหตุที่เป้าหมายการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา
แตกต่างจากเป้าหมายที่มีอยู่ในศาสนาอื่น
ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเรียกสมาธิที่อยู่เหนือระดับความสงบ
หรือ อิทธิฤทธิ์ และที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นว่า “วิปัสสนากรรมฐาน”
เพราะเป็นการทำให้จิตใจสว่างด้วยแสงของปัญญา
ที่เป็นผลจากการวิเคราะห์รูปและนามในลักษณะต่างๆ
อย่างละเอียดถี่ถ้วนจนมองเห็นไตรลักษณ์ของสรรพสิ่งทั้งหลาย
และดับ “อัตตา” ได้ในที่สุด
พระพุทธศาสนาไม่มีความประสงค์ให้เราพอใจแต่ประโยชน์ทางโลกียะ
ที่ได้จากการปฏิบัติสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นความสงบนิ่งของดวงจิต
หรือ การมีจิตตานุภาพประเภทต่างๆ
แต่ต้องการให้เราใช้ปัญญาที่เกิดจากสมาธิตัดตัวเรา
ให้หลุดพันจากวัฏสงสาร
ด้วยเหตุนี้ การปฏิบัติสมาธิ หรือ วิปัสสนากรรมฐาน
จึงมีขั้นตอนต่างๆ ถ้าหากผู้ปฏิบัติไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้
และไม่มีครูอาจารย์คอยแนะนำแล้ว
ผู้ปฏิบัติก็อาจจะไปสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้
ดังที่อธิบายในหนังสือ “วิสุทธิมรรค”
นอกจากนั้น การเป็นคนที่พากเพียรพยายามอย่างต่อเนื่อง
มีคุณธรรมและรักษาศีลอย่างเคร่งครัดก็มีความสำคัญมาก
เมื่อสมาธิมีคุณธรรมและศีลเป็นฐานแล้ว
ปัญญาที่เกิดจากสมาธิก็จะมีทั้งพลังและทิศทางที่ถูกต้อง
ความสุข คนรวย คนจน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กราบเรียนหลวงพ่อว่า
ในสังคมอเมริกันปัจจุบัน คนอเมริกันเชื่อกันว่า
ความสุข คือ การมีชีวิตที่สะดวกสบาย
มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ครบถ้วน
พร้อมทั้งมีทรัพย์สมบัติเป็นหลักฐานมั่นคง
ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนาสอนเกี่ยวกับความสุขว่าอย่างไร
ทรัพย์สมบัติเป็นที่มาของความสุขใช่หรือไม่
และคนจนสามารถมีความสุขได้ไหม
หลวงพ่ออธิบายว่า พระพุทธศาสนาก็มองเห็นความสำคัญของวัตถุ
และ เชื่อว่าชีวิตต้องอาศัยปัจจัย ๔ จึงจะดำรงอยู่ได้
ผู้ที่ไม่มีปัจจัย ๔ อยู่เลยแม้แต่อย่างเดียว
ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่หรือปฏิบัติธรรมให้ประสบความสำเร็จได้
ในสมัยพุทธกาลพระองค์ทรงสอนสาวกทั้งหลาย
ให้ช่วยเหลือฆราวาสให้มีชีวิตสบายพอสมควร
(เช่น มีเสื้อผ้าใส่ และมีอาหารกิน) ก่อนที่จะสอนธรรม
พระพุทธศาสนาถือว่าทรัพย์สมบัติต่างๆ นั้น
เป็นผลของบุญกุศลที่คนแต่ละคนทำไว้ในอดีต
คนที่มีทรัพย์สมบัติมากมาย
เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาในสมัยพุทธกาลเป็นผู้ที่ทำบุญกุศลมามาก
พระพุทธศาสนาไม่สนใจเรื่องปริมาณ
หรือจำนวนของทรัพย์สมบัติที่เรามีอยู่มาก
เท่ากับวิธีที่เราได้ครอบครองเป็นเจ้าของ
และวิธีที่ใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้น
การมีทรัพย์สมบัติมากทำให้นางวิสาขามีวัตถุสิ่งของ
สำหรับทำบุญได้มากกว่าคนทั่วไป
เพราะถือว่าทรัพย์สินต่างๆ นั้นมีลักษณะเป็นกลาง คือ ไม่ดีไม่เลว
แต่จะดีหรือเลวขึ้นอยู่กับวิธีได้มา และวิธีใช้
ถ้าหากเราได้ทรัพย์สมบัติต่างๆ มาด้วยวิธีสุจริตและใช้อย่างฉลาด
เช่น ให้ตนเองมีความสุขด้วยการทำบุญ
และช่วยทำประโยชน์แก่สังคม
ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นก็เป็นสิ่งมีคุณค่า
แต่ในทางตรงข้าม ถ้าหากเราเป็นคนตระหนี่เห็นแก่ตัว
ทรัพย์สมบัติต่างๆ เหล่านั้นก็ไม่อาจนำความสุขมาให้ได้
พระพุทธศาสนาเน้นความสำคัญของการทำบุญ
เพราะบุญกุศลที่เกิดจากการทำทานเป็นที่มาของความสุข
และเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ
ความสุขที่เกิดจากการให้
(ซึ่งเป็นผลมาจากการลดความเห็นแก่ตัวลงบ้าง)
เป็นความสุขที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญมาก
และโดยเหตุที่ความสุขไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ
หรือจำนวนทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่เรามีอยู่
แต่เป็นสภาวะจิตใจ พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เราขัดเกลาจิตใจ
ให้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหลายที่หุ้มอยู่
เพื่อจิตใจจะได้สงบและสว่างด้วยแสงของปัญญา
ด้วยเหตุนี้เวลาพูดถึงความสุขจึงใช้คำว่า “สันติสุข” หรือ “วิมุติสุข”
เพื่อให้แตกต่างจากความสุขที่คนทั่วไปเข้าใจว่า
เกิดจากการตอบสนองความต้องการต่างๆ
โดยเหตุที่ความสุขเป็นเรื่องจิตใจไม่มีตัวตน
ดังนั้นคนรวยจึงไม่จำเป็นต้องมีความสุขเสมอไป
ในทำนองเดียวกัน คนจน ที่มีชีวิตไม่สะดวกสบาย
เพราะขาดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
เช่น ไม่มีพัดลม ตู้เย็นไฟฟ้า ก็สามารถมีความสุขได้
ถ้าหากรู้จักสันโดษซึ่งทำให้จิตใจสงบ
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับคำอธิบาย
เรื่องธรรมชาติของความสุข
โดยเฉพาะเมื่อหลวงพ่อเชื่อมโยง
ความสงบและสันโดษเข้ากับความสุข
ในความคิดเห็นของศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
คนอเมริกันจะมีชีวิตที่สงบสุขได้ถ้าหากมีสันโดษ
คือ รู้จักจำกัดความต้องการและไม่ดิ้นรนไขว่คว้าสิ่งต่างๆ
มาเป็นของตนโดยไม่หยุดยั้ง
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตเองได้พยายามสอนนักศึกษาที่อเมริกา
ให้เลิกผูกความสุขเข้ากับปริมาณ
หรือ จำนวนของวัตถุสิ่งของต่างๆ
และให้หันมาสนใจเรื่องจิตใจให้มากขึ้น
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
เพราะการสอนดังกล่าวสวนทางกับกระแสสังคมอเมริกัน
ที่เน้นวัตถุนิยม และต้องการให้คนไขว่คว้าหาสิ่งของต่างๆ
มาครอบครองไว้ให้มีจำนวนมากที่สุด
สื่อมวลชนต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และทีวี
มีส่วนสำคัญที่ทำให้กระแสสังคมนี้ไหลเชี่ยว
จนต้านทานได้ยากหรือไม่ได้เลย
หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมว่า หลวงพ่อเองได้พยายามปลุกคนให้ตื่น
จากความหลงผิด ให้รู้จักพัฒนาและใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต
ประจำวันให้มาก แต่เนื่องด้วยธรรมเป็นสิ่งทวนกระแสโลก
ที่อยู่ในวงเวียนของวัตถุนิยม
ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับคนทั่วไป
หลวงพ่อพยายามสอนกรรมฐาน
เพราะเชื่อ และมีประสบการณ์ว่าการปฏิบัติดังกล่าว
สามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้สัมผัสความสุขที่เกิดจากความสงบ
และ การควบคุมตนเองได้
อันจะทำให้ผู้นั้นไม่หลงใหลในวัตถุสิ่งของต่างๆ
รวมทั้งยศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย
ผู้ปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวันจำนวนไม่น้อย
สามารถสัมผัสความสุขประเภทนี้ได้
จึงได้ชักชวนผู้ที่รู้จักมาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอยู่เรื่อยๆ
จนจำนวนผู้ปฏิบัติเพิ่มมากขึ้นทุกที
มีคนทุกอาชีพทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติมาแล้ว และผู้มาใหม่
การที่เป็นเช่นนี้เพราะบุคคลเหล่านี้
ได้พบเห็นด้วยตนเองว่าการปฏิบัติกรรมฐาน
เป็นวิธีการที่นำไปสู่ความสุขที่ประณีตกว่า
การทำตามกระแสโลกที่กล่าวมาแล้ว
และถึงแม้ว่าผู้ปฏิบัติจะยังไม่สามารถทวนกระแสโลกได้โดยตลอด
แต่การมาอยู่ที่วัดระยะเวลาหนึ่ง
ก็เป็นการสร้างความสงบสุขให้แก่ดวงจิตชั่วคราว
และทำให้จิตของตนมีพลังมากขึ้น
การปฏิบัติกรรมฐาน จึงเป็นเสมือนการชาร์จแบตเตอรี่
ให้มีไฟพอเพียงแก่การใช้งาน
นอกจากนั้นหลวงพ่อยังได้อธิบายขยายความเรื่อง
ความสัมพันธ์ระหว่างสันโดษและความสุข
เพื่อแก้ความเข้าใจผิดของศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
ที่เข้าใจว่าสันโดษ และความสุขเป็นสิ่งเดียวกัน
หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าในพระพุทธศาสนา
ความสุขมีอยู่หลายระดับและสันโดษเป็นความสุขระดับหนึ่ง
ที่คนทั่วไปสามารถมีได้
ความสุขที่พระพุทธศาสนาเน้นเป็นพิเศษ คือ “วิมุติสุข”
หรือ ความสุขที่เป็นผลจากการที่ดวงจิตมีสภาวะเป็นพุทธะ
หรือ ใสสว่างปราศจากความหนาทึบของ “อัตตา”
และความมัวหมองจากกิเลสตัณหาต่างๆ ที่ห่อหุ้ม
สภาวะเช่นนี้เกิดจากการมีปัญญารู้แจ้ง
(หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Enlightenment”)
ดังเห็นเป็นตัวอย่างจากพุทธประวัติตอนตรัสรู้
เสรีภาพ ความรับผิดชอบ การควบคุมตนเอง
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กราบเรียนให้หลวงพ่อทราบว่า
เด็กอเมริกันที่ตนเคยสอนมักเข้าใจกันว่า
เสรีภาพ หมายถึง การทำอะไรตามใจชอบ
หรือ โดยไม่มีอะไรมาขัดขวาง
ความเข้าใจนี้ ทำให้เด็กวัยรุ่นในอเมริกา
ไม่มีระเบียบวินัยและไม่มีเป้าหมาย
กล่าวคือ มีชีวิตเปะปะไปตามอารมณ์ความรู้สึก
อยากทราบว่าพระพุทธศาสนาสอนเกี่ยวกับเสรีภาพว่าอย่างไร
หลวงพ่ออธิบายว่า สังคมไทยเวลานี้ก็ดูเหมือนจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน
ในปัจจุบัน “เสรีภาพ” เป็นคำที่ใช้กันมาก
เพราะเชื่อกันว่า เป็นลักษณะสำคัญของสังคมประชาธิปไตย
คนไทยทั่วไปเข้าใจว่าเสรีภาพ คือ การมีชีวิตอิสระ
ซึ่งได้แก่การทำอะไรตามใจชอบดังที่ชอบพูดกันว่า
“ทำอะไรตามใจเป็นไทยแท้”
(เพราะเข้าใจผิดว่า “ไทย” หมายถึง “อิสรเสรี”)
คำสอนของพระพุทธศาสนา
ก็เน้นความสำคัญของการมีชีวิตอิสระเสรีมากเป็นพิเศษ
แต่อธิบายความเป็นอิสระเสรีในความหมายที่ลึกซึ้งกว่าที่เข้าใจกัน
กล่าวคือ อธิบายว่า ชีวิตอิสระเสรีเป็นชีวิตที่มีการควบคุมตัวเอง
ไม่ให้เป็นไปตามอำนาจของสัญชาตญาณ และ กิเลสตัณหาต่างๆ
ดังนั้นจึงไม่ใช่ชีวิตของการทำอะไรตามใจชอบ
การควบคุมตัวเอง หมายถึง การใช้ปัญญากำหนดทิศทาง
และแนวทางของการดำเนินชีวิต
อันมีผลให้ชีวิตไม่เปะปะไปมา
เช่นสวะที่ล่อยลอยไปตามกระแสน้ำและแรงลม
ชีวิตที่มีทิศทางมีพลังในตัว
เหมือนกับน้ำที่มีขอบเขตกั้นให้ไหลไปในทิศทางเดียว
การที่พระพุทธศาสนาอธิบายชีวิตอิสระเสรีในความหมายนี้
เพราะถือว่าปัญญาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์
ดังนั้นจึงควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์
พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อว่า
ชีวิตอิสระเสรีเป็นชีวิตที่คนแต่ละคน
เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนด้วยตนเอง
ดังเห็นได้จากคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรม
แต่พระพุทธศาสนาเน้นว่า
ในการกำหนดชะตากรรมให้แก่ชีวิตเราแต่ละคนนั้น
เราจะต้องใช้ปัญญาของตนเป็นสำคัญ
ไม่ใช่ยอมทำตามสัญชาตญาณ หรือ อารมณ์ความรู้สึกแต่ละครั้ง
ดังนั้นในทัศนะของพระพุทธศาสนา
ชีวิตที่มีเสรีภาพ จึงเป็นชีวิตที่มีการควบคุมตัวเอง
หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ชีวิตประเภทนี้มีความรับผิดชอบ
เป็นองค์ประกอบสำคัญ
การควบคุมตัวเองทำให้เราไม่ทำอะไรที่เป็นอันตรายแก่ตัวเอง
และผู้เกี่ยวข้องตลอดจนสังคมโลกที่อยู่
นอกจากนั้น หลวงพ่อยังอธิบายว่า เช่นเดียวกันกับเรื่องความสุข
ศาสนาพุทธแบ่งเสรีภาพออกเป็นระดับต่างๆ กล่าวคือ
ในระดับธรรมดาทั่วไป
เสรีภาพ หมายถึงการกำหนดชีวิตของตนด้วยตนเอง
ในระดับนี้เสรีภาพแสดงให้เห็นในรูปของความสามารถ
ที่จะควบคุมตนเองให้มีชีวิตเป็นไปตามเป้าหมายที่ตัวเองวางไว้
ในระดับสูงขึ้นมา
เสรีภาพ หมายถึงการไม่อยู่ในอำนาจของ “อัตตา”
หรือ การหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาต่างๆ
(มีโลภ โกรธ หลง เป็นสำคัญ) ตลอดไปโดยสิ้นเชิง
ชีวิตที่มีเสรีภาพระดับนี้ เป็นชีวิตของการปล่อยวาง
การไม่ยึดติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม
ดังนั้นจึงเป็นชีวิตที่อยู่เหนือ “ความดี” และ “ความชั่ว”
หรือ กรรมทั้งหลาย
หลวงพ่อให้ข้อสังเกตในตอนสุดท้ายว่า ในระดับใดก็ตาม
เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิดเหมือนสัญชาตญาณ
เราจะต้องต่อสู้ดิ้นรนเป็นอย่างมาก จึงจะมีเสรีภาพ
หรือ ชีวิตอิสระเสรีในความหมายที่กล่าวมา
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีสำคัญอย่างหนึ่ง
ที่จะช่วยให้เรามีชีวิตอิสระเสรีในความหมายของพระพุทธศาสนาได้
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ยอมรับว่าเวลานี้ตนเข้าใจความหมาย
ของเสรีภาพในทัศนะของพระพุทธศาสนาได้ลึกซึ้งขึ้น
และกล่าวเสริมว่า การที่พระพุทธศาสนาเน้นความรับผิดชอบนั้น
เป็นสิ่งสำคัญมาก เสรีภาพและความรับผิดชอบแยกออกจากกันไม่ได้
ถ้าหากแยกออกจากกันแล้ว เสรีภาพก็ไม่มีคุณค่าอะไรเหลืออยู่
และจะเป็นอันตรายแก่มนุษย์และสังคมโลก
ดังนั้นคนทุกคนจึงควรใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ
ด้วยเหตุนี้จึงเห็นด้วยกับพระพุทธศาสนา
ที่เน้นให้คนทุกคนทำอะไรด้วยเหตุผลและใช้สติปัญญาให้มาก
การควบคุมตนเองเป็นวิธีการใช้เสรีภาพที่ถูกต้อง
สันติภาพและขันติธรรม
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ในปัจจุบันประเทศต่างๆ
เช่น อินโดนีเซีย และอินเดีย ศาสนิกชนต่างศาสนาพากัน
ก่อความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ และที่ถึงกับจับอาวุธ
ประหัตประหารกันก็มีอยู่
แต่ทราบว่าในประเทศไทย เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย
จึงต้องการทราบว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนอะไร
ที่ช่วยให้คนนับถือศาสนาต่างกันอยู่กันได้ด้วยความสงบสุข
หลวงพ่อ ชี้ให้เห็นว่า ตามความเป็นจริงแล้ว
การต่อสู้ระหว่างชาวมุสลิมและชาวฮินดูในอินเดีย
และ ระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ในอินโดนีเซียนั้น
เป็นผลมาจากสาเหตุหลายประการที่พัวพันกัน
ไม่ใช่สาเหตุจากการมีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกันเท่านั้น
ศาสนาทุกศาสนาต้องการให้คนทุกคนเป็นคนดี ไม่รบราฆ่าฟันกัน
สำหรับพระพุทธศาสนานั้น ได้ชื่อว่าเป็นศาสนาของสันติภาพ
มีคำสอนและวิธีการปฏิบัติมากมายหลายอย่าง
ที่จะทำให้คนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
เช่นให้มีความรักความเมตตาและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน
รู้จักให้อภัยกันและไม่ยึดถือตัวเองเป็นใหญ่
ในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นนั้น
พระพุทธศาสนายอมรับความจริงว่าคนแต่ละคนมีสติปัญญา
ความต้องการและความสามารถไม่เหมือนกัน
ดังนั้นจึงมีความเชื่อแตกต่างกันออกไป
ด้วยเหตุนี้ในคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงไม่มีการบังคับ
ไม่ว่าในรูปแบบใด การรักษาศีลและปฏิบัติธรรม
เป็นเรื่องของความสมัครใจ การตัดสินใจของคนแต่ละคน
พระพุทธเจ้าทรงเป็นเหมือนแพทย์ที่เมื่อวิเคราะห์อาการของคนไข้
อย่างละเอียดถี่ถ้วนและรู้สาเหตุของความเจ็บป่วยแล้ว
ก็แนะนำคนไข้ให้กินยารักษาโรคที่เป็นอยู่
แต่ส่วนคนไข้จะกินยาที่แนะนำหรือไม่นั้น
เป็นการตัดสินใจของคนไข้เอง
หลวงพ่อเน้นว่า โดยเหตุที่พระพุทธศาสนายอมรับความจำกัด
ด้านสติปัญญาและความสามารถของแต่ละคน
และไม่มีความประสงค์จะบังคับผู้ใดให้มายึดถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
พระพุทธศาสนา จึงสอนชาวพุทธให้มีขันติธรรม
กล่าวคือให้ยอมรับความหลากหลายของความเชื่อทางศาสนา
และไม่ให้มีโทสะเมื่อเห็นว่าผู้อื่นมีความเชื่อและการปฏับัติแตกต่าง
ไปจากตน เพราะในที่สุดไม่ว่าจะมีความเชื่อแตกต่างกันอย่างไร
ทุกคนก็ต้องเป็นไปตามกรรมของแต่ละคนอยู่นั่นเอง
ศาสนาพุทธจึงไม่ต้องการให้นำความแตกต่างดังกล่าว
มาสร้างความแตกแยกในสังคมหรือเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง
และความรุนแรงระหว่างศาสนิกชนที่นับถือศาสนาต่างกัน
นอกจากศาสนาพุทธจะเน้นความสำคัญของความเมตตากรุณา
และขันติธรรมที่มีต่อการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในประชาคมโลกแล้ว
ศาสนาพุทธยังสอนคนให้ลดความเห็นแก่ตัวให้น้อยลง
เพราะสิ่งนี้เป้นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้จิตใจคนไม่สงบสุข
และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ยากลำบาก
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้จิตใจสงบ
และมีอิสระจากอำนาจของกิเลสตัณหาต่างๆ
ที่เป็นพื้นฐานของความเห็นแก่ตัว
จิตใจที่เป็นอิสระเสรีนี้ ย่อมสามารถมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ
สรรพสิ่งต่างๆ (ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือธรรมชาติ)
ในทางสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสันติภาพในโลก
ต้องเริ่มต้นจากการที่มีคนจิตใจสงบก่อนอย่างอื่น
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าสันติภาพ
หมายถึง ความสงบหรือการไม่มีสงคราม หรือการสู้รบเท่านั้น
ความสงบเงียบหรือการไม่มีการสู้รบกัน
ไม่ได้เป็นเครื่องประกันว่าสันติภาพมีอยู่ในโลก
สันติภาพที่แท้จริงมีอยู่ได้ย่อมต้องมีปัจจัยเกื้อกูลหลายอย่าง
ตั้งแต่การมีความเมตตา กรุณา และขันติธรรม
ไปจนถึงการมีจิตใจที่สงบและสว่าง
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวชมการที่พระพุทธเจ้า
ทรงสอนเรื่องขันติธรรมนั้น เป็นเรื่องดีงามมาก
เพราะเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ชาวพุทธมีจิตใจเปิดกว้าง
ไม่ยกตนข่มท่าน และไม่ประณามศาสนาอื่นที่ตนไม่เห็นด้วย
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตเห็นด้วยว่า สันติภาพที่จีรังยั่งยืน
ต้องเริ่มต้นจากภายในจิตใจของคนแต่ละคน
ถ้าหากจิตใจของคนยังเป็นจิตใจที่เห็นแก่ตัว
ไม่มีความรักความเมตตาต่อผู้อื่นแล้ว
สันติภาพถาวรก็เป็นไปไม่ได้
ปัญหาที่ศาสนาต่างๆ ประสบอยู่ในเวลานี้
ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะให้คนทุกคนมีจิตใจที่สงบและสว่างได้
สิ่งนี้เป็นไปได้ยากต้องใช้เวลานานหรือไม่มีทางเป็นไปได้เลย
ดังนั้นในขณะที่ศาสนาต่างๆ สั่งสอนศาสนิกชนให้มีจิตใจดีงาม
ศาสนิกชนจึงควรร่วมมือกันสร้างปัจจัยต่างๆ ให้เกิดขึ้น
ในประชาคมโลก เพื่อค้ำจุนสันติภาพให้มีอยู่ตลอดไปด้วย
เช่น ให้มีกฎหมายที่เป็นธรรมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
และให้ทุกฝ่ายที่มีปัญหามีโอกาสได้พบปะเจรจาต่อรองกัน
พระสงฆ์ ทรัพย์สมบัติ และอามิสทาน
ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ในสมัยกลางชี้ให้เห็นว่า
สาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้นักบวชในศาสนานี้
เสื่อมความเคารพรับถือจากศาสนิกชน
เพราะศาสนจักรนิยมสะสมเงินทองและทรัพย์สมบัติต่างๆ ไว้มากมาย
และนักบวชในศาสนานี้มักนำทรัพย์สมบัติดังกล่าว
ที่เป็นของส่วนรวมมาใช้บำรุงบำเรอตนเอง
จึงทำให้มองเห็นไปว่าการที่ศาสนจักร
มีทรัพย์สินเงินทองมากเป็นสิ่งไม่ดี
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีระเบียบกฎเกณฑ์
ห้ามไม่ให้วัดมีทรัพย์สมบัติต่างๆ มากมาย
หรือไม่ให้พระสงฆ์สะสมเงินทองและทรัพย์สมบัติหรือไม่
ในความเห็นของหลวงพ่อ โดยธรรมชาติแล้วทรัพย์สมบัติต่างๆ
มีลักษณะเป็นกลาง คือในตัวเองไม่มีทั้งความดีหรือความไม่ดี
สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีนั้น
อยู่ที่วิธีที่เราได้สิ่งเหล่านั้นมา และวิธีที่เราใช้สิ่งเหล่านั้น
ถ้าหากเราได้ทรัพย์สมบัติมาด้วยวิธีสุจริต
และใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านี้อย่างฉลาด
ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ก็เป็นสิ่งที่ดี
ในเรื่องของพระสงฆ์นั้น โดยเหตุที่พระสงฆ์ส่วนมากเป็นสมมติสงฆ์
ที่ยังติดกิเลสตัณหาต่างๆ ไม่ได้
ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก
ที่มีผู้บริจาคให้ จึงอดไม่ได้ที่จะใช้ทรัพย์สินเหล่านั้น
เพื่อประโยชน์ตน เช่นเดียวกับนักบวชในศาสนาคริสต์ที่กล่าวมา
พระสงฆ์จึงต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ
เมื่อต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องเงินทอง
ที่จริงแล้วการอุปสมบทเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ของผู้อุปสมบท
คือ ละทิ้งชีวิตทางโลกและหันมามีชีวิตทางธรรม
ตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า
พระองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า
ชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรมเป็นชีวิตแบบไหน
นอกจากนั้นยังได้ทรงกำหนดวินัยต่างๆ
สำหรับให้พระสงฆ์ยึดถือและปฏิบัติตาม
เพื่อจะได้สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป
ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
พระสงฆ์ไม่ควรจะสะสมทรัพย์สินเงินทองเช่นเดียวกับฆราวาส
หลักปฏิบัติที่หลวงพ่อใช้เสมอที่วัด
คือ นำปัจจัยและสิ่งของต่าง ๆ ที่ญาติโยมนำมามอบให้
ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมในรูปแบบต่างๆ
ไม่เก็บเอาไว้เป็นสมบัติส่วนตัว
แต่ปรากฏว่ายิ่งทางวัดให้ส่วนรวมหรือสังคมมากเท่าไร
ทางวัดก็ยิ่งมีทรัพย์สินเงินทางเพิ่มมากขึ้น
จึงอาจทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่า หลวงพ่อชอบสะสมทรัพย์สมบัติ
การที่ทรัพย์สินเงินทองของวัดอัมพวันมีเพิ่มขึ้น
เพราะเมื่อมีผู้บริจาคมองเห็นว่าทางวัดนำเอาสิ่งที่ตนบริจาค
ไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมจริง
บุคคลเหล่านี้ก็ชักชวนคนอื่นให้ร่วมบริจาคเงินทอง
และวัตถุสิ่งของต่างๆ ให้วัด
ไม่ว่าจะได้รับบริจาคทรัพย์สินเงินทองมากเพียงใดก็ตาม
วัดอัมพวันก็จะนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ไปทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากเพียงนั้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผยแผ่คำสอนในพระพุทธศาสนา
การศึกษา หรือการสังคมสงเคราะห์ทั่วไป
ในตอนสุดท้าย หลวงพ่อให้ข้อสังเกตว่า
การที่พระสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินทองจำนวนมากมายนั้น
เป็นอันตรายแก่พระสงฆ์มาก
นักบวชในศาสนาต่างๆ ที่เสื่อมเสียความเคารพนับถือจากศาสนิกชน
ก็เพราะเรื่องเงินทองเป็นสำคัญ
ดังนั้นเมื่อจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเงินทอง
พระสงฆ์ควรมีสติอยู่ตลอดเวลา
และไม่ยึดถือว่าสิ่งนี้เป็นทรัพย์สมบัติของตน
ที่จะต้องเก็บรักษาไว้เช่นเดียวกับฆราวาส
พระสงฆ์ไม่อาจห้ามศาสนิกชนไม่ให้บริจาคที่ดิน
หรือเงินทองให้แก่วัดได้ เพราะชาวพุทธทั่วไปนิยมทำอามิสทาน
และเชื่อว่าการบริจาคทรัพย์สินต่างๆ ให้แก่พระสงฆ์หรือวัด
เป็นบุญกุศลที่จะส่งผลให้ตนเป็นคนร่ำรวยและมีชีวิตที่สบาย
ในชาติต่อไป สิ่งสำคัญที่พระสงฆ์หรือวัดควรทำ
ก็คือการบริหารจัดการทรัพย์สมบัติต่างๆ เหล่านั้น
ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค
และให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด
เกี่ยวกับเรื่องอามิสทานหรือการทำบุญของชาวพุทธ
ที่หลวงพ่อกล่าวถึงนั้น ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สงสัยว่า
การที่วัดต่างๆ (ที่ตนสังเกตเห็น) สอนคนให้ทำแต่อามิสทาน
และให้ “ติดบุญ” หรือ “หลงบุญ”
และชักชวนคนให้มาทำบุญด้วยการบริจาคเงิน (จำนวนมาก)
ให้แก่วัดและบางวัดถึงกับ “ขายบุญ” ก็มี
ไม่ทราบว่าการที่วัดสอนคนให้ติดหรือหลงใหลบุญ
และการขายบุญขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่
บุญกุศลเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันได้หรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า การทำบุญกุศลมีความสำคัญต่อชีวิตชาวพุทธมาก
เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกฎแห่งกรรม
หลวงพ่อเองมีประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับอำนาจของบุญกุศลมาแล้ว
ดังที่ได้เคยเล่าให้ญาติโยมฟังแล้วหลายหน
การทำบุญในพระพุทธศาสนามีอยู่หลายวิธีด้วยกัน
การให้อามิสทานเป็นการทำบุญวิธีหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมกันมาก
วัตถุสิ่งของต่างๆ รวมทั้งทรัพย์สินเงินทองที่ชาวพุทธ
บริจาคให้แก่พระสงฆ์หรือวัดมีส่วนสำคัญ
ให้พระสงฆ์มีชีวิตอยู่ด้วยความสะดวกสบายพอสมควร
และในขณะเดียวกันก็ทำให้วัดสามารถจัดทำกิจกรรมต่างๆ
ที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและส่วนรวมได้
เช่นทำให้วัดอัมพวันมีสถานที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
และสำหรับฝึกอบรมบุคคลต่างๆ ให้มีคุณธรรมและจริยธรรมได้
อย่างไรก็ตามไม่ควรจะมุ่งแต่การชักชวนศาสนิกชน
ให้บริจาคเงินทองและวัตถุสิ่งของต่างๆ ให้แก่วัด
โดยเอาสวรรค์มาเป็นเครื่องล่อ
การกระทำเช่นนี้อาจจะตีความว่าเป็นการ “ขายบุญ” ได้
บุญกุศลเป็นเรื่องเกี่ยกับคุณภาพของจิตใจ
ที่คนแต่ละคนจะต้องสร้างขึ้นมาเอง
ไม่ใช่สิ่งของที่ซื้อขายกันได้เหมือนสินค้า
การทำบุญมีหลายวิธี การที่ชาวพุทธจะทำบุญด้วยวิธีใดนั้น
ก็แล้วแต่จริตและความสามารถของคนแต่ละคน
อย่างไรก็ตามวัดก็ไม่ควรใช้วิธีต่างๆ “ล่อ” คนให้มาทำบุญ
ด้วยอามิสทาน การกระทำเช่นนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของวัดเสีย
คือ ทำให้มองเห็นกันว่า วัด ก็คือ บริษัทการค้าแห่งหนึ่ง
ที่ต้องการขายสินค้าของตนให้ได้กำไรมากที่สุด
โดยใช้บุญกุศลเป็นสินค้า
วัดอัมพวันไม่มีการโฆษณาขายสินค้าใดๆ
ทางวัดเน้นที่การปฏิบัติกรรมฐาน
เพราะ เป็นการทำบุญที่ให้กุศลมากที่สุด
เนื่องจากทำให้จิตใจเบาบางจากกิเลสตัณหาต่างๆ ได้
ซึ่งเป็นทางนำไปสู่การหลุดพ้นจากสังสารวัฏ
อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
หลวงพ่อกล่าวเตือนว่า
ถึงแม้ว่าการทำบุญมีความสำคัญมากในเรื่องกฎแห่งกรรม
ศาสนาพุทธก็ไม่ต้องการให้ชาวพุทธหลงใหลในบุญกุศล
เพราะสิ่งนี้เป็นเสมือนเชือกที่ผูกตัวเราให้ติดอยู่กับสังสารวัฏต่อไป
และไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้
หลวงพ่อเน้นว่า วัตถุประสงค์สูงสุดของการทำบุญ
คือ การไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ได้นั้น
ต้องทำบุญทำกุศลมากเช่นที่เห็นเป็นตัวอย่างในชาดกต่างๆ
ในนัยนี้บุญกุศลเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง
ที่เราสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความต้องการได้
ดังนั้นเราจึงไม่ควรหลงใหลในเครื่องมือนี้
มากจนไม่ยอมนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงส่งแก่ชีวิต
ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาเน้นเช่นนี้
ชาวพุทธส่วนมากก็ยังติดหรือหลงใหลในบุญกุศลอยู่
และนิยมมาวัดเพื่อสร้างบุญกุศลให้แก่ตัวเองด้วยอามิสทาน
ไม่ใช่เพื่อเรียนรู้ธรรมและนำไปปฏิบัติตาม
ให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
ในเรื่องหลักของการทำบุญด้วยอามิสทานนั้น
หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาใช้หลักจริยธรรม
ของการไม่เบียดเบียนเป็นบรรทัดฐาน
กล่าวคือ ตามหลักจริยธรรมนี้
พุทธศาสนิกชนจะต้องไม่ให้การทำบุญของตน
ทำให้ตนเองและผู้อื่นที่เกี่ยวข้องเดือดร้อน
การที่พระพุทธศาสนาเน้นให้คำนึงถึง “ผู้อื่น” ที่เกี่ยวข้องด้วย
(เช่น สามี หรือ ภรรยา หรือ ลูก)
เพราะพระพุทธศาสนาต้องการให้ศาสนิกชนทำบุญด้วยความรับผิดชอบ
ไม่ใชทำตามอารมณ์ความรู้สึกวู่วาม
ไปตามคำชักชวนของวัดหรือคนหนึ่งคนใด
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยว่าการทำบุญด้วยความรับผิดชอบ
เป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นบิดามารดาที่นำเงินที่เก็บสะสมไว้ทั้งหมด
มาทำบุญจนไม่สามารถช่วยเหลือลูกให้ศึกษาเล่าเรียนได้นั้น
จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีจริยธรรมหรือความรับผิดชอบ
การที่จะให้คนทำบุญด้วยความรับผิดชอบ
พระสงฆ์ควรอธิบายให้ญาติโยมเข้าใจว่า
การทำบุญมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าคนจนหรือคนรวย
ก็ทำบุญได้ตามความพร้อมของตน
นอกจากนั้นพระสงฆ์ควรเน้นให้ศาสนิกชนทำบุญแต่พอตัว
ไม่กู้หนี้ยืมสินมาจนทำให้ตัวเองและผู้ที่เกี่ยวข้องเดือดร้อน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตไม่เห็นด้วยกับการที่นักบวชในศาสนาต่างๆ
ชักชวนคนให้บริจาคทรัพย์สินเงินทองให้แก่ตนจนหมดเนื้อหมดตัว
การกระทำเช่นนี้เป็นการนำศาสนามาใช้
เพื่อประโยชน์ของนักบวชเหล่านี้
ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของศาสนิกชน
การรักษาศีล และการทำหมันสุนัข
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่าในวัดต่างๆ
มีสุนัขมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
และทำให้วัดต้องมีภาระเลี้ยงดูสุนัขเหล่านี้
การมีพันธะเช่นนี้เป็นการสิ้นเปลืองสำหรับวัด
และนับวันจำนวนสุนัขก็เพิ่มมากขึ้นทุกที
เนื่องจากทางวัดไม่ทำหมันสุนัขและไม่สอนคนให้ทำหมันสุนัข
ในศาสนาคริสต์เชื่อว่าการทำหมันสุนัข เพื่อให้สุนัขมีจำนวนลดน้อยลง
และมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นไม่บาป
เช่นเดียวกับการคุมกำเนิดประชากร
ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
หลวงพ่ออธิบายว่า พระพุทธศาสนาเองไม่ได้ต่อต้าน
การวางแผนครอบครัวด้วยการคุมกำเนิด
ไม่ได้สอนว่าชีวิตเป็นสิ่งมีคุณค่าเท่านั้น
แต่สอนให้เราสนใจเรื่องคุณภาพของชีวิตด้วย
พระพุทธเจ้าทรงแจกแจงธรรมไว้เป็นหมวดหมู่ต่างๆ
เพื่อให้ศาสนิกชนนำไปใช้ในการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ตามความรู้ความสามารถของคนแต่ละคน
พระพุทธศาสนาไม่ได้มองดูการมีลูกจำนวนมากมาย
ว่าเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ แต่เน้นให้บิดามารดาเลี้ยงลูก
ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนการที่สามีภรรยาจะมีลูกกี่คนนั้น
เป็นเรื่องการตัดสินใจของคู่แต่งงานเอง
ไม่มีกำหนดไว้ในคำสอนของศาสนา
สำหรับเรื่องการทำหมันสุนัขนั้น ศาสนิกชนบางคนก็เชื่อว่า
ตราบใดที่ไม่มีการทำลายชีวิตเกิดขึ้น และไม่ได้ทำให้สุนัขทรมาน
ก็อาจถือว่าการทำหมันสุนัขเป็นการกระทำที่ไม่ขัด
กับคำสอนของพระพุทธศาสนา
แต่หลวงพ่อเองเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้
ขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ไม่ให้เบียดเบียน
ชีวิตหนึ่งชีวิตใด และจะนำการทำหมันสุนัขมาเปรียบเทียบ
กับการคุมกำเนิดในคนไม่ได้
ในกรณีของสามีภรรยา การคุมกำเนิดเป็นการกระทำ
ด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย
กล่าวคือ สามีภรรยาเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเองว่าจะคุมกำเนิดหรือไม่
และจะใช้วิธีใด โดยทั้งสองฝ่ายเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจ
และผลของการกระทำนั้น
แต่กรณีของการทำหมันสุนัขมีลักษณะตรงข้าม
หลวงพ่อสรุปในที่สุดว่า ปัญหาที่ว่าการทำหมันสุนัข
เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่นั้น เราอาจพิจารณาในแง่มุมของจริยธรรม
ทางโลกหรือจริยธรรมแบบพุทธได้
จริยธรรมทางโลกใช้คุณภาพชีวิตเป็นเกณฑ์ของการพิจารณา
แต่ “คุณภาพชีวิต” เป็นเรื่องที่ตกลงกันได้ยาก
และเกี่ยวพันกับปัญหาว่าการที่คนใดคนหนึ่ง
จะไปกำหนดคุณภาพชีวิตของคนอื่นนั้น
เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่
จริยธรรมแบบพุทธเน้นความสำคัญ
ของความรักความเมตตา และการไม่เบียดเบียนกัน
การที่จะทำชีวิตทุกชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตเท่ากันนั้น
เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมของตน
ความรักความเมตตาเป็นคุณธรรมสำคัญ
ที่จะช่วยให้ทุกชีวิตมีความสุขตามอัตภาพของตน
ที่วัดอัมพวันในปัจจุบันมีสุนัขอาศัยอยู่ประมาณ ๓๐๐ ตัว
ทางวัดพยายามช่วยให้สุนัขทุกตัวมีชีวิตที่มีคุณภาพ
คือ มีความทุกข์น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
การเลี้ยงดูสุนัขจำนวนมากมายเช่นนี้
ได้รับความช่วยเหลือจากญาติโยมทั้งหลายโดยตลอด
ในพระพุทธศาสนาความรักความเมตตา
ไม่ได้หยุดอยู่แค่มนุษย์เท่านั้น
แต่ขยายวงออกไปไปถึงสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ยอมรับว่า แม้จะไม่เห็นด้วยกับหลวงพ่อ
ในเรื่องการทำหมันสุนัข
แต่ก็ยอมรับว่าคำอธิบายของหลวงพ่อมีเหตุผลดี
ตัวเองคิดว่าการใช้คุณภาพชีวิต
เป็นเกณฑ์ของการพิจารณาตัดสินใจไม่ใช่เรื่องง่าย
“คุณภาพชีวิต” เป็นคำที่มีความหมายกำกวม
และเป็นการยากที่จะให้คนทุกคนเข้าใจความหมายของคำนี้ตรงกัน
แต่ การปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแบบพุทธ
หรือที่เรียกกันว่า “การรักษาศีล” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
โดยเฉพาะศีล ๕ บางคนเข้าใจว่าปฏิบัติตามศีล ๕
ทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันไม่ได้
เพราะสมัยปัจจุบันมีสภาวะสังคมแตกต่างจากสมัยพุทธกาลมาก
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต จึงสงสัยว่าการรักษาศีล ๕
มีประโยชน์อะไรบ้างในปัจจุบัน
และศีลดังกล่าวมีคุณค่าทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด
หลวงพ่ออธิบายว่า ในคำสอนของพระพุทธศาสนา
ประโยชน์ของการรักษาศีล ๕ มีมากมาย
ทั้งที่เกิดแก่ผู้ที่รักษาศีลเอง และผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง
ประโยชน์บางอย่างเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นชัดแจ้ง
และคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์
อาจจะถือว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องเหลวไหลได้
ดังนั้นหลวงพ่อจึงจะไม่พูดถึง
แต่หวังว่าผู้รักษาศีลสม่ำเสมอคงจะมองเห็นผลดังกล่าวเอง
สำหรับประโยชน์ที่คนทั่วไปมองเห็นได้ง่ายๆ
ก็คือ ถ้าหากคนทุกคนรักษาศีล ๕ ได้แล้ว
สังคมก็จะมีความสงบสุขมากขึ้น
เช่น ไม่มีการลักขโมย การข่มขืน และการหลอกลวง
ปัญหาต่างๆ ของสังคมเวลานี้เกือบทั้งหมด
มีรากเหง้าจากการไม่รักษาศีล ๕
ส่วนในเรื่องคุณค่าทางปฏิบัติมากกว่าอย่างอื่น
ธรรมทุกหมวดหมู่ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้
ไม่ได้เป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น
แต่ส่วนจะปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับสติปัญญาความสามารถและความพร้อมของแต่ละคน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ถามต่อไปอีกว่า เท่าที่มีความรู้อยู่บ้าง
ศีล ๕ ข้อ เช่น ศีลข้อ ๒ และ ข้อ ๕
ไม่ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ในสังคมปัจจุบัน
เช่น การโกงลูกค้า คอรัปชั่น และยาเสพย์ติด
ดังนั้นจะถือว่า ศีลทั้งสองข้อนี้มีข้อบกพร่องได้หรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า ในการรักษาศีลนั้น
เราต้องเข้าใจเจตนารมณ์ของศีลแต่ข้อให้ดี
มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ศีลทุกข้อมีข้อบกพร่อง
ไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่
ที่จริงแล้วศีล ๕ แต่ละข้อมีความละเอียดมาก
ศีลข้อ ๒ ที่ห้ามลักทรัพย์ผู้อื่นนั้น มีความประสงค์ที่จะไม่ให้เรา
ได้ทรัพย์สินต่างๆ มาโดยไม่ถูกต้องตามครรลองครองธรรม
ศีลข้อนี้มีแง่คิดที่ลึกซึ้งมาก เพราะ “ทรัพย์” มีหลายประเภท
ทั้งที่เป็นวัตถุสิ่งของและที่ไม่มีตัวตนให้เห็น
เช่น เวลา และความคิด ส่วน “การลักทรัพย์” นั้นก็มีหลายวิธี
มีทั้งวิธีที่มองเห็นได้ง่ายและวิธีแอบแฝง
พ่อค้าที่โกงลูกค้าหรือกักตุนสินค้าไว้ ทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้น
เพื่อจะได้ขายสินค้าได้ในราคาสูงกว่าปกติ
ก็ถือว่าเป็นการลักทรัพย์อย่างหนึ่ง
เพราะเป็นการได้ทรัพย์ที่ไม่ควรได้
และเป็นเหตุให้คนอื่นที่ควรจะมีโอกาสในการมีทรัพย์นั้น
ต้องพลาดโอกาสไป ในบางครั้งก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
จากการที่พ่อค้ากักตุนสินค้าต่างๆ
ในทำนองเดียวกัน ข้าราชการหรือพนักงานบริษัท
ที่ใช้เวลาทำงานไม่เต็มที่แบบเรียกกันว่า “ทำงานเช้าชามเย็นชาม”
ก็ถือว่าเป็นการละเมิดศีลข้อนี้เช่นกัน
เพราะการทำงานไม่เต็มที่ ทำให้หน่วยงานเสียประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ไป
นายธนาคารหรือผู้จัดการกองทุนที่โกงลูกค้า
และร่ำรวยได้ทรัพย์สินต่างๆ มาจากความหายนะของคนอื่น
หรือนายจ้างที่ขยักเงินค่าจ้างไว้
ไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่คนงานตามที่ตกลงกันไว้
ก็ทำผิดศีลข้อ ๒ เช่นกัน การลักทรัพย์ประเภทดังกล่าวนี้
เป็นเรื่องที่มักจะมองข้ามไป
ผู้ที่ลักทรัพย์ประเภทนี้เองก็มักจะไม่สำนึกผิด
บางคนกลับชื่นชมความฉลาดและความสามารถของตน
ที่ทำตัวเป็นโจร โดยไม่มีใครรู้หรือจับได้
คนประเภทนี้เป็นอันตรายต่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย
ถ้าหากสังคมไทยไม่มีโจรประเภทนี้
ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่เรากลังเผชิญอยู่ในเวลานี้
ก็คงจะร้ายแรงน้อยลง
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับคำอธิบายศีลข้อ ๒
ที่หลวงพ่อเมตตาชี้แจงให้ฟัง
และยอมรับว่า การที่หลวงพ่ออธิบายเช่นนั้น
ทำให้ศีลข้อ ๒ มีความหมายแก่คนยุคปัจจุบันมากขึ้น
คำอธิบายของหลวงพ่อทำให้มองเห็นว่า
ศีลข้อนี้ครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญาและการคอรัปชั่นด้วย
อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ก็สงสัยว่าคำอธิบายดังกล่าว
เป็นการตีความหมายศีลข้อ ๒ ใหม่หรือไม่
หลวงพ่อ อธิบายเพิ่มเติมว่า ศีลข้อ ๒ มีความละเอียดมากอยู่แล้ว
ไม่จำเป็นที่จะต้องไปตีความหมายใหม่
คำอธิบายศีลข้อนี้ที่ยึดถือกันมาแต่ก่อนไม่ได้พูดถึงรายละเอียดดังกล่าว
ได้แต่เน้นเรื่องการลักทรัพย์ที่เป็นวัตถุสิ่งของมากกว่าอย่างอื่น
คนจึงเข้าใจผิดว่าศีลข้อนี้แคบเกินไป และไม่เหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน
หลวงพ่อเตือนว่าในการรักษาศีล ๕
เราจำเป็นต้องเข้าใจเจตนารมณ์
หรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของศีลแต่ละข้อให้ถ่องแท้เสียก่อน
เพื่อจะได้รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ผิดศีลข้อนี้
ศีลข้อ ๕ ก็มีรายละเอียดครอบคลุมสิ่งต้องห้ามมากกว่าสุรา
เช่นที่เชื่อกันผิดๆ กันอยู่ เพราะรวมถึงเครื่องดองของเมาทั้งหลาย
และยาที่ให้โทษแก่จิตประสาท เช่น ยาบ้าด้วย
ดังนั้นถ้าเราต้องการจะรักษาศีลข้อนี้ให้ครบถ้วน
เราจำเป็นต้องงดเว้นสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาเพิ่มไป
จากการงดเว้นสุราด้วย
หลวงพ่อสรุปว่าการรักษาศีล ๕ เป็นประโยชน์ทุกยุคทุกสมัย
พระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ทรงรู้จักเหตุและผลของสิ่งทุกสิ่ง
ทรงทราบว่าการรักษาศีล ๕ จะช่วยให้ปัญหาชีวิตของมนุษย์
แต่ละคนลดน้อยลงได้มาก
เพราะปัญหาที่อาจจะเกิดแก่ชีวิตเขา
ก็จะเป็นเพียงปัญหาที่มาจากปัจจัยภายนอกเป็นผู้กระทำ
เพราะการรักษาศีล ๕ จะปิดกั้นไม่ให้เขาพบความทุกข์
ที่เกิดจากการกระทำของตนเอง
ส่วนการจะรักษาศีล ๕ อย่างละข้อได้อย่างละเอียดประณีตเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความสามารถของผู้นั้นเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตามการที่เรารักษาศีล ๕ ได้
แม้จะไม่ละเอียดลึกซึ้งตามเจตนารมณ์ของศีลแต่ละข้อก็ตาม
เราก็ย่อมจะได้รับประโยชน์ของศีล
เพราะศีลเปรียบเสมือนราวกั้นไม่ให้ผู้รักษาศีลตกไปอยู่อบายภูมิ
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับคำอธิบายของหลวงพ่อ
แต่ไม่เห็นด้วยกับชาวพุทธบางกลุ่มที่อธิบายศีล ๕
ให้สอดคล้องกับความต้องการปัจจุบัน โดยการเพิ่มข้อยกเว้นลงไป
เช่น อธิบายศีลข้อ ๑ ว่า “ห้ามฆ่าสัตว์ ยกเว้นเพื่อเป็นอาหาร
และเพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์”
ศีลข้อ ๔ ว่า “ห้ามพูดเท็จ ยกเว้นเพื่อป้องกันชีวิตตนเองและผู้อื่น
และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือส่วนรวม”
และศีลข้อ ๕ ว่า “ห้ามดื่มสุรา ยกเว้นดื่มเล็กน้อย
หรือดื่มเพื่อสุขภาพ หรือดื่มในงานสังคม” เป็นต้น
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต รู้สึกว่าการเติมข้อความดังกล่าว
ในทางศีลแต่ละข้อนั้นเป็นการทำให้ศีลแต่ละข้อ
มีความหมายผิดเจตนารมณ์ดังเดิมไป
ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควร
หลวงพ่อเอง ก็ไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มเติมข้อยกเว้นให้แก่ศีลแต่ละข้อ
การรักษาศีลมากหรือน้อยเพียงใดนั้น
เป็นเรื่องความสมัครใจของคนแต่ละคน
แต่จะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น
เพราะกฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีการยกเว้น
และเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้
บันทึกการสนทนาธรรม
ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) กับ
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ลินเบค เป็นครั้งที่ ๕
ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญสาขาปรัชญาและศาสนา
รองศาสตราจารย์ ดร.พินิจ รัตนกุล ผู้อำนวยการศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ได้นำ ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ลินเบค
ผู้เชี่ยวชาญสาขาปรัชญาและศาสนา มาพบพระราชสุทธิญาณมงคล
เป็นครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ที่วัดอัมพวัน
เพื่อเรียนถามปัญหาต่างๆ จากพระราชสุทธิญาณมงคล
ซึ่งในบันทึกนี้ใช้คำว่า “หลวงพ่อ” แทน
โดยมี ดร.พินิจ รัตนกุล เป็นผู้แปลและเขียนบันทึกการสนทนา
เศรษฐกิจตกต่ำ ความวิตกกังวล ความหวาดกลัว
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ปัจจุบันในสมัยเศรษฐกิจตกต่ำ
คนไทยที่รู้จักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตมาก
เพราะไม่ทราบแน่นอนว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่
และชีวิตตนจะเป็นอย่างไรต่อไป
นอกจากนั้นบางคนก็ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร
จึงจะไม่ให้คนอื่นวิจารณ์ตนในแง่ลบ
และบางคนที่อายุมากหรือเจ็บป่วยก็หวาดกลัวความตาย
ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีวิธีกำจัดความวิตกกังวลต่างๆ
และความหวาดกลัวความตายอย่างไรหรือไม่
หลวงพ่อตอบว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ตั้งอยู่บนความจริง
ไม่ใช่สร้างขึ้นมาจากจินตนาการ
คำสอนต่างๆ เกี่ยวกับสัจธรรมของชีวิต
เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้ได้จากปัญญา
และประสบการณ์ของพระองค์เอง
สัจธรรมดังกล่าวนี้ มีทั้งเรื่องที่อยู่เหนือประสบการณ์ธรรมดาสามัญ
และสิ่งที่คนทั่วไปสามารถค้นพบได้
จากการคิดวิเคราะห์ประสบการณ์ของตนและผู้อื่น
ดังนั้นความจริงของชีวิตในพระธรรมคำสอน
จึงมีทั้งส่วนที่มองเห็นได้ไม่ยากและส่วนที่ต้องอาศัยสติปัญญา
และประสบการณ์ที่สูงขึ้น จึงจะมองเห็นและเข้าใจได้
ในเรื่องของชีวิตในโลกนั้น พระพุทธศาสนาสอนให้
เรายอมรับสภาพความเป็นจริงของทุกสิ่ง
โดยไม่นำอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
เพราะเชื่อว่าไม่มีอะไรที่จะเอาชนะความจริงไปได้
ดังนั้นในเมื่อชีวิตมีความยากลำบาก
เพราะวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
เราก็ควรรับสภาพความเป็นจริงนี้ก่อน
แล้วจึงค่อยพยายามหาทางที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น
ในขณะเดียวกันเราต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ชีวิต
ทุกสถานการณ์มีทางออกด้วยกันทั้งนั้น
และเราจะต้องใช้สติและปัญญาให้มาก จึงจะมองเห็นทางออกได้
การปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพความเป็นจริง
เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีชีวิตรอดอยู่ได้
ท่ามกลางความยากลำบากต่างๆ เช่น รู้จักประหยัดมัธยัสถ์
กินอยู่แต่พอสมควร จำกัดความต้องการให้น้อยลง
มีความขยันขันแข็งอดทนและไม่ย่อท้อ
และที่สำคัญในการมีชีวิตท่ามกลางความยากลำบาก
คือ ต้องระวังไม่ให้ความขัดสนฝืดเคือง
เป็นสาเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และความแล้งน้ำใจในครอบครัว
ในยามนี้ทุกคนควรมีความรักความเมตตาต่อกัน
ช่วยเป็นกำลังใจให้กันและกัน
และประคับประคองกันไว้ให้ยืนหยัดอยู่ได้
การช่วยเหลือกันและการปฏิบัติตามคุณธรรมต่างๆ
ของพระพุทธศาสนาเช่นที่กล่าวมา
จะช่วยให้เรามีชีวิตรอดอยู่ได้ในยามลำบาก
คุณธรรมเหล่านี้เป็นเสาหลักของคุณงามความดีที่จะค้ำจุนจิตใจ
ไม่ให้เปะปะไปตามแรงผลักดันของสิ่งแวดล้อม
และไม่ให้ท้อแท้เมื่อเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ
ทุกสิ่งเมื่อมีการเกิดก็ย่อมมีการสิ้นสุดตามมาโดยธรรมชาติ
ดังนั้นในไม่ช้าความยากลำบากที่เรากำลังประสบอยู่ก็จะสิ้นสุดลง
เราจะยอมให้สิ่งนี้สิ้นสุดลงพร้อมกับชีวิตที่ถูกทำลายอย่างยับเยิน
จนไม่มีศูนย์กลางและความหวังเหลืออยู่เลยหรือ
ถ้าหากเราเผชิญกับความยากลำบากต่างๆ ด้วยจิตใจเข้มแข็ง
มีคุณธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นหลักแล้ว
เมื่อพายุผ่านไป ชีวิตก็ย่อมมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ยอมรับว่าการมองชีวิต
ในแง่มุมของพระพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องชีวิตหลังความตาย
ทำให้เห็นว่าความตายไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว
เช่นที่ชาวอเมริกันเชื่อกันทั่วไป
คำสอนของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับสังสารวัฏ
ทำให้ชีวิตแต่ละชีวิตมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพของชีวิต
ในแต่ละภพภูมิได้ด้วยการกระทำของตนเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยว่าการที่พระพุทธศาสนา
สอนให้ยอมรับความตายว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งนั้น
เป็นทัศนคติที่สร้างสรรค์
เพราะจะทำให้เรามีจิตสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต
และไม่พยายามต่อสู้ดิ้นรนหลีกหนีสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ไม่เข้าใจว่า ทำไมแพทย์ที่เป็นชาวพุทธ
จึงไม่ยอมปล่อยให้ผู้ป่วนในมรณวิถีถึงแก่กรรม
ตามขบวนการทางธรรมชาติ
แต่พยายามยืดชีวิตของคนไข้ให้ยาวนานต่อไปเรื่อยๆ
โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
ทำให้สงสัยว่าการกระทำดังกล่าว
สวนทางกับคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า ปัจจุบันสังคมไทยเองก็มีผู้สงสัยกันว่า
การที่แพทย์ใช้เครื่องช่วยยืดชีวิตของคนไข้ในมรณวิถีนั้น
เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่
การที่แพทย์ทำเช่นนั้นเพราะได้รับการอบรมสั่งสอน
ให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบช่วยคนไข้ให้มีชีวิตอยู่ให้นานที่สุด
เท่าที่จะทำได้ การทำตามหน้าที่ดังกล่าว
ไม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ถือว่า
ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและควรสงวนรักษาไว้
ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าวก็คือใช้เครื่องช่วยชีวิตผู้ป่วย
ในมรณวิถีนั้นไม่ใช่เป็นการ “ช่วยชีวิต”
แต่เป็นการ “ยืดชีวิต” มากกว่า
เพราะในกรณีนี้แพทย์ไม่สามารถจะ “รักษา”
หรือช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ในมรณะวิถีไม่ให้ “ตาย”
หรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้อีกต่อไป
ในทางตรงข้ามการพยายาม “ยืดชีวิต” ดังกล่าว
ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตายตามขบวนการทางธรรมชาติได้
ปัญหาจริยธรรมที่น่าคิดก็คือ ในกรณีของผู้ป่วยในมรณวิถี
แพทย์ควรจะปล่อยให้ผู้ป่วยตายไปตามวิถีทางธรรมชาติหรือไม่
สำหรับหลวงพ่อเองมีความเห็นว่าในกรณีดังกล่าว
แพทย์ไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวิถีของธรรมชาติ
ในบางราย การที่แพทย์ใช้เครื่องช่วยชีวิตช่วยยืดชีวิตของผู้ป่วย
ให้ยาวนานนั้น ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตทางชีวภาพแต่อย่างเดียว
ไม่สามารถรับรู้หรือติดต่อสัมพันธ์สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้
ชีวิตที่มีสภาพดังกล่าวไม่น่าจะเป็น “ชีวิต”
ในความหมายของพระพุทธศาสนา
ที่ให้ความสำคัญแก่ “คุณภาพ” ของชีวิตมากเป็นพิเศษ
สำหรับปัญหาที่ว่า การถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจากผู้ป่วยในมรณวิถีนั้น
เป็นการละเมิดศีลข้อหนึ่งหรือไม่นั้น
หลวงพ่อมีความเห็นว่า ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ว่า
ในคำสอนของพระพุทธศาสนา “ชีวิตมนุษย์” หมายความว่าอะไรกันแน่
คนทั่วไปเชื่อว่าตราบใดที่อวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วยยังไม่หยุดทำงาน
เช่น ยังมีลมหายใจอยู่ ตราบนั้น “ชีวิต” ของผู้นั้นก็ยังมีอยู่
ดังนั้นการถอดเครื่องช่วยชีวิตออกและทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย
ก็เป็นการละเมิดศีลข้อแรก
และมีวิบากกรรมตามมาภายหลังอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้โดยทั่วไปจึงไม่มีพุทธศาสนิกชนคนใด
ต้องการจะรับผิดชอบในการถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจากผู้ป่วยที่สิ้นหวัง
แต่ก็มีพุทธศาสนิกชนบางคนที่ยอมทำเช่นนั้น
เพราะไม่ต้องการจะยืดชีวิตของผู้ป่วยให้ยาวนานต่อไป
เนื่องจากไม่สามารถจะรับภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ได้
และต้องการให้ผู้นั้นพ้นจากความทุกข์ทรมาน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า ในกรณีดังกล่าวนั้น
คริสตศาสนิกชนก็มีปัญหาเช่นเดียวกับชาวพุทธ
คือ ไม่มีความแน่ใจว่าการถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจากผู้ป่วย
ที่สิ้นหวังนั้นเป็นสิ่งสมควรหรือไม่
ในกรณีเช่นนี้ดูเหมือนว่าเส้นแบ่งระหว่างความถูกต้อง
และความไม่ถูกต้องเลือนลางจนบอกไม่ได้แน่นอนว่า
ทำอย่างไรจึงจะถูกหรือผิด
นักบวชในศาสนาคริสต์เองก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป
และแต่ละฝ่ายก็ต่างก็มีเหตุผลที่ดีสนับสนุนความคิดเห็นของตน
สำหรับศาสตราจารย์ไวโอเล็ตเองนั้น
มีความเห็นว่าในเรื่องนี้ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของ “มโนธรรม”
หรือความสำนึกเรื่องผิดชอบชั่วดีของคนแต่ละคนเอง
ดูเหมือนจะเหมาะสมที่สุด
เพราะในกรณีที่กล่าวมากฎเกณฑ์ทางจริยธรรม
มีกว้างไม่ครอบคลุมทุกกรณี
หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมว่า ในพระพุทธศาสนาถือว่า
เจตนามีความสำคัญมาก การกระทำที่เกิดจากเจตนาดี
ย่อมมีวิบากและผลการกระทำที่ดีตามมา
และเจตนาที่ดีย่อมเป็นผลมาจากการที่จิตใจปราศจากกิเลสตัณหา
หรือความเห็นแก่ตัวในรูปแบบต่างๆ
จิตใจเช่นนี้ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ใด
เพราะยึดถือประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้งแต่อย่างเดียว
ปัจจุบันมีชาวพุทธจำนวนไม่น้อย
ที่ต้องการตายตามวิถีทางตามธรรมชาติ
และไม่มีความประสงค์จะให้แพทย์หรือผู้เกี่ยวข้อง
ใช้เครื่องช่วย “ยืด” ชีวิตของตนต่อไป
ในกรณีที่ตนมีสภาพเป็นผู้ป่วยในมรณวิถี
เพราะไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด
ส่วนครอบครัวหรือญาติมิตรที่เป็นชาวพุทธจะทำตามเจตนารมณ์นี้
หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งแวดล้อม ผึ้ง รีไซเคล
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหา
เรื่องการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ และเข้าใจว่าปัญหานี้มีรากเหง้า
มาจากการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของประเทศ
และการทำให้แม่น้ำลำคลองที่มีอยู่เป็นมลภาวะ
ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร
หลวงพ่ออธิบายว่า สาเหตุสำคัญที่เกิดปัญหาภัยแล้ง
และการขาดแคลนน้ำ คือ การตัดไม้ทำลายป่า
และการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา
ยกตัวอย่างเช่น คำสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท
ซึ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งต่างๆ
ในฐานะเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน
ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
จึงต้องพึ่งพาอาศัยกัน สำหรับชีวิตมนุษย์ในโลกนั้น ชีวิตจะมีอยู่ได้
ต้องอาศัยทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต
ในนัยนี้สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำลำธาร
ต้นไม้ และภูเขา จึงมีความสำคัญแก่มนุษย์
ไม่น้อยกว่าสัตว์และสิ่งที่มีชีวิตประเภทต่างๆ
ในเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
พระพุทธศาสนาสอนให้คนใช้ธรรมชาติด้วยความรับผิดชอบ
คือ ใช้โดยไม่ทำลายธรรมชาติ หรือระบบนิเวศวิทยาของธรรมชาติ
ให้เสียหายจนไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้อีกต่อไป
วิธีใช้ธรรมชาติที่พระพุทธศาสนาต้องการให้เป็นแบบอย่าง
คือ ให้ใช้ธรรมชาติแบบผึ้ง กล่าวคือ ผึ้งดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ต่างๆ
ที่มีอยู่ในธรรมชาติโดยไม่ทำให้เกสรดอกไม้เหล่านั้นเสียหาย
และในไม่ช้าดอกไม้ก็สามารถผลิตน้ำหว่านออกมาอีกได้
ถ้าหากมนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในทำนองนี้
ทรัพยากรธรรมชาติก็จะไม่สูญเสียไปโดยสิ้นเชิง
เพราะธรรมชาติจะสร้างสิ่งใหม่มาทดแทนสิ่งที่เสียไปได้
ในระยะเวลาไม่นาน การที่ทุกแห่งของโลกมีปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น
เป็นเพราะกรรมหรือการกระทำของคนแต่ละคน
ที่เมื่อรวมกันเข้าแล้ว มีผลในทางลบต่อธรรมชาติหรือระบบนิเวศน์
ที่ค้ำจุนชีวิตในโลกให้มีอยู่ได้
ในความคิดของหลวงพ่อ วิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องแก้ที่ตัวมนุษย์
คือ ลดความเห็นแก่ตัวให้น้อยลง
จะได้ไม่ใช่ธรรมชาติด้วยความโลภ
ที่จะทำให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากมายเกินความจำเป็น
และไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการกระทำของตนทางลบ
ที่จะเกิดขึ้นแก่ธรรมชาติและผู้อื่น
นอกจากนั้นพระพุทธศาสนายังเน้นให้เรามีความประหยัดมัธยัสถ์ให้มาก
เช่นนำของที่ใช้แล้วเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง
มาดัดแปลงให้ใช้เพื่อประโยชน์อีกอย่างหนึ่งได้
การทำเช่นนี้เรียกกันในปัจจุบันว่า เป็นการ “รีไซเคิล” (Recycle) สิ่งของต่างๆ
หลวงพ่อมีความเห็นว่าแนวความคิดริเริ่ม รีไซเคิล
ที่กำลังเน้นกันมากในปัจจุบันและเข้าใจกันว่า
เป็นความคิดมาจากสังคมตะวันตกนั้น
ที่จริงแล้วเป็นความคิดในพระพุทธศาสนาเมื่อหลายพันปีมาแล้ว
ในคำสอนที่เน้นว่า การเปลี่ยนนามรูปวนเวียนกันไปเป็นธรรมชาติ
ของสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์และสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ
คำสอนนี้สนับสนุนความคิดเรื่องรีไซเคิลของคนตะวันตก
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า คำสอนของพระพุทธศาสนา
ที่หลวงพ่ออธิบายนั้น เป็นแนวคิดสำคัญของการพัฒนาแบบยั่งยืน
(Sustainable development) คือ การพัฒนาสังคม
โดยการสงวนรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไว้
การพัฒนาในแนวทางนี้ เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทดแทนได้
(Renewable resources) การประหยัดมัธยัสถ์ และการระมัดระวัง
ไม่ให้เกิดผลเสียหายขึ้นในอนาคตเป็นสำคัญ
การพัฒนาแบบยั่งยืนนี้ ดูเหมือนจะเป็นวิธีเดียว
ที่จะช่วยให้มนุษย์ใช้ธรรมชาติได้ตามความเป็นจริง
โดยไม่ทำลายธรรมชาติให้สิ้นไป
ซึ่งจะนำภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ตัวมนุษย์เองในที่สุด
ในสมัยหนึ่งมีผู้เข้าใจว่าศาสนาคริสต์สนับสนุนให้มนุษย์
ใช้ธรรมชาติตามความต้องการได้เต็มที่
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา
ให้เป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติรวมทั้งสัตว์
และทรัพยากรต่างๆ ดังนั้นจึงมีสิทธิ์โดยชอบธรรม
ที่จะใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่อประโยชน์ตน
แต่ในสมัยปัจจุบันคริสตศาสนิกชนส่วนมาก
มีความเห็นว่า มนุษย์มีหน้าที่จะต้องรักษาสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติไว้
เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่เป็นสมบัติของมนุษย์
แต่เป็นสิ่งของที่พระองค์มอบให้รักษาดูแลไว้ (Stewardship) เท่านั้น
ถ้าหากเราทำตามคำสอนของพระพุทธศาสนา
และศาสนาคริสต์ที่กล่าวมา
ปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การตัดไม้ทำลายป่า
จนถึงการสร้างมลภาวะในอากาศและน้ำ
ก็จะไม่เกิดขึ้น บุญ บาป กฎแห่งกรรม
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ทราบว่าเวลานี้พระสงฆ์บางรูป
ประกาศ “ขายบุญ” หรือล้างกรรมชั่วให้แก่คน
ที่ไม่ต้องการรับผลกรรมชั่วที่ทำไว้
จึงสงสัยว่าศาสนาพุทธสอนเรื่องกฎแห่งกรรมว่าอย่างไร
และคนที่ทำกรรมชั่วไว้จะหนีวิบากกรรมดังกล่าวได้หรือไม่
ในความเห็นหลวงพ่อ กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติ
ที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นไปตามความต้องการของเราไม่ได้
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
เป็นหลักสำคัญของกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนา
ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงไม่มีคำสอนเรื่องการ “ล้างบาป”
วิบากกรรมเป็นสิ่งที่คนแต่ละคนที่ทำกรรมไว้จะต้องประสบ
แม้แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
เช่น พระโมคคัลลาน์พระสาวกผู้มีฤทธิ์เดชมาก
ยังหลีกหนีวิบากไม่ดีไปไม่ได้
ดังนั้นก่อนทำอะไรลงไป
เราจึงจำเป็นต้องคิดพิจารณาให้ดีว่า
การกระทำนั้นเป็นกุศลกรรมมากน้อยเพียงใด
เพราะเมื่อทำอะไรลงไปแล้ว
วิบากกรรมนั้นจะติดตามตัวเราไปโดยตลอด
การทำบุญกุศลมีความสำคัญมาก
เพราะถึงแม้จะลบล้างวิบากกรรมทั้งหมดไม่ได้
แต่ก็จะช่วยลดวิบากกรรมไม่ดีหลายอย่างให้เบาบางลงได้
การทำให้วิบากกรรมไม่ดีลดความรุนแรงลง
หรือไม่ให้แสดงผลเต็มที่มีหลายวิธีด้วยกัน
ที่สำคัญก็คือ เมื่อทำอะไรไม่ดีไว้เราต้องสำนึกผิด
แล้วตั้งใจและพยายามไม่ทำกรรมนั้นต่อไป
ความสำนึกผิดและการตั้งใจทำความดีเป็นกุศลจิตอย่างหนึ่ง
ที่จะนำไปสู่การกระทำที่ดีงามทั้งหลายต่อไป
หลวงพ่อเตือนว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนว่าบาปหรือผลกรรมไม่ดี
จะ “ล้าง” ให้หมดไปด้วยการทำพิธีต่างๆ
เช่น พิธีสารภาพบาป เช่นที่มีอยู่ในคำสอนของศาสนาอื่น
การมีกุศลจิตที่เกิดจากความสำนึกผิดและการตั้งใจทำกรรมดี
มีความสำคัญมากกว่าการประกอบพิธีต่างๆ
พิธีกรรมในพระพุทธศาสนาให้ผลทางจิตวิทยามากกว่าอย่างอื่น
พระพุทธศาสนาไม่ต้องการให้คนที่ประกอบกรรมชั่ว
เศร้าโศกเสียใจมากจนเกินไป
กฎแห่งกรรมไม่ได้บังคับผู้นั้นให้รับวิบากกรรมไม่ดีตลอดไป
โดยไม่สิ้นสุดหรือ (ในกรณีที่ทำกรรมชั่วร้ายแรง
เช่นที่พระเทวทัตทำต่อพระพุทธเจ้า)
ให้ตกนรกจนไม่ได้ผุดเกิดอีกต่อไป
แม้แต่คนเลวก็มีโอกาสที่จะสร้างกรรมดีให้แก่ตัวเองได้
ดังเช่น องคุลีมาลกับเทวทัต
และสามารถชื่นชมผลของกรรมดีได้ในที่สุด
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวว่า การที่พระพุทธศาสนา
ให้โอกาสผู้ทำความชั่วนั้นมีความสำคัญมาก
เพราะจะทำให้ผู้นั้นมีความหวังที่จะมีชะตากรรมที่ดีขึ้นได้ในภายหลัง
นอกจากนั้นการที่พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่อง “ล้างบาป”
ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน
ในสมัยหนึ่ง นักบวชในคริสตศาสนานิกายคาทอลิก
นิยมขาย “ใบไถ่บาป” ให้คนทำบาปที่ไม่ต้องการตกนรก
เพื่อนำเงินมาใช้ก่อสร้างวัตถุถาวรต่างๆ ในศาสนา
การกระทำเช่นนี้ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายนี้เสื่อมความนิยมลง
และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่กำเนิดของนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นมาภายหลัง
ในปัจจุบันการที่ชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อย
หันมานับถือพระพุทธศาสนา ก็เพราะมองเห็นว่าศาสนานี้
สอนให้คนแต่ละคนรับผิดชอบชีวิตของตนเอง
และให้โอกาสแก้ไขความผิดพลาดของตนได้ทุกเวลา
สำหรับในเรื่องของการทำบุญที่หลวงพ่อเน้นว่า
มีความสำคัญต่อชีวิตของชาวพุทธนั้น
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตสงสัยว่า
การที่คนไทยชาวพุทธนิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น
ขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาที่สอนว่า
บุญ-บาป เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่คนแต่ละคนต้องทำเองหรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า การทำบุญแล้วอุทิศผลบุญไปให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ไม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด
ในคำสอนของพระพุทธศาสนา
การที่คนเราจะได้บุญนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน
การอนุโมทนาเมื่อมองเห็นหรือทราบว่าผู้อื่นทำบุญ
เป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างบุญกุศลให้แก่ตัวเอง
พระพุทธเจ้าเองทรงรับสั่งว่า
บุญกุศลเป็นสิ่งที่ผู้ทำสามารถจะถ่ายทอดให้แก่ผู้ล่วงลับได้
ถ้าหากว่าผู้นั้นอยู่ในสภาวะที่จะรับบุญกุศลได้
และยินดีเต็มใจรับบุญกุศลที่อุทิศให้ตน
การอุทิศบุญกุศลให้ผู้อื่นนี้
ไม่ได้ทำให้ปริมาณบุญกุศลที่ผู้กระทำลดน้อยลงแต่อย่างใด
เหมือนกันการใช้เทียนที่เรามีอยู่จุดเทียนเล่มอื่น
ไม่ได้ทำให้เปลวไฟในเทียนแท่งแรกลดปริมาณน้อยลงแต่อย่างใด
การอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้อื่น (ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก)
เพื่อให้ผู้นั้นมีความสุขนี้เป็นวิธีการแผ่เมตตาอย่างหนึ่ง
ที่คนไทยชาวพุทธทำอยู่เป็นประจำ
แต่บุญกุศลที่อุทิศให้นี้ไม่มีพลังมากเหมือนบุญกุศลที่เราทำเอง
เช่น ไม่สามารถจะช่วยให้เราหนีวิบากกรรมไปได้ตลอด
หรือให้เราตัดขาดจากสังสารวัฏได้
ดังนั้นการที่คนไทยนิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ที่ไม่อยู่ในสภาวะที่สามารถทำบุญกุศลได้ด้วยตนเอง
จึงไม่ถือว่าเป็นการขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนา
ที่สอนว่าบุญบาปเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า การทำบุญอุทิศส่วนกุศล
ให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นประเพณีที่ควรยกย่องชมเชยมาก
เพราะแสดงให้เห็นถึงความรักความห่วงใยของชาวพุทธ
ที่มีต่อญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
ในวัฒนธรรมของศาสนาคริสต์ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลเช่นที่กล่าวมา
ไม่มีอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับน้ำพระทัยของพระเจ้าเท่านั้น
สิ่งที่ชาวคริสต์ทำเพื่อช่วยเหลือคนที่ล่วงลับไปแล้ว
ก็คือ สวดอ้อนวอนให้พระเจ้าทรงให้อภัยผู้มีบาปที่ล่วงลับไปแล้ว
การอุปสมบท วิธีการคัดเลือก ระยะเวลาการบวช
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ในประเทศญี่ปุ่น
มีวัดในพระพุทธศาสนาหลายวัด
ที่พิถีพิถันเรื่องการอนุญาตให้คนมาบวชมาก
เพราะต้องการให้วัดมีแต่พระ-เณรที่ดี
ไม่ต้องการให้ค้นมาใช้ผ้าเหลืองเป็นเครื่องมือทำมาหากิน
บางวัดมีกฎเกณฑ์ให้คนที่ต้องการบวชมาปฏิบัติ
และทำงานที่วัดเป็นเวลา ๑-๕ ปี
เมื่อเห็นว่าเป็นคนดีเหมาะสมที่จะบวชได้ จึงยินยอมให้บวช
ไม่ทราบว่าวัดไทยมีกฎเกณฑ์เช่นนี้หรือไม่
หลวงพ่อตอบว่า การพิถีพิถันเรื่องการอนุญาตให้อุปสมบทนั้น
เป็นสิ่งที่ดี เพราะอาจช่วยให้ได้คนที่เหมาะสมที่สุดมาเป็นพระสงฆ์
ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อไป
ชีวิตของพระสงฆ์ไม่ใช่ชีวิตที่ง่ายเช่นที่เข้าใจ
เพราะนอกจากจะต้องรักษาศีลและวินัยโดยไม่ให้ด่างพร้อยแล้ว
ยังต้องทำความเพียรเป็นอย่างมากทั้งในด้านปริยัติ ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ
จึงจะสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกพระพุทธเจ้า”
การให้ผู้ที่จะบรรพชามาอยู่ที่วัดก่อน
จะทำให้ผู้นั้นมีโอกาสได้มองเห็นว่าชีวิตของพระสงฆ์นั้น
มีสภาวะเป็นเช่นไร และจะรู้ว่าตนเอง
สามารถที่จะมีชีวิตดังกล่าวได้หรือไม่
แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศไทย
วัตถุประสงค์ของการบรรพชาแตกต่างจากสมัยพุทธกาล
กล่าวคือ ในสมัยพุทธกาลคนบวชเป็นพระ
เพราะต้องการที่จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏ
แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน คนที่บวชเป็นพระมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน
คนที่บวชเพราะมุ่งมรรคผลนิพานก็มีอยู่
แต่คนส่วนมากบวชเพราะต้องการเรียนรู้พระธรรม
และวิธีปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนาในบางเรื่องเท่านั้น
บุคคลเหล่านี้เป็นข้าราชการหรือนักธุรกิจการค้า
ดังนั้นจึงไม่ต้องการจะอยู่ที่วัดถาวรหรือเล่าเรียนพระธรรมทุกเรื่อง
ดังนั้นการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ที่กล่าวมาจึงทำไม่ได้
เพราะจะปิดกั้นไม่ให้คนประเภทนี้มาบวช
วัดไทยต้องการให้โอกาสคนได้บวชเรียน
ดังนั้นจึงไม่ได้พิถีพิถันเรื่องการอนุญาตให้บวชมาก
เมื่อมีผู้ประสงค์จะบวช วัดก็พิจารณาแต่เพียงว่า
ผู้นั้นมีคุณสมบัติถูกต้องตามกำหนดไว้หรือไม่
แต่วัดที่ให้ผู้ต้องการบวชมานุ่งขาวห่มขาวถือศีล ๘
อยู่ที่วัดก่อน ๑-๒ ปีก็มีอยู่บ้าง
สำหรับที่วัดอัมพวันมีระเบียบให้ผู้ขอบวชมาปฏิบัติที่วัด ๗ วัน
ส่วนปัญหาที่ว่าเมื่อบวชแล้วผู้นั้นจะเป็นพระที่ดีหรือไม่นั้น
ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการอบรมสั่งสอน
และการเอาใจใส่ของพระอุปัชฌาย์
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สงสัยว่าการบวชเป็นพระในระยะสั้น
เช่น ๑ สัปดาห์นั้น ผู้บวชจะมีเวลาเพียงพอสำหรับศึกษาธรรม
และปฏิบัติธรรมหรือไม่ และวัดควรกำหนดกฎเกณฑ์ให้การบวชเป็นพระ
มีระยะเวลานานเป็นเดือนหรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า โดยทั่วไปแล้วในประเพณีไทย
ผู้ชายควรบวชเป็นพระอย่างน้อยหนึ่งพรรษา หรือ ๓ เดือน
ระยะเวลานี้อาจน้อยไปก็ได้
ถ้าหากเราต้องการเรียนรู้พระธรรมให้แตกฉาน
หรือต้องการขัดเกลาจิตใจให้ใสสว่าง
ในการบวชระยะสั้นนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นจะมากน้อยเพียงใด
ขึ้นอยู่กับว่าผู้บวชเป็นพระจะศึกษาเล่าเรียนพระธรรม
และปฏิบัติกรรมฐานจริงจังแค่ไหนถ้าหากว่าสักแต่มาบวชตามประเพณีเท่านั้น
เมื่อสึกไปแล้วผู้นั้นก็จะไม่ได้สิ่งดีงามในพระพุทธศาสนาติดตัวไป
และจะเป็นแบบที่พูดกันว่า
“มาบวชก็เสียผ้าเหลือง สึกไปก็เปลืองผ้าลาย”
เท่าที่หลวงพ่อสังเกตเห็นคนมาบวชเพียงพรรษาเดียว
ที่เปลี่ยนเป็นคนดีก็มีอยู่มาก เช่น เลิกเหล้า เลิกบุหรี่
และมีจิตใจเยือกเย็นลง และคนที่ไม่ยอมสึกออกไปตามที่เคยตั้งใจไว้
แต่แรกก็มีอยู่เช่นกัน ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าการบวชตามประเพณีไทยนั้น
เป็นสิ่งดีงาม เพราะทำให้ผู้บวชมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม
และมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติตามคำสอน
โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายทางโลก
เวลานี้ประเพณีดังกล่าวมีคนทำตามน้อยลงทุกที
คนที่มาบวชในระยะสั้น เช่นเพียง ๑ สัปดาห์ เพื่อแก้บนมีมากขึ้น
การเป็นพระในระยะสั้นมากเช่นนี้
จะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับสติปัญญา
ความสามารถ อุปนิสัยใจคอ และวาสนาของแต่ละคน
ในพระไตรปิฎกคนที่มาบวชเพียงไม่นาน
แต่สามารถบรรลุธรรมจนถึงมรรคผลนิพพานได้ก็มีอยู่
และคนที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันเพียงสัปดาห์เดียวแล้ว
มีจิตใจดีงามก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย
สำหรับในเรื่องการกำหนดระยะเวลาของการบวชเป็นพระนั้น
หลวงพ่อมีความเห็นว่าควรจะเป็นเรื่องของแต่ละวัดมากกว่า
ที่จะวางหลักเกณฑ์ตายตัวครอบคลุมไปทุกวัด
สิ่งสำคัญ ก็คือ จะต้องไม่ให้กฎเกณฑ์เหล่านั้น
เป็นอุปสรรคไม่ให้คนมาบวช
ชาวไทยพุทธเชื่อว่าการบวชเป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่
ที่จะสามารถถ่ายทอดให้แก่บิดามารดาหรือญาติพี่น้องได้
ถ้าหากวัดมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไป
ก็จะเป็นปัญหาแก่ผู้ที่ต้องการมาบวชได้
โดยเฉพาะผู้ที่เป็นข้าราชการและผู้มีภาระงานเป็นหลักฐาน
สำหรับวัดอัมพวันกำหนดระยะไว้ว่าจะต้องบวชไม่น้อยกว่า ๑ เดือน
แต่บางวัดไม่มีกฎเกณฑ์อะไร
อนุญาตให้บวชเป็นพระในระยะสั้นกว่านี้ได้
อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่าการบวชเป็นพระ
จะได้บุญกุศลมากน้อยเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะศึกษาเล่าเรียนพระธรรม
และปฏิบัติกรรมฐานได้มากน้อยเพียงใด
และวิธีตรวจสอบบุญกุศลอย่างง่าย ๆ ก็คือ
เมื่อผู้นั้นสึกออกไปแล้วมีคุณงามความดีที่ได้จากการบวช
ติดตัวไปหรือไม่ ถ้าหากบวชแล้วยังคงมีกิเลสตัณหา
และอุปนิสัยเหมือนเดิม
เพราะในระหว่างที่บวชไม่ได้ฝึกจิตใจให้สงบและสะอาด
ก็แสดงว่าบุญกุศลที่ได้จากการบวชนั้นไม่ได้ติดตัวมาด้วย
นับว่าไม่ได้อะไรจากการบวช หรือมีชีวิตเป็นพระเลย
ศาสนาพุทธเน้นเรื่องการฝึกจิตมากกว่าเรื่องอื่น
เพราะถือว่าจิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์
ถ้าหากจิตดีเสียอย่างเดียวทุกสิ่งทุกอย่างก็ดีไปหมด
ไม่ว่าจะเป็นความคิด การพูด หรือการกระทำต่าง ๆ
วัตถุประสงค์สำคัญของการบวชชั่วคราว
คือ การอบรมสั่งสอนจิตให้มีความรู้ในพระธรรม
จะได้ใสสว่างด้วยแสงของปัญญา
และการฝึกฝนจิตให้สงบและผ่องใส
พระสงฆ์ ธรรม วิชาทางโลก
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ในปัจจุบันพระสงฆ์
ที่เรียนวิชาทางโลกในสถาบันการศึกษาของรัฐมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่ทราบว่าในความคิดเห็นของหลวงพ่อ
พระสงฆ์สมควรจะเรียนวิชาทางโลกหรือไม่
หลวงพ่อตอบว่า พระพุทธเจ้าเองนอกจากพระธรรมที่ทรงค้นพบแล้ว
ยังทรงมีความรู้วิชาทางโลกมากมายหลายอย่าง
จึงทรงได้รับยกย่องให้เป็น “โลกวิทู”
พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การ “เรียนรู้” มาก
เพราะถือว่าทำให้เกิดปัญญา ยิ่งมีการเรียนรู้มากขึ้นเท่าไร
ปัญญาก็ยิ่งแตกฉานมากขึ้น
ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการที่พระสงฆ์จะไปเรียนวิชาต่าง ๆ
ที่จะช่วยให้อยู่ในสังคมปัจจุบันและอนาคตได้
ในเรื่องของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระสงฆ์ที่มีความรู้วิชาทางโลก เช่นในด้านภาษา
สังคมศาสตร์ และจิตวิทยา
สามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาดังกล่าวไปใช้ให้เป็นประโยชน์
ในการนำพระธรรมไปเผยแผ่ในชนกลุ่มต่าง ๆ
ที่มีภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกัน
ในทำนองเดียวกัน ความรู้สมัยใหม่ด้านการบริหารจัดการ
เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการบริหารจัดการวัดให้เป็นองค์กร
ของพระพุทธศาสนาที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งในการทำงานให้พระพุทธศาสนา
และในการตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของสังคมไทย
ในทำนองเดียวกัน ความรู้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญ
สำหรับพระสงฆ์ในการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ
และในการศึกษาหาความรู้สมัยใหม่
แม้แต่ความรู้ทางคอมพิวเตอร์ก็เป็นประโยชน์ในการศึกษาพระธรรม
และการเผยแผ่ธรรมไปทั่วโลกโดยผ่านอินเตอร์เนท
แต่อย่างไรก็ตามความรู้ทางพระพุทธศาสนา
เป็นสิ่งที่พระสงฆ์จะขาดไม่ได้
พระสงฆ์จะต้องมีความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
และกว้างขวางทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
จึงจะสามารถใช้วิทยาการต่าง ๆ ทางโลก
ให้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจของการเป็นพระสงฆ์
ในพระพุทธศาสนาได้ เช่นพระสงฆ์ที่ศึกษาวิชาจิตวิทยาสมัยใหม่
ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
ควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้สามารถอธิบายคำสอนในพระพุทธศาสนา
เป็นภาษาวิชาการสมัยใหม่ให้นักศึกษาหรือนักวิชาการเข้าใจได้
ส่วนการศึกษาวิชาทางโลก เพื่อไปประกอบอาชีพหลังจากลาสิกขาแล้ว
ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร พระพุทธศาสนาไม่มีข้อห้าม
ไม่ให้พระสงฆ์สึก หรือไม่ให้ศึกษาวิชาที่จะเป็นประโยชน์
ในการประกอบสัมมาอาชีพ
สำหรับพระสงฆ์ที่สนใจศึกษาวิชาทางโลกนั้น
หลวงพ่อแนะนำว่าก่อนที่จะศึกษาวิชาทางโลกวิชาใดนั้น
พระสงฆ์ควรจะกำหนดเป้าหมายให้แน่นอนว่า
ต้องการศึกษาวิชานั้นเพื่อประโยชน์อะไร
ความรู้ที่ได้จากการศึกษานั้นเป็นประโยชน์
ต่อการนำพระธรรมไปเผยแผ่มากน้อยเพียงใด
การศึกษาวิชาทางโลก เพื่อใช้ประกอบอาชีพหลังจากลาสิกขาแล้ว
กับการศึกษาเพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระธรรม
และเผยแผ่พระธรรม มีวิธีการศึกษาไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
เป็นศาสตร์ที่ลุ่มลึกและกว้างขวางมาก
มีหลายสิ่งหลายอย่างในพระธรรมที่ความรู้วิทยาการสมัยใหม่
ยังค้นไม่พบ ความรู้วิทยาการสมัยใหม่บางอย่าง
อาจช่วยให้เราเข้าใจพระธรรมบางส่วนได้ง่ายขึ้น
แต่ก็ไม่สามารถให้ความรู้ทดแทนความรู้ที่มีอยู่ในพระธรรมได้
สำหรับหลวงพ่อนั้นมีความเห็นว่า ความรู้วิทยาการสมัยใหม่
เป็นประโยชน์ในการอธิบายพระธรรมแก่คนปัจจุบัน
โดยการใช้ความคิดและคำศัพท์สมัยใหม่ที่คนสมัยใหม่จะเข้าใจได้
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับความคิดของหลวงพ่อ
ที่เน้นให้พระสงฆ์มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา
ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่ไปกับ
การมีความรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่
พระสงฆ์ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับศาสนาพุทธเลย
จะเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้อย่างไร
สิ่งนี้สังเกตจากการสอนวิชาทางโลกให้แก่พระสงฆ์หลายรูป
ก็คือ พระสงฆ์ที่เป็นนักศึกษาอยู่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาน้อยมาก
ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีหรือการปฏิบัติ
การที่เป็นเช่นนี้ทำให้เกรงไปว่า
ต่อไปข้างหน้าพระสงฆ์ อาจจะสนใจเรียนแต่วิชาทางโลกอย่างเดียว
เพื่อเตรียมตัวไปประกอบอาชีพหลังลาสิกขา
และไม่สนใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมเลย
เมื่อเป็นเช่นนี้วิชาการทางพระพุทธศาสนา ก็จะไม่เจริญก้าวหน้า
ถ้าหากพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
ไม่มีวิชาการที่แข็งแกร่งแล้ว
พุทธศาสนิกชนคนไทยก็อาจจะหันไปยึดถือความเชื่อและปฏิบัติ
ที่ผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของพระพุทธศาสนามาขึ้นก็ได้
หลวงพ่อกล่าวว่า ปัญหาเรื่องความเจริญก้าวหน้าของพระพุทธศาสนา
ในประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต
เป็นเรื่องที่น่าคิดพิจารณามาก
เวลานี้พระสงฆ์ที่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งนั้นยังมีอยู่
แต่ถ้าหากพระสงฆ์รุ่นใหม่หันไปสนใจศึกษา
แต่วิชาทางโลกแต่อย่างเดียวแล้ว
ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่กล่าวมาได้
ในการป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้น
พระสงฆ์จะต้องอุทิศตัวเองให้แก่การศึกษาพระธรรมให้มากขึ้น
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า นอกจากพระสงฆ์แล้ว
ฆราวาสก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้า
ให้แก่วิชาการทางพระพุทธศาสนา
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์
ก็คือ พระสงฆ์ส่วนมากขาดสิ่งที่มิชชั่นนารีของศาสนาคริสต์มักจะมีอยู่
คือ ความเชื่อมั่นว่าตนเองมีหน้าที่จะต้องทำให้แก่พระเจ้า
การปฏิบัติหน้าที่ตามความเชื่อนี้ทำให้มิชชันนารี
อดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ โดยไม่ย่นย่อ
และบางคนถึงกับยอมสละชีวิตก็มี
แต่จากการพูดคุยกับพระสงฆ์ที่เป็นนักศึกษา
และจากการอ่านหนังสือต่าง ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ในประเทศไทย ทราบว่าพระสงฆ์ไทยไม่มีความสำนึกทำนองที่กล่าวมา
คนส่วนมากมาบวช เพราะต้องการมีโอกาสทางการศึกษา
หรือเพราะต้องการสร้างบุญกุศลให้แก่ตัวเองและบิดามารดา
ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะรับใช้หรือสร้างความเจริญก้าวหน้า
ให้แก่พระพุทธศาสนาแต่อย่างใด
เมื่อขาดวัตถุประสงค์นี้ในการบวชแล้ว
พระสงฆ์ก็หันไปใช้พระพุทธศาสนาหรือสมณเพศ
เป็นเครื่องมือสนองความต้องการส่วนตัวของตนแต่อย่างเดียว
ในศาสนาคริสต์เอง นักบวชที่มีลักษณะเช่นนี้เริ่มจะมีจำนวนมากขึ้น
และผู้ที่อุทิศตัวเองให้แก่พระเจ้าก็มีน้อยลงทุกที
การเป็นนักบวช จึงดูเหมือนจะเป็นอาชีพ
หรือทางทำมาหากินอย่างหนึ่ง
ส่วนการควบคุมความประพฤติของนักบวช
ไม่ให้ผิดครรลองคลองธรรมนั้น
ถ้าหากองค์กรของศาสนาไม่สนใจและเอาใจใส่อย่างจริงจังแล้ว
ศาสนิกชนคงจะต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา
หลวงพ่อตอบว่า พระสงฆ์ที่มีลักษณะเช่นที่ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
กล่าวถึงหรือที่หนังสือที่ชาวตะวันตกเขียนไว้มีอยู่บ้าง
แต่ในขณะเดียวกันพระสงฆ์ที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงาน
ให้พระพุทธศาสนาและนำพระธรรมคำสอนไปเผยแผ่
เพื่อความผาสุกของชาวบ้านก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย
พระพุทธศาสนาเป็นเสมือนต้นไม้ใหญ่มีดอกและผลมากมาย
ดังนั้นจังเป็นอยู่อาศัยของนกกาจำนวนมาก
สำหรับในเรื่องของพระสงฆ์นั้น
เราคงจะต้องยอมรับความจริงว่าในปัจจุบัน
ผู้ที่มาบวชเพราะต้องการมีโอกาสทางการศึกษา
หรือต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมและวิธีฝึกจิตในพระพุทธศาสนา
ชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี
บุคคลเหล่านี้เมื่อสึกออกไปก็จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ
การทำงานให้พระพุทธศาสนามีอยู่หลายวิธีด้วยกัน
แล้วแต่ความรู้ความสามารถและโอกาสของศาสนิกชนแต่ละคน
พระสงฆ์เป็นหนึ่งในพุทธบริษัท ๔
ที่มีหน้าที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง
การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอนและนำไปเผยแผ่
ที่ถือกันว่า เป็นภารกิจหลักของพระสงฆ์นั้น
เป็นวิธีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาวิธีหนึ่ง
การทำตัวให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและปฏิบัติตามคำสอนก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง
ความเสมอภาค ภิกษุณี แม่ชี
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตสงสัยว่า
พระพุทธศาสนามีคำสอนเรื่องความเสมอภาค
ระหว่างเพศชายและเพศหญิงหรือไม่
การที่ประเทศไทยไม่มีภิกษุณีนั้นแสดงว่า
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่คนไทยนับถืออยู่
ไม่ให้ความสำคัญแก่สตรีเท่าเทียมกับผู้ชายใช่หรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า ตามแนวความคิดเรื่องกฎแห่งกรรม
คนทุกคนไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่เกิด
เพราะมีวิบากกรรมติดตัวมาไม่เหมือนกัน
การที่สังคมตะวันตกเน้นความเสมอภาคของมวลมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ดี
มีประโยชน์ ถึงแม้ว่าความคิดนี้จะเป็นความจริงไปไม่ได้
เช่นเดียวกัน ในกรณีที่สมมุติว่าทุกคนมีฐานะความเป็นอยู่เท่าเทียมกัน
ไม่มีใครเป็นคนรวยหรือคนจนเลย
เมื่อเราแจกเงินให้ทุกคนจำนวนเท่ากันในเวลาเช้า
ในตอนเย็นก็จะมีคนรวยคนจนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ความเสมอภาคที่แท้จริงจะเกิดมีขึ้นได้
ก็ต่อเมื่อทุกคนมีกรรมเท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตามในเรื่องของการปฏิบัติธรรมและการบรรลุธรรมนั้น
เพศไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด
เพราะจิตที่บรรลุธรรมไม่มีเพศหญิงหรือเพศชาย เด็กหรือผู้ใหญ่
ดังเห็นเป็นตัวอย่างในสมัยพุทธกาล
ที่พระอรหันต์มีทั้งผู้ชายผู้หญิง เด็กและผู้ใหญ่
ดังนั้นในหลักการแล้วไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก หรือผู้ใหญ่
ก็สามารถบรรลุธรรมได้ทั้งนั้น
แต่ส่วนจะประสบความสำเร็จดังกล่าวได้เมื่อไร
และด้วยวิธีใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง
เช่นความอุตสาหะและวาสนาบารมีที่สะสมมา
สำหรับที่วัดอัมพวันนั้น ทางวัดให้โอกาสแก่ผู้ชาย ผู้หญิง
เด็กและผู้ใหญ่ในการมาปฏิบัติธรรมเท่ากัน
ไม่ได้กำหนดสัดส่วนว่าผู้มาปฏิบัติกรรมฐานที่วัด
จะต้องมีสัดส่วนของผู้ชาย ผู้หญิงเท่าใด
ทางวัดจำกัดจำนวนผู้มาปฏิบัติธรรมที่วัด
ตามจำนวนของห้องพักที่มีอยู่
และก็พยายามขยายจำนวนห้องพักให้มากขึ้นเท่าที่ทำได้
เพื่อตอบสนองความต้องการของศาสนิกชนทั้งชายและหญิง
ในเวลานี้หลวงพ่อได้จัดตั้งสาขาของวัดอัมพวัน
ที่ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จังหวัดขอนแก่น
เพื่อประโยชน์ของพุทธศาสนิกชนทั้งสองเพศ
ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่
ส่วนเรื่องของภิกษุณีนั้น การไม่มีภิกษุณีในประเทศไทย
เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์และการขาดปัจจัยต่าง ๆ ที่กำหนดไว้
ในข้อบัญญัติที่ยึดถือกันมานาน
มากกว่าการไม่ให้ความเสมอภาคแก่สตรี
การที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานที่ไต้หวันหรือในประเทศอื่น
มีภิกษุณีนั้น เป็นเรื่องของนิกายนั้น
ศาสนาพุทธแต่ละนิกาย มีรายละเอียดปลีกย่อย
เกี่ยวกับการปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน
เราไม่ควรจะนำมากล่าวอ้างเมื่อศาสนิกชนในนิกายหนึ่งทำได้
ศาสนิกชนในอีกนิกายหนึ่งก็คงจะทำได้ด้วย
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ยอมรับว่า ความคิดเรื่องความเสมอภาค
ในพระพุทธศาสนาไปไกลกว่าความคิดของคนตะวันตกมาก
สำหรับในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น
ในปัจจุบันมีการพูดเรื่องความเสมอภาคระหว่างชาย – หญิง มากขึ้น
เพราะต้องการให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับผู้ชาย
แม้แต่ในศาสนาคริสต์เอง
ก็มีผู้ตีความหมายคำสอนใหม่ไม่ให้เป็นไปในทำนองดูถูกดูหมิ่นสตรีเพศ
ในปัจจุบันคริสตศาสนานิการคาทอลิกในบางแห่ง
ยอมให้สตรีเป็นนักบวชที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ
เท่ากันกับนักบวชชาย
สำหรับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้น
บางทีในอนาคตข้างหน้า
เมื่อการเรียกร้องสิทธิสตรีมีอิทธิพลมากขึ้น
พระพุทธศาสนาอาจจะจำเป็นต้องแกไขกฎระเบียบใหม่
เพื่อให้สตีสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้
สำหรับในเรื่องของแม่ชีนั้น ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า
ตามวัดต่าง ๆ มักจะมีแม่ชีอยู่จำนวนไม่น้อย
เพื่อช่วยเหลือกิจการงานของวัด
จึงสงสัยว่าในปัจจุบันแม่ชีมีสภาพเช่นใดในสังคมไทย
หลวงพ่อตอบว่า ในปัจจุบันแม่ชีมีสภาพทางสังคมดีขึ้น
เนื่องจากสังคมมองเห็นประโยชน์ที่แม่ชี
ทำให้แก่พระพุทธศาสนาและสังคมมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน
ในเรื่องของการศึกษานั้น แม่ชีมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้นเช่นกัน
เวลานี้แม่ชีที่ศึกษาจบเปรียญ ๙ ได้ก็มีอยู่
และสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน
ที่รับแม่ชีเข้าเป็นนักศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ในสังคมไทยปัจจุบันมีการยอมรับแม่ชีมากขึ้น
สถานภาพของแม่ชีไม่ได้ต่ำต้อยที่เข้าใจกัน
ส่วนแม่ชีจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเท่าไรนั้น
ขึ้นอยู่กับตัวแม่ชีเอง และงานที่ทำให้พระพุทธศาสนาและสังคม
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า ทราบจากหนังสือพิมพ์
ภาษาอังกฤษว่า เวลานี้แม่ชีจัดกิจกรรมต่าง ๆ
ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมมากขึ้น
ทั้งในด้านการศึกษาและสังคมสงเคราะห์
แต่แม่ชีที่เป็นนักวิชาการทางพระพุทธศาสนายังมีจำนวนน้อยมาก
อย่างไรก็ตามถ้าหากแม่ชีมุ่งทำงานดังกล่าวต่อไป
และไม่ทอดทิ้งงานด้านวิชาการที่กล่าวมา
แม่ชีก็คงจะทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาและสังคม
ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอเมริกางานสังคมสงเคราะห์ที่แม่ชีทำนั้น
มีอยู่มากมายหลายอย่าง เช่น การดูแลผู้สูงอายุและเด็กที่ที่ถูกทอดทิ้ง
การพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาล
และการสอนหนังสือตามโรงเรียนต่าง ๆ
เอกลักษณ์ของแม่ชีในศาสนาคริสต์ คือ งานสังคมสงเคราะห์
ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นงานที่แสดงความรักที่มีต่อพระเจ้า
ดังคำสอนของคริสตศาสนาที่ว่า
ผู้ใดรักพระเจ้าผู้นั้นควรอุทิศตนเพื่อความสุขของผู้อื่น
พระสงฆ์ การพัฒนา ขอบเขตจำกัด
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ทราบว่า ในปัจจุบันประเทศศรีลังกา
พระสงฆ์มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ มาก
ไม่ทราบว่าในประเทศไทยพระสงฆ์มีบทบาทดังกล่าวหรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า ในประเทศไทยการที่พระสงฆ์ช่วยพัฒนาชุมชนนั้น
มีมานานหลายสิบปีแล้ว และในปัจจุบันจำนวนพระสงฆ์ที่เรียกกันว่า
“พระพัฒนา” ก็มีจำนวนมากขึ้น
การช่วยเหลือพัฒนาชุมชน ไม่ได้ขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
ที่ต้องการให้พระสงฆ์ช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของคนทั้งหลาย
แต่เนื่องจากคำว่า “พัฒนา” และ “ชุมชน” มีความหมายกว้างมาก
ดังนั้นปัญหาที่พระสงฆ์ ควรคิดก่อนที่จะไปร่วมพัฒนาชุมชน
ก็คือวัตถุประสงค์ วิธีการ สิ่งที่ต้องการพัฒนาและขอบเขตจำกัด
ของการช่วยเหลือชุมชน
สำหรับวัดอัมพวันนั้น การพัฒนา หมายถึง การสร้างคนให้มีคุณธรรม
จริยธรรม หรือการปลุกคนให้ตื่นจากความหลงงมงายต่างๆ
ที่เป็นอันตรายแก่ตนเองและสังคมที่อยู่
โดยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ
ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
โครงการสร้างคนนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่พุทธศาสนิกชนเท่านั้น
แต่ให้โอกาสผู้ที่นับถือศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม
ได้มาร่วมโครงการด้วย วัดอัมพวันได้พัฒนาชุมชนในแนวทางนี้
มาเป็นระยะเวลานาน จนได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์พัฒนาวัฒนธรรม
และจริยธรรมของบุคคลอาชีพต่างๆ
ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้แก่ชุมชนทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับความคิดของหลวงพ่อ
ที่มุ่งการพัฒนาไปที่การสร้างคนมากกว่าการสร้างวัตถุ
การสร้างถาวรวัตถุที่ใหญ่โตและใช้เงินจำนวนมากมายนั้น
มักจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมาได้ภายหลัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร
แต่การสร้างคนเช่นที่หลวงพ่อทำอยู่นั้น มีแต่ประโยชน์ทางเดียว
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตทราบว่า มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อย
ที่ช่วยการพัฒนาชุมชนด้วยการจัดทำกิจกรรมต่างๆ
ที่ไม่ใช่การพัฒนาจิตใจ เช่น ที่วัดอัมพวันกำลังทำอยู่
ไม่ทราบว่าหลวงพ่อมีความคิดเห็นเช่นไร
การที่พระสงฆ์เข้าไปร่วมพัฒนาชุมชนนั้น
ควรมีของเขตจำกัดแค่ไหน
หลวงพ่ออธิบายว่า โดยทั่วไปแล้วพระสงฆ์
ควรจะให้ความสำคัญแก่การพัฒนาทางจิตใจของศาสนิกชน
มากกว่าด้านอื่น แต่ในบางชุมชน พระสงฆ์จำเป็นต้องช่วยเหลือชาวบ้าน
ในเรื่องอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น ในเรื่องการฝึกอาชีพ
และการจัดตั้งสหกรณ์ ปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งในสังคมไทย
ไม่ว่าในสมัยใด คือ ปัญหาความยากจน
ชาวบ้านในชนบทส่วนมากอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร
และมีฐานะความเป็นอยู่แร้นแค้น
จนต้องการให้พระสงฆ์ช่วยเหลือพวกตนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ไม่ใช่เป็นการเทศน์สั่งสอนแต่เพียงอย่างเดียว
ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว
พระสงฆ์พยายามให้ชาวบ้านช่วยเหลือกันเองให้มากที่สุด
และในขณะเดียวกันก็ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่จัดกิจกรรมต่างๆ
ให้ชาวบ้านร่วมมือกันทำ เช่น สร้างถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน
ขุดบ่อน้ำ และจัดตั้งธนาคารข้าว
หลวงพ่อมีความเห็นว่าในระยะแรกนั้น
พระสงฆ์จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือในการดำเนินการต่างๆ
ในฐานะผู้นำ และต้องให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่ไม่ขัด
กับพระธรรมวินัยด้วย นอกจากนั้นเมื่อชาวบ้านสามารถดำเนินการต่างๆ
ได้เองแล้ว พระสงฆ์ควรจะถอยออกมาและมุ่งพัฒนาชาวบ้าน
ด้านจิตใจ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของพระสงฆ์ในการพัฒนาชุมชน
ดังนั้นขอบเขตจำกัดของการช่วยเหลือพัฒนาชุมชนของพระสงฆ์
จึงอยู่ที่การไม่ทำอะไรที่ผิดพระธรรมวินัย
และการถอนตัวออกมาเมื่อชาวบ้านสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับความคิดเห็นของหลวงพ่อ
เกี่ยวกับขอบเขตจำกัดของการช่วยพัฒนาชุมชนของพระสงฆ์
ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจิตใจ
พระสงฆ์ไม่ใช่ “พัฒนากร” หรือ “นักสังคมสงเคราะห์” โดยอาชีพ
ดังนั้นเมื่อได้ช่วยเหลือชาวบ้านให้สามารถช่วยตัวเอง
ให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว
พระสงฆ์จึงควรจะมุ่งมาที่การพัฒนาจิตใจชาวบ้านให้ดีงาม
สัมมาชีพ เยาวชน ภูมิคุ้มกัน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เข้าใจว่า ศาสนาพุทธเน้นความสำคัญ
ของ “สัมมาอาชีวะ” มากเป็นพิเศษ
เพราะมีความสัมพันธ์กับจริยธรรมของสังคม
ไม่ทราบว่าสังคมไทย ปัจจุบันนำความคิดเรื่องนี้
มาใช้มากน้อยเพียงใด
หลวงพ่อ ยอมรับว่า สัมมาอาชีพมีส่วนช่วยส่งเสริมคุณธรรม
และจริยธรรมของคนในสังคม แต่ในปัจจุบันในสังคมชาวพุทธทั่วไป
ไม่เฉพาะแต่ในสังคมไทยเท่านั้น
ผู้ประกอบอาชีพที่เป็นภัยแก่ชีวิตจิตใจของคนในสังคม
มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และถือกันว่าอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพสุจริต
ผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ส่วนมาก มีแต่ความเห็นแก่ตัวและความโลภ
ไม่ได้คำนึงถึงสวัสดิการของคนในสังคมไทย
โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย
ดังนั้นการที่จะห้ามไม่ให้มีอาชีพดังกล่าวเลยคงจะเป็นไปไม่ได้
วิธีการสำคัญที่จะป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกทำลาย
ก็คือ จะต้องใช้ความรักความเอาใจใส่ให้การศึกษา
และให้มีธรรมประจำตัว ซึ่งเป็นเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกัน
ให้แก่เด็กและเยาวชน ดังนั้นครอบครัว โรงเรียน และวัด
ต่างก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้มากและควรจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
เขียนโดย poppywin เมื่อ อาทิตย์, 03/16/2008 – 16:35. | in พุทธศาสนา e-book สนทนาธรรม ณ วัดอัมพวัน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม หลวงพ่อตอบปัญหาปัญญาชนตะวันตก
วันที่เอกสารถูกสร้าง: 16/03/2008
ที่มา: http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10687
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.openbase.in.th/node/3041