ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)

ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)

เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) – ถือกำเนิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ณ บ้านไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 บิดาไม่ปรากฏนาม มารดาชื่อ เกตุ ในกาลต่อมาบิดามารดาของท่านได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่ตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง และท่านได้ย้ายครอบครัวอีกครั้งหนึ่งโดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บางขุนพรหม จังหวัดพระนครในสมัยนั้น

หลังจากได้ย้ายครอบครัวมาที่บางขุนพรหม ท่านได้เรียนอักษรสมัยกับท่านเจ้าคุณอรัญญิก(ด้วง) เจ้าอาวาสวัดอินทร์ในสมัยนั้น เมื่ออายุได้ 12 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอินทร์ โดยมีท่านเจ้าคุณบวรวิริยเถร(อยู่) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ย้ายไปอยู่วัดระฆังเพื่อเรียนพระปริยัติธรรม ท่านเป็นผู้มีปฎิภาณเป็นเลิศ มีความจำยอดเยี่ยม สามารถแปลและจดจำพระไตรปิฎกได้อย่างแม่นยำ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จ

พระพุทธเลิศหล้านภาลัย(รัชกาลที่2) ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร ทรงชื่นชมและได้พระราชทานเรือกัญญาหลังคาแซงไว้เป็นพาหนะประจำตัว นับว่าเป็นเกียรติแก่ท่าน เพราะเรือชนิดนี้เป็นเรือของผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าพระองค์เจ้า

เมื่อมีอายุครบอุปสมบท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รัชกาลที่ 1)ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ท่านอุปสมบทในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นนาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวังโดยมีพระ สมเด็จพระสังฆราช(สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า พรหมรังสี ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4 ) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระธรรมกิตติ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ พระเทพกระวี ในปี พ.ศ.2397 จากนั้นในปีพ.ศ.2407 จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปีพ.ศ.2415 เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้ดูแลการก่อสร้างหลวงพ่อโตที่วัดบางขุนพรหม (วัดอินทรวิหาร) แล้วอาพาธด้วยโรคชรา และได้ถึงแก่มรณภาพในวันเสาร์ แรม 2 ค่ำเดือน 8ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2415 สิริรวมอายุได้ 84 ปี 64พรรษา

พระคาถาชินบัญชร

เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม (สมเด็จ 5 แผ่นดิน แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ได้ค้นพบจากคัมภีร์ใบลานเก่าที่ตกทอดมาจากประเทศลังกา จารึกด้วยภาษาสิงหล เป็นพระคาถาที่ทรงอานุภาพและมีความศักดิ์สิทธิ์ จึงนำมาดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ทางภาษาบาลีและให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวดภาวนาทุกประการ

ชินบัญชร แปลว่า กรง หรือเกราะป้องกันของพระชินสีห์ เป็นพระคาถาสวดอัญเชิญพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ 28 พระองค์ อัญเชิญพระสูตรต่างๆที่ถือว่าเป็นพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ มีอานุภาพให้คุณด้านต่างๆมาสถิตที่เส้นผม ศีรษะ กลางกระหม่อม และทุกส่วนร่างกายของผู้ภาวนา ช่วยเป็นเกราะคุ้มภัยอันตรายต่างๆมิให้เข้าทำร้ายได้

พระคาถาชินบัญชร

ตั้ง นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 3 จบ

ปุตตะกาโม ละเภ ปุตตัง ธะนะกาโม ละเภ ธะนัง

อัตถิ กาเย กายะญายะ เทวานัง ปิยะตัง สุตะวา

อิติปิโส ภะคะวา ยะมะราชาโน

ท้าวเวสสุวัณโณ มะระณัง สุขัง

อะระหัง สุคะโต นะโม พุทธายะ

ชะยาสะนาคะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง

จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา

ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฎฐะวีสะติ นายะกา

สัพเพ ปะติฎฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา

สีเส ปะติฎฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน

สังโฆ ปะติฎฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร

หะทะเยเม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะทักขิเณ

โกณฑัญโญ ปิฎฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก

ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล

กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก

เกสันเต ปิฎฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร

นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิ ปุงคะโว

กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก

โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฎฐาสิ คุณากะโร

ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลี นันทะสีวะลี

เถรา ปัญจะ อิเมชาตา นะลาเฎ ติละกา มะมะ

เสสาสีติ มหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา

เอเตสีติ มหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา

ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา

ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง

ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง

ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฎานาฎิยะสุตตะกัง

อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสาปาการะสัณฐิตา

ชินาณา วะระสังยุตตา สัตตัปปาการะลังกะตา

วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา

อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา

วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร

ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะหีตะเล

สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา

อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว

สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย

สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติ

พระคาถาชินบัญชร(ย่อ)

ชินะปัญชระปะริตตัง มัง รักขะตุ สัพพะทา

หัวใจพระคาถาชินบัญชร

ชะ จะ ตะ สะ สี สัง หะ โก ทะ กะ เก นิ กุ โส ปุ เถ เส เอ ชะ ระ ธะ ขะ อา ชิ วา อะ วะ ชิ สะ อิ ตัง ฯ

ธรรมทาน มีผลมากกว่าทานอื่นๆ

การให้ธรรมทาน มีจิตใจอยู่เหนือกิเลส ไม่ประกอบไปด้วยกิเลส ก็ไม่มีปัญหา ,การทำให้บุคคลอื่นมีธรรมะ จะได้ผลลึกซึ้ง มีความสุขโดยไม่มีกิเลส การให้ธรรมทานจึงประเสริฐยิ่งกว่าการให้ใดๆ

วิธีนั่งสมาธิ

ใหันั่งขัดสมาธิ คือ นั่งวางขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หงายมือ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น หลับตานึกถึงจิต เอาจิตมาจับที่ปลายจมูก หายใจเข้ากำหนดว่า พุท หายใจออกกำหนดว่า โธ ให้ จิตแน่วนิ่งอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก หรืออยู่กับคำบริกรรมว่า พุทโธ ให้กำหนดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะสงบนิ่งเป็นสมาธิแล้วไม่ต้องบริกรรม แต่ถ้าขณะใดจิตฟุ้งซ่านจึงบริกรรม พุทโธ

บทอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล

ด้วยอานิสงส์แห่งบุญกุศลที่เกิดจนเกิดจากความดีที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมมา อันเกิดจากการสวดภาวนาพระคาถาชินบัญชร และเจริญสมาธิในครั้งนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศแบ่งปันคุณความดีนี้ให้แก่บิดา มารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหายเทพาอารักษ์ ดวงวิญญาณทุกตัวตน เจ้ากรรมนายเวรและสรรพสัตว์ทั้งหลายในทุกถิ่นทุกสถานถ้วนทั่วจักรวาล ที่มีทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ที่มีสุขขอให้มีความสุขยิ่งๆขึ้นไป ขอให้มีจิตใจตั้งมั่นในคุณงามความดี ยินดีในพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าสู่พระนิพพานทุกผู้ทุกนามด้วยเทอญฯ

คำขออโหสิกรรม

กรรมใดที่ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และต่อบิดามารดา ครูอุปัชฌาย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก และในอบายภูมิทั้ง 4 ทั้งที่มีรร่างกายและเป็นดวงวิญญาณทั้งหลาย ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ด้วยเจตนาหรือไม่ได้เจตนาก็ดี ทั้งต่อหน้าและลับหลังก็ดี ทั้งที่ระลึกได้,ระลึกไม่ได้ก็ดี ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบัน ขอท่านจงอโหสิกรรมโทษล่วงเกินอันนั้นแก่ข้าพเจ้า ขอจงอย่าได้มีเวรต่อกัน อย่าได้พยาบาทอาฆาตเบียดเบียนต่อกันเลย ขอให้ทุกท่านจงมีแต่ความสุขความเจริญและมีส่วนได้ในบุญกุศลของข้าพเจ้าในคราวครั้งนี้ด้วยเทอญฯ

( ไหมพรม หวังว่า ธรรมทาน : วิธีแก้กรรมและใจ , บทสวดมนต์- ขออโหสิกรรม ฯ- บทอุทิศบุญกุศล…

จะเป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนตามสมควร ด้วยเห็นว่าจะช่วยทุกท่านได้ หากพบเจอปัญหาแบบไหมพรม ก็รู้จักการให้…ธรรมทาน…ให้ผู้อื่นได้รู้ ธรรมะ แก้กรรมกันไป “เวรจงแก้แต่อย่าก่อ”

ใกล้สงกรานต์ปีใหม่ ขอให้ทุกท่านพบกับสิ่งดีๆสมหวังในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการเทอญ

หากนึกไม่ออกว่าจะไปแก้กรรมไหว้พระที่ไหน – ก็ให้นึกถึง วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ ไหว้พระประจำปีขาล ช่วยได้มากเลย อ่านเพิ่มใน บุญ และ วิธีแก้กรรมและใจ จาก blogของ ไหมพรม เองค่ะ)

ขอขอบคุณ : http://www.oknation.net/blog/fromhand/2010/04/06/entry-1

. . . . . . .