สังคมไทยกับทศวรรษแห่งการจากไปของพุทธทาสภิกขุ

สังคมไทยกับทศวรรษแห่งการจากไปของพุทธทาสภิกขุ – ส.ศิวรักษ์ –

ปาฐกถาในงาน ทศวรรษแห่งการจากไปของพุทธทาส
วันอังคารที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ณ ห้องประชุมศรีอยุธยา
หอวชิราวุธ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ ต่อจากฉบับ ๑๕๙

ที่ว่ามานั้นเป็นประเด็นหลัก หากยังมีประเด็นรองๆ ลงมาอีกบ้าง แต่ข้าพเจ้าไม่มีเวลาจะพรรณนาได้โดยละเอียด กล่าวคือ

(๑) ควรมีการจัดขั้นตอนคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส ให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับคำพูดและข้อเขียนของท่าน ได้เริ่มอ่านหรือศึกษาจากง่ายไปหายาก ยิ่งสามารถทำเป็นการ์ตูนให้เด็กๆ ได้ลิ้มชิมรสวาทะของท่าน นั่นจะเป็นคุณค่าที่คัญยิ่ง

(๒) ศาสนพิธีนั้น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของศาสนา โดยที่เถรวาทแบบไทยนั้น พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าฯ ทรงเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาแต่สมัยทรงผนวชในรัชกาลที่ ๓ แล้วคงรูปลักษณ์สืบต่อๆ กันมา อย่างแทบจะไม่ได้ปรับปรุงให้ถึงแก่น เพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยเอาเลย ท่านอาจารย์พุทธทาส เพียงนำคำแปลมาประกอบ ให้ชาวบ้านร้านตลาดเข้าใจคำสวดสังวัธยายด้วยเท่านั้น

แม้นั่นจะเป็นคุณานุคุณ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ท่านอาจารย์เคยเล่าว่านายปรีดี พนมยงค์เคยเสนอกับท่านให้นำเอาดนตรี มาประยุกต์ ใช้กับศาสนพิธี เพื่อใช้ความไพเราะเป็นพาหะให้พุทธมามกะเกิดศรัทธาปสาทะ ดังที่เราใช้ความงามเป็นพาหะ ให้เข้าถึงธรรมะกันมาแต่ไหนแต่ไร ทั้งทางมหายานและวัชรยานก็ใช้ดนตรีกับศาสนพิธีด้วยกันทั้งคู่ ความข้อนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ดูจะเห็นด้วย หากท่านยอมรับว่า ท่านไร้ความสามารถในทางดนตรีเอาเลย และเถรวาท ที่แล้วๆ มาตีประเด็นในเรื่องสิกขาบทข้อที่ ๗ ในเรื่อง นจฺจคีต วาทิต วิสูกทสฺสนา อย่างคับแคบ เกินไป ทั้งๆ ที่ในบทพระบาลีก็เน้นไว้ชัดเจน “ให้เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์” เท่านั้น การฟ้อนรำ ขับร้อง และดนตรี ที่เป็นคุณต่อพรหมจรรย์มีมากต่อมากนัก ดังดนตรีอย่างดีจนถึงชั้นเลิศของฝรั่งก็ออกมาจากพิธีกรรมของฝ่ายคริสต์ พระมหานิกายเดิมของเรา ก็อุดหนุนทั้งมโหรี ปี่พาทย์ หนังใหญ่ มโนห์รา ยังการประโคมรับพระ บรรเลงกล่อมระหว่างที่พระฉัน และการบรรเลงรับเทศน์แต่ละกัณฑ์ของมหาชาติ ก็แสดงถึงบทบาทเดิมของเราอยู่แล้ว มิไยต้องเอ่ยถึง ว่าการสวดสังวัธยายนั้น ก็คือการบรรเลงรวมอยู่ด้วย เราเพิ่งมาเคร่งครัดในทางรังเกียจดนตรี แต่เมื่อมีอิทธิพล มาจากธรรมยุตในรอบร้อยปีมานี้เอง

ใช่แต่ว่าเราควรนำเอาธรรมคีตาเข้ามาสู่ศาสนพิธีเท่านั้น ศาสนพิธีที่แล้วๆ มานั้น เป็นเรื่องการพิจารณา ให้รู้เท่าทันอุปาทานขันธ์ เพื่อแปรสภาพของแต่ละคนตามสถานะของตนๆ เพื่อ “ปฏิบัติตามอยู่ซึ่งคำสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ตามสติกำลัง…..เพื่อถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวล” แม้บทพิจารณา ปัจจัยสี่ของพระภิกษุ ก็ล้วนเป็นการเตือนตนให้รู้เท่าทันการดำรงชีวิตของตนๆ ยิ่งศาสนพิธีที่นำมาใช้ ในวงกว้างด้วยแล้ว ไม่ว่าจะงานศพ หรืออื่นใด ล้วนฟั่นเฝือ เจือปนไปด้วยลัทธิศักดินาบ้าง วัฒนธรรมแห่งการ บริโภคบ้าง อย่างหาสาระแห่งพุทธธรรมแทบไม่ได้เลย

ที่เราขาดคือ ศาสนพิธี หรือบทสวด (ซึ่งควรประกอบไปด้วยดนตรี) ให้พุทธศาสนิกรู้เท่าทันทุกขสัจทางสังคม ให้เห็นโทษของลัทธิบริโภคนิยม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งใช้ของปลอมและพิษภัยปนเข้ามาในอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค จนเราไม่เห็นโทษของความสะดวกสบายหรือในความโอฬาริกต่างๆ ตลอดจนยากันบูดที่ประกอบไปกับอาหาร ยาอย่างฝรั่งที่ให้ผลกระทบในทางลบเป็นอันมาก ตลอดจน การที่บรรษัทยาคุมความคิดทางด้านการสาธารณสุขไว้จนเกือบตลอด มิไยต้องเอ่ยถึงถุงพลาสติก และโฟมต่างๆ ที่ไปพร้อมกับการถวายอาหารพระ อย่างน้อยท่านนัทฮันห์ยังนำหน้าเราไป ในการปลุก มโนธรรมสำนึกในด้านนี้ แม้กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ ศิษยานุศิษย์ของพุทธทาสภิกขุ น่าจะสานงานด้านนี้ได้ ให้เราได้มีพิธีกรรมทางพุทธอย่างสมสมัย ในตอนที่เราฉลองชาตกาลครบศตวรรษของท่านอาจารย์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เช่น ไม่แต่พระเท่านั้น ที่ควรรู้เท่าทันว่าการบริโภคอาหาร เพื่อไม่มัวเมาในรสอาหาร แม้ฆราวาสก็น่า จะมีบทสวดว่าอาหารนั้นๆเกิดจากการทำลายธรรมชาติอย่างไร เอาเปรียบแรงงานอย่างไร มีสารพิษอะไร ปนเข้าไปบ้าง ฯลฯ หากทำได้เช่นนี้พิธีกรรมจะเป็นพาหะ ที่นำมาใช้ต่อต้านลัทธิบริโภคนิยม ได้อย่างเหมาะสมนัก

(๓) มีการกล่าวหาว่าท่านอาจารย์สอนเฉพาะเรื่องในปัจจุบันเท่านั้น จนหาว่าท่านไม่เชื่อในเรื่องตายแล้ว เกิดกันก็มี นี่เกิดจากผลที่นายปุ่น จงประเสริฐ ไปจัดทำ คู่มือมนุษย์ จากงานเขียนของท่านอาจารย์ จนสรุปคำสอนของท่านให้ง่ายเกินไป

จริงอยู่ ท่านอาจารย์เห็นว่าในสมัยของท่าน มีการสอนเรื่องนรกสวรรค์และชาติก่อนชาติหน้ามากแล้ว ท่านจึงมาเน้นที่ปรมัตถธรรมและปัจจุบันธรรมเป็นแกนกลาง หากท่านไม่เคยปฏิเสธเรื่องวัฏสงสารเอาเลย อย่างน้อยรูปกาลจักร หรือสังสารจักรจากธิเบต รูปแรกที่เขียนขึ้นในเมืองไทย ก็ที่ในสวนโมกข์นั้นเอง

เรื่องนี้ ก็อยากให้ศิษย์หาของท่านช่วยกันชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏด้วยว่า พุทธศาสนาสอนเรื่อง ทิฏฐธรรมิกัตถะ ในปัจจุบัน และสัมปรายิกัตถะ ณ เบื้องหน้า โลกหน้า จนถึง ปรมัตถะ อันสูงสุด

ในสมัยของท่านอาจารย์ การละอัตตาและลดบทบาทในเรื่องนรก สวรรค์เสียนั้น อาจเหมาะกับยุคสมัย หากสมัยนี้ เราคงต้องกลับไปที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของเราด้วยจึงจะควร แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสจะไม่เห็นด้วย ก็เป็นสิทธิของท่าน เราควรเคารพท่านเป็นอย่างยิ่ง แต่เราก็มีสิทธิที่จะคิดให้แผกไปจากท่านด้วย โดยเฉพาะก็ในเรื่องเนื้อหาสาระของชาดกต่างๆ ตลอดจนเทวดานางฟ้า และนรกสวรรค์ การใช้ภาษาคน และภาษาธรรม จากคำสอนของท่านมาตีประเด็นเหล่านี้ นับว่าสมควรอยู่ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ ก็ตรงที่การวางท่าทีที่ถูกต้องเกี่ยวกับถ้อยคำนั้นๆ และสภาวะต่างๆของสัตวะต่างๆ และภาวะต่างๆ ที่เรามองไม่เห็น รับรู้ไม่ได้ด้วยวิธีวิทยาของวิทยาศาสตร์อย่างฝรั่ง อย่าไปด่วนสรุปว่าอะไรๆ เป็นเรื่องของสวรรค์ในอก นรกในใจ อยู่ที่ในเวลานี้ เดี๋ยวนี้เท่านั้น เพราะความวิเศษมหัศจรรย์ ในทางรหัสยนัยนี้แลคือ สถานภาพอันพิเศษของทุกศาสนา

http://asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Kid/k160/066.html

. . . . . . .