สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
(2319 – 2415)

นามเดิม โต
โยมบิดา-มารดา ท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อครั้งพระองค์ยังทรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี กับนางงุด ชาวนาเมืองกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2319 เวลา 07.20 น. ตรงกับวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก ที่บางขุนพรหม กรุงเทพฯ เด็กชายโตได้บวชเป็นสามเณร อายุย่าง 13 ปี ตรงกับวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2331 (จ.ศ. 1150) ที่วัดใหญ่ มีพระครูใหญ่เมืองพิจิตรเป็นผู้บรรพชาให้ และเมื่อสามเณรโตได้บรรพชาแล้ว ก็ตั้งใจร่ำเรียนภาษาบาลี ไวยากรณ์มูลกัจจายน์ ซึ่งเป็นต้นตำรับของบาลีที่เรียนกันในยุคนั้น ท่านพระครูใหญ่ท่านมีความรู้ทางเวทมนต์คงกระพันชาตรี เสน่ห์มหานิยม นะจังงัง ปราบหมี ปราบเสือ ปราบจระเข้ ท่านสอนสามเณรหมด สามเณรเรียนแล้วก็ออกป่า ลงน้ำ ทดลองอาคมจนเห็นผล การศึกษาทั้งบาลีนักธรรมก็เจนจบ แต่จะหาคัมภีร์ให้ร่ำเรียนสูงขึ้นไปอีกก็ไม่มี ท่านพระครูใหญ่จึงแนะนำให้ไปศึกษากับพระครูวัดไชยนาทบุรี เมืองชัยนาท ตอนนั้นเป็นพ.ศ. 2333 อายุได้ 15 ปีแล้ว เพื่อเรียนพระปริยัติธรรม แปลไทยเป็นบาลี แปลบาลีเป็นไทย แปลบาลีเป็นลาว เป็นเขมร เป็นพม่า ชำนาญการทุกภาษา เวลาล่วงเลยไปได้ 3 ปี เรียนจนถึงแปดขั้นบาลี ก็จบทุกสรรพตำราที่มีอยู่ในสำนักอาจารย์ จนไม่มีอะไรจะสอนท่านอีก

ดังนั้น เมื่อสามเณรอายุได้ 18 ปี จึงได้อำลาอาจารย์ ขอไปศึกษาต่อที่เมืองบางกอก ตาผลผู้เป็นตาจึงได้นำพาสามเณรโตขึ้นไปมอบถวายพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน กรุงเทพฯ ต่อมาท่านอาจารย์แก้วก็พาสามเณรไปฝากพระโหราธิบดี พระวิเชียรกรมราชบัณฑิต ให้ช่วยแนะนำสามาเณรเรียนรู้พระไตรปิฎก ท่านบัณฑิตทั้งสองก็รับสอน เมื่อสามเณรอยู่กับท่านอาจารย์แก้ว ก็ได้โยม 7 ท่านผู้มั่งคั่งในย่านนั้นเป็นโยมอุปัฏฐาก คือ พระโหราธิบดี และพระวิเชียรกรมราชบัณฑิต บ้านหลังวัดบางลำภูบน, เสมียนตราด้วง บ้านบางขุนพรหม, ท่านขุนพรหมเสนา บ้านบางขุนพรหม, ปลัดกรมนุท, เสมียนบุญ และพระกระแสร บ้านบางลำภูบน ทั้ง 7 ท่าน เลื่อมใสในศีลาจารวัตรของสามเณร และความฉลาดสามารถ ความขยันหมั่นเพียร ไม่รู้อิ่มในวิชาการ จึงพากันเอาใจใส่อุปถัมภ์บำรุงช่วยกันให้การศึกษาแก่สามเณรจนรอบรู้ทุกสิ่งทุกประการ ทำให้สามเณรได้มีความชำนาญทางเทศน์มหาชาติ ปุจฉาวิสัชนา ความรู้โหราศาสตร์ เวทมนต์คาถา วิชาอะไรที่บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตได้เรียนรู้ สามเณรก็รู้หมดสิ้น โดยเฉพาะเทศน์มหาชาตินั้น กล่าวกันว่ามีกลเม็ดเด็ดพราย เทศน์ได้ทั้ง 13 กัณฑ์ ประชาชนนิยมฟังกันคับคั่ง จึงเป็นที่โปรดปรานของญาติโยม ทั้งคนมีคนจน ใคร ๆ ก็กล่าวขวัญถึงแต่สามเณรโต พอถึงเดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2337 พระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วง ก็พาสามเณรโตเข้าเฝ้าถวายตัวแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 2) ณ ท้องพระโรง พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี ใกล้วัดระฆัง เมื่อพระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นสามเณรมีรัศมีเปล่งปลั่ง และมีรัดประคตหนามขนุนของขุนนางใหญ่คาดมาเป็นบริขารด้วย พระองค์ท่านจึงเกษมโสมนัสยิ่งนัก จึงทรงรับอุปถัมภ์บำรุงและให้เณรย้ายมาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช วัดนิพพานาราม (วัดนิพพานารามคือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ในปัจจุบันนั่นเอง) และก็ได้ศึกษาคัมภีร์พระปริยัติธรรม รวมทั้งเรียนกับพระอาจารย์เสมวัดนิพพานารามอีกอาจารย์หนึ่งด้วย

อุปสมบท

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงคำนวณปีเกิดของสามเณรโตควรจะอุปสมบทได้แล้ว จึงรับสั่งให้พระโหราธิบดีและเสมียนตราเข้าเฝ้า แล้วมอบเงินให้ 400 บาท พร้อมเครื่องบริขารให้สามเณรโตไปบวชที่วัดตะไกร เมืองพิษณุโลก ให้ทำพิธีแบบนาคหลวง บวชเมื่ออายุย่างเข้า 21 ปี ตรงกับวันพฤหัส ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ในวันที่ 11 พฤษาคม พ.ศ. 2340 (จ.ศ. 1159) เวลา 07.00 น. มีสมเด็จพระวันรัต วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการวัดตะไกร เมืองพิษณุโลก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ งานบวชได้จัดใหญ่โตมโหระทึก สมเป็นนาคหลวง ไทยทานที่ชาวบ้านถวายพระภิกษุโตนั้น มากมายก่ายกองสุดพรรณนา มีผู้คนแห่กันมาล้นหลามทั่วทุกสารทิศ หลังจากอุปสมบทแล้วก็ย้ายกลับมาที่วัดนิพพานารามเหมือนเดิม สมเด็จพระสังฆราชมี จึงมอบพระภิกษุโตให้อยู่ในการดูแลสั่งสอนของสมเด็จพระวันรัต รับเป็นอาจารย์บอกกล่าวพระคัมภีร์ปริยัติธรรมแทนพระองค์สืบต่อไป
เข้าพรรษาในปีนั้น พระโตได้ข้ามไปเรียนคัมภีร์กับสมเด็จพระวันรัตเสมอ ๆ จนมีความรู้แตกฉานลึกซึ้งในธรรมวินัยไตรปิฎก ท่านเป็นที่ชื่นชมของประชาชนทั่วไป และเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ถวายเป็นองค์อุปถัมภ์มาตลอด และเมื่อลุถึงปีขาล พ.ศ. 2349 และพระภิกษุโตอายุได้ 30 ปี พรรษา 10 ท่านได้รับพระราชทานเรือพระที่นั่งเอาไว้สำหรับไปเทศน์โปรดญาติโยม และทรงแต่งตั้งให้เป็น “มหาโต” ตั้งแต่วันนั้น คนทั้งเมืองก็เรียกท่านว่า “มหาโต”
พรรษา 12 ในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระมหาโตเป็นที่โด่งดังมาก ท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทางด้านการเทศน์ เพราะเชี่ยวชาญรอบรู้พระไตรปิฎกแตกฉาน ทั้งยังเป็นพระของพระเจ้าแผ่นดิน อันพระองค์ทรงเป็นอุปัฏฐากอีกด้วย อดิเรกลาภมีทวีคูณมากมาย ลูกศิษย์ลูกหามากมายชื่อเสียงโด่งดังกึกก้องตลอดกรุง ในรัชกาลที่ 3 ท่านก็เป็นพระสงบมีจิตแน่วแน่ต่อญาณคติ มีวิถีจิตแน่วไปในโลกุตรภูมิ ไม่ฟุ้งซ่านโออ่า ท่านทำซอมซ่อเงียบ ๆ สงบปากเสียงมา 25 ปี ตลอดรัชสมัยของแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมณศักดิ์

เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ พระมหาโตอายุได้ 74 ย่าง 75 ปี ท่านได้ตามหามหาโตเข้าเฝ้าเพื่อให้มาช่วยงานพระบวรพระพุทธศาสนา และได้ทรงแต่งตั้งให้มหาโตเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มีฐานานุกรม 3 องค์ นิตยภัตรเดือนละ 4 ตำลึง 1 บาท ทั้งค่าข้าวสาร
ครั้นถึงเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีชวด พ.ศ. 2394 พระธรรมกิตติอายุได้ 75 ปี ทรงพระมหากรุณาโปรดเลื่อนสมณศักดิ์ พระธรรมกิตติขึ้นเป็นพระเทพกวี ราชาคณะผู้ใหญ่ในตำแหน่งสูง มีนิตยภัตร 28 บาท ค่าข้าว 1 บาท
ปีฉลู พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเทพกวี (โต) ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จฯ มีพระชนมายุย่าง 90 ปี รวมที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังมาได้ 15 ปี จึงได้เป็นสมเด็าจพระพุฒาจารย์ เป็นปีที่ 15 ในรัชการที่ 4 กรุงเทพมหานคร
ในแผ่นดินสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านได้ประพฤติคุณงามความดีดำรงตบะเดชะชื่อเสียงกระเดื่องเฟื่องฟุ้งมาในราชสำนักก็หลายประการ ในสงฆ์สำนักก็หลายประการ จนท่านมีคนนับถือลือชาปรากฎตลอดสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 4 อายุสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ 92 ปี รับตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์มาได้ 4 ปี สิ้นรัชกาลที่ 4 นี้
ในปลายปีมะเมีย พ.ศ. 2413 (จ.ศ. 1232) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มีลายลิขิตแจ้งแก่กรมสังฆการีว่า จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ยกเป็นกิตติมศักดิ์ ด้วยเหตุชราทุพพลภาพไม่สามารถรับราชการเทศน์แลสวดฉัน ในพระบรมมหาราชวังได้ ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตตกเป็นพระมหาเถรกิตติมศักดิ์ตั้งแต่นั้นมา

มรณภาพ

ครั้นถึง ณ วันเดือน 5 ปีวอก พ.ศ. 2415 (จ.ศ. 1234) เป็นปีที่ 5 ในรัชการที่ 5 กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปดูการก่อพระโต วัดบางขุนพรหมใน ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ไปอาพาธด้วยโรคชราภาพ 15 วัน ก็ถึงมรณภาพบนศาลาใหญ่ วัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหาร) สิริรวมชนมายุ 96 ปี เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามมาได้ 21 ปี บริบูรณ์ รับตำแหน่งที่สมเด็าจพระพุฒาจารย์มาได้ 7 ปีบริบูรณ์ ถ้าจะนับปีตามจันทรคติก็ได้ 8 ปี

ขอขอบคุณ : http://www.kaskaew.com/index.asp?contentID=10000004&title=%CA%C1%E0%B4%E7%A8%BE%C3%D0%BE%D8%B2%D2%A8%D2%C3%C2%EC+(%E2%B5)&getarticle=119&keyword=&catid=17

. . . . . . .