นิทานสุภาษิต : คุณศีล
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
ทรงเรียบเรียง
นานมาแล้ว เมื่อพระเจ้าพรหมทัตต์ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ปุโรหิตของพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นผู้มีนิสัยน้อมไปในทาน มีอัธยาศัยมั่นคงอยู่ในศีล รักษาเบญจศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ขาดวิ่นเป็นพากพื้น
พระราชาทรงทำความยกย่องนับถือราชปุโรหิตนั้นใหญ่ยิ่งกว่าพราหมณ์อื่นๆ ราชปุโรหิต นั้นคิดว่า พระราชานี้ ทรงทำความยกย่องนับถือเราใหญ่ยิ่งกว่าพราหมณ์อื่นๆ ทรงเห็นเราเป็นครูที่ควรสักการะเคารพมากเกินที่จะเปรียบ
พระองค์ทรงทำความยกย่องนับถือฉะนี้ เพราะเราถึงพร้อมด้วยโคตร สกุลประเทศ และศิลปะ กระมังหนอ? หรือเพราะเราถึงพร้อมด้วยศีล เราจักทดลองดุให้รู้แน่จึงวันหนึ่ง ราชปุโรหิตนั้นไปสู่ที่เฝ้าพระราชาแล้ว เมื่อจะกลับไปเรือน ไม่บอกเหรัญญิก (คนรักษาเงิน)คนใดคนหนึ่งให้ทราบ หยิบเงินกหาปณะหนึ่งจากที่เก็บเอาไปเฉยๆ
เหรัญญิกไม่พูดว่ากระไร นั่งนิ่งอั้นอยู่ เพราะมีความเคารพในพราหมณ์ วันรุ่งขึ้น ราชปุโรหิตนั้นหยิบเอาสองกหาปณะ เหรัญญิกก็อดกลั้นเอาไว้ ยังไม่พูดกระไรเหมือนวันแรกวันที่ ๓ ราชปุโรหิตนั้น เอามือกอบกหาปณะเต็มกำ ทีนี้เหรัญญิกเหลือทน พูดโพล่งออกไปว่า ท่านปล้นราชทรัพย์ ครบ ๓ วันเข้าวันนี้แล้ว จึงร้องตะโกนขึ้น ๓ ครั้งว่า จับโจรปล้นราชทรัพย์ได้แล้ว
ทีนั้น พวกมนุษย์กรูกันมารอบด้าน พ้อว่าท่านเที่ยวทำเหมือนดั่งคนไม่มีศีล เป็นเวลานานจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ช่วยกันโบยตีราชปุโรหิตนั้นหลายที แล้วมัดนำไปเพื่อแสดงแก่พระราชาเมื่อราชปุโรหิตกำลังถูกนำตัวไป พวกหมองูกำลังให้งูเล่นอยู่ในระหว่างถนน จับมันที่หาง ที่คอ เอาพันคอ แสดงพลิกแพลงต่างๆราชปุโรหิตเห็นการเล่นนั้น กล่าวห้ามว่า พ่อทั้งหลาย! อย่าจับงูเล่นอย่างนั้น เพราะมันจะกัดเอา พวกหมองูกล่าวว่า พราหมณ์ งูนี้มีศีล มีอาจาระคือ ความประพฤติเรียบร้อย ไม่ทุศีลดั่งท่าน
ส่วนท่านสิเป็นคนมีความประพฤติเสีย เพราะเป็นผู้ทุศีล พวกมนุษย์จึงพากันตราหน้าว่าเป็นโจร แล้วมัดนำตัวไป
ราชปุโรหิตได้ฟังดั่งนั้น คิดว่าแม้แต่งูที่ไม่เบียดเบียนขบกัด ยังได้ชื่อว่ามีศีล ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนุษย์ในโลกนี้ ศีลเท่านั้น เป็นคุณอันสูงสุด ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าลำดับนั้น พวกมนุษย์ก็นำราชปุโรหิตนั้นไปแสดงแก่พระราชากราบทูลให้ทรงทราบเรื่อง พระราชาทรงสดับแล้ว ก็ทรงมีความเดือดร้อนพระราชหฤทัย ตรัสพ้อว่า
พราหมณ์! เหตุไฉน ท่านจึงทำกรรมของผู้ทุศีลอย่างนี้ แล้วตรัสสั่งให้นำตัวไปลงราชอาชญาตามโทษานุโทษ
พราหมณ์ มหาราช! ข้าพระพุทธเจ้ามิใช่โจร
พระราชา เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงได้หยิบฉวยเอากหาปณะ ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ไป
พราหมณ์ เรื่องมีอยู่ดั่งนี้ เมื่อพระองค์ทรงทำความยกย่องนับถืออย่างยิ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจึงทำกรรมอย่างนั้น เพื่อทดลองดูว่า พระราชาทรงทำความยกย่องนับถืออย่างยิ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้าเพราะชาติเป็นต้น หรือเพราะศีล บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้ารู้แล้วโดยส่วนเดียวว่า พระองค์ทรงทำความยกย่องนับถือแก่ข้าพระพุทธเจ้าเพราะศีลเท่านั้น มิใช่เพราะสิ่งอื่นมีชาติเป็นต้น มีหลักฐานเป็นเครื่องยืนยันอย่างแน่นอน คือพระองค์ทรงบังคับให้ลงพระราชอาชญาแก่ข้าพระพุทธเจ้า ในบัดนี้
เพราะเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงลงความเห็นว่า ศีลเท่านั้นเป็นคุณอนันต์อุดมสูงสุด เป็นคุณอันเป็นหัวหน้าเป็นประธานในโลกนี้ ข้อนี้ยกไว้ก่อน แม้แต่งูพิษที่ไม่เบียดเบียนขบกัด ยังได้ความยกย่องว่ามีศีล เพราะเหตุแม้นี้ ศีลอย่างเดียวเป็นคุณสูงสุด เป็นคุณอันประเสริฐบวร
พูดกันว่า ศีลงาม อร่ามสรรพ์
สิ่งสำคัญ เยี่ยมกว่า หามีไม่
ดูแต่งู สงวนเขี้ยว ไม่เคี้ยวใคร
นี่แหละไซร้ คือศีล น่ายินดี
ราชปุโรหิตโพธิสัตว์ ครั้นแสดงธรรมแด่พระราชาฉะนี้แล้ว ก็ละกามทั้งหลาย ออกบวชเป็นฤาษี เข้าไปสู่ป่าหิมพานต์ ทำคุณพิเศษคือ อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดได้เป็นผู้มีคติแน่นอน ว่าจะไปบังเกิดในพรหมโลกแล
คติของเรื่อง
เรื่องนี้ ให้คติที่ควรยึดถือ ดั่งนี้
๑. ศีล เป็นคุณควรอบรมให้เป็นพากพื้นอัธยาศัย ศีลคือความประพฤติเรียบร้อยดี ไม่มีโทษที่ควรตำหนิทางกายและวาจา เป็นกายสุจริต วจีสุจริต ที่จัดเป็นอาการของศีล และเป็นมโนสุจริต ที่จัดเป็นศีลแท้
๒. ศีล ย่อมรู้กันได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน เพราะการอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้รู้เห็นความประพฤติของกันและกัน ฉะนั้น ผู้มีศีล แม้จะไม่เปิดเผย ผู้อยู่ร่วมกันก็สามารถรู้ได้ผู้ประพฤติทุศีล แม้ปรารถนาจะปกปิดซ่อนเร้น ก็คงปกปิดซ่อนเร้นไว้ไม่ได้ ความประพฤติของคนต้องปรากฏแก่ผู้อยู่ร่วมกันจนได้
๓. ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติอันเหมาะสม ย่อมได้รับความยกย่องจากทั้งผู้ใหญ่ ทั้งผู้น้อย และทั้งมหาชน บรรดาคุณสมบัติเหล่านั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือศีลโดยเฉพาะผู้ใหญ่จะยกย่องมอบความไว้วางใจแก่ผู้น้อย ก็ต้องเพ่งเล็งศีลหรือความประพฤติของผู้น้อยนั้นจนพอใจจึงยกย่อง ผู้ประพฤติล่วงศีลจะไม่ได้รับความยกย่องเลย แม้ได้รับความยกย่องอยู่แล้ว ก็พลันเสื่อมถึงผู้ใหญ่เองถ้าประพฤติล่วงศีล ก็เสียผู้ใหญ่ ต้องประสบความเสื่อมดุจเดียวกันในเรื่องนี้ ราชปุโรหิตซึ่งพระราชาทรงยกย่องนับถืออย่างยิ่งเพียงล่วงศีล ยังเกือบถูกลงราชอาญา
๔. เพราะฉะนั้น ใครๆ จึงไม่ควรลอง ทั้งจงใจล่วงศีลเลยทีเดียว และควรคิดสะกิดใจอยู่เสมอว่า ศีลนี้แหละเป็นเครื่องรักษาฐานะที่ได้รับยกย่องของตนให้พ้นพิบัติ ทั้งเป็นเครื่องเลื่อนฐานะส่งเสริมให้รุ่งเรืองเจริญยิ่งขึ้น
———————————–
คัดลอกจาก:ธรรมจักษุ
กรกฎาคม ๒๕๔๗
http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/2644-2010-08-28-10-19-14