หลวงปู่ชอบระลึกภพชาติ

หลวงปู่ชอบระลึกภพชาติ

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ อ.วังสะพุง จ. เลย

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นพระเถระสุปฏิปันโน ผู้มีความเพียรเผากิเลส สามารถหักราคะ โทสะ โมหะ เห็นโทษภัยของสังขารมีความเห็นชอบแทงตลอด เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ใช้ชีวิตสมณเพศอยู่กับการปฏิบัติ จนแทบจะเอาชีวิตไปทิ้งในป่ากลางดง และท่านสามารถระลึกชาติได้หลายภพชาติ เช่น เคยเป็นพ่อค้าชาวลาวขายผ้า เดินทางมากับพ่อเชียงหมุน (อุปัฏฐากในชาตินี้) ข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งไทยมาถวายผ้าขาวหนึ่งวาและเงิน ๕๐ สตางค์ บูชาถวายพระธาตุพนม พร้อมอธิษฐานขอให้ได้บวช ได้พ้นทุกข์

ท่านเล่าว่าท่านเคยมาช่วยสร้างพระธาตุพนมด้วย (พระธาตุพนมนี้สร้างก่อนพระปฐมเจดีย์) ท่านเคยเกิดเป็นทหารพม่ามารบกับไทย แต่ยังไม่ทันฆ่าคนไทย ก็ตายไปเสียก่อน เพราะเคยเกิดอยู่เมืองปันที่พม่า ชาตินี้ท่านได้กลับไปดูบ้านเกิดในชาติก่อนที่เมืองปันด้วย เคยเป็นทหารไปหลบหนีภัยที่ถ้ำกระ เชียงใหม่ และได้ตายเพราะอดข้าวที่นั่น ท่านเคยเป็นพระภิกษุรักษาศีลอยู่กับพระอนุรุธเถระ เคยเป็นสามเณรน้อย ลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะสมัยพุทธกาล เคยเกิดเป็นผีเสื้อ ถูกค้างคาวไล่จับเอาไปกินที่ถ้ำผาดิน เคยเกิดเป็นกวาง เคยเกิดเป็นเก้งไปแอบกินมะกอก กินยังไม่ทันอิ่มสมอยากก็ถูกมนุษย์ไล่ยิง เขายิงที่โคกมน ถูกเอาที่ขาและจำต้องรีบเร่งวิ่งหนีกระเซอะกระเซิงไปตายที่บ้านม่วง

เมื่อครั้งเกิดเป็นหมีไปกินแตงช้าง (แตงร้าน) ของขาวบ้านถูกเจ้าของเขาเอามีดไล่ฟันถูกหัวและหูเคราะห์ดีไม่ถึงตาย แต่ก็บาดเจ็บต้องทนทุกข์ไปจนหายไปเอง เคยเกิดเป็นไก่มีความผูกพันรักชอบกับนางแม่ไก่สาว จึงอธิษฐานขอให้ได้พบกันอีก ทำให้กลับมาเกิดเป็นไก่ซ้ำอีกถึง ๗ ชาติ เคยเกิดเป็นปลาขาวซึ่งอาศัยอยู่ในสระปัจจุบันอยู่ที่สวนหลังบ้าน “พล.อ.อ. โพยม เย็นสุดใจ”
ท่านเล่าชีวิตของการเป็นสัตว์นั้นแสนลำเค็ญ !อดอยาก ปากแห้ง มีความรู้สึกร้อน หนาว หิวกระหายเหมือนมนุษย์ แต่ก็บอกไม่ได้ พูดไม่ได้ ต้องเที่ยวซอกซอนไปอยู่ตามป่าตามเขาตามประสาสัตว์ ฝนตกเปียกก็หนาวสั่น แดดออกก็ร้อนก็ไหม้เกรียม ! อาศัยถ้ำ อาศัยร่มไม้ไปตามเพลง บางทีมาอยู่ใกล้หมู่บ้าน หิวกระหาย เห็นพืชผลไม้ที่ควรกินได้ เป็นอาหารได้ พอจะจับใส่ปากใส่ท้องได้บ้าง ก็กลายเป็นของที่เขาหวงห้ามมีเจ้าของ ต้องถูกเขาขับไสไล่ทำร้าย มะกอกสักหน่วย กล้วยสักลูก แตงสักผล หยิบปลิดมาใส่ปากกินยังไม่ทันอิ่มท้อง มนุษย์ก็ไล่ยิงไล่ฟัน ของเพียงน้อยนิด ! แลกด้วยชีวิตทั้งชีวิต ชีวิตซึ่งเป็นชีวิตของคน หรือชีวิตของสัตว์ ของสัตว์ใหญ่ หรือของสัตว์เล็ก ก็คือชีวิตดวงหนึ่งเหมือนกัน ชีวิตที่เวียนว่ายวนอยู่ในกองทุกข์ตามอำนาจกรรมที่กระทำมานี้แต่บางทีภพชาตินั้นก็ยืดยาวออกไปด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา ความหลงยึดติด ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ท่านเกิดเป็นไก่ ใจนึกปฏิพัทธ์รักใคร่นางแม่ไก่ ชื่นชอบภพชาติที่เป็นไก่ของตน ปรารถนาขอให้ได้พบนางแม่ไก่อีก ก็ต้องวนเวียนกลับมาเกิดเป็นไก่อยู่เช่นนั้นมิรู้สิ้นสุด

หลวงปู่เล่าว่า วันหนึ่งระหว่างกำลังวิเวกอยู่ที่เชียงใหม่ ตกกลางคืนท่านก็เข้าที่ภาวนาตามปกติ ปรากฏภาพนิมิต มีแม่ไก่ตัวหนึ่งมาหาท่าน กิริยาอาการนั้นนอบน้อมอ่อนโยนเป็นอย่างยิ่ง มาถึงก็ใช้ปีกจับต้องกายท่าน จูบท่าน ท่านประหลาดใจที่สัตว์ตัวเมียแสดงกิริยาอันไม่สมควรต่อพระเช่นนั้น จึงได้ดุว่าเอา แต่แม่ไก่ตัวนั้นก็อ้างว่า เคยเกิดเป็นภรรยาของท่านมาถึง ๗ ชาติแล้ว ความผูกพันมีอยู่ไม่อาจจะลืมเลือนได้ แม้จะรู้ว่าพระคุณเจ้าเป็นภิกษุสงฆ์ไม่บังควรจะแสดงความอาวรณ์ผูกพันเช่นนี้ ! ตนมีกรรมต้องมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานต่ำต้อยน้อยวาสนา ก็ได้แต่นึกสมเพชตัวเองอยู่มาก อย่างไรก็ดี เมื่อพระคุณเจ้าผู้เคยเป็นคู่ชีวิตมาอยู่ในถิ่นที่ใกล้ตัวเช่นนี้ ตนอดใจมิได้ จึงมากราบขอส่วนบุญบารมี อันบริสุทธิ์ผ่องใสของพระคุณเจ้า ในนิมิตนั้นหลวงปู่ได้เอ็ดอึงเอาว่า “เราเป็นคน เจ้าเป็นสัตว์ จะมาเคยเป็นสามีภรรยากันได้อย่างไร? เราไม่เชื่อเจ้า ! อย่าได้มาหลงภพชาติกันเลย” แม่ไก่ก็เถียงว่า “ถ้าเช่นนั้นคอยดู พรุ่งนี้เช้าตอนท่านไปบิณฑบาต ข้าน้อยจะจิกจีวรให้ดู”
ตอนเช้าหลวงปู่ผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยด้วยชีวิตจิตใจ ครองผ้าออกบิณฑบาตตามปกติ ท่านเล่าว่าท่านไม่ได้นึกอะไรมาก คิดว่าเป็นนิมิตเหลวไหลไร้สาระ แต่เมื่อท่านเดินบิณฑบาตเข้าไปในหมู่บ้านยางที่ชื่อบ้านป่าพัวะ อ.จอมทอง ก็มีแม่ไก่ตัวหนึ่งตรงรี่เข้ามาจิกจีวรท่านข้างหลัง ! หมู่เพื่อนที่ไปด้วยต่างก็ตกใจ ! เพราะเป็นสัตว์ตัวเมีย เกรงท่านจะอาบัติ จึงช่วยกันขับไล่ แต่แม่ไก่ตัวนั้นก็ยังพยายามวิ่งเข้ามาอีก
คืนนั้นหลวงปู่จึงพิจารณาซ้ำ ก็รู้ว่าแม่ไก่ตัวนั้นเคยเกิดเป็นภรรยาของท่านมาถึง ๗ ชาติแล้วจริงๆ เป็นที่น่าเวทนาสงสารอย่างยิ่งที่นางกระทำไม่ดีไว้ ไม่มีศีลด้วยโมหะจิต จึงต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉานเช่นนี้อีก

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://muangput.com/webboard/index.php/topic,729.0.html?PHPSESSID=qumilbnabtq0v0emi63rilp5b2

. . . . . . .