ธรรมบรรยาย ขันธ์ ๕
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม)
เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี และ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
ผู้มีปณิธานมั่นคง และ มีผลงานพัฒนาคนให้สูงด้วยคุณธรรม
ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ในตัวเรานี้เพื่อสมาทานพระกรรมฐาน ขณิกสมาธิ เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าเป็นต้น ในเบื้องต้นของพระกรรมฐานจึงเรียกว่า สมาทานตลอดชีวิต ยึดเหนี่ยวคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นรูปฉบับ ทำขันธ์ให้แจ้งโดยอริยสัจ ๔ สร้างความดีในขันธ์นั้นจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ผีเข้าเจ้าทรง ไปรับขันธ์จากเจ้าแม่ผิดแบบของพระพุทธเจ้า
สมาทาน แปลว่า สมาทานขอรับขันธ์ ๕ รูป นาม เป็นอารมณ์ของข้าพเจ้า ขอให้อารมณ์พระกรรมฐานข้าพเจ้าเจริญด้วยขณิกสมาธิ มีสมาธิภาวนา เกิดพระกรรมฐาน ขอให้รูปกาย นามกายในจิต ให้ชีวิตอยู่แจ้งชัด สามารถรู้เหตุการณ์ในตัวเองได้ คือ สมาทานพระกรรมฐาน ได้ผล ขอให้สร้างกุศลให้ถูกจุดมุ่งหมายอันนั้น
ญาติโยม พุทธบริษัท มาเจริญพระกรรมฐาน ก็คือมารับขันธ์ไปปฏิบัติ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำให้แจ้งในขันธ์ ไม่ใช่รับขันธ์ ๕ เพื่อผีเจ้าเจ้าทรง ที่โยมไปรับขันธ์แบบนั้นมา คงไม่ใช่ผีมาเข้าเอาเจ้ามาทรง แต่ต้องการให้แจ้งในรูปธรรม ให้แจ้งในขันธ์ ๕ สรุปแล้ว ๒ แจ้ง โดยรูปธรรม นามธรรม ตลอดชีวิต ชีวิตของข้าพเจ้าจะได้แจ้งชัดด้วยปัญญา
ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ในขันธ์ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ขอให้ข้าพเจ้ารู้แจ้งของจริง ทั้งรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สัญญา จำได้หมายรู้ คือ สัญญา ข้าพเจ้าอย่าให้มีสติฟั่นเฟือนแต่ประการใด ขอให้ข้าพเจ้าสู่ในจุดมุ่งหมายด้วยญาณอันวิเศษของข้าพเจ้า ในขันธ์เหล่านั้น เรียกว่า สังขารขันธ์ สังขารปรุงแต่ง ขอให้ข้าพเจ้าทราบของจริงในญาณนี้ เรียกว่า ธรรมวิเศษ ปรุงแต่งวิญญาณขันธ์ ขอให้ข้าพเจ้ามีวิญญาณอยู่ในสุคติ ญานัง แปลว่า รู้ ขอให้ข้าพเจ้าซึ้งในปัญญา อย่าให้ชีวิตจิตใจของข้าพเจ้าที่มีลมหายใจอยู่ ณ บัดนี้ ลมหายใจของข้าพเจ้าอยู่ด้วยพระกรรมฐาน หายใจเข้าข้าพเจ้าก็รู้ หายใจออกข้าพเจ้าก็ต้องรู้ อย่างนี้เป็นต้น
บางคนมาบอกว่า หลวงพ่อ จะรับขันธ์ ๕ บอกดีแล้ว ไปทำขันธ์ให้มันแจ้ง ไปรับขันธ์กับใคร รับขันธ์กับแม่คนนั้น เจ้าแม่ เจ้าแม่ชื่อนั้นแล้ว เจ้าแม่เขาให้ขันธ์มาปฏิบัติหรือเปล่า เข่าให้ฉันเข้าทรง เข้าทรงองค์นาเรศ องค์นารายณ์ ว่าไปอย่างนั้นเชียวหรือ ผิดแบบของพระพุทธเจ้า รับขันธ์เห็นด้วย แต่หมายความว่า ขันธ์อะไร ขันลงหิน หรือขันเงิน ขันทอง ขันธ์นี้ คือ ขันธ์ ๕ รับในตัวเรา ขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ทำขันธ์ให้แจ้ง ให้แจ้งโดยอริยสัจ ๔ สร้างความดีในขันธ์นั้น จึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ผีเข้าเจ้าทรง ไปรับขันธ์จากเจ้าแม่ ใช้ได้หรือ
รับขันธ์นี้สมาทานต่อหน้าพระพุทธเจ้า คือ ประติมากรรม องค์ประธานในโรงอุโบสถนี้เป็นสัญลักษณ์ ว่าในคันธกุฏีของพระพุทธเจ้า เช่นในวันนี้มีพระสงฆ์เป็นองค์พยานหลักฐานแจ้งชัดในขันธ์ของข้าพเจ้าโดยแสงสว่างด้วยปัญญาต่อไปเถิดเจ้าข้า
นี่มีความหมายอย่างนี้ ไม่ใช่หลับหูหลับตาไปสวรรค์นิพพาน ไปนั่งคุยกันแล้วจะได้อะไร รับขันธ์ต้องไปทำที่ขันธ์ของตัวเอง ไปทำรูป นาม ขันธ์ ๕ ให้ปรากฏชัด ขณิกสมาธิของให้สมาธิของข้าพเจ้าเข้าสู่ขันธ์โดยรูปธรรม นามธรรม ความสุข ความทุกข์ ความไม่แน่นอน อนิจจัง ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ทุกขัง หาเหตุที่ทุกข์ ได้ขณิกสมาธิ โปรดมีสมาธิยึดเหนี่ยวในขันธ์เหล่านั้น ว่าเวทนาเป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ เวทนามันมีความสุข ก็บังคับไม่ได้ เวทนาต้องเสียใจก็บังคับไม่ได้ โกรธก็บังคับไม่ได้ ต้องการให้สมาธิยึดตรงนั้นให้แม่นยำ จำไว้ให้ได้ สร้างให้ดีมีปัญญา ขันธ์นั้นก็จะแจ้ง อ๋อ เวทนาขันธ์แจ้งแล้ว อุปาทานก็ไม่ไปยึดเหนี่ยว ความเสียใจ ความโกรธ แต่ประการใด จิตมันก็ไม่มีอุปาทาน แสดงว่าข้าพเจ้าทราบขันธ์ดีแล้ว ขันธ์ของข้าพเจ้าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ออกมาอย่างนี้ถึงจะถูกต้องในการรับขันธ์ มีความหมายอย่างนั้น ไม่ใช่รับแล้วไปนั่งที่โน่น นั่งที่นี่ นั่งในถ้ำในป่าก็ไม่ได้ผล เพราะเหตุใด เพราะไม่เข้าใจเรื่องขันธ์ ไม่เข้าใจเรื่องเวทนา
ธรรมะ แปลว่าทำความเข้าใจ เราต้องการพบธรรมะ คือต้องการเข้าใจตัวเอง เข้าใจขันธ์ เข้าใจรูปธรรม เข้าใจนามธรรม เข้าใจรู้จักกำหนดจดจำความดี ไม่ใช่จดจำความชั่วแต่ประการใด ความชั่วมันจะออกไปเพราะขณิกสมาธิ อัปปนาสมาธิเข้าสู่จุดมุ่งหมายอันนั้น แล้วสมาธิถึงจะแน่นอน สมาธิจะไม่หละหลวม สมาธิจะแน่นอน ทุกขังก็จะเกิดขึ้นว่า อ๋อ นี่มันเป็นความทุกข์ มันทุกข์ไปทั้งนั้น ดีใจก็เป็นทุกข์ เสียใจก็เป็นทุกข์ มีเงินมีทองก็เป็นทุกข์ มันมีแต่ความทุกข์ ต้องพลัดพรากจากของที่รักที่พอใจด้วยกันทั้งสิ้น เป็นทุกข์ไปหมด หาความสุขไม่ได้เลย
ความสุขที่เราได้กันทุกวันนี้มันเจือปนด้วยความทุกข์ มันสุขไม่แท้ มันสุขไม่แน่นอน เราอย่าไปเอาความสุขของใครมาแล้วโยนความทุกข์ไปให้เขาเลย อย่าทำเช่นนั้น เพราะฉะนั้น เรารู้แจ้งเห็นจริง เห็นแจ้งเห็นจริง จิตใจก็แจ้งแดงแจ๋ ด้วยปัญญา แสงสว่าง จิตโปร่งใส ขันธ์ ๕ รูป นาม ก็ชัดเจน อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม มันจะชัดขึ้น ชัดแล้วจิตใจก็ปลดเปลื้องทุกข์ โลภะ โทสะ โมหะ ราคัคคินา โทสัคคินา โมหัคคินา มันก็ออกไปจากจิตใจ และสันดานที่นองเนื่องมานาน เป็นตะกอนในใจ เป็นหนามยอก ในอกพกอยู่ในใจมานานแล้ว เอาหนามออกจากอก ศรกามเทพมันปักจิต เอาชีวิตแจ่มใส แทงศรกามเทพ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะถอนเอาศรออกจากนิสัย สันดาน ที่มันนองเนืองมานานแล้ว น้ำจะใส ใจจะสะอาด จิตก็บริสุทธิ์
ถ้าเรามีเวรกรรม สร้างกรรมมา ทำพระกรรมฐานไม่ได้ผล กรรมมันมาซ้อนกลอยู่ในจิตในกมลสันดาน นึกเมื่อใดเป็นบาปเมื่อนั้น เรานึกเป็นบุญมันก็มีบาป เพราะเราทำบาปมาครั้งอดีตชาติ มาในชาตินี้ยังซ้ำบาปเติมติดต่อปักหลังเป็นชนักมา ไหนเลยเล่าความดีอันนี้จะบริสุทธิ์ ทำพระกรรมฐานจึงไม่ได้กันมากมาย เช่น ด่าผัวก็เป็นบาป ด่าเมียก็เป็นบาป ด่าลูกก็เป็นบาปทั้งนั้น
ถ้าจิตใจสะอาดบริสุทธิ์จะไม่มีด่าใคร จะไม่มีว่าใคร ให้เจ็บช้ำน้ำใจ มีแต่ความสุขสนุกในพระกรรมฐาน จิตใจและสันดานก็แจ้งชัดแก่ตัวเอง เรียกว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ รู้ได้เฉพาะตน ท่านสาธุชนทั้งหลาย พระกรรมฐานเป็นยอดสูงสุดในพระพุทธศาสนา ถ้าใครมีเวรกรรม เจริญไม่ได้ มันร้อน ไม่นั่งแล้ว นั่งไม่ได้ มันปวด ไม่สามารถจะทนทานต่อขันธ์เหล่านั้นได้
บางคนก็ไม่สามารถทนต่อเวทนา จึงกินยาตายจากโลกไปสู่สัมปรายภพ เรียกว่า ทนทุกข์เวทนาไม่ได้ การกินยา แปลว่า ตาย จาก ดับ แตกสังขารไปสู่สัมปรายภพ จะไปนรก หรือสวรรค์ ดูตรงนั้นต่อไป นี่มีความหมายอย่างนั้น ไม่ใช่หมายความว่า เรานั่งแล้วไปสวรรค์ได้เลย ทำยาก ไม่ใช่ง่ายนะ ถ้าคนมีบุญแล้วมันก็ง่าย คนมีบาปทำยาก คนมีใจเป็นบาปนี่ทำกรรมฐานไม่ได้ คนที่มีบุญวาสนานี่ทำได้ง่าย ไม่ยาก อดทน ต่อสู้ ต่อขันธ์ของตัวเอง บอกไว้ชัดเจนแล้ว คนที่ไร้บุญวาสนาจะทำไม่ได้เลย บางคนนั่งมดขึ้น ปลวกกิน นั่งไม่ได้ หนีไปห้องโน้น ปลวกก็ตามไปกินในห้องโน้น แมลงสาปไม่มีเลย ไปทำบาปกรรมกับแมลงสาปที่เคยไปบี้มันมา มันอโหสิกรรมให้มาได้พระกรรมฐานถึงจะได้ผล ออกมาตรงนี้ชัดเจนแล้ว ท่านทั้งหลายจะเอาอะไรเป็นหลัก จะไม่มีข้อปฏิบัติประการใดเชียวหรือ แต่อาตมาเห็นใจโยมนะ ทำไม่ใช่ง่าย คนมีบุญวาสนาไม่ต้องเชิญชวนก็มา มาได้ง่าย คนที่ไร้บุญวาสนาเอาช้างไปลาก เอารถไปฉุด ก็มาไม่ได้ เพราะคนไร้บุญวาสนาไม่สนใจเรื่องนี้หรอกจะบอกให้
คนไร้บุญวาสนามาครั้งอดีตชาติ ไม่มีนิสัยมาแต่ชาติก่อน ชาตินี้ทำยากมาก ไม่มีโอกาสที่จะมาเจริญกุศลภาวนาที่สูงสุดในพระพุทธศาสนาได้ ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง โดยอริยสัจ ๔ ของพระองค์นั้น พระองค์ไม่ได้มีครูอาจารย์แต่ประการใด พระองค์ไปหาเอง แสวงหาโมกขธรรมอยู่ถึง ๖ ปี แล้วพระองค์เอาความดี ๖ ปี เอามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาถึง ๔๕ ปี มีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน ท่านทั้งหลายที่เป็นพระสงฆ์องค์เจ้าที่มาอยู่กับเรา เราวิจัยทุกวัน ถ้าท่านไร้บุญวาสนา ไม่ต้องพูดกันเลย ท่านไม่เอาหรอก ยัดเยียดอย่างไรก็ไม่เอา ของดีก็ไม่เอาแน่ ๆ เพราะไร้บุญขาดวาสนา จึงไม่สนใจเรื่องนั้นแต่ประการใด ไปสนใจนอกหน้าที่หมด จะช่วยอย่างไร ช่วยไม่ได้แล้ว ช่วยคนที่ตกนรกขึ้นจากนรกก็ช่วยยาก ไม่ใช่ง่ายเลย แต่ช่วยคนที่เขามีบุญวาสนา นำส่งผลกุศลก็ช่วยถึงคราวม้วยก็ไม่ม้วยมรณา ช่วยได้ง่าย คนที่ดีมีปัญญา ช่วยง่าย คนที่ไร้บุญขาดวาสนา เหมือนต้นไม้ไม่มีใบ ไร้ใบไร้วาสนา ช่วยยาก
คนเรานี่เหมือนกันไม่ได้ นานาจิตตัง กุสลาธัมมา เกิดมามีหูมีตามีปากมีฟันด้วยกันทั้งนั้น แต่ทำไมหนอเขาจึงไม่เหมือนกันเล่า กฎแห่งกรรมมันบอกไว้ชัดเจนว่า เขาดีไม่ได้แล้ว มันดื้อ เราก็เลิกด่ากันซะทีนะ เมื่อด่าแล้วเขาดีกว่านี้ไม่ได้ สงสารเหลือเกิน ไม่ใช่เกลียด น่าสงสาร น่าเวทนายิ่งนัก คนที่ไร้เหตุผล นี่เราสงสารเขาเหลือเกิน เมื่อก่อนนี้อาตมาโกรธพระไม่เอาไหน เดี๋ยวนี้เลิกโกรธแล้วสงสารเหลือเกินพระคุณเจ้า เขาจะข้าโอฆสงสารไม่พ้น เขาจะกลับไปอบาย นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ตามเดิมของเขา เขาไม่มีโอกาสจะเงยหน้าอ้าปากได้อีกต่อไปแล้ว เขาจะมีแต่ความทุกข์ จะมีความสุขก็น้อยนัก ความทุกข์ตั้ง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ความสุขเพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ชีวิตพระกรรมฐานคือ หน้าที่และการงานอยู่ในขันธ์ ๕ ท่านรับขันธ์ ๕ ไปแล้ว เอาขันธ์ ๕ ไปพิจารณา ศึกษาขันธ์ให้แจ้งชัดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นาทีแรกอย่าให้เป็นนาทีสุดท้าย มันจะเสียกาลเวลา อายุเราจะมากขึ้น ไม่มีที่พึ่งทางใจ อยากจะร้องไห้ทางน้ำตาหรือจะร้องไห้ทางเหงื่อออก ฉะนั้นโปรดรีบเหงื่อออกเสียแต่บัดนี้ อย่าให้เหงื่อออกตอนแก่มันแย่เท่งทึง เหงื่อออกทางลูกตาน่าเวทนา เป็นอัมพาตอ่อนระโหยโรยรา นอนคราง นอนครวญตลอดโดยกายหาที่พึ่งไม่ได้เสียแล้วหรือ อย่าหมายความว่าจะไปพึ่งลูกหลาน อย่าไปหมายความว่าจะไปพึ่งคนอื่นเขา ตีความหมายให้ชัดและให้แจ้งคือ พึ่งตัวเอง ตัวเองเท่านั้นเป็นที่พึ่งของตนได้ เราดูคนมานานแล้วเราก็ไม่ว่าเขาแค่นั้นเอง ชาติตะกั่วก็เป็นทองคำไม่ได้ ชาติทองคำก็เป็นตะกั่วไม่ได้ ก็แน่นอนจริง ๆ อย่าลืมว่าทองคำนี่มันสู้ไฟนะ ไม้ใหญ่มันสู้ลม เราเอาทองเหลือง ทองแดง ตะกั่ว ทองคำมาผสมกันเข้า ใส่ภาชนะเข้า เอาน้ำกรดเทลงไปให้หมด น้ำกรดจะกัดทองเหลือง ทองแดง ตะกั่วละลายไปเป็นเถ้าถ่าน แต่ทองคำจะอยู่ใสสะอาดปราศจากมลทิน นี่ความดีใช่หรือไม่
ท่านสาธุชนทั้งหลาย โปรดทราบข้อนี้เป็นข้อหมายที่ท่านมาปฏิบัติกันนี้นะ ท่านมีบุญแน่นอน ถ้าไร้บุญวาสนาไปเชิญมาไม่ได้แน่ ไม่สนแน่ ๆ ฉันไม่ว่าง หลวงพ่อคะ ไม่ว่าง นั่นแหละไม่ว่าง ถ้าเราว่างตั้งใจสร้างความดีมีสุข ไม่มีทุกข์แล้วเชิญได้ทุกเวลา เราจึงไม่ต้องออกไปโฆษณาออกทีวีประกาศว่าบวชชีพราหมณ์ มานั่งกรรมฐานไม่เคยมีประกาศ มีแต่โทรเข้ามาเต็มหมด หลวงพ่อ น้ำท่วมไหม จะมาปฏิบัติ น้ำท่วมหรือเปล่า ถามกันมาวันหนึ่งหลายร้อยครั้ง น้ำไม่ท่วมเชิญมาได้ทุกเวลา ยินดีต้อนรับคนดี อปริหานิยธรรม บอกไว้ชัด ผู้ใดมีบุญเชิญมาได้ จตุรทิศทั้ง ๔ จาตุรงคสันนิบาตเชิญมาได้ทุกเวลา ถ้าคนไร้บุญวาสนาก็อย่ามาเลย ผู้มีบุญมาแล้ว ก็ขอให้มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ผู้ไร้บุญจะมาได้หรือประการใด ผู้มีความสุขโปรดได้มาเถิด ขอให้ท่านมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป มีความเจริญรุ่งเรืองสู่เคหะสถานของท่านต่อไป นี่เราอธิษฐานจิตอย่างนี้ ใครมีบุญมาเอง ใครไร้บุญวาสนาไม่ต้องเชิญ ไม่ต้องชวน
ขอให้ผู้มีบุญวาสนากลับไปมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ต่อไป มีความหมายในจิตใจอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานนี้ จึงไม่ต้องแค่นกัน ไม่ต้องไปบังคับกัน บังคับไม่ได้ บังคับให้เขาสร้างความดีเช่นนี้บังคับไม่ได้ แล้วแต่ท่านมีศรัทธา มีความเชื่อในตัวเอง เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าเชื่ออย่างนี้ใช้ได้ ถ้าเชื่อว่าทำดีไม่ได้ดีเหมือนบุญมี กรรมบังก็ไปแล้ว ถ้าเชื่อด้วยเหตุด้วยผลข้อเท็จจริงแล้ว คนนั้นจะยอมรับเหตุผลข้อเท็จจริงด้วยกมลสันดานของตนที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมปรารถนาทุกประการ มีความหมายอย่างนั้น
การเจริญพระกรรมฐาน กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรให้มากนั้น หมายความว่า อย่าคุยกันเท่านั้น แต่เราประสบการณ์กับตา หู จมูก ลิ้น กาย ประสบมาก กำหนดได้มากจะได้ตำรามาก ถ้าเราไม่อยู่ในห้องมืด มันไม่มองเห็นใครเลย มันไม่ได้ตำรา จะไม่ได้ตำราที่แท้จริงและถูกต้อง ต้องมองเห็นเรื่อย ๆ สัมผัสตาเห็นหนออยู่เสมอ และเห็นหนอเพราะจิตอย่าไปกังวลสนเท่ห์กับที่เห็น มันจะเก็บอารมณ์ไม่ได้ เห็นหนอนี่เป็นการเก็บอารมณ์ เสียงหนอนี่ก็เป็นการเก็บอารมณ์ เสียงหนอ เขาพูด เขาด่า เก็บโดยที่ว่าไม่ไปสนใจกับเสียงนั้น เราสนใจกับขันธ์ ๕ ที่เรารับไว้ ต้องการจะทำขันธ์ให้แจ้ง ทำสิ่งที่มีประโยชน์ในตัวเองเท่านั้น ไม่ต้องการจะไปแส่หาความชั่วนอกตัวเลย ตัวเองก็มีความดี ความชั่วเต็มเปา เต็มกระเป๋าอยู่แล้ว ทำตรงนั้น อย่าไปทำที่อื่นแต่ประการใด ก็ขอฝากพระสงฆ์องค์เณรเรานี่เป็นพระกรรมฐานหมด ไม่ใช่องค์ไหนเข้ากรรมฐาน ทำกรรมฐาน กำหนด องค์ไหนไม่ทำ ไม่เข้ากรรมฐานโดยไม่ต้องกำหนด ไม่ใช่นะ ต้องเป็นนักกรรมฐานทุกองค์ ต้องมาฉันรวมกัน พิจารณาปัจจัย ๔ เคี้ยวหนอ กลืนหนอ ให้ช้า ๆ ทุกองค์ ไม่ใช่องค์นี้ไม่ได้เจริญก็พระซวกเข้าไป ฉันเข้าไป ฉันเข้าไป นั่นน่ะขาดพิจารณาปัจจัย ๔ นั้นจะเป็นบาปนะ
ขอให้ทั้งพระสงฆ์องค์เณรเป็นผู้ปฏิบัติทั้งหมด ถึงหากว่ายังไม่มีโอกาสถึงขนาดนั้น เราก็ฉันพิจารณาปัจจัย ๔ เช่น ปฏิสังขา โยนิโส ปิณฑปาตัง ปฏิเสวามิ ยังไม่พอ เวลาตักมาก็กำหนดช้า ๆ ตักหนอ… ตักหนอ… ใส่ปากก็บอกกินหนอ… เคี้ยวหนอ… เคี้ยวหนอ… ละเอียด นี่ขันธ์ทำให้เราแจ้งในการรับประทานอาหาร กลืนหนอ อาหารย่อยง่ายไม่เป็นพิษ องค์นี้เป็นนักกรรมฐาน ไม่ใช่ว่าองค์นี้ไม่ได้ปฏิบัติ องค์นี้ปฏิบัติ อย่ามาอยู่ด้วยกัน อย่ามาอยู่กับเขานะ ต้องออกไป เพราะเขาปฏิบัติกันนะ อีกองค์หนึ่งไม่ปฏิบัติมันทำให้วุ่นวาย ทำให้เสียสมณธรรม ทำให้เสียสมณเพศ ทำให้เสียการบำเพ็ญกุศลของท่าน
เพราะฉะนั้นขอประกาศให้ทราบว่า ต้องเป็นนักปฏิบัติทุกองค์ ต้องกำหนดหมดทุกองค์นะ ไม่ใช่ว่ากูไม่ต้องกำหนด กูไม่ได้ปฏิบัติพระกรรมฐาน นี่รับขันธ์นะต้องตลอดชีวิต ต้องเป็นนักปฏิบัติหมด ห่มผ้าเป็นปริมณฑลให้เรียบร้อยทุกองค์ รับรองท่านได้มรรคผลแน่ ๆ ไม่มากก็น้อย ท่านต้องได้แน่ ๆ อย่างเช่น ห่มผ้า ปฏิสังขา โยนิโส จีวรัง ปฏิเสวามิ เป็นต้น และก็ห่มหนอ… ห่มหนอ… พาดหนอ… พาดหนอ… เป็นต้น นี่แหละคือพระกรรมฐาน ก็ขอให้พระสงฆ์องค์เณรเจริญพระกรรมฐานทุกองค์ ไม่ใช่ว่าต้องมารับแล้วถึงจะไปเจริญนะ ต้องเป็นนักปฏิบัติหมดทุกองค์ มิฉะนั้นมันจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ องค์หนึ่งปฏิบัติ อีกองค์หนึ่งไม่ปฏิบัติ อยู่ในห้องเดียวกัน อยู่ในกุฏิเดียวกัน องค์หนึ่งเดินจงกรมนั่งกรรมฐาน องค์หนึ่งนั่งคุยกัน มันเป็นบาปหรือเป็นบุญ อย่างนี้เป็นต้น ต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด แล้วมันถึงจะอยู่ร่วมกันได้ น้ำกับน้ำมันจะปนกันไม่ได้ จะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร เช่น เราเอาน้ำมันปนน้ำไปใส่รถ รถมันจะติดไหม รถมันจะไม่ติดเลยนะ คัดเอาน้ำออก น้ำมันล้วน ๆ เราจะต้องระเบิดแน่ ๆ คือ ติด เขาเรียกว่าน้ำมันระเบิด น้ำมันเบนซิน น้ำมันซูเปอร์เป็นต้น มันก็จะระเบิดไปได้ มันก็ติดได้ ถ้าลองเอาน้ำไปใส่สิ ปนกับน้ำมันเข้า เหมือนพระปฏิบัติบ้างไม่ปฏิบัติบ้าง อยู่ด้วยกันแบบนั้น รถจะไม่ติดเลย จะหมุนอย่างไรก็ไม่ติด สตาร์ทอย่างไรไฟหมดหม้อเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์โสตถิผลแต่ประการใด เหมือนกับคนในวัดทั้งหมด มันวุ่นวายเพราะปฏิบัติบ้างไม่ปฏิบัติบ้าง กูอย่างนั้น มึงอย่างงี้ ถ้าปฏิบัติเหมือนกัน ก็จะไม่มีใครพูดเลยนะ จะไม่มีใครว่าแต่ประการใด
ปฏิบัติให้มันเหมือนกัน เดินจงกรมให้เหมือนกัน นั่งปฏิบัติให้เหมือนกัน กำหนดจิตในการพูด การคิด การอ่าน การเขียน การเรียนวิชา ให้เหมือนกันหมด รับรองไม่มีใครตำหนิใคร ไม่มีใครกล่าวร้ายป้ายสีแต่ประการใด เพราะเราเป็นนักปฏิบัติ เราปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยเฉพาะ ป้ายบอกว่านี่สำนักวิปัสสนากรรมฐาน มีป้ายหนึ่งบอกว่า วัดพัฒนาต้องพัฒนาตัวเอง พัฒนาจิต มีป้ายเพียง ๒ ป้าย อีกป้ายหนึ่งบอกว่า เขตภาวนา อย่าเสียงเอ็ด อีกเขตหนึ่งบอกเขตสังฆาวาส อย่ามาขับรถในเขตนั้น อย่ามาวุ่นวายกับเขตสงฆ์ อีกเขตหนึ่งเรียกว่า เขตภาวนากรรมฐาน สังเกตได้ผู้หญิงทั้งนั้น ญาติโยมผู้หญิง ผู้ชายอย่าเข้าไปยุ่ง ต่อไปโอกาสข้างหน้าจะจัดสัดส่วน เช่นโรงเรียน เรากำลังจะย้ายโรงเรียนไป เราทำรั้ว ทำสวนป่าให้เรียบร้อย ผู้ชายอยู่ข้างนอกโน่น ผู้หญิงอยู่ข้างใน เพราะอยู่ในป่าอย่าออกมาเดินจุ้นจ้าน ในเขตนี้คือเขตอบรม ก็ต้องวุ่นวายเป็นเรื่องธรรมดา อย่างนี้ละหนอ
ถ้าเราปฏิบัติธรรมด้วยกันแล้วจะไม่มีปัญหาเถียงกัน เพราะปฏิบัติเหมือนกัน ได้ของดีเหมือนกันแล้วก็จะไปเถียงกันทำไม แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ จะได้ผลและเป็นแนวหน่อย ไม่ใช่ต่างคนต่างมา ฉันแล้วสลัดมือไป ต่างคนต่างไป ไม่ใช่พระปฏิบัติ ไม่ใช่ปฏิบัติพระกรรมฐานแล้ว ต้องขอร้อง ขอแรง ให้ปฏิบัติเหมือนกันหมด ท่านจะปรากฏชัดถึงขันธ์ ๕ ท่านจะรู้รูปนาม ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ท่านจะไม่มีทะเลาะกัน จะมีแต่ความดีร่วมกัน มีแต่กุศลร่วมกันตลอดรายการ และตอนเย็นเราจะสอบอารมณ์ให้ เวลาบรรยายนี่เป็นการสอบอารมณ์แล้ว เราจะรู้ว่าคนไหนขัดข้อง เราจะได้พูดในจุดนั้น ถ้าสงสัยมากกว่านั้นต้องถาม เรียกว่า สอบอารมณ์ ท่านจะได้ผลทุกองค์ บางองค์ทำแล้วไม่รู้ว่าไปเหนือใต้ แล้วก็ไม่ได้รับขันธ์ ทำไปก็นั่งสัปหงกกันตลอด ไหนเลยเล่าจะรู้ของจริง ต้องมีครูบาอาจารย์ มีการแนะแนวและแนะนำ
ท่านทั้งหลายเป็นผู้นำเขาทุกองค์ เป็นสงฆ์ต้องตามดูด้วย ดูตัวเราตัวอย่างจำตัวเราเองนะ ทุกองค์เราเป็นผู้นำตัวเองและต้องตามไปดูที่เราทำน่ะมันผิดหรือถูก หมายถึงตัวเองที่เราทำอะไรน่ะถูกหรือผิด ต้องตามดูตามคิด ตามดูซิ ตามดูกิจกรรมของตัวเอง ว่าเรานี่ทำผิดถูกประการใด มันจะรู้ผลงานประการใด
ถ้าทุกท่านปฏิบัติเหมือนกันแล้วไม่มีใครว่าใคร พูดรู้เรื่องกัน เข้าใจกันง่าย จะไม่มีการเถียงกันอีกต่อไป คนดีก็ไม่ชอบคนชั่วนะ คนชั่วมันก็ไม่ชอบคนดีหรอก คนละเอียดมันเกลียดคนหยาบ คนหยาบก็เกลียดคนละเอียด เราละเอียดด้วยกันไม่ได้หรือ เราว่าอะไรก็ตามกัน มันก็ไม่มีขัดข้องทางเทคนิคแต่ประการใด เพราะรู้เหมือนกัน สภาพเป็นอยู่ของชีวิตเหมือนกันอย่างนี้แหละหนอ เราเกิดมาเป็นเพื่อนกัน เพื่อนเกิดและเป็นเพื่อนแก่ด้วยกัน ต่อไปก็เป็นเพื่อนเจ็บด้วยกัน เจ็บและป่วยไข้ก็ต้องช่วยกันดูแล ใครเจ็บ ใครป่วย ใครเป็นไข้ก็ดูแลกัน จะเป็นเพื่อนกัน ก็เป็นเพื่อนที่จะละโลกกันไป คือ ตายในสัมปรายภพ ก็มาเป็นเพื่อนทุกข์ยากลำบากด้วยกันเหมือนกันหมด
ญาติโยมก็เช่นเดียวกัน เป็นผู้นำเขาต้องตามดูตัวเองว่าทำถูกหรือผิดประการใด แล้วก็ไปดูลูกของตัวเองด้วย ลูกดีหรือลูกชั่วประการใด ไปแก้ไขให้ทันปัจจุบัน ถ้าแก้ไขไม่ได้ ลูกเสียหายไม่ต้องไปแก้จนโตเหมือนต้นตาล เป็นหนุ่มเป็นสาวใหญ่แล้วก็แก้ไม่ได้ แม่ทุกคน ไม้อ่อนบอกอ่อนหัด ไม้แก่ไปแก้มันได้หรือ มันแก่ แก่เกินการ แก่เกินแก้ แล้วจะแก้ไม่ทัน มันจะเสียกาลเวลา ไม่แก่นี่ดัดยาก มันจะหักกลางคัน ไม้อ่อนบอกอ่อนหัดพอดัดได้ นี่อย่างนี้เป็นต้น เพราะผู้เจริญพระกรรมฐานในจิตใจจะโน้มเอียงไปในทางดีทั้งหมด ไม่มีโน้มเอียงไปทางอื่น จะไม่เห็นแก่ตัวเลย ผู้ที่ปฏิบัติพระกรรมฐานได้จะไม่เห็นแก่ตัว และจะช่วยเหลือกันตลอดรายการ จะมีแต่เมตตาเหมือนกันหมด มีปราณีเหมือนกันหมด มีกรุณาสงสารกันหมด และมีอะไรพลอยยินดีซึ่งกันและกัน มีการอนุโมทนาสาธุการด้วยกัน อุเบกขาภาวนาก็บอกไว้ชัด เมตตา กรุณา อุเบกขา มุทิตา อุเบกขา ก็วางเฉยในเรื่องความชั่ว ความชั่วอย่าเฉย อย่าไปสร้าง ความดีก็สร้าง มันถึงจะเรียกอุเบกขา ไม่ใช่ใครทำชั่วตกทุกข์ได้ยากก็เฉย ไม่ใช่อย่างนั้น เข้าใจอุเบกขาผิด อุเบกขา นี่หมายความว่า เราเฉยในเรื่องที่เขาจะสร้างความชั่ว จะเอาชั่วมาให้เรา เฉยอย่าไปทำ อย่าเอาชั่วมาใส่ตัว มันจะพัวพัน จะเกิดอกุศลกรรมในชีวิตของเราต่อไปจนชีวิตหาไม่
ขอเรียนท่านพระสงฆ์ เถรานุเถระ ขอให้ปฏิบัติให้เหมือนกันหมดทุกองค์ ถ้าไม่เหมือนกันอยู่ด้วยกันไม่ได้ พิจารณาตัวเองเถิด อย่าให้ใครให้ประเสริฐเท่าตัวเอง อย่าเอาตัวขึ้นเหนือลม ต้องเอาตัววางไว้โดยระเบียบระบบในพระธรรมวินัยนั้น จะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายเอง ถ้าเรามาอยู่ในสำนักปฏิบัติ แต่ไม่ปฏิบัติ นี่มันเสียสำนักเขา เสียภาพพจน์วิปัสสนากรรมฐาน เสียภาพพจน์ เสียหายมากแล้ว ถ้าจะลงความเห็น นินทาเจ้าอาวาสต่อไปว่านี่หรือสำนักปฏิบัติ พระของท่านอย่างนี้หรือ เราจะเสียชื่อเสียเสียง นี่มันเป็นอย่างนี้นะ ข่าวเล่าลืออยู่เสมอ
ขอเรียนให้ทราบไว้เพื่อแก้ไข ปรับปรุงให้ดีต่อไป แล้วเราไปเดินเป็นแถวเป็นแนวก็สวยดี ปฏิบัติให้มันเหมือนกันหมดเลย จะแลดูเป็นแบบฉบับที่เหมือนกัน น่าเลื่อมใส น่าศรัทธา อย่างนี้สิ จะเป็นประโยชน์โสตถิผลมิใช่น้อย ขอเรียนถวาย ไปฉันรวมกันหน่อย แล้วก็พิจารณา บางองค์ก็บ่นบอก เออ ผมไม่ได้ปฏิบัติหรอก ไม่ใช่พระปฏิบัติ ฉันอย่างไรก็ได้ ใช้ได้หรือ ต้องให้เหมือนกันนะ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถ้าไม่เหมือนกันนะ จะเป็นพระปฏิบัติได้อย่างไร ญาติโยมมาเป็นเป็นพระปฏิบัติ เขาจึงชอบมาทำบุญที่วัดอัมพวันมาก
สำหรับญาติโยมก็ดี พระสงฆ์องค์เจ้าก็ดี ปฏิบัติให้เหมือนกันให้หมด ทำอะไรก็เป็นนักปฏิบัตินะ เย็นก็มาสอบอารมณ์กันดู แล้วก็กลางวันมีเวลามาก ก็ขอเรียนว่า เดินจงกรมอย่างต่ำต้อง ๑ ชั่วโมง นั่งให้ได้ ๑ ชั่วโมง ให้ติดต่อกันไป รับรองไม่เกิน ๗ วัน ท่านต้องได้มากด้วย ไม่ใช่ไปนั่งคุยกัน แล้วก็ไปเคาะกุฏิคุยกัน ใช้ได้หรือ คุยกันน่ะเสียอารมณ์เลย เดินชั่วโมงนี้ได้แล้ว ชั่วโมงถัดไปเอาชั่วโมง ๑๐ นาที นั่งชั่วโมง ๑๐ นาที ค่อย ๆ เลื่อนไป อย่าเอามาก แล้วก็เลื่อน ชั่วโมง ๒๐ ชั่วโมง ๖๐ เป็น ๒ ชั่วโมง แล้วก็นั่ง ๒ ชั่วโมง ได้ผลแน่ ๆ พอทำเสร็จแล้ว เวลาจำกัด ต้องมาฉันเพล ต้องนั่งลดลงมา ได้ไม่ได้ เพราะเวลามันเหลืออยู่ ๒๐ นาที อย่าให้เสียเวลาไปเปล่า ๆ ๒๐ นาที ก็นั่ง ๑๐-๒๐ นาที ก็เดิน อย่าให้เสียเวลา เพราะอีกเดี๋ยวน่ะ เดี๋ยวจะไปฉันเพล เดี๋ยวจะฉันเช้า ไม่ต้องนั่งก็มันเสียเวลาไปทำไมเล่า น้อยก็ได้ ทำน้อยก็ได้ ถ้าเวลามากนั่งมาก เดินมาก เวลาน้อยเดินน้อย นั่งน้อย นี่อยู่ตรงนี้เป็นปัญหา จงแก้ปัญหา ถ้าเวลา ๑๐ นาที ก็นั่ง เดินไม่ทันก็นั่งเอา เดินไม่ทันอย่าให้มันเสียเวลา จะทำอะไรก็กำหนด จะทำงานก็กำหนด นี่เราต้องทำงานจะหยิบก็กำหนด นี่เป็นการกรรมฐาน ทำงานมากมีกรรมฐานมาก ทำงานน้อยมีกรรมฐานน้อย ไม่ทำเลยไม่ได้กรรมฐานเลยนะ ไม่ได้แม้แต่น้อยเลยนะ ขอเรียนถวายพระสงฆ์องค์เจ้าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป การทำงานนี่นะเป็นการกรรมฐาน ตั้งสติไว้ในการแก้ปัญหา ชีวิตนี่จะแจ่มใส ขันธ์ ๕ ก็จะแจ้งชัด รูป นาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ก็เกิดผลดังได้ชี้แจงแสดงมา ณ บัดนี้
ขอให้พระเถระ และญาติโยม พุทธบริษัท กลับไปบ้านโปรดเดินจงกรม ต้องเดินก่อนนั่ง เดิน ยืนก่อน ยืนแล้วมาเดิน คือ ยืนหนอ ๕ ครั้ง ยืนแล้วก็เดินจงกรม จะเอา ๑ ชั่วโมงหรือ ๓๐ นาทีที่บ้านของโยม เดินแล้วก็นั่งตามกำหนด นั่งแล้วก็นอนพักผ่อน กำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไปจะหลับตอนพอง หรือ ตอนยุบก็กำหนดต่อไป ลุกมาได้ไม่ได้ ทำงานอื่นก็เดิน เราก็เดินอยู่แล้ว เดินไปครัวบ้าง เดินลงไปข้างล่าง เดินไปเหนือไปใต้ ก็เอาสติใส่ไว้ที่เท้าไปสิ เดินมีกำหนด ขวาย่าง ซ้ายย่างไป ถ้าจะเดินเร็วหน่อย สติมันก็จะเร็วขึ้น ช้าเพื่อไว เสียเพื่อได้ นี่ทำความเข้าใจธรรมะนี้หน่อยนะ ถ้าไม่เข้าใจ โยมจะทำอะไรไม่ได้ผล บ่นว่าไม่มีเวลาเดินจงกรม ไม่มีเวลานั่ง ก็เดินไปเหนือมาใต้ล่ะ ว่าไม่มีเวลาได้อย่างไร ก็เอาสติเข้าไปตอนเดิน ตอนนั่ง กำหนดหายใจเข้าออก เอาสติใส่เข้าไป ลมหายใจเข้าออกมันหายใจอยู่แล้ว ก็เอาพองหนอ ยุบหนอ เท่านี้เองทำไม่ได้ กลับไปทิ้งพระกรรมฐาน จึงไม่ได้อะไรเลย
สุดท้ายก็ขอความเจริญรุ่งเรืองในธรรมสัมมาปฏิบัติในหน้าที่ และขอจงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ นึกคิดสิ่งหนึ่งประการใด สมความมุ่งมาดปรารถนาด้วยกันทุกรูปทุกนาม ณ โอกาสบัดนี้เทอญ
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://palipage.com/watam/buddhology/42-08.htm