๔ ยุคพระสมเด็จ

๔ ยุคพระสมเด็จ

๔ ยุคพระสมเด็จ

สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

ท่านเป็นคน 5 แผ่นดินคือเกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 และมรณภาพในในต้นรัชกาลที่ 5

มีบันทึกเก่า ๆ ตั้งแต่สมัย 80 ปีก่อนเกี่ยวกับตัวท่านและประวัติการสร้างพระ พูดถึงพิมพ์ทรงของพระสมเด็จโตว่ามีถึง 73 พิมพ์

หนังสือพระยุคสมัย 20-30 ปีก่อนก็มีคนเขียนถึงพิมพ์ทรงต่าง ๆ ได้มากมายเช่นกัน

ศึกษาย้อนหลังจะได้ความจริงว่าคนสมัยก่อนที่นิยมเล่นหาพระสมเด็จ “ใจกว้าง” กว่าคนสมัยนี้ เพราะหลักการในการพิจารณาของนั้นอยู่ที่ “เนื้อหา” และให้ความสำคัญของพิมพ์ทรงเป็นลำดับต่อไป

ต้องเข้าใจด้วยสมัย 30 ปีก่อน วงการผู้สนใจพระเครื่องยังไม่ใช่พุทธพาณิชย์ และอยู่ในวงผู้สนใจจำนวนไม่มาก “เนื้อหา” และ “มวลสาร” เปรียบเสมือนตัวแทนของ “พุทธคุณ” ที่บรรจุอยู่ในพระเครื่ององค์น้อยนิด ที่จะอาราธนามาบูชาติดตัวเพื่อคุ้มครองจากภยันอันตรายใดๆ ที่อาจมากร้ำกราย

ไม่ใช่ในสมัยปัจจุบันที่เน้นกันอยู่แค่ไม่กี่พิมพ์ทรงที่ตั้งประเด็นว่าเป็นพระสมเด็จโตเท่านั้น เพื่อจะได้แยกตัวออกจากพิมพ์ทรงหลายๆ ที่มีการเล่นหาและบันทึกไว้ในอดีต

ในยุคนี้เศรษฐกิจเฟื่องฟูนิยมและมีผู้นิยมสะสมพระเครื่องมากมาย “พิมพ์ทรง” ของพระสมเด็จเพียงไม่กี่พิมพ์ มีราคาแพงลิบลับทะลุหลักล้าน ในขณะที่พิมพ์ทรงไม่นิยมหรือไม่มีใครรู้จัก ไม่มีการเล่นหา และตั้งข้อกีดกันในการยอมรับ

ดังนั้นจำนวนพระสมเด็จที่มีมากพิมพ์ทรงสวยงาม จึงมีจำนวนน้อย ทำให้เป็นของหายาก และสร้างค่านิยมที่จะมีราคาแพงลิบลิ่ว ในขณะที่พระสมเด็จแท้ยังมีอีกมากมาย นับหมื่นนับแสนองค์ ซึ่งมีให้ครอบครองในอัตราราคาที่ไม่แพงนัก

ไม่นับพระอีกหลากหลายนับแสนองค์ที่สร้างโดยมวลศิษย์และผู้ใกล้ชิด ที่สืบเจตนารมณ์การสร้างผงวิเศษ และปลุกเสกพระสมเด็จด้วยคาถาชินบัญชรอันเลื่องชื่อ

จากข้อมูลการศึกษาค้นคว้า เราอาจแบ่งยุคการสร้างพระเครื่องของสมเด็จโตไว้ดังนี้

ยุคแรก สารพัดเนื้อ สารพัดพิมพ์

ยุคนี้เป็นยุคที่ท่านทดลองสร้างพระเครื่องเป็นครั้งแรกโดยอาจได้ข้อมูลจากแผ่นทองจากกรุพระกำแพงเพชรที่ท่านได้เจอสมัยเดินธุดงค์ไปทางเหนือ หรืออาจได้ตำราสร้างพระจากอาจารย์แสง วัดมณีชลขันธ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ของท่าน

พิมพ์ทรงมีหลากหลายมีทั้งการนำพระกรุ เช่น นางพญา ขุนแผน พระรอด มาถอดพิมพ์และสร้างพระขึ้นใหม่ ส่วนวัตถุในการสร้างพระมีหลากหลาย ทั้งเนื้อผง เนื้อดิน ผสมผงใบลาน ตลอดจนพระโลหะชนิดต่าง ๆ

ยุคแรกของการสร้างพระของท่านประมาณคร่าวๆ ว่าอยู่ในยุค พ.ศ. 2351 จนถึง 2395

ยุคสอง กำเนิดสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก

ยุคนี้นับจากปี 2395 ที่ท่านถูกรับสั่งให้ตามตัวจากรัชกาลที่ 4 ซึ่งเพิ่งขึ้นครองราชย์ ท่านกลับมาอยู่วัดระฆังหลังจากไปธุดงค์ตามจังหวัดต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 3

ท่านมีเวลาในการสร้างพระเครื่องมากขึ้น และได้กำเนิดพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก อันประกอบไปด้วยครอบแก้วและองค์พระปฏิมาบนฐาน 3 ชั้น นับเป็นประดิษฐกรรมที่แปลกใหม่ของการสร้างพระด้วยเนื้อผง ในรูปแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า และพุทธศิลปตามคติของรัชกาลที่ 4 คือไม่มีมุ่นมวยผมหรือเกศบัวตูม มีแต่พระรัศมีอย่างเดียว

พิมพ์ทรงของสมเด็จยุคนี้ยังเป็นพิมพ์แบบชาวบ้านที่แกะขึ้นถวายรวมทั้งช่างจากชาวบ้านช่างหล่อซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกับวัดระฆัง

ยุคสองนี้ประมาณว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2395 ถึง พ.ศ. 2409

ยุคสาม สวยงามด้วยพิมพ์ทรง

พระสมเด็จยุคนี้คือพระสมเด็จที่มีพิมพ์ทรงสวยงามที่ว่ากันว่าออกแบบโดยหลวงวิจารณ์เจียรนัยที่เป็นช่างหลวง และเป็นพระสมเด็จที่เล่นหาด้วยราคาแพงในปัจจุบันนี้

ตามตำนานยังบอกว่าหลวงวิจารณ์เจียรนัยนอกจากจะออกแบบพิมพ์ทรงที่สวยงามให้สมเด็จโตแล้ว ยังเป็นผู้แนะนำให้สมเด็จโตผสมน้ำมันตังอิ้วในเนื้อพระเพื่อลดการแตกหักหรือเปราะบางในองค์พระรุ่นก่อนๆ

แม้พระยุคนี้จะเป็นพระสมเด็จราคาแพง แต่ข้อสรุปของพิมพ์ทรงยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะปัจจุบันยังมีพระสมเด็จที่ซื้อขายกันด้วยราคาหลักล้านหลายต่อหลายองค์ที่พิมพ์ทรงแตกต่างจากพิมพ์ทรงที่ได้รับความนิยมในยุคแรก และอาจเป็นพระสมเด็จยุคแรกมีเจ้าของครอบครองหมดแล้ว หาพระแบบนั้นอีกไม่ได้ วงการพระเครื่องจึงต้องยกระดับพระสมเด็จหลายพิมพ์จากยุคอื่นให้อยู่ในยุคนี้

ยุคสามแห่งพิมพ์ทรงสวยงามนี้เป็นพระสมเด็จรุ่นสุดท้ายของสมเด็จโต จากปี พ.ศ. 2409 จนถึง พ.ศ. 2415 ที่ท่านมรณภาพ

ยุคสี่ ไม่ทันแต่แท้

พระสมเด็จชุดนี้ไม่ได้สร้างขึ้นโดยสมเด็จโต แต่อาจใช้มวลสารของท่านที่มีเหลืออยู่ พิมพ์ทรงที่ตกค้าง หรือพิมพ์ทรงที่แกะขึ้นใหม่แต่เลียนพิมพ์สวยงามของหลวงวิจารณ์เจียรนัย รวมทั้งพระแปลกตาพิมพ์อื่นๆ

ผู้สร้างอาจเป็นลูกศิษย์โดยตรงของท่าน เช่นพระธรรมถาวร (ช่วง) หรือผู้สืบทอดตำนานการสร้างพระสมเด็จจากสายวัดระฆัง บางขุนพรหม และวัดใกล้เคียงในกรุงเทพฯก็เป็นได้

แน่นอนผงวิเศษที่ผสมและคาถาชินบัญชรที่ใช้ปลุกเสก ล้วนเป็นมรดกทางปัญญาที่สมเด็จโตทิ้งไว้ และสืบทอดต่อ ๆ กันมา

เริ่มต้นจากปีที่ท่านมรณภาพ จนถึงปีที่มีประวัติชัดเจนว่ามีการสร้างพระเนื้อผงพิมพ์สมเด็จขึ้นใหม่ในวัดระฆังโดยหลวงปู่หินในปี พ.ศ. 2482 และหลวงปู่นาคในปี พ.ศ. 2485

ผู้สร้างและพระที่สร้างยังไม่มีใครทราบชัดเจน รวมทั้งพระที่เป็นตำนานอีกชุดหนึ่งคือ พระสมเด็จวัดพระแก้ววังหน้า หรือพระสมเด็จกรุวังหน้า ล้วนจัดอยู่ในยุคนี้ทั้งสิ้น

ยุคนี้เริ่มจากหลังสมเด็จโตมรณภาพในปีพ.ศ. 2415 จนถึง พ.ศ. 2482 เมื่อหลวงปู่หินวัดระฆังสร้างพระตระกูลสมเด็จขึ้นใหม่

บทความอ่านเพิ่มเติม : ต้นธารแห่งพิมพ์ทรง ในถอดรหัสพระสมเด็จ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ขอขอบคุณ : http://www.prakrueng.net/?page_id=97

. . . . . . .