ศิลปะแห่งการใช้สติในทุกกรณี โดย ท่านพุทธทาส ภิกขุ

ศิลปะแห่งการใช้สติในทุกกรณี โดย ท่านพุทธทาส ภิกขุ

หน้าที่ 1 – ศิลปะคืออะไร
ขอให้ท่านทำความเข้าใจในความมุ่งหมายของการบรรยายนี้ให้ถูกต้อง เพราะมีความกำกวมบางอย่างที่อาจจะเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือคำว่า ศิลปะ นั่นเอง ในภาษาไทยคำนี้มันกำกวมไม่ได้รัดกุม เพราะไม่มีคำรัดกุม อาตมาจึงต้องกำกัดความ ของคำว่าศิลปะ ให้เป็นที่แน่นอน อย่าให้กำกวมมากเกินไปด้งที่ได้กล่าวมาแล้วในครั้งก่อนๆ ว่า ศิลปะนั้น ความหมายสำคัญอยู่ที่ความงาม และความเป็นสิ่งที่ต้องใช้ฝีมือ คือทำยาก และให้สำเร็จประโยชน์จนถึงที่สุดในความมุ่งหมายแห่งเรื่องนั้นๆ เพราะว่าศิลปะบนสุดต้องเป็นอย่างนี้

แต่ว่าเดี๋ยวนี้ในภาษาไทย คำว่าศิลปะเอาไปใช้ในความหมายหลอกลวงก็ได้ ขี้โกง เป็นเพียงศิลปะไม่ใช่ของจริง นี่เพราะภาษากำกวม ศิลปะโกง ศิลปะทำปลอม เป็นศิลปะเทียม หรือจะต้องเรียกว่า เทียมศิลปะ ไม่ใช่ศิลปะ เป็นของทำขึ้นเพื่อเทียมศิลปะ หลอกตาว่างาม ว่ายาก ว่าปราณีต ว่ามีประโยชน์ ฉะนั้นขอให้ท่านเอาความหมายให้ถูกต้อง ถ้าเป็นภาษาอังกฤษมันง่าย เพราะจำกัดไว้ชัด คำว่า ART แปลว่า ศิลปะ ที่มีความหมาย ดี มีความงาม มีความยากและมีประโยชน์ ถ้าเทียมศิลปะนั้นก็มีคำว่า Artificial แปลว่า ทำเทียมศิลปะ ไม่ใช่ศิลปะ ถ้าเป็นศิลปะขนาดสูงสุดเขาก็มีคำว่า Artistic ขนาดแห่งความมีศิลปะที่สูงสุด เขามีคำใช้จำกัดตายตัวกันอยู่อย่างนั้นไม่ปนกัน ภาษาไทยเราอะไรก็ศิลปะ เพราะเปิดไว้กว้าง จะจริงก็ได้ปลอมก็ได้ โดยมากเดี๋ยวนี้คนมักมองในทางที่มันเป็นของปลอม คือ เทียมศิลปะ จึงขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่า ศิลปะไม่ใช่เรื่องหลอก เรื่องลวง เรื่องตบตา เรื่องปลอมเทียมอะไร มันให้สำเร็จประโยชน์แต่ต้องยิ่งไปกว่าธรรมดาคือต้องมีความงามงามด้วย ถ้าเราเอากันตามธรรมดาไม่ต้องการความงามก็ได้ ถ้าเป็นศิลปะจริงมันต้องมีปราณีตละเอียดทำยากยิ่งด้วย และก็เลยมีปัญหา เช่นว่าทำไม้กลับปิ้งปลา เดี๋ยวก็จะเอากระดาษทรายมาขัด เพื่อว่าให้มันงามเป็นศิลปะ อย่างนี้มันก็บ้า เพราะว่าไม่ใช่เรื่องต้องทำถึงขนาดนั้น ศิลปะที่ทำไม้ปิ้งปลา แค่ผ่าออกมาเพื่อให้ปิ้งปลาได้ ก็เป็นศิลปะพออยู่ในตัวได้ ไม่ต้องเอากระดาษทรายมาขัด ไม่ต้องเอาน้ำมันทา จึงขอให้จำกัดขอบเขตความหมายของคำว่าศิลปะไว้ให้พอดีๆ คือว่าเราจะมองกันในแง่ธรรมดาๆ ก็ให้เห็นว่ามันมีความงาม ชนิดที่ทำความพอใจ ไม่ต้องเป็นไปในทางรูปร่างสีสันอะไรนัก แต่มันทำความพอใจ ทำความสำเร็จประโยชน์ ทำด้วยฝีมือ ยกตัวอย่างเช่นว่า ศิลปะการทำฟัน การทำฟันนี่มันไม่เป็นเรื่องของหมอ แต่กลายเป็นเรื่องของศิลปินไปเสียแล้ว เพราะว่าทำฟัน ต้องทำให้ดี ถึงขนาดที่เรียกว่าไม่เจ็บเลย ไม่เป็นอันตรายนั้นแน่นอน และยังต้องทำให้ไม่เจ็บจนเด็กๆ ก็ไม่ต้องร้องไห้ การทำฟันนั้นเลยกลายเป็นศิลปะเลยไปกว่าเรื่องของหมอล้วนๆ ท่านที่เป็นหมอฟันก็กลายเป็น ทันตศิลปินไป ถ้าท่านสังเกตในข้อนี้ก็จะพบว่า ศิลปะคืออะไร มันให้ประโยชน์ตรงตามความต้องการ และยังสวยงามจับใจ และมันยังเป็นของปราณีตละเอียดอ่อนด้วย ดูเถิดว่า อะไรเป็นศิลปะอย่างยิ่ง อาตมาจะระบุไปยังสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ หรือพระธรรม พระธรรมงามอย่างยิ่ง มีแต่คนโง่เท่านั้นแหละ หรือจะอยู่ในพุทธบริษัทเราก็ได้ ที่มองเห็นว่าพระธรรมไม่ใช่ของงาม เพราะคนมันมีหัวใจหยาบกระด้าง ต่ำมาแต่กำเนิด คนชนิดนี้แม้จะมาบวชเป็นพระเป็นเณร แล้วก็ยังไม่เห็นว่าพระธรรมเป็นของงาม เพราะมันไม่มีหัวศิลปะเอาเสียเลย ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พระธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลายไม่มีความหมายสำหรับคนชนิดนี้ แต่ถ้าว่าเขามีสติปัญญา เป็นตามความหมายของคำว่า พุทธบริษัท คือกลุ่มชนผู้มีความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน พระธรรมก็จะมีความหมายไปในทางความงาม ยิ่งกว่าสิ่งใด ขอให้สนใจหน่อยว่ายิ่งกว่าสิ่งใด ไม่มีอะไรจะงดงามเท่ากับพระธรรม ความมีพระธรรม

หน้าที่ 2 – พระธรรมก็คือศิลปะ
เดี๋ยวก็จะได้ดูกันเป็นเรื่องๆไปว่ามันความงามอย่างไร ทีนี้นอกจากงามแล้วยังเป็นของละเอียดอ่อน ต้องทำอย่างมีฝีไม้ลายมือ เช่นว่า จะทำสมาธิบังคับจิตให้ได้ อย่างนี้มันต้องละเอียดอ่อนต้องมีฝีมือยิ่งกว่าหมอฝันหรือทันตศิลปินเป็นอันมาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องทางจิตใจมันละเอียดอ่อนกว่าเรื่องทางวัตถุ ที่ว่ามันสำเร็จประโยชน์มันสำเร็จประโยชน์ยิ่งกว่าสิ่งใด บรรดาสิ่งที่ให้สำเร็จประโยชน์แก่มนุษย์เราแล้วไม่มีสิ่งใดจะให้สำเร็จประโยชน์มากเท่าธรรมะหรือพระธรรม ดังนั้นพระธรรมจึงมีความงามมีความละเอียดอ่อนในความประพฤติ และมีความสำเร็จประโยชน์สูงสุด พระธรรมก็คือศิลปะ

ศิลปะแท้จริงก็คือพระธรรม เรารู้จักพระธรรมกันในแง่นี้หรือเปล่า ที่แล้วๆ มาเราสนใจกันแต่เรื่องมีประโยชน์ดับทุกข์ได้ แต่ไม่ค่อยคำนึงถึงความงาม ดังนั้นมันจึงโง่ เราไม่ได้คำนึงถึงความละเอียดอ่อน ดังนั้นจึงทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ เพราะมันทำหยาบๆ มันมีนิสัยทำหยาบๆ หวัดๆ มาตั้งแต่เกิด มันก็มาทำกันไม่ได้กันกับพระธรรม และก็ไม่รู้จักมุ่งหมายความงดงามด้วย มันก็เข้ารูปกันยาก มันไม่เข้ารูป มันไม่ถูกฝังถูกตัวกันอย่างนี้อีก ธรรมะก็ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ยบุคคลชนิดนี้ ซึ่งมันไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรือความพอใจในสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะ เมื่อพระธรรมเป็นศิลปะอย่างเต็มตัว คนที่ไม่รู้เรื่องศิลปะมันก็รู้เรื่องพระธรรมไม่ได้ จึงขอให้สนใจคำว่า ศิลปะกันให้ถูกต้องและเต็มที่ เดี๋ยวนี้อาตมายังเติมคำว่าปรมัฏฐเข้าไปข้างหน้าด้วยเป็น ปรมัฏฐศิลปะ ก็คือศิลปะที่มีความหมายอย่างยิ่ง มีประโยชน์อย่างยิ่ง ถึงที่ยิ่ง ถึงที่สุด และก็ระบุเฉพาะในด้านการครองชีวิต ไม่ใช่เรื่องการขีดเขียน การระบายสี การตกแต่ง การกระทำอย่างวัตถุภายนอก เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องในจิตใจในภายใน นี่สรุปความว่า ถ้าไม่งามก็ไม่ใช่ศิลปะ แม้จะดีมีประโยชน์อย่างไรก็ไม่ใช่ศิลปะ ต้องงามถึงจะเป็นศิลปะ เพราะใจความสำคัญมันอยู่ที่นั่น คำว่างดงามมันหมายถึงค่า ที่เป็นไปในทางความสุขด้วยเหมือนกัน เพราะว่าสิ่งใดงามย่อมทำความพอใจ สบายใจให้แก่บุคคลนั้นๆ เพราะว่ามันจะเป็นสัญชาตญาณได้ นี่อาตมาคาดคะเนเอาว่า ความรู้สึกว่างามและเป็นสุขนี่มันเป็นสัญชาตญาณโดยไม่ต้องมาศึกษาอะไรกันอีก แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันยังรู้จักชอบงาม เมื่อได้สถานที่ที่งดงามมันก็โลดเต้นกันใหญ่ แม้แต่ไก่ได้ที่ที่สะดวกสบายงดงามมันก็คึกคะนองกันใหญ่ บินขึ้นบินลง ขันแล้วขันอีก แค่เรียกว่าความงามทางจิตใจนี่มันก็เป็นเรื่องที่ต้องการผลทางจิตใจ ถ้าได้มาก็เป็นเรื่องประเล้าประโลมใจที่ดีที่มีประโยชน์ จิตใจของคนเราต้องการสิ่งประเล้าประโลมใจ นี่ขาดไม่ได้ ถ้าขาดแล้วมันเหงา มันไม่สมบูรณ์ คือมันไม่มีความสุขนั่นแหละ นั้นต้องมีสิ่งประเล้าประโลมใจ ที่นี้คนโง่เขาก็ไปเอาอะบายมุข ดืมน้ำเมา เล่นมหรสพไปตามเรื่องที่เป็นสิ่งประเล้าประโลมใจ มันก็ประเล้าประโลมไปตามแบบนั้น ผลที่ได้มันก็ไม่ใช่ความสงบสุข ถ้ามันประเล้าประโลมใจไปในทางยั่วยุ มันสงบไม่ลง ที่พุทธบริษัทเราต้องการความงามอย่างแท้จริงมาเป็นเครื่องประเล้าประโลมใจ เช่น คุณค่าของพระธรรม ที่มีความงามในทางศิลปะอย่างที่กล่าวแล้ว มาเป็นสิ่งประเล้าประโลมใจ พุทธบริษัทจึงสบายใจ สงบสุขอยู่ได้ด้วยธรรมะ โดยไม่ต้องไปดูหนังดูละคร ไม่ต้องกินเหล้าเมายา ไม่ต้องลุกขึ้นเต้นรำ หรือไม่ต้องทำอะไรอย่างที่อวิชาพาไป เหมือนคนส่วนมากในโลก นี่เป็นการชี้ให้เห็นในแง่ที่ว่า ชีวิตมันต้องการสิ่งประเล้าประโลมใจในทางความงาม และความงามนั้นต้องเป็นไปในทางที่ถูกต้อง คือเป็นไปด้วยความสงบสุข ถ้ามันประเล้าประโลมใจไปในทางฟุ้งซ่านให้กำเริบแล้วมันก็ผิด คือมันได้ผลไปในทางยุ่งยาก ลำบาก ไม่มีความสงบ นั้นความสงบนั่นแหละกลับเป็นความงาม เราดูคนที่มีความสงบเสงี่ยม เรารู้สึกว่างาม ไอ้คนที่แต่งเนื้อแต่งตัวสวย หาความสงบเสงี่ยมไม่ได้ แล้วก็ดูเป็นคนบ้าหรือคนไม่น่าไว้ใจ นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติแท้ๆ ถ้ามีความผิดพลาดอย่างใดๆ ที่เรียกว่าเป็นบาปเป็นอกุศลปรากฎอยู่พุทธบริษัทก็จะเห็นว่ามันไม่งาม แต่คนโง่ ปุถุชนธรรมดาสามัญอาจจะเห็นเป็นงามไปก็ได้ เดี๋ยวนี้เราเอาพุทธบริษัทเป็นหลักกันดีกว่า ไม่ผิดพลาด ไม่ถูกต้องหรือเป็นกิเลสนี่มันไม่งาม แต่มันตรงกันข้าม เมื่อไม่มีกิเลสนี่มันมีความถูกต้องเราก็เห็นว่ามันงามหรือว่ามันมีศิลปะ เมื่อเวลามีกิเลสก็คือไม่มีศิลปะเพราะไม่มีความงาม เมื่อเวลาไม่มีกิเลสก็มีศิลปะเพราะว่ามันงาม นี่งามในทางธรรมเป็นแบบนี้ไม่ใช่งามในทางวัตถุรูปร่างในภายนอก หรืองามเพราะกิเลสชวนให้เป็นว่างาม

หน้าที่ 3 – ธรรมะ
นี่เราต้องการความงามที่แท้จริง คือ ธรรมะ ธรรมะคือความงาม ความงามคือธรรมะ และก็มีวิธีการที่จะทำให้ได้ตามนั้น ความไม่มีกิเลสเป็นความงาม เพราะการทำให้ไม่มีกิเลสก็เป็นศิลปะ วิธีที่ทำให้ไม่มีกิเลสเป็นศิลปะเพราะว่ามันทำยาก และมันมีความงามอยู่ในตัวมันเอง เราจึงหลีกไอ้สิ่งที่เรียกว่าศิลปะนี้ไม่พ้น ไม่ว่าเราจะรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัว เราไม่รู้สึกตัวเราก็ไม่สนใจกับสิ่งที่เรียกว่าศิลปะ

อย่างที่ท่านทั้งหลายโดยมากก็เป็นอย่างนั้น ยกเอาเรื่องของศิลปะให้เป็นเรื่องหลอกลวง เป็นเรื่องหลอกคนเอาสตางค์อย่างนั้นไปเสีย นี่มันเข้าใจผิดกันอยู่ ถ้าเข้าใจถูกจับใจความของพระธรรมให้ได้ตรงที่มีความงามแล้ว บางคนก็จะมีความพอใจในศิลปะ คือการทำให้มันงาม โดยการใช้พระธรรมให้ถูกต้อง เรื่องนี้มันสำคัญอยู่ที่ความมีสติ ถ้ามีสติพอมันก็สามารถจะทำได้ ในการที่จะรักษาไว้ซึ่งความงามในทุกแง่ทุกมุมของธรรมะที่เกี่ยวกับชีวิตของเราในทุกๆ กรณี ในทุกๆ ขั้นตอน และในทุกๆ คนด้วย อาตมาพูดอย่างนี้ว่าทุกๆ คนด้วยไม่ว่า คฤหัส บรรพชิต ไม่ว่าเด็กเล็กผู้ใหญ่ผู้เฒ่า มีความจำเป็นที่ต้องรู้จักทำให้ชีวิตนี้ประกอบด้วยความงาม ก็คือมีพระธรรม เหมือนกับว่าพระธรรมนี่มันจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกขั้นตอนแห่งวัฒนการของเขาทีเดียว เอาละ เป็นอันจำกัดความได้ว่า ถ้าเป็นศิลปะแล้วก็ต้องงาม ต้องเป็นงานฝีมืออันละเอียดและสำเร็จประโยชน์ถึงที่สุดในความหมายนั้นๆ ถ้าไม่งามก็ไม่ใช่ศิลปะ เช่น กินข้าวมูมมาม ซู๊ดซ๊าด อันนี้งามหรือไม่งาม ตามธรรมดาก็จะถือว่ามันไม่งาม นั่นก็เพราะว่ามันไม่มีศิลปะในการกินอาหารนั่นเอง ถ้าว่ากินเรียบร้อยเหมือนอย่างพระที่ถือวินัยมันก็งาม ก็คือมีศิลปะ ที่มีธรรมะ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะ นั้นเรามาพิจารณาดูกันในข้อนี้ว่าทำอย่างไรจึงจะรักษาไว้ได้ซึ่งความงาม บางคนอาจจะคิดว่า อาตมาหมายความว่า ความงามมันมีอยู่แล้วไม่ต้องสร้างขึ้นมา เราเพียงแต่รักษาอย่างนั้นหรืออย่างไร อาตมาก็จะพูดว่าอย่างนั้นแหละ ยืนยันว่าอย่างนั้นแหละ ความถูกต้องนี้มันมีอยู่โดยธรรมชาติ ความสงบมีอยู่โดยธรรมชาติ ความวุ่นวายความไม่ถูกต้องนี้พึ่งมี ถ้าเรารู้จักธรรมชาติของจิต เราจะรู้ตามพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสไว้ว่า จิตนี้มีปกติประภัสสร คือ ใส ผ่องใสไปตามธรรมชาติ และเศร้าหมองเมื่ออุปกิเลสจรเข้ามา เหมือนกับว่าเพชรนี้มันมีน้ำที่ใส น้ำเพชรที่สวยงามอยู่ในเพชร ถ้ามีอะไรมาปิดบังเสียมันก็ไม่ปรากฎ มันก็ไม่งาม แม้ว่าธรรมชาติเดิมของมันจะงาม เช่น ความที่ยังไม่ได้เจียระไน ยังมีผิวขรุขระ มันก็ไม่งามเพราะว่าความยังไม่ได้เจียระไนบังไว้เสีย หรือเจียระไนแล้วแต่ว่ามันเปลื้อนโคลน เปลื้อนสี เปลื้อนของสกปรก มันก็ไม่งามเหมือนกัน เราถือว่าโดยธรรมชาตินี่ จิตนี้เป็นประภัสสร งาม และก็เสียความงามไปเมื่อมีกิเลสในทางเศร้าหมองเข้ามาปกปิด ความมีกิเลสจึงไม่งาม ความไม่มีกิเลสจึงมีความงามอยู่โดยธรรมชาติ ใครๆก็ไปลองคิดดูไม่ต้องลึกซึ้งอะไรนัก เมื่อจิตมีกิเลสเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อจิตไม่มีกิเลสต่างกันอย่างไร พอจะสังเกตได้ด้วยกันว่า เมื่อจิตแจ่มใส สะอาด สว่าง สงบเย็น นี้เป็นความงามอย่างยิ่ง ถ้ามันสกปรก มืดมัว และเล่าร้อน มันก็หาความงามมิได้เลย เรารักษาอย่าให้มันเกิดสกปรก มืดมัว เล่าร้อนขึ้นมา ให้คงสภาพปกติประภัสสร สะอาด สว่าง สงบ อยู่ตามธรรมชาติเดิม ที่ว่าอบรมจิตนั้นก็คือ อบรมจิตชนิดที่อย่าให้โอกาสแก่กิเลสเกิดขึ้น อบรมเรื่อยไปให้จิตนี้สามารถป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น และประภัสสรของจิตนี้ก็ตายตัวลงเป็นพระนิพพาน เพราะว่ามันประภัสสรตลอดกาลโดยประการทั้งปวง เราถือว่า ความสงบเป็นของเดิม ความวุ่นวายโกลาหลนี้เป็นของใหม่ และก็ไม่งาม รักษาสภาพเดิมที่งดงามเอาไว้ให้ได้ ก็คือมีธรรมะ การใช้สตินี้ ใช้เพื่อรักษาสภาพปกติ จะได้รักษาสภาพที่ถูกต้องไว้ได้ ถ้าเราไม่มีสติ ก็ไม่อะไรจะเป็นเครื่องรักษา นี้เป็นหลักสำคัญตายตัวสั้นๆ ว่าสติเป็นเครื่องรักษา ถ้าเราไม่มีสติแล้วไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับการรักษา คำว่ารักษา นี้หมายถึง ทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับให้คงสภาพเดิม เดี๋ยวนี้ถ้าเรารักษาไว้ได้ มันก็งาม ความงามนั้นก็มีได้เพราะว่ามีสติในการรักษา ภิกษุ สามเณร จะมีศีลาจารวัฒงดงามน่าเลื่อมใส ก็เพราะมีสติในการรักษา การที่มีศีลปะอยู่ได้ก็เพราะมีสติในการรักษา ดั้งนั้นเราควรที่จะพูดกันให้ละเอียดละออสักครั้งหนึ่ง

หน้าที่ 4 – นรก เดรัชฉาน เปรต อสูรกาย
ว่า จะใช้สติอย่างไร ที่จะได้ยกมาตั้วไว้ข้างต้นสำหรับวันนี้ว่า ศิลปะแห่งการใช้สติในทุกกรณี การใช้สติก็เพื่อให้มีศิลปะ ก็เป็นศิลปะแห่งการใช้สติ และเราก็จะสามารถควบคุมพฤติกรรมต่างๆ ทุกอย่างในชีวิตของเราให้เป็นไปอย่างมีความงาม ตามความหมายคำว่า ธรรมะ หรือ ศิลปะนั่นเอง

พูดถึงความงาม ก็จะแยกออกไปได้หลายอย่างหลายประการที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของคนเรา ซึ่งในที่นี้ใช้ทุกกรณี ทุกขั้นตอนหรือทุกคน จะต้องทำอย่างไรจึงจะมีความงาม ข้อแรกที่สุดอยากจะระบุไปยังความไม่มีลักษณะแห่งอบาย หรือจะเรียกว่า ไม่มีอบายมุขก็ได้เหมือนกัน คำว่าอบายมุขแปลว่าปากทางแห่งความเสื่อม และก็มีคำประกอบเข้ามาว่า เสื่อมแห่งอะไร ถ้าเสื่อมแห่งทรัพย์สมบัติ ก็เป็นธรรมธรรมดา ภาษาคนธรรมดา อบายมุขคือปากทางแห่งความเสื่อมของทรัพย์สมบัติ ถ้าเป็นภาษาพิเศษที่สูงขึ้นไป ที่เรียกว่า ภาษาธรรม ก็จะระบุไปยังความเสื่อมแห่งความเป็นมนุนษ์ คือความเป็นมนุษย์ร่อยหลอไป มันเสื่อมไป หรือมันหายไป และมันงามหรือไม่งามขอให้ลองคิดดู เรามีสติในการจะรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ไม่ให้เสื่อม ก็คือความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แล้วมันจะงามหรือไม่งามก็ขอให้ลองคิดดู พร้อมกันนั้นก็จะรู้ความหมายของคำว่า งามในทางธรรม หรือทางภาษาธรรมด้วยพร้อมกันไปในตัว และคำว่า อบาย ที่แปลว่าความเสื่อม เล็งถึงความเสื่อมแห่งความเป็นมนุษย์นั้น ก็ถือเอาตามหลักที่รู้กันอยู่ทั่วๆไป ว่า อบายทั้ง 4 คือ นรก เดรัชฉาน เปรต อสูรกาย ลำดับนี้อาจจะเรียงอย่างอื่นก็ได้แต่อาตมาถนัดที่จะเรียงอย่างนี้ว่า นรก เดรัชฉาน เปรต อสูรกาย นรก คือ ความร้อนใจ ทุกร้อนอยู่ในใจ เหมือนกับไฟเข้าไปลุกอยู่ในอก ในใจ มันงามหรือไม่งาม เดรัชฉานนั้นคือ ความโง่ โง่จนเหลือประมาณ โง่จนไม่รู้จะโง่กันอย่างไร เมื่อมันโง่อย่างนี้มันงามหรือไม่งาม เปรต คือ ความหิว มีกิเลสตันหาสำหรับจะหิว มีจิตมีวิญญาณอันหิว หิวเหมือนจะขาดใจ ก็ดูเอาเถอะว่ามันงามหรือไม่งาม อสูรกาย คือ ความขี้ขลาด ขี้ขลาดเหลือประมาณ เนื่องมาจากความโง่มันเหลือประมาณแล้วมันก็ขี้ขลาดเหลือประมาณ ก็คิดไปได้มากจนไปขลาดในสิ่งที่ไม่ควรจะขลาด อย่างนี้ก็เรียกเป็นอสูรกาย คิดดูเอาเถอะว่ามันงามหรือไม่งาม ที่เราจะมีสติแก้ไขความไม่งาม ทำให้มันงาม นี่เรียกว่า ศิลปะแห่งการใช้สติในกรณีอันเกี่ยวกับอบายทั้ง 4 ไม่ทำผิด ไม่ประกอบกรรมชั่วให้เกิดนรกแห่งความร้อน ไม่ให้ความโง่ครอบงำจนมีลักษณะแห่งสัตว์เดรัชฉาน ไม่หิวที่จะได้สิ่งตามที่ตนหวังด้วยความโง่ ไอ้ความหวังที่ทำไปด้วยความโง่ไม่ได้ทำด้วยสติปัญญา มันจึงหิวชนิดแผดเผาจิตแผดเผาวิญญาณ เป็นเรื่องกิเลสตัณหา เรื่องกามารมณ์ มันหิวอย่างไร มันหิวเท่าไหร่ก็พอจะเข้าใจกันได้ เรียกว่ามันไม่งาม เป็นเปรตแล้วมันจะงามได้อย่างไร มันเป็นอสูรกายที่ขลาดมันก็แสดงอาการแห่งคนขลาดออกมา ทั้งน่าเกลียด น่าชัง น่าหัวเราะ และน่าตำหนิ น่าดูหมิ่น มันงามไม่ได้ นั้นมีสติให้ดีให้พอหรือให้ถูกต้อง ให้เพียงพอ ไม่ทำผิดถึงกับร้อนใจเหมือนไฟเผา หรือถ้าหากว่าความร้อนใจเหมือนไฟเผานั้นมันจับพลัดจับผลูเข้ามาโดยบังเอิน เพราะว่าเราไม่ได้ทำ เราก็ยังมีธรรมะที่จะสลัดออกไป ไม่เอามาร้อนอกร้อนใจ โดยเห็นว่ามันเช่นนั้นเองในโลกนี้ ก็ไม่ต้องตกนรก มันก็ไม่สูญเสียความงามของจิตใจในข้อแรก ที่นี้เรื่องเกี่ยวกับความโง่นั้นมันลำบากสักหน่อย ถ้าการศึกษาไม่พอ มันก็โง่ แต่ในทางธรรมะนี้มันไม่มากมายเหมือนอย่างทางโลก และมันต้องการที่จะดับทุกข์ทั้งนั้นแล ถ้าดับทุกข์ได้มันก็เรียกว่ามีความรู้พอ นั้นเราก็รู้พอจะดับทุกข์ได้ เราก็พ้นจากความโง่ในความเป็นพุทธบริษัท และก็เปรต คือ ความหิวนี้ มันรู้ว่ามันไม่มีอะไรที่ต้องหิว ถ้าต้องการอะไรก็ไม่ต้องหิวไม่ต้องหวัง ทำไปด้วยสติปัญญา ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยปัญญา อย่าทำด้วยความหวัง นั่นแหละเป็นเคร็ดที่สำคัญอย่างยิ่ง ขอให้ทุกคนกำหนดจดจำ

หน้าที่ 5 – ความงามในการดำรงชีพ
ใส่ใจไว้ว่า อย่าทำด้วยความหวัง อย่าทำด้วยความหิว จงทำด้วยสติปัญญา เท่านั้นเอง ทำไปพรางสนุกไปพราง ไม่ต้องหิว ไม่ต้องหวังต่อผลสำเร็จ นี่คือศิลปแห่งการขจัดเสียซึ่งความเป็นเปรต ให้มันหมดสิ้นไปมันจะได้งดงาม

ที่นี้สำหรับความขลาดนั้น ถ้าความรู้เรื่องตัวตนมันไม่พอมันก็ยึดถือตัวตนของตนมากเกินไป มันก็กลัวไปหมดทุกอย่าง ขอเล็กนิดเดียวมันก็มากลัวด้วยมากมายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต แสดงความขลาดออกมาให้คนอื่นหัวเราะเยาะ แต่ถ้าเรารู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรผิด อะไรถูก อะไรควร อะไรไม่ควร ตัวตนเป็นเรื่องของความยึดถือ อย่างนี้แล้ว มันก็ไม่ขลาดเป็นแน่ มันก็จะดำรงตัวอยู่ได้ในลักษณะที่พอดี คือ ไม่ต้องขลาด นั้นเราก็ยังมีความงาม เพราะว่า ไม่ตกลงในอบาย ไม่อยู่ในอบาย ไม่มีลักษณะแห่งอบายเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีความงาม มีสติในการในการที่จะหวลจะได้จากอบายทั้งปวง ก็เรียกว่ามีความงามในการละเสียได้ซึ่งอบาย อบาย 4 อย่างนี้ไม่มีแล้ว ความเสื่อมแห่งความเป็นมนุษย์ก็ไม่มีแล้ว ความเสื่อมแห่งทรัพย์สมบัติจะมีได้อย่างไร ก็มันทำไอ้สิ่งที่มใหญ่กว่าสำคัญกว่าถูกต้องเสียแล้ว เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มีทางที่จะผิดพลาดได้ ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตดูให้ดีว่า อบาย อบายนี้เป็นเรื่องของความเสื่อม ถ้าเป็นเรื่องความเสื่อมทางทรัพย์สมบัตินั้นมันเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องชาวบ้าน แต่ถ้ามันเป็นความเสื่อมของความมนุษย์นั้นนะเป็นเรื่องของบัณฑิตนักปราชญ์ของพระอริยเจ้า เขาพยายามไม่ยอมเสื่อมจากความเป็นมนุษย์ แม้จะต้องเสื่อมจากทรัพย์สมบัติ ก็รักษาเอาความเป็นมนุษย์ไว้ได้ ไม่มีความเสื่อมของความเป็นมนุษย์ อย่างนี้เรียกว่า มันเป็นความงาม มีสติพอแล้วก็รักษาความงามอันนี้ไว้ได้ นั้นเรามาฝึกฝนศิลปะแห่งความมีสติ การใช้สติป้องกันไม่ให้อบายทั้ง 4 ประการนี้มาย่ำยีหรือมาแผ่วพาลได้ เป็นข้อที่ 1 ที่นี่ข้อที่ 2 ความงามในการดำรงชีพ ในความหมายธรรมดา ในการแสดงหาทรัพย์สมบัติก็ดี การบริโภคทรัพย์สมบัติก็ดี การเก็บรักษามีสะสมไว้ก็ดี สามประการนี้ต้องมีความถูกต้องจนถึงจะเรียกว่ามีความงดงาม หาทรัพย์อย่างงดงาม บริโภคทรัพย์อย่างงดงาม สะสมทรัพย์อย่างงดงาม ใครทำได้อย่างนี้หรือเปล่า ในการแสวงหาทรัพย์อย่างงดงาม มันต้องเป็นสัมมาอาชีวะ ไม่ใช่เรื่องลัก เรื่องขโมย เรื่องคอลัปชั่น เรื่องอะไรที่ว่าเอาแต่ได้แล้วการผิดถูกไม่รู้ นี่มันเป็นการแสวงหาที่น่าเกลียด น่าชัง ไม่มีความงดงามแต่คนก็แสวงหากันโดยมาก นั้นไปศึกษาดูให้ดีว่าจะไปแสวงหาทรัพย์สมบัติกันอย่างไร เว้นเสียได้จากความผิดพลาดในทางศีล ในทางธรรม ในทางกฎหมาย ในทางอะไรทุกอย่าง ที่ว่าหาทรัพย์อย่างงดงามนี้ อาตมาอยากจะเสนอแนะว่า ในการหาทรัพย์นั้นเอง ถ้าฉลาดจริงๆ แล้ว มันต้องทำให้มีความสุขได้ด้วย โดยทั่วไปคนจะมองเห็นหรือยึดถือเสียว่า ถ้าหาทรัพย์มันก็เหน็ดเหนื่อย เหงื่อไหลไครย้อย ทนทุกข์ทรมานอย่างนี้ มันเป็นการหาทรัพย์ที่ไม่งดงาม เป็นเรื่องของคนโง่ เป็นเรื่องของคนไม่มีศิลปะ ถ้ามีศิลปะมันต้องหาทรัพย์ได้อย่างสนุกสนาน มีความสุขอยู่ในการหาทรัพย์นั้น จะยกตัวอย่างเรื่องสามัญธรรมดาและต่ำต้อยที่สุด ว่าเป็นชาวนา เลี้ยงควายก็พอใจ สนุกอยู่กับควาย เมื่อเห็นแม่ควายกินหญ้าลูกควายกินนม ก็สบายใจเหลือประมาณ เพราะมันเป็นคนมีธรรมะ ไม่มีกิเลสตัณหาครอบงำใจ มันจึงไม่ต้องการจะไปกินเหล้าเมายาที่ไหนเพื่อให้มีความสุข เมื่อเห็นแม่ควายกินหญ้าลูกควายกินนมมันก็ชื่นอกชื่นใจ สบายใจ สบายตาแล้ว นี่คือเรียกว่า เลี้ยงควายก็มีความสุข เป็นศิลปะอยู่ในการเลี้ยงควาย เอาควายมาไถนาก็มีความสุขอยู่กับคันไถนั้นเอง มันมีจิตใจสำนึกอยู่ในหน้าที่ของมนุษย์ รู้สึกว่าเราได้ทำหน้าที่ของมนุษย์แล้วก็เป็นการประพฤติธรรม นั้นประพฤติธรรมเมื่อจับไถไถนาอยู่ ไม่ต้องดินรนในจิตใจ เขาว่ามันจะไปพักผ่อน มันจะไปเที่ยวสนุก มันจะไปกินเหล้าเมายา มันเป็นสุขเพราะมันรู้สึกว่าไอ้การทำงานคือการปฏิบัติธรรม เมื่อเป็นสุขตลอดเวลาที่ไถนา หรือว่าต้องขุดนามันฟันลงไปด้วยจอบทุกที มันก็สำนึกว่านี่เราทำหน้าที่ที่ถูกต้อง เป็นการประพฤติธรรม เราฟันลงไปทีหนึ่งงานมันก็เสร็จไปทีหนึ่ง ฟันทีหนึ่งงานก็เสร็จทีหนึ่ง งานเราก็กำลังเสร็จกำลังก้าวหน้าทุกทีที่เราฟันลงไป มันก็มีความพอใจมีความสุขอยู่ในการขุดนา นี้ต่อไปจะเป็นการ ทำอะไร จะเป็นเรื่องของการคราด การดำ การหว่าน การอะไรก็อยู่ในความพอใจทั้งนั้น ข้าวออกรวงมาก็ไม่ค่อยได้สนใจนักพ่อบ้านเพราะว่าเป็นเรื่องของแม่บ้านเขาเอาไปขาย ไอ้เรามันพอใจมีความสุขเสียแล้วเมื่อได้ทำนา นั้นขายข้าวได้เงินเท่าไรเราก็ไม่รู้ไม่ชี้นั้นเป็นเรื่องของแม่บ้าน พ่อบ้านก็ไปมีความสุขกับแม่ควายกินหญ้าลูกควายกินนมต่อไปอีก ชีวิตนี้ก็ไม่มีความทุกข์ มันเป็นการรับประกันความไม่ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ คือมันต้องได้ผล

หน้าที่ 6 – การบริโภคใช้สอยทรัพย์
แล้วเราก็มีความสุขตลอดเวลา มีดวงตาแจ่มใสพอใจในความมีชีวิตของตน นี่เรียกว่าศิลปะที่ทำให้มีความงามอยู่ในเนื้อในตัว ที่กาย ที่วาจา ที่ใจของชาวนาคนนั้น นี่ก็มาเห็นว่าเป็นความงามอย่างมีธรรมะ ธรรมะที่มีอยู่ที่คนคนนั้นมันเป็นความงาม ธรรมะกับศิลปะจึงเป็นอันเดียวกันอย่างนี้

ถ้าชาวนาของเราทุกคน เป็นชาวนามีธรรมะ ศิลปะ อย่างนี้แล้ว ก็จะอยู่กันฝาสุข ไม่ต้องไปเบียดเบียนใครที่ไหน ไม่ต้องสร้างความขัดแย้งกระทบกระทั่งขึ้นมาแต่ไท มันก็เลยยิ่งงามใหญ่ มันงามทั้งพวกแห่งชาวนา งามทั้งหมู่บ้านแห่งชาวนา เย็นตาเย็นใจแก่บุคคลผู้ได้พบเห็น นี่เรียกว่าการแสวงหาทรัพย์ก็มีศิลปะคือความงาม แต่ทีนี้การบริโภคใช้สอยทรัพย์นั้น ถ้ามันใช้ไปในทางอบายมุขมันก็ไม่มีส่วนที่จะงาม นั้นถ้าใช้ไปอย่างถูกต้องมันก็งาม ไม่มีเรื่องกินเกินใช้เกิน บริโภคเกิน อะไรเกิน อย่างที่เป็นๆ กันอยู่ จนทรัพย์สมบัติที่เป็นรายได้นั้นไม่พอกับรายจ่าย นี้มันก็ไม่งามอย่างยิ่ง เพียงแต่รายได้ให้พอกับรายจ่ายมันก็เป็นความไม่น่าดูอย่างยิ่ง ก็เรียกว่าไม่งาม ถ้าเขาใช้ไม่เป็น เขาก็กินไม่เป็นบริโภคไม่กิน เนื่องมาแต่การแสดงหาก็ไม่เป็น คือ ไม่งาม และมันก็ไม่งามมาถึงการใช้จ่ายหรือการบริโภค นั้นการบริโภคปัจจัยในลักษณะที่ถูกต้องและพอนี้นั้นเป็นความงาม แม้แต่กินข้าวสักคำหนึ่งก็มีลักษณะแห่งความงดงาม คือ ไม่มีกิเลสตัณหาความตะกละ ไม่มีความอะไรที่เป็นเรื่องให้ดูแล้วมันน่าเกลียด การบริโภคโดยส่วนใหญ่ โดยส่วนย่อย หรือรายละเอียดอะไรๆ มันก็ดูงามไปหมด ครอบครัวนั้นบริโภคใช้สอยทรัพย์สมบัติในลักษณะที่ใครมองเห็นแล้วก็เคารพนัพถือและเลื่อมใส นี้เรียกว่าเขามีศิลปะในการบริโภค มีความงามในการบริโภค ในการสะสมมีไว้เป็นหลักทรัพย์ก็ทำถูกต้องตามหลักการ คือว่ามันจะต้องมีส่วนที่สะสมเอาไว้เป็นหลักประกัน นั้นมันก็เป็นความงามอยู่ในตัวมันเองแล้ว และก็สะสมไว้อย่างที่เรียกว่า จริงหรือตรงต่ออุดมคติ ไม่เอาไปทำอบายมุขหรือทำอะไรที่มันผิดหลักของการสะสมไว้เป็นหลักประกัน เขามีคำพูดเลยไปถึงว่าสะสมไว้สำหรับชาตินี้ยังไม่พอยังต้องสะสมไว้เพื่อชาติหน้าในอนาคตอีกด้วย นี้ถ้าทำถูกต้องตามความหมายมันก็ยิ่งงดงาม เพราะคำว่าชาติหน้านั้นน่ะนับตั้งแต่นาทีนี้ไปมันก็เป็นชาติหน้าไปหมด ปัญหาอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นในอนาคตแม้แต่ชั่วโมงหน้านี้มันก็แก้ไขได้อย่างถูกต้อง กระทันแก่เวลา และการสะสมทรัพย์สมบัติมันต้องงดงามถึงขนาดนี้ อย่าให้มันโง่จนยุ่งจนต้องหยิบต้องยืมต้องกู้กัน อะไรให้มันปั่นป่วนไปหมด มันไม่ควรจะมี ถ้าว่ามีสติปัญญากระทำมาอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นแล้วมันจะไม่มีความโกลาหลวุ่นวายในทำนองนั้น เพราะฉนั้นขอให้กระทำอย่างดีที่สุด คืออย่างมีศิลปะในการหาทรัพย์ก็ดี ในการบริโภคทรัพย์ก็ดี ในการสะสมทรัพย์ไว้ก็ดี จะต้องมีสติป้องกันความผิดพลาดได้ทุกขั้นตอน สตินี้หมายถึงมีปัญญารวมอยู่ด้วย ในธรรมดาคนเราก็รู้จักคิด รู้จักนึก รู้จักผิดถูกชั่วดี ส่วนนั้นมันเป็นปัญญา แต่ถ้าเราไม่มีสติแล้ว ปัญญาก็ไม่รู้ไปคราญงุ่มง่ามอยู่เสียที่ไหน มันไม่มาช่วยแก้ปัญหาทันท่วงที ฉนั้นจึงต้องมีสติคือสิ่งที่ไปดึงเอาปัญญาเข้ามาใช้ใด้ทันท่วงทีที่มันเกิดปัญหา ถ้าสติเอาปัญญามาได้ทันท่วงทีฉับไวอย่างนี้ ปัญญานั้นเปลี่ยนชื่อใหม่ แทนที่จะเรียกว่าปัญญากลับได้ชื่อใหม่ว่าปฏิภาณ ปฏิภาณนั้นก็เป็นปัญญาชนิดหนึ่ง คือปัญญาไว ปัญญามาทันท่างที ไม่ใช่ปฏิภาณลมปากเล่นลิ้นโกหกหลอกลวง นั้นมันเป็นปฏิถาณของคนพาล ถ้าปฏิภาณที่แท้จริงตามหลักธรรมะแล้วคือ ปัญญาที่มาไวมาทันท่วงทีจนสามารถพูดออกมาได้ทันควันและถูกต้อง นี้เรียกว่าปฏิภาณ เรามีสติ หมายความว่า มีปัญญาทันท่วงที แต่เราเรียกว่ามีสติ การมีปัญญาทันท่วงทีนั้นไปเรียกเสียใหม่ว่า มีสติ ถ้าทันท่วงทีมากยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก เราไปเรียกชื่อใหม่ว่า ปฏิภาณ แล้วคนที่มีปฎิภาณนั้นจะไม่อับจน จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ไม่ว่าทางกายหรือทางจิต ไม่ว่าทางวัตถุหรือทางนามธรรม จะไม่เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สมบัติ หรือการกระทำใดๆ ที่จะต้องกระทำอยู่เป็นประจำวัน เดี๋ยวนี้สติไม่มี ปัญญาปฏิภาณมันไม่มี มันก็ทำผิดเสียเรื่อง มีข้อแก้ตัวเรื่อยสำหรับจะทำความชั่ว มีข้อแก้ตัวสำหรับจะไปดื่มน้ำเมา ไปเล่นการพนัน หรือไปทำอะไรก็ตาม นี่สติไม่มีพอที่จะเอาปัญญามาหักห้ามกิเลส กิเลสก็ครอบครองจิตใจของบุคคลนั้น และมันก็สกปรกเหลือที่จะสกปรก เพราะว่าคำว่ากิเลสแปลว่าของสกปรก คำว่ากิเลสขอให้ทราบไว้ด้วยว่า ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คือของสกปรก มันเอาความหมายของของสกปรก อุจจาระ ปัสสาวะ ที่มันสกปรกนี่ ที่มันเรียกกันอยู่ก่อนไปใช้เป็นเรียกชื่อของความสกปรกทางจิตใจ คือ กิเลส เดี๋ยวนี้เขาแปลให้อย่างสุภาพว่า ความเศร้าหมอง ที่จริงมันก็คือไอ้ความสกปรก ขอให้ท่านทั้งหลายรู้ไว้เถอะว่า กิเลสนั้นคือของสกปรก และของสกปรกมันจะงามได้อย่างไร ก็ต่อเมื่อมันไม่มีภาวะสกปรกมันจึงจะมีภาวะแห่งความงาม

หน้าที่ 7 – ศีล
ที่นี้ก็ดูต่อไปในรายการที่ 3 คือ ความงามเกิดมาจากการละเสียได้ซึ่งการทุศีลทุกระดับ การทุศีลนั้น ตัวหนังสือแปลว่า มีศีลที่ชั่วเสียแล้ว ทุ แปลว่า ชั่ว หรือแปลว่า ให้โทษประทุษร้ายเสียแล้ว ศีลที่โทษมันประทุษร้ายเสียแล้ว หมดความเป็นศีลแล้ว เป็นศีลชั่วแล้วอย่างนี้เรียกว่า ทุศีล ความงามจะเกิดขึ้นเมื่อปราศจากความทุศีล ไปสำรวจดูให้ดีว่า เรามีความทุศีลหรือไม่

คำว่าศีลในที่นี้หมายถึง ระเบียบ วินัย ทุกอย่างทุกประการ ที่ป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ความผิดปกติ ความกระทบกระทั่ง และเบียดเบียน เพราะว่าคำว่าศีล แปลว่า ปกติ ปกติไม่มีเหตุ ไม่มีวุ่นวาย ไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรที่น่าเกลียดน่าชัง เพราะว่ามันปกติ คำว่า ศี-ละ แปลว่า ปกติ รักษาศีลเถอะจะเกิดความปกติเต็มทุกความหมายแห่งสิกขาบทของศีลนั้นๆ ที่นี้พอทุศีล คือว่าศีลถูกโทษประทุษร้ายเสียแล้ว มันก็ใช้อะไรไม่ได้ เหมือนกับดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้ที่ถูกหนอนกัดกินหมดแล้วมันก็ใช้อะไรไม่ได้ นั่นคือ ภาวะแห่งความทุศีล มันก็เป็นกิเลส มันก็ไม่งาม นั้นเราจะต้องมีศีลนับตั้งแต่ระเบียบเล็กๆ น้อยๆ ในทางมารยาทด้วย จึงจะเรียกว่ามีศีลสมบูรณ์ ที่ว่ามีศีลที่สมบูรณ์นั้น ศีลที่เป็นหลัก เป็นประธาน เป็นข้อๆ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 227 ข้อสมบูรณ์ และศีลประกอบศีลตัวเล็กตัวน้อยที่จะประกอบศีลที่เป็นหลักเป็นประธานนั้นก็สมบูรณ์ และมารยาทที่พึงประพฤติแสดงออกภายนอกก็สมบูรณ์ ที่เที่ยว ที่ไป ที่มา ที่กิน ที่เล่น ที่เรียกว่าโคจรนั้นก็สมบูรณ์ อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีศีล ไม่ทุศีล ม่าละเบียบ ไม่แหวกแนวของระเบียบ ก็เรียกว่า ปกติที่สุด สงบที่สุด เลยงดงามที่สุด ศีลจึงมีความงามที่สุดด้วยอย่างหนึ่งเหมือนกัน ฉนั้นความทุศีลมันก็ไม่งาม เดี๋ยวนี้เรามีสติในการรักษาเอาไว้ได้ซึ่งความมีศีลนี้เรียกว่า ศิลปะในการมีสติ ยึดเอาไว้ได้ซึ่งความมีศีล มันต้องเป็นงานฝีมือ งานละเอียดอ่อน ปราณีต สุขุม ของบุคคลผู้เฉลียวฉลาดซื่อตรงไม่คดโกงตั้งใจจริง มันจึงจะรักษาศิลไว้ได้ ก็มีความงามที่เกิดมาจากการไม่ทุศีล และก็ทุกระดับนะ ระดับเด็กผู้ใหญ่ ระดับฆราวาส ระดับบรรพชิต คือทุกระดับทีเดียว ที่นี้พวกถัดมาอีกก็เรียกว่ามีความงามในการบริโภคปัจจัย 4 ข้อนี้มันก็คล้ายๆ กันในเรื่องดำรงชีพ การหา การบริโภค การสะสมทรัพย์ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ขอบอกว่าแยกออกมาเป็นคนละเรื่องดีกว่า การบริโภคปัจจัย 4 ต้องถูกต้องและมีความงาม ปัจจัย 4 นี้รู้กันแล้วว่า อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บรวมเป็น 4 ประการนี้เรียกว่า ปัจจัย 4 ต้องทำให้มีความงาม เพราะว่าแต่ละอย่างๆ นี่มันมีความหมายทีกำกวม จะยกตัวอย่างเหมือนกับว่า เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เรานุ่งห่มมันทำไม ไม่ว่านุ่งห่มเพื่อปกปิดไอ้ของน่าละอายนั้นก็ได้ นั้นความมุ่งหมายของการนุ่งห่มก็เพื่อจะปกปิดความละอายก็ได้ มันก็งามไปอย่างหนึ่งแล้ว เพราะว่าไม่เอาของน่าเกลียดมาอวดกัน มันก็งามแล้ว ที่นุ่งห่มเพื่อป้องกันผิวหนัง ไม่ให้ถูกแดดเผา ไม่ให้ถูกลมพัดนี้มันก็เป็นจุดมุ่งหมายอีกอันหนึ่ง หรือว่าป้องกันเหลือบยุงที่จะมาคอยกัดกินนี้มันก็อย่างหนึ่ง มันมีความหมายไปอีกอย่างหนึ่งนอกจากว่าปกปิดของน่าละอาย ที่นี้มันยังมีความหมายเตลิดไปถึงว่า อะไรๆที่มันมีประโยชน์ มีคุณค่า แล้วมันก็กลายเป็นสินค้าไป เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มนี้มันกลายเป็นสินค้าไป ก็กลายเป็นวัตถุแห่งศิลปะที่เขาจะต้องถักต้องทอ ต้องเย็บ ต้องย้อม ให้มันสวย กลายเป็นวัตถุศิลปะ กลายเป็นของที่สำหรับค้าสำหรับขายของพ่อค้าไปเสียก็มี อะไรเป็นความมุ่งหมายอันแท้จริงของเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เราก็จะถือเอาหลักว่ามันที่ให้ประโยชน์ด้วยความงามด้วย ให้เป็นการกระทำที่ละเอียดอ่อนของคนผู้มีปัญญาด้วย เครื่องนุ่งห่มนี้ถึงจะเป็นปัจจัยที่ให้ความงามตามความหมายของคำว่าธรรมะและก็เป็นศิลปะสมบูรณ์ ความหมายมันมีได้หลายอย่าง และก็คาบเกี่ยวกันบ้างกำกวมกันบ้างอาจตามเรื่อง เราต้องรู้เรื่องเท่า ว่าอันไหนเป็นความหมายสำคัญเป็น เป็นความหมายนำหน้า เป็นความหมายแท้จริง ทำให้มันถูกต้อง ในปัจจัย 4 ของภิกษุก็ยกเอาจีวรเป็นเครื่องนุ่งห่มมาเป็นข้อที่หนึ่ง ดูก็แปลกอยู่ แต่ชาวบ้านพูดกันว่าปัจจัยที่หนึ่งคืออาหารมากกว่า อันนี้ดูเหมือนจะเห็นแก่ปากแก่ท้องกลัวตายมากเกินไป เอาอาหารมาเป็นเรื่องทีหนึ่ง เรื่องที่วัดที่วาของพุทธเจ้าท่านเอาจีวรมาเป็นเรื่องที่หนึ่ง เราจะทำให้มันถูกต้องตามความหมายของคำว่าปัจจัย คือ ส่งเสริม รักษา ป้องกัน บำรุงชีวิตได้เป็นอย่างดี นั้นแหละคือความงาม เราอย่าใช้ปัจจัยเพื่ออย่างอื่นเลย ใช้ปัจจัยให้สำเร็จประโยชน์แก่ความมีชีวิตอย่างถูกต้อง

หน้าที่ 8 – บริโภคปัจจัย 4
ให้มันมีคุณค่า มีคุณสมบัติ เป็นร่างกายหรือชีวิตที่ถูกต้อง ถูกต้องคือ เหมาะสมที่จะทำหน้าที่สูงสุดให้ได้รับประโยชน์สูงสุดของการที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พูดรวมๆ ไว้ก่อนว่า สูงสุดของการเป็นมนุษย์นั้น

วัตถุประสงค์มุ่งหมายให้เราจงบริโภคปัจจัย 4 นี้เพื่อประโยชน์แก่ความตั้งอยู่ได้แห่งความเป็นมนุษย์ที่เหมาะสมสำหรับจะได้รับสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ อย่าใช้อาหาร อย่าใช้เครื่องนุ่งห่ม อย่าใช้ที่อยู่อาศัย เป็นไปในทางกิเลสตัณหาเลย และมันมีความหมายอยู่ตรงที่พอดีนั่นแหละคือความงาม ถ้ามันขาดหรือมันเกินมันก็ไม่งาม จะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยา อะไรก็ตามแต่ ถ้ามันขาดหรือมันเกินแล้วมันก็หาความงามไม่ได้ ฉนั้นต้องให้มีความพอเหมาะพอดี ซึ่งออกจะเป็นของจำกัดเฉพาะคนอยู่มาก ต้องไปแสวงหาอัตราเฉพาะคน พอเหมาะพอดีเฉพาะคนเอาเอง ในที่นี้เราใช้คำกลางๆ ความหมายรวมว่า อย่าให้มันขาดอย่าให้มันเกิน เราอยากจะกินแต่อาหารอร่อย ไม่รู้ไปเอาเหตุผลมาแต่ไหน การอยากกินอาหารอร่อยนั้นมันเป็นเหตุผลหรือมันเป็นความต้องการของกิเลส ถ้าเป็นความต้องการของกิเลสแล้วก็อย่าเอาเลย ถ้าเป็นเหตุผลมีเหตุผลที่ต้องกินให้อร่อยมาพูดจากันดู หมอก็ยืนยันในเรื่องอร่อยนี้ไม่ได้มีความหมายว่าจะบำรุงร่างกายได้ดีที่สุด อาจจะเป็นของแสลงไปเสียก็ได้ นั้นความอร่อยหรือความเห็นแก่ความอร่อยนั้นมันจึงไม่ใช่ความถูกต้อง และมันยังโง่มากนะไอ้คนจะกินอาหารอร่อย มันโง่ตามเขา ที่เขาว่ากันว่า ถ้ามันแพงแล้วมันก็อร่อย ทั้งๆที่ไม่อร่อยมันก็หลอกตัวเองว่าดี ว่าควรกิน เขาว่ามันแพง นั้นที่มันกินอาหารแพงมันโง่อย่างนี้ มันหลอกตัวเองให้อร่อย จึงเรียกว่ามันเป็นคนโง่ เมื่อโง่แล้วมันก็ไม่งามหลอก เพราะว่ามันมีความผิดอยู่ในการกระทำนั้นเสียแล้ว เราควรจะมองกันตามหลักธรรมดาสามัญทั่วไปว่า อร่อยนั้นมันอยู่ที่หิว เรื่องทำให้หิวนั้นไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ทำงานให้เหนื่อยหน่อยมันก็หิว และมันก็เป็นผลดีแก่การงาน ฉะนั้นหิวแล้วอาหารอะไรๆ มันก็อร่อยไปหมด เพราะว่าความอร่อยนั้นมันมีรากฐานอยู่บนความหิว ถ้าหาความหิวมาให้พอดีอาหารก็อร่อยแน่ จะต้องไปกินอาหารที่ว่าแพง ที่ว่านิยมกัน มันบ้าสุดเหวี่ยงถึงกับอาหารบางชนิดคำละพันบาท ไม่อยากจะเชื่อแต่เขาว่ามันก็เป็นความจริง อาหารที่คนชั้นสูงคนรวยเขานิยมกันอยู่มีอัตราคำละพันบาทก็มี มันก็บ้าเป็นหมื่นเป็นแสน ฉะนั้นมันจะมีความงามมาแต่ไหนล่ะ นั้นเรามันหิว พอหิวแล้วมันก็อร่อย และความอร่อยนั้นดีกว่า เป็นความงามที่ควรจะยึดถือในที่นี้ ในความหมายธรรมดาสามัญว่าถ้าอร่อยแล้วก็อร่อยต่อความหิว เมื่อมีความหิวความกระหายพอแล้ว ไอ้น้ำเปล่าๆ คำเดียวแก้วเดียวมันก็อร่อยวิเศษสูงสุดอยู่แล้ว นี่น้ำเปล่าๆ น้ำจืดเปล่าๆ มันก็ยังอร่อยสูงสุดได้ถ้ามันมีความหิวหรือความกระหาย ให้รู้จักใช้รากฐานอันนี้ คือ ความหิว สำหรับการบริโภคอาหาร มันก็จะไม่หมดเปลือง มันก็จะไม่กินจนเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เรียกว่าความอร่อย หรือเรียกว่าความงามทางวัตถุ อย่าให้เลยไปถึงกิเลสเลย ธรรมดาสามัญหิวกินอะไรก็ได้แล้วก็อร่อย นี่ก็เรียกความงามทางวัตถุได้ การแต่งเนื้อแต่งตัวก็อยู่ในความหมายเดิมที่ว่า ปกปิดความละอายที่จำเป็น และก็ป้องกันหนาว ร้อน เหลือบยุง ลม แดดเท่าที่จำเป็น และก็ไม่ต้องเกิน ไอ้ที่แพงเกินมักจะบางและเสียเร็วขาดเร็ว แล้วก็ไม่ป้องกันเสียด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ว่ามันแพง ใช่ว่ามันสวยแล้วมันจะป้องกันความละอาย หรือเหลือบยุง ลมแดดได้ และบางที่มันจะเป็นอันตราย คือ ความสวยทำนองนั้น มันยั่วให้อันธพาลมาฉุดคร่าไปก็ได้ ฉนั้นอย่าบูชาความงามชนิดนั้น ที่อยู่ที่อาศัยมันไม่ได้งามอยู่ที่ว่าสีสันทาไว้สวย หรือว่าลงทุนแพงๆ มันอยู่ที่มีความเหมาะสม เย็นตาเย็นใจในลักษณะของธรรมชาติ ฉนั้นอย่าทิ้งธรรมชาติมันจะสูญเสียความงามตามธรรมชาติ จะเป็นบ้านเรือนก็ดี จะเป็นเครื่องใช้สอยก็ดี เป็นยานพาหนะก็ดี อะไรๆ ก็ดีที่รวมอยู่ในคำว่า เครื่องใช้สอยในที่อยู่ที่อาศัย มันไม่จำเป็นจะต้องเกิน ในจำนวนคือ มากเกิน มันไม่ต้องเกินในเรื่องค่า เรื่องราคา นิยมว่าเขาว่าแพงมันจึงจะดี อย่างนี้มันยิ่งโง่ มันยิ่งโง่แล้วก็ยิ่งไม่งาม ความโง่อยู่กับความงามไม่ได้เว้นไว้แต่เป็นเรื่องของคนโง่ คนโง่ก็ว่าความโง่นั้นแหละงาม แต่คนมีปัญญามันงามด้วยไม่ได้ นั้นเราก็รู้เอาเองว่ามันควรจะมีสักเท่าไรหรืออย่างไร การรักษาโรค ความมีโรคไม่งามแน่ ความหายโรคนั้นเป็นความงาม นั้นก็จัดให้มันหายโรคตามที่ถูกที่ควร เด๋วนี้มันทำกลับกันอยู่ก็มี ไอ้ที่มันทำให้เกิดโรค แสลงแก่โรคแล้วเป็นของถูกของควรไปเสียก็มี นั้นมันจึงกินจึงดื่มจึงทำอะไรหลายๆ อย่างที่มันแสลงแก่โรค นำมาซึ่งโรคโดยรู้สึกตัวบ้างโดยไม่รู้สึกตัวบ้าง ขอให้คิดดูให้ดีๆ ก็ยังมีความผิด มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของเราอยู่เป็นอันมาก และส่วนมากก็มักจะเป็นเรื่องโรคทางจิตทางวิญญาณที่ทำผิดกันมาก ถ้าเป็นโรคทางกายนี้หมอช่วยได้มากจึงมีความถูกต้องตามกรณีนั้นๆ แต่ถ้าเป็นโรคทางจิตทางวิญญาณแล้วดูมันยังปล่อยไปตามบุญตามกรรมกันมาก ไม่มีความถูกต้อง แม้กายจะไม่มีโรคแต่ว่าจิตและวิญญาณมันมีโรคเสียแล้วมันก็ไม่งามด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นขอให้ทุกคนใช้ปัจจัย 4 ให้ถุกต้อง ให้เกิดความงาม ทั้งอาหาร การนุ่งห่ม การอยู่อาศัย การบำบัดโรค ที่เรียกว่าปัจจัยทั้ง 4 จึงจะเรียกว่ามีธรรมะ มีความงามอย่างธรรมะ มีศิลปะซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นๆ

หน้าที่ 9 – กามฉันทะ ถีนะมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ลังเล
พวกต่อไป อาตมาจะเขยิบสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ไปตามลำดับ เป็นอันดับที่ 5 ว่าความงามในการละเสียได้ซึ่งนิวรณ์ พอพูดถึงนิวรณ์ก็ว่าเป็นเรื่องทางจิตใจแล้ว สูงขึ้นไปถึงเรื่องทางจิตใจแล้ว ความรู้สึกเลวร้ายทางจิตใจที่เกิดขึ้นและรบกวนอยู่เป็นประจำวัน ให้จิตสูญเสียความบริสุทธิ์ ความสงบสุขหรือเสรีภาพ นี่เขาเรียกว่า นิวรณ์ แปลว่าเครื่องกั้นจิต ปิดกั้นจิตให้ติดอยู่ในความไม่น่าดู ติดอยู่ในวงของกิเลสตัณหาความไม่น่าดู

นิวรณ์ที่ 1 จิตมันครุ่นอยู่กับเรื่องกามารมณ์ ไปดูเอาเองเถอะ พูดมากก็เสียเวลาเปล่า คนหนุ่มคนสาวก็อย่างหนึ่ง พ่อบ้านแม่เรือนก็อย่างหนึ่ง บางทีคนแก่คนเฒ่าก็ยังมามีปัญหาเรื่องกามอารมณ์ ไอ้ความรู้สึกทางกามอารมณ์ที่มันครุ่นอยู่มาทำให้จิตกระสับกระส่าย หรือว่ามันสูญเสียภาวะแห่งความแจ่มใส สงบเย็น ก็เรียกว่า นิวรณ์ ไอ้ความรู้สึกอย่างนี้มันเกิดขึ้นเมื่อไร จิตมันก็กระสับกระส่ายไม่ปกติและก็ทำอะไรไม่ได้ด้วย จะเขียนหนังสือสองสามบรรทัดให้ดีก็ทำไม่ได้ ถ้าความรู้สึกทางกามอารมณ์มันมาครอบงำจิต ที่นี้ถัดไปก็คือความรู้สึกในทางขัดใจเครียดแค้น ทางกามารมณ์นี้เรียกว่า กามฉันทะ คือ เรื่องหลงรัก ไอ้ที่หลงเกลียดนี่เรียกว่า พยาปาทะ ความไม่พอใจในวัตถุ ในบุคคล ในสถานะการณ์ หรือแม้แต่เรื่องของตัวเอง ชีวิตของตัวเองก็ไม่พอใจ ขัดแค้น เครียดแค้นอยู่นี่เรียกว่า พยาบาท เป็นนิวรณ์ อึดอัดใจอยู่เพราะความไม่พอใจ จิตนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่โปร่ง ไม่เย็น ไม่สงบ สูญเสียความสงบสุข และมันก็ไม่งาม เราเองที่รู้สึกมากกว่าใคร ว่าจิตกำลังคับแค้นอะไรอยู่ แล้วมันไม่งาม แล้วมันแสดงออกมาให้คนอื่นเห็นได้ว่า มันมีอะไรขัดแค้นอยู่ในใจมันก็ไม่น่าดู มันก็ไม่งดงาม ที่นี้ความรู้สึกถัดไปอีกก็เรียกว่า ถีนะมิทธะ คือจิตถอยกำลัง หดหู่ แฟบฟุบ ละเหี่ยละห้อย มึนชา ง่วงเหงา คือว่าจิตแฟบหรือต่ำลงไป เป็นนิวรณ์ มันทำให้เรารู้สึกว่าจิตนี้ไม่เอาด้วย มันไม่อยากจะทำอะไรด้วย มันคอยจะหลบ จะแฟบ จะไม่ทำอะไร คือมึนชาไปหมด งัวเงียไปหมด มันตรงกันข้ามกับนิวรณ์ถัดไป คือ อุทธัจจกุกกุจจะ คือมันฟุ้ง ในบางคราจิตมันฟุ้ง ฟุ้งจนทำอะไรไม่ได้ ในบางคราจิตมันแฟบ แฟบจนทำอะไรไม่ได้ ไอ้ที่แฟบนี้เรียกว่า ถีนะมิทธะ จิตฟุ้งเรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ ต่างก็เป็นนิวรณ์ด้วยกันทั้งนั้น เล่าอาการอย่างนี้ก็เพราะจะพอแล้วเพราะทุกคนเคยมี นิวรณ์สุดท้ายคือ วิจิกิจฉา คือ ความโลเลแห่งจิตใจ ไม่รู้จะเอาอย่างไรกันแน่ แม้เรื่องที่เคยเรียนมาดีแล้ว เชื่อว่าถูกต้องแล้วก็มาเกิดลังเลกันอีก และก็ลังเลกังวนไปเสียทุกอย่าง แม้ในสิ่งที่อยู่ข้างนอกว่ามันจะเป็นอันตราย หรือจะเกิดอะไรขึ้น ไอ้ที่เราตั้งใจไว้มันจะล้มเหลวหมด กระทั่งว่าแผนการที่เราคิดไว้ดีแล้วนั้นมันอาจจะไม่ถูก มันผิดพลาดขึ้นมา มันลังเลไปถึงหลักธรรมะ หลักศาสนาที่เคยยึดถือเป็นหลักอยู่ชักจะไม่เชื่อมันซะแล้ว ไม่ไว้ใจมันเสียแล้ว นี่เรียกว่า ลังเล อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ ไอ้นิวรณ์นี้มันเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกิดทุกวันเกิดแทบตลอดเวลา และก็บั่นทอนความสุขของชีวิตอย่างยิ่ง และก็บั่นทอนความสามารถของจิตใจที่จะทำการงานให้ได้ผลดี นั้นผลที่เราควรจะได้มันก็ลดลงไปเป็นอันมากเพราะเหตุแห่งนิวรณ์ ภาวะอย่างนี้ไม่งาม มันต้องขจัดออกไปเสียด้วยศิลปะแห่งการใช้สติ ไปศึกษาเรื่องนิวรณ์ให้ดี และป้องกันนิวรณ์ไว้ได้ในทุกความหมาย คือ ทั้ง 5 อย่าง สรุปอีกทีหนึ่งว่า จิตมันแส่ไปแต่ในเรื่องกาม เรื่องเพศ นั้นก็เป็นนิวรณ์ จิตมันก็กลุ้มอยู่ด้วยความขัดเคือง โกรธแค้นไม่พอใจ อาฆาต จองเวร อะไรนี่ก็เป็นนิวรณ์ และจิตมันแฟบไม่มีกำลังนี้ก็เป็นนิวรณ์ จิตมันฟุ้งจนทำอะไรไม่ได้นี่ก็เป็นนิวรณ์ แล้วจิตมันก็ลังแล ไม่แน่ใจในการกระทำก็เป็นนิวรณ์ ล้วนแต่สกปรกมีพวกกิเลส แล้วมันก็ไม่งาม ถ้าไม่มีมันจึงจะงาม ก็มีสติในการจะป้องกัน ในการจะขจัดออกไป ในการที่จะรักษาจิตไว้ให้เกลี้ยงเกลาจากนิวรณ์ การกระทำได้อย่างนี้เป็นศิลปะ เป็นธรรมะ เป็นความงาม ดูต่อไปอีกว่า ความงาม เกิดมาจากการเห็นพระธรรม คือ ไตรลักษณ์ คนโง่ไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่รู้จักไตรลักษณ์ คนโง่นั้นย่อมหาความงามไม่ได้ นั้นความสกปรกน่าเกลียดตามภาษาของพระอาริยเจ้า คนที่เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้จะต้องงาม เพราะว่าสติปัญญาของเขาได้งามเสียแล้ว ฉะนั้นจิตใจของเขาก็งามตามไปด้วย ร่างกายของเขาก็ประพฤติตามความงามนั้นๆ ร่างกายมันก็พลอยงามไปด้วย คนที่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะไม่ทุศีล จะไม่ทำอะไรเลวๆ อย่างนั้นในภายนอก แม้ในภายนอกมันก็มีความงาม ฉะนั้นพระอรหันต์จึงมีความงดงาม เรียกว่า มีอินทรีย์ผ่องใส ใครเห็นเข้าแล้วก็พอใจ โดยบอกไม่ถูกว่าทำไมต้องพอใจ เพราะว่ามันมีความงามชนิดนี้นี่เอง ความงามที่เกิดมาจากความรู้แจ้งในธรรมะอันสูงสุด มีอยู่ในใจส่องแสงออกมาจนถึงภายนอก ทำให้อิริยาบถทั้งหลายงาม เนื้อตัวงาม ทำให้แววตางาม ทำให้ทุกอย่างมันงาม เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นความงามแห่งสติปัญญา ลงไปถึงจิตใจ และลงไปถึงเนื้อตัว อิริยาบถ ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยการเห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง เรื่องไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันจะส่องแสง มีรัศมีที่ส่องแสงของจิต ของสติปัญญา มีความงามชนิดหนึ่งซึ่งไม่เหมือนความงามชนิดอื่น ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งจะต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ ให้มันมีความงามชนิดนี้ให้ได้ นี่เอามาแยกให้มันละเอียดมากหน่อยตรงนี้ เพราะมันพอจะแยกออกจากกันได้

หน้าที่ 10 – อวิชา
ถัดไปในอันดับที่ 7 ความงามในการที่ไม่เกิดกิเลสตัณหา ความงามที่มันไม่เกิดกิเลสตัณหา เมื่อไรเกิดกิเลสตัณหามันก็สกปรกและไม่งาม แต่เดี๋ยวนี้คนแต่ละคน แต่ละวันๆ นั้นน่ะมันเกิดกิเลสตัณหา บางทีเกิดอยู่ในใจ ไม่มีใครรู้ บางทีเกิดอยู่ในใจบังคับมันไม่ได้ ออกมาข้างนอกให้คนอื่นเห็น คนอื่นมันก็รู้และก็เห็น มันก็ว่าไม่งาม มันก็รู้สึกว่าไม่งาม ไอ้ตัวเองมันก็รู้สึกว่าไม่งามอยู่แล้ว ไปให้คนอื่นเห็นก็ด้วยมันก็ไม่งามมันเพิ่มขึ้นมาอีกทางหนึ่ง ต้องมีสติมากควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร กิเลสตัณหาก็ไม่เกิดขึ้น พูดอย่างนี้บางคนฟังไม่ถูก แต่เรื่องมันก็ยาวเกินกว่าไปที่เอามาอธิบายในเวลาอันสั้น ไปศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทเอาเอง ก็ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ปรุงแต่เป็นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทขึ้นมา กิเลสตัณหาประจำวันในชีวิตประจำวันในเรื่องประจำวันมันก็ไม่เกิด เราก็มีความงาม ต่อไปเป็นอันดับที่ 8 ความงามที่จะไม่เกิดตัวกู ของกู ให้ลองคิดดูบ้าง เกิดตัวกูของกูขึ้นมาเมื่อไรมันงามหรือไม่งาม แต่เดี๋ยวนี้บางคนยังไม่รู้จักว่า ตัวกูของกู คืออะไรเสียอีก ก็เลยฟังไม่ถูก ตัวกูของกู คือ ความเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู

เนื่องจากอวิชา ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ไปหลงรัก หลงเกลียดอะไรเข้า มันก็เกิดความอยากไปตามอำนาจความรักและความเกลียด เมื่อความอยากนี้ไปเต็มที่แล้วมันก็เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูผู้อยาก อยากเอามาเป็นของกู ยึดถือว่ามันเป็นศัตรูของกู เรื่องตัวกูมันก็กลุ้มไปหมด เรื่องตัวของกูอย่างนี้เป็นความเลวร้ายที่สุดในการทำมนุษย์ให้ทุกข์ทรมาน เห็นแล้วจะเห็นว่ามันไม่งามอย่างยิ่ง แต่คนเราก็เต็มไปด้วยความรู้สึกชนิดนี้ เพราะว่าสะสมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่คลอดจากท้องแม่ ให้ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูเป็นของกู แล้วไม่รู้จักอยากยิ่งๆ ขึ้นๆ ไป เรื่องสวย เรื่องงาม เรื่องหอม เรื่องหวาน เรื่องเอร็ดอร่อยต่างๆ นาๆ ถ้าความอยากมันเป็นไปเต็มที่แล้ว ความรู้สึกว่าตัวกูผู้อยากมันก็ตามมา พอตัวกูผู้อยากเกิดขึ้นในจิตใจ เดี๋ยวนี้อะไรเป็นตัวกูอะไรเป็นของกูขึ้นมาแล้ว ก่อนนี้มันเงียบอยู่มันไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของตัวกูมันไม่มีเรื่อง พอเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูเป็นของกูมันถึงจะมีเรื่อง ยากที่จะป้องกันไว้ได้ มันก็มีเรื่องของกิเลสตัณหา แล้วแต่ว่ามันเกิดตัวกูของกูประเภทไหนชนิดไหน ฉะนั้นความงามหมดไปเพราะเกิดความรู้สึกชนิดตัวกูของกู และเห็นแก่ตัวทั้งนั้นเลย ไม่มีเห็นแก่ผู้อื่น จิตว่างไม่ได้แล้วที่นี้ ตัวกูของกูเข้ามาอยู่เต็มจิตแล้ว ไม่ว่างแล้ว ไม่มีธรรมะแล้ว ตัวกูของกูเข้ามาอยู่เต็ม ธรรมะหายไปหมด จิตนั้นก็ไม่งาม เหลืออยู่แต่ตัวกูของกู สกปรก เป็นลักษณะของพยามาร ภูตผี ปีศาจ สลอนไปหมด หาความงามในจิตไม่ได้ นี่มารอยู่ตรงนี้ มารเกิดอย่างนี้ในลักษณะอย่างนี้ เราก็ไม่รู้จักมัน และก็ไปหลงรักมัน เอามาเป็นตัวเราเสียด้วย ก็เลยไม่ต้องมีในการกำจัดมารหรือทำลายล้างมารกันเลย กำจัดไอ้ความรู้สึกชนิดนี้เสียให้ได้ อย่าให้มีตัวกูของกู ที่นี้จิตก็ว่างจากกิเลส ก็มีแต่ธรรมะทุกอย่างครบถ้วน เมื่อไม่มีตัวกูมีธรรมะ เมื่อมีธรรมะไม่มีตัวกู มันอยู่ด้วยกันไม่ได้ ฉนั้นเราก็มีสติจับให้ดี ให้มันไม่เกิดตัวกูของกู ถ้าเกิดขึ้นก็รู้ทัน กำจัดออกไปเสียโดยเร็ว ถ้าเก่งกว่านั้นก็กำจัดความคิดชนิดนี้ได้ตลอดเวลา กำจัดตัวกูของกูเสียได้นั้นเป็นพระอรหันต์ เรียกว่าเป็นผู้ตายเสร็จแล้วก่อนร่างกายตายกิเลสตัณหาหมดแล้วแต่ก่อนร่างกายตาย ความคิดตัวกูของกูตายหมดแล้วไม่อาจจะเกิดอีก แต่ก่อนร่างกายนี้จะตายนี้มันงามสักเท่าไร ขอให้ลองคิดดูเถิด ธรรมะสูงสุดมันอยู่ที่หมดความยึดถือเป็นตัวกูของกู นี่ธรรมะสูงสุด นี้ก็งามสูงสุด ข้อสุดท้ายข้อที่ 9 ความงามที่เกิดจากการตายอย่างมีสติ ความงามที่มีอยู่ในการตายอย่างมีสติ จะตายกันอยู่แล้วยังอยากจะงามอีกลองคิดดูเถอะ แม้จะตายอยู่แล้วยังอยากแสดงฝีไม้ลายมือครั้งสุดท้ายว่าจะตายให้งาม นี้ไม่ใช่กิเลสตัณหา ความต้องการอย่างนี้เป็นการทำหน้าที่ เป็นการประพฤติให้ตรงตามหน้าที่ แม้จะตายก็ตายอย่างมีศิลป์ มีศิลปะแห่งการตาย จะตายให้มันงาม คือตายด้วยสติ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นเช่นนี้เอง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเช่นนี้เองอิทัปปัจตาเช่นนี้เอง ไม่ต้องกระเสือกกระสนวุ่นวายใจ เดือดร้อนอะไร สงบ ระงับอย่างยิ่งด้วยอำนาจสติ แล้วจิตก็ดับไป เหมือนดับสวิทช์ไฟ งามหรือไม่งามก็ลองคิดดู เรียกว่าตายอย่างงดงามที่สุด ตายอย่างมีศิลปะที่สุด ก็คือตายอย่างมีสติ ศิลปะแห่งการใช้สติมันมาจบลงตรงที่ว่าตายอย่างงดงาม เป็นธรรมะสูงสุดเป็นศิลปะสูงสุด เรามากล่าวกับท่านในวันนี้ด้วยเรื่องศิลปะแห่งการใช้สติในทุกๆ กรณี หมายความว่าทุกขั้นตอนและทุกๆคน ให้ทุกอย่างเป็นไปถูกต้องตามทางของพระธรรม ซึ่งงามอยู่ในตัวพระธรรม มีธรรมะก็มีความงาม มีความงามก็มีธรรมะ มีธรรมะก็มีความงาม มีความงามก็เป็นศิลปะ เราจึงมีศิลปะในทุกกรณีทุกขั้นตอนในการละเสียซึ่งอบายมุข ธรรมะขั้นต่ำขั้นเลวของชาวบ้านทั่วไป ถ้าละอบายมุขเสียให้ได้มันก็งามขั้นต้นงามขั้นแรกของเรื่องของชาวบ้าน มันก็งามในการดำรงชีพ การหาทรัพย์สมบัติ การบริโภคทรัพย์สมบัติ การสะสมไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติก็ถูกต้องและงดงาม ทีนี้ไม่มีการทุศีลในชั้นไหนระดับใด ทุกอิริยาบถมันก็มีความงาม นี้บริโภคปัจจัย 4 ที่เป็นเครื่องบำรุงรักษาชีวิตก็ถูกต้อง งดงาม ไม่มีส่วนใดที่น่าติเตียน เพราะว่ามันไม่โง่ งามเพราะว่าไม่มีนิวรณ์รบกวนใจตลอดวันๆๆ ไม่มีนิวรณ์รบกวนใจมันก็งามข้างในและงามออกมาถึงข้างนอก คนที่ไม่หงุดหงิดงุ่นง่านด้วยนิวรณ์นั้นน่ะมันน่าดู คือ งดงาม ที่งามเพราะสติปัญญาเห็นไตรลักษณ์ บังคับชีวิตนี้ให้งดงามให้ปกติ และก็งามเพราะไม่เกิดกิเลสตัณหาประจำวันเหมือนที่เกิดกันอยู่ และก็งามเพราะไม่เกิดตัวกูของกูด้วยความเผลอสติ และก็งามอย่างสุดท้ายคือตายอย่างงดงามที่สุด ก็ตายอย่างมีสติ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ เพราะเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งทั้งปวงแล้ว นี่เรียกว่าตายอย่างมีสติ ดับไป เหมือนปิดสวิทช์ไฟ เรื่องมันก็จบที่ว่า จะมีศิลปะในการใช้สตินี้ 9 หัวข้อนี้มันก็พอแล้ว จะพูดให้มากกว่านี้ก็ได้แต่มันจะฟั่นเฝือ ก็ให้ท่านทั้งหลายเก็บไปสนใจ และก็พอใจในการที่จะมีชีวิตที่งดงาม คือ ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ซึ่งเป็นความงามตามธรรมชาติของธรรมะนั้นๆ การบรรยายในวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว อาตมาขอยุติการบรรยายด้วยความหวังว่าต่อไป นี้ท่านทั้งหลายก็จะมีความงามเพิ่มขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย สิ้นสุดการบรรยายนี้แล้วให้พระคุณเจ้าทั้งหลายได้สวดบทพระธรรมสำหรับส่งเสริมกำลังใจในการปฏิบัติธรรมในหน้าที่ของตน ขอจงได้อดทนฟังต่อไปอีกสักขณะหนึ่ง

http://www.vcharkarn.com/varticle/32377

. . . . . . .