ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
ชีวประวัติ
เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
(เดิมเขียนว่า)”พระพุทธธาจารย์” เห็นจะเทียมด้วยนามพระพุทธโฆษาจารย์
เปลี่ยนเป็น “พระพุฒาจารย์” ในรัชกาลที่ ๔
************************************************
พระคาถาชินบัญชร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ชาติภูมิ
เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี นามเดิมว่า “โต” (กล่าวกันว่าเมื่อเป็นเด็ก รูปร่างท่านแบบบาง ผู้ใหญ่จึงตั้งชื่อให้ตรงกันข้าม (ข่มนาม) ว่า “โต” ) นามฉาย าว่า “พฺรหมรังสี” เกิดในรัชกาลที่ ๑ (สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว๗ ปี) ณ บ้านตำบลไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๕๐ เวลาพระบิณฑบาต (ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑
มีผู้รู้ตำราโหราศาสตร์ได้ผูกดวงชาตาของท่านไว้ดังนี้ (ในหนังสือ “ประวัติขรัวโต” ของพระยาทิพโกษากล่าวว่า ดวงชะตาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (ผู้สร้างพระกริ่งปวเรศน์ผู้เขียน) ทรงคำนวณถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ด้วยมีพระประสงค์จะทรงทราบว่า ผู้มีอายุตั้งแต่ ๘๐ ปีขึ้นไปจะมีดวงชะตาเป็นอย่างไร แล้วพระราชทานไปยังสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ซึ่งได้ประทานให้แก่พระยาทิพโกษา ลอกคัดเก็บรักษาไว้อีกต่อหนึ่ง ดวงชะตาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่ว่านี้ลัคนาสถิตราศีใดหาทราบไม่ แต่ได้ค้นพบในที่อื่นอยู่ในหอพระสมุดแห่งชาติ ปรากฏว่าโหรวางลัคนาไว้ในราศีเมษ แต่พบในที่อื่นอยู่ในราศรีพฤษภ. (มหาเฮง วัดกัลยาณ์)
สำหรับดวงที่ท่านเห็นอยู่นี้ ผูกขึ้นจากข้อมูลการเกิดข้างต้น เพียงแต่ลงตำแหน่งดาวเพิ่มขึ้นจากเดิม ๓ ดวง คือ เนปจูน (น) พลูโต (พ) และแบคคัส (บ) โดยได้วางลัคนาไว้ที่ราศีพฤษภ เนื่องจากช่วงเวลาที่พระบิณฑบาตร กว่าจะออกจากวัดตอนหกโมงเช้า พายเรือมากว่าจะถึงบ้านโยม ก็คงใช้เวลาอย่างน้อยเป็นชั่วโมง เพราะต้องรับบาตรเรื่อยมา เวลาที่ลงไว้ เมื่อวางลัคนา และเทียบกับอัตตชีวประวัติ ตลอดจนอุปนิสัยของท่านแล้ว เชื่อว่า ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง มากกว่าที่จะอยู่ในราศีเมษ (อ.เล็ก พลูโต )
วงศ์สกุล
วงศ์สกุลของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ กล่าวกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นพระราชโอรส ในพระองค์พระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และตลอดจนชั้นสามัญชนทั่วไป ก็เข้าใจกันว่าเป็นเช่นนั้น แต่เรื่องนี้ไม่เป็นที่กระจ่างแจ้งจึงไม่ขอยืนยัน มารดาชื่อเกสร (ธิดานายชัย) เดิมเป็นชาวบ้านตำบลท่าอิฐ อำเภอท่าโพธิ์ ต่อมาในสมัยหนึ่งการทำนาไม่ได้ผลเพระฝนแล้งมาหลายปี จึงย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ ณ บ้านไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่อย่างน้อยที่สุดท่านต้องเป็นเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์จักรี (ความปรากฏในจดหมายเหตุบัญีน้ำฝน ของสมเด้จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เล่น ๓ หน้า ๔๔ ว่า
“…วันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ (ต้น) ปีวอก จุล. ๑๒๓๔ เวลา ๒ ยาม สมเด้จพระพุฒาจารย์ถึง “ชีพิตักษัย…..” ดังนี้ส่อให้เห็นว่าท่านต้องเป็นเชื้อพระราชวงศ์) กล่าวกันว่าเมื่อท่านเกิดแล้ว ขณะที่ท่านยังเป็นทารกนอนเบาะ มารดาพาท่านไปพักอยู่ที่บ้านตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง พอท่านสอนเดินได้ มารดาก็พาท่านมาอยู่ ณ บ้านตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนครสืบมา (ในกาลหลังท่านจึงได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ไว้ ณ ตำบลทั้งสามเป็นอนุสรณ์)
อุปสมบทและการศึกษา
ปรากฏว่าเมื่อเยาว์วัย ท่านได้รับการศึกษาอักขรสมัยในสำนัก เจ้าคุณอรัญญิก (เจ้าคุณอรัญญิกเป็นชาวเวียงจันทน์ เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระ มีคนนับถือมาก นามเดิมของท่านเข้าใจว่าชื่อแก้ว) วัดอินทรวิหาร (วัดนี้เป็นวัดโบราณ ใครสร้างไม่ปรากฏที่กล่าวในหนังสือ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้สร้างนั้น เห็นจะหมายความว่า ท่านได้ปฏิสังขรณ์เป็นครั้งแรก เดิมเรียกว่า “วัดบางขุนพรหมนอก” ต่อมาพระองค์เจ้าอินทวงศ์ในกรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๓ ทรงปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอินทรราม ภายหลัง (ในรัชกาลที่ ๖) ทางการคณะสงฆ์ พิจารณาเห็นว่านามพ้องกับวัดอินทาราม (วัดบางยี่เรือใต้) คลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี จึงเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดอินทรวิหาร” ปรากฏสืบมาจนทุกวันนี้
วัดอินทรวิหาร (วัดนี้เป็นวัดโบราณ ใครสร้างไม่ปรากฏ ที่กล่าวในหนังสือเรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้สร้างนั้นเห็นจะหมายความว่าท่านได้ปฏิสังขรณ์เป็นครั้งแรก เดิมเรียกว่า “วัดบางขุนพรนอก” ต่อมาพระองค์เจ้าอิทรวงศ์ในกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๓ ทรงปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอินทรราม ภายหลัง (วัดบางยี่เรือใต้) คลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี จึงเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดอินทรวิหาร” ปรากฏสืบมาจนทุกวันนี้
ครั้นอายุ ๑๒ ปี ในปีวอก พ.ศ. ๒๓๔๓ ได้บรรพชาเป็นสามเณร (จะบรรพชาที่วัดสังเวชฯ หรือวัดอินทรวิหารไม่ทราบแน่ แต่สันนิษฐานว่าจะบรรพชาที่วัดอินทรวิหาร ด้วยเป็นสำนักที่ท่านเคยอยู่และศึกษาอักขรสมัยมาแต่แรก) เจ้าคุณบวรวิริยเถร (อยู่) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม (เวลานั้นเรียกว่าวัดบางลำพูบน) จังหวัดพระนคร เป็นอุปัชฌาย์ ต่อมาจะเป็นปีใดไม่ปรากฏ ได้ย้ายสำนักมาอยู่วัดระฆังฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป
ในตอนที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะย้ายมาอยู่วัดระฆังฯ นั้นมีเรื่องเล่าว่า คืนวันหนึ่งพระอาจารย์ (เห็นจะเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) เปรียญเอก) นอนหลับฝันไปว่ามีช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านจนหมดสิ้น แล้วตกใจตื่น ท่านได้พิจารณาลักษณะการที่ฝันเห็นว่า “ชะรอยจะมีคนนำเด็กมาฝากเป็นศิษย์ และเด็กนั้นต้องกอปรไปด้วยสติปัญญาอันสูงส่ง ต่อไปจะเป็นผู้ทรงคุณเป็นอย่างวิเศษผู้หนึ่ง” ครั้นรุ่งเช้าท่านจึงสั่งพระและเณรว่า วันนี้ถ้ามีใครนำเด็กมาขอให้รอยพบท่านให้จนได้ เผอิญในวันนั้น
เจ้าคุณอรัญญิกได้พาสามเณรโตมาถวายเป็นศิษย์ศึกษาพระปริยัติธรรม พระอาจารย์นั้นก็ยินดีรับไว้ ด้วยพิเคราะห์เห็นพฤติการณ์เป็นจริงตามความฝัน
ในสมัยที่เป็นสามเณร ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดปรานมากทรงรับไว้ในราชูปถัมภ์ถึงกับได้พระราชทานเรือกราบกันยาหลังคากระแชงให้ท่านไว้ใช้ในกิจการส่วนตัว ( ความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ ว่า “พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๓ ที่นั่งก็ทรงเรือกราบกันยาหลังคากระแชงอย่างพระองค์เจ้า ไม่คาดสีเหมือนเรือเจ้าฟ้า นี้แสดงให้เห็นว่า เรือกราบกับยาหลังคากระแชงเป็นเรือเฉพาะพระองค์เจ้าทรง) แม้พระบาทพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ทรงพระเมตตา ครั้นอายุครบอุปสมบทเมื่อปีเถาะ จุล ๑๑๖๙ (พ.ศ. ๒๓๕๐) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้บวชเป็นนาคหลวง ที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุยุวราชสังสฤษดิ์ เป็นอุปัชฌาย์ (วัดนี้เดิมชื่อว่า วัดสลัก สมเด็จพระอนุชาธิราช (ในรัชกาลที่ ๑) กรมพระราชชวังบวรสถานมงคล ทรงปฏิสังขรณ์โดยให้สร้างพระอุโบสถ พระวิหาร และสร้างเจดีย์เล็กๆ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ให้ก่อพระระเบียงรอบ และสร้างกุฎีตึก ๓ หลัง พระราชทานพระวันรัตเจ้าอาวาส และสร้างกุฏีเครื่องไม้ฝากระดานเป็นเสนาสนะ พอแก่พระสงฆ์ทั้งอาราม แล้วสร้างกำแพงล้อมรอบพระอารามด้วย ครั้นเมื่อทรงปฏิสังขรณ์แล้ว จึงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดนิพพานาราม
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเปลี่ยนนามเสียใหม่ว่า วัดศรีสรรเพชญ์ ครั้นต่อมาอีกทรงพระราชดำริเห็นว่าวัดมหาธาตุยังไม่มี และก็วัดมหาธาตุเป็นที่อยู่ของสมเด็จพระสังฆราชแล้ว และครองอยู่ที่วัดนี้ (คนละองค์กับสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน แต่ชื่อสุกเหมือนกัน) จึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นมหาธาตุฯ ตามตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมาจนทุกวันนี้ อนึ่งสมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์นี้เป็นพระฝ่ายคันถธุระ และเป็นอุปัชฌาย์ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตลอดจนการสั่งสอนพระปริยัติธรรมด้วย)
เรื่องประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อันเนื่องด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ได้ฟังผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า ท่านได้เล่าเรียนในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) เปรียญเอก วัดระฆัง เป็นพื้น และได้เล่าเรียนต่อสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุบ้าง นอกจากนี้จะได้เล่าเรียน ที่ใดอีกบ้าง หาทราบไม่ เล่าว่าเมื่อเป็นนักเรียนท่านมักได้รับคำชมเชยจากครูบาอาจารย์เสมอว่ามีความทรงจำดี ทั้งมีปฏิภาณอัดยอดเยี่ยม ดังมีเรื่องเล่าขานกัว่าเมื่อท่านเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระสังฆราชนั้น ก่อนจะเรียนท่านกำหนดว่า วันนี้ท่านจะเรียนตั้งแต่นี่ถึงนั่น ครั้นถึงเวลาเรียนท่านก็เปิดหนังสือออกแปลตลอด ตามที่กำหนดไว้ท่านทำดังนี้เสมอ จนสมเด็จพระสังฆราชรับสั่งว่า “ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก”
ยังมีข้อน่าประหลาดอีกอย่างหนึ่ง ที่ท่านเรียนรู้ปริยัติธรรมแต่ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญ (ในสมัยก่อนนั้น การสอบพระปริยัติธรรมไม่ได้ออกเป็นข้อสอบเหมือนทุกวันนี้ การสอบในครั้งนั้นต้องสอบพระปริยัติธรรมต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการสอบด้วยปากเปล่า สุดแต่ผู้เป็นประธานกรรมการ และกรรมการจะสอบถามอย่างใด ต้องตอบให้ได้ ถ้าตอบไม่ได้ก็หมายความว่าตกเพียงแค่นั้น) และแปลกยิ่งกว่านั้นก็คือ มีผู้เรียกท่านว่ามหาโตมาตั้งแต่แรกบวช ( ปรากฏในบัญชีรายนามพระสงฆ์พระราชทานฉันและสดัปกรณ์ราย ๑๐๐ ในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา รัชกาลที่ ๓ วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ แต่ไม่ลงปี มีนามเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เขียนว่า “มหาโต เปรียญเอก บางแห่งว่า มหาโต เปรียญ ๔ ประโยคแรก) แต่บางคนเรียกว่า “ขรัวโต”
ทั้งนี้เพราะเห็นว่าท่านมักชอบทำอะไรแปลกๆ ไม่ซ้ำแบบใคร นี้เป็นเรื่องธรรมดาของอัจฉริยบุคคล ซึ่งตามปรกติคนส่วนมาก ไม่ค่อยเข้าใจในอัจฉริยภาพอันมีความหมายสูง อัจฉริยบุคคลแทบทุกท่านเมื่อยังมีชีวิตอยู่ มักจะมีผู้เข้าใจว่าบ้าเสมอ มีมติอยู่ข้อหนึ่งว่า ” อัจฉริยบุคคลและคนบ้านั้นอยู่ห่างกันเพียงก้าวเดียว” ว่าถึงความรอบรู้พระปริยัติธรรม ปรากฏว่าท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก มีชื่อทั้งเป็นผู้เรียนก็เรียนเก่งกว่าใคร เป็นครูก็สอนได้ดีเยี่ยม มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ศิษย์ที่เป็นเปรียญเอกและทรงสมณศักดิ์สูงคือหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) วัดพระเชตุพน
ต่อไปจะกล่าวถึงการศึกษาวิปัสสนาธุระของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก่อนจะกล่าวในเรื่องนี้จำจะต้องอธิบายถึงเรื่องวิปัสสนาธุระก่อน
การเรียน “วิปัสสนาธุระ” นั้น คือเรียนวิธีที่จะชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลส (การเรียน “คันถธุระ” หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “พระปริยัติธรรม” คือเรียนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วยพยายามอ่านพระไตรปิฏกให้รอบรู้ในพระธรรมวินัย แต่การเรียนคันถธุระนั้นต้องเรียนหลายปี เพราะต้องเรียนภาษามคธก่อน ต่อเมื่อรู้ภาษามคธแล้วจึงจะอ่านพระไตรปิฏกเข้าใจได้) ผู้ที่บวชพรรษาเดียวไม่มีเวลาพอที่จะเรียนคันถธุระ จึงมักเรียนวิปัสสนาธุระอันเป็นการภาวนา อาจเรียนได้ด้วยไม่ต้องรู้ภาษามคธ และถือกันอีก อย่างหนึ่งว่า ถ้าเรียนวิปัสสนาธุระชำนาญแล้วอาจจะทรงวิเศษในทางวิทยาคมเป็นประโยชน์อย่างอื่นตลอดจนวิชาพิชัยสงคราม เพราะฉะนั้น ผู้ซึ่งบวชแต่พรรษาเดียว จึงมักศึกษาวิปัสสนาธุระเป็นประเพณี มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถึง สมัยรัตนโกสินทร์นี้ ผู้ที่บวชแต่พรรษาเดียวหรือหลายพรรษาก็นิยมศึกษาวิปัสสนาธุระกันแพร่หลาย (หนังสือ “ความทรงจำ” พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “….เมื่อพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชในรัชกาลที่ ๑ ก็ทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ เพราะฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดให้ทำตามเยี่ยงอย่าง ครั้นพระองค์ทรงผนวช ทรงรับอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ณ ตำหนักในวัดมหาธาตุทำอุปชฌายวัตร ๓ วัน แล้วเสด็จไปจำพรรษาทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ ณ วัดสมอราย ซึ่งพระราชทานนามว่า “วัดราชาธิวาส” เมื่อรัชกาลที่ ๔) ว่าโดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๒ การศึกษาวิปัสสนาธุระเจริญรุ่งเรือง ด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทำนุบำรุงวิทยาประเภทนี้ โดยโปรดให้อาราธนาพระภิกษุที่ทรงคุณวุฒิ ในทางวิปัสสนาธุระ ทั้งในกรุงและหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ มารับพระราชทานบาตร์ ไตรจีวร กลด และบริกขารอันควรแก่สมณะฝ่ายอรัญวาสี แล้วทรงแต่งตั้งเป็น พระอาจารย์ บอกพระกัมมัฏฐานแก่พระสงฆ์สามเณรและคฤหัสถ์ (ความพิสดารปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ ปีมะเส็งตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ (พ.ศ. ๒๓๖๔ เลขที่ ๗)
การศึกษาวิปัสสนาธุระและมายาศาสตร์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น สันนิษฐานว่าท่านจะได้เล่าเรียนในหลายสำนัก ด้วยในสมัยนั้น (โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๒) การศึกษาวิปัสสนาธุระเจริญแพร่หลายนัก มีครูอาจารย์ผู้ทรงเกียรติคุณอยู่มากดังกล่าวแล้ว แต่ที่ทราบเป็นแน่นอนนั้นว่า ในชั้นเดิมท่านได้เล่าเรียนในสำนักเจ้าคุณอรัญญิก (แก้ว) วัดอินทรวิหารและในสำนักเจ้าคุณบวรวิริยะเถระ (อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม และดูเหมือนจะได้เล่าเรียนจนมีความรู้เชี่ยวชาญแต่เมื่อยังเป็นสามเณร ด้วยปรากฏว่า เมื่อเป็นสามเณรนั้น ครั้งหนึ่งท่านได้เอาปูนเต้าเล็ก ๆ ไปถวายเจ้าคุณบวรฯ ๑ เต้า กับถวายพระในวัดนั้นองค์ละ ๑ เต้า เวลานั้นไม่มีใครสนใจ มีพระองค์หนึ่งเก็บปูนนั้นไว้ แล้วปั้นเป็นลูกกลม ๆ สัก ๓-๔ ลูก ภายหลังกลายเป็นลูกอมศักดิ์สิทธิ์เลื่องลือกันขึ้นดังนี้ ต่อมาในภายหลัง ได้เข้าศึกษามายาศาสตร์ต่อที่สำนักพระอาจารย์แสง จังหวัดลพบุรีอีกองค์หนึ่ง (พระราชนิพนธ์สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในคราวเสด็จประพาศมณฑลอยุธยาเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑ ความตอนหนึ่งว่า “….ขรัวแสง คนทั้งปวงนับถือกันว่าเป็นผู้มีวิชา เดิมตั้งแต่เมืองลพบุรีเข้าลงไปเพลที่กรุงเทพฯ ได้ เป็นคนกว้างขวาง เจ้านายขุนนางรู้จักหมด ได้สร้างพระเจดีย์สูงไว้องค์หนึ่งที่วัดมณีชลขันธ์ (คือวัดเกาะ ซึ่งเจ้าพระยายมราช (เฉย) ต้นสกุล ยมาภัย สร้าง) ตัวไม่ได้อยู่ที่วัดนี้ หน้าเข้าพรรษาไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอื่น ถ้าถึงออกพรรษาแล้วมาปลูกโรงอยู่ริมพระเจดีย์ ๒ องค์นี้ ซึ่งก่อเองคนเดียวไม่ยอมให้คนอื่นช่วย ราษฎรที่นับถือพากันช่วยเรี่ยไรอิฐปูน และพระเจดีย์องค์นี้เจ้าของจะทำแล้วเสร็จตลอดไป หรือจะทิ้งผู้อื่นช่วย เมื่อตายแล้ว ไม้ได้ถามดู ของเธอก็สูงดีอยู่…..)
พระอาจารย์องค์สำคัญที่สุดของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คือสมเด็จพระสังฆราช “ไก่เถื่อน (สุก) (สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์นี้ เดิมอยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม ในแขวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ดูพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑) เมื่อรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงอาราธนามาตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระญาณสังวร ด้วยทรงเห็นว่าเป็นผู้มีชื่อเสียงในทางวิปัสสนาธุระเป็นที่นับถือของชนทั้งหลาย ถึงกับกล่าวกันว่า ทรงไว้ซึ่งเมตตาพรหมวิหารแก่กล้าถึงกับสามารถเลี้ยงไก่เถื่อน ให้เชื่องได้เหมือนไก่บ้าน ทำนองเดียวกับที่สรรเสริญพระสุวรรณสาม โพธิสัตว์ในเรื่อชาดก ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อพ.ศ. ๒๓๖๓ คนทั้งหลายจึงพากันถวายพระฉายานามว่า “พระสังฆราชไก่เถื่อน” และได้เสด็จมาประทับ ณ วัดมหาธาตุเพียง ๑ ปี ก็สิ้นพระชนม์ทรงพระชันษาได้ ๙๐ เมื่อถวายพระเพลิงศพแล้ว โปรดฯ ให้ปั้นรูปบรรจุอัฎฐิไว้ในกุฏีหลังหนึ่ง ด้านหน้าพระอุโบสถ
อนึ่งในตอนที่ถูกอาราธนามาจากวัดท่าหอยนั้น ท่านขออยู่วัดอรัญญิก จึงโปรดให้อยู่วัดพลับ แล้วสร้างพระอารามหลวงเพิ่มเติมออกมาอีก และเจ้านายที่ทรงผนวชในรัชกาลที่ ๑ นั้น ต้องไปศึกษาวิปัสสนาธุระในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (ขณะที่ทรงเป็นพระญาณสังวร) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็ดี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ดี ตลอดจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ดี ล้วนเคยศึกษาวิปัสสนาธุระมาจากสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ทั้งนั้น อัจฉริยภาพ ในการสร้างพระสมเด็จฯ นั้น เข้าใจว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้รับการศึกษามาจากพระอาจารย์พระองค์นี้ กล่าวคือ พระวัดพลับ ของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) นี้ (สร้างตอนดำรงสมณศักดิ์เป็นพระญาณสังวร ครองวัดพลับวัดนี้อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งเหนือ จังหวัดธนบุรี เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตัววัดเดิมอยู่ทางด้านริม เดี๋ยวนี้ค่อนไปทางตะวันตก ) เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงอาราธนา พระอาจารย์สุก (สังฆราชไก่เถื่อน) มาจากวัดหอย จังหวัดพระนาคศรีอยุธยานั้น ท่านขออยู่วัดอรัญญิก จึงโปรดให้อยู่วัดพลับแล้วสร้างพระอารามหลวงเพิ่มเติมขยายออกมาอีก สมเด็จพรพระญาณสังวรนี้ ทรงเป็นพระอาจารย์ทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระเจ้านายมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็ดี ล้วนเคยศึกษาวิปัสสนาธุระ ในสำนักสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ทั้งนั้นที่วัดนี้ยังมีตำหนักจันทร์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อทรงผนวช นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ยังโปรดให้ซ่อมพระอาราม แล้วพระราชทานเปลี่ยนนามวัดเสียใหม่ว่า “วัดราชสิทธาราม” ถึงในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดให้สร้างพระเจดีย์ ทรงเครื่องไว้ข้างหน้าพระอาราม ๒ องค์ ๆ หนึ่งนามว่า “พระศิราลพเจดีย์”(พระเจดีย์องค์นี้ทรงอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อีกองค์หนึ่ง ทรงขนานนามว่า “พระศิราจุมพฎเจดีย์” (พระเจดีย์พระองค์นี้ทรงสร้างเป็นส่วนพระองค์เอง ทั้งนี้เพื่อเป็นที่ระลึกว่า ได้เคยมาทรงศึกษาพระวิปัสสนา ในสำนักสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ) เมื่อพิเคราะห์ดูแล้วจะเห็นได้ว่า มีลักษณะของเนื้อ เหมือนเนื้อของพระสมเด็จฯ (ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ) ที่สุด แต่พระวัดพลับมีอายุในการสร้างสูงกว่า
พระสมเด็จฯฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เอาแบบอย่างส่วนผสมผสานมาดัดแปลง และยิ่งพระสมเด็จฯพิมพ์ทรงหลังเบี้ยด้วยแล้วก็ยิ่งสังเกตได้ว่า ดัดแปลงเค้าแบบมาจากพระวัดพลับทีเดียว
อนึ่ง การทรงไว้ซึ่งความเมตตากรุณา อันเป็นที่รักแห่งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานนั้นเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีคุณลักษณะคล้ายคลึงสมเด็จพระสังฆราชพระอาจารย์พระองค์นี้มาก เข้าใจว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีความเลื่อมใสและเจริญรอยตามพระอาจารย์แทบทุกอย่าง นอกจากนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะได้ศึกษาวิปัสสนาธุระมายาศาสตร์มาเป็นเวลาช้านานอย่างไรไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าท่านได้ศึกษาจนมีความรู้ความชำนาญ ทั้งในคันถธุระ, วิปัสสนาธุระ และมายาศาสตร์ กับมีคุณวุฒิอย่างอื่นประกอบกันเป็นอันมาก ท่านจึงเป็นผู้ทรงคุณ วิเศษเป็นมหัศจรรย์ยิ่งนัก นับได้ว่าเป็นวิสามัญบุรุษหรืออัจฉริยบุคคลที่หาได้ยากที่สุดในโลกคนหนึ่งความที่กล่าวข้อนี้มีมูลความจริง ที่จะพิสูจน์ได้ จากเรื่องราวในชีวประวัติของท่านซึ่งจะบรรยายต่อไปข้างหน้า
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ที่ไม่ปรากฏนายศศักดิ์ แม้เรียนรู้พระปริยัติธรรมก็ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญ และไม่ยอมรับเป็นฐานนานุกรมในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ ท่านทูลขอตัวเสีย เล่ากันว่า เพราะท่านเกรงว่าจะต้องรับพระราชทานสมณศักดิ์ ท่านจึงมักหลบหนีไปพักแรม ณ ต่างจังหวัดห่างไกลเนื่องๆ (ว่าโดยมากไปธุดงค์) บางทีก็เลยไปถึงประเทศเขมรก็มี (ดูตอนประวัติการสร้างพระสมเด็จฯ ประกอบ) ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่าคุณธรรม ของท่านยิ่งหย่อนเพียงไร จึงทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิตติ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ เวลานั้นท่านมีอายุได้ ๖๕ ปีแล้ว แต่จะทรงตั้งในวันเดือนใดไม่ปรากฏ ปรากฏในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๔ จุลศักราช ๑๒๑๔ (พ.ศ.๒๓๙๕) เล่น ๑๘ ตอนหนึ่งความว่า “…อนึ่ง เพลาเช้า ๓ โมง นายพันตำรวจวังมาสั่งว่า ด้วยพระประสิทธิศุภการรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งว่าทรงพระราชศรัธาให้ถวายนิตยภัตน์พระธรรมกิตติ วัดระฆังฯ เพิ่มขึ้นไปอีก ๒ บาท เข้ากับเก่าใหม่เป็นเงินเดือนถวายพระธรรมกิตติอีก ๒บาท ตั้งแต่เดือนยี่ ปีชวด จัตวาศก ไปจนทุกเดือนทุกปีอย่าให้ขาดได้…..”
ในตอนพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระธรรมกิตติ มีเรื่องเกร็ดเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถามเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า “เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ทำไม่ท่านจึงหนี ไม่ยอมรับยศศักดิ์ ต่อที่นี้ทำไมจึงยอมรับไม่หนีอีก” ท่านถวายพระพรว่า “รัชกาลที่ ๓ ไม่ได้ทรงเป็นเจ้าฟ้า (คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เป็นเจ้าฟ้าลูกยาเธอ เป็นแต่พระองค์เจ้า) เป็นแต่เจ้าแผ่นดินเท่านั้น ท่านจึงพ้น ส่วนมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า เป็นทั้งเจ้าฟ้าและเจ้าแผ่นดินท่านจะหนีไปทางไหนพ้น” เราย่อมทราบได้ว่านี่ไม่ใช่เหตุผล แต่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ใช้ปฏิภาณตอบเลี่ยงไปในทำนองตลกได้อย่าง งดงามกล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล ไม่ตรัสว่ากระไร (และคงจะเป็นเพราะไม่ทรงทราบว่าจะตรัสว่ากระไรดีกระมัง-ผู้เขียน) แล้วโปรดให้มาครองวัดระฆังฯ (วัดนี้เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ขึ้นครองราชย์ ทรงแต่ตั้งสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพุฒาจารย์ และ
พระพิมลธรรม (ไม่ทราบนามทั้ง ๓ องค์) ให้ทรงสมณศักดิ์ตามเดิม (ถูกพระเจ้ากรุงธนฯ ถอด) และให้สมเด็จพระสังฆราช มาครองวัดบางหว้าใหญ่ ทรงให้รื้อตำหนักทองของพระเจ้ากรุงธนฯ ไปปลูกเป็นกถฏถวายสมเด็จพระสังฆราชและทรงปฏิสังขรณ์ทั่วๆ ไป เสร็จแล้วทรงเปลี่ยนนามวัดว่า วัดระฆังโฆสิตาราม ดังปรากฏสืบมาทุกวันนี้)
ครั้นเสร็จพระราชพิธีแล้ว ท่านก็ออกจากพระบรมมหาราชวังข้ามไป วัดระฆังฯ หอบเครื่องไทยธรรม ถือพัดยศและย่ามมาเอง ใครจะรับก็ไม่ยอมส่งให้ เที่ยวเดินไปรอบวัดร้องบอกกล่าวดังๆว่า “ในหลวงท่านให้ฉันมาเป็นสมภารวัดนี้จ๊ะ” พวกพระเณรและคฤหัสถ์ที่มาคอยรับต่างพากันเดินตามท่านไปเป็นขบวน เมื่อบอกกล่าวเขารอบๆวัดแล้ว ท่านจึงขึ้นกุฏิ (มิใช่เป็นการโอ้อวดหรือปิติยินดี แต่เป็นการแฝงไว้ซึ่งอัจฉริยภาพอันหนึ่งที่มองโลกไปในแง่แห่งความขบขัน คือหนีการแต่งตั้งไม่พ้น-ผู้เขียน)
ต่อมาอีก ๒ ปี ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๗ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวีครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศมรณภาพ จึงทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เป็นสมเด็จพระพุฒจารย์องค์ที่ ๕ ในกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวตามลำดับดังนี้ คือ
๑. สมเด็จพระพุฒจารย์ (ไม่ทราบนามเดิม) อยู่วัดอมรินทร์ (ซึ่งครั้งนั้นเรียกว่าวัดบางว้าน้อย) ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์กล่าวว่าต้องถูกถอดถูกเฆี่ยนด้วยไม่ยอมถวายบังคมพระเจ้ากรุงธนบุรี ถึงรัชกาลที่ ๑ จึงโปรดให้เป็นสมเด็จพระพุฒจารย์ตามเดิม
๒. สมเด็จพระพุฒจารย์ (อยู่) วัดระฆังฯ
๓. สมเด็จพระพุฒจารย์ (เป้า) วัดอินทาราม (เดิมเรียกวัดบางยี่เรือใต้)
๔. สมเด็จพระพุฒจารย์ (สน) วัดสระเกศ (เดิมเรียกวัดสะแก)
๕. สมเด็จพระพุฒจารย์ (โต) วัดระฆัง ฯ
ฯลฯ
เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีชวด จุล. ๑๒๒๖ ตรงกับวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๗ มีสำเนาประกาศที่ทรงตั้งดังนี้
คำประกาศ
ศิริศุภมัศดุ พระพุทธศาสนากาล เป็ฯอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๐๗ พรรษา ปัจจุบันกาล อนุทรสังวรวัจฉรบุษยมาสสุกรปักษ์ นวมี ดิถีครุวาร บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเทพกวี มีพรรษายุกาลประกอบด้วยรัตตัญญูมหาเถรธรรมยั่งยืนมานาน และมีปฏิภาณปรีชาตรีปิฎกกลาโกศล และฉลาดในโวหารนิพนธ์เทศนาปริวัตรวิธี และทำกิจในสูตรนั้นด้วยดีไม่ย่อหย่อน อุตสาหะสั่งสอนพระภิกษุสามเณรโดยสมควร อนึ่ง ไม่เกียจคร้านในราชกิจบำรุงพระบรมราชศรัทธาฉลองพระเดชพระคุณเวลานั้น สมควรที่จะเป็นอรัญญิกมหาสมณคณิศราจารย์พระราชาคณะผู้ใหญ่ มีอิสริยศยิ่งกว่าสมณนิกรฝ่ายอรัญวาสี เป็นอธิบดีครุฐานิยพิเศษ ควรสักการบูชาแห่งนานาบริษัท บรรดานับถือพระพุทธศาสนาได้
จึงมีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่ง ให้สถาปนาพระเทพกวี ศรีวิสุทธินายก ตรีปิฎกปรีชา มหาคณิศร บวรสังฆราชคามวาสี เลื่อนที่ขึ้นเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธิศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธธุตคุณ ศิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศลวิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวง มีนิจภัตรราคาเดือนละ ๕ ตำลึง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ
พระครูปลัด มีนิจภัตรราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๒ บาท
พระครูวินัยธร ๑
พระครูวินัยธรรม ๑
พระครูสัทธาสุนทร ๑
พระครูอมรโฆสิต ๑
พระครูสมุห์ ๑
พระครูใบฎีกา ๑
พระครูธรรมรักชิต ๑
ถึงเดือนยี่ในปีชวดนั้น จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานหิรัญบัตร (มีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่ง คือ เดิมสมเด็จพระราชาคณะได้รับพระราชทานหิรัญบัตรต่อมา เห็นจะเป็นในรัชกาลที่ ๕ จึงเปลี่ยนเป็นพระราชทานสุพรรณบัตร อนึ่งประเพณีทรงตั้งสมณศักดิ์แต่ก่อนเป็นแต่พระราชทานพัดยศ ส่วนสัญญาบัตรนั้นพระราชทานต่อมาภายหลัง) กล่าวไว้ในหมายรับสั่ง (หมายรับสั่งรัชกาลที่ ๔ จุล. ๑๒๒๖ (พ.ศ. ๒๔๐๗) เล่น ๒๐) ดังนี้
“ด้วยพระศรีสุนทรโวหารรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งว่า จะได้พระราชทานหิรัญบัตรสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆังโฆสิตาราม ณ วัน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๒ เวลาเช้า ๓ โมง อนึ่งให้ราชยานจัดเสลี่ยงงา ๒ เสลี่ยง ไปคอยรับหิรัญบัตรที่พระที่นั่งสุกไธศวรรย์ ไปลงเรือม่านที่ท่าขุนนางเสลี่ยง ๑ ให้ทันเวลา อนึ่งให้อภิรุมจัดสัปทนใบกั้นหิรัญบัตรที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ อันไปส่งที่ท่าเรือให้ทันเวลา อนึ่ง ให้พันพุฒ พันเทพราชจ่ายเลขให้ฝีพายๆ เรือม่านลายส่งหิรัญบัตรให้พอลำ ๑ อย่าให้ขาดได้ตามคำสั่ง”
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตั้งแต่เป็นพระราชาคณะมา แม้จนเมื่อเป็นสมเด็จพระราชคณะแล้ว ท่านก็ประพฤติแปลกฯ ตามใจของท่านอยู่อย่างเดิม เรื่องที่ประพฤติแปลกๆ นั้นจะได้ประมวลให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาในตอนต่อไปข้างหน้านี้
เพื่อให้เกิดอานุภาพยิ่งขึ้น ก่อนเจริญภาวนาชินบัณชรให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงและบูชาเจ้าประคุณสมเด็จด้วยคำว่า
ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง อัตถิกาเยกายะณายะ
เทวานังปิยะตังสุตตะวา อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ
๑
ชะยาสะนาคะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง จะตุสัจจาสะภัง ระสังเย ปิวิงสุ นะราสะภา.
๒
ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา.
๓
สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร.
๔
หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะวามะเก.
๕
ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก.
๖
๑เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว.
๗
กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก โส มัยหัง วะทะเนนิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร.
๘
ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลี นันทะสีวะลี เถรา ปัญจะ อิเม ชาตานะลาเฏ ตีละกา มะมะ.
๙
๒เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา ชะลันตา สีละเต เชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.
๑๐
ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิวาเม อังคุลิมาละกัง.
๑๑
ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง อากาเส ฉะธะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา.
๑๒
ชินนานา วะระสังยุตตา สัตตะปาการะลังกะตา วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา.
๑๓
อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.
๑๔
ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮีตะเล สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา.
๑๕
อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติ.
อานุภาพแห่งพระคาถาชินบัญชร
ผู้ใดได้สวดภาวนาพระคาถาชินบัญชรนี้ เป็นประจำอยู่สม่ำเสมอ จะทำให้เกิดความศิริมงคลสมบูรณ์พูนผล ศัตรูหมู่พาลไม่กล้ากล้ำกลาย ไปทางใดย่อมเกิดเมตตามหานิยม เกิดลาภผลพูลทวี ขจัดภัยจากภูตผีปีศาจ ตลอดจนคุณไสยต่างๆ ทำน้ำมนต์รดแก้วิกลจริต แก้สรรพโรคภัยหายสิ้น เป็นศิริมงคลแก่ชีวิต มีคุณานุภาพตามแต่จะปรารถนา ดังคำโบราณว่า “ฝอยท่วมหลังช้าง” จะเดินทางไปที่ใดๆ สวด ๑๐ จบ แล้วอธิษฐานจะสำเร็จสมดังใจ
การก่อสร้าง
เรื่องประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างนั้น ปรากฏว่าท่านได้สร้างถาวรวัตถุไว้หลายแห่งหลายอย่าง และมักจะชอบสร้างของที่แปลกๆ และโต ๆ กล่าวกัว่า เพื่อจะให้สมกับนามของท่านที่ชื่อโตกล่าวเฉพาะปูชนียวัตถุที่สร้าง เป็นอนุสรณ์เนื่องในตัวท่าน คือสร้างพระนอนใหญ่ที่วัดสะดือ (วัดสะดือ เดิมตั้งอยู่ที่หนึ่งในตำบลท่างาม (ที่เรียกกันว่าวัดสะตือเพราะมีต้นสะดตอใหญ่อยู่ในวัดต้นหนึ่ง) เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้มาสร้างพระนอนใหญ่ ณ ที่อีกแห่งหนึ่งในตำบลเดียวกันทางด้านตะวันออกไม่ห่างนัก วัดสะตือจึงย้ายมาตั้งที่บริเวณพระนอนใหญ่นั้น เรียกตามตำนานว่าวัดท่างาม ภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาศพระพุทธบาทได้เสด็จขึ้นที่ท่างามนี้สองครั้ง แต่นั้นมาจึงเรียกท่าหลวงและนามวัดก็เปลี่ยนเป็น “วัดท่าหลวง” ตามนามเดิมมาจนทุกวันนี้) เหนือท่าเรือพระพุทธบาท จังหวัดพระนคร ศรีอยุธยาองค์หนึ่ง เป็นที่ระลึกว่าท่านได้เกิดที่นั่น สร้างพระนั่งโต (องค์เดิม) (องค์ที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้สร้างใหม่ เป็นของหลวงดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า) ที่วัดไชโย จังหวัดอ่างทององค์หนึ่งเป็นที่ระลึกว่าท่านได้สอนนั่งที่นั่น และสร้างพระยืนใหญ่วัดอินทรวิหาร จังหวัดพระนคร องค์หนึ่งเป็นที่ระลึกว่าท่านสอนยืนเดินได้ที่นั่น จะพรรณาต่อไปโดยลำดับ
พระนอนใหญ่วัดสะตือ ตามคำบอกเล่าของพระอุปชฌาย์บัตร จันทโชติ (พระอุปัชฌาย์บัตรเล่าว่า การก่อสร้างพระนอนใหญ่ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ให้พวกทาสในตำบลไก่จ้นและในตำบลอื่น ๆ บ้างไปทำการก่อสร้าง เมื่อสร้างพระสำเร็จแล้วท่านได้ปล่อยทาสเหล่านั้น ให้พ้นจากความเป็นทาส ทุกคน และว่าได้ก่อเตาเผาอิฐกันที่บริเวณหน้าพระนอนใหญ่นี้ เคยมีซากเตาปรากฏอยู่ แต่ได้รื้อไปนานแล้ว) ว่าเริ่มสร้างเมื่ออายุท่าน (พระอุปัชฌาย์บัตร) ได้ ๕ ขวบ ท่านเกิดปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๙ จึงสันนิษฐานว่าเห็นจะสร้างในปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นพระก่ออิฐถือปูนยาว ๑ เส้น ๕ วา สูง (จากพื้นถึงพระรัศมี) ๘ วา ฐานยาว ๑ เส้น ๑๐ วา กว้าง ๔ วา สูง ๒ ศอก องค์พระโปร่ง เบื้องพระปฤษฎางค์ทำเป็นช่องกว้าง ๒ ศอก สูง ๑ วา ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง (ข้าพเจ้าได้ถามพระอุปชฌาย์บัตรว่า เขาว่าพระนอนใหญ่นี้ต้องอยู่ กลางแจ้งทำหลังคาไม่ได้ เพราะฟ้าฝ่าจริงหรืออย่างไร ท่านว่าความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเดิมพระองค์นี้ประดิษฐานอยู่ภายในศาลาโถง เสาก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกะเบื้องไทย ต่อมาศาลานั้นเก่าชำรุดหักพังลงมาจึงให้รื้อเสียยังมีซากเสาอิฐ ทางบริเวณด้านพระบาทปรากฏอยู่
เมื่อปฏิสังขรณ์ครั้งหลังไม่ได้สร้างศาลาใหม่ พระนอนใหญ่จึงอยู่ กลางแจ้ง) ที่ริมคูวัดด้านิทศตะวันออก หันพระพัตร์ไปทางทิศตะวันตก (ความปรากฏใน จดหมายเหตุเรื่องเสด็จประพาศต้นในรัชกาลที่ ๕ ครั้งที่ ๒ ว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จ และขึ้นเสวยกลางวันที่วัดสะตือ ซึ่งในเวลานั้นเรียก “วัดท่างาม” เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ.๒๔๔๙) พระอุปชฌาย์บัตรได้อธิบายว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสคราวนั้น ได้เสด็จขึ้นทรงทำอาหารและเสวยที่ตรงบริเวณใต้พระเศียรพระนอนใหญ่นี้) พระนอนใหญ่นี้ตั้งแต่สร้าง มาเห็นจะยังไม่มีใครปฏิสังขรณ์เลย องค์พระและสิ่งก่อสร้างชำรุดทรุดโทรมมาก ต่อมาถึงปีจอ พ.ศ.๒๔๖๕ พระอุปัชฌาย์บัตรได้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์จนสำเร็จเรียบร้อย ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ การปฏิสังขรณ์นั้นก็อยู่ค่อนข้างจะประหลาด กล่าวคือ พระอุปัชฌาย์บัตร จันทโชติ เล่าให้ฟังว่า ท่านลงมือทำเอง อาศัยนายเรือกับภริยา (ไม่ทราบนาม) อยู่ตำบลวังแดง (อยุธยา) เป็นผู้ช่วย ใช้เงินส่วนตัวของท่านทั้งสิ้น ไม่ได้บอกบุญเรี่ยไรใครเลย เป็นแต่พวกชาวบ้านที่มีใจศรัทธาได้จัดซื้อหาอิฐปูนทรายมาช่วยท่านเท่านั้น ปฏิสังขรณ์อยู่ ๔ ปีจึงสำเร็จ (เมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๔๖๘) ว่าสิ้นปูนขาวถึง ๖๕ เกวียน เฉพาะพระเศียรนั้นต้องใช้ปูนขาวถึง ๑๐ เกวียน แต่จะสิ้นเงินเท่าใดไม่ทราบเพราะได้มาก็ทำไปไม่ได้จดไว้ เมื่อบูรณะปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ต่อมาจะเป็นปีใดจำไม่ได้ ท่านได้จัดการนัดสัตบุรุษมาประชุม นมัสการและปิดทองในกลางเดือน ๑๒ มีประชาชนท้องถิ่นและตำบลใกล้ไกลพากันมานมัสการ และเที่ยวเตร่กันอย่างคับคั่งและล้นหลาม เลยเป็นงานนักขัตฤกษ์ประจำสืบมาจนทุกวันนี้
พระพุทธรูปใหญ่วัดไชโยวรวิหาร พระนามว่า “พระพุทธพิมพ์” (เจ้าอาวาสวัดไชโย มักมีราชทินนามว่า “มหาพุทธพิมพาภิบาล” และโดยมากเป็นพระครู) พระนามนี้เห็นจะพระราชทานในรัชกาลที่ ๕ ด้วยวัดไชโยเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลนั้นดังจะกล่าวในตอนต่อไป เป็นพระก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๘ วา ๗ นิ้ว สูง ๑๑ วา ๑ศอก ๗ นิ้ว สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ เดิมสร้างประพาศมณฑลอยุธยา เมื่อปีขาลพ.ศ. ๒๔๒๑ เสด็จขึ้นทอดพระเนตรพระโตนี้ มีพระราชดำรัสว่า “พระใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒจารย์โต ส้รางนี้ ดูหน้าตารูปร่างไม่งามเลย แลดูที่หน้าวัด ปากเหมือนขรัวโตไม่มีผิด ถือปูนขาวไม่ได้ปิดทองทำนองท่านจะไม่คิดปิดทองจึงได้เจาะท่อน้ำไว้ที่พระหัตถ์”
ต่อมาเจ้าพระยารัตนบดินทรเดชา (รอด กัลยาณมิตร) ที่สมุหนายก ได้จัดการสร้างวัดไชโยใหม่พร้อมทั้งพระอุโบสถ และวิหารพระโต กล่าวไว้ในหนังสือ “ระยะทางเสด็จประพาศมณฑลอยุธยา” เมื่อปีขาล พ.ศ.๒๔๒๑ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ว่าดังนี้
“……วัดไชโยนี้ เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) ที่สมุหนายก มีศรัทธาสร้างใหม่พร้อมทั้งพระอุโบสถและวิหารพระโต แต่เมื่อกระทุ้งรากวิหาร พระพุทธรูปใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต สร้าง ทนกระเทื่อนไม่ได้ พังลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสร้างพระโตใหม่เป็นหลวง (ตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสร้างพระโต วัดกัลยาณมิตร ช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต ต้นสกุลกันยาณมิตร) ผู้เป็นบิดาของเจ้าพระยารัตนบดินทร์มาก่อน) แล้วทรงรับวัดไชโยเป็นพระอารามหลวงแต่นั้นมา
พระยืนวัดอินทรวิหาร เป็นพระก่ออิฐถือปูนปางอุ้มบาตร์ เรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” สร้างในรัชกาลที่ ๔ แต่สร้างได้เพียงครึ่งองค์ สูงเพียงพระนาภี การค้างอยู่ช้านานต่อมาจะเป็นปีใดไม่ปรากฏ พระครูธรรมานุกูล (หลวงปู่ภู) เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร ได้จัดการสร้างเพิ่มเติม แต่ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ พระครูสังฆบริบาล (แดง) เจ้าอาวาสได้ทำการก่อสร้างต่อมา แต่ก็สำเร็จเรียบร้อยแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวไว้ในจารึกดังนี้ (ศิลาจารึกนี้ตั้งอยู่ แถวบริเวณพระโตวัดอินทรวิหาร ด้านทิศตะวันออก)
“ศุภมัสดุพระพุทธศาสนากาลล่วงได้ ๒๔๖๓ ปีจอสัมฤทธิศก พระครสังฆบริบาล (แดง) ได้ลงมือทำการปฏิสังขรณ์เมื่อเดือน ๑๑ ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑ ค่ำ ประวัติเดิมของพระครูสังฆบริบาล อุปสมบทที่แขวงตะนาว เมื่ออุปสมบทแล้วได้มาสร้างวัดเจาคั่นบันได ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วมาเล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัย ณ สำนักวัดบวรนิเวศ ในพระบารมีสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณโรรส ๕ พรรษา เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์แล้วจึงได้มาทำการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์โตนี้ พร้อมด้วยเจ้าฟ้า นายกนายิกา ราษฎรจนถึงกาลบัดนี้ สิ้นเงินรายได้รายจ่ายไปในการปฏิสังขรณ์เป็นเงินประมาณ ๕ หมื่นบาทเศษ ประวัติเดิมของพระพุทธรูปโตองค์นี้ ซึ่งมี (พระ) นามว่า พระศรีอริยเมตตรัยนี้ คือสมเด็จพระพุฒาจารย์โตเป็นผู้ก่อสร้างไว้แต่รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรันตโกสินทร์ ได้ครึ่งองค์ สูง ๙ ว่าเศษยังไม่สำเร็จ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านพระครูธรรมานุกูล (ท่านอธิการภู) ผู้ชราภาพ ๙๔ พรรษา ๗๐ เศษ ซึ่งยกเป็นกิตติมศักดิ์อยู่ในวัดอินทรวิหารได้จัดการปฏิสังขรณ์ต่อมา (แต่ก่อน) แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ ท่านจึงมอบฉันทะให้พระครูสังฆบริบาลปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ (แต่บางส่วนเช่น พระกร เป็นต้น) ว่าด้วยการปฏิสังขรณ์ เดิมองค์พระรกร้างมีต้นโพธิ์และต้นไทรขึ้นปกคลุม จึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงให้แข็งแรง ส่วนข้างในองค์พระผูกเหล็กเป็นโครง ภายนอกหล่อคอนกรีตด้วยปูนซีเมนต์ เบื้องหลังทำเป็นวิหารหล่อคอนกรีต เป็นพระยืนพิงพระวิหารสูงเป็นชั้นๆ ได้ ๕ ชั้น ถึงพระเกศ ขาดยอดพระเมาลี และมีพระจุฬามณีเจ็ดสถาน เพื่อให้เป็นที่ระลึกและนมัสการแห่งเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายสิ้นกาลนานทุกวันเสมอไปในพระพุทธศาสนา
ขออำนาจแห่งพระศรีรัตนตรัย จงดลบัลดาลให้เจ้าฟ้าเจ้านาย อำมาตย์ คฤหบดี และราษฎรที่เป็นศาสนูปถัมภก ซึ่งตั้งจิตเป็นทายกทายิกาทั้งหลาย จงมีความเจริญสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลชนมายุสุขทุกประการ มีแต่ความเกษมสำราญนิราศภัยในปัจจุบัน และอนาคต ทั่วกันเทอญฯ”
ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๗ (ความตอนนี้ ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง “ประวัติหลวงพ่อโต” วัดอินทรวิหาร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐) พระครูอินทรสมาจารย์ (เงิน อินฺทสโร) เมื่อยังเป็นพระครูสังฆรักษย์ย้ายจากวัดปรินายกมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหารได้จัดการก่อสร้างต่อมา โดยเป็นประธานบอกบุญเรี่ยไรจากประชาชนทั่วไปผู้ช่วยเหลือที่เป็นกำลังสำคัญของท่านพระครูอินทรสมาจารย์ ที่ควรกล่าวนามให้ปรากฏคือ เจ้าคุณและคุณหญิงปริมาณสินสมรรถพระประสานอักษรกิจ สิบเอกอินทร์ พันธุเสนา และนางพลัด พันธุเสนา พระครูอินทรรสนาจารย์ ทำการก่อสร้างอยู่ ๔ ปีจึงสำเร็จบริบูรณ์ (ไม่ทราบว่าสิ้นเงินเท่าใด) มีงานสมโภชเมื่อวันที่ ๔-๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒ ทางจัดได้จัดให้มีงานนมัสการและปิดทอง และจัดเป็นงานประจำปีสืบมา (ตามปรกติมีงานในเดือนมกราคม) พระโตนี้สูง ๑๖ วาเศษ เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง
นอกจากสร้างพระพุทธรูปใหญ่เป็นอนุสรณ์ดังกล่าวแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังได้สร้างถาวรวัตถุสถานอื่นๆ อีกหลายอย่าง คือ สร้างกุฎิเล็กๆ ไว้ที่วัดอินทรวิหาร ๒ หลัง ทางด้านทิศใต้ ให้โยมผู้หญิงและโยมผู้ชายปั้นด้วยปูนขาวอยู่ในกุฎนั้นด้วย แต่รูปนั้นหักพังเสียนานแล้ว
สร้างศาลาไว้หลังหนึ่งที่ปากคลองวัดดาวดึงส์ อยู่ในน้ำข้างอูซุงของหลวง กว้างราว ๕ วาเศษ ในศาลานั้นมีอาสน์สองฆ์อยู่ด้านใต้ ที่กลางศาลามีธรรมาส์ ๒ ธรรมมาสน์ศาลานี้อยู่ติดกับบ้านท่านราชพิมลฯ เป็นอุปฏฐาก ท่านไปบิณฑบาตที่ไหนมาแล้วก็ไปแวะฉันที่ศาลานี้เนืองๆ ฉันแล้วก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ มีสัตบุรุษมาฟังกันมาก เมื่อท่านราชพิมลฯถึงแก่กรรมแล้ว ท่านก็เหินห่างไปไม่ใคร่ได้มาที่ศาลานี้ ครั้นต่อมาท่านได้สร้างศาลาไว้อีกหลังหนึ่งอยู่ในละแวกบ้านลาว(ในรัชกาลที่ ๑ เวียงจันทร์ขึ้นกับไทย ฝ่ายไทยได้นำลาวเชลยมามาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ตำบลนี้ซึ่งเดิมเรียกว่าตำบลไร่พริกให้เป็นที่อยู่ ของพวกเชลยเหล่านั้นสืบมา) ข้างตรอกวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหมมุงด้วยจาก เป็นหอฉันของท่านเหมือนหลังก่อน นายเกือบเป็นอุปัฏฐาก
สร้างวิหาร ๑ หลัง ใกล้ศาลาหลังที่กล่าวมา วิหารนั้นกว้างประมาณ ๓ วา ยาวประมาณ ๕ วาเศษ ฝาผนังก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคามุงจาก ในวิหารนั้นก่อพระพุทธรูปด้วยอิฐปูนองค์หนึ่ง หน้าตักกว้าง ๒ ศอก หันพระพักตร์เข้าผนังด้านตะวันออก องค์พระห่างฝาผนัง ๑ ศอก ทางด้านตะวันตกนั้นมีเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนองค์หนึ่ง ฐานล่างกว้างประมาณ ๒ ศอก ห่างจากผนังราว ๑ ศอกเศษ วิหารนี้ ท่านควรจะสร้างไว้วัดใดวัดหนึ่งท่านก็ไม่สร้าง ท่านไปสร้างไว้ในละแวกบ้านซึ่งไม่ควรจะสร้าง ต่อมาทางการ ได้ตัดถนนมาทางสามเสน มาทางวิหาร วิหารก็ถูกรื้อหมด วิหารมีพระพุทธรูปเป็นเจ้าของ พระพุทธรูปก็หันพระพักตร์เข้าผนังเสียดูประหนึ่ง ท่านจะทราบล่วงหน้า ว่าวิหารนี้จะถูกถนนทับ จึงแกล้งสร้างไว้ดูเล่นฉะนั้น
สร้างพระโตนั่งกลางแจ้ง ที่วัดพิตตะเพียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาองค์หนึ่ง และสร้างพระยืนที่วัดกลาง ตำบลคลองข่อย ใต้โพธารามแขวงจังหวัดราชบุรีองค์หนึ่ง ตามที่ได้ฟังมาว่าที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สร้างพระยืนที่วัดกลางนั้น เดิมเป็นป่ารกมาก ท่านเอาเงินสลึงชนิดกลมมาแต่ไหนไม่ทราบ เป็นอย่างเก่าโปรยเข้าไปในป่านั้น ไม่ช้าป่านั้นก็เตียนโล่งหมด ท่านก็ทำการสร้างได้สะดวก (เข้าใจว่าท่านโปรยเงินเข้าไปในป่า แล้วจึงมีชาวบ้านมาถางป่าเพื่อค้นหาเงินจึงทำให้ป่าเตียน)
สร้างพระเจดีย์นอน ที่หลังโบสถ์วัดละครทำ ตำบลบ้านช่างหล่อ จังหวัดธนบุรี ๒ องค์ นัยว่ามีผู้ลักลอบทำลายด้วยประสงค์จะค้นหาพระสมเด็จฯ คงปรากฏอยู่แต่องค์ทางด้านเหนือ ซึ่งในเวลานี้ชำรุดทรุดโทรมมาก (เมื่อพ.ศ.๒๔๘๑ ที่วัดระฆังฯ มีงานปิดทองรูปหล่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ และประกวดพระเจดีย์ทราย นายเปลื้อง แจ่มใส บ้านช่องหล่อได้ก่อพระเจดีย์ทรายนอนองค์หนึ่งเข้าประกวด เขียนป้ายว่า “พระเจดีย์นี้จำลองแบบอย่างพระเจดีย์นอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ที่วัดละครทำ” กล่าวกันว่า คณะกรรมการตัดสินให้ได้รับรางวัลที่ ๑ ดูเหมือนจะเป็นประเภทขบขัน) จนไม่สามารถจะทราบได้ว่ากว้างยาวเท่าใด มูลเหตุที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะสร้างพระเจดีย์นอนนั้น เล่ากันว่าเกิดแต่ท่านได้ปรารภว่า ในชั้นเดิมพระเจดีย์ที่สร้างกันนั้นเป็นที่สำหรับบรรจุพระธรรม เช่นคาถาแสดงอริยสัจจ์-เย-ธมฺมา เหตุปฺปภวา….ฯลฯ เรียกว่าพระธรรมเจดีย์ (ในหนังสือตำนานพุทธเจดีย์ พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงรานุภาพ กล่าวว่า มูลเหตุแห่งธรรมเจดีย์นั้น ในตำราไม่ได้กล่าวถึงเรื่องตำนาน แต่มีโบราณวัตถุปรากฏเป็นเค้าเงื่อนพอสันนิษฐานมูลเหตุที่เกิดขึ้นว่า คงจะอาศัยพระพุทธบรรหาร ซึ่งทรงแสดงแก่เหล่าเทวา พระสาวก เมื่อก่อนเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ว่าพระธรรมจะแทนพระองค์ต่อไป ดังนี้ เมื่อล่วงพุทธกาลมาแล้ว ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบางพวกอยู่ห่างไกลพระธาตุเจดีย์ และพระบริโภคเจดีย์ที่มีอยู่ในครั้งนั้น จะไปทำการสักการะบูชาได้ด้วยยาก ใคร่จะมีเจดีย์สถานที่บูชาบ้าง จึงมีผู้รู้พระบรมพุทธาธิบายแนะนำให้เขียนพระธรรมลงเป็นตัวอักษรประดิษฐานไว้เป็นที่บูชา โดยอ้าง พระพุทธบรรหารที่ตรัสว่า ธรรมจะแทนพระองค์นั้น จึงเกิดมีประเพณีสร้างธรรมเจดีย์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง) แต่พระเจดีย์ที่สร้างกัน ในสมัยชั้นหลัง
ต่อมา ความประสงค์มาแปรเป็นเพื่อบรรจุอัฏฐิธาตุของสกุลวงศ์หรืออุทิศให้ผู้ตาย แม้ได้บรรจุปูชนียวัตถุทำนองในพระศาสนา ไว้ด้วยก็ไม่นับว่า เป็นพระเจดีย์ในพุทธศาสนา จัดเป็นอนุสาวรีย์เฉพาะบุคคล การที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สร้างพระเจดีย์นอนนั้น เป็นปริศนาอันหนึ่งซึ่งหมายความว่า ต่อไปเบื้องหน้าจะไม่มีใครสร้างพระธรรมเจดีย์อีกแล้ว (ประวัติเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตั้งแต่หน้า ๒๑๔ เป็นต้นมาถึงตอนนี้คัดมาจากต้นฉบับของหนังสือ “ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต” ของท่านมหาเฮง วัดกัลยาณ์ฯ แต่ดัดแปลงเป็นบางตอนเพื่อความเหมาะสม ท่านผู้สนใจโปรดรอคอยฟังกำหนดการพิมพ์จำหน่าย หนังสือที่กล่าวนี้เป็นหนักฐานที่มีค่าควรแก่การศึกษา ได้กล่าวชีวประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไว้โดยละเอียด)
เพื่อเป็นการแสดงให้ท่านผู้อ่านรู้จักเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ดีขึ้น จึงใคร่จะได้นำเอาอัจฉริยภาพบางประการของท่านมาแสดงไว้ในที่นี้ด้วย พฤติการณ์ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จเมื่อยังมีชีวิตอยู่นั้น เป็นเรื่องของนักปรัชญาทั้งสิ้น ควรแก่การศึกษาอย่างที่สุด พฤติการณ์เหล่านี้ ผู้เขียนขอเรียกว่า “อัจฉริยภาพ” เพราะเป็นเรื่องที่ประหลาดไม่เคยปรากฏว่าบุคคลธรรมดากระทำกัน และบุคคลที่กระทำได้ย่อมเรียกได้ว่า อัจฉริยภาพบุคคล หาใช่บุคคลธรรมดาสามัญไม่ อัจฉริยภาพของท่านส่วนมากได้จากการเล่าขานกันสืบต่อมา ซึ่งจะได้ประมวลไว้เป็นเรื่องๆ ดังนี้
เจ้าพระคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) กับ พระเถระในยุคนั้น
เรื่องการเทศน์ในพระบรมหาราชวัง และที่อื่น ๆ
“….โดยปรกติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกทรงธรรม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมเสมอ พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้ อยู่ในกำแพงพระบรมมหาราชวัง เป็นทั้งท้องพระโรงสำหรับรับแขกเมืองและเสด็จออกขุนนางตามปรกติด้วย ณ พระที่นั่งนี้แลได้โปรดฯ ให้นิมนต์สมเด็จพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ผลัดเปลี่ยนเวรกันเข้าไปถวายพระธรรมเทศนา และในโอกาสหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ถูกนิมนต์เข้าไปถวายเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง กำหนดถวายเทศน์ติดต่อ ๓วันจบ ในวันแรกการถวายเทศน์ได้ดำเนินไปตามปรกติ ครั้นพอย่างเข้าวันที่๒ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะทราบได้ทางใดทางหนึ่งไม่ปรากฏว่า วันนี้เจ้าจอมองค์หนึ่งกำลังจะประสูติพระเจ้าลูกยาเธอ และขณะที่ถวายพระธรรมเทศนาอยู่นั้น สังเกตได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการกระสับกระส่าย จึงทรงถวายเทศน์อยู่เป็นเวลานาน จนเสียงมโหรีประโคมขึ้น แสดงว่าพระเจ้าลูกยาเธอทรงประสูติแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯก็จบพระธรรมเทศนาลงด้วยเหมือนกัน
ครั้นวันที่ ๓ พอเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขึ้นธรรมมาส์น ตั้ง นโมและบอกศักราชตามธรรมเนียมแล้ว ก็ถวายพระธรรมเทศนาว่า
“อันธรรมะใดๆ มหาบพิตรก็ทรงแจ้งอยู่แล้ว เอวํก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงพระดำรัสถามขึ้นว่า “เมื่อวานนี้มีธุระอยากจะให้เทศน์จบเร็วๆกลับเทศน์เสียนาน วันนี้ใจคอสบาย อยากฟังนานๆ กลับเทศน์ห้วนอะไรเช่นนี้” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงถวายพระพรว่า “เมื่อวานนี้มหาบพิตรทรงไม่สบายพระราชหฤทัย สมควรจะได้สดับพระธรรมให้มากๆ เพราะพระธรรมเท่านั้นจะกล่อมพระอารมณ์ที่ขุ่นมัวให้สิ้นได้ แต่วันนี้พระองค์ทรงพระสำราญพระราชหฤทัยดีแล้ว ไม่ต้องฟังพระธรรมมากนักก็ได้” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อได้ทรงสดับเช่นนี้ก็พอพระทัยยิ่งนัก
คราวหนึ่ง ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณธรรมกิตติ ถูกนิมนต์เทศปุจฉาวิสัชนาคู่กับเจ้าคุณธรรมอุดม(สมณศักดิ์อันนี้ได้มาเปลี่ยนเป็น “ธรรมวโรดม” ในรัชกาลที่ ๔) วัดเชตุพนฯ เมื่อใกล้จะจบ เจ้าคุณธรรมอุดมได้เทศน์แถมท้ายเป็นปริศนาว่า “พายเถอะหนาพ่อพาย ตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า” โดยไม่ทันรู้ตัวมาก่อนว่า เจ้าคุณธรรมอุดมจะเทศน์ในลักษณะนี้ แต่ด้วยปฏิภาณอันเฉียบแหลม เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เข้าใจความหมายได้ทันที (เจ้าคุณธรรมอุดมหมายความว่า อันมีชีวิตของมนุษย์เรานี้สั้นนัก จงเร่งสร้างการกุศล และยึดธรรมะเป็นที่พึ่งเถิด เพราะความตายย่างใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว มิฉะนั้นจะเป็นการสายเกินไป) จึงเทศน์แก้ออกไปทันทีว่า
“ก็โซ่ไม่แก้ ประแจไม่ไข จะพายไปไหว หรือพ่อเจ้า”
อันเป็นความหมายว่า มนุษย์เรานี้เต็มไปด้วยกิเลสและสังโยชน์ (สังโยชน์ ๑๐ “เครื่องร้อยรัด ๑๐ ประการ ซึ่งได้แก่
๑. สักกายทิฎฐิ การหลงตัว (The illusion of self)
๒. วิจิกิจฉา ความคลางแคลง (Skepticism)
๓. สีลมพัตตปรามาส การยึดถือเพียงพิธี ( Attachment to Rites and Ceremonies)
๔.กามราคะ ความยินดีในกาม (Sexual lust)
๕. ปฏิฆะ ความโกรธ (Ill-will)
๖. รูปราคะ ความอยากมีชีวิตอยู่ในโลกที่มีรูปบริสุทธิ์ (Craving for lift in the world form)
๗. อรูปราคะ(Craving for lift in the world)
๘. มานะ ความเย่อหยิ่ง (Pride)
๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (Agitation)
๑๐. อวิชชา ความไม่รู้ (Ignorance) )อันเป็นเครื่องร้อยรัด
และไม่พยายามตัดเครื่องร้อยรัดเหล่านี้ออกเสียจะก้าวเข้าสู่อาณาจักรแห่งพระโลกกุตรธรรมได้อย่างไร?
เรื่องเทศน์สิบสองนักษัตร์
คราวหนึ่งท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ผู้หนึ่ง (ค้นนามไม่พบ) ได้ให้คนใช้มานิมนต์เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปเทศน์เรื่อง อริสัจจ์ ๔ แต่คนใช้ผู้อ่อนการศึกษา ไม่เคยได้ยินคำว่า อริยสัจจ์ มาก่อน จึงเมื่อมาถึงวัดระฆังฯ แล้วก็ลืมเสียสนิท ไพล่ไปจับเอาคำว่า ๑๒ นักษัตร์ ซึ่งเคยได้ยินอยู่บ้าง มาแทน และไปนิมนต์เทศน์ผิดเรื่อง แต่ท่านก็รีบรับคำโดยดุษดี พอถึงกำหนดเทศน์หลังจากอาราธนาให้เบญจศีล และเบญจธรรม และบอกศักราชเรียบร้อยแล้ว ก็ดำเนินเรื่องบทสิบสองนักษัตร์ทันที มีพลความดังนี้
อันว่า มุสิโก ว่าปีชวด, อุสโภ ว่าปีฉลู, พยัคโฆ ว่าปีขาล, สะโส ว่าปีเถาะ, นาโค ว่าปีมะโรง, สัปโป ว่าปีมะเส็ง, อัสโส ว่าปีมะเมีย,เอฬโก ว่าปีมะแม, มักกะโฎ ว่าปีวอก, กุกกุโฎ ว่าปีระกา, สุนโข ว่าปีจอ, สุกโร ว่าปีกุน.ชื่อเหล่านี้เป็นของสมมุติเรียกขึ้น เพื่อกำหนดวัสแห่งรอบ ๑๒ ปี นอกจากนี้ยังแบ่งซอยเป็นมาส เอาชื่อลักษณะของกลุ่มดวงดาวบนท้องฟ้ามาขนานนาม เช่น เมษ ว่าดาวรูปแกะ, พฤษภ ว่าดาวรูปวัว, มิถุน ว่าดาวรูปคนร่วมเพศ, กรกฎ ว่าดาวรูปปู, สิงห์ ว่าดาวรูปราชสีห์,กันย์ ว่าดาวรูปหญิงงาม, ตุล ว่าดาวรูปคันชั่ง, พฤศจิก ว่าดาวรูปแมลงป่อง, ธันว์ ว่าดาวรูปธนู, มกร ว่าดาวรูปมังกร (แพะ), กุมภ์ ว่าดาวรูปหม้อ, มีน ว่าดาวรูปปลา.นอก จากนี้ ยังจับเอาชื่อของพระเคราะห์สำคัญ ๗ ดวง มาขนานนามว่าเพื่อแบ่งซอยเวลาลงไปอีก คืออาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์
เมื่อเจ้าพระคุณเทศน์เช่นนี้ ทำให้ท่านเจ้าของบ้านและผู้คนที่มาฟังเทศน์ในวันนั้น เกิดความฉงนสนเท่ห์ในใจไปตามๆ กัน แต่ต่างก็สงบใจสดับเทศนาของท่านต่อไป เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เทศน์ต่อไปว่า เป็นกุศลอันหนักหนาสำหรับท่านที่มาฟังพระธรรมเทศนาในวันนี้ ด้วยเหตุที่เป็นความบังเอิญที่ผู้นิมนต์คงจะจำเรื่องผิด จำเรื่องอริยสัจจ์ไม่ได้ กลายเป็นสิบสองนักษัตร ไปเสีย แต่เป็นความบังเอิญที่เหมาะสม เพราะสิบสองนักษัตร์เป็นสมุฎฐานแห่งวาระกรรมของสัตว์โลก อันสังขารนั้นย่อมผันแปรไปตามวาระ ได้แก่การ เกิด, แก่, เจ็บ, ตาย เป็นที่แล้ว วาระเป็นเครื่องยื่นยันในหลักธรรมที่ว่า ความเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์ และพุทธองค์ได้ตรัสไว้แล้ว ถึงอริยสัจจ์ ๔ ประการ ได้แก่ทุกข์เป็นของมีจริง สมุทัย ต้นเหตุของทุกข์ มิโรธ ความดับทุกข์ และมรรค หนทางให้ถึงความดับทุกข์
และเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เทศนาแยกแยะถึงใจความสำคัญแห่งอริยสัจจ์ ๔ อย่างถี่ถ้วน และลงท้ายว่า การเทศน์นสิบสองนักษัตร์นี้ ก็มีพวกสาธุชน ที่มาประชุมฟังพระธรรมเทศนาในวันนี้เท่านั้นที่ได้สดับ เพราะไม่เคยมีมาแต่กาลก่อน และจะไม่ปรากฏในกาลต่อไปอีก จึงกล่าวว่า เป็นกุศลอันประเสริฐของท่านทั้งหลาย
การเทศน์วันนั้นกินเวลานาน เพราะพระคุณสมเด็จฯ ต้องใช้เวลาสาธยายมาตรฐานแห่งวาระให้สอดคล้องเข้าเรื่องสัจจ์ ผู้ที่มาสดับใน วันนั้นต่างปลื้มปิติกันทั่วทุกคน
เรื่องเทศน์กัณฑ์มัทรีที่อัมพวา
ปรากฏว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีวิธีการดัดนิสัยและให้สติบุคคลอื่นด้วยวิธีการที่แปลกประหลาดพิสดารและได้ผลดีเสมอ ถ้าจะว่าแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นนักปกครองที่ดีที่สุดที่มีวิธีการณ์ไม่ซ้ำแบบใครเลย ดังจะกล่าวแต่ละเรื่องดังนี้
ในครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชดำริให้วัดต่างๆ มีการตกแต่งเรือเข้าประกวด และเสด็จมาประทับทอดพระเนตรอยู่ที่ตำหนักแพ (ท่าราชวรดิษฐ์) วัดต่างๆ ได้ส่งเรือเขาประกวดกันเป็นอันมาก และต่างก็ประกวดประขันกันในด้านความงดงามอย่างถึงขนาด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเรือของวัดต่างๆ ที่ผ่านตำหนักแพไปอย่างทรงสำราญพระราชหฤทัย แต่พอถึงตอนเรือของวัดระฆังฯ ปรากฏว่าเป็นเรือสำปั้นขนาดย่อมเก่าๆ มีเณร ๒ องค์พายหัวและท้าย กลางลำมีลิงตัวหนึ่งผูกไว้กับหลัก มีป้ายแขวนคอลิงตัวนั้นอยู่แผ่นหนึ่งและมีตัวหนังสือเขียนว่า “ขายหน้าเอาผ้ารอด” พอทอดพระเนตรเห็นเข้า ก็ทรงพระพิโรธ และทรงพระดำรัสถามข้าราชบริพารว่า “เรือของวัดอะไร?” เมื่อได้ทรงทราบว่าเป็นเรือของวัดระฆังๆ ก็ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้าพระราชวังเสียพร้อมกับ พระราชดำรัสว่า “เขาไม่เล่นกับเรา” ครั้นอยู่มา มีข้าราชบริพารผู้หนึ่งไปถามเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า “คำว่า ขายหน้าเอาผ้ารอดนั้น หมายความว่ากระไร?” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้อธิบายว่า “ธรรมดาพระสมณะย่อมหาสมบัติใดๆ ได้ยาก เพราะได้รับเครื่องอุปโภคจากการภิกขาจาร หรือผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย จึงย่อมไม่มีทุนทรัพย์ในอันที่จะนำมาลงทุนซื้อหาสิ่งใดๆ เพื่อตกแต่งประดับประดาเรือให้สวยงามได้ แต่มีอยู่ประการหนึ่ง ที่จะทำได้เช่นนั้น คือต้องขายผ้าใตรเสีย เพื่อเอาเงินมาลงทุนประดับเรือ จึงยอมขายหน้าเพื่อเอาผ้าไตรรอดไว้ก่อน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะได้เอาไว้ห่มครองสังขารกันความร้อนหนาว”
นับแต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงดำริให้มีการประกวดเรือของวัดอีกเลย การกระทำของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในครั้งนี้เป็นการทูลถวายพระสติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แม้ว่าจะเป็นการเสี่ยงอยู่มากก็นับว่าได้ผลดี
ในครั้งหนึ่ง พระที่วัดระฆังฯ ๒ องค์เกิดทะเลาะกันถึงกับด่าถึงโยมผู้ชายซึ่งกันและกันคำหนึ่ง “พ่อ” สองคำก็ “พ่อ” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ยินเข้า และได้เอาดอกไม้ธูปเทียนมายังที่ซึ่งพระทั้ง ๒ กำลังทะเลาะกันอยู่ พอมาถึงก็ยกมือจบดอกไม้ธูปเทียนขึ้นกล่าวว่า “พ่อทั้งสองจ๊ะ,พ่อเก่งเหลือเกินจ้ะ ลูกขอฝากเนื้อฝากตัวบ้าง” พระทั้งสององค์เห็นเช่นนั้นก็รู้สึกตกใจและละอายใจอย่างยิ่งต่างได้กราบขอขมาต่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ และสัญญาว่าจะไม่ทะเลาะกันอีกเลย
เล่ากันว่าในการจาริกไปตามชนบท เพื่อหลบเลี่ยงการตั้งให้เป็นพระสมณศักดิ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คราวหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้จาริกไปตามหมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่งทางภาคอิสาน ในขณะที่ผ่านป่าละเมาะแห่งหนึ่ง ได้เห็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งติดแร้วอยู่ ท่านจึงได้ปลดปล่อยสัตว์ป่าตัวนั้นไป แล้วเอาขาของท่านเข้าไปใส่ไว้ในแร้วนั้นแทน จบพลบค่ำ นายพรานได้มาเห็นพระแก่ๆ องค์หนึ่งมาติดแร้วของเขาอยู่ จึงได้ถามเรื่องราวว่า “หลวงพ่อมาจากไหน? ทำไมจึงมาติดแร้ว?” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ตอบแก่ชายผู้นั้นว่า “อาตมภาพได้เดินทางผ่านมาทางนี้ และได้เห็นสัตว์ตัวหนึ่งติดแร้วของพ่ออยู่ อาตมภาพรู้สึกเวทนาสัตว์ที่น่าสงสารตัวนั้น จึงได้ปล่อยไปเสีย และเอาตัวของอาตมาเข้าจำนองไว้แทน สุดแต่พ่อจะเอาไปฆ่าแกงเถอะจ๊ะ” เมื่อนายพรานได้ยินเช่นนั้น ได้บังเกิดความเลื่อมใสเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เจ้าพระคุณรีบจัดแจงปลดแร้วออก และนิมนต์ท่านไปที่บ้าน ทั้งจัดการต้อนรับอย่างดีที่สุด เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงได้กล่าวขอบิณฑบาตชีวิตสัตว์ทั้งหลายไว้ นายพรานผู้นั้นก็รับคำทุกประการ
กล่าวกันว่า ในคืนหนึ่ง มีขโมย ๒ คน คิดกันเขาไปขโมยของในหอสวดมนต์ซึ่งเป็นที่จำวัดของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขะโมยทั้งสองนัดแนะกันว่า คนหนึ่งจะเข้าไปค้นข้างในและอีกคนหนึ่งรอรับที่หัวบันได คืนที่เข้าไปค้นข้างในไม่เห็นอะไร เพราะคืนนั้นเป็นคืนข้างแรม มืดมาก เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั่งซุ่มดูขะโมยทั้ง สองอยู่ใกล้กับบันไดนั้น แต่คนที่เข้าไปค้นของไม่เห็นท่าน ส่วนคนที่อยู่หัวบันได้เห็นท่าน และเข้าใจว่าเป็นเพื่อนของตน จึงสะกิดท่านให้ส่งของออกมา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ส่ง บาตร , กระโถน, ป้านน้ำร้อน, จีวร, และพัดให้แก่ขโมยผู้นั้นไปจนหมด สักครู่หนึ่งขโมยคนที่เข้าไปค้นข้างบนก็ลงมาข้างล่าง และเมื่อเห็นสิ่งของเหล่านี้กองอยู่ จึงเข้าใจว่าเพื่อนของตนขึ้นไปขนลงมา จึงได้ช่วยกันขนของเหล่านี้รีบออกจากวัดระฆังฯไป พอพ้นเขตวัดจึงได้เกิดซักถามกันขึ้น คนที่ได้ขึ้นไปค้นข้างบนหอสวดมนต์บอกว่า “ไม่พบของอะไรเลย” อีกคนหนึ่งก็ว่า “ของเหล่านี้ไม่ได้ส่งลงมาดอกหรือ?” คนนั้นก็ปฏิเสธว่า “เปล่า” จึงเป็นอันรู้ว่า ชะรอยเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั่นเองที่ช่วยส่งของลงมาให้ บาปของเขาที่ทันตาเห็นก็คือ เขาทั้งสองนอนไม่หลับตลอดคืน ปรึกษากันไม่ตกว่า จะทำอย่างไรกับสิ่งของเหล่านี้ดี ครั้นรุ่งขึ้นแต่เช้ามืดขะโมยทั้งสองจึงได้ตกลงใจรีบนำเอาสิ่งของที่ขโมยไปกลับมาถวายคืนให้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ๆ จึงได้ขอบิณฑบาตต่อขโมยทั้งสองว่า “ต่อไปจงอย่าได้ริอ่านถือเอาสิ่งของของผู้อื่นโดยเจามิได้ยกให้อีกเลย” ขโมยทั้งสองก็รับคำสัญญากับท่านทุกประการ
มีอีกหนึ่งที่ค่อนข้างขบขันอยู่สักหน่อย คือในครั้งที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ คิดจะบูรณะพระอุโบสถและก่อพระปรางค์ (พระปรางค์องค์ใหญ่ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้) ที่วัดระฆังฯ ในวันหนึ่งขณะที่พวกถกุลีมอญกำลังขนทรายจากเรือขึ้นวัด เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ไปยืนดูอยู่กุลีมอญคนหนึ่งซึ่งไม่รู้จักเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ออกปากไล่ท่านไม่ให้ยืนเกะกะ มอญว่า “หลวงต๊า, หลีกไป๊อย่าเกะกะ(หลวงตา, หลีกไป อย่าเกะกะ)” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยืนเฉยเสีย มอญจึงว่า “หลวงต๊า,นี้ดื่อ (หลวงตานี้ดื้อ)” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ หัวเราะหึๆ แล้วเปรยออกมาเรียบๆ ว่า “อ้ายมอญๆ” แล้วก็เดินจากที่นั่นไป ปรากฏว่า มอญชนทรายตั้งแต่เช้าจนเย็นก็ไม่หมดลำเรือสักที จึงพากันมานั่งพักเหนื่อยอยู่ข้างกองทราย เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เดินมาเห็นเข้า จึงถามเป็นเชิงล้อเป็นสำเนียงมอญว่า “ผ่อม๊อญ, เป็นหยั่งไง๊จึงมานั่งหอบฮั่กๆ” (พ่อมอญเป็นยังไง จึงมานั่งหอบฮักๆ?) มอญจึงว่า “หล่วงต๊า เป็นหยั่งไง๊ ข่นทร๊ายไม่หมด” (หลวงตาเป็นยังไงขนทรายไม่หมด) เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงว่า “ไปขนเถอะประเดี๋ยว ก็อเสร็จ” มอญจึงพากันไปขนต่อ ไม่ทันพลบค่ำก็เสร็จ มอญพากันประหลาดใจและเลื่อมใสเจ้าพระคุณสมเด็จฯ กันมาก
รุ่งขึ้นได้พากันไปซื้ออาหารมาทำถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ฉันแบบสำรวมอย่างที่เคยฉัน ทำให้มอญแปลกใจมาก เพราะไม่เคยเห็น มิหนำซ้ำพอฉันเสร็จก็เอาน้ำใส่จานเป็นเชิงล้างจานแล้วยกขึ้นซด มอญอดรนทนไม่ได้ ถึงกับออกปากว่า “หล่วงต๊าท่ำอย่างง๊ายๆ” (หลวงตาทำอย่างไงๆ)
เล่ากันว่า มีหลวงตาองค์หนึ่ง อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มักจะจำวัดตื่นสายไม่ได้ไปบิณฑบาตเสมอๆ จึงเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็แวะฉันที่หน้ากุฏิหลวงตาองค์นั้นเสมอหลวงตาองค์นั้นรู้เข้าจึงต้องรีบตื่นแต่เช้า ไปบิณฑบาตเหมือนพระอื่นๆ
นี้ก็เป็นบุคคลิกภาพอันหนึ่งที่ใช้ตักเตือนคนอื่นๆ ที่ได้ผลโดยไม่ต้องพูดกันเลย.ได้แก่เรื่องลูกศิษย์ขนาดเขื่องของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้พากันลวงเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า “วันนี้เขานิมนต์ไปเทศน์” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
จึงว่า “เขานิมนต์พรุ่งนี้ไม่ใช่หรือ?” พวกศิษย์เหล่านั้นก็ช่วยกันยืนยันว่า “วันนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้” ทั้งนี้เพราะลูกศิษย์ขนาดเขื่องๆ เหล่านั้นพากันขาดแคลนของอุปโภคนั่นเอง อดใจรออยู่ไม่ได้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็รู้เท่าทันในความคิดของเขาเหล่านั้นดี แต่แกล้งกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นก็ไปสิ” พวกลูกศิษย์ก็พากันดีใจ รีบแบกพัดและหีบคัมภีร์พาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ลงเรือพายไปยังบ้านที่เขานิมนต์ไว้ โดยคิดเสียว่า เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปถึงบ้านผู้นิมนต์แล้ว อย่างไรเสียก็ต้องไปเทศน์ในวันนั้นเพราะใครๆ ก็ต้องเกรงใจเจ้าพระคุณสมเด็จฯ กันทั้งนั้น แต่เผอิญเจ้าของบ้านยังเตรียมตัวไม่ทัน เมื่อไปถึงบ้านผู้นิมนต์ เจ้าของบ้านจึงกราบเรียนถามว่า “หลวงพ่อมีธุระอันใดหรือ?” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ว่า “ก็มาเทศน์อย่างไรเล่า” เจ้าของบ้านก็ว่า “นิมนต์หลวงพ่อพรุ่งนี้มิใช่วันนี้ดอก” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงว่า “นั่นนะซิจ๊ะ, ฉันก็ว่าพรุ่งนี้ แต่เจ้าพวกนี้สิเขาเคี่ยวเข็ญฉันว่าวันนี้ ฉันเลยต้องมาจ้ะ เพราะตัวคนเดียวเขาหลายคนสู้เขาไม่ได้จ้ะ” เจ้าของบ้านและคนในบ้านนั้นก็พากันหัวเราะ ไปตามๆกัน แต่พวกลูกศิษย์ขนาดเขื่องๆ เหล่านั้นไม่กล้าเข้าหน้าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปหลายวัน และแต่นั้นมา ก็มิได้คิดอ่านเช่นนี้อีกต่อไป ทั้งๆที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่ได้ว่ากล่าวแต่ประการใด จะเห็นได้ว่าวิธีการลงโทษของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้นพิสดารและได้ผลลึกซึ้งเสียยิ่งกว่าวิธีอื่นใดทั้งสิ้น
เรื่องจุดไต้กลางวัน
เรื่องประหลาดของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้กล่าวขานกันมากก็คือ การจุดไต้ในเวลากลางวัน กล่าวกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทำปริศนาด้วยการจุดไต้ในเวลากลางวัน ๒ ครั้ง คือครั้งแรก ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวกันว่าในเวลากลางวันวันหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้จุดไต้เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมหาราชวัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบจากข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดยุคลบาท ก็เสด็จพระราชดำเนินออกมาท้องพระโรง จึงทอดพระเนตรเห็นเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยื่นถือไต้ ซึ่งติดไฟลุกโพลงอยู่ ก็ทรงเข้าพระทัยในความหมายของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทันทีและทรงตรัสกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า “เข้าใจแล้ว ขรัวโต” แล้วเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็กลับวัดระฆังฯ โดยไม่ต้องทูลถวายถ้อยคำใดๆเลย เรื่องนี้ผู้เขียนจะขอออกตัวในการให้อรรถาธิบายใด ๆ แต่ขอชี้ให้เห็นอัจฉริยภาพระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่าล้วนแต่ทรงมีความสัมพันธ์ทางมโนสัมผัส ซึ่งกันและกันได้อย่างน่าสรรเสริญ เข้าในลักษณะที่ว่า “ปราชญ์ย่อมเข้าใจในวิสัยปราชญ์”
อีกครั้งหนึ่ง กล่าวกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จุดไต้ในเวลากลางวันวันอีก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนผลัดแผ่นดินใหม่ ในตอนนั้นสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ หรือเรียกกันเป็นสามัญว่า “เจ้าพระกลาโหม” ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถือบังเหียนการบริหารประเทศทรงอำนาจเต็ม ในครั้งนี้เองมีเรื่องโจษจันกันทั่วไปว่า เจ้าพระยากลาโหมจะกบฎราชบัลลังก์ ข่าวนี้ล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าคุณสมเด็จฯ เข้า จึงได้จุดไต้เดินเข้าวังอีก สมเด็จพระปิยมมหาราช ออกมารับ และเมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นก็ตกพระทัย และทรงตรัสถามว่า “มีความเดือดร้อนประการใดหรือ? พระคุณเจ้า ฟ้า (ทรงใช้คำแทนพระองค์กับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า ฟ้า” เสมอ) ยังอยู่” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ถวายพระพรว่า “เปล่าดอกมหาบพิตร อาตมา ถวายพระพร เพราะได้ทราบว่าขณะนี้แผ่นดินนั้นมืดมัวนัก”
หลังจากจุดไต้เข้าวังแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็จุดไต้ตรงไปยังบ้านเจ้าพระยากลาโหม กล่าวกันว่าเจ้าพระยากลาโหมก็ทราบความหมาย ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เหมือนกันเมื่อนิมนต์ให้นั่งในที่อันสมควรแล้ว จึงได้ถวายความจริงใจแก่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า “บ้านเมืองยังไม่มืดมนดอกพระคุณเจ้า อย่าได้วิตกเลย” เพียงการกระทำและวาจาสั้นๆ ของบุคคลสำคัญๆ ทำความเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ฟังเช่นนั้นก็กลับวัด
อนึ่ง เรื่องการจุดไต้ในเวลากลางวันของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้นเผอิญไปพ้องกันกับเรื่องของ โสเครตีส ปรัชญาเมธีแห่งกรุงเอเธนส์ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑ เรื่องราวของโสเครตีส คือในตอนกลางวันวันหนึ่งเขาเดินจุดตะเกียงส่องไปตามถนนหนทาง ในกรุงเอเธนส์ผู้ที่สัญจรไปมารู้สึกสงสัย ก็พากันไต่ถามว่า “ส่องตะเกียงเพื่อประสงค์อันใด” โสเครตีสตอบว่า “ต้องการส่องหาคน”
การฉันอาหาร
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นพระที่ฉันอาหารสำรวมเป็นเนื่องนิจ บางโอกาสที่รับบิณฑบาต ชาวบ้านที่ศรัทธาในตัวท่านกำชับว่า ของที่ใส่บาตรนั้นขอให้ท่านฉันให้ได้ ทั้งนี้เพราะชาวบ้านทราบได้ดีว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ฉันสำรวม อันทำให้อาหารมีรสดีที่ตั้งใจจะให้ท่านฉันนั้นเสื่อมรสไป หรือมิฉะนั้นอาหารชนิดใดที่มีรสอร่อยท่านมักจะเอาไปให้ลูกศิษย์หรือสุนัข นก กา กินเสียเป็นการให้ทาน เพราะฉะนั้นเมื่อได้รับคำกำชับคราวใด เพื่อฉลองศรัทธาแก่ผู้ถวาย เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะล้วงอาหารให้บาตรออกฉันต่อหน้าผู้ถวายให้ผู้นั้นเกิดความปิติ เมื่อฉันสัก ๒-๓ คำพอเป็นพิธีแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็สวดให้พรด้วยบท ยถาวาริวหา ฯลฯ และสัพพีฯลฯ ทันที และด้วยเหตุนี้เอง ผู้ที่จะใส่บาตรท่านก็มีความเกรงใจไม่กล้ากำชับท่านอีก เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องประหลาดที่ไม่เคยปรากฏว่ามีพระภิกษุองค์ใดกระทำเช่นนี้ แม้ในสมัยพุทธกาล
เรื่องนี้มีผู้วิจารณ์กันไปในแง่ที่ไม่เหมาะสม แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านมีเหตุผลในการกระทำของท่าน นั่นคือการสั่งสอนหรือให้สติผู้อื่นในทางอ้อม
“พระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ประทานเล่าเรื่องเกี่ยวกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า พระญาติผู้ใหญ่ของพระองค์ท่านมีบ้านอยู่ไม่ห่างจากวัดระฆังฯ นัก และเป็นผู้คุ้ยเคยกับเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ ได้ไปมาเยี่ยมเยียน ที่บ้านนั้นบ่อยๆ และเมื่อถึงคราวมีงานก็นิมนต์ให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปสวดมนต์ฉันเช้าอยู่เสมอๆ ญาติผู้ใหญ่ของสมเด็จในกรมฯ เล่าให้ฟังว่า ขณะที่ท่านรับนิมนต์มาฉันจังหัน ระหว่างเดินมาตามทางท่านมักจะเก็บเอาตำแยและต้นไม้อื่นๆ ที่ใกล้ทางไปด้วย เวลาทานฉัน ท่านก็เอาตำแยใส่ลงในอาหารที่ฉันไม่ว่าหวานหรือคาว เพื่อให้สิ้นความอร่อย ทั้งนี้ เพราะท่านถือว่าอาหารเป็นของกินกันตาย ไม่ต้องการจะให้เพลินในรสของมัน…” (จากหนังสือพิมพ์ “ตำรวจ” ฉบับ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๔ โดย “ฉันทิชัย”)
เรื่องเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ
ในคราวหนึ่งมีลูกศิษย์เก่าสองคน ได้ปรึกษากันเพื่อจะไปขอหวยต่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คนหนึ่งเข้าไปนวดเจ้าพระคุณสมเด็จฯ บนหอสวดมนต์ อีกคนหนึ่งแอบฟังอยู่ใต้ถุนคนที่นวดก็พยายามขอหวยต่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯๆ ทำนองนิ่งเสียโดยไม่ยอมพูดว่ากระไรเลย เพราะท่านทราบ ด้วยญาณว่า มีอีกคนหนึ่งแอบอยู่ใต้ถุน เกรงว่าถ้ากล่าวถ้อยคำอันใดออกไปเจ้าคนที่อยู่ใต้ถุนจะเอาไปแทงหวย ครั้นพอคะเนว่าถึงบอกให้ ก็จะไปแทงไม่ทัน ท่านจึงกล่าวขึ้นเปรยๆ ว่า “บอกให้ก็ได้ แต่กลัวหวยจะรอดช่อง” หมายความว่ากลัวเจ้าคนที่อยู่ใต้ถุงจะได้ยินเข้า พอคนที่อยู่ใต้ถุนได้ยินเช่นนั้นก็รีบวิ่งออกจากวัดระฆังฯ ไปโดยเร็วตั้งใจจะไปแทงตัว ร. และ ช. แต่ไปไม่ทัน หวยออกเสียก่อนแล้วคือ ร. และตัว ช. นั่นเอง
ในสมัยนั้น มีหมอนวดอยู่คนหนึ่ง ชื่ออะไรจำไม่ได้เสียแล้ว เป็นหมอนวดประจำองค์เจ้าพระคุณสมเด็จฯ แกชำนาญในเรื่องการนวดมาก และเคยนวดเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาเป็นอันมาก แต่การนวดใครก็ตามไม่เคยประหลาดใจเหมือนนวดเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทั้งนี้ เพราะทุกครั้งที่แกนวดแขนท่าน แกรู้สึกว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีกระดูกแขนท่อนล่างเป็นแท่งเดียว แทนที่จะมีกระดูกคู่เหมือนสามัญชนทั่วไป ในวันหนึ่งขณะที่แกกำลังนวดเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อยู่ ตั้งใจจะกราบเรียนถามถึงเรื่องนี้ แต่ไม่กล้าเอ่ยปากถาม แกจึงนวดแรงๆ อยู่เฉพาะตรง ที่แขนท่องล่างของท่านอยู่เป็นเวลานาน เจ้าพระคุณสมเด็จฯก็ล่วงรู้ความในใจของตาหมอนวดได้ จึงกล่าวเปรยๆ ถามขึ้นว่า “นวดมากี่ปีแล้ว” ตาหมอนวดกราบเรียนว่า “นวดมา ๑๐ กว่าปีแล้ว” เจ้าพระคุณสมเด็จฯถามต่อไปว่า ” เคยเห็นคนมีกระดูกแขนชิ้นเดียวไหม?” ตาหมอนวด กราบเรียนว่า “ตั้งแต่นวดมายังไม่เคยเห็นเลยนอกจาก…” แกจะพูดต่อไปว่านอกจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่เจ้าพระคุณสมเด็จฯชิงพูด เสียก่อนว่า “จำเอาไว้นะ ถ้าไปพบที่ไหนเข้า นั่นแหละพระโพธิ์สัตว์มาบำเพ็ญบารมีละ”
ผู้เขียนขอเรียนด้วยใจจริงว่า มีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯเป็นพระโพธิ์สัตว์ปางหนึ่ง มาบังเกิดในโลกเพื่อสร้างสมพระบารมี และการที่เชื่อถือทั้งนี้มิได้เกิดจากอุปทาน เกิดจากการศึกษาพิจารณาชีวประวัติของท่านอย่างละเอียด และยังไม่เคยมีความศรัทธาในพระสงฆ์รูปใดเท่า ชาติกำเนิดก็ดี และอัจฉริยภาพทุกประการก็ดี ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯองค์นี้ ซาบซึ้งใจผู้เขียนยิ่งนัก ไม่อาจจะหาพระเกจิอาจารย์ องค์ใดมาเทียบเคียงได้เลย
ในคราวหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ถูกนิมนต์ให้เข้าไปสวดมนต์ในพระบรมมหาราชวังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำชับกับมหาดเล็ก ผู้ไปนิมนต์ว่า ให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ครองไตรแพรมาให้ได้ (ไตรแพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชทานถวาย เป็นรางวัลในคราวที่เทศน์ว่า – ธรรมะใดมหาบพิตรก็ทรงทราบดีแล้ว-) เพื่อมิให้ด้อยกว่าพระสมณศักดิ์อีกหลายรูป ที่ได้รับการนิมนต์คราวเดียวกันนั้น เพราะพระองค์เห็นว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯครองจีวรรุ่มร่ามและเก่าคร่ำคร่าอยู่เสมอ (ทรงพระราชดำรัสบ่อยๆว่า “ขรัวโตนี่ยิ่งแก่เข้ายิ่งรุ่มร่ามคร่ำคร่า” ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทราบเข้าก็พูดเปรยๆ เสมอว่า “โตดีกลับหาว่าว่าโตบ้า ที่โตบ้ากลับหาว่าโตดี”
หมายความว่า แต่ก่อนเมื่อท่านยังไม่สำเร็จมรรคผลนั้นจึงย่อมมีความหลงผิด ยังยินดีในลาภสักการ ครองผ้าก็รัดกุมสีสดใส ใครๆ ก็ชมว่า ท่านดี ที่แท้ท่านว่าตัวท่านยังบ้าอยู่ แต่พอท่านสำเร็จมรรคผลเป็นบางอย่างจึงละสิ่งเหล่านี้จดหมด กลับมีคนเข้าใจว่าท่านบ้า และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงตรัสว่าท่านรุ่มร่าม) เมื่อใกล้จะถึงกำหนดเวลาสวดมนต์ ยังไม่เห็นเจ้าพระคุณสมเด็จฯมา มหาดเล็ก จึงเร่งนิมนต์อีก ครั้นเมื่อไปถึงวัดระฆังฯเห็นเจ้าคุณพระนั่งอยู่บนกุฎิ ตรงหน้ามีลูกสุนัขตัวหนึ่งนอนทับไตรแพอยู่ มหาดเล็กจึ่งเข้าไปนิมนต์ว่า
“เจ้าพระคุณต้องรีบหน่อยเพราะจวนเวลาเต็มที่แล้ว พระทุกรูปมาพร้อมกันหมดแล้ว ยังขาดแต่เจ้าพระคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จแล้ว พร้อมทั้งเจ้านายฝ่ายนอกฝ่ายในตลอดจนข้าราชการ” เจ้าพระคุณสมเด็จฯชี้ให้ดูลูกสุนัขที่กำลังนอนหลับไตรแพรนั้น มหาดเล็กจึงกราบเรียนให้ไล่ลูกสุนัขตัวนั้นไปเสีย เจ้าพระคุณสมเด็จฯกล่าวว่า “ไม่ได้ดอกจ้ะ เพราะเราไม่รู้ว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์หรือเปล่า” (พระโพธิสัตว์เคยเสวยพระชาติเป็นสุนัขดังความปรากฎในเรื่องชาดก)
ในหนังสือ “ประวัติขรัวโต” ของพระยาทิพโกษากล่าวว่า แม้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะเดินไปตามทางซึ่งมีสุนัขนอนขวางอยู่ก็จะกล่าวว่า “ฉันขอไปทีจ้ะ” แล้วก็ค่อยๆ หลีกไปเสียทางหนึ่ง ปรากฏว่าไม่เคยข้ามสุนัขเลย
เรื่องการตัดสินความของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ก็นับว่ามีหลักการพิศดารยิ่งกว่าผู้พิพากษาคนใดในโลก กล่าวคือครั้งหนึ่งได้มีพระ ๒ องค์ทะเลาะวิวาทถึงกับทุบตีกัน พระองค์ที่ถูกตีได้ไปฟ้องสมเด็จพระวันรัต(เซ่ง) สมเด็จพระวันรัตจึงให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตัดสินความ (ขณะนั้นยังครองสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี) พระองค์ที่ถูกตีก่อน ก็เรียนเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า ตนถูกตี อีกองค์หนึ่งตีก่อน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ กล่าวว่า “ท่านแหละตีเขาก่อน” พระองค์นั้นก็พยายามยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นฝ่ายตีก่อน เจ้าพระคุณสมเด็จฯกลับยืนกรานว่า “ท่านต้องตีเขาก่อนแน่” สมเด็จพระวันรัตจึงถามว่า “เหตุใดจึงว่าพระองค์นี้ ตีองค์นั้นก่อน?” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงเรียนว่า “เนื่องจากผลกรรมแต่ปางก่อนที่พระองค์นี้เคยตีเขาก่อน ผลกรรมจะไม่ยุติลงถ้าทั้งสองยังคง จองเวรกรรมกันสืบไป” สมเด็จพรพระวันรัตจึงกล่าวกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านจงยุติกรรมอันนี้เสีย” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้ไปหาปัจจัยบางอย่างมอบให้กับพระองค์ที่ถูกตี และกล่าวแก่พระทั้ง ๒ ว่า “ขอให้ท่านทั้งสองจงอโหสิกรรมให้แก่กันเสียเถิด” เรื่องเป็นอันยุติลงด้วยดี เพราะพระทั้ง ๒ รูปต่างก็เชื่อฟัง และยินดีอโหสิกรรมต่อกัน และต่อมาก็ได้ร่วมสมาคมกันเป็นอันดี ไม่มีเรื่องโกรธเคือง ต่อกันอีก อนึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังได้สารภาพต่อสมเด็จพระวันรัตว่าเรื่องนี้เป็นความผิดของท่านที่ปกครองพระไม่ได้เอง
เรื่องสุดท้ายที่เดียวกับอัจฉริยภาพของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ซึ่งจะหยิบยกมากล่าวในที่นี้ก็คือ เรื่องการให้พรด้วยวาจาสิทธิ์ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการให้พรที่แปลกประหลาดกล่าวคือในสมัยที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังครองสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวีอยู่นั้น ได้รักใคร่เมตตาเณรน้อยองค์หนึ่งที่เป็นศิษย์ที่ใกล้ชิด จึงวันหนึ่งขณะที่กำลังสนทนาอยู่กับเณรน้อยองค์นี้และพร้อมกับอุบาสิกาผู้สูงอายุคนหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ กล่าวขึ้นลอยๆว่า “เณร อยากมีอายุยืนไหมจ๊ะ?” เณรน้อยก็รับว่าอยากมีอายุยืน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงว่า “ขอพรจากโยมแก่ซิ” พร้อมกับ
หันหน้าไปทางอุบสิกาผู้สูงอายุนั้น เณรน้อยองค์นั้นก็เอาดอกไม้ธูเทียนมาส่งใหอุบาสิกาผู้เฒ่าคนนั้นเพื่อขอพร อุบาสิกาผู้เฒ่าจึงให้ศีลให้พรขอให้เณรน้อยอายุมั่นขวัญยืน นับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ที่เหมือนทำกันเล่นในวันนั้นมีผลจริงได้อย่างศักดิ์สิทธ์ เณรน้อยองค์นั้น ต่อมาได้มีอายุถึง ๙๒ปี และครองพรรษาอยู่ถึง ๗๐ พรรษา จึงได้มรณภาพและได้รับสมณศักดิ์ขั้นสุดท้ายเป็น “พระธรรมถาวร” และด้วยการมีอายุยืนนานนี้เอง ทำให้ชนชั้นหลังได้มีโอกาสสืบเรื่องราวของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ และการสร้างพระสมเด็จฯ จากท่านและทั้งได้บันทึกเป็นหลักฐานกันต่อมา
ภาพในพระอุโบสถวัดอินทรวิหาร
(จากหนังสือ ประวัติสมเด็จฯพระพุฒาจารย์(โต) ของฉันทิชัย ตอนที่ ๙ ระหว่างหน้า ๑๐๔-๑๑๖ ทั้งนี้นอกจากตอนอธิบายภาพ ในวงเล็บซึ่งเป็นความเห็นของผู้เขียนเอง)
“….วันอินทรวิหาร เดิมเป็นวัดเก่า ชื่อวัดอินทราราม ผู้ใดจะสร้างไว้สืบทราบไม่ได้ชัด แต่ผู้ใหญ่เล่าสืบกันมาว่าเจ้าอินทร์ผู้เป็นน้าชาย ของเจ้าน้อยเขียว แห่งเมืองเวียงจันทน์ เป็นผู้ปฎิสังขรณ์ครั้งนั้นราวรัชกาลที่ ๑ เจ้าน้อยเขียวได้เป็นพระสนมาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และขณะนั้น เมืองเวียงจันทน์ขึ้นอยู่กับกรุงรัตนโกสินทร์มีชาวเวียงจันทน์ติดตามเจ้าน้อยเขียว ลงมากรุงรัตนโกสินทร์เป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จึงพระราชทานที่แห่งนี้ให้เป็นที่อยู่ เมื่อเจ้าอินทรได้ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว จึงได้นิมนต์เจ้าคุณอรัญญิกชาวเวียงจันทน์มาครอง เจ้าคุณอรัญญิก เป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิปัสสนา ได้นำคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาลาวมาด้วยมาก และอยู่จนกระทั่งบัดนี้ และต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระองค์เจ้าอินทร ในกรมพระราชวังบวร (มหาศักดิ์พลเสพย์) ได้ปฎิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการซ่อมอุโบสถ คือพระอุโบสถนั้น ผนังก่ออิฐยาว ๖ ห้อง มีมุขหน้าหลังที่หน้าบันไดปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑ หน้าโบสถ์มี ๑ ประตู หลังมี ๒ ประตู บานประตูสลักลวดลายดอกไม้ มีหน้าต่างด้านละ ๖ ช่อง มีบานหน้าต่างสลักลายมังกร ผนังโบสถ์ข้างในเขียนเป็นรูปภาพต่าง ๆ เล่ากันมาว่า เป็นภาพประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านให้ช่างเขียนไว้ เพื่อปรากฏแก่ชนรุ่นหลัง
ภาพที่ปรากฏ ณ ผนังโบสถ์นี้ เป็นภาพเขียนและเมือพิเคราะห์ดูแล้ว ก็สุดปัญญาที่จะวินิจฉัยให้แจ่มแจ้งลงไปได้ แต่ข้าพเจ้า (ฉันทิชัย)เคยได้อ่านบันทึก ของท่านเจ้าพระคุณทิพโกษา ซึ่งได้เขียนเรื่องประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ไว้อย่างพิสดาร เป็นเอกสารสำคัญ ที่มีค่าทางประวัติของสมเด็จฯ เป็นอันมาก ข้าพเจ้า(ฉันทิชัย) ขอบประมวลมาเสนอแก่บรรดาท่านผู้ที่เลื่อมใสในคุณธรรมวิเศษของสมเด็จฯ เพื่อทราบและช่วยกันวินิจฉัย ดังต่อไปนี้
เข้าใจว่าเป็นภาพชีวประวัติของบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคัวท่านเข้าพระคุณสมเด็จฯ เช่นพระอาจารย์ของท่าน พระที่มีชื่อเสียงใน ยุคนั้น หรือที่รู้จักมักคุ้นกับท่าน นอกจากพระก็มีฆราวาสที่คุ้นเคยกับท่าน และคงจะมีส่วนรวมในการปฏิสังขรณ์วัดอินทรฯ ภาพเหล่านี้
๑. มุขหลังพระประธานด้านเหนือ มีภาพศาลาป่า ภาพผู้หญิงกำลังตีผู้ชาย อีกภาพหนึ่งมีผู้ชาย ๓ คนนั่งอยู่ คนหนึ่งเอามืออุดจมูก อีกคนหนึ่งเอามือปัดกลิ่น อีกคนหนึ่งนอนอีกตอนหนึ่งพราหมณ์นุ่งขาว
(ภาพตอนนี้พิจารณาไม่ได้ว่าเป็นเรื่องราวการตายของท่านผู้ใดแน่ แต่เดาได้ว่า ผู้ที่ถึงแก่กรรมรายนี้ คงมีส่วนในการปฏิสังขรณ์วัดอินทร์ฯด้วยผู้หนึ่ง แต่มาถึงแก่กรรมเสียก่อนมิฉะนั้นคงจะไม่ปรากฏเรื่องราวในที่นี้ ภาพผู้หญิงตีผู้ชายนั้นแสดงว่า เมื่อมีชีวิตอยู่ท่านผู้นี้คงกลัวภรรยาและถูกภรรยาเคี่ยวเข็ญอยู่เสมอ-ผู้เขียน)
๒. ข้างหน้าต่างผนังด้านเหนือต่อมา มีภาพคนตกปลาอยู่ริมแม่น้ำ อีกตอนหนึ่งมีเรือสองหลังมีคนอยู่ อีกตอนหนึ่งมีภาพศาลา และมีชายหญิงกำลังกระทำสักการะบูชาด้วยธูปเทียน อีกตอนหนึ่งมีภาพพระพุทธรูปป่าห้ามแก่จันทร ประดิษฐานอยู่หน้าภูเขาพระฉายกับมีชายถือดาบ มากระทำสักการะบูชา อีกตอนหนึ่งมีภาพพราหมณ์กำลังยิงลิงซึ่งอยู่บนต้นไม้ด้วยหน้าไม้ อีกตอนหนึ่ง เขียนเป็นรูปกุฎิพระ กับมีพระกำลังกวาดลานวัด กับมีรูปพระอีกองค์หนึ่ง มีหนังสือเขียนอยู่ข้างล่างว่า เจ้าคุณขรัวขวัญ มือขวาถือไม้เท้า มือซ้ายชี้ขึ้นไปเบื้องบน
มีคนสะพายย่าม นั่งยองๆ ไหว้อยู่กับมีนกกาเรียนอีก ๒ ตัวยืนอยู่อีกด้านหนึ่ง
(เข้าใจว่าภาพนี้เป็นภาพบรรยายชีวประวัติ ของเจ้าคุณขรัวขวัญ ว่าแต่ก่อนนั้นเป็นผู้นิยมในการทำบาป ชอบยิงนกตกปลา แต่ภายหลังได้ไป นมัสการพระฉายเข้าแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาพระบวรพุทธศาสนา ยอมตัวเข้าอุปสมบท ตั้งหน้าประกอบแต่ความดี จนเป็นที่นับถือของคนทั่วไป ตอนภาพที่ท่านยกมือชี้ขึ้นเบื้องบนนั้นแสดงว่าสวรรค์เป็นพยานว่า บัดนี้ท่านได้สลัดความบาปช้าต่างๆ สิ้นแล้ว โดยยึดเอาธรรมะและผ้ากาสาวพัตร์เป็นที่พึ่ง-ผู้เขียน)
๓. ข้างหน้าต่างต่อมา มีภาพคนนั่งอยู่ในเรือน มีผู้คนทำของกำนัลมาให้มาก กับมีคนติดกรวนอยู่ ๒ คน อีกตอนหนึ่งมีเรือนอยู่ริมน้ำ มีตู้บังเกือบตั้งฉาก
(ภาพนี้เข้าใจว่า เป็นชีวประวัติของท่านผู้มีอำนาจสูงผู้หนึ่งในครั้งกระนั้นสามารถที่จะเอาคนเข้าคุกได้ ในภาพแสดงว่าท่านเป็นคนตรง ไม่เห็นแก่ของกำนัล ที่มีผู้นำเอาไปบริการทางหลังบ้าน ท่านผู้นี้คงมีส่วนร่วมในการปฏิสังขรณ์วัดอินทรฯ ด้วยผู้หนึ่ง -ผู้เขียน)
๔. ข้างหน้าต่างต่อมา มีเรือนพระธรรมปรีชา กับผู้หญิงอยู่หน้าประตู ๒ คน ผู้ชายหนึ่งคน และมีคนนั่งอยู่ที่ศาลาริมน้ำ อีกตอนหนึ่งมีภาพวัด
(ภาพนี้เข้าใจว่า เป็นภาพบรรยายต่อมาจากภาพที่ ๓ ขอสันนิษฐานต่อไปว่า ท่านผู้นี้มีนามว่า พระธรรมปรีชา นั่นเอง บ้านท่านคงอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาแถวบางขุนพรหม และใกล้ๆ กับวัดอินทร์ฯ ภายในบ้านมีข้าทาสหญิงชายมาก ท่านผู้นี้คงเลื่อมใสในการกุศลอยู่มาก-ผู้เขียน)
๕. ข้างหน้าต่างต่อมา มีภาพประตูเมือง กับคนยืนอยู่ในประตูมีภาพวัดอยู่ริมแม่น้ำ พระอาจารย์แก้ว กำลังวาดวัด กับมีแม่เพียน ท่านทอง กำลังนั่งไหว้อยู่ มีภาพโบสถ์และศาลา ที่มุมมีเด็กนอนอยู่ในเบาะ เขียนชื่อว่าบลุญเรือง บุตรนายผล กับตัวนายผล และแม่งุด กำลังหมอบกราบอยู่ข้างเด็กนั้น อีกตอนหนึ่งมีภาพพระสงฆ์นั่งอยู่บนกุฏิ เขียนภาพข้างล่างว่า เจ้าขรัวบางลำพู กับมีบุรุษและสตรีอีก ๓-๔ คน เดินอยู่ข้างล่าง อีกตอนหนึ่งริมตลิ่ง มีภาพคนกำลังขุดดิน อีกคนหนึ่งกำลังเอาหีบเล็กๆ จะฝัง มีภาพผู้หญิงนั่งร้องไห้อยู่ข้างๆ และมีผู้ชายอีกคนหนึ่งให้ผู้หญิงซึ่งแบกของคล้ายคัมภีร์ขี่คอ ใต้คนหมู่นั้นมีหนังสือเขียนไว้ว่า พระยารักษาคลัง อีกตอนหนึ่งเป็นภาพทหาร ๒ คน เดินนำหน้าแม่ทัพขี่ม้าขาวและมีทหารเดินตามหลังอีกหลายคน มีหนังสือเขียนไว้ว่า กรุงกำแพงเพชร
(ภาพนี้เข้าใจว่า เป็นภาพถึง ๓ ตอน เกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคลถึง ๓ คน ด้วยกันดังจะแยกให้ความเห็นเป็นตอนๆ ต่อไปนี้
ภาพตอนแรก เป็นชีวประวัติของท่านเจ้าคุณอรัญญิก (แก้ว) วันอินทร์ฯ กำลังกวาดลานวัดอยู่ ในภาพแสดงว่า วันอินทร์ฯ ในสมัยนั้นมีขอบเขตจดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในสมัยนี้ถูกจัดผ่านกลางเสีย ภาพประตูเมืองนั้นแสดงว่าวัดนี้อยู่นอกเมือง กำแพงเมืองตอนผ่านมาจากผ่านฟ้า ไปทางวัดสังเวชฯ และวกไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ในภาพมี แม่เพียน, ท่านทอง, นายผล , แม่งุด และ เด็กชายบุญเรือง แสดงว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้เลื่อมใสท่านเจ้าคุณอรัญญิกมาก และคงเป็นผู้ฝักใฝ่ในการบำรุงวัดอินทร์ฯ ส่วนนายผล และแม่งุดนั้น แสดงว่าคงนำเอาเด็กชายบุญเรืองบุตรน้อยมาถวาย “เป็นลูกหลวงพ่อ” เป็นทำนองขอบารมีหลวงพ่อคุ้มครองให้อายุมั่นขวัญยืน การที่สันนิษฐานเช่นนี้ท่านอย่าลืมว่า เจ้าคุณอรัญญิก เป็นพระที่เชี่ยวในด้าน วิปัสสนา และกฤตยาคม
ภาพในตอนต่อมาขอสันนิษฐานว่า เป็นชีวประวัติ ส่วนหนึ่งของท่านเจ้าคุณบวรวิริยเถระ แห่งวัดบางลำพูหรือที่เรียกชื่อในปัจจุบันนี้ว่า วัดสังเวชฯ อนึ่งวัดสังเวชฯ และวัดอินทร์นั้นอยู่ใกล้กันมาก ดังท่านผู้อ่านย่อมทราบแล้ว ประกอบด้วย ท่านเจ้าคุณอรัญญิกและท่านเจ้าคุณบวรวิริยะเถระ ก็คุ้นเคยชอบพอกันดี และทั้ง ๒ ท่านเป็นพระอาจารย์สำคัญในการประสิทธิประสาทวิทยาการทางด้านวิปัสสนาธุระมาแต่ดั้งเดิม โดยเฉพาะเจ้าคุณบวรวิริยเถระนั้นยังเป็นพระอุปัชฌาย์เณรแก่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ การที่ท่านแสดงภาพพระอาจารย์ทั้ง ๒ไว้ใกล้เคียงกันนั้น ก็เพื่อ เป็นการเทอดทูน และภูมิสถานของวัดทั้ง ๒ ก็อยู่ใกล้ชิดกันด้วย ในภาพทั้งสองตอนนี้แสดงว่า ท่านอาจารย์ทั้งสอง มีคนนับถือเลื่อมใสมากทั้ง ๒ องค์
ภาพตอนที่ ๓ เป็นชีวประวัติ ของพระยารักษาคลัง ในภาพแสดงว่าเลื่อมใสท่านเจ้าคุณทั้ง ๒ องค์มากบ้านของท่านคงอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ ระหว่างบางลำพูและบางขุนพรหม ในภาพตอนคนขุดดินจะฝังหีบเล็กๆ และมีผู้หญิงร้องไห้นั้น เข้าใจว่าเป็นความหมาย แสดงเหตุผลว่า ท่านพระยาผู้นี้เลื่อมใสในการทำบุญสร้างกุศลมาก จนภริยาท่านร้องไห้เสียดายทรัพย์สินที่ทำบุญไปเป็นจำนวนมาก ๆ ท่านคงอธิบายให้ฟังว่าการทำบุญนั้นไม่สูญเปล่า คงมีผลานิสงส์สนองในภพหน้า ดุจเอาทรัพย์สินฝังเก็บไว้ในแผ่นดิน ไม่มีทางสูญหายไปไหน เป็นการเก็บที่ปลอดภัยอาจขุดเอามาใช่จ่ายได้ในโอกาสหน้าฉะนั้น เท่ากับเสริมส่งภรรยาให้รับผลบุญด้วย ภรรยาคงจะเห็นด้วย จึงสร้างพระไตรปิฎก ส่วนภาพต่อมาซึ่งแสดงถึงแม่ทัพกรุงกำแพงเพชรนั้น สันนิษฐานว่า พระยารักษาคลังนี้ เป็นผู้สืบตระกูลมาจากแม่ทัพสำคัญของเมืองกำแพงเพชรในครั้งก่อน-ผู้เขียน)
๖. ข้างหน้าต่างต่อมามีภาพบ้าน และคนกำลังใส่บาตรอยู่หน้าประตูบ้าน มีพระหลายองค์คอยรับบาตร มีภาพวัดและกุฎิหนึ่งห้อง มีพระภิกษุองค์หนึ่งนั่งอยู่ มีคนหมอบอยู่ข้างหน้า มีหนังสือเขียนว่า ท่านอาจารย์ อีกตอนหนึ่งมีพระภิกษุนั่งอยู่กับพื้นดิน มีหนังสือเขียนว่า พระครูใยและมีคนหมอบบถวายดอกบัว ๓ ดอก อยู่ข้างหน้า อีกตอนหนึ่งเป็นภาพกำแพงเมือง มีบ้านพระพิจิตร ตัวพระพิจิตรกำลังนอนเอกเขนกอยู่บนเรือน มีผู้หญิงนั่งอยู่ในประตู ๑ คน และกำลังนวดพระพิจิตรอยู่อีก ๑ คน
(ภาพนี้ขอสันนิษฐานว่า เป็นชีวประวัติของพระพิจิตร แสดงว่าเป็นผู้เลื่อมใสในการทำบุญตักบาตรเป็นนิตย์ ส่วนภาพวัดและภาพอาจารย์นั้นเข้าใจว่า เป็นวัดระฆังฯ และคำว่า ท่านอาจารย์นั้นคงเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นาค พระอาจารย์ฝ่ายคันถธุระหรือสอนพระปริยัติธรรม แก่พระคุณสมเด็จฯองค์แรก พระครูใยนั้นคงจะเป็นพระที่ใกล้ชิดสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อนึ่ง พระพิจิตรผู้นี้คงจะเลื่อมใสสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และคงบำรุงวัดระฆังฯ มาก บ้านพระพิจิตรคงจะอยู่นอกกำแพงเมือง ในบ้านอุดมไปด้วยเข้าทาสหญิงชาย-ผู้เขียน)
๗.มุมด้านหน้าเหนือพระอุโบสถ มีภาพป่า, ภูเขา, บ้านป่า, อีกมุมหนึ่งมีภาพบ้านร้างอยู่ริมแม่น้ำ มีเรือจอดอยู่ริมคลอง คนอยู่ในเรือ ๑ คน ขึ้นไปหุงข้าวบนตลิ่ง ๑ คน อีกตอนหนึ่งมีภาพผู้ชาย นั่งอยู่ริมเรือน ผู้หญิงหมอบอยู่ข้างขวา กับคนนั่งไหว้อยู่ข้างซ้าย ๒ คน มีหนังสือเขียนอยู่ข้างล่าง แต่ลบเลือน คล้ายจะเป็นพระพิจิตร
(ภาพนี้เข้าใจว่า เป็นภาพบรรยายชีวประวัติของพระพิจิตรตอนต้นของภาพที่ ๖ อาจมีความหมายว่า พระพิจิตรนั้นเดิมเป็นชาวชนบทบ้านป่า แต่ได้ละทิ้งบ้านช่องเดินทางมาโดยเรือเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อศึกษาหาความรู้และรับราชการจนเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ มีคนเคารพนบนอบ และยำเกรงมาก พระพิจิตรผู้นี้คงมีอุปการะแก่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในทางหนึ่งทางใดอยู่มากจึงมีภาพชีวประวัติในที่นี้-ผู้เขียน)
๘. ข้างประตูด้านสะกัดหน้า มีช้าง ๒ เชือกไล่แทงกัน ตัวที่หนีหันมามองตัวที่ไล่อีกตอนหนึ่งมีกุฎิพระ ๒ หลัง มีพระภิกษุกำลังนั่งอ่านหนังสือใบลานอยู่ ในกุฎิหลังละองค์อีกองค์หนึ่งนั่งอยู่ที่นอกชานกุฎิ อีกตอนหนึ่งเป็นภาพบ้านพระยาชัยนาท ตัวพระยาชัยนาทนอนเอกเขนกอยู่ มีผู้หญิงหมอบอยู่ข้างๆ มีนายมาลัยหมอบอ่านหนังสือให้ฟังอยู่ข้างล่าง และมีคนนั่งอยู่อีกหลายคน มีคนจูงม้าเดินมา มีเรือจอดอยู่ริมตลิ่งหน้าบ้าน มีคนอยู่ในเรือ ๕ คน คนหนึ่งอยู่ในประทุน คนที่ ๒ หุงข้าว คนที่ ๓ นั่งห้อยเท่าอยู่ในเรือ คนที่ ๔ กำลังฉุดคนที่ ๕ ซึ่งนอนอยู่หัวเรือ ทางหัวเรือมีจรเข้โผล่ขึ้นมา ริมตลิ่งมีผู้หญิง ๓ คน กำลังฉุดกันขึ้นจากบันไดท่าน้ำ
(ภาพนี้เข้าใจว่า เป็นภูมิภาคแห่งหนึ่งจังหวัดชัยนาท ภาพตอนต้นแสดงถึงการศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุในเมืองนั้น ว่าอุดมไปด้วยสมาธิอันมั่นคง แม้กระทั่งช้างไล่แทงกันผ่านมาก็มิได้สะดุ้งสะเทือน ภาพต่อมาเข้าใจว่า พระยาชัยนาทเจ้าเมืองกำลังให้นายมาลัย ทนายหน้าหออ่านหนังสือธรรมให้ฟังอยู่ในบ้าน พวกผู้คนหญิงชายข้างล่าง แสดงว่ามีธุระมาหาท่านเจ้าเมืองบ้างก็ฉุดกันเพราะไม่กล้า แสดงว่า ท่านเจ้าเมืองเป็นคนยุติธรรมเปิดโอกาสสำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไป พระยาชัยนาทผู้นี้คงจะมีความสัมพันธ์ต่อท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อยู่บ้าง อาจจะเป็นในเรื่องการทำบุญปฏิสังขรณ์วัดอินทร์ฯ มิฉะนั้นคงจะไม่ปรากฏชีวประวัติของท่านในที่นี้-ผู้เขียน)
๙. ข้างประตูด้านสะกัดหน้า มีภาพหมู่บ้าน ๒ หมู่ อยู่ริมตลิ่งคนละฟาก มีคนลงเรือหลายลำอยู่ในแม่น้ำ มีหลวงสุนทรนั่งอยู่ในเรือลำหนึ่ง อีกตอนหนึ่งมีภาพแห่บวชนาคเข้ามาในวัด ในวัดมีสมเด็จวันรัตนั่งอยู่บนกุฎิ อีกตอนหนึ่งมีภาพอาจารย์แก้ว นั่งอยู่บนกุฎิกับชาย ๒-๓ คน
(ภาพนี้เข้าใจว่า เป็นภาพแสดงเรื่องราวการชวนของหลวงสุนทร มีสมเด็จพระวันรัต (สมเด็จพระสังฆราชสุก อุปัชฌาย์ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั่นเอง) เป็นอุปัชฌาย์ แม่น้ำที่แสดงไว้ในภาพคือแม่น้ำเจ้าพระยา มีขบวนแห่นสคมาตามลำน้ำ และคงจะขึ้นบกราวบริเวณท่าพระจันทร์ ต่อจากนั้นเป็นขบวนแห่เดินเข้าวัดมหาธาตุ นอกจากนั้นท่านอาจารย์แก้ว (เจ้าคุณอรัญญิก) คนได้รับนิมนต์มาร่วมประกอบสังฆกรรมด้วย-ผู้เขียน)
๑๐. มุมด้านใต้ มีภาพบ้านป่า อีกตอนหนึ่งมีภาพพรานถือหอกเอาหนังเนื้อคลุมตัวคลานเข้าไปไกลเนื้อ ๒ ตัว อีกตอนหนึ่งภาพเรือใบ ๒ ลำ อีกตอนหนึ่งมีภาพวัด มีภิกษุชราองค์หนึ่ง กำลังนั่งตะบันหมากอยู่บนกุฎิ และมีคนถือของเดินมา ๔-๕ คน
(ภาพเข้าใจว่า เป็นภาพชีวประวัติของเจ้าพระคุณอรัญญิก (แก้ว) ต่อจากตอนท้ายของภาพที่ ๙ แสดงว่าแต่เดิมท่านอาจารย์เป็นพรานล่าเนื้อ แต่ภายหลังมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจนบวชเรียนสำเร็จทางวิปัสสนา ภาพเรือใบขอเดาว่า เป็นเรื่องราวแสดงการเดินทาง ของท่านจากเวียงจันทร์มายังกรุงเทพฯ ซึ่งบางทีอาจใช้เรือใบเป็นพาหนะล่องตามลำน้ำโขง อ้อมวกแหลมญวน แล้วมาเข้าอ่าวไทย ส่วนภาพพระแก่นั่งตะบันหมากอยู่นั้น แสดงว่าท่าอาจารย์มีความพึงพอใจในร่มกาสาวพัสตร์ พึงบำเพ็ญให้ลุถึงมรรคผล ในบั้นปลายแห่งชีวิตแล้ว-ผู้เขียน)
๑๑. ข้างหน้าต่างด้านใต้ มีภาพวัด และรูปสมเด็จพระสังฆราชนั่งเอกเขนกอยู่บนกุฎิ กับมีพระภิกษุนั่งอยู่ ข้างล่าง ๒ องค์ อีกตอนหนึ่ง มีภาพสมเด็จพระสังฆราช (มี) นั่งอยู่ริมตลิ่ง กับภิกษุองค์หนึ่ง อีกตอนหนึ่งเป็นเรื่องของเสมียนบุญมา ตัวเสมียนบุญมานอนเอกเขนก มีท่านยายโหง และผู้หญิงอีก ๒ คน นั่งอยู่ข้างล่าง มีคนหมอบอยู่ ๔ คน อีกตอนหนึ่งเป็นภาพเรือนหลังหนึ่งมีท่านยายง่วนนั่งห้อยเท่าอยู่ และมีผู้หญิง ๔ คนนั่งอยู่ข้างล่างนอกจากนี้ เป็นภาพแม่น้ำ เรือใบ กับคนนั่งอยู่บนตลิ่งหลายคน
(ภาพนี้เข้าใจว่า เป็นภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ กับสมเด็จพระสังฆราช คือภิกษุที่นั่งอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชนั้นเข้าใจว่า เป็นเจ้าพระคุณฯนั่นเอง ขอเด่าต่อไปอีกว่า สมเด็จพระสังฆราชไปเยือนวัดระฆังฯ ริมตลิ่งนั้นคือหน้าวัดระฆังฯ และสมเด็จพระสังฆราชองค์นี้เข้าใจว่า เป็นสมเด็จพระสังฆราชสุก มิใช่สมเด็จพระสังฆราชมี ภาพต่อไปเป็นเรื่องความมั่งคั่งสมบูรณ์ของเสมียนบุญมา และพวกที่มีชื่อยู่ทุกคนนั้นเข้าใจว่าญาติเสมียนบุญมา และทุกคนตลอดจนเสมียนบุญมาต้องเป็นทายก ทายิกา ที่สำคัญทุกคน-ผู้เขียน)
๑๒. ข้างหน้าต่างผนังด้านใต้ต่อมา มีภาพเรืออยู่ริมตลิ่ง มีคนอาบน้ำ และขนของขึ้นเรือ อีกตอนหนึ่ง ภาพบ้านพระโหราธิบดี ตัวพระโหราธิบดี นอนเอกเขนกอยู่บนเรือนมีผู้หญิงกำลังถอนเคราให้ และมีผู้หญิงนั่งอยู่ อีก ๓ คน มีคนหมอบอยู่ข้างล่างอีกหลายคน อีกตอนหนึ่งเป็นภาพวัด มีภาพสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) กำลังนอนบอกหนังสือให้ภิกษุรูปหนึ่งอยู่บนกุฎิ และมีพระภิกษุกำลังเดินแบกคัมภีร์มาอีกองค์หนึ่ง
(ภาพนี้เข้าใจว่า พระโหราธิบดีเป็นคนชอบทำบุญ ในภาพแสดงการให้คนไข้ไปจ่ายสิ่งของมาเตรียมทำบุญ ภาพนี้แสดงว่าบ้านพระโหราอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในบ้านอุดมไปด้วยข้าทาสหญิงชายแสดงความเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ อีกภาพที่ต่อมานั้นเป็นคนละเรื่อง กล่าวคือ เป็นชีวประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ต่อจากภาพที่ ๑๑ เป็นภาพชีวประวัติตอนสำคัญตอนหนึ่งที่แสดงว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจากสมเด็จพระสังฆราชสุก (มิใช่สังฆราชด่อนซึ่งเป็นคนละยุคคนละสมัย) ณ วัดมหาธาตุฯ-ผู้เขียน)
๑๓. ข้างหน้าว่างผนังด้านใต้ต่อมา มีภาพบ้านพระเกษม ตัวพระเกษมนั่งอยู่บนเรือน มีคนหมอบและนั่งอยู่หลายคน อีกตอนหนึ่งมีวัด เจ้าพระคุณวัดตระไกร กำลังปลงอาบัติอยู่กับพระอีกองค์หนึ่งบนกุฏิ และมีพระภิกษุอีกองค์หนึ่งนั่งอยู่ข้างหลัง อีกตอนหนึ่งเป็นรูปศาลา ในศาลามีพระภิกษุนั่งอยู่ ๒ องค์ องค์หนึ่งมีหนังสือเขียนอยู่ข้างล่างว่า “เจ้าพระคุณดวง” อีกส่วนหนึ่งมีภาพพระภิกษุรูปหนึ่งเดินอยู่ในวัด มีหนังสือเขียนบอกว่า “เจ้าพระคุณบุญนาค” อีกตอนหนึ่ง มีภาพเข้าพระยานิกรบดินทร นั่งดูคนขนของอยู่บนเรือน อีกตอนหนึ่งเป็นภาพบ้านปลัดนุด ตัวปลัดนุดนั่งอยู่บนเรือนกับคนอีกหลายคน ตอนข้างล่างมีภาพบ้านอยู่ริมตลิ่งมีพระภิกษุนั่งอยู่บนเรือน กับคนอีกหลายคน ตอนข้างล่างมีภาพบ้านอยู่ริมตลิ่งมีพระภิกษุนั่งอยู่หลายองค์ มีผู้หญิงนั่งอยู่ ๒ คนทางข้างซ้าย และนั่งอยู่หน้าพระอีกคนหนึ่ง มีเรือจอดอยู่หน้าบ้าน มีหนังสือเขียนอยู่ข้างล่างว่าเจ้าคุณขรัว ๑ เจ้าคุณชินวร
(ภาพนี้เข้าใจว่า เป็นภูมิภาคของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาพตอนแรกแสดงความโอ่โถงของพระเกษม เช่นขุนนางในสมัยนั้นดังปรากฏมาแล้วแต่ตอนต้น ภาพต่อมาเป็นภาพของวัดตะไกร ท่านเจ้าคณะตะไกรและเจ้าคุณดวง คงเป็นองค์เดียวกัน ตอนต่อมาเป็นภาพวัดครุฑ ท่านเจ้าคุณบุญนาคคือสมภารวัดครุฑ ท่านพระราชาคณะทั้ง ๒ รูปนี้ เป็นพระรุ่นก่อนเจ้าพระคุณสมเด็จ และคงคุ้นเคยกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นอันดี เพราะปรากฏว่า ที่วัดตะไกรนี้มีพระสมเด็จฯ บรรจุอยู่ส่วนหนึ่ง แต่จะเป็นของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ หรือของเจ้าคุณบุญนาค สร้างเอาแบบอย่างเจ้าพระคุณสมเด็จ ทราบไม่ได้ชัดเพราะไม่เคยเห็นพระชนิดนี้ภาพตอนต่อมาแสดงว่า เจ้าพระยานิกรบดินทร์ เป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาพคนขนของคงมีความหมายถึงการเตรียมทำบุญ ตอนต่อมาแสดงว่ามีการทำบุญที่บ้านปลัดนุด โดยนิมนต์ เจ้าขรัว ๑ และเจ้าขรัวชินวร ทำพิธี และฉันที่บ้าน สำหรับเจ้าขรัว ๑ เข้าใจว่าเป็นเจ้าคุณญาณสังวรเถร (สังฆราชไก่เถื่อน สุก) ด้วยการใช้เลข ๒ แทน ชื่อนั่นน่าจะเป็นความหมายอยู่ว่า เป็นอาจารย์เรื่องมายาศาสตร์องค์แรก (โปรดอย่าลืมว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นชาวอยุธยา และสังฆราชไก่เถื่อน ก็เป็นคนชาวอยุธยา) หรือมิฉะนั้น ก็น่าจะหมายความว่า เป็นพระอาจารย์หมายเลข ๑ ทีเดียว ส่วนเจ้าขรัวชินวรนั้น ขอเดาว่า อาจเป็นขรัวแสง พระอาจารย์หมายเลข ๑ ทีเดียว ส่วนเจ้าขรัวชินวรนั้น ขอเดาว่า อาจเป็นขรัวแสง พระอาจารย์ด้านมายาศาสตร์ องค์สำคัญอีกองค์หนึ่งของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คู่กับสังฆราชไก่เถื่อนเพราะท่านชอบมาทำบุญบำเพ็ญกรณีย์ที่จังหวัดอยุธยาเป็นนิจ ท่านขรัวทั้ง ๒ นี้ มีอายุอยู่ในสมัยเดียวกัน และต่างเป็นพระอาจารย์ทางวิปัสสนาและมายาศาสตร์อย่างสำคัญของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ด้วยกัน และเป็นที่เชื่อกันว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาศึกษาวิชาลี้ลับทางกฤตยาคมแห่งมายาศาสตร์ ที่จังหวัดอยุธยา และต่อมาได้ศึกษากับสังฆราช ไก่เถื่อน สุก อาจารย์เดิมที่วัดพลับอีก
อนึ่งคำว่า “ขรัว” นั้นเข้าใจว่าใช้นิยมเรียกพระอาจารย์ทางวิปัสสนาและมายาศาสตร์ซึ่งมีลักษณะคร่ำคร่า รุ่มๆร่ามๆ แบบสมถะ ดังเช่น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็มักได้รับการเรียกว่า “ขรัวโต” ดังนี้เป็นต้น-ผู้เขียน)
๑๔. ข้างหน้าต่างผนังด้านใต้ต่อมา มีภาพวัด มีเจ้าคุณวัดครุฑ เดินสะพายบาตรมีสามเณรแบกบาตรเดินตามหลัง มีสุนัขเดินตามอยู่ข้างหน้าหลายตัว อีกตอนหนึ่งมีภาพผู้หญิงคนหนึ่ง มีหนังสือเขียนว่า “คุณป่า” กับผู้หญิงอีก ๒ คน เดินออกมาจากประตูบ้าน อีกตอนหนึ่ง ภาพภิกษุนั่งฉันอยู่ในศาลา มีคนคอยปรนนิบัติอยู่หลายคน ใต้พระภิกษุองค์นั้น มีหนังสือเขียนว่า อาจารย์ศุก มีตอนหนึ่งมีภาพขุนพรหม กำลังนั่งยองๆ ไหว้เจ้าคุณเทพกวีซึ่งสะพายบาตร แบกตาลปัตร และมีคนสะพายย่ามเดินตามหลัง
(ภาพนี้เข้าใจว่า เป็นภูมิภาคของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แสดงเรื่องราวคล้ายๆ ภาพที่ ๑๓ เดี่ยวกับการทำบุญของคุณป่า มีภาพเจ้าคุณวัดครุฑ และเจ้าคุณญาณสังวี สุก (สังฆราชไก่เถื่อน) อาจารย์ในวิชามายาศาสตร์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ปรากฏอยู่ด้วย)
๑๕. ข้างหน้าต่างผนังด้านใต้ต่อมา มีภาพสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) กำลังนั่งเทศน์อยู่บนเรือน มีเสมียนตราด้วง และคนอีกหลายคนนั่งฟังอยู่ อีกตอนหนึ่งมีภาพพระโหราดวงยืนอยู่หน้าประตูวัง และมีคนชักว่าวและเดินอยู่อีกหลายคน อีกตอนหนึ่งมีภาพวัวชนกันคู่หนึ่ง มีเด็กอยู่ ๓ คน อีกคนหนึ่งกำลังผลักกัน วัวตัวหนึ่ง อึกตอนหนึ่ง มีภาพพระนั่งเรือมาในแม่น้ำ อีกตอนหนึ่งมีภาพเด็กไว้จุกใส่กำไล แบกคัมภีร์จะเข้าประตูวัง กับสมเด็จพระสังฆราชแบกตาลิปัตร์หยุดพูดกับคนๆ หนึ่งๆ ใต้คนๆ นี้มีหนังสือเขียน แต่ลบเลือนมาก อ่านไม่ได้ความ
(ภาพนี้เข้าใจว่า ตอนแรกแสดงถึงความเลื่อมใสเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ของเสมียนตราด้วง ในภาพนี้ชวนให้เข้าใจว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสร้างพระสมเด็จฯ กรุบางขุนพรหม ภาพต่อมาแสดงว่า พระโหราดวง จะเข้าพระบรมมหาราชวัง การชักว่าว และชนวัวนั้นคงเป็นที่สนามหลวง หน้าพระบรมมหาราชวัง และพระรามณรงค์คงจะเดินทางมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเข้าเฝ้าในพระบรมมหาราชวัง ส่วนภาพสมเด็จพระสังฆราชแบกตาลิปัตร์พร้อมด้วยเด็กผมจุกลูกศิษย์นั้น คงกำลังจะเข้าไปเทศน์ในวัง-ผู้เขียน)
๑๖. มุมด้านหลังพระประธานภาพลบหมด เพราะมีปูนฉาบไว้ใหม่ มีชื่อภาพคน อยู่ใต้ภาพนั้น ๔๑ ชื่อ คือ ๑. เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ๒. พระยาชัยนาท ๓. พระยารักษาคลัง ๔. พระโหราดวง ๕.พระวิเชียร ๖. พระรามรณรงค์ ๗.พระเกษม ๘.พระธรรมปรีชา ๙.หลวงสุนทร๑๐. เจ้าขรัว ๑๑. เจ้าขรัวชินวร ๑๒. เจ้าขรัวแทน ๑๓. เจ้าขรัวขวัญ ๑๔. เจ้าคุณบุญนาค ๑๕. เจ้าคุณดวง ๑๖. คุณป่า ๑๗. ปลัดนุด ๑๘. ท่านทอง ๑๙. แม่เพียน ๒๐. เสมียนบุญมา ๒๑. นายมาลัย ๒๒. ยายโหง ๒๓.ยายง่วง ๒๔.นายผล ๒๕.แม่งุด ๒๖.เด็กชายบุญเรือง ๒๗. ท่านอาจารย์ (ถ้าจะเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นาค วัดระฆังฯ) ๒๘. อาจารย์แก้ว ((น่าจะเป็นเจ้าพระคุณอรัญญิก วัดอินทาราม) ๒๙. อาจารย์เสม ๓๐. อาจารย์สุก (เห็นจะเป็นสมเด็จพระสังฆราข สุก รัชกาลที่ ๑ อุปัชฌาย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต) ๓๑. เจ้าคุณวัดครุฑ ๓๒. เจ้าคุณวัดตะไกร ๓๓. พระครูใย ๓๔. สมเด็จพระสังฆราช มี (รัชกาลที่ ๓) ๓๕.สมเด็จพระสังฆราช นาค (รัชกาลที่ ๓) ๓๖.สมเด็จพระสังฆราช ด่อน (รัชกาลที่ ๓) ๓๗. พระวัดรัต ๓๘. พระพุฒ ๓๙. เจ้าคุณเทพกวี ๔๐. เสมียนตราด้วง (เสมียนตราด้วง มีภริยาชื่อจันทร์ บ้านอยู่ข้างวัดมกุฏ ฯ เป็นพ่อตาเสมียนตราทอง เป็นบิดามารดา แม่จันภรรยาขุนสวัสดิ์โภไคย (เอม) ประมาณอายุเสมียนตราด้วง คงอ่อนกว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สักเล็กน้อย) ๔๑. เจ้าขรัววัดบางลำพู (เห็นจะเป็นเจ้าคุณบวรวิริยเถรอยู่วัดบางลำพู (วัดสังเวช) อุปัชฌาย์เณรของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
“ภาพต่างๆ และอักษรที่เขียนไว้ภายในโบสถ์วัดอินทรวิหาร ที่พระยาทพโกษาเล่าไว้มีแต่เพียงเท่านี้ ขอให้อ่านจดจำเรื่องเกี่ยวแก่ภาพ และอักษรเหล่านี้ไว้ เพราะเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ มีอ้างอิงถึงภาพและชื่อบุคคล และชื่อภิกษุ ที่ปรากฏในผนังโบสถ์หลายแห่ง และข้อที่ไหนทั้ง ๒ คนนี้อยู่กับพระยาทิพโกษา ได้เล่าให้พระยาทิพโกษาฟังว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ท่านเกิดที่บ้านท่าหลวง จังหวัดอยุธยา แล้วมารดาของท่านพาไปอยู่ที่บ้านไชโย จังหวัดอ่างทอง ท่านไปนั่งได้ที่นั่น แล้วมารดาพาท่านมาอยู่ที่บางขุนพรหม ท่านมายืนได้ที่นั่น ท่านจึงได้สร้างพระนอนองค์โตไว้ที่วัดสะดือ บ้านท่าหลวง หมายความว่า ท่านอนอยู่ที่นั่น แล้วท่านสร้างพระนั่งโตไว้ที่วัดไชโย หมายความว่า ท่านนั่นได้ที่นั่น และสร้างพระยืนโตไว้ที่วัดอินทรวิหาร แต่ยังไม่ทันแล้ว หมายความว่า ท่านยืนได้ที่นั่น พระโตนั้นให้สมกับนามของท่านที่ชื่อโต แต่บิดามารดาของท่านชื่ออะไรไม่ทราบ
“ตามที่ญาติของท่านได้เล่าให้พระยาทิพโกษาฟังเช่นนี้ เป็นอันฟังและเชื่อได้ แต่น่าเสียดายที่ไม่ทราบว่า บิดามารดาท่านชื่อไร แต่เมื่อพิเคราะห์ตามประวัติที่เขียนไว้ ณ ผนังโบสถ์วัดอินทรวิหารแล้ว เห็นมีชื่อนายผล กับแม่งุดนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นบิดามารดาของสมเด็จท่านและเด็กบุญเรืองนั้น คือสมเด็จพุฒาจารย์ (โต)
“ทั้งนี้เป็นข้อสันนิษฐานของท่านเจ้าคุณทิพโกษา และเมื่อพิจารณาตามประวัติที่สมเด็จให้เขียนไว้ที่ผนัง ดูอย่างละเอียดแล้วน่าเชื่อว่า จักเป็นไปได้ตามทางสันนิษฐานของท่านเจ้าคุณทิพโกษา เพราะยังมีเรื่องต่างๆ ที่ปรากฏในประวัติของสมเด็จฯ ตรงกับภาพที่เขียนไว้ ที่ผาผนังโบสถ์ทุกอย่าง”
พลความตอนเรื่องภาพในพระอุโบสถวัดอินทรวิหารนี้ คัดเอามาจากหนังสือ ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ของท่านฉันทิชัย ดังกล่าวแล้วทั้งนี้นอกจากตอนอธิบายภาพซึ่งเป็นความเห็นของผู้เขียนเอง การสันนิษฐานของผู้เขียนในเรื่องราวที่ภาพแสดงไว้อาจมีผิดบ้างเป็นธรรมดา ทั้งนี้เพราะข้อความสำคัญที่ผู้เขียนไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นภาพเหล่านั้นด้วยตาตนเอง เพราะภาพเหล่านี้ไม่มีปรากฏเหลืออยู่อีกแล้ว ทั้งนี้เพราะสมภารท่านซ่อมฝาผนังโบสถ์เสียใหม่มาหลายปีแล้ว แต่ที่นำมาคัดเอาไว้ก็ด้วยเห็นว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่ให้ความสว่างได้หลายประการและเป็นต้นฉบับ ของพระยาทิพโกษา ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของท่านผู้นี้เป็นอย่างสูงที่อุตส่าห์บันทึกเรื่องราวเอาไว้ก่อน ที่สาระประโยนช์อันสำคัญจะสูญหายไปเสีย ทั้งนี้รวมทั้งท่านฉันทิชัยด้วยที่อุตส่าห์ค้นคว้ารวบรวม แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนใคร่จะขออภัยต่อท่านเจ้าคุณทิพโกษา และท่านฉันทิชัย ถ้าหากว่าผู้เขียนจำจะต้องคัดค้านความเห็นของท่านเป็นบางประการ ที่ท่านเจ้าคุณ (หรืออาจจะเป็นคำสันนิษฐานของท่านฉันทิชัยเอง) ได้กล่าวไว้ เช่นการสันนิษฐานว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีนามว่า บุญเรือง และมีโยมทั้ง ๒ เป็นนายผล และแม่งุด ดังปรากฏในภาพที่ ๕ นั้น เป็นการค้านกับความเป็นจริงที่ว่า ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น ท่านชื่อโต ซึ่งแม้แต่ญาติของท่านคือบุคคลทั้ง ๒ ที่ชื่อว่า กลิ่นและไหน ก็กล่าวเช่นนั้น และการที่ท่านสร้างพระองค์โตๆ ก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งนามของท่าน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ควรเชื่อ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ควรเชื่อ ทั้งนี้ไม่ว่าใครๆ ก็รู้กันทั้งนั้นว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ชื่อ “โต” ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ใครๆแม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็เรียกท่านว่า “ขรัวโต” และแม้กระทั่งพระกระเบื้องที่ท่านสร้างไว้ นักพระเครื่อง ฯ ก็เรียกท่านว่า “หลวงพ่อโต” นี้แสดงให้เห็นว่า เป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีชื่อว่า “โต” มาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ไม่เคยมีใครได้มีวี่แววมาเลยว่าท่านบุญเรือง
อนึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้ทำให้ต้องวิจารณ์ไปถึงเรื่องโยมผู้ชายของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ด้วย กล่าวคือ เป็นที่เชื่อถือกันทั่วๆไปว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้เขียนพยายามค้นหาหลักฐานทั้ง ๒ ประการคือ ทั้งการสนับสนุนและคัดค้าน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานอันใดที่มั่นคงพอ นอกจากฉบับของเจ้าคุณพรหมกล่าวไว้อย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่มีหลักฐานอ้างและกอปรกับ ท่านมหาเฮง (วัดกัลยาณ์ฯ) ได้ค้นพบ กำหนดสิ้นอายุขัยของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ในหนังสือจดหมายเหตุบัญชีน้ำฝนแสดงกำหนดเวลาไว้อย่างละเอียด เป็นจดหมายเหตุของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งทรงใช้ศัพท์ว่า “สมเด็จพระพุฒาจารย์ถึง ชีพิตักษัย” แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระมหาสมณะฯ ทรงทราบดีว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ เป็นเจ้าในราชวงศ์จักรีอย่างน้อยที่สุดชั้นหม่อมเจ้า ถ้าจะว่าเป็นเพราะทรงเห็นว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาสมณะฯ ซึ่งเป็นทั้งเจ้า และพรสมณเถระที่ยิ่งใหญ่ ไม่น่าที่จะใช้ราชศัพท์ผิดกับบุคคลที่ไม่ใช่เจ้านอกจากนี้ถ้าจะหยิบยกเอาประวัติศาสตร์ขึ้นมากล่าวอ้างว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ซึ่งเป็นปีถือกำเนิดของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ได้ทรงโดยเสด็จในงานพระราชสงครามกับพระชนกาธิราช ณ ตำบลทุ่งลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรี แต่ปี พ.ศ. ๒๓๓๐ ถ้าเราจะทึกทักเอาว่า ไม่มีทางที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะเป็นโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าได้นั้น การยึดถือเหตุผลแต่เพียงเท่านี้ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่มีน้ำหนักที่เพียงพอ เพราะเหตุการณ์ใกล้ชิดยุคลบาทนั้นใคร่เล่าจะรู้ ผู้เขียนเองก็ไม่อยากที่จะวิจารณ์ในเรื่องนี้นัก เพราะเกี่ยวกับราชวงศ์จักรีแต่เมื่อใคร่ครวญดูแล้วก็ไม่เห็นเป็นการเสียหาย อนึ่งการที่จะอ้างว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นชาวกำแพงเพชร ฯลฯ ความจริงคำกราบบังคมทูลของนายชิตนั้นมุ่งหมายในเรื่อง การถวายพระพิมพ์กรุวัดพระธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร และตำนานแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมากกว่า (ความละเอียดจะปรากฏใน “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่นที่ ๔ เรื่องพระเครื่องทุ่งเศรษฐีกำแพงเพชร”) หาได้มุ่งจะกราบทูลเรื่องราวหรือสาเหตุแห่งการมากำแพงเพชรของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่ ฉะนั้นคำว่าญาตินั้นอาจจะหมายถึง คนรู้จักคุ้นเคยอันหนึ่งอันใดก็ได้ และถึงแม้ว่าจะเป็นญาติจริง ที่หาได้มีเหตุผลโดยแท้จริงไม่ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะต้องกลายเป็นคนกำแพงเพชรตามญาติไปด้วย มีเหตุผลโดยแน่ชัดแวดล้อมอยู่เป็นอันมากกว่า ท่านเป็นคนอยุธยา ผู้เขียนจำต้องขออภัยต่อท่านฉันทิชัย การที่คัดค้านหรือทักท้วงท่านนั้นก็เพื่อผลความไพบูลย์ทางการศึกษาค้นคว้า ซึ่งข้อค้านของผู้เขียนอาจจะผิด และของท่านอาจจะถูกก็ได้ แต่อย่างไรก็ดีขอได้รับการขออภัยจากผู้เขียนด้วย
จะขอยุติเรื่องประวัติเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไว้โดยย่อแต่เพียงเท่านี้ ท่านผู้สนใจโปรดศึกษาได้จากหนังสือ “ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) “ของท่านมหาเฮง (วัดกัลยาณมิตร) ซึ่งกล่าวถึงชีวประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ โดยตรง และมีความพิสดารพร้อมด้วย หลักฐานอ้างอิงอันมั่งคง
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สิ้นชีพิตักษัย ณ หอสวดมนต์วัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี เมือเวลา ๒ ยาม (๒๔.๐๐น.) วันเสาร์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ (ต้น) ปีวอก จุลศักราช ๑๒๓๔ ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ คำนวณอายุได้ ๘๕ ปี ครองพรรษาได้ ๖๕ พรรษา.
ขอขอบคุณ : www.horasadthai.com