สวนโมกขพลารามและท่านพุทธทาสภิกขุ

สวนโมกขพลารามและท่านพุทธทาสภิกขุ

โดย ศ.นพ. ประเวศ วะสี

สำนักนี้มีที่ตั้งอยู่ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี มีท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าสำนัก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน
(ธันวาคม พ.ศ. 2529 ขณะที่เขียน)

เอกลักษณ์ของท่านพุทธทาสภิกขุ ลักษณะจำเพาะของเจ้าสำนักสวนโมกขพลาราม พอประมวลเป็นสังเขปได้ดังนี้

1. มีสมองดี

2. ไม่เชื่อง่าย

3. ปฏิเสธวัตถุนิยม

4. พุทธิจริต

5. ชอบใช้ปัญญาเจาะลึก

6. มีอิทธิบาท 4 สูง

7. มีความสนใจและความสามารถในการสื่อมาก ลักษณะเหล่านี้เป็นปัจจัยประกอบกันส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ตามลำดับ

1. สมองดี

มนุษย์มีสมองแตกต่างกันได้มาก ตั้งแต่พวกที่สมองทึบพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่องช่วยตัวเองไม่ได้ ซึ่งลางทีเรียกว่าปัญญาอ่อน พวกที่ปัญญาอ่อนมาก ภาษาอังกฤษเรียก
ว่า อิเดียต (idiot) ไปจนถึงบางคนที่สมองดียิ่งกว่ามนุษย์คนอื่นๆ สามารถคิดเรื่องยากๆ ที่คนอื่นคิดไม่ออกหรือคิดไม่ได้ ตัวอย่างของบุคคลเช่นนี้คือ พระพุทธเจ้า ไอน์สไตน์ ซึ่งนานๆ จะมีคนหนึ่ง จากผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุ คงจักต้องลงความเห็นว่าท่านมีสมองดีมาก ดีกว่าคนอื่นๆ โดยทั่วไป หรือดีถึงขั้นหายาก เพราะถ้าดีขนาดทั่วไปคงไม่สามารถสร้างงานได้อย่างที่ปรากฏ การมีสมองดีนั้นขึ้นกับพันธุกรรม อย่างที่ท่านว่ามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ส่วนหนึ่ง กับอีกส่วนหนึ่งเกิดจากสิ่งแวดล้อม
กรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษนั้นจะกำหนดจำนวนเซลล์สมอง (neuron) ซึ่งเป็นโครงสร้างของสมองที่เป็นปัจจัยของความฉลาด เซลล์สมองอาจเสื่อม ตาย หรือเจริญงอกงาม ขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เช่น การขาดธาตุอาหารบางอย่าง การเป็นโรคติดเชื้อบางอย่าง การชักแบบลมบ้าหมู่ซ้ำๆ ทำให้เซลล์สมองตาย ทำให้ปัญญาทึบ

เหตุปัจจัยเช่นนี้มีอยู่มากในสังคมไทย! การที่เด็กแรกเกิดได้รับสัมผัสที่เหมาะสม เช่น ได้รับการกอดรัด สัมผัสด้วยความรัก การได้เห็น แสง สี และรูป การได้ยินเสียงที่เหมาะสมจะกระตุ้นให้เซลล์สมองแตกกิ่งก้านสาขา ทำให้ “สมองดี” เรียนรู้ได้ง่ายมีเหตุมีผล

เด็กชายเงื้อมหรือเงื่อม พานิช จะต้องได้รับเหตุปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้มีสมองดี

2. ไม่เชื่อง่าย

คนส่วนใหญ่ถูกทำให้เชื่อง่ายด้วยลักษณะของการเลี้ยงดูในครอบครัว การศึกษา ศาสนา กฎหมาย และวัฒนธรรม ซึงมีประโยชน์ในการที่ทำให้หมู่คณะทำอะไรเหมือนๆ กันเพื่อการเกาะกลุ่มและต่อสู้ แต่มีโทษคือ ขาดปัญญาที่จะแก้ปัญหา ซึ่งถ้าทำอย่างเดิมไปเรื่อยๆ แล้วแก้ปัญหาไม่ได้
ท่านพุทธทาสเรียนในโรงเรียนสามัญถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 และเรียนเปรียญธรรมได้ประโยค 3 แล้วปฏิเสธที่จะเรียนต่อไปและที่จะมีชีวิตอยู่แบบพระในเมือง ได้ออกไปอยู่ป่า ปฏิเสธการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ไม่เชื่อคำสอนแบบดาษดื่น ไม่เชื่อว่าสิ่งที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกจะเป็นพุทธวจนะทั้งหมด ไม่เชื่อว่าคัมภีร์ที่สำคัญๆ เช่น วิสุทธิมรรคจะถูกต้องไปหมด

นี่เป็นเคล็ดสำคัญที่ทำให้ท่านบรรลุปัญญาอย่างเอกอุ ถ้าเชื่อง่ายและทำตามกันไปเรื่อยๆ ก็เหมือนเดิม

พระพุทธองค์จึงทรงสอนเรื่องกาลามสูตร ที่ไม่ให้เชื่อง่ายเพราะเหตุ 10 ประการ คือ

1. เพราะทำตามกันมา

2. เพราะทำสืบๆ กันมา

3. เพราะข่าวได้ยินมา

4. เพราะอ้างปิฎก

5. เพราะนึกเดาเอา

6. เพราะคาดคะเน

7. เพราะตรึกตรองตามอาการ

8. เพราะถูกตามลัทธิของตน

9. เพราะผู้พูดควรเชื่อได้

10. เพราะผู้พูดเป็นครูของเรา

3. ปฏิเสธวัตถุนิยม

ท่านปฏิเสธลาภยศและการเสพติดทางวัตถุ ไปอยู่ป่ากินอยู่อย่างง่ายๆ ข้อนี้ทำให้ท่านได้สัมผัสกับธรรมชาติ มีเวลาที่จะคิดค้นมาก คำสอนของท่านจะเน้นเรื่อง “กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว” อยู่บ่อยๆ

“ลานหินโค้ง” อันมีชื่อเสียงเป็นสถานที่อเนกประสงค์ พระนั่งฉันกับพื้นทราย ญาติโยมนั่งตามพื้น ตามโคนต้นไม้ และท่านพุทธทาสชอบกล่าวว่า

“พระพุทธเจ้าประสูติที่พื้นดิน (สวนลุมพินี)”
“ตรัสรู้ที่พื้นดิน(ใต้ต้นโพธิ์)”“

และปรินิพพานที่พื้นดิน(ระหว่างต้นรังคู่)” “โบสถ์” ของสวนโมกข์ไม่มีอาคาร เป็นที่กลางแจ้ง มีผู้สร้างห้องน้ำถวายก็ไม่ใช้ สรงน้ำในโอ่งข้างนอก และนอนที่แคร่เล็กๆ ปณิธานอย่างหนึ่งของท่านคือ “นำเพื่อมนุษย์ออกจากวัตถุนิยม”

4. พุทธิจริต

ท่านพุทธทาสชอบศึกษาค้นคว้าเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งพระไตรปิฎก คำสอนมหานิกาย ศาสนาอื่น วิทยาศาสตร์ และเรื่องของสังคมโดยทั่วๆ ไป ทำให้ท่านมีความรู้กว้างขวางเชื่อมโยง และสามารถแสดงธรรมที่สอดคล้องกับเรื่องของชีวิตและสังคมได้ทุกแง่ทุกมุม
ปัญหาของพระส่วนใหญ่ขณะนี้คือ ไม่สามารถสื่อความหมายกับชาวบ้านได้ และชาวบ้านก็ไม่สนใจพระ เพราะเห็นว่า พระไม่เข้าใจปัญหาของเขา คงกราบไหว้ทำพิธีกรรมไปตามเรื่องตามราว แต่ไม่ได้รับประโยชน์จากพุทธธรรมจริงๆ

5. ชอบใช้ปัญญาเจาะลึก

ท่านพุทธทาสตรวจสอบพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ และพบหลักธรรมที่ลึกซึ้งอันยากต่อการเข้าใจ ที่ไม่ค่อยมีผู้ใดนำมาพูดกันเลยฝังอยู่เหมือน “เพชรในตม”

ท่านได้นำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาสอน เช่น อิทัปปัจจยตา และ ตถตา และเมื่อตรวจสอบปฏิจจสมุปบาท จนแน่ใจแล้ว ท่านลงความเห็นว่าการตีความปฏิจจสมุปบาทตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งรจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ ชาวอินเดีย อันพระภิกษุใช้ในการศึกษากันมาช้านานนั้นน่าจะไม่ถูก

ตรงนี้ท่านปรารภว่า ท่านจะขอเป็นไม้ซีกงัดไม้ซุง (พุทธโฆษาจารย์) เรื่องนี้จะได้กล่าวถึงต่อไป

6. อิทธิบาท 4 สูง

คนไทยโดยทั่ว ๆ ไปอิทธิบาท 4 ไม่ค่อยสูง ทำให้พัฒนายาก ท่านพุทธทาสนั้นต่างจากคนทั่วๆ ไปที่มีความขยันขันแข็งยิ่งนัก ทั้งทางการศึกษาตรวจค้น เขียน แสดงธรรม และอื่นๆ ทำให้มีผลงานเป็นหนังสือมากยิ่งกว่าพุทธสาวกใดๆ ศาลาธรรมโฆษณ์ที่โมกขพลารามบรรจุหนังสือที่ท่านเขียนและจากธรรมเทศนาของท่านเต็มทั้งหลัง ขณะนี้ท่านชราภาพมากและไม่ค่อยสบาย เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านปัญญานันทมุนีได้ติดต่อจะขอส่งพระ 250 รูป ไปยังสวนโมกข์เพื่อรับการอบรม ท่านว่าท่านอบรมไม่ไหว แต่ในฤดูแล้งงจะลองนอนอบรมบนเก้าอี้โยก! ดังความในจดหมายต่อไปนี้

โมกขพลาราม ไชยา

8 ธันวาคม 2529

น้องท่าน ที่นับถือ

ผมได้รับจดหมายเรื่องส่งพระ 250 รูป ไปยังสวนโมกข์ ในวันที่ 22 ธันวาคม 29 แล้ว แต่ในระยะนี้ ผมอยู่ในฐานะที่จะทำการอบรมพระไม่ได้ โรค (หัวใจโตเล็กน้อยตามที่หมอบอก) กำลังคุกคาม ไม่มีกำลังกาย เดินจากที่พักไปหินโค้งก็ไม่ได้ ต้องเดินค่อยๆ มีคนพยุงไปทำเหมือนกับหลับตาเดินช้าๆ ไปถึงก็หมดแรง มันร้อนและแน่นขึ้นมาเหมือนจะเป็นลม จะใช้ความคิดก็ไม่ได้ มันไม่ยอมคิด มันอยากนอน ถ้าบังคับให้คิด มันก็จะเป็นลม คือเงียบหายหมดสติเหมือนดังที่เคยเป็นคราวก่อน หลับคาเวทีกำลังพูดเมื่อคราวนั้น มีความรู้สึกเองว่า ปัจจัยแห่งชีวิตสังขารมันเหลือน้อยที่สุดแล้ว แต่ผมก็ยังไม่อยากตาย จึงถนอมชีวิตไว้ ไม่ฝืนทำอะไร ไม่ผืนคิดอะไร ตามนิสัยที่ทำอะไรก็จะทำให้ดีที่สุดบัดนี้เป็นฤดูฝน ความชื้นบีบบังคับ โรคก็เป็นมากขึ้น เป็นง่ายขึ้น ผมจึงแน่ใจว่า ไม่สามารถทำการอบรมพระในครั้งนี้ได้แน่นอน

แต่ผมก็ยังคิดไปเล่นๆ ว่า ขอให้มีการสอบไล่คัดเลือกพระจำนวนนี้ โดยหลักสูตรที่เหมาะสม และเลือกเอาผู้ที่สอบได้ เลยที่ 1 ถึง 50 หรืออย่างมากก็ 70 แล้วส่งไปในฤดูแล้งหลังเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว หรือเมษา-พฤษภาก็ยิ่งดี ผมจะลองนอนอบรมบนเก้าอี้โยกดูอีกสักทีหนึ่งจะได้หรือไม่ แต่ขออย่าให้เกิน 73 รูปเลย ผมเบื่อกากเดนพระธรรมทายาทที่มีอยู่เป็นอันมาก ในการอบรมครั้งที่แล้วมา ความเบื่อนี้แสลงแก่โรคหัวใจของผมอย่างเหลือเกิน ฤดูแล้งผมคงจะสบายขึ้นบ้างผมยังมีความคิดเห็นต่อไปว่า ถ้าจะมีการรับพระธรรมทายาทอีกขอให้มีการสอบคัดเลือกว่ามีความรู้พื้นฐานพอที่จะรับการอบรม ถ้าคิดหลักสูตรอย่างอื่นไม่ออกขอให้ใช้หนังสืออบรมธรรมเล่น

1 เล่ม 2 ในชุดธรรมโฆษณ์ เป็นหลักสูตรการศึกษาว่า เขามีความรู้ขั้นพื้นฐานสำหรับรับการอบรมหรือไม่ ถ้าสอบได้ จึงรับเข้ามาอบรม ซึ่งหวังว่าคงจะไม่มีกากเดนธรรมทายาทติดเข้ามากนัก นี่เป็นเพียงความคิดเห็นเท่านั้น จะเป็นอย่างไรขอได้พิจารณาดูเถิด

อนึ่ง สำหรับการเป็นอยู่ที่สวนโมกข์นั้น จะต้องให้เป็นหลักสูตรของการอบรมไปด้วย คือ ฝึกหัดอยู่ด้วยชีวิตแบบเรียบง่ายที่สุด แบบต่ำสุดอย่างที่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกเคยได้รับมาแล้ว ตามข้อความในวรัญภัณฑ์ของพระไตรปิฎกเล่มแรกทีเดียว คือกินข้าวตาก ขยำน้ำไม่มีแกงมีกับ แต่ว่าเราจะไม่ถึงขนาดนั้นดอก เอาแต่เพียงว่า ข้าวกับกับข้าวอย่างเดียว หนึ่งมื้อต่อหนึ่งวัน ดังนี้แล้ว จะเป็นการดีแก่การอบรม และอยู่ในฐานะที่สวนโมกข์พอจะรับไหว สำหรับพระชุดหนึ่ง 73 รูป ประชาชนที่เคยช่วยเหลือก็อยู่ในฐานะเศรษฐกิจตกต่ำ และได้รับการรบกวนมากเกินไป การเงินของสวนโมกข์ก็อยู่ในลักษณะชักหน้าถึงหลังไปเดือนหนึ่งๆ เท่านั้น แต่เราก็ยังรักการเผยแพร่พระศาสนาผมยังมีความเห็นเลยต่อไปถึงว่า ประโยชน์ที่ได้รับจาก

“มูลนิธิท่านพุทธทาส” นั้นควรจะใช้ไปเฉพาะในการพิมพ์หนังสือในภาษาอังกฤษเท่านั้น และสำหรับการเผยแผ่ที่มิใช่การขาย แต่ถ้าใครจะเอาไปพิมพ์ขายก็ได้ตามใจเขา ส่วนเราจะแจกฟรีไปต่างประเทศเหมือนที่มูลนิธิที่ประเทศญี่ปุ่นเขากำลังทำกันอยู่ เคยได้รับบ่อยๆ สวยงามมาก เรื่องดี แล้วแจกไปตามโรงแรม โรงพยาบาล หรือสถานที่ที่ควรแจกก็คงจะมีผลเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาส่วนหนึ่งเป็นแน่นอน การอบรมฝรั่งที่แล้วๆ มาก็ได้บันทึกไว้เป็นภาษาอังกฤษที่พร้อมที่จะพิมพ์ก็มีอยู่เป็นอันมาก แต่นี่ก็เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น ขอให้คณะกรรมการพิจารณาเอาเอง เพราะงานส่วนนี้เอง ประเทศไทยเรายังด้อยอยู่มาก จึงขอให้พิจารณาโดยแยบคาย

ผมหวังว่าน้องท่านยังจะมีสุขภาพดี แต่ก็อยากจะขอร้องว่าให้ควบคุมปัจจัยแห่งชีวิตสังขารไว้ให้ถูกต้อง เดี๋ยวจะมีอาการทุพพลภาพเหมือนผม เร็วกกว่าที่ควรจะเป็น ขออย่าได้ประมาทเลย

ด้วยธรรมะ พร และเมตตา

พ. อินทปัญโญ

7. มีความสนใจและความสามารถในการถ่ายทอด

พระบางรูปมีธรรมะสูงแต่อบรมใครไม่เป็น ดังที่มีคำเรียกว่า “อรหันต์แห้ง” ท่านพุทธทาสสนใจในการถ่ายทอดธรรมะมาก เช่น เทศน์ เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้านตั้งแต่ยังหนุ่ม ออกหนังสือพุทธศาสนาทำให้ธรรมะจากสวนโมกข์กระจายไปโดยรวดเร็ว ถึงแม้ท่านจะปฏิเสธวัตถุนิยมดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่ถ้าเป็นวัตถุเพื่อสอนธรรมแล้วดูท่านจะชอบเป็นพิเศษ พระที่สวนโมกข์นั้นเชี่ยวชาญทั้งอัดเทปถอดเทป ท่านยังให้สร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ รูปปั้นรูปวาดอันเป็นปริศนาธรรม ท่านก็ชอบให้สร้างขึ้นไว้

ลักษณะทั้ง 7 ประการที่กล่าวมานี้ หาใช่จะมีแต่ในองค์ท่านพุทธทาส พระรูปอื่นๆ ก็มีบางข้อ มากบ้างน้อยบ้าง แต่ที่จะมีครบทั้ง 7 อย่าง และเป็นอย่างมากหาได้ยากยิ่ง เอกลักษณะดังกล่าวร่วมกันทำให้เดความเป็น “พุทธทาส” อย่างที่ท่านเป็น

*******************************************

เอกสารอ้างอิง: จากหนังสือสวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก หน้า 1-10
ผู้แต่ง: โดย ศ.นพ. ประเวศ วะสี – dmhstaff@dmhthai.com – 6/6/2005

*******************************************
http://www.km.rtaf.mi.th/index.php/menu75/61-2009-09-04-07-38-55

. . . . . . .