อินเดีย-ไทย ใกล้ชิดกันกว่าที่คุณคิด (ตอนที่ 2)

อินเดีย-ไทย ใกล้ชิดกันกว่าที่คุณคิด (ตอนที่ 2)

ตามที่ได้เกริ่นไว้ในตอนที่แล้วว่า ไทยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียมาไม่น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และถูกนำมาผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิต ประเพณี ความเชื่อ โดยที่คนไทยอาจนึกไม่ถึง

ตอนที่แล้ว ยกตัวอย่างเรื่องภาษาซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นชัดที่สุด แม้แต่คำว่า “ภาษา” (อินเดียออกเสียงว่า บาห์ซ่า) ก็เป็นคำสันสกฤต ที่คนอินเดียยังใช้อยู่ทุกวันนี้

พุทธศาสนาเป็นมรดกล้ำค่าอีกเรื่องที่ไทยรับมาจากอินเดียเต็มๆ แผ่นดินถิ่นพุทธภูมิ ต้นกำเนิดของพุทธศาสนา ศาสนาประจำชาติของไทย ก็คืออินเดีย พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในราชวงศ์โมริยะ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกที่ทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสูงสุดในอินเดีย และต่อมาได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ

ท่านพุทธทาส ภิกขุ เคยเทศน์เรื่อง พระคุณที่อินเดียมีต่อไทย ในวันอาสาฬหบูชา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2533 กล่าวถึงอานิสงส์ที่ไทยได้รับพุทธศาสนามาจากอินเดีย ซึ่งเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมและประเพณีอีกมากมายของไทย ท่านกล่าวตอนหนึ่งว่า วัฒนธรรมต่างๆ นี้ ได้กลายเป็นชีวิตเป็นเลือดเนื้อของชาวไทยไปเสียแล้ว…เรามีเลือดมีเนื้อเป็นอินเดีย มีศาสนาฮินดูเป็นแม่ มีศาสนาพุทธเป็นพ่อ อยู่โดยไม่รู้สึกตัว

นอกเหนือจากแก่นธรรมของพุทธศาสนาที่เป็นสมบัติล้ำค่าของไทย ยังมีประเพณีทางพุทธศาสนา ที่สืบทอดกันมา เช่น การทอดกฐิน ทอดผ้าป่า การเทศน์มหาชาติ

แม้แต่ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย หลายเรื่อง เช่น ประเพณีโกนจุก ประเพณีในงานแต่งงาน เช่น การยกขบวนขันหมาก การกั้นประตูเงินประตูทอง จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต การเผาศพ และการลอยอังคารในแม่น้ำ เป็นตามแบบคติความเชื่อของอินเดีย ที่เชื่อว่าการคืนเถ้าอัฐิสู่แม่น้ำเป็นการได้พบเทพเจ้าในชีวิตหลังความตาย เป็นบุญสูงสุด แม่น้ำสายสำคัญ ที่ชาวฮินดูหวังว่าลูกหลานจะนำอัฐิของตนไปลอย คือแม่น้ำคงคา ถึงกับมีโรงแรมสำหรับนอนรอความตายริมฝั่งแม่น้ำคงคากันเลยทีเดียว มีคำพูดว่า ไฟเผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคาไม่เคยมอดดับสองพันกว่าปีมาแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงเลย

คงคา แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย
ไม่ใช่แต่พุทธศาสนาที่ไทยรับมาจากอินเดีย อิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์ และฮินดู ก็ปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้

พระพรหมเอราวัณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพนับถือของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ถึงขนาดมีทัวร์จากต่างประเทศมาเพื่อสักการะโดยเฉพาะ และพระพิฆเนศ ที่ประดิษฐานอยู่หน้าอาคารสำคัญหลายแห่ง เทพทั้งสองนี้ เป็นเทพฮินดู เชื้อชาติอินเดีย สัญชาติอินเดียขนานแท้แน่นอน เป็นเทพยอดฮิต ที่คนไทยนับถือบูชา

พระพรหมเอราวัณ และพระพิฆเนศที่วัดสมานรัตนาราม ฉะเชิงเทรา
ว่ากันว่า ฮินดูมีเทพอยู่หลายร้อย บ้างก็ว่าหลายพันองค์ แต่เทพสูงสุดของชาวฮินดู เรียกว่า ตรีมูรติ คือ พระพรหม ผู้สร้าง พระศิวะ ผู้ทำลาย (สิ่งชั่วร้าย) และพระวิษณุ ผู้รักษา นอกจาก ตรีมูรติเทพแล้ว ยังมีพระพิฆเนศ ที่เป็นที่นับถือสูงสุดอีกองค์หนึ่ง ชาวอินเดียจะนับถือเทพต่างๆ กันไป แต่ก่อนที่ชาวอินเดียจะบูชาเทพองค์ไหนๆ จะบูชาพระพิฆเนศก่อนองค์อื่นเสมอ อันที่จริง พระพิฆเนศไม่ใช่ใครอื่น เป็นบุตรของพระศิวะและพระนางอุมา

เทพปกรณัม (ตำนาน) พระพิฆเนศมีอยู่หลายฉบับ แต่ที่ได้ยินบ่อยที่สุด คือ พระพิฆเนศซึ่งเป็นบุตรของพระนางอุมาที่เกิดจากคราบไคล เฝ้ามารดาที่สรงน้ำอยู่หน้าทวาร (ประตู) ไม่ให้ชายใดเข้าใกล้ตามคำสั่งมารดา เมื่อพระศิวะกลับมา ต้องการพบชายา พระพิฆเนศไม่ยอม จึงสู้รบกัน พระศิวะฟันพระพิฆเนศเศียรขาด พระอุมาโกรธ สั่งให้พระศิวะชุบชีวิตบุตรคืน โดยให้เอาเศียรของสิ่งมีชีวิตที่พบเป็นอย่างแรกมาต่อ พระศิวะพบช้าง จึงชุบชีวิตพระพิฆเนศโดยใช้เศียรช้างต่อคืน

พระพิฆเนศเห็นตัวเองมีเศียรรูปร่างน่าขัน จึงขอพรจากบิดาว่า ขอให้เป็นเทพที่มีอำนาจมากที่สุด เป็นที่เคารพบูชาสูงสุด เดือดร้อนถึงพระอินทร์ พระศิวะขอร้องให้พระอินทร์ประทานพรนี้ให้แก่พระพิฆเนศ คนอินเดียถือว่า พระพิฆเนศเป็นเทพแห่งความสำเร็จ พระพิฆเนศจึงเป็นที่เคารพบูชาของผู้คนส่วนใหญ่ในอินเดีย ได้รับการบูชาก่อนเทพองค์อื่น ตั้งแต่มหาเศรษฐี ถึงยาจก

พระพิฆเนศมีอีกชื่อหนึ่งว่า คณปติ คณ หมายถึงหมู่คณะ ปติ หมายถึงผู้เป็นใหญ่ คณปติ จึงหมายถึงผู้เป็นใหญ่ในหมู่คณะ ไทยนำคำว่า คณบดี มาใช้ในความหมายของหัวหน้าคณะในมหาวิทยาลัย

ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า พระพิฆเนศมีงาเพียงข้างเดียว ตำนานเล่าว่า พระพิฆเนศได้เจอกับฤษีรูปหนึ่ง ที่กำลังจะจารมหากาพย์ภารตะ ฤษีรูปนั้น ขอให้พระพิฆเนศช่วย พระพิฆเนศจึงหักงาข้างขวาเพื่อใช้จารมหากาพย์ภารตะลงในใบลาน
ชาวอินเดียจึงนับถือพระพิฆเนศในฐานะเทพแห่งอักษรศาสตร์ด้วย นักเรียนอินเดียมักจะกราบไหว้บูชาพระพิฆเนศก่อนสอบเสมอ

รูปสลักพระพิฆเนศที่กลุ่มวัดคาจูราโฮ รัฐมัธยประเทศ อายุกว่าพันปี
เวลาคนไทยขอพรจากเทพทั้งหลาย มักแทนตัวว่า ลูกช้างขออย่างโน้น ลูกช้างขออย่างนี้ เคยสงสัยไหมว่า ทำไมต้องลูกช้าง ทำไมไม่เป็น ลูกนก ลูกปลา ลูกหมา ลูกแมว… ลูกช้างที่ว่านี้ ไม่น่าจะใช่ใครอื่น น่าจะมาจากพระพิฆเนศนั่นแหละ
(ไม่มีหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการใดๆ เป็นข้อสันนิษฐานของผู้เขียนเอง)

พ่อแม่มักปลอบลูกน้อยเมื่อพลัดตกหกล้มว่า โอมเพี้ยง ..ขอให้ลูกหายเจ็บ คำว่า โอม เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู เป็นคำเริ่มต้นของบทสวดทุกบท เป็นสัญลักษณ์ของตรีมูรติ เทพสำคัญสูงสุดสามองค์ ที่อินเดีย นอกจากเทพฮินดูที่คุณจะเห็นได้ทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่ในวัด โคนต้นไม้ บนกำแพง หน้ารถยนต์ จนถึงหิ้งบูชาอย่างหรูในบ้านมหาเศรษฐี คุณจะเห็นสัญลักษณ์ โอม อยู่ทั่วไปเช่นกัน

สัญลักษณ์ โอม เห็นได้ทั่วไปในอินเดีย
อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เห็นได้ชัดจากประเพณีในราชสำนัก ซึ่งใช้พราหมณ์ในการประกอบพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีโล้ชิงช้า พิธีตรียัมปวาย ซึ่งไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เรายังได้เห็นอยู่ทุกปี รวมถึงการวางศิลาฤกษ์สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ชาวบ้านอย่างเราๆ ก็ยังทำกันอยู่เพื่อความเป็นสิริมงคล

คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมสัญลักษณ์ราชการ เป็นตราครุฑ

เป็นคติความเชื่อเรื่องลัทธิเทวราชาของฮินดู ที่ไทยได้รับอิทธิพลผ่านอาณาจักรขอม ซึ่งเชื่อว่ากษัตริย์เป็นสมมติเทพ และเป็นปางอวตารของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ ซึ่งมีพญาครุฑเป็นพาหนะ ดังนั้น จึงมีการใช้ครุฑเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน และต่อมาก็ได้ใช้เป็นเครื่องหมายของราชการไทยด้วย

ตราแผ่นดินของไทย คือตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ เริ่มใช้ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2436 ข้อมูลจาก: วิกิพีเดีย
ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พราหมณ์ได้นำน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สายของอินเดีย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหิ และแม่น้ำอิรวดี ที่เรียกว่า ปัญจมหานที เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธี

สำนวนไทย ชักแม่น้ำทั้งห้า ซึ่งหมายถึงการพูดจาหว่านล้อม ซึ่งมีที่มาจากมหาเวสสันดรชาดก ตอนชูชกเจรจาขอกัณหา ชาลีจากพระเวสสันดร ก็หมายถึงปัญจมหานทีที่ว่าของอินเดียนี่แหละ

อิทธิพลทางวรรณคดีที่ไทยได้รับจากอินเดีย เริ่มในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดี ศกุนตลา สาวิตรี มีเนื้อเรื่องตรงกับวรรณคดีสันสกฤต นอกจากนั้น ยังมีวรรณคดีทางพุทธศาสนา ที่มีพื้นฐานมาจากวรรณคดีอินเดีย เช่น ไตรภูมิกถา ลิลิตโองการแช่งน้ำ อนิรุทธิ์คำฉันท์ แต่ที่รู้จักกันมากที่สุด ก็คือ รามเกียรติ์ ที่ได้อิทธิพลโดยตรงจากมหากาพย์รามายณะ

หนุมานฉบับโขนไทย หนุมานต้นฉบับ เป็นเทพสำหรับคนเกิดวันอังคาร
นิสัยนอบน้อมของคนไทยเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่ต่างชาติชื่นชม การประนมมือไหว้อย่างอ่อนน้อมของภราดรหลังการแข่งเทนนิสเสร็จสิ้น ชนะใจคนทั้งโลกมาแล้ว

การประนมมือไหว้นี้ เป็นการแสดงความเคารพของอินเดีย เรียกว่า อัญชลี หรือ ประนาม เป็นคำสันสกฤต ไทยรับมาใช้ เรียกว่า ประนม คนอินเดีย เวลาไหว้ทักทายกัน จะพูดว่า นมัสเต หรือ นมัสการ เป็นคำสันสกฤตอีกเช่นกัน มาจากคำว่า นมา + เต “นมา” หมายถึง คำนับ หรือ การแสดงความเคารพ ชื่นชม “เต” หมายถึง ต่อท่าน คนไทยรับคำว่า นมัสการมาใช้กับพระสงฆ์

แต่เดี๋ยวนี้ การประนมมือไหว้ไม่ค่อยได้เห็นในชีวิตทั่วไปของคนอินเดียกันแล้ว คนอินเดียที่เห็นคนไทยยังยกมือไหว้เป็นการทักทายแสดงความเคารพกันอยู่ ออกปากว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชม ที่คนไทยเรายังรักษาขนบธรรมเนียมนี้ไว้ เรื่องดีๆ ที่เราอุตส่าห์รับมาแบบนี้ คงต้องฝากรุ่นลูกรุ่นหลานให้ช่วยกันอนุรักษ์

Aishwarya Rai นางงามและนางเอกบอลลีวู้ดชื่อดัง กับนางฟ้าการบินไทย ใครไหว้สวยกว่ากัน
อาหารและเครื่องแต่งกาย ก็มีส่วนที่ไทยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเช่นกัน

เครื่องเทศส่วนหนึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อีกส่วนหนึ่งเข้ามาสู่ครัวไทยตามการอพยพโยกย้ายของชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเมืองไทย ซึ่งน่าจะเป็นจำพวก อบเชย จันทน์เทศ โป๊ยกั๊ก กระวาน กานพลู ยี่หร่า

โจงกระเบนของไทย มีลักษณะคล้าย โดตี (dothi) เครื่องแต่งกายของอินเดียตอนใต้ ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เรารับแบบอย่างมาจากอินเดีย แม้แต่สะไบที่ใช้ในชุดไทย ก็มีส่วนคล้าย กับลักษณะชายผ้าส่าหรีของอินเดีย

โดตี (dothi) เครื่องแต่งกาย (กางเกง) ของอินเดียตอนใต้ สมัยนี้ กลายมาเป็นแฟชั่นฮิต
ที่เล่ามายืดยาวทั้งหมดนี้ เพียงเพื่อจะบอกว่า อินเดีย-ไทย ใช่อื่นไกล

ถ้าลองตรองดูดีๆ คุณก็จะเห็นว่า อิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดียซึมแทรกอยู่แทบจะ
ทุกอณูของความเป็นไทย

ศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
22 สิงหาคม 2555

http://www.thaiemb.org.in/th/news/report_detail.php?ID=1928

. . . . . . .