ความฝันของหลวงพ่อจรัญ

ความฝันของหลวงพ่อจรัญ

วันที่ 17 เมษายน 2547 ที่ผ่านมา ไปร่วมงานฉลองสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ที่ “พระครูโสภณศาสนวิเทศ” ของท่านพระครูสมุห์เจริญ สุขวฑฺฒโน เจ้าอาวาสวัดพุทธมงคลนิมิต เมืองอัลบูเคอร์กี้ รัฐนิว แม๊กซิโก ได้รับแจกหนังสือมาหลายเล่ม แต่มีอยู่เล่มหนึ่งขนาดกว้างประมาณ 4 นิ้ว สูงประมาณ 6 นิ้ว เป็นหนังสือแบบที่เรียกว่า พ็อกเก็ต บุ๊ค คือฉบับกระเป๋า ถือไปไหนมาไหนสะดวกดี

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “อานิสงส์ของการสวดพระพุทธคุณ” เป็นของพระเทพสิงหบุราจารย์ หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในนามว่า “หลวงพ่อจรัญ” แห่งวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งพระเถระรูปนี้มีสถานภาพทางสังคมสงฆ์ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี และมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทั่วเมืองไทย แม้แต่ในอเมริกานี่ก็พบอยู่แทบทุกเมือง

เป็นเรื่องของการสวดมนต์ภาวนาดังชื่อของหนังสือบนปก แต่ข้อความภายในนั้นอ่านดูแล้ว ผู้เขียนรู้สึกฉงนสนเทห์เป็นอย่างมาก ขอนำท่านไปพบกับบทความที่ว่านั้น ดังต่อไปนี้

เมื่ออาตมาได้พบกับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว
โดย พระเทพสิงหบุราจารย์ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี

คืนวันหนึ่ง อาตมานอนหลับแล้วฝันไปว่า อาตมาได้เดินไปในสถานที่แห่งหนึ่ง ได้พบกับพระสงฆ์รูปหนึ่ง ครองจีวรคร่ำ สมณสารูปเรียบร้อยน่าเลื่อมใส อาตมาเห็นว่าเป็นพระอาวุโส ผู้รัตตัญญูจึงน้อมนมัสการท่าน ท่านหยุดยืนตรงหน้าอาตมา แล้วกล่าวกับอาตมาว่า

“ฉันคือสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว แห่งกรุงศรีอยุธยา ฉันต้องการให้เธอได้ไปที่วัดใหญ่ชัยมงคล เพื่อดูจารึกที่ฉันได้จารึกถวายพระเกียรติแก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้เป็นเจ้า เนื่องในวาระที่สร้างพระเจดีย์ฉลองชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาแห่งพม่า และประกาศความเป็นอิสระของประเทศไทยจากหงสาวดีเป็นครั้งแรก เธอไปดูไว้แล้วจดจำมาเผยแพร่ออกไป ถึงเวลาที่เธอจะได้รับรู้แล้ว”

ในฝัน อาตมารับปากท่าน ท่านก็บอกตำแหน่งให้แล้ว ก็ตกใจตื่นนอนใกล้รุ่ง อาตมาก็ทบทวนความฝัน ก็นึกอยู่ในใจว่า เราเองนั้นกำหนดจิตด้วยกรรมฐานมีสติอยู่เสมอ เรื่องฝันฟุ้งซ่านเป็นไม่มี อาตมาก็ได้ข่าวในวันนั้นแหละว่า ทางกรมศิลปากรทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ใหญ่ในวัดชัยมงคล และจะทำการบรรจุบัวยอดเจดีย์ อันเป็นนิมิตหมายการสิ้นสุดการบูรณะ แล้วจะรื้อนั่งร้านทั้งหมดออกเสร็จสิ้น

อาตมาจึงได้ขอร้อง ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร ให้เลื่อนการปิดยอดบัวไปอีกวันหนึ่ง เพื่อที่อาตมาจะได้นำพระซุ้มเสมาชัย ซุ้มเสมาขอ ที่อาตมาได้สร้างขึ้นตามแบบดั้งเดิมที่พบในเจดีย์ใหญ่ใกล้กับวัดอัมพวัน ซึ่งพังลงน้ำ ที่ก๋งเหล็งเป็นคนรวบรวมเอามาให้อาตมาตั้งแต่เมื่อเริ่มมาพัฒนาวัดใหม่ๆ แต่แตกหักผุพังทั้งนั้นหลายสิบปิ๊ป อาตมาได้ป่นเอามาผสมสร้างเป็นองค์พระใหม่ ไปร่วมบรรจุไว้ที่ยอดพระเจดีย์บ้าง

วันนั้น อาตมาเดินทางไปถึง ก็ได้เดินขึ้นไปบนเจดีย์ตอนที่สุดบันไดแล้ว มองเห็นโพรงที่ทางเขาทำไว้สำหรับลงไปด้านล่าง มีร้านไม้พอไต่ลงไปภายใน ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่า ลงไปคราวนี้ ถ้าพลาดตกลงไปจากนั่งร้านม้าก็ยอมตาย คนที่ร่วมเดินทางมาด้วย เขามัวแต่ไปบนลานชั้นบน อาตมาก็ดิ่งลงไปชั้นล่าง มีไฟฉายดวงหนึ่ง เวลานั้ประมาณ 09.00 น. อาตมาลงไปภายในแล้ว ก็พบนิมิตดังที่สมเด็จพระพนรัตน์ได้บอกไว้จริงๆ

อาตมาจึงได้พบว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ท่านได้จารึกถวายพระพร ก็คือบทสวดที่เรียกว่า “พาหุง มหาการุณิโก”

ท้ายของนิมิตนั้นระบุว่า “เราสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ศรีอโยธยา คือผู้จารึกนิมิตรจนาเอาไว้ ถวายพระพรแด่มหาบพิตรเจ้า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

พาหุงมหากา ก็คือบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วก็พรพาหุงอันเริ่มด้วย พาหุง สะหัส ไปจนถึง ทุคคาหะทิฏฐิ แล้วเรื่อยไปจนถึง มหาการุณิโก นาโถ หิตายะ และจบลงด้วย ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง สัพพะพุทธา สัพพะธัมมา สัพพะสังฆานุ ภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต อาตมาจึงเรียกรวมกันว่า พาหุงมหากา

อาตมาจึงเข้าใจในบัดนั้นเองว่า บทพาหุงนี้ คือบทสวดมนต์ที่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ได้ถวายให้พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไว้สวดเป็นประจำเวลาอยู่กับพระมหาราชวังและในระหว่างศึกสงคราม จึงปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้าทรงรบ ณ ที่ใด ทรงมีชัยชนะอยู่ตลอดมา มิได้ทรงเพลี่ยงพล้ำเลย แม้จะเพียงลำพังสองพระองค์กับสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ท่ามกลางกองทัพพม่าจำนวนนับแสนคน ก็ทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพพม่า ด้วยการกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา ณ ดอนเจดีย์ปูชนียสถาน แม้ข้าศึกจะยิงปืนไฟเข้าใส่พระองค์ในตอนที่เข้ากันพระศพของพระมหาอุปราชาออกไปราวกับห่าฝนก็มิปาน แต่ก็มิได้ต้องพระองค์ ด้วยเดชะพาหุงมหากาที่ทรงเจริญอยู่เป็นประจำนั่นเอง

อาตมาพบนิมิตแล้ว ก็ไต่ขึ้นมาด้วยความสบายใจ ถึงปากปล่องที่ลงไปใช้เวลาเกือบสามชั่วโมง เนื้อตัวมีแต่หยากไย่ เดินลงมาแม่ชีเห็นเข้ายังร้องว่า “หลวงพ่อเข้าไปในโพรงนั่นมาหรือ” แต่อาตมาไม่ตอบ

ตั้งแต่นั้นมา อาตมาจึงสอนการสวดพาหุงมหากาให้แก่ญาติโยมเป็นต้นมา เพราะอะไร เพราะพาหุงมหากานั้นเป็นบทสวดมนต์ที่มีค่าที่สุด มีผลดีที่สุด เพราะเป็นชัยชนะอย่างสูงสุดของพระบรมศาสดา จากพญาวัสวดีมาร จากอาฬาวกะยักษ์ จากช้างนาฬาคิรี จากองคุลีมาล จากนางจิญจมาณวิกา จากสัจจะกะนิครนธ์ จากพญานันโทปนันทนาคราช และท่านท้าวผกาพรหม เป็นชัยชนะที่พระพุทธองค์ทรงได้มาด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ และด้วยอำนาจแห่งบารมีธรรมโดยแท้ ผู้ใดได้สวดไว้เป็นประจำทุกวัน จะมีชัยชนะ มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดกาลนาน มีสติ ระลึกได้ จะตายก็ไปสู่สคติภูมิ

ขอให้ญาติโยมสวดพาหุงมหากากันให้ทั่วหน้า นอกจากจะคุ้มตัวแล้ว ยังคุ้มครองครอบครัวได้ สวดมากๆ เข้า สวดกันทั้งประเทศ ก็ทำให้ประเทศมีแต่ความรุ่งเรือง พวกคนพาลสันดานหยาบก็แพ้ภัยไปอย่างถ้วนหน้า

ไม่ใช่แต่พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้น ที่พบความมหัศจรรย์ของบทพาหุงมหากา แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ทรงพบเช่นกัน โดยมีบันทึกโบราณบอกไว้ว่าดังนี้

“เมื่อพระเจ้าตากสินมหราช ตีเมืองจันทบุรีได้แล้ว ก็ทรงเห็นว่า สงครามกู้ชาติต่อจากนี้ไปจะต้องหนักหนาและยืดยาว จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระยอดธงแบบอยุธยาขึ้น แล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลายมาสวดบทพาหุงมหากาบรรจุไว้ในองค์พระ และพระองค์ก็ทรงเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยการเจริญพาหุงมหากา จึงบันดาลให้ทรงกู้ชาติสำเร็จ”

สวดพาหุงมหากากันให้ได้ทุกบ้าน สวดให้ได้มากๆ จะมีแต่ความรุ่งเรือง สวดพาหุงมหากาก่อนแล้วจึงสวดชินบัญชร เพราะชินบัญชรนั้นเจ้าประคุณสมเด็จท่านใช้สวดบูชาพระอรหันต์ของท่าน ต้องสวดพาหุงมหากาก่อน แล้วจึงมาถึงชินบัญชร ให้จดจำกันเอาไว้นั่นแหละ เป็นมงคลในชีวิต

พระเทพสิงหบุราจารย์

(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

นั่นล่ะคือข้อความทั้งหมดที่สะดุดใจผู้เขียนในขณะอ่านหนังสือเล็ก ๆ เล่มนั้น

ความฝัน ท่านจำแนกไว้ว่าเกิดเพราะเหตุ 4 ประการ คือ

1.บุพพนิมิต มีบุพกรรมในกาลก่อนมาสังหรณ์ให้ฝันเห็น จะเป็นดีหรือร้ายก็ได้

2.จิตอารมณ์ มีจิตคิดฝักใฝ่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จึงสามารถฝันเห็น

3.เทพสังหรณ์ คือเทวดาดลใจให้ฝันเห็น

4.ธาตุกำเริบ ธาตุไม่ปรกติ เช่น กินข้าวมากเกินไป ตัวร้อนหรือเย็นมากเกินไป เป็นต้น ทำให้ฝันไปต่างๆ นานา ได้

ส่วนความฝันของหลวงพ่อจรัญนี้ เราจะมาวินิจฉัยกันว่า “ท่านฝันด้วยสาเหตุอะไร ?”

ก็ตามความฝันอันสูงสุดของหลวงพ่อจรัญข้างต้นนั้น ท่านระบุว่า “สมเด็จพระพนรัต เจ้าอาวาสวัดป่าแก้ว แห่งกรุงอโยธยา ศรีรามเทพนคร มาเข้าฝันของท่านหลวงพ่อจรัญ ว่าด้วยบทสวดมนต์พาหุงมหากา”

สมเด็จพระพนรัตน์ในฝันของหลวงพ่อจรัญนั้นอ้างตัวเองว่า “เป็นผู้แต่งคาถาพาหุงมหากาถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในคราวรบชนะพระมหาอุปราชา ณ ทุ่งสาหร่าย เมื่อเดือนยี่ ปีมะโรง แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 นับเป็นปี พ.ศ.2135 ปัจจุบันคือพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ หมู่ที่ 5 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นสมรภูมิเลือดที่คนไทยสมัยหลัง ๆ มานี้รู้จักกันในนาม สงครามยุทธหัตถี”

ทีนี้มีข้อควรวิเคราะห์ว่าด้วยความฝันของหลวงพ่อจรัญนั้นอยู่ 2 ทาง คือ 1.ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และ 2.ด้วยหลักการในทางพระพุทธศาสนาว่าด้วยสิ่งที่ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ

ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยานั้น ปัจจุบันได้รับการถกเถียงกันในวงกว้าง เพราะว่ามีอยู่หลายฉบับ เช่น ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับหลวงประเสริฐ ฉบับวันวลิต ฝรั่งชาวฮอลันดาที่เข้ามาอาศัยค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2181 ฉบับคำให้การของขุนหลวงหาวัดหรือพระเจ้าอุทุมพร พระอนุชาของพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งครองราชย์ก่อนพระเชษฐา แล้วยกราชสมบัติให้ขุนหลวงสุริยาสน์อมรินทร์พี่ชายไปครอง ส่วนพระองค์นั้นเสด็จออกผนวชที่วัดประดู่โรงธรรม ครั้นเมื่อเสียกรุงศรีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2310 (บางแห่งว่าวันที่ 13) แล้วนั้น พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพรถูกจับตัวไปเป็นเชลยศึกที่เมืองอังวะ และทรงแต่งบันทึกเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้ที่นั่น บันทึกนั้นต่อมาคนเรียกกันว่า คำให้การของขุนหลวงหาวัด ซึ่งคำว่าขุนหลวงนั้นคือพระเจ้าแผ่นดิน หาวัดก็คือทรงผนวช เป็นต้น

หนังสือที่เรียกว่าพงศาวดารเหล่านี้ มีทั้งที่ “เหมือน” และ “แตกต่างกัน” นั่นยังเป็นเพียงของไทย ในพม่านั้นก็มีพระราชพงศาวดารของเขาบันทึกไว้เหมือนกัน ซึ่งก็มีทั้งเหมือนและไม่เหมือนกันกับของเรา คือว่าขัดแย้งกันหลายแห่งหลายจุด สุดแต่ว่าเราจะเชื่อฝ่ายไหน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนจะพยายามนำเอาเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันมาแสดงในที่นี้ จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง

คำว่า ประวัติศาสตร์ นี้ก็เพิ่งมีใช้ในภายหลัง แต่ก่อนร่อนชะไรเขาก็ใช้แต่คำว่า “พระราชพงศาวดาร” เป็นหนังสือบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวในราชสำนักและความเป็นไปในบ้านเมือง แต่คำว่าพระราชพงศาวดารดูเหมือนจะแคบไปในสมัยประชาธิปไตย นักปราชญ์ท่านจึงบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้แทน คือคำว่า ประวัติศาสตร์ ตรงกับคำว่า History ในภาษาอังกฤษ

เข้าเรื่องเลย คือว่า ในสงครามยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยแก่สมเด็จพระมหาอุปราชา ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระเจ้านันทบุเรง เจ้าเมืองหงสาวดี ตรงนี้จะเป็นจุดขัดแย้งทางประวัติศาสตร์เป็นแห่งแรกที่หลวงพ่อจรัญฝันเห็นแบบมั่วๆ

คือในฝันของหลวงพ่อจรัญนั้น สมเด็จพระพนรัตน์ท่านมาบอกว่า “”ฉันคือสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว แห่งกรุงศรีอยุธยา ฉันต้องการให้เธอได้ไปที่วัดใหญ่ชัยมงคล เพื่อดูจารึกที่ฉันได้จารึกถวายพระเกียรติแก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้เป็นเจ้า เนื่องในวาระที่สร้างพระเจดีย์ฉลองชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาแห่งพม่า และประกาศความเป็นอิสระของประเทศไทยจากหงสาวดีเป็นครั้งแรก”

ตัวที่ใช้สีแดงป้ายไว้นั่นแหละ ที่นักประวัติศาสตร์เขางง เพราะสมัยอยุธยานั้นยังไม่มีพม่าในแถบนี้เลย ทัพที่มาจากพม่าแทบทุกทัพ พงศาวดารเรียกว่า “กองทัพมอญ” ทั้งนั้น ไม่มีทัพพม่า และที่น่าสนุกเข้าไปใหญ่ก็คือ สมัยนั้นยังไม่มีประเทศไทย สมัยก่อนนั้นเขาเรียกชาวไทยว่า “ชาวสยาม” และเรียกแยกไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น ชาวเชียงใหม่ ชาวอยุธยา ชาวนครศรีธรรมราช และชนในเขตประเทศพม่าปัจจุบันนี้สมัยนั้นก็เรียกเช่นกันว่า ชาวหงสาวดี ชาวตองอู เป็นต้น แม้แต่ชนชาวอยุธยาเองก็ถูกพม่าเรียกว่าชาวโยเดียเหมือนชื่อเมือง เพิ่งจะมาตั้งชื่อประเทศไทยเอาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482 คือเมื่อ 65 ปีที่ผ่านมานี่เอง เมื่อมันยังไม่มีทั้งประเทศไทยและประเทศพม่า แล้วถามว่า สมเด็จพระพนรัตน์ท่านอ้างอิงหนังสือเล่มใดมาบอกเล่าเข้าฝันแก่หลวงพ่อจรัญว่า “มีพม่าและไทยในสมัยอยุธยา 400 ปีที่ผ่านมานั้นแล้ว”

ข้อนี้แสดงว่า สมเด็จพระพนรัตน์ท่านคงจะเกิดหลังปี พ.ศ.2482 กระมัง จึงรู้จักคำว่า “ประเทศไทย” และ “ประเทศพม่า” ถ้าจะวิจารณ์ให้ชัดเจนก็คือว่า สมัยอยุธยานั้นไม่มีปัญหาทางการเมืองระหว่างชาติ แต่ที่กษัตริย์หลายเมืองยกทัพไปหาเรื่องฆ่าฟันกันนั้น เป็นการแสดงออกซึ่งแสนยานุภาพในลัทธิสมมติเทวะของแต่ละพระองค์เท่านั้นเอง ชาวไทย ชาวพม่า ประเทศไทยหรือประเทศพม่ายังไม่เกิด จึงไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับประทงประเทศที่หลวงพ่อจรัญฝันเห็นนี่เลย

“ประกาศความเป็นอิสระของประเทศไทยจากหงสาวดีเป็นครั้งแรก” คือข้อความในฝันอีกท่อนหนึ่ง ซึ่งหลวงพ่อจรัญนำมาถ่ายทอดได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ ตรงนี้นักประวัติศาสตร์ได้อ่านแล้วหัวร่อ โถหลวงพ่อคงไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบกระมังครับ ว่าสมเด็จพระนเรศวรนั้นทรงประกาศอิสรภาพมิใช่เพราะสาเหตุว่าประเทศไทยเป็นศัตรูกับพม่าหรอก ความจริงแล้ว พระเจ้านันทบุเรงวางแผนจะเก็บพระนเรศวรก่อนต่างหาก จึงออกอุบายให้ไปช่วยรบ แล้วก็ให้กองกำลังซุ่มทำร้าย ดีที่ว่าพระมอญชื่อพระมหาเถรคันฉ่องทราบก่อน ด้วยความเมตตาว่า พระนเรศวรนั้นยังเด็ก กลับถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรม จึงจำต้องบอกให้รู้พระองค์ พระนเรศจึงประกาศอิสรภาพที่เมืองแคลง เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ. 2127 แล้วทรงอาราธนาพระมหาเถรคันฉ่องพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์หนีภัยทางการเมืองลงมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาด้วย ทรงนิมนต์ให้ไปครองวัดมหาธาตุซึ่งน่าจะได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชนิกายคามวาสีในสมัยอยุธยาด้วย

และต่อมาก็เป็นศึกยุทธหัตถีที่ทางไทยเรารุ่นหลังๆ เขียนกันเอิกเกริกว่า เป็นพระเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวร ทรงใช้พระแสงง้าวจ้วงฟันสมเด็จพระมหาอุปราชา พระโอรสในพระเจ้านันทบุเรง เจ้าเมืองหงสาวดี จนคอขาดสะพายแล่ง เหมือนๆ กับวีรกรรมของพระนางสุริโยไท พงศาวดารของไทยเรานั้นคิดว่าท่านผู้อ่านก็คงทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ตรงนี้จะขอนำเอาพงศาวดารพม่ามาแสดงบ้าง เพื่อจะได้มองประวัติศาสตร์ในอีกมุมหนึ่ง

มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่าบันทึกเหตุการณ์ตอนชนช้างว่า

“…ในขณะนั้น มหาอุปราชทรงช้างชื่อภูมิจุน ปีกขวานั้นรับสั่งให้สะโตธรรมราชาพระอนุชาคุมทหารคอยตั้งรบ แล้วรับสั่งให้เจ้าเมืองชามะโยขี่ช้างชื่อป๊อกจ่อไชยะๆ นี้กำลังตกน้ำมันๆ โทรมหน้า ถึงกับต้องเอาผ้าปิดหน้าไว้ แล้วพระองค์รับสั่งให้คอยอยู่ข้างซ้ายช้างพระที่นั่งของพระองค์

ฝ่ายพระนเรศก็ขี่ช้างชื่อพระละภูมิออกมาพร้อมกับพลทหาร ครั้นยกมาใกล้ พระนเรศเห็นมหาอุปราชทรงช้างยืนคอยอยู่ พระนเรศก็ขับช้างตรงเข้าไปจะชนช้างกับมหาอุปราช เวลานั้นเจ้าเมืองชามะโยเห็นพระนเรศตรงเข้ามาดังนั้น ชามะโยก็ขับช้างที่ตกน้ำมันนั้นจะออกรบ พอเปิดผ้าที่ปิดหน้าช้างไว้แล้วไสช้างนั้นเข้าชนกับช้างพระนเรศ ช้างนั้นหาชนช้างพระนเรศไม่ กลับมาชนช้างทรงของมหาอุปราชเข้า มหาอุปราชก็ไม่เป็นอันที่จะรบกับพระนเรศ มัววุ่นอยู่กับช้างที่ตกน้ำมันนั้นเป็นช้านาน เวลานั้นพลทหารของพระนเรศก็เอาปืนใหญ่ยิงระดมเข้ามา ลูกกระสุนไปต้องมหาอุปราชๆ ก็สิ้นพระชนม์ที่คอช้างพระที่นั่งนั้น ในเวลานั้น ตุลิพะละพันท้ายช้างเห็นว่าพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ ก็ค่อยเข้าประคองพระมหาอุปราชพิงไว้กับอานช้าง เพื่อมิให้พระนเรศรู้แล้วถอยออกไป ขณะนั้นพระนเรศก็ไม่รู้ว่ามหาอุปราชสิ้นพระชนม์ พระนเรศจึงไม่อาจจะตามรบ”

ก็จบสงครามยุทธหัตถีในพงศาวดารพม่าแต่เพียงเท่านี้ ทีนี้จะเอาของไทยมาเปรียบเทียบกันดูอีกที ว่าจะเหมือนในฝันของหลวงพ่อจรัญหรือเปล่า พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งได้รับการยอมรับสูงสุดในบรรดาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทั้งปวงเล่าว่า

“…เถิงวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 2 (เดือนยี่) เพลารุ่งแล้ว 5 นาฬิกา 3 บาท (พระนเรศวร) เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยานุภาพ เสด็จออกรบมหาอุปราชา ตำบลหนองสาหร่าย ครั้งนั้นมิได้ตามฤกษ์และฝ่าย (ฝ่า) ฤกษ์หน่อยหนึ่ง และเมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า (เรียกพระนเรศ) ต้องปืน ณ พระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่ง เมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกลงเถิงดิน และเอาคืนขึ้นใส่เล่า ครั้งนั้น มหาอุปราชาขาดคอช้างตายในที่นั้น และช้างต้นพระยาไชยานุภาพซึ่งทรงและได้ชนด้วยมหาอุปราชาและมีชัยชำนะนั้น พระราชทานให้ชื่อ เจ้าพระยาปราบหงสา”

ลองเทียบดูเถิดท่านผู้อ่านที่รัก ว่าจะเชื่อฉบับไหนดี แต่ทั้งนี้ผู้เขียนขอวิเคราะห์เจาะสถานการณ์แบบอักษรต่ออักษรก็ได้ความตามที่เป็นจริงว่า ตามพงศาวดารกรุงเก่าของหลวงประเสริฐนี้เขียนไว้ชัดเจนดีว่า พระนเรศวรทรงต้องกระสุนปืนก่อน จึงถอนกำลังออกมา เวลานั้นเกิดชุลมุนกันขึ้น เมื่อหมวกของพระมหาอุปราชาทรงสวมนั้นตกลงถึงดิน แล้วพระมหาอุปราชาก็ขาดคอช้างตายในที่นั้น คำว่า “ขาดคอช้างตาย” นี้มิได้หมายความว่า “คอขาดตาย” หรือถูกฟันจนคอขาดสะพายแล่ง แบบที่แบบเรียนไทยสมัยหลังๆ ตีความเขียนใหม่ให้เด็กไทยเรียนกันนะท่าน แต่หมายถึงว่า “สิ้นพระชนม์บนคอช้าง” เท่านั้น ง่ายๆ ไม่ได้มีการชนช้างกับพระนเรศวรเลย และถ้าดูตามสถานการณ์อันเป็นจริงก็เชื่อแน่ว่า พระมหาอุปราชาทรงต้องกระสุนถึงกับสิ้นพระชนม์ ดีแต่พระนเรศทรงต้องเพียงพระหัตถ์คือที่มือจึงรอดออกมาได้

เมื่อสองพงศาวดารประสานเสียงกันเป็นหนึ่งเดียวว่า “พระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดีนั้นสิ้นพระชนม์บนคอช้างเพราะถูกกระสุนปืน” เช่นนี้แล้ว แล้วเรื่องยุทธหัตถีที่แบบเรียนไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคสร้างชาตินิยมเขียนให้เรียนกันทั่วประเทศเป็นตุเป็นตุนั้นมันมาจากไหน ? ใครอุตริไปเปลี่ยนสำนวนพงศาวดารจาก “ขาดคอช้างตาย” มาเป็น “คอขาดตายสะพายแล่งบนคอช้างเพราะถูกพระนเรศวรฟัน” ไปดังนี้

นี่ขอขัดคอนักพงศาวดารไทยหลายๆ ท่านเอาไว้ ณ จุดนี้ และที่เขียนมาทั้งนี้ก็มิใช่ว่าผู้เขียนไม่เป็นนักชาตินิยม หรือไม่รักชาติไทย ชาติไทยนั้นผู้เขียนรักยิ่งกว่าชาติอื่น แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้นผู้เขียนรักความจริง มากกว่าคำโกหกหลอกลวง แม้ว่าจะสร้างเรื่องเพื่อมุ่งหวังผลทางการเมืองในยุคล่าอาณานิคมก็เถอะ มันคนละเรื่อง

นี่เป็นหลักฐานจากพงศาวดารนำมาเปรียบเทียบกับความฝันของหลวงพ่อจรัญ

ต่อไปก็เป็นเรื่องพระธรรมวินัยที่จะใช้วิเคราะห์เป็นอันดับสอง ขออ้างอิงเอาตามกาลามสูตรซึ่งทรงวางไว้เป็นแบบแผนในการตัดสินใจที่จะ “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” ว่ามี 10 ประการ คือ

1. อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บอกต่อๆกันมา (เรื่องปรัมปรา)
2. อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เขาได้ทำตามๆกันมา (ประเพณี)
3.อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า มันเล่าลือกันกระฉ่อนไปหมดแล้วว่าเป็นความจริง (ถือมงคลตื่นข่าว)
4. อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า มันมีอ้างอยู่ในปิฎก (คัมภีร์, ตำรา)
5. อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า เป็นตรรกะ หรือการคำนวณ
6. อย่าได้เชื่อโดยการอนุมานเทียบเคียง หรือคาดคะเนเอาเอง
7. อย่าได้เชื่อโดยการตรึกตรองเอาตามอาการ (เหมือนหมอจับอาการคนไข้)
8. อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า มันเข้ากันได้กับลัทธิความเชื่อและทฤษฎีของตน (ตั้งทฤษฎีไว้ก่อน พอมันตรงก็ปักใจเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์)
9. อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า รูปร่างลักษณะน่าเชื่อถือ (ดูโหงวเฮ้ง)
10. อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า ผู้สอนเป็นครูเป็นอาจารย์ของเรา (เชื่อครู)

นั่นละคือหลักการที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ในกรณีมีข้อเคลือบแคลงสงสัยที่ควรวินิจฉัยว่าสมควรเชื่อหรือไม่ จะเห็นว่ามิได้มีเรื่องความฝันอะไรมาเกี่ยวข้องด้วยเลย

ในทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่ยอมรับการคงสภาพเดิมของผู้ตาย เช่นว่า ถ้าหลวงพ่อจรัญมรณภาพลงไป ก็จะยังคงรูปร่างนุ่งเหลืองห่มเหลืองเรียกชื่อตัวเองเป็นหลวงพ่อจรัญอยู่ตามเดิม แม้จะผ่านเวลาไปถึง 400 กว่าปีแล้ว ก็ยังสามารถมาเข้าฝันให้คนได้เห็น แถมยังอ้างพงศาวดารมั่วซั่วอีก อย่างนี้มิใช่หลักในทางพระพุทธศาสนา กล้ายืนยัน

หากแต่แท้ที่จริงแล้ว บุคคลใดก็ตาม เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ก็จะละอัตตภาพนี้ไป ถ้ายังไม่หมดกิเลสก็จะมีเพียงจุติจิตไปถือกำเนิดในภพภูมิใหม่ในทันที ไม่มีการทิ้งช่วง ข้อนี้รับกับสภาวะของจิตที่มีปรกติรับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเข้ามาสืบต่อทันทีที่จิตดวงปัจจุบันดับไปแล้ว ไม่มีการรีรอ คือไม่มีจิตว่าง แบบหลวงพ่อพุทธทาสเคยเถียงกันหน้าดำหน้าแดงกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มาแล้ว แล้วจึงขอถามว่า สมเด็จพระพนรัตน์เกิดในสมัยอยุธยา ได้เป็นสังฆราชในรัชกาลพระนเรศวรครองราชย์ ก็ราว พ.ศ.2127 ถึงปี พ.ศ.2547 ก็เป็นเวลา 420 ปีพอดี จึงมีคำถามว่า สมเด็จพระพนรัตน์ตายแล้วก็ยังคงเป็นสมเด็จพระพนรัตน์อยู่จนถึงปีที่หลวงพ่อจรัญฝันถึงนี้อีกหรือ แสดงว่าสมเด็จพระพนรัตน์กลายเป็นสัมภเวสียังไม่มีที่เกิด ยังคงอัตภาพเดิมเป็นสมเด็จ นุ่งเหลืองห่มเหลือง และยังเป็นห่วงคาถาพาหุงมหากาที่แต่งและจารึกไว้ กลัวใครจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนแต่ง คือกลัวว่าจะไม่ดัง เลยต้องรอเวลากว่า 400 ปี เพื่อจะมาเข้าฝันหลวงพ่อจรัญเป็นการเฉพาะ เพราะว่าเป็นศาสนทายาทของท่านที่จำเพาะเจาะจงจะให้ช่วยประกาศข่าวหน่อย ดีไม่ดีก็อาจจะได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งเอเชียหรือซีไรท์ด้วย อย่างนั้นหรือครับ ?

ความฝันของหลวงพ่อจรัญว่าด้วยคาถาพาหุงมหากานี้ จึงถือว่าไม่เข้าข่ายที่ควรเชื่อถือในทางใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหลักพระธรรมคำสอน หรือแม้แต่ในพงศาวดารซึ่งอ่านกันอย่างง่ายๆ ทำให้มองเห็นเป็นว่า หลวงพ่อจรัญนั้นมีภูมิปัญญาลึกซึ้งเพียงใด ตัวเองเป็นถึงพระเถระชั้นเทพ มีลูกศิษย์ลูกหาตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์ แต่กลับมาตายน้ำตื้นด้วยเรื่องง่าย ๆ คือความฝัน

แต่ถ้าดูไปอีกที หลวงพ่อจรัญนี่ก็หัวเสธฯไม่เบา เพราะเล่นอ้างเอาความฝันมาบอกเล่า มิได้บอกว่า “ตนเองเป็นผู้ตรัสรู้เอง” แบบหลวงพ่อสด หรือหลวงพ่อเทียน หรือโพธิรักษ์ ซึ่งพวกนี้เข้าข่ายปาราชิกข้อที่ 4 ที่ว่าอวดอุตริมนุสสธรรมหมด อย่านับแต่ภูมิธรรมด้านอื่นเลย แค่ความซื่อสัตย์ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยยังหาไม่ได้ แล้วจะไปซื่อสัตย์ต่อศรัทธาสาธุชนคนทั่วไปนั้นจะหาได้จากไหน ในเมื่อพวกท่านมีเจตนาโกหกมาแต่ต้นแล้ว

ที่ผู้เขียนว่า “หลวงพ่อจรัญฉลาด” ก็เพราะว่าท่านอ้างเอาความฝันว่า “สมเด็จพระวันรัตมาบอกให้ท่านช่วยประกาศข่าวบทสวดพาหุงมหากา” ไม่ได้บอกเลยว่านี่เป็นการเข้ากรรมฐานหรือนั่งทางในเห็น เป็นการเลี่ยงบาลีไม่ให้มีความผิดว่าด้วยการอวดอุตริมนุสสธรรมอันเป็นข้อหาปาราชิก มาตราที่ 4 ซึ่งการอ้างเอาความฝันนั้นมันก็ไม่ได้มีค่าอะไรมากไปกว่าการเข้าทรงตามศาลเจ้าดี ๆ นี่เอง แล้วอย่างนี้ใครจะบังอาจไปปรับอาบัติพระเทพสิงหบุราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรีได้ หัวหมอไหมเล่าหลวงตาจรัญนี่

แต่เมื่อมองดูรูปการของการ “กุ” เรื่องความฝันของหลวงพ่อจรัญขึ้นมาในครั้งนี้ ก็เห็นว่ามีเจตนาดีเพียงประการเดียว คืออยากให้คนสวดมนต์เยอะๆ จะได้มีสมาธิ ก็แค่นั้น แต่ถามว่า ทำไมหลวงพ่อถึงกับต้องลงทุนฝัน แล้วตู่เอาเรื่องในพงศาวดารมาผสมกับความฝันเป็นครึ่งหลับครึ่งตื่นให้เป็นหัวมังกุดท้ายมังกรอย่างนี้ด้วย เหลวไหลจริงๆ

การสวดมนต์เป็นการทำสมาธิในรูปแบบหนึ่ง คือการหันเหจิตใจให้ไม่หลงไหลไปกับอารมณ์อื่น แต่ให้จดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์เพียงอย่างเดียว เหมือนกับการบังคับตาให้มองดูรูปๆ เดียว แทนที่จะฟุ้งซ่านไปกับภาพนับร้อยๆ ภาพ และเมื่อจิตใจจดจ่ออยู่ในอารมณ์เดียว มันก็เป็นสมาธิ และถ้านำเอาวิธีการอันนี้ไปใช้ในขณะทำงาน ก็จะได้ผลดีกว่าเป็นคนใจลอย

อานิสงส์ของการสวดมนต์ก็มีแค่นี้ ทำไมหลวงพ่อไม่สอนเขาอย่างนี้ ทำไมต้องไปปั้นน้ำเป็นตัวเป็นตนล่ะ ว่ามันจะทำให้ชนะข้าศึกศัตรูอย่างโน้นอย่างนี้ และนี่นะหรือคือสิ่งที่หลวงพ่อภูมิใจนักหนาถึงกับว่านำมาบอกเล่าให้ญาติโยมฟัง และถึงกับพิมพ์เป็นหนังสือแจกจ่ายไปทั่วบ้านทั่วเมือง ถามว่ามันจำเป็นอะไร ?

สัทธรรมปฏิรูปนั้นเกิดขึ้นหลายทาง แรก ๆ ก็เหมือนหลวงพ่อจรัญนั่นแหละ คือมีเจตนาดีที่จะใช้เป็นอุบายให้คนได้นำไปประพฤติปฏิบัติ แต่ภายหลังเมื่อสิ้นหลวงพ่อแล้ว ก็จะมีลูกศิษย์ตั้งเป็นกิ่งก้านสาขา อ้างครูบาอาจารย์เป็นศาสดาองค์ใหม่ เหมือนหลวงพ่อสดที่กำลังเป็นปัญหาทางศาสนาอยู่ในเวลานี้ แม้จะยืนยันว่าท่านฝันจริง แต่ท่านก็ไม่สามารถพาคนไปพบพระวันรัตในความฝันได้หรือแม้แต่จะฝันอีกรอบ แล้วมันจะต่างอะไรกับการเล่านิทานหลอกเด็ก ซึ่งถ้าเด็กโตขึ้นมาก็จะ “ถอนหงอกหลวงพ่อ” เอาได้ว่าเป็น “โมฆบุรุษ”

จึงขอทีเถิดครับ ท่านพระเทพสิงหบุราจารย์ที่เคารพ มีหนทางอื่นอีกเยอะแยะที่จะจำแนกแจกแจงคุณหรืออานิสงส์ของการสวดมนต์เพื่อเจริญจิตภาวนาสำหรับพุทธศาสนิกชน ยิ่งคนระดับหลวงพ่อซึ่งออกเหรียญแจกมาหลายรุ่นแล้ว รับรองว่าพูดอะไรคนก็เชื่อ แต่อย่าทำตัวเป็นพระมะเหลเถไถคิดไปว่าคนไทยมีอยู่ระดับเดียว คือโง่ระดับรากหญ้า ต้องพึ่งพาปาฏิหาริย์จึงจะสำเร็จ ใช้อนุสาสนีปาฏิหาริย์เหมือนพระพุทธเจ้าสิครับถ้าแน่จริง แล้วเมื่อนั่นท่านก็จะตายตาหลับ ไม่จำเป็นต้องคงรูปคงร่างเพื่อจะกลับมาขอแก้คำสอนของตนเองที่สอนผิด ๆ ไว้ในสมัยเป็นคน เหมือนวิญญาณพเนจรของสมเด็จพระวันรัต ที่มาเข้าฝันของหลวงพ่อในคืนนั้น

สรุปสาเหตุแห่งความฝันของหลวงพ่อจรัญที่นำมาวิเคราะห์นี้ก็เห็นจะมี 2 ทาง คือ

1. ด้านความฝัน เป็นการเห็นนิมิตของหลวงพ่อจรัญเอง สาเหตุนั้นก็คงเป็นเพราะธาตุกำเริบ คือกิน เอ๊ย ฉันลูกยอหนักไปหน่อย พลอยให้เกิดความเห็นเป็นมิจฉาทิฐิแม้กระทั่งในความฝัน ข้อนี้จะไม่เป็นอะไรถ้าไม่นำมาบอกกล่าวให้แก่สาธารณชนได้รับรู้ คือถ้าจริงมันก็จริงอยู่ในตัวของมันเอง โดยไม่ต้องไปพยายามพิสูจน์อะไรให้มากความ หรือถ้าเท็จมันก็เท็จอยู่ในตัวมันเองอีก หากหลวงพ่อจรัญสงสัยว่าจะไม่จริง แล้วจะดำเนินการทดสอบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ก็ไม่มีใครห้าม ถือว่าเป็นสิทธิส่วนตัว

2. ด้านการบอกกล่าว ซึ่งต่อเนื่องมาจากความฝัน นั่นคือว่า เมื่อฝันเห็นแล้ว หลวงพ่อก็ไม่ยอมเก็บความฝันนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว ยังอุตรินำเอาความฝันมาเล่าให้คนเขาฟังเป็นคุ้งเป็นแคว แม้จะอ้างว่าได้รับปากกับสมเด็จพระพนรัตน์ด้วยตัวเองมาแล้วก็ตาม

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ในฐานะที่หลวงพ่อจรัญเป็นถึงพระผู้เฒ่า ดำรงตำแหน่งเป็นถึงเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี จะมีความเห็นเช่นใดออกไปในกรณีเช่นนี้ก็ควรไตร่ตรองถึงทางดีทีเสียให้ถนัด จะบอกแก่เขาไปทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการใดๆ ได้ เป็นแต่เพียงประสพการณ์ฝันของตนเอง อย่างนี้ก็ควรที่จะเก็บความฝันอันนั้นไว้ให้มิดชิด เหมือนสตรีปกปิดอวัยวะอันพึงละอาย แต่ทว่าหลวงพ่อจรัญกลับนำมาเล่าเป็นคุ้งเป็นแคว และเมื่อเห็นว่าไม่มีใครขัดคอก็กำเริบหนักถึงกับสั่งพิมพ์หนังสือออกนับพันนับหมื่นเล่ม ข้อนี้ก็แสดงเจตนาของเจ้าตัวคือหลวงพ่อจรัญนั่นแหละว่า “มีเจตนาจะฝันเห็น และเผยแพร่ความฝันอันเป็นเท็จนั้น” และถ้ามีคนเชื่อก็หมายถึงว่า หลวงพ่อจรัญเข้าใกล้อาบัติปาราชิกข้อที่ 4 ไปทันทีแล้ว แต่ก็ต้องถามหาสาเหตุแห่งการบอกเล่านี้เสียก่อนว่า “หลวงพ่อมีเจตนาหรือไม่” คำตอบก็คงออกมาแบบในฝัน หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธองค์ตรัสว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” เมื่อพิจารณาความตามนี้ก็ชี้ได้ว่า เมื่อเจตนาบ่งถึงกรรม กรรมก็ย่อมบ่งบอกเจตนาด้วยเช่นกัน การกระทำของหลวงพ่อจรัญจึงนับได้ว่า “สมบูรณ์” ตามกระบวนการแล้วทุกอย่าง

ความฝันของหลวงพ่อจรัญจึงเป็นฝันอันตราย เป็นฝันแห่งความหายนะทางการศึกษาพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทย น่าเสียดายเหลือเกินว่า คนเป็นถึงเจ้าคณะจังหวัด แต่กลับนำเอาคำสั่งสอนนอกรีตนอกรอยของพระพุทธเจ้ามาสั่งสอน ตอนนี้ก็มีคนเชื่อไปทั่วโลกแล้ว นี่ถ้าหลวงพ่อตายไป จะมิมีใครอุตรินำเอาไปเป็นตำราพิศดารสร้างนิกายใหม่ขึ้นมาแบบธรรมกายดอกหรือ ความฝันและคำสอนอันลามกเช่นนี้แหละ ที่จะสร้างทายาทแห่งความฝันอันโสมมตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเราไม่หยุดความฝันอันเลวร้ายนี้ไว้แต่วันนี้

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
1 พฤษภาคม 2547

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.alittlebuddha.com/html/The%20Vision%20of%20P.M.Narin/The%20Vision%20of%20Phramaha%20Narin%2041.html

. . . . . . .