พุทธปรัชญาการศึกษาในทรรศนะพุทธทาสภิกขุ
พุทธทาสภิกขุเป็นพระสงฆ์ไทยรูปหนึ่งที่มีผลงานและมีชื่อเสียงอย่างโดดเด่น ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นผู้มีชื่อเสียงทั้งในต่างประเทศอีกด้วย มีทั้งผลงานที่เป็นเอกสาร หนังสือ แผ่นเสียง การบรรยายเป็นจำนวนมากมาย ทั้งยังมีผู้ทำการศึกษาวิจัยงานของท่านไว้มากมายยิ่ง อาจเป็นด้วยการเพราะผลของการศึกษา พระสัทธรรมที่ครอบคลุม ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ จึงนำผลมาสู่การรังสรรค์ ผลงานที่เชื่อมโยงทั้งองค์ความรู้ปัจจุบันและการค้นคว้า ตีความเนื้อหาในคัมภีร์ทางด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาต่างๆ จนนำไปสู่การขยายองค์ความรู้ในวงกว้างทั้งทางด้านวิชาการและการปฏิบัติ ซึ่งสอดรับกับปณิธานทั้ง ๓ ประการของท่านคือ
๑. ความหมายการศึกษาในทรรศนะพุทธทาสภิกขุ
พุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวถึงการศึกษาและความหมายของการศึกษาไว้ว่า “การศึกษา” ที่แท้จริงมีลักษณะหรือมีความหมายเป็นพิเศษอยู่ คือต้องดูออกมาจากข้างใน แล้วแก้ปัญหาข้างนอก คำว่าศึกษา หรือ สิกขา รวมความหมายแล้วท่านกล่าวคือการ ดูตัวเอง เห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง จึงจะเรียกว่า สิกขา[๑] คำว่า ศึกษาในภาษาไทยอาจจะแคบไป ภาษาบาลีว่า สิกฺขา ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า ศึกษา คำ ๓ คำ นี้แม้จะต่างกันโดยเสียหรือโดยพยัญชนะก็เป็นคำเดียวกัน คำว่า สิกฺขา ในภาษาบาลี หมายถึงการประพฤติปฏิบัติ กระทำเพื่อให้ดับทุกข์สิ้นเชิง รวมถึงความรู้ด้วย เพราะฉะนั้นความรู้กับการปฏิบัติต้องไปด้วยกัน ไม่แยกกัน มีความมุ่งหมายคือการดับทุกข์[๒] ถ้าจะกล่าว ตามภาษาบาลี คำว่าสิกขา-สิกขา มาจากคำว่า สะ แปลว่าเอง อิกขะ แปลว่าดู-เห็น สะ+อิกขะ รวมกันเป็น สิกขะคือ สิกขา แปลว่าผู้ดูเอง เห็นเอง คือเห็นภายในให้ทั่วพร้อม[๓]
จากทรรศนะของพุทธทาสภิกขุ ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อกระตุ้น เพื่อไปสู่การดับทุกข์ ให้การศึกษาหันกลับมามองถึงธรรมชาติภายในตัวของมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร แทนที่การศึกษาจะมุ่งเน้นการพัฒนา หรือให้ความสนใจกับสิ่งอื่นที่นอกเหนือจาก การส่งเสริมคุณค่าที่อยู่ภายในตัวตนของแต่ละคน เพราะมิฉะนั้น การศึกษาก็ไม่สามารถนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้ พุทธทาสภิกขุ จึงต้องการให้การศึกษา เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ จึงต้องเริ่มจากการมีศีล มีสมาธิ และปัญญา ซึ่งก็ต้องเกิดจากการฝึกฝนอบรมอย่างครอบคลุม หรือการให้ความสำคัญอย่างจริงจัง และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการปฏิบัติจากหลักวิชา เพราะเพียงแต่วิชาอย่างเดียวหากขาดการปฏิบัติ จะเป็นการทำให้การศึกษาเป็นไปในทางที่ดีงาม เพราะการศึกษาเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ หรือการศึกษาที่สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ที่ชื่อว่า สามารถฝึกฝนพัฒนาได้ ให้เป็นยิ่งกว่าการเป็นมนุษย์ทั่วไป
๒.จุดมุ่งหมายการศึกษาในทรรศนะพุทธทาสภิกขุ
พุทธทาสภิกขุได้กล่าวเกี่ยวกับ จุดมุ่งหมายของการศึกษาไว้ว่า การศึกษาหากมุ่ง ให้ฉลาดมันจะไปสู่ความเห็นแก่ตัว การศึกษาที่ควบคุมความฉลาด มันก็นำมาสู่ความไม่เห็นแก่ตัว[๔]อย่างการศึกษาของคนโบราณที่มุ่งการศึกษาเพื่อสร้างให้เป็นบุตรที่ดี ศิษย์ที่ดี เพื่อนที่ดี พลเมืองที่ดี สาวกที่ดี มนุษย์ที่ดี คือ เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ การศึกษาต้องช่วยให้เรารู้ว่าเราอยู่ คนเดียวในโลก ไม่ได้การศึกษากับศาสนาต้องอยู่เคียงคู่กันไป การศาสนาจำเป็นทางฝ่ายจิต เคียงคู่กับการศึกษาซึ่งจำเป็นทางฝ่ายกาย การศึกษาต้องเป็น การศึกษาที่ควบคุม ความฉลาดที่มาจากการศึกษาเอง สร้างสันติสุขที่เป็นส่วนบุคคล ของสังคม โดยการปฏิบัติให้ถูกต้องตามจริยธรรมที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘[๕]เพราะการปฏิบัติตนตามมรรคมีองค์ ๘ จะเป็นไป เพื่อไปสู่อุดมคติทางการศึกษา คือ การดับทุกข์ได้ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง หมดสิ้นซึ่งสัญชาตญาณอย่างสัตว์[๖]
จุดมุ่งหมายของพุทธทาสภิกขุ จึงต้องการให้การศึกษา เป็นไปตามมรรคมีองค์แปด จึงจะสามารถทำให้ได้การศึกษา ที่เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือการศึกษาที่สามารถดับทุกข์ (ปัญหาอย่างละเอียดจนถึงขั้นหมดกิเลส) แต่หากกการศึกษาไม่สามารถช่วยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็น “การศึกษา”
๓. สถานที่เรียนในทรรศนะพุทธทาสภิกขุ
พุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวถึงสถานที่เรียนว่า สถานที่เรียนนั้นไม่จำเป็นต้องไปหาที่อื่นหรือแสวงหาที่อื่น แต่ โรงเรียน คือร่างกายของคนเรา ในร่างกายอันยาววาหนึ่งที่มีพร้อมทั้งสัญญาและใจ[๗] เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้และเป็นที่สุดของการศึกษาที่มนุษย์สามารถพัฒนาได้ แต่ขณะเดียวกันการศึกษาต้องมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ถ้าจะมีก็ควรมีจัดเฉพาะให้ได้บรรยากาศที่เหมาะสม จะได้ผลดีกว่าในห้องเรียน มีการเรียนในห้องเรียนรวมขนาดใหญ่ การสร้างบรรยากาศเพื่อให้ได้ความศักดิ์สิทธิ์ เช่นใน อุโบสถ วิหาร สถานที่ต่างๆ[๘]
ท่านพุทธทาสภิกขุ เห็นว่าการศึกษาต้องเข้าใจในสิ่งที่ใกล้ๆ ตัว ของผู้เรียนก่อน จะเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับชีวิต ใกล้ชิด เป็นธรรมชาติมากกว่า การให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ห่างหรือไกลออกไป การศึกษาอาจทำให้เสียเวลาไปการแสวงหาสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เอาการศึกษาไปเป็นการเพิ่มตัวตน ให้ยึดติดมากขึ้น การศึกษาจึงต้องเป็น การถอนความยึดถือติดแน่น ในลัทธิและนิกาย นั้น ย่อมหมายถึงการไม่ยึดในบุคคลหรือวัตถุภายนอกอื่นๆ[๙]
พุทธทาสภิกขุ ให้ความเห็นว่า การยึดมั่นในสิ่งใดก็แล้วแต่ไม่ดีทั้งนั้น แม้แต่ การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้หรือศึกษา ทำความเข้าใจในร่างกายก็เพื่อให้เกิด การมองอย่างเข้าใจชีวิต หรือคิดอย่างลึกซึ้งว่าชีวิต หรือร่างกายของคนเรานั้นเป็นเพียงการอิงอาศัยเพียงชั่วคราวเท่านั้น เปรียบกับการศึกษาก็ไม่ควรไปเสียเวลากับสิ่งอื่นๆ เพราะอาจจะทำให้ชีวิตไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดในการได้เกิดมาเป็นมนุษย์
๔.ผู้สอนหรือครูใน���รรศนะพุทธทาสภิกขุ
พุทธทาสภิกขุ ได้ให้ความหมาย คำว่า ครู ว่า ตรงกับคำว่าครุแปลว่าหนัก หมายถึง ผู้ที่ทุกคนจะต้องสนใจด้วยความเคารพ บุคคลที่ทุกคนต้องให้ความเคารพและท่านกล่าวว่ายังมีนักภาษาศาสตร์ได้ให้ความหมายว่า เปิดประตู กิริยาที่เปิดประตูเรียกว่าครู จึงบัญญัติใหม่ว่า ครู คือผู้เปิดประตู หมายถึงเปิดประตูฝ่ายจิตใจฝ่ายวิญญาณ จึงมีความหมายเป็นผู้ปลดปล่อย โดยอรรถ ครู คือผู้แสดงโลกใหม่แก่กุลบุตร โดยอุดมคติ ครูเป็นดวงประทีปของโลก การสอนเป็นหน้าที่ของครู[๑๐]
พุทธทาสภิกขุ เห็นว่า “ครูที่แท้จริงเป็นปูชนียบุคคล ด้วยการนำทางจิตวิญญาณ เปิดประตูคุกแห่งอวิชชา ให้สัตว์ออกมาเสียจากความโง่เขลา ทำงานเพื่อช่วยโลก เพื่อยกโลก เพื่อสร้างโลก ไม่ได้ทำงานเพื่อเงินเดือน จึงเป็นครู[๑๑]ซึ่งการเป็นครู หรือผู้สอนไม่เพียงแต่หมายถึงผู้ที่มีอาชีพเป็นครู เท่านั้น แต่ทุกคนสามารถเป็นครูได้ ซึ่งครูที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุดก็คือ พ่อแม่ พ่อแม่ก็เป็นพระพรหมของลูก เป็นอาจารย์คนแรกของลูก เป็นพระอรหันต์ของลูก[๑๒] พ่อแม่จึงเป็นครูที่มีอิทธิพลต่อคนทุกคน หรือผู้เรียนทุกคน หากผู้เรียนเป็นคนไม่ดื้อ เชื่อฟังพ่อแม่ก็สามารถบรรลุผลสูงสุดได้
พุทธทาสภิกขุ เรียกผู้สอนว่า “ครู” ซึ่งคำว่าครูเป็นคำที่สื่อความถึงผู้ประเสริฐ เป็นคำทางพุทธศาสนาที่สื่อถึง ปูชนียบุคคล ที่ควรแก่การกราบไหว้หรือบูชา คำว่าครู เป็นการสื่อถึงการมีวิชาและความความประพฤติที่ดีงามควบคู่กัน เรียกว่ามีความความทั้งทางกายและจิตใจ ผู้สอนในทรรศนะของพุทธทาสจึงเป็นไปได้ทุกคน โดยเฉพาะพ่อแม่ ซึ่งพุทธทาสท่าน เห็นว่าเป็นบุคคลที่สามารถสอนได้ดีกว่าผู้อื่นเพราะอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา และมีเวลาอยู่ร่วมกันมากกว่าผู้สอนในโรงเรียน
๕. หลักสูตรการศึกษาในทรรศนะพุทธทาสภิกขุ
พุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวถึงหลักสูตรการศึกษาไว้ว่า หลักสูตรต้องมีจริยธรรมควบคู่กันไป คือ ประกอบด้วย
๑. ลักษณะการสอนหรืออบรมความรู้วิทยาการ ครูอาจารย์ทั้งหลายควรจะสอนในลักษณะการอบรมให้สัมฤทธิ์ผลทางจิตใจ
๒. การสอนวิชาธรรมโดยตรง จะต้องสอนเนื้อหาความรู้ประมาณ ๘๐ % เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดมีการเปลี่ยนแปลงทางจิต
๓. การสอนต้องทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจแจ่มแจ้ง แทงตลอดมีความเข้าใจตามผู้สอนด้วยการฟังตาม มีความคิดเห็นคล้อยตามความเป็นจริง
๔. การสอนคุณธรรมหรือธรรมะที่เป็นหลักปฏิบัติ จะต้องสอนอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง จะต้องสอนให้ถูกต้องตามหลักปฏิบัติจนตาย
๕. การสอนโดยอ้อม แต่มีผลต่อผู้เรียนมาก โดยครูผู้สอนที่ฉลาดจะนำธรรมะเข้ามาสอดแทรกแก่ผู้เรียนได้เรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่มีความรู้สึกว่าถูกสอน เรียนรู้ด้วยวิธีการสังเกตพร้อมมีสติสัมปชัญญะ
๖.การสอนต้องมีการเลือกสรรธรรมะให้เหมาะสมกับวัย อายุ ระดับการศึกษาด้วยการสอดแทรกคุณธรรมเพื่อให้ผู้เรียนมีปัญญาตรองตามได้
๗.สอนโดยผู้เรียนไม่มีความรู้สึกตัวว่าถูกกระทำ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไข
๘.การสอนนอกสถานที่ อาศัยการศึกษาเรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
๙. การศึกษาเรียนรู้พิธีกรรมทางศาสนา เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักพิธีกรรม ประเพณีอย่างถูกต้อง
๑๐. การศึกษาเพื่อควบคุมตนในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ถูกต้อง ทุกลมหายใจเข้าออกหรือทุกอิริยาบถ
๑๑. การศึกษาต้องมีการบังคับในสิ่งที่ควรบังคับ เพราะการศึกษาที่มุ่งแต่จะปล่อยเสรีทำให้ขาดความสมดุล
๑๒. ปัญหาปลีกย่อยของการศึกษาโดยเฉพาะการสอนวิชาพระพุทธศาสนาใน มหาวิทยาลัยเมื่อไม่สามารถจัดตั้งเป็นคณะได้ ก็ควรจัดตั้งในรูปแบบของคณะกรรมการควบคุมให้เหมาะสม[๑๓]
พุทธทาสภิกขุชี้ให้เห็นได้ว่า หลักสูตรการศึกษาต้องมีลักษณะที่สำคัญคือ ต้องมีการสอนคุณธรรม ให้เหมาะกับวัยของแต่ละบุคคล และให้รู้จักการใช้เหตุผลให้ถูกต้อง ไม่สุดโต่งเกินไปเพราะการสอนคุณธรรมที่เหมาะแก่วัย จะเป็นการทำให้เกิดความสมดุลในการดำรงชีวิต และการพัฒนา ซึ่งต้องสอนให้เดินสายกลางรู้จักช่วยตัวเอง รู้จักกฎแห่งเหตุผล และปัจจัยปรุงแต่ง จะต้องสอนจัดการที่เหตุให้ถูกต้อง จึงจะได้รับผลที่เราต้องการ[๑๔]
๖. การเรียนการสอนในทรรศนะพุทธทาสภิกขุ
พุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวถึงการเรียนการสอนว่า การสอนก็ต้องเป็นไปตามหลักไตรสิกขา สิ่งที่ได้คือการสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ เป็นการรับ “ปริญญา[๑๕] ปริญญาที่แท้จริงเป็นไปเพื่อการดับทุกอย่างเดียว หากไม่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการศึกษาและยิ่งการเรียนการสอนที่ผู้สอนไม่ได้มีสิ่งแปลกใหม่ในการสอนก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายต่อการเรียนการสอนระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนด้วย ครูอาจารย์สอนอะไรก็ตามให้รู้ว่านี่เป็นของใหม่ ไม่เคยได้ยินมาก่อน ถ้าเรียกความสนใจในความเป็นของแปลกของใหม่น่าอัศจรรย์ได้ละก็จะประสบสำเร็จในการสอน ผู้เรียนก็สนุก การศึกษาก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ[๑๖]การเรียนการสอนจึงจะประสบผลสำเร็จได้อย่างลุล่วง ไม่เพียงแต่ผู้เรียนเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ ผู้สอนก็จะต้องศึกษาค้นคว้า ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ผู้เรียนด้วย เพื่อน้อมศรัทธาให้เกิดต่อผู้เรียน ก่อให้การเรียนการสอนที่อำนวยประโยชน์ทั้งผู้เรียนและผู้สอนทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้าต่อไปด้วย
การเรียนการสอนพุทธทาสภิกขุเห็นว่าต้องเป็นไปตามสภาพธรรมชาติซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันระหว่างกันครูกับนักเรียนจึงจะสามารถทำให้การเรียนเกิดประโยชน์สูงสุดและต้องสอนสิ่งที่ผู้เรียนไม่เคยรู้ไม่เคยได้รับฟังหรือได้ยินมาก่อนก็จะเป็นการเร้าให้ผู้เรียนสนใจอยากจะรู้ อยากจะเรียนมากขึ้น
๗. การจัดการศึกษาในทรรศนะพุทธทาสภิกขุ
พุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวเปรียบการศึกษา หรือชีวิตของคน ไว้เหมือนกับวัว ไว้ว่า ชีวิตต้องเทียมด้วยวัวสองตัวคือตัวหนึ่งรู้ตัวเป็น Spiritual Enlightenment และอีกตัวหนึ่งคือกำลัง เป็นการทำมาหากิน การใช้เทคโนโลยีและชีวิตของคนก็ไม่ควรที่จะเอาเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งควรที่จะมีชีวิตที่บรรลุ มรรค ผล นิพพาน[๑๗]
ดังนั้นการจัดการศึกษาจะต้องมีทั้งการสอนวิชาชีพและศีลธรรมให้เป็นไปควบคู่กัน ทิ้งหรือเอาอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมานั้น ได้ละทิ้งหรือให้ความสำคัญในการทำมาหากินมากกว่า การให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาภายในคือเรื่องของชีวิตหรือจิตใจของคน ดังนั้น การจัดการศึกษาที่เป็นไปอย่างด้านเดียวจะเป็นการศึกษาที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสิ้นทุกข์ หรือการแก้ปัญหาได้อย่างลุล่วง กลับยิ่งเป็นการทำให้บุคคลไปยึดมั่น ถือมั่นกับกิเลส หรือเป็นการมุ่งการตอบสนองความต้องการของตนอย่างเดียว โดยขาดจิตสำนึกเพื่อสังคม โดยขาดการพยามที่จะเรียนรู้ถึงความเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐว่าสามารถฝึกฝนและอบรมตนได้เป็นยิ่งกว่า ที่มนุษย์คิดได้อีก คือเป็นพระอรหันต์
เมตตาธรรม
[๑] พุทธทาสภิกขุ, การศึกษาที่สามารถกำจัดความเห็นแก่ตัว, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมบูชา, ๒๕๓๒), หน้า ๑๐-๑๒.
[๒] พุทธทาสภิกขุ, การศึกษาคืออะไร?, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมบูชา, ม.ป.ป), หน้า ๑๙๙-๑๒๐.
[๓] พุทธทาสภิกขุ, ครูคือดวงประทีปของโลก, ที่ระลึกในงานเกษียณอายุราชการของ อาจารย์ เบญจะ เจริญผล,โรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรี กันยายน ๒๕๓๔, หน้า ๑๙.
[๔] พุทธทาสภิกขุ, การศึกษาที่สามารถกำจัดความเห็นแก่ตัว, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมบูชา, ๒๕๓๒), หน้า ๑๔-๒๑.
[๕] พุทธทาสภิกขุ, เป้าหมายของชีวิตและสังคม, (กรุงเทพฯ : สมชายการพิมพ์, ๒๕๒๙), หน้า ๓๔-๓๖.
[๖] พุทธทาสภิกขุ, การศึกษาคืออะไร?, หน้า ๔๒-๔๓.
[๗] พุทธทาสภิกขุ, หลักธรรมกับนักศึกษา, (กรุงเทพฯ : สมชายการพิมพ์, ๒๕๑๔), หน้า ๑๕.
[๘] พุทธทาสภิกขุ, การศึกษากับศีลธรรม, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๔๙), หน้า ๑๘๐.
[๙] พุทธทาสภิกขุ, ชุมนุมปาฐกถาชุด พุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๔๘), หน้า ๕๙.
[๑๐] พุทธทาสภิกขุ, ครูคือดวงประทีปของโลก, หน้า ๒-๑๒.
[๑๑] พุทธทาสภิกขุ, การศึกษาที่สามารถกำจัดความเห็นแก่ตัว, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมบูชา, ๒๕๓๒), หน้า ๑๒.
[๑๒] พุทธทาสภิกขุ, อุดมคติแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง, (กรุงเทพฯ : เจริญรัฐการพิมพ์, ๒๕๓๓), หน้า ๔๘.
[๑๓] กลุ่มศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี, รวมปาฐกถาพระราชชัยกวี(พุทธทาสภิกขุ), (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๒๕), หน้า ๑๔-๒๓.
[๑๔] พุทธทาสภิกขุ, หลักธรรมสำหรับนักศึกษา, หน้า ๙.
[๑๕] พุทธทาสภิกขุ, การศึกษาและการรับปริญญาในพระพุทธศาสนา, (กรุงเทพฯ : หจก.ภาพพิมพ์, ม.ป.ป), หน้า ๑.
[๑๖] พุทธทาสภิกขุ, ครูคือดวงประทีปของโลก, หน้า ๑๘.
[๑๗] พุทธทาส, การศึกษาคืออะไร, หน้า ๑๓.
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย พระจาตุรงค์ อาจารสุโภ
http://www.gotoknow.org/posts/485042