ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
จากการศึกษาประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จากเอกสารต่างๆ พอสรุปได้ดังนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม โต นามฉายาว่า พรหมรังสี เกิดในรัชกาลที่ 1 ณ บ้านตำบลไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จ.ศ. 1150 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 เวลาพระบิณฑบาต มารดาชื่อ ละมุด (บางคนบอกว่าชื่อ เกศ) เดิมเป็นชาวตำบลท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์ (อำเภอเมือง) จังหวัดอุตรดิตถ์ บิดาไม่ปรากฏชื่อ (บางตำราบอกว่าบิดาคือ ร. 1 บางตำราบอกว่า ร.2) ขณะที่ท่านเป็นทารกนั้น ครอบครัวได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง พอท่านยืนนั่งได้ ครอบครัวจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร กล่าวกันว่า ขณะที่ท่านวัยเยาว์นั้น ท่านได้ศึกษาอักขรสมัยในสำนักเจ้าคุณอรัญญิก (ด้วง) วัดอินทรวิหาร ครั้นอายุ 12 ปี (พ.ศ. 2342) ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยเจ้าคุณบวรวิริยะเถระ (อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ย้ายมาอยู่วัดระฆังเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมตั้งแต่บัดนั้น ขณะที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่นั้น ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดปรานมาก จึงทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ ครั้นอายุครบอุปสมบท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้บวชเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บางท่านบอกว่า บวชที่วัดระฆังโฆสิตาราม) เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2350 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชสุก วัดมหาธาตุเป็นพระอุปัชฌาย์
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
การศึกษาเบื้องต้นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้น นอกจากศึกษาคันถธุระ (พระปริยัติธรรม) ที่มีความเชี่ยวชาญดีแล้ว ท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนาธุระอย่างจริงจังอีกด้วย จะเห็นได้ว่าในช่วงรัชกาลที่ 2 การศึกษาวิปัสสนาธุระมีความเจริญรุ่งเรืองมาก “ด้วยปรากฏในจดหมายเหตุว่าเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2364 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯให้อาราธนาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ ทั้งในกรุงและหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ มารับพระราชทานบริขารอันควรแก่สมณะฝ่ายอรัญวาสี แล้วแต่งตั้งเป็นพระอาจารย์บอกพระกรรมฐานแก่พระสงฆ์สามเณรและคฤหัสถ์ รวม 73 รูป” (พระครูปลัดสมคิด สิริวฑฒโน. 2550: 65) จึงสันนิษฐานว่า สมเด็จโตคงได้ศึกษาจากหลายสำนักเช่น สำนักเจ้าคุณอรัญญิก (แก้ว) วัดอินทรวิหาร และสำนักเจ้าคุณบวรวิริยะเถระ(อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม รวมทั้งได้เรียนจากพระอาจารย์แสง วัดมณีชลขันธ์ ลพบุรีด้วย พระอาจารย์แสงรูปนี้กล่าวกันว่า เป็นผู้ทรงคุณในทางวิทยาคม สามารถย่นเวลาและหนทางได้ นอกจากนั้น ท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานชั้นสูงและการสร้างพระเนื้อผงกับสมเด็จพระสังฆราช (สุกไก่เถื่อน) และสันนิษฐานว่า สมเด็จโตได้ร่วมปลุกเสกพระเนื้อผงนั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม สมเด็จโตมีอัธยาศัยไม่ปรารถนายศศักดิ์ แม้จะแตกฉานในพระไตรปิฎก และเก่งด้านพระปริยัติธรรม แต่ก็ไม่เข้าสอบเป็นพระเปรียญ แม้แต่รัชกาลที่ 3 จะทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ ท่านก็ทูลขอเสีย และมักหลบออกไปธุดงค์ตามหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งไปไกลถึงลาวและเขมรก็มี แต่ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 4 ท่านจึงยอมรับเอาสมณศักดิ์ดังที่ปรากฏคือ ปี พ.ศ. 2395 เป็นพระธรรมกิติ ต่อมาอีกสองปีคือ พ.ศ. 2397 เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. 2407 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ จนกระทั่งท่านได้มรณภาพในคืนวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือนแปด ปีวอก จ.ศ. 1234 ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 เวลา 2 ยาม คำนวณอายุได้ 85 ปี (ประวัติอย่างละเอียด โปรดศึกษาในหนังสือที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พุทธศักราช 2550 และเล่มอื่นๆ)
จากการศึกษาประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ของสุชาติ มั่นคงพิทักษ์กุล (2552) รวมทั้งหลักฐานอื่นๆ ที่ผู้เขียนค้นพบ สามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่างๆ ตามหนังสือและบทบันทึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถแบ่งช่วงเวลาของการสร้างพระพิมพ์สมเด็จ ออกเป็น 5 ช่วง พอสรุปได้ดังนี้
ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2361 – 2385 ในช่วงของรัชกาลที่ 2 และ 3 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุประมาณ 30-54 ปี ถือเป็นช่วงที่ท่านเริ่มมีชื่อเสียงในด้านการเทศน์ ในช่วงปี พ.ศ. 2363-2365 สมเด็จโตได้มีโอกาสร่ำเรียนวิปัสสนากรรมฐานชั้นสูง รวมทั้งการออกแบบและมวลสารในการสร้างพระพิมพ์กับสมเด็จพระสังฆราช (สุกไก่เถื่อน)
ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2385 – 2393 ในช่วงของรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 54-62 ปี หลังจากได้กลับไปจัดงานศพให้โยมมารดา ตอนอายุ 54 ปี จากนั้นท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการธุดงค์ ทั้งทางเหนือ ลาว และเขมร ต่อมาได้สร้างพระนอนที่วัดขุนอินทร์ประมูล อ.ป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง ในช่วงปี พ.ศ. 2386 ได้มีการสร้างพระสมเด็จพิมพ์เกศไชโย เนื่องจากพบหลักฐานคือ มีพระสมเด็จพิมพ์เกศไชโยถูกบรรจุอยู่ในฐานรูปหล่อองค์เหมือนสมเด็จโต รวมทั้งได้สร้างพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร วัดกลางคลองข่อย ตำบลคลองข่อย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2390 และ ในช่วงเวลาใกล้กัน ได้สร้างพระเจดีย์นอนที่หลังโบสถ์วัดละครทำ ตำบลบ้านช่างหล่อ จังหวัดธนบุรี ปัจจุบันหักพังหมดแล้ว
ช่วงที่ 3 พ.ศ. 2394 – 2407 ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 63-76 ปี เป็นช่วงเวลาที่ท่านได้รับตำแหน่งราชาคณะตั้งแต่ที่ พระธรรมกิติ (พ.ศ. 2395) พระเทพกระวี (พ.ศ. 2397) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พ.ศ. 2407) ในช่วงเวลานี้ น่าจะมีการสร้างพระสมเด็จ เนื่องในโอกาสฉลองเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับดังกล่าวด้วย นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์ทางด้านการเมืองเช่น การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ในปี พ.ศ. 2394 และเหตุการณ์พระราชสมภพของรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2396 ต่อมาท่านได้สร้างพระนั่งโต ที่วัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง ในปี พ.ศ. 2406-2407 รวมทั้งได้สร้างพระสมเด็จ จำนวน 84,000 องค์ มีพิมพ์ 5 ชั้น 6 ชั้น 7 ชั้น ฯลฯ เพื่อบรรจุไว้ในกรุวัดดังกล่าวด้วย ช่วงนี้หลวงวิจารณ์เจียรนัย ซึ่งเป็นหนึ่งในช่างของกรมช่างสิบหมู่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการออกแบบพิมพ์พระสมเด็จ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี เจ้ากรมช่างสิบหมู่ รวมทั้งมีความผูกพันกันกับเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เจ้ากรมท่า และกลุ่มวังหน้า ในการสร้างพระสมเด็จและพระพิมพ์ต่างๆ ถวายแด่องค์หลวงปู่โตเพื่ออธิษฐานจิต และที่เป็นพิเศษมากในปี พ.ศ. 2407 ก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้อัญเชิญเหล็กไหลไพลดำเสด็จมาทางอากาศ บริเวณด้านหน้าวัดระฆังใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และนำมาทำเป็นสร้อยประคำเหล็กไหลไพลดำจำนวนหนึ่ง เศษจากการกลึงลูกประคำได้นำไปเป็นส่วนผสมในพระสมเด็จจำนวนมาก โดยเฉพาะในพระสมเด็จที่สร้างถวายโดยกลุ่มวังหน้า ความรู้เรื่องเหล็กไหลนี้ รับรู้เฉพาะในวงแคบของผู้ปฏิบัติธรรม และผู้ที่มีส่วนสร้างพระทั้งหมดในอดีตได้กลับชาติมาเกิดในภพนี้
ช่วงที่ 4 พ.ศ. 2408 – 2411 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 77-80 ปี ในปี พ.ศ. 2408 ได้มีการสร้างพระสมเด็จเพื่อบรรจุกรุพระธาตุพนมจำลองในวัดบวรสถานสุทธาวาส (วังหน้า) มิใช่ที่พระธาตุพนม จ.นครพนม และเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสวรรคต ในปี พ.ศ. 2408 ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2410 ท่านเริ่มสร้างพระยืนโต ที่วัดอินทรวิหาร จึงน่าจะมีการสร้างพระสมเด็จบรรจุในกรุวัดอินทรวิหารด้วย ขณะเดียวกันท่านยังได้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระนามว่า “พระพุทธมหามุนีศรีมหาราช” ที่วัดกุฎีทอง (วัดพิตเพียน) ตำบลพิตเพียน อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกด้วย
ช่วงที่ 5 พ.ศ. 2411–2415 ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้ายของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ต่อเนื่องจนกระทั่งมรณภาพ ดังจะเห็นได้จากในช่วงต้นของรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2411 มีการสร้างพระพิมพ์ พระบูชา และสิ่งมงคลต่างๆ จำนวนมาก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์สมบัติ พิธีพุทธาภิเษกและอธิษฐานจิตจึงเป็นวาระอันยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีมาในกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2412 มีการสร้างพระสมเด็จเบญจรงค์หรือเบญจสิริ เพื่อเตรียมถวายรัชกาลที่ 5 ที่ได้ส่วนผสมหลักมาจากประเทศจีนโดยเจ้าประคุณกรมท่า (ท้วม บุนนาค) ซึ่งพระชุดนี้เรียกว่า พระสมเด็จวังหน้า ต่อมาจึงได้นำไปบรรจุไว้ในกรุวัดพระแก้วในภายหลัง ในช่วงปี พ.ศ. 2413 เสมียนตราด้วง ได้มีการขอแม่พิมพ์จากสมเด็จโต เพื่อสร้างพระสมเด็จจำนวน 84,000 องค์ เพื่อบรรจุลงในกรุเจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) แต่ได้สร้างและทำพิธีที่วัดอินทรวิหาร ในปีเดียวกันนี้ เจ้าประคุณสมเด็จโต ยังสร้างพระนอนวัดสะตือ จังหวัดอยุธยา จึงน่าจะมีการสร้างพระสมเด็จบรรจุในกรุนี้ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2415 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มรณภาพ ท่านเจ้าพระคุณธรรมถาวร ได้นำพระสมเด็จออกมาแจกในงานศพจำนวนมากกว่าสามหมื่นองค์ และเป็นพระสมเด็จที่ได้รับการลงรักปิดทองส่วนใหญ่ และอีกบางส่วนจำนวนมากมีผู้นำไปไว้ที่หอสวดมนต์ และบนเพดานพระวิหารของวัดระฆังด้วย
เขียนโดย Asst. Prof. Dr.Natdhnond Sippaphakul ที่ 22:01
ขอขอบคุณ : http://somdejtor.blogspot.com/2011/09/blog-post.html