ตอน สี่ อานาปานสติภาวนา โดย พุทธทาสภิกขุ
บุพพกิจโดยเฉพาะของการเจริญสมาธิ
ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึงบุพพกิจที่ใกล้ชิด หรือเฉพาะเจาะจงต่อการทำกัมมัฏฐานยิ่งขึ้นไปอีก ดังต่อไปนี้ :-
(ก) การทำอุปมาเป็นหลักประจำใจ
เกี่ยวกับการทำกัมมัฏฐานนี้ ทุกคนควรจะมีความแจ่มแจ้งในอุปมาของการทำกัมมัฏฐานทั้งหมด ไว้เป็นแนวสังเขป กันความฟั่นเฝือ. การที่ต้องใช้ฝากไว้กับอุปมา ก็เพราะเป็นการง่ายแก่การกระทำไว้ในใจ ในลักษณะที่เป็นการเห็นแจ้ง มิใช่เป็นเพียงความจำหรือความเข้าใจ. เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระอาจารย์ในกาลก่อน เช่น อาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคโดยเฉพาะ ได้ถือเอาอุปมานี้เป็นหลัก มีใจความว่า “คนมีปัญญา ยืนหยัดมั่นคงอยู่บนแผ่นดิน ฉวยอาวุธที่คมด้วยมือ ลับที่หินแล้ว มีความเพียรถางป่ารกให้เตียนไปได้”.
คำอธิบายของท่านมีว่า คนมีปัญญา หมายถึงปัญญาเดิมๆ ที่ติดมากับตัวที่เรียกว่า “สหชาตปญฺญา” หรือที่เรียกในสมัยนี้ว่า Intellect หมายความว่าเป็นปัญญาที่ยังดิบอยู่ จะต้องได้รับการทำให้งอกงาม เป็นปัญญาที่แท้จริงโดยสมบูรณ์ ซึ่งเรียกว่า “วิปัสสนาปัญญา” หรือที่เรียกในบัดนี้ว่า Intuitive wisdom. ข้อนี้หมายความว่า คนที่จะทำกัมมัฏฐานต้องมีแววฉลาดอยู่ตามสมควร เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับเพาะปลูกปัญญาต่อไป. ถ้าเป็นคนโงเง่า ก็ไม่มีทางที่จะทำได้ตามแนวนี้ จักต้องไปกระทำตามแนวของพวกศรัทธา หรือพิธีรีตองต่างๆ ไปก่อนเป็นธรรมดา.
คนแม้มีปัญญา ก็ยังต้อง ยืนให้มั่นคงบนแผ่นดิน. แผ่นดินในที่นี้ได้แก่ศีล หรือความสมบูรณ์ด้วยศีล ซึ่งเป็นรากฐานของการเป็นอยู่ประจำวัน เพื่อไม่ให้มีทุกข์มีโทษ ที่เป็นชั้นหยาบๆ หรือที่เป็นภายนอกซึ่งแวดล้อมบุคคลนั้นอยู่ เกิดเป็นสิ่งรบกวนขึ้นมาได้ ศีลจึงถูกเปรียบด้วยแผ่นดินที่แน่นหนาสามารถที่จะยืนหยัดได้ ไม่ใช่ที่เป็นหล่มเป็นโคลน หรือเป็นเลน เป็นต้น. ผู้ปฏิบัติจะต้องชำระแผ่นดิน คือศีลของตน ให้เหมาะสมสำหรับที่จะยืน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส.
จับอาวุธที่คมขึ้นมาเพื่อจะลับ : คำว่า “อาวุธที่คม” ในที่นี้ได้แก่ โลกิยปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิต่างๆ ที่ได้มาจากการศึกษาเล่าเรียนเพื่อการนี้โดยเฉพาะเอามาลับให้คม หรือกลายเป็นโลกุตตรปัญญาไปด้วยการลับ คือการทำกัมมัฏฐานนั่นเอง จนกว่ามันจะคม ถึงขนาดตัดสัญโญชน์หรือตัดอนุสัยได้.
จับด้วยมือ คำว่า “มือ” ในที่นี้ หมายถึง ปาริหาริกปญฺญา หมายถึง ปัญญาส่วนที่รู้หรือทำให้แน่ใจ ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำ หรือจำเป็นจะต้องทำโดยเด็ดขาดสำหรับสัตว์ที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร. หรือหมายถึงปัญญาเดิมๆ ที่ได้รับการเพาะหว่านให้รู้สึกในหน้าที่ของตนอย่างแท้จริง รวมทั้งรู้จักเลือกหน้าที่ที่ควรเอามาเป็นหน้าที่อย่างสูงสุดด้วย.
ลับอาวุธนั้นที่หิน คำว่า “หิน” หมายถึง สมาธิ สมาธิเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ก่อน ในฐานะที่เป็นบาทฐานของปัญญาที่เป็นตัววิปัสสนา; จะเป็นสมาธิที่เกิดเองตามธรรมชาติพร้อมกับปัญญาเดิมๆ หรือจะเป็นสมาธิที่เพิ่งทำให้เจริญขึ้นมาใหม่ในขณะนี้ก็ตาม ล้วนแต่เรียกว่าหินสำหรับลับในที่นี้ด้วยกันทั้งนั้น.
คำว่า “มีความเพียรเข้มแข็งในการที่ใช้ศาสตรา” นั้น หมายถึงอิทธิบาททั้ง ๔ คือ ความพอใจในสิ่งที่จะทำจริงๆ, ความกล้าหรือความเข้มแข็งในการที่จะทำจริงๆ, ความเอาใจใส่ในเรื่องนั้นจริงๆ หมายถึงความมีจิตจดจ่ออยู่ตั้งแต่ต้นปลาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง, และมีความพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญาในการที่จะแก้ไขข้อขัดข้องด้วยปฏิภาณที่เฉลียวฉลาด และทันท่วงทีอยู่เสมอ. เรียกเป็นบาลีว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อันเป็นปัจจัยสำคัญของการบรรลุความสำเร็จ.
คำว่า “ย่อมถางป่ารกได้” หมายถึง สามารถถางสิ่งที่รกรุงรังอย่างยุ่งเหยิง เช่นซุ้มเซิงของกอไผ่ที่เกี่ยวกันอย่างหนาแน่น และเต็มไปด้วยหนามได้. ป่ารกเช่นนี้หมายถึงกิเลสที่มีอยู่ในสันดานของสัตว์ เพราะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับเชิงหนามดังที่กล่าวแล้ว.
อุปมาที่กล่าวนี้ ย่อมให้ความกระจ่างในลู่ทางของการปฏิบัติ ตลอดถึงความเกี่ยวพันกันของกุศลธรรมเหล่านั้น ว่ามีอยู่อย่างไร เป็นเครื่องประกันความฟั่นเฝือและให้ความแน่ใจในทางปฏิบัติพร้อมกันไปในตัว นับว่าเป็นสูตรที่ควรเด่นชัดอยู่ในสายตา ทั้งตานอกและตาใน ของผู้ปฏิบัติอยู่เสมอ.
สรุปเป็นประโยคสั้นๆ อีกครั้งหนึ่งว่า “คนมีปัญญา ยืนหยัดบนแผ่นดิน ฉวยศาสตราอันคมด้วยมือ ลับที่หิน มีเพียรแล้ว ย่อมถางรกชัฏได้” ดังนี้.
(ข) การตัดปลิโพธ
เมื่อแน่ใจในการทำกัมมัฏฐานแล้ว มีกิจที่จะต้องตัดปลิโพธคือสิ่งที่เป็นกังวล อันจะเกาะเกี่ยวหรือรบกวนใจต่างๆ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องหยุมหยิม ซึ่งท่านยกมาแสดงไว้ให้สังเกตเป็นตัวอย่าง ๑๐ อย่าง คือ :-
๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลใจเนื่องด้วยที่อยู่อาศัย ได้แก่ห่วงเรื่องที่อยู่ นับตั้งแต่ห่วงวัด ห่วงกุฏิ ที่ตนต้องทิ้งไป เพื่อไปทำกัมมัฏฐานในป่าหรือที่อื่น. แม้ที่สุดแต่ความห่วงในหน้าที่ที่จะต้องทำเกี่ยวกับกระต๊อบเล็กๆ ที่นั่งทำกัมมัฏฐานนั่นเอง เช่น ถ้ายังมีห่วงว่าสัตว์ เช่น ปลวกจะรบกวน หรือหลังคาจะรั่วหรืออะไรบางอย่างจะเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องดูแลระวังรักษาแล้ว เรียกว่าเป็นปลิโพธเป็นอุปสรรคในการทำกัมมัฏฐานโดยตรง. เขาจะต้องสะสางปัญหาเหล่านั้นให้เสร็จเสียก่อนทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ และเมื่อได้ลงมือทำกัมมัฏฐานแล้ว ต้องไม่มีห่วงว่ามันจะเป็นอย่างไรหมด แม้แต่กระต๊อบที่ตนกำลังนั่งกัมมัฏฐานอยู่. โดยนัยนี้จะเห็นได้ทันทีว่า การที่ผู้เริ่มฝึก ไปทำกัมมัฏฐานเสียในถิ่นอื่น ซึ่งไม่มีอะไรเป็นตัวนั้น ดีกว่าทำในถิ่นของตัวเอง, และทำที่โคนไม้ดีกว่าทำที่กุฏิเป็นต้น. แม้ไปนั่งทำที่โคนไม้ ก็ควรจะเป็นโคนไม้ที่ไม่ทำให้เกิดการระแวงว่าจะมีใครมายืนดู. ถ้าหาโคนไม้อย่างนั้นไม่ได้ ก็ต้องตัดใจลงไปว่าใครจะมายืนดูก็ช่างหัวมัน ดังนี้เป็นต้น จึงจะเป็นอันว่า มีการตัดปลิโพธข้อนี้แล้วโดยสิ้นเชิง.
๒. กุลปลิโพธ หมายถึงความห่วงสกุลอุปัฏฐาก หรือบุคคลผู้ช่วยเหลือสนับสนุนตน เช่น ห่วงว่าเขาเหล่านั้นจะเจ็บไข้เป็นต้นบ้าง เขาจะเหินห่างจากเรา เพราะไม่ได้พบกันทุกวัน ดังนี้บ้าง. ข้อนี้หมายถึงความรักใคร่เป็นห่วงอาลัยอาวรณ์ ในบุคคลผู้ทำหน้าที่สนับสนุนตนทุกชนิด. ผู้ปฏิบัติจะต้องทำจิตใจใหม่ ในลักษณะที่อาจจะสรุปได้ ว่าเดี๋ยวนี้บุคคลเหล่านั่นไม่มีอยู่ในโลกแล้ว.
๓. ลาภปลิโพธ ความห่วงใยในลาภสักการะ ที่เคยมีอยู่ หรือกำลังมีอยู่ว่าจะขาดไป หรือแม้แต่ความรู้สึกว่า เมื่อทำกัมมัฏฐานสำเร็จแล้ว ลาภสักการะ สรรเสริญและชื่อเสียงจะมีมากขึ้นกว่าเดิม ดังนี้เป็นต้นก็ดี รวมเรียกว่าความห่วงใยในลาภสักการะด้วยกันทั้งนั้น. ผู้ปฏิบัติจะต้องทำในใจให้มีความเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า ลาภสักการะเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง ในฐานะที่เป็นอันตรายโดยตรงต่อการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานทุกชนิด รวมความว่า จะต้องสละทรัพย์สมบัติทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตโดยสิ้นเชิง ยอมตนเป็นผู้สิ้นเนื้อประดาตัวในขณะนี้. ถ้ามีเรื่องจะต้องใช้สอยอะไรกันใหม่ไว้พูดกันใหม่ทีหลัง ไม่ใช่เวลานี้.
๔. คณปลิโพธ ความห่วงใยในหมู่คณะที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาดูแลหรือความรับผิดชอบของตน ก็เป็นสิ่งที่ต้องสลัดออกไปแล้วโดยสิ้นเชิง มีการปักใจในการเป็นบุคคลผู้โดดเดี่ยวโดยแท้จริง. แม้ว่าจะต้องกลับไปอยู่ในหมู่คณะอีก ต้องไม่มีเรื่องที่จะกังวลในขณะนี้.
๕. กัมมปลิโพธ หมายถึงการงานต่างๆ ที่กำลังคาราคาซังอยู่ในมือ หรือโดยการรับผิดชอบก็ตาม นี้เป็นส่วนหนึ่ง. อีกส่วนหนึ่งคือนิสัยที่ชอบทำนั่นทำนี่ไม่หยุด หรือความรู้ที่จะทำนั่นทำนี่เสียเรื่อยไป. ทั้ง ๒ ประเภทนี้จัดเป็นปลิโพธโดยเท่ากัน. ผู้ปฏิบัติจะต้องทำในใจจนกระทั่งมองเห็นชัด ว่าไม่มีการงานที่ไหนอีกแล้ว ที่จะเสมอเหมือนการงานคือการทำกัมมัฏฐาน ที่เรากำลังทำอยู่นี้. เราต้องไม่ทำให้การงานที่ไม่มีค่าอะไรมากมาย มาทำให้การงานอันมีค่าสูงสุดต้องเสียหายไป. หรือถ้าหากมีทางที่จะสะสางเครื่องกังวลอันนี้ได้โดยวิธีใด เช่น มอบหมายให้ผู้ที่ควรได้รับมอบหมายไปทำเสียได้ ก็เป็นอุบายที่ควรทำให้เสร็จเสียก่อนเป็นการล่วงหน้า ดังนี้เป็นต้น.
๖. อัทธานปลิโพธ ความกังวลเนื่องด้วยการเดินทาง. ข้อนี้มีความหมายเป็น ๒ สถานคือ สำหรับผู้ที่เดินท่องเที่ยวไปพลางทำกัมมัฏฐานไปพลางนี้ จะต้องไม่กังวลถึงการเดินทางที่จะมีในวันต่อไป ว่าจะมีด้วยอาการอย่างไร เช่นไม่คำนึงถึงที่พักหรืออาคารข้างหน้าเป็นต้น จะต้องทำในใจเหมือนกับไม่มีการเดินทางไกล นี้พวกหนึ่ง. อีกพวกหนึ่ง ซึ่งได้แก่พวกปฏิบัติอยู่กับที่ แต่นิสัยรักการท่องเที่ยวเดินทางไกล เขาจะต้องระงับความรู้สึกข้อนั้นเสียโดยสิ้นเชิง ไม่มีการระลึกว่าเวลานี้ฤดูอะไร ที่โน่นที่นี่มีอะไรน่าดู หรือน่าอยู่อย่างสบายเป็นต้น ตลอดจนถึงกับไม่คิดถึงความสนุกสนานเพลิดเพลินที่ตนเคยพอใจ ในการเดินทางทุกสิ่งทุกอย่างด้วย. แม้ที่สุดแต่การกะแผนว่า เสร็จการปฏิบัติออกพรรษาแล้วเราจะเดินทางไปไหนกันให้สนุก ดังนี้ก็ไม่ควรจะมี.
๗. ญาติปลิโพธ หมายถึงความกังวลห่วงใยในญาติโดยตรง นับตั้งแต่บิดา มารดา เป็นต้นลงไป ที่อยู่ใกล้หรืออยู่ไกลก็ตาม กำลังเดือดร้อนหรือกำลังเป็นสุขก็ตาม สิ่งนี้จะไม่ต้องมารบกวนอยู่ในใจของผู้ปฏิบัติ เขามีความฉลาดในการที่จะตัดสินใจ หรือระงับความห่วงใยเหล่านั้น โดยวิธีใดวิธีหนึ่งให้จนได้. ถ้าเป็นบรรพชิต ก็คือการระลึกถึงความจริงที่ว่า การบรรพชาเป็นการสละญาติแล้วโดยสิ้นเชิง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็ในเวลาที่จะปฏิบัติธรรม. ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็มีทางที่จะคิดว่า เราจะไปแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดที่ญาติควรจะได้รับมาให้ญาติ ดังนี้เป็นต้น. ที่เป็นเรื่องรวมๆ อาจจะคิดไปได้ถึงว่า การเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารนั้น ไม่มีญาติคนไหนที่จะช่วยกันได้ แม้แต่บิดามารดา แม้แต่บุตรธิดาโดยตรง. ทุกคนต้องช่วยตัวเอง และควรจะมีสิทธิ์ในการช่วยตัวเองโดยสมบูรณ์. เมื่อใครพ้นจากวัฏสงสารขึ้นมาได้สักคนหนึ่ง คนนั้นแหละจะกลับกลายเป็นคนที่สามารถช่วยญาติ ที่กำลังเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารได้. คนที่เวียนว่าย ไม่อาจจะช่วยคนที่เวียนว่ายด้วยกันได้เลย ดังนี้.
๘. อาพาธปลิโพธ คือความห่วงใยเกี่ยวกับการเจ็บไข้. ผู้ปฏิบัติต้องไม่กลัวล่วงหน้า ว่าการปฏิบัติในข้อที่ไม่เคยปฏิบัตินั้นจะทำให้เกิดการเจ็บไข้ขึ้นนี้อย่างหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้จะเกิดการเจ็บไข้ขึ้นเพราะการปฏิบัติอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ก็ยินดีสู้ตาย รวมความว่า ไม่ห่วงใยในการเจ็บไข้ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร จะได้รับการรักษาหรือไม่ หรือจะเอายาที่ไหนมากิน ก็ไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถือเสียว่า การปฏิบัตินั้นเป็นการทำให้ได้กินยาอมตะซึ่งอาจรักษาโรคกิเลส หรือโรคทุกข์ อันเป็นโรคที่น่ากลัวกว่าโรคใดๆ ทั้งสิ้น. และเมื่อกินยานั้นแล้ว จิตใจจะลุถึงความเป็นผู้ไม่มีความตายอีกต่อไป. อีกทางหนึ่งถ้าเป็นผู้เจ็บๆ ไข้ๆ อยู่ก่อน ก็ให้รีบรักษาเสีย อย่าให้มีความกังวลในการรักษาโรค ในขณะที่ปฏิบัติอยู่อีก. และถ้าได้พยายามรักษาแล้วรักษาอีก จนถึงที่สุดของความสามารถแล้ว โรคก็ยังไม่หาย ดังนี้ไซร้ ก็จงหยุดการรักษา สลัดความกังวลในโรค แล้วทำความเพียรปฏิบัติเอาชนะความตาย ด้วยการปฏิบัตินั่นเองด้วยการตัดสินใจในวิธีเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็งเฉียบขาดเหนือความกลัวโรค และความกลัวตายจริงๆ แล้วทำการปฏิบัติไปตามที่ทางออกของชีวิตมันมีให้เพียงเท่านั้น.
๙. คันถปลิโพธ หมายถึงความห่วงใยในการศึกษาเล่าเรียน. การเล่าเรียนพลางและเจริญภาวนาในขั้นสูงพลาง เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้. เมื่อสมัครปฏิบัติในทางจิตโดยตรง ก็ต้องพักการศึกษาเล่าเรียนไว้ก่อน จึงจะได้ผลเต็มที่. นี้หมายถึงการเรียนทางวิชา หรือทางตำรา. ส่วนการศึกษาที่เป็นการไต่ถามจากกัลยาณมิตร หรืออาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฏฐานโดยตรง และเท่าที่จำเป็นนั้น ไม่รวมอยู่ในข้อนี้. อีกทางหนึ่งพึงทราบว่า นักศึกษาที่หลงใหลในการศึกษา ย่อมติดการอ่านหนังสือเหมือนกับติดฝิ่น. แม้สิ่งนี้ก็ต้องไม่มีโดยเด็ดขาด. ผู้ปฏิบัติที่เป็นครูสอนเขาอยู่ ก็ต้องถือหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน ในการที่จะตัดปลิโพธข้อนี้.
๑๐. อิทธิปลิโพธ คือความกังวลห่วงใยเกี่ยวกับการได้ฤทธิ์ หรือการได้อิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ยั่วยวนใจอย่างยิ่ง ทั้งแก่ผู้ปฏิบัติและผู้ไม่ปฏิบัติ. ผู้ที่หลงใหลในการได้ฤทธิ์แล้วมาทำกัมมัฏฐานนั้น มีทางที่จะวิกลจริตได้โดยง่าย. เขาจะต้องตัดความห่วงใยในการที่จะได้ฤทธิ์เสียแล้วโดยเด็ดขาด การปฏิบัติจึงจะดำเนินไปตามคลองของการบรรลุมรรคผลนิพพาน นี้อย่างหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง ก็คือบุคคลที่ปฏิบัติมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ครั้นลุถึงขั้นที่จิตสามารถทำอิทธิปาฏิหารย์บางอย่างได้ ความสนใจก็เริ่มเบนมาทางฤทธิ์นี้ และอยากจะให้ดำเนินต่อไปในทางนี้จนถึงที่สุด นี้จัดเป็นปลิโพธอย่างยิ่ง ต่อการปฏิบัติที่จะดำเนินต่อไปในทางของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือความไม่มีตัวตนซึ่งเป็นทางธรรมแท้. การทำพร้อมกันทั้งสองอย่าง ไม่มีทางที่จะทำได้ด้วยเจตนา แต่เป็นไปได้ในทางที่เมื่อปฏิบัติถึงที่สุดในทางธรรมแล้ว บางคนก็ยังมีความสำเร็จทางฝ่ายอิทธิปาฏิหาริย์เป็นของผนวก อีกส่วนหนึ่งด้วย. แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นอย่างนั้นทุกคนไป เป็นได้เฉพาะคน และเฉพาะเหตุการณ์. สำหรับการปฏิบัติฝึกฝนเพื่อได้อิทธิปาฏิหารย์โดยตรงนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่ต้องเอามาปนกับเรื่องนี้. ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องทำจิตให้เป็นธรรมาธิปไตยล้วน ไม่มุ่งหวังอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นทางแห่งลาภสักการะและอื่นๆ ไม่เกี่ยวกับการตัดกิเลสเลย.
สิ่งทั้ง ๑๐ เท่าที่ท่านยกมาแสดงเป็นตัวอย่างนี้ เป็นปลิโพธโดยเสมอกัน เป็นเครื่องกีดขวางทางเดินของจิต ที่จะเดินไปตามทางภาวนา. ถ้าจะเปรียบดังในอุปมาข้างต้น ก็เท่ากับทำให้แสวงหาก้อนหิน ที่อาจจะใช้ลับมีดไม่พบนั่นเอง. ไม่ได้ลับมีดแล้วไปถางป่านั้น เรื่องจะเป็นอย่างไรลองคิดดู. เพราะฉะนั้นเป็นอันว่า การตัดปลิโพธเหล่านี้ย่อมเป็นบุพพกิจโดยแท้จริง.
(ค) การเลือกสิ่งแวดล้อม
ผู้จะปฏิบัติจะต้องรู้จักเลือกสถานที่ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่สนับสนุนแก่การปฏิบัติของตนให้ดีเท่าที่จะทำได้. เพื่อรู้จักเลือกสิ่งแวดล้อมได้ดี ก็จำเป็นจะต้องรู้จักตัวเองให้ดีเสียก่อน ว่าตนเป็นอย่างไร เข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้กับสิ่งใดโดยธรรมชาติ. แม้ว่าการทำกัมมัฏฐานจะมีความมุ่งหมายถึงการหลุดพ้นเพื่ออยู่เหนือความยินดียินร้าย หรือเหนือการครอบงำของธรรมชาติก็จริง แต่ในขั้นเตรียมตัวนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องหลีกเลี่ยงจากการครอบงำของธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้. เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักอิทธิพลของธรรมชาติภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อม และรู้จักธรรมชาติภายในคือจริตนิสัยของตนเอง ว่ามันจะขัดกันหรือจะเข้ากันได้อย่างไรและเพียงไรเสียก่อน. ธรรมชาติภายในของตนในที่นี้เรียกสั้นๆ ว่า “จริต” หมายถึงสิ่งที่จิตเคยประพฤติมาจนเคยชินเป็นนิสัย. เมื่อรู้จักจริตของตนแล้ว ย่อมสามารถจะจัดจะทำ จะแสวงหรือหลีกเลี่ยงได้ตรงตามที่ควรจะเป็น ในสิ่งแวดล้อมทุกประการ. เกี่ยวกับจริตนี้ ท่านจำแนกไว้เป็น ๖ คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต และวิตกจริต, แต่ละอย่างๆ มีลักษณะอาการอย่างไร เข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้กับสิ่งใด จะได้วินิจฉัยกันทีละข้อดังต่อไปนี้ :
(๑) ราคจริต. หมายถึงนิสัยสันดานที่หนักไปในทางกำหนัดยินดีหรือละโมบ รักสวยรักงาม ยึดมั่นอย่างรุนแรงในความเป็นระเบียบเรียบร้อยตลอดถึงการอยู่ดีกินดี ดังนี้เป็นต้นมากเกินไป เกี่ยวกับจริตนี้ ท่านแนะให้เลือกสิ่งแวดล้อมตนเองด้วยสิ่งที่เป็นของปอน เช่นที่อยู่อาศัยอย่างปอนๆ ไม่น่าดู. จีวรก็เนื้อเลว แล้วยังแถมมีการปะชุนหรือขาดกระรุ่งกระริ่ง. แม้บาตรก็เป็นอย่างเลว ตะปุ่มตะป่ำเต็มไปด้วยรอยต่อ หรือการซ่อม. เลือกทางบิณฑบาตที่สกปรกโสมม ไม่มีสิ่งที่เจริญตาเจริญใจ. รับอาหารบิณฑบาตของคนยากจนชนิดที่ดูแล้วน่าขยะแขยง และเลือกไปในหมู่บ้าน ที่มีคนรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ กิริยาอาการก็ให้หยาบคาย ดังนี้เป็นต้น. สำหรับอิริยาบถประจำวัน ก็ให้มากไปด้วยอิริยาบถยืน และอิริยาบถเดิน หลีกเลี่ยงการนั่ง หรือการนอนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้. แม้สิ่งอื่นๆ ก็ควรระมัดระวังโดยหลักเกณฑ์ข้อเดียวกัน; ยกตัวอย่างเช่น สีของสิ่งที่จะใช้สอย ก็ควรจะเป็นสีเขียว หรือสีเขียวแกมดำ. แม้ที่สุดแต่การเลือกสีที่จะใช้ในการทำวงของกสิณ ในเมื่อจะเจริญกสิณภาวนา ก็ควรเลือกสีเขียว. สรุปความว่า สิ่งต่างๆ สำหรับคนราคจริตนั้น จะต้องเป็นไปในทางปอนหรือคล้ำ ไม่สดใสฉูดฉาด จึงจะเป็นไปในทางสบายต่อจริต หรือส่งเสริมแก่การปฏิบัติ, มิฉะนั้นจะเกิดความยุ่งยากขึ้นไม่มากก็น้อยโดยไม่จำเป็นเกี่ยวกับสิ่งที่ขัดกันกับจริตของตน ในความมุ่งหมายที่จะเจริญกัมมัฏฐานภาวนา.
(๒) โทสจริต. หมายถึงจริตนิสัยที่ขี้โกรธ ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ท่านแนะสิ่งที่สบายสำหรับผู้มีโทสจริตไว้ในลักษณะที่อาจกล่าวได้ว่าตรงกันข้ามจากสิ่งที่สบายของราคจริต คือท่านแนะให้ทำ หรือมี หรือไปสู่แต่สิ่งแวดล้อมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย สุภาพ และ สวยงาม น่าเจริญตาเจริญใจ เช่น ที่อยู่อาศัยควรสะอาดหมดจด เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีอะไรที่เร้าใจให้เกิดความหงุดหงิด จีวรก็เป็นผ้าเนื้ออ่อนเนื้อดีเนื้อเกลี้ยง สีดีไม่มีกลิ่น ดังนี้เป็นต้น. เลือกไปบิณฑบาตในหมู่บ้านที่เจริญแล้วในความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดประณีต ความมีรสนิยมสูง และความพอเหมาะพอดีอื่นๆ เป็นหมู่ชนที่มีวัฒนธรรมดี มีกิริยามารยาทดี ดังนี้เป็นต้น. รวมความก็คือ ให้ถูกแวดล้อมอยู่ด้วยสิ่งที่ไม่ปอน แต่ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามที่ควร. แม้ในส่วนอิริยาบถ ก็อยู่ในอิริยาบถที่เป็นการพักผ่อน เช่น อิริยาบถนั่งหรืออิริยาบถนอน มากกว่าอิริยาบถยืนหรือเดิน. เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ก็พึงเทียบเคียงโดยนัยอันเดียวกัน เช่น เรื่องสีก็เป็นสีเขียวแก่ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ยั่วอารมณ์น้อยกว่าสีอื่นดังนี้เป็นต้น.
(๓) โมหจริต. หมายถึงจริตนิสัยเป็นไปในทางที่ง่วงซึมมึนชา ไม่ค่อยมีความโปร่งใจอยู่เป็นปรกติ. สิ่งสบายสำหรับบุคคลประเภทนี้ ท่านแนะไว้ว่า ต้องเป็นสิ่งที่โล่งโถงสว่างไสว เช่น เสนาสนะที่อยู่ ก็ควรจะเปิดโล่งเห็นได้ในระยะไกล ไม่มีอะไรกีดขวาง และมีแสงสว่างมาก. เกี่ยวกับจีวรมีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน คือสะอาดเรียบร้อยและมีสีสันดี (เท่าที่ควรแก่สมณะ). แม้ในเรื่องบิณฑบาต ก็มีหลักเกณฑ์ไปในทางที่เจริญตาเจริญใจอย่างเดียวกัน และท่านแนะนำให้ใช้วัตถุเครื่องใช้สอยที่มีขนาดใหญ่ แม้ที่สุดแต่ดวงกสิณ ก็ต้องเป็นขนาดใหญ่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้. ชอบอิริยาบถอย่างเดียวกันกับคนที่มีราคจริต.
(๔) สัทธาจริต. หมายถึงนิสัยเชื่อง่ายเชื่อดาย หรือหนักไปแต่ในทางความเชื่อโดยส่วนเดียว สิ่งที่สบายสำหรับบุคคลประเภทนี้ ตามที่ท่านแนะไว้เป็นอย่างเดียวกันกับสำหรับบุคคลที่มีโทสจริต แต่ควรจะเข้าใจไว้ว่า ผู้มีสัทธาจริต ควรจะได้รับสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปในทางชวนให้ขยันคิดนึกเสียบ้าง ก็จะเป็นการดี และควรอยู่ใกล้กับบุคคลที่สามารถให้คำแนะนำ ที่ชวนให้คิดนึกอย่างถูกต้อง.
(๕) พุทธิจริต. หมายถึงจริตนิสัยที่ชอบเรียนชอบรู้ คิดนึกไปในทางศึกษา ไปในทางสติปัญญา เกี่ยวกับบุคคลประเภทนี้ไม่สู้จะมีปัญหา อันเนื่องด้วยสิ่งแวดล้อม ท่านถือว่าผู้เป็นพุทธิจริตจะเป็นอยู่ได้สบาย ได้ทุกแบบของจริตอื่นๆ ทั้งหมด. สรุปความว่า ไม่มีอะไรที่จะจำกัดรัดกุม เหมือนกับบุคคลที่เป็นราคจริต หรือโทสจริตโดยเฉพาะ.
(๖) วิตกจริต. หมายถึงสิ่งที่ฟุ้งซ่านง่าย แต่มิได้หมายความว่าฟุ้งซ่านไปในทางสติปัญญา เป็นแต่เพียงการนึกคิดที่ฟุ้งซ่าน หาทิศทางและหลักเกณฑ์ไม่ค่อยได้. สิ่งที่สบายสำหรับบุคคลผู้มีจริตอย่างนี้ ต้องเป็นสิ่งที่ไม่ยั่วให้คิด ไม่สนับสนุนให้คิด ไม่ชวนให้ฉงน หรือไม่มักก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ควรอยู่ในที่แคบ แต่เกลี้ยงเกลาสะอาด อยู่ในที่มีแสงสว่างพอสมควร มีเครื่องใช้สอยแต่น้อยที่สุด และง่ายที่สุด ไม่สมาคมกับบุคคลที่ชวนให้เพ้อเจ้อ มีอิริยาบถที่สบายอย่างเดียวกับ ผู้เป็นราคจริต แม้สีเป็นต้นก็อย่างเดียวกัน.
สรุปความว่า ราคจริต คือ ขี้มักกำหนัด ให้ใช้ของปอนแก้. โทสจริต ขี้มักโกรธ ให้ใช้ของเรียบร้อยสวยงามแก้. โมหจริต ขี้มักมืดมัว ให้ใช้สภาพของความโล่งโถงสว่างไสวแก้. สัทธาจริต ขี้มักเชื่อดายไป ใช้ความมีหลักเกณฑ์มีระเบียบที่แน่นอนแก้. พุทธิจริต หนักไปในทางความรู้ ใช้ความฉลาดของตัวเองแก้. และ วิตกจริต ใช้สภาพของสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ยั่วให้เกิดความนึกคิดแก้. เมื่อผู้ปฏิบัติได้สำรวจตัวเอง จนรู้จักจริตนิสัยของตนอย่างถูกต้อง ย่อมสามารถเลือกสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ยาก สามารถสนับสนุนการปฏิบัติของตนได้ด้วยตนเองอย่างมากมายทีเดียว แม้การเลือกบทกัมมัฏฐานบทใดบทหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อให้ถูกจริตนิสัยของตน ก็ถือหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันนี้ เช่นราคจริต เลือกกัมมัฏฐานพวกอสุภกัมมัฏฐาน พวกโทสจริต เลือกกัมมัฏฐานพวกพรหมวิหาร หรืออัปปมัญญา. โมหจริต เลือกกัมมัฏฐาน พวกปัจจเวกขณ์ เช่น ธาตุปัจจเวกขณ์, พวก สัทธาจริต เลือกกัมมัฏฐานพวก อนุสสติ เช่นธัมมานุสติ, พวก พุทธจริต ไม่สู้จะมีการจำกัด, พวก วิตกจริต เลือกกัมมัฏฐาน พวกที่สงบรำงับ เช่น อานาปานสติ หรือกัมมัฏฐานที่อาศัยนิมิตเป็นรูปธรรมล้วนๆ เช่นกสิณเป็นต้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า อานาปานสติ ย่อมเป็นธรรมที่สบายแกจริตทั้งปวง.
ในกรณีที่บุคคลคนหนึ่งมีจริตแสดงออกหลายจริต ให้ถือเอาจริตที่ออกหน้าหรือแก่กล้ากว่าจริตอื่น เป็นหลักสำหรับการเลือกก่อน แล้วจึงถึงจริตที่ถัดไปเท่าที่จะผ่อนผันกันได้. เมื่อได้กล่าวถึงธรรมชาติภายใน คือจริตนิสัยแล้ว ก็ควรจะกล่าวถึงธรรมชาติภายนอก ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการเลือกเฟ้นสืบต่อไป. ธรรมชาติภายนอก ที่จะต้องเลือกเฟ้นในที่นี้เรียกว่า “สัปปายธรรม” แปลว่า สิ่งเป็นที่สบายสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติ ท่านจำแนกไว้เป็น ๗ คือ :-
(๑) อาวาสสัปปายะ ที่อยู่สบาย, (๒) โคจรสัปปายะ ที่หาอาหารสบาย,
(๓) กถาสัปปายะ ถ้อยคำสบาย, (๔) ปุคคลสัปปายะ บุคคลสบาย,
(๕) อาหารสัปปายะ อาหารสบาย, (๖) อุตุสัปปายะ ฤดูสบาย.
(๗) อิริยาบถสัปปายะ อิริยาบถสบาย.
แต่ละอย่างๆ มีทางวินิจฉัย เกี่ยวกับการเลือก ดังต่อไปนี้ :
๑. อาวาสสัปปายะ หมายถึงที่อยู่สบาย นอกจากเป็นการถูกกับจริตดังกล่าวไว้ในเรื่องของจริต ๖ ประการข้างต้นแล้ว ท่านยังแนะให้เลือกที่อยู่ที่ประกอบไปด้วยลักษณะเหล่านี้คือ ไม่ใหญ่เกินไป เพราะทำให้มีการดูแลรักษามากเป็นต้น, ไม่ใหม่เกินไป เพราะมีเรื่องที่จะต้องทำมาก, ไม่คร่ำคร่าเกินไปเพราะมีอันตรายจากตัววัตถุนั้นเอง หรือจากสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ. ไม่อยู่ใกล้ทางเดิน เพราะจะถูกรบกวนด้วยบุคคลและเสียงของบุคคลผู้เดิน, ไม่อยู่ใกล้บ่อน้ำสาธารณะ เพราะจะถูกรบกวนจากบุคคล หรือจากการตักน้ำของบุคคลโดยเฉพาะเพศตรงกันข้าม, ไม่อยู่ในที่ที่มีใบไม้ หรือผักหญ้า เป็นต้น ที่ใช้เป็นอาหารได้ เพราะจะถูกรบกวนจากคนหาผัก โดยเฉพาะที่เป็นเพศตรงกันข้าม, ไม่อยู่ในที่ที่มีดอกไม้หรือผลไม้ เป็นต้น ที่ใช้ประโยชน์ได้ เพราะจะถูกรบกวนจากสัตว์บุคคลที่เนื่องจากดอกไม้ หรือผลไม้, ไม่อยู่ในที่ที่คนมุ่งหมายจะได้ เพราะก่อให้เกิดศัตรู แล้วได้รับความรบกวนจากศัตรูนั้น ไม่อยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่บูชาของประชาชน เพราะจะทำให้รำคาญ; ไม่อยู่ใกล้ตัวเมือง เพราะตัวเมืองย่อมเป็นทางมาแห่งการรบกวนทุกประการ, ไม่อยู่ใกล้แหล่งหาฟืน หรือที่ทำนาเป็นต้น เพราะเป็นการยากที่จะไม่ถูกรบกวนด้วยเสียง หรือจากบุคคลโดยตรง, ไม่อยู่ใกล้สิ่งหรือบุคคลที่เป็น วิสภาค แปลว่าเข้ากันไม่ได้ เช่นคนโกรธกัน หรือเพศตรงกันข้าเป็นต้น, ไม่อยู่ใกล้ท่าน้ำ เพราะเป็นที่ไปมาไม่หยุด, ไม่อยู่บ้านนอกปลายแดนเกินไป, เพราะคนเหล่านั้นไม่ศรัทธาที่จะสนับสนุน ไม่เข้าใจแล้วยังจะทำตนเป็นปฏิปักษ์อีกด้วย, ไม่อยู่ที่พรมแดนของประเทศ เพราะเป็นถิ่นที่ต้องระวังรักษาอย่างกวดขันของเจ้าหน้าที่ผู้รักษา และมีทางที่จะกระทบกระเทือน ในเมื่อเกิดปัญหาพรมแดนหรือชายแดนขึ้น, ไม่อยู่ในที่ไม่มีสัปปายะ ๗ ประการข้างต้นดังกล่าวแล้ว และไม่อยู่ในที่ที่ไม่อาจจะติดต่อกับกัลยาณมิตร เช่นอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐาน. ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของที่อยู่ที่ควรหรือไม่ควรอยู่ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สำหรับวินิจฉัย ในปัญหาอันเกี่ยวกับสถานที่บำเพ็ญสมณธรรมโดยตรง. เมื่อได้สถานที่ที่ปราศจากโทษเหล่านั้นแล้ว ก็เรียกว่ามี อาวาสสัปปายะ ซึ่งอาจจะหมายถึงสถานที่ทั้งหมู่บ้าน ทั้งป่า หรือทั้งวัดหรือส่วนแห่งวัด หรือแม้แต่เพียงกุฏิ กระต๊อบ กระท่อม หรือถ้ำ หรือโคนไม้หรือหุบเหว ที่อยู่ เป็นส่วนตัวโดยเฉพาะจริงๆ ก็ตาม รวมความแล้ว ก็คือไม่มีอะไรรบกวนและสะดวกสำหรับการปฏิบัติกัมมัฏฐาน.
๒. โคจรสัปปายะ หมายถึงที่แสวงหาอาหารสบายโดยตรง และหมายถึงที่แสวงหาสิ่งที่ต้องการอื่นๆ โดยอ้อม ตลอดถึงการคมนาคม ที่จำเป็นต้องใช้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ. เกี่ยวกับโคจรสบายนี้ มีหลักสำคัญอยู่ว่า พอที่จะแสวงหาอาหารได้โดยไม่ยาก หรือยากเกินไป และในที่นั้นๆ ไม่มีวิสภาคารมณ์ โดยเฉพาะก็คือสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่จิตใจ ทำจิตใจให้ตกไปฝ่ายต่ำหรือให้ย้อนระลึกนึกถึงความหลัง ซึ่งทำให้อยากกลับไปสู่เพศต่ำ ดังนี้เป็นตัวอย่าง. ท่านได้อุปมาไว้ว่า เหมือนกับโคต้องได้ทุ่งหญ้าที่ดี ไม่มีโจร ไม่มีเสือ ไม่มีโรคหรืออุปัทวะอื่นๆ. ถ้าที่โคจรไม่ดี ก็ได้รับอันตรายถึงตาย ซึ่งเป็นโวหารอุปมาของการสึก.
๓. กถาสัปปายะ คำพูดสบาย หมายถึงการได้ยินได้ฟังสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ขจัดข้อสงสัยต่างๆ ได้ สนับสนุนแก่การปฏิบัติมีความไพเราะงดงามและถูกแก่จริตนิสัยของบุคคลนั้นโดยเฉพาะ แม้แต่เสียงสัตว์บางอย่าง สบายก็มีไม่สบายก็มี ไม่ต้องกล่าวถึงเสียงของมนุษย์เลย. ฉะนั้นเสียงที่อึกทึกครึกโครมหรือสิ่งยั่วยวนต่างๆ ที่ดังมาจากระยะไกลนั้น ก็ถูกจัดไว้ในฐานะเป็น อสัปปายะ. ในทำนองตรงกันข้าม ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติได้ฟังถ้อยคำที่ชักจูงจิตใจหรือประเล้าประโลมใจ ให้อาจหาญร่างเริง และมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในหน้าที่ของตัวแล้ว จัดว่าเป็น สัปปายะ ในข้อนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ถ้อยคำของกัลยาณมิตรที่พร่ำแนะอยู่นั่นเอง.
๔. ปุคคลสัปปายะ หมายถึงบุคคลที่แวดล้อมอยู่ ในฐานะเป็นอาจารย์หรือกัลยาณมิตรก็ดี เพื่อร่วมการปฏิบัติด้วยกันก็ดี และผู้สนับสนุนเช่น ทายกทายิกาก็ดี ล้วนแต่เป็น สภาค (ตรงกันข้ามกับวิสภาค) คือเข้ากันได้กับบุคคลผู้ปฏิบัตินั้นอย่างถูกฝาถูกตัว. อาจารย์อยู่ในฐานะช่วยดึงขึ้นไป, เพื่อสหธรรมิกอยู่ในฐานแวดล้อมให้ปลอดภัย และเป็นเพื่อนเดินทาง, ผู้สนับสนุนอยู่ในฐานที่ช่วยผลักดันให้ก้าวไปเร็วหรือโดยสะดวก, เหล่านี้ คือใจความสำคัญของปุคคลสัปปายะ.
๕. อาหารสัปปายะ หมายถึงอาหารที่ถูกแก่จริตนิสัยของบุคคลผู้ปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วในเรื่องของจริต และทั้งยังเป็นอาหารที่สบายแก่ร่างกาย มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงร่างกาย และป้องกันโรคเต็มตามความหมายของอาหารที่ดี และเป็นอาหารที่บุคคลนั้น บริโภคด้วยปัจจเวกณ์พิจารณา และด้วยกิริยาอาการที่สมควรแก่ผู้ปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่. ส่วนที่จะเป็นอาหารเนื้อ หรืออาหารผัก ผลไม้ แป้งข้าว หรืออะไรอื่นนั้นเป็นเรื่องเฉพาะคน เฉพาะสถาน หรือเฉพาะกาลเวลาและเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ ซึ่งไม่อาจจะกล่าวไว้เป็นส่วนรวม แต่ถ้าได้มาตรงตามที่ร่างกาย หรือจิตใจของผู้ปฏิบัติสมณธรรม ต้องการจริงๆ แล้ว ก็นับว่าเป็นอาหารสัปปายะ อย่างยิ่ง.
๖. อุตุสัปปายะ คือฤดูสบาย คำว่าอุตุ หรือฤดูในที่นี้ ท่านหมายถึงกาลเวลาที่เหมาะสม คือเป็นกาลเวลาที่อำนวยให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี คือทิวทัศน์ดีอากาศดี อุณหภูมิดี และอะไรอื่นที่เนื่องกันทุกอย่างดี ซึ่งเราอาจรวมเรียกได้ว่าดินฟ้าอากาศดีนั่นเอง. เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีทางเลือกเป็น ๒ สถาน คือถ้าเป็นการปฏิบัติธรรมชั่วระยะ หรือเป็นการกำหนดจะต้องลงมือริเริ่ม จะตั้งต้นลงมือแรกเริ่มก็ดี ท่านให้เลือกฤดูที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะเลือกได้ และเป็นโอกาสที่จะเลือกเวลาหรือสถานที่ได้ตรงตามความมุ่งหมายยิ่งขึ้น. ถ้าเป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดกาลแล้ว ก็มีทางเลือกได้น้อยลงแต่ก็ยังมีทางที่จะเลือกได้ว่า จะทำกัมมัฏฐานข้อไหน ตอนไหน หรือระยะไหนให้เคร่งครัดเป็นพิเศษในเวลาไหน ในฤดูไหนอยู่นั่นเอง; รวมทั้งอาจจะโยกย้ายสถานที่หรือประเทศ ให้ได้รับดินฟ้าอากาศ ที่รวมเรียกกันว่า ฤดู ในที่นี้ตรงตามความประสงค์ด้วย เช่นฤดูร้อนจะควรอยู่ที่ไหน ฤดูหนาวจะควรอยู่ที่ไหน ฤดูฝนจะควรอยู่ที่ไหน หรือว่าถ้าเคลื่อนย้ายไม่ได้ เราจะดัดแปลงสถานที่นั้นอย่างไรเพื่อให้ได้รับผลอย่างเดียวกัน. ทั้งหมดนี้ล้วนแต่รวมเรียกว่า อุตุสัปปายะ.
๗. อิริยาปถสัปปายะ คือ ท่านั่ง นอน ยืน เดิน ในลักษณะใดเป็นที่สบายแก่ผู้ใด ควรใช้อิริยาบถไหนให้มากสำหรับเขา. ถึงรู้ได้ด้วยการทดลองสังเกตดูด้วยตนเอง โดยถือหลักว่า ในอิริยาบถใด จิตเป็นสมาธิได้ง่าย และตั้งมั่นอยู่ได้นานแล้ว ให้ถือว่า นั่นเป็นอิริยาปถสัปปายะแก่ผู้นั้น, เพื่อทำให้มากเป็นพิเศษ แล้วจึงทำให้เป็นที่ทำได้ทั่วไป แก่อิริยาบถที่เหลือต่อภายหลัง.
สรุปความว่า สัปปายะ ๗ ประการนี้ หมายถึงความเหมาะสม ของสิ่งที่สัมพันธ์กับตน อย่างใกล้ชิด หรือไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ คือที่อยู่ ที่เที่ยว เสียงที่ได้ยิน คนเกี่ยวข้องด้วย ปัจจัยที่เลี้ยงชีวิต และดินฟ้าอากาศที่ห่มหุ้ม ถ้าเลือกให้เหมาะสมที่สุดเพียงไร ผู้นั้นจะมีจิตใจแช่มชื่นผ่องใส ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในการบำเพ็ญสมณธรรมของตนท่านจึงจัดไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องศึกษา และระมัดระวังเท่าที่จะทำได้.
(ฆ) การเตรียมตัวทั้งทางหลักวิชา และทางปฏิบัติ
การเตรียมตัวเพื่อการเจริญภาวนา หรือการปฏิบัติกัมมัฏฐาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีข้อควรสังเกตอยู่ ๒ ประเภท : ประการแรกคือ หลักวิชา หรือแนวทาง ทางฝ่ายทฤษฎี ที่มีอยู่อย่างเพียงพอที่ทำให้สามารถดำเนินการฝ่ายปฏิบัติให้ตรงจุด ซึ่งจะต้องมีการตระเตรียมด้วยการศึกษามาแล้ว แล้วนำมาวินิจฉัยว่าตนจะต้องตระเตรียมในทางปฏิบัติอย่างไรและเท่าไร : ส่วนอีกประเภทหนึ่ง ก็คือการตระเตรียมในทางปฏิบัติโดยตรง.
การเตรียมทางหลักวิชา
เกี่ยวกับหลักทั่วๆ ไป ทางฝ่ายทฤษฎี ที่ต้องทราบเป็นการล่วงหน้านั้นท่านให้หัวข้อไว้ ดังต่อไปนี้ :
๑. สมาธิคืออะไร ? คำตอบข้อนี้มีได้ต่างๆ กัน อาจจะมุ่งหมายถึงการทำ กิริยาที่ทำ หรือสิ่งที่ถูกทำ และผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ ล้วนแต่เรียกว่า สมาธิ ไปหมด. ส่วนความมุ่งหมายอันแท้จริง ท่านให้คำจำกัดความไว้ว่าสมาธิคือ กุศลจิตที่มีอารมณ์แน่วแน่ ดังนี้ นี่เป็นการแสดงว่า ท่านเพ่งเล็งถึงผลที่เกิดขึ้น โดยตรง. ส่วน การทำ ก็พลอยมีความหมายไปตามนั้น กล่าวคือการทำให้เกิดมีกุศลจิต ที่มีอารมณ์แน่วแน่นั่นเอง. ข้อควรสังเกตอย่างยิ่งอยู่ตรงคำที่ว่ากุศลจิต มิได้อยู่ตรงคำที่ว่าแน่วแน่แต่อย่างเดียว เพราะเป็นอกุศลจิต แม้มีอารมณ์แน่วแน่ก็กลายเป็นมิจฉาสมาธิไป. ด้วยเหตุนี้แหละสิ่งที่จะใช้เป็นอารมณ์ของสมาธินั้น ต้องเป็นอารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกุศลจิตเสมอไป ทั้งเจตนาในการที่จะทำสมาธิ ก็ต้องเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์มาแต่เดิม หรือประกอบด้วยปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น.
๒. ได้ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีอรรถ (ความหมาย) ว่าอย่างไร ? อธิบายว่า อรรถว่าตั้งมั่น ทั้งส่วนจิตและเจตสิก. จิตตั้งมั่นเพราะมีเจตสิกธรรมซึ่งเป็นความตั้งมั่นเกิดอยู่กับจิต ซึ่งกำลังเป็นกุศลจิต โดยนัยที่กล่าวแล้วในข้อหนึ่ง. คำว่า ตั้งมั่น หมายความว่า ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันอารมณ์อื่นแทรกแซงเข้ามาไม่ได้ อันนิวรณ์หรือกิเลสครอบงำไม่ได้.
๓. อะไรเป็นลักษณะ รส เครื่องปรากฏ และปทัฏฐานของสมาธิ ? ตอบว่า ลักษณะของสมาธิ คือความไม่ฟุ้งซ่าน. รสของสมาธิ คือ การกำจัดความฟุ้งซ่าน แล้วมีความรู้สึกสงบ. เครื่องปรากฏ หรือเครื่องสังเกตของสมาธิคือความไม่หวั่นไหว และปทัฏฐานของสมาธิ คือ ความสุข. เกี่ยวกับปทัฏฐานนี้มีข้อที่ควรระลึกไว้เสมอว่า ต้องมีความพอใจ สบายใจ อาจหาญ ร่าเริงหรือปีติปราโมทย์ ซึ่งเป็นลักษณะอาการของความสุขอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่สังเกตได้ไม่ยาก และจะต้องควบคุมให้คงมีอยู่ตลอดเวลา จึงจะได้ชื่อว่า เป็นปทัฏฐาน.
๔. สมาธินี้มีกี่อย่าง ? ข้อนี้เป็นทางทฤษฎีล้วน และเลยไปเป็นเรื่องของการบัญญัติทางภาษา หรือทางตรรก ซึ่งไม่ต้องสนใจก็ได้ เพราะมีมากมายเกินไป ทราบแต่หลักเกณฑ์ย่อๆ ไว้บ้างก็พอ คือจะตอบว่า สมาธิอย่างเดียวก็ได้หมายถึงอาการที่จิตตั้งมั่น. จะตอบว่ามีสองอย่างก็ได้ โดยแบ่งเป็นโลกิยสมาธิและโลกุตตรสมาธิ. หรือแบ่งเป็นสมาธิเฉียดๆ หรือสมาธิพื้นฐานที่เรียกว่าอุปจารสมาธิ; และสมาธิแน่วแน่ ที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ดังนี้ก็ได้; และมีทางจำแนกโดยชื่ออื่นๆ อีกเป็นคู่ๆ ไป. ที่จำแนกเป็นสามอย่างนั้น ก็คือสมาธิอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เป็นต้น. ที่จำแยกเป็นสี่ ก็จำแนกตามที่สัมปยุตกับอิทธิบาทสี่ เป็นต้น. ที่จำแนกเป็นห้า ก็จำแนกตามองค์แห่งฌานดังนี้เป็นต้น; ซึ่งเกี่ยวกับหลักวิชาอย่างเดียวกัน.
๕. อะไรเป็นเครื่องมัวหมองของสมาธิ ? ท่านระบุความที่จิตกลับตกลงสู่ กามและอกุศลธรรม เป็นเครื่องมัวหมองของสมาธิ. ข้อนี้เห็นได้ว่าหมายถึงจิตที่เป็นสมาธิแล้ว ในประเภทโลกิยสมาธิ ที่ยังกลับกำเริบได้ เกี่ยวกับการรักษาไม่ดี หรือมีเหตุการณ์อย่างอื่นมาแทรกแซง.
๖. อะไรเป็นความผ่องแผ้วของสมาธิ ? คำตอบก็คือ อาการที่ตรงกันข้ามจากอาการในข้อห้า หมายถึงจิตที่ไม่มีวิตกอย่างอื่น กำลังรุ่งเรืองอยู่เสมอ เพราะ สหรคตะ อยู่ด้วยเจตสิกธรรมประเภทปัญญา.
๗. เจริญสมาธิอย่างไร ? ข้อนี้เป็นทางปฏิบัติล้วนๆ จะยกไว้กล่าวโดยละเอียด ในตอนอันกล่าวด้วยการตระเตรียมประเภทที่สองข้างหน้า รวมความสั้นๆ ก็ได้เป็นหัวข้อว่า การเจริญโลกิยสมาธิเช่นนี้ การเตรียมก็คือชำระศีลให้บริสุทธิ์ ตัดปลิโพธต่างๆ ดังที่กล่าวแล้วในเรื่องอันว่าด้วยปลิโพธ, ติดต่อกับอาจารย์ให้ถูกวิธี, ศึกษาและรับเอากัมมัฏฐาน, ไปอยู่ในสถานที่อันสมควรแก่การเจริญกัมมัฏฐาน. ตัดปลิโพธหยุมหยิมแล้วทำการเจริญกัมมัฏฐานตามวิธีที่จะได้แยกไว้กล่าวข้างหน้าเป็นอีกแผนกหนึ่งต่างหาก.
๘. อะไรเป็นอานิสงส์ของสมาธิ ? การทราบอานิสงส์หรือผลที่จะได้จากสิ่งที่ตนทำ เป็นการล่วงหน้านั้น นอกจากเป็นเครื่องสนับสนุนกำลังใจอย่างแรงกล้าแล้ว ยังเป็นหลักเกณฑ์ที่จะช่วยให้มีการจัดเตรียม อย่างถูกต้องตรงตามที่ตนต้องการจริงๆ อีกด้วย. เนื่องจากมีสมาธิหลายอย่างหลายประเภท อานิสงส์จึงมีหลายอย่างหลายประเภทไปตาม ท่านแสดงอานิสงส์ของสมาธิไว้เป็นห้าอย่างด้วยกัน คือ
๑. ทิฏฐธรรมสุข คือสุขทันตาเห็น ของบุคคลที่กำลังอยู่ในสมาธิ แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งนั้น คือของพระอรหันต์ที่กำลังเข้าอยู่ในสมาธิเพื่อการพักผ่อน
๒. มีวิปัสสนาเป็นอานิสงส์ หมายถึงสมาธินั้นๆ เป็นบาทฐานให้เกิดวิปัสสนาต่อไป คือการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนถึงขนาดที่จิตหลุดพ้นและปล่อยวาง
๓. มีอภิญญาเป็นอานิสงส์ ข้อนี้แตกต่างไปจากข้อที่สอง โดยใจความสำคัญก็คือว่า แม้จะได้วิปัสสนา ก็มิได้หมายความว่าจะต้องมีอภิญญาเสมอไป จะต้องมีการทำสมาธิให้ยิ่งไปกว่านั้น หรือพิเศษออกไปจากนั้น จึงจะทำอภิญญาให้เกิดได้ การตระเตรียมจึงมากกว่ากัน. อภิญญาในที่นี้หมายถึงอิทธิวิธีมีประการต่างๆ ที่เป็นฝ่ายกุศล
๔. มีภพอันวิเศษเป็นอานิสงส์ ข้อนี้เล็งถึงพรหมโลกเป็นส่วนใหญ่ ภพที่ต่ำกว่านั้นไม่เรียกว่าภพอันวิเศษ. สมาธิทั้งปวงย่อมเป็นปัจจัยนำไปสู่ภพที่สูงกว่ากามภพด้วยกันทั้งนั้น ท่านจึงได้กล่าวอย่างนี้. อย่างไรก็ตาม คำกล่าวข้อนี้ แสดงร่องรอยให้เห็นว่า เป็นการกล่าวที่กว้างออกไปนอกวงของพุทธศาสนา ซึ่งต้องการจะออกจากภพ หรือกำจัดภพเสียโดยสิ้นเชิง จึงเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าได้รวมเอาเรื่องของสมาธิก่อนพุทธศาสนา หรือนอกพุทธศาสนาเข้ามารวมด้วยกัน. นี่เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจไว้ให้ถูกต้อง เพราะเป็นทางเกิดแห่งตัณหา อุปาทานได้ โดยไม่รู้สึกตัวยิ่งไปกว่าอานิสงส์ข้อที่สาม
๕. มีนิโรธสมาบัติเป็นอานิสงส์ นิโรธสมาบัติ ได้รับการยกย่องว่าเป็นสมาบัติสูงสุดในบรรดาอุตริมนุษยธรรมที่แสดงออกให้ผู้อื่นทราบได้ ในฐานะเป็นอาการของการเสวยวิมุตติสุขที่ตนได้รับ และเป็นคุณสมบัติที่จัดไว้เฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์บางประเภทเท่านั้น ไม่อยู่ในฐานะเป็นวัตถุที่ประสงค์ทั่วไปเพราะเป็นสิ่งที่ไม่สาธารณะแก่คนทั่วไปแม้ที่เป็นพระอริยเจ้า ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยกันในที่นี้:
อานิสงส์ทั้งห้าอย่างนี้ เป็นการบัญญัติของอาจารย์ชั้นหลังก็จริง แต่เป็นทางพิจารณาให้เห็นลู่ทางแห่งการเตรียมตัว เพื่อทำสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความประสงค์ของตน ได้ง่ายขึ้น.
เรื่องที่ต้องเตรียมรู้ในฝ่ายทฤษฎี มีอยู่โดยย่อเพียงเท่านี้ ต่อไปนี้เป็นเรื่องการเตรียมประเภทที่เป็นตัวการปฏิบัติ.
การเตรียมทางปฏิบัติ.
การตระเตรียมฝ่ายปฏิบัติ สำหรับโลกิยสมาธิ กล่าวคือ สมาธิของบุคคลที่มิใช่พระอริยเจ้า และหมายตลอดลงมาถึงการริเริ่มในระยะแรกของการทำสมาธินั้น มีหัวข้อที่ท่านนิยมวางไว้เป็นหลักดังต่อไปนี้ คือ :-
๑. การชำระศีลให้บริสุทธิ์ หมายถึงการทำตนให้เป็นผู้ที่ไม่มีอะไรเป็นเครื่องตะขิดตะขวงใจ หรือรังเกียจตัวเอง ในเรื่องอันเกี่ยวกับศีลของตน. การวินิจฉัยในประเด็นนี้ได้กล่าวแล้วในตอนต้น อันกล่าวถึงบุพพภาคข้อที่ว่าด้วยการแสดงอาบัติ ไม่วินิจฉัยกันในที่นี้อีก.
๒. การตัดปลิโพธต่างๆ ข้อนี้ได้วินิจฉัยแล้วในตอนอันกล่าวถึงปลิโพธ สิบประการ ข้างต้น.
๓. การติดต่อกับกัลยาณมิตร หรืออาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐานนั้น ท่านพรรณนาไว้ยืดยาว แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะถิ่นเฉพาะยุค และอนุโลมตามวัฒนธรรมของประเทศที่แต่งคัมภีร์นั้น ในยุคสมัยนั้นๆ ฉะนั้นจึงไม่อาจจะนำมาใช้ได้โดยตรงตามตัวหนังสือที่กล่าวไว้ ขืนทำตามนั้น ก็รังแต่จะเกิดความงมงาย หรือเรื่องขบขันหลายอย่างหลายประเภท ดังที่ได้นำวินิจฉัยไว้บ้างแล้วข้างต้น. ในที่นี้จะสรุปไว้แต่ใจความว่าให้รู้จักกาละเทศะ ในการเข้าไปติดต่อกับอาจารย์ สร้างความเคารพนับถือ หรือความไว้วางใจให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงเสียก่อน แล้วแจ้งความจำนงต่างๆ ซึ่งท่านให้ใช้ความอดทน แม้เป็นเวลานานตั้งเดือนๆ เพื่อให้สิ่งต่างๆ เป็นไปในลักษณะที่สุขุมรอบคอบ ทั้งฝ่ายศิษย์และฝ่ายอาจารย์ ไม่มีอาการอย่างรวบหัวรวบหาง เหมือนดังที่ทำกันอยู่ในบัดนี้ สังเกตดูก็พอจะเข้าใจได้ เช่น กว่าอาจารย์จะรู้จักนิสัยของศิษย์ ก็กินเวลานานไม่น้อย และต้องการอยู่ปฏิบัติวัตรฐากที่อยู่ใกล้ชิดพอสมควรจึงรู้ได้ดังนี้ เป็นต้น. อีกทางหนึ่งซึ่งจะต้องตระเตรียมก็คือข้อที่ว่า ตนจะมีโอกาสติดต่อกับอาจารย์ได้มากน้อยเพียงไรต่อไป. ถ้าอยู่ปฏิบัติในสำนักของอาจารย์ก็ไม่มีปัญหาอะไรนัก สงสัยเมื่อไรก็ถามได้; แต่ถ้าต้องอยู่ในถิ่นที่ไกลออกไป ก็ต้องมีการเตรียม ว่าจะรับคำ สั่งสอนข้อไหน เพียงไรเพื่อระยะเวลานานเท่าไร ซึ่งเป็นหน้าที่ฝ่ายอาจารย์จะต้องกำหนดให้อย่างเหมาะสม ท่านแนะไว้อย่างละเอียด ตามลักษณะของการเป็นอยู่ในครั้งโบราณว่า บิณฑบาตแล้ว เลยมาสู่สำนักอาจารย์ สองวันครั้งหนึ่งบ้าง สามวันครั้งหนึ่งบ้าง หรือเจ็ดวันครั้งหนึ่งบ้าง. ในตอนกลับ ออกบิณฑบาตจากสำนักอาจารย์ ฉันแล้วจึงเลยไปสำนักของตน ดังนี้ก็ยังมี ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมแก่ความเป็นอยู่ของสมัยโบราณโดยตรง แต่ก็ควรนำมาพิจารณา หรือดัดแปลงแก้ไข นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในสมัยนี้ ให้มากเท่าที่จะมากได้. การเตรียมก็ได้แก่การตระเตรียมให้เข้ารูปกันกับการเป็นอยู่นั้นๆ นั่นเอง. ในกรณีที่ต้องออกไปอยู่ในที่ไกลออกไปจนถึงกับเรียกว่า อยู่ต่างเมือง ต่างจังหวัดกันนั้น ท่านก็ได้แนะนำให้มีการตระเตรียมรับกัมมัฏฐานในครั้งแรก และการติดต่อในครั้งหลัง โดยวิธีที่เหมาะสม เฉพาะเรื่องยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องนำหลักเกณฑ์เหล่านั้นมาดัดแปลงให้เหมาะสมแก่เรื่องชนิดที่เป็นเรื่องพิเศษเหล่านี้ให้ได้จริงๆ. ถ้าจัดไม่เหมาะสมแล้ว จักต้องเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นแทรกแซง อย่างที่จะขจัดปัดเป่าไม่ไหวเอาทีเดียว. เราควรพิจารณาดู ถึงข้อที่ท่านแนะไว้ในบางกรณีที่อาจารย์กับศิษย์จะพูดจากัน หรือซักถามกันนั้น ท่านแนะให้นั่งคนละฝ่ายโคนไม้ หันหลังเข้าหากัน ; หลับตาพูดกันด้วยความระมัดระวังให้ถูกต้องรัดกุมตรงไปตรงมา เท่าที่จำเป็นจะต้องพูด ; เสร็จแล้วต่างคนต่างลุกไปจากที่ของตนไม่ต้องดูหน้ากันเลย ทั้งนี้ก็เพราะประสงค์จะตัดทางมาแห่งความฟุ้งซ่านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเอง. เมื่อเราได้ทราบถึงความมุ่งหมายต่างๆ เหล่านี้แล้ว เราก็สามารถที่จะเตรียมสิ่งต่างๆ ในการติดต่อกับอาจารย์ทุกๆ ระยะ ได้อย่างเหมาะสม นับตั้งแต่การมาติดต่อ, สร้างความคุ้นเคย, รับคำสั่งสอนแนะนำ นำไปปฏิบัติ ; แล้วยังต้องติดต่อเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องและการทำให้ก้าวหน้าสืบไปตามลำดับไม่มีที่สิ้นสุด ดังนี้.
๔. การศึกษากัมมัฏฐาน ท่านแนะนำให้ทำ ๒ แผนก กัมมัฏฐานประเภทหนึ่ง เรียกว่ากัมมัฏฐานทั่วไป หรือตายตัวคงที่ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงและกัมมัฏฐานอีกประเภทหนึ่งคือ กัมมัฏฐานเฉพาะ ได้แก่กัมมัฏฐานที่มุ่งหมายจะทำให้ได้โดยเร็วที่สุดในฐานะเป็นวัตถุที่ประสงค์. กัมมัฏฐานอย่างแรกที่เรียกว่าทั่วไปนั้น ท่านหมายถึงกัมมัฏฐานที่ต้องทำทุกวัน ให้เหมาะแก่นิสัยของผู้ปฏิบัติ เช่นเป็นคนขลาดก็ต้องเจริญกัมมัฏฐานเมตตาทุกวันเป็นต้น หรือเป็นคนราคจริตจะต้องเจริญอสุภกัมมัฏฐาน เป็นต้น เป็นประจำทุกวัน หรือคนมีนิสัยประมาทเฉื่อยชา จะต้องเจริญมรณสติเป็นประจำทุกวัน ก่อนแต่ที่จะลงมือเจริญกัมมัฏฐานตัวจริงที่จะต้องทำให้ก้าวหน้าไปทุกวันๆ แล้วแต่ว่าตนกำลังปฏิบัติกัมมัฏฐานข้อใดอยู่. การเจริญเมตตาก็ดี อสุภกัมมัฏฐานก็ดี มรณสติก็ดี ต้องได้รับการแนะนำเป็นพิเศษต่างหาก ตามที่อาจารย์จะเห็นสมควร ว่าบุคคลนั้นควรจะมีกัมมัฏฐานอะไรเป็นกัมมัฏฐานเพื่อตัว หรือคุ้มครองตัว หรือตักเตือนตัวเป็นประจำวัน ต่างหากไปจากกัมมัฏฐานหลัก หรือกัมมัฏฐานที่เป็นตัวความมุ่งหมายจริงๆ ทุกคนต้องได้รับกัมมัฏฐานเป็น ๒ แผนกอย่างนี้ ตามที่เหมาะสมด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบของอาจารย์ดังที่กล่าวแล้ว.
๕. การอยู่ในวิหารที่สมควร ได้กล่าวแล้วอย่างละเอียดข้างต้น ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยกันอีก.
๖. การตัดปลิโพธหยุมหยิม หมายถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่จะต้องทำให้เสร็จสิ้นไปเสียก่อนจะลงมือทำกัมมัฏฐาน เพื่อไม่เป็นเรื่องกังวลในขณะที่ทำกัมมัฏฐานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งเหล่านี้ได้แก่การปลงผม, โกนหนวด, ปุชุนซักย้อมจีวร, การรมบาตร, การถ่ายยา, และของเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เท่าที่จะทำให้เสร็จไป โดยสมควรแก่บุคคลนั้น ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลเป็นระยะเท่าที่จะกำหนดได้.
๗. การเจริญสมาธิภาวนาโดยตรง ข้อนี้ได้แก่การลงมือทำการเจริญสมาธิ ตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับไป จนกว่าจะถึงที่สุด มีรายละเอียดดังที่จะได้บรรยายต่อไปข้างหน้า.
ทั้งหมดนี้เป็นการตระเตรียมที่จะสัมพันธ์กันทั้งฝ่ายทฤษฎี และทางฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งจะต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้.
(จบตอนอันว่าด้วยบุพพกิจเบื้องต้น)
ทำไมจึงเจริญอานาปานสติ ?
ก่อนแต่ที่เราจะได้ทราบว่า เราจะเจริญอานาปานสติกันอย่างไรนั้นควรจะได้วินิจฉัยในปัญหาที่ว่า ทำไมเราจึงเลือกเอาอานาปานสติ มาเป็นกัมมัฏฐานหลัก ในที่นี้กันเสียก่อน ซึ่งเมื่อทราบแล้ว จะช่วยให้การเจริญอานาปานสติเป็นไปได้ง่ายขึ้น.พึงทราบว่า อานาปานสติ เป็นชื่อของกัมมัฏฐานอย่างหนึ่ง ในบรรดากัมมัฏฐาน ๔๐ อย่าง. กัมมัฏฐาน ๔๐ นั้น แบ่งเป็นหมวดๆ คือ
ก. การเจริญกสิณ ๑๐ อย่าง ได้แก่ปฐวีกสิณ (ดิน), อาโปกสิณ (น้ำ), เตโชกสิณ (ไฟ), วาโยกสิณ (ลม), นีลกสิณ (สีเขียว), ปีตกสิณ (สีเหลือง), โลหิตกสิณ (สีแดง), โอทาตกสิณ (สีขาว), อาโลกกสิณ (แสงสว่างจากดวงอาทิตย์) และปริจฉินนกสิณ (ช่องหรือรู) ; ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นกัมมัฏฐานที่หนักไปในทางฝ่ายรูป และมุ่งหมายที่จะฝึกฝนจิตไปในทางอิทธิวิธีมาแต่เดิม ;
ข. การเจริญอสุภ ๑๐ อย่าง คือ ศพแรกพอง, ศพขึ้นเขียว, ศพหนองไหล, ศพขาดเป็นท่อน, ศพถูกสัตว์กัดกัน, ศพหลุดออกเป็นส่วน, ศพแหลกละเอียด, ศพอาบไปด้วยเลือด, ศพเต็มไปด้วยหนอง และศพเหลือแต่กระดูก, ซึ่งมีความมุ่งหมายหนักไปในทางกำจัดกามฉันทะเป็นส่วนใหญ่ ;
ค. การเจริญอนุสสติ ๑๐ อย่าง คือ พุทธานุสสติ, ธัมมานุสสติ, สังฆานุสสติ, สีลานุสสติ, จาคานุสสติ, เทวตานุสสติ (ระลึกถึงธรรมที่ทำความเป็นเทวดา), มรณานุสสติ, กายคตาสติ, อานาปานสติ และ อุปสมานุสสติ (ระลึกถึงคุณพระนิพพาน), ควรจะสังเกตไว้ด้วยว่า อานาปานสติ ที่เรากำลังจะกล่าวถึงอยู่นี้ มีชื่อรวมอยู่ในหมวดนี้ ;
ง. การเจริญพรหมวิหาร ๔ อย่าง คือเมตตาพรหมวิหาร, กรุณาพรหมวิหาร, มุทิตาพรหมวิหาร, อุเบกขาพรหมวิหาร ;
จ. การเจริญอรูปฌาน ๔ อย่าง คือ อากาสานัญจายตนะ (กำหนดความไม่มีที่สิ้นสุดของอากาศเป็นอารมณ์), วิญญาณัญจายตนะ (กำหนดความไม่มีที่สิ้นสุดของวิญญาณธาตุเป็นอารมณ์), อากิญจัญญายตนะ (กำหนดความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์) และเนวสัญญานาสัญญายตนะ (กำหนดความมีสัญญาก็ไม่ใช่ และความไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่เป็นอารมณ์), ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นอรูปฌาน เป็นสมาธิ เพื่อสมาบัติชั้นสูงแต่ไม่เป็นไปเพื่อวิปัสสนา.
ส่วนอีก ๒ อย่างที่เหลือ คือ
ฉ. อาหาเรปฏิกูลสัญญา (กำหนดความเป็นปฏิกูลแห่งอาหาร) และ
ช. จตุธาตุววัฏฐานะ (การกำหนดพิจารณาโดยความเป็นธาตุสี่).
สองอย่างหลังนี้ เป็นการพิจารณาค่อนไปทางปัญญา. รวมทั้งหมดเป็น ๔๐ อย่างด้วยกัน,
การที่เลือกเอาเพียงอย่างหนึ่งจาก ๔๐ อย่างนั้น มีเหตุผลดังที่จะได้กล่าวต่อไปนี้ :-
ในบรรดาสมาธิภาวนา ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดด้วยกันถึง ๔ ประเภทนั้นอานาปานสติกัมมัฏฐาน สามารถเป็นสมาธิภาวนาได้ทั้ง ๓ ประเภท. สมาธิภาวนา ๔ ประเภทเหล่านั้น คือ :
๑. สมาธิภาวนาเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร การอยู่เป็นสุขทันตาเห็น.
๒. สมาธิภาวนาเป็นไปเพื่อญาณทัสสนะ (อันเป็นทิพย์ หมายถึงความมีหูทิพย์, ตาทิพย์, ฯลฯ),
๓. สมาธิภาวนาเป็นไปเพื่อความสมบูรณ์ของสติสัมปชัญญะ, และ
๔. สมาธิภาวนาเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะโดยตรง,
สำหรับอานาปานสติภาวนา หรือการเจริญอานาปานสตินั้น ย่อมเป็นไปในสมาธิภาวนาประเภทที่หนึ่ง ประเภทที่สาม ประเภทที่สี่ โดยสมบูรณ์ เว้นประเภทที่สองซึ่งไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์แต่ประการใด. อานาปานสติ ย่อมเป็นไปในสมาธิภาวนา ๓ ประเภท ดังที่ได้ระบุแล้วอย่างไรนั้น จะชี้ให้เห็นโดยละเอียดข้างหน้าหรืออาจเห็นได้แม้ด้วยตนเอง ในเมื่อได้ศึกษาหรือปฏิบัติเรื่องอานาปานสติจบไปแล้ว ส่วนกัมมัฏฐานอื่น ไม่สำเร็จประโยชน์กว้างขวางดังเช่นอานาปานสตินี้. ยิ่งกว่างนั้น, อานาปานสติ เป็นกัมมัฏฐานประเภทที่สงบ และประณีตทั้งโดยอารมณ์ และทั้งโดยการกำจัดกิเลส. กัมมัฏฐานอื่นโดยเฉพาะกายคตาสติ แม้เป็นของคู่เคียงกันกับอานาปานสติ ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่คือสงบและประณีตแต่โดยการกำจัดกิเลส แต่ไม่สงบและประณีตทางอารมณ์. ส่วนอานาปานสติสงบประณีตโดยทางอารมณ์ คือเป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐานที่เยือกเย็นสบาย ไม่น่าหวาดเสียว ไม่น่าขยะแขยง ไม่ลำบากแก่การทำ แล้วยังกำจัดกิเลสได้ถึงที่สุดด้วย. อานาปานสติเป็นเช่นนี้ ; ส่วนกายคตาสตินั้นมีอารมณ์น่าหวาดเสียว น่าขยะแขยงเป็นต้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คืออสุภกัมมัฏฐานแล้ว ย่อมมีความหมายเป็นอย่างนี้มากขึ้นถึงที่สุด. เนื่องจากอานาปานสติมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ จึงปรากฏว่าถูกแนะนำโดยพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง ว่าเหมาะแก่ทุกคน และทรงสรรเสริญว่าเป็นกัมมัฏฐานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรวมทั้งพระองค์ด้วย ได้เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว และยังคงใช้เป็น “วิหารธรรม” อยู่เป็นประจำอีกด้วย. ยิ่งไปกว่านั้นอีก, การเจริญอานาปานสติ เป็นการเจริญที่สามารถทำติดต่อกันไปได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนเรื่อง หรือไม่ต้องเปลี่ยนอารมณ์ตั้งแต่ต้นจนปลาย คือสามารถเจริญเพื่อให้เกิดสมาธิในระยะแรก และสมาธิที่เจือปัญญาในระยะกลาง และเกิดปัญญาอันสูงสุดที่ทำให้สิ้นอาสวะได้ในระยะสุดท้ายด้วยการเจริญอานาปานสตินั่นเอง จนตลอดสาย. ถ้าเป็นกัมมัฏฐานอื่นโดยเฉพาะเช่นกสิณ ก็จะไปตายด้านอยู่แค่เพียงสมาธิ แล้วก็ต้องเปลี่ยนเป็นเรื่องอื่น เพื่อเป็นขั้นวิปัสสนาต่อไป. ส่วนอานาปานสตินั้น เมื่อเจริญครบทั้ง ๔ จตุกกะ หรือทั้ง ๑๖ ระยะแล้ว ย่อมสมบูรณ์อยู่ในตัว ทั้งโดยสมาธิและโดยวิปัสสนา.
ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า อานาปานสติเพียงอย่างเดียว เป็นสมาธิภาวนาได้ถึง ๓ ประเภท ไม่มีกัมมัฏฐานข้อใดที่สะดวกเช่นนี้ สบายเช่นนี้และได้รับการยกย่องสรรเสริญมากเช่นนี้ ; เพราะเหตุนี้เอง เราจึงเลือกเอาอานาปานสติเป็นกัมมัฏฐานหลัก เพื่อการศึกษาและปฏิบัติโดยตลอด. ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ว่าเจริญอานาปานสติทำไม.
ใครจะเป็นผู้เจริญอานาปานสติ ?
ต่อไปนี้จะได้วินิจฉัยกันเป็นพิเศษอีกหน่อยหนึ่ง ในปัญหาที่ว่า ใครจะเป็นผู้เจริญอานาปานสติ.
เกี่ยวกับคำตอบข้อนี้ เราจะได้พบว่าในสูตรนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงใช้คำว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้” ซึ่งความหมายว่า ได้แก่ บุคคลผู้ศึกษาในศาสนานี้ เห็นโลกเห็นทุกข์อย่างนี้แล้ว ต้องการจะดับทุกข์ตามวิธีนี้คือตามวิธีแห่งธรรมวินัยที่เราเรียกกันในบัดนี้ว่า “พุทธศาสนา” พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า สมณะที่หนึ่ง สมณะที่สอง สมณะที่สาม สมณะที่สี่ มีแต่ในธรรมวินัยนี้ เท่านั้น หมายความว่าผู้พ้นทุกข์ตามแบบแห่งธรรมวินัยนี้ ที่เราเรียกกันว่า พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์นั้น มีแต่ในธรรมวินัยที่มีการปฏิบัติอย่างนี้เท่านั้น. ธรรมวินัยอื่น หรือลัทธิอื่น ย่อมว่างจากสมณะเหล่านี้ ดังนี้เป็นต้น. ข้อนี้บ่งความว่า ผู้ที่มุ่งหมายจะดับทุกข์ตามแบบแห่งธรรมวินัยนี้นั่นแหละ คือผู้ที่จะเจริญอานาปานสติ ; เพราะฉะนั้น เขาจะต้องทำตนให้เป็นผู้เหมาะสม ทั้งในทางที่จะศึกษาและในทางที่จะปฏิบัติ ดังที่จะได้กล่าวสืบไป.
วิธีเจริญอานาปานสติ.
บัดนี้จักได้วินิจฉัยกันถึงข้อที่ว่า จะเจริญอานาปานสิตอย่างไร สืบไปตามลำดับ โดยหัวข้อดังต่อไปนี้ :
ที่มาของเรื่อง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีบาลีพระพุทธภาษิตเป็นหลักอยู่โดยตรง เรียกว่าอานาปานสติสูตร ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ตอนอุปริปัณณาสก์ (พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่ม ๑๔ หน้า ๑๙๐ ข้อ ๒๘๒) และมีที่กล่าวถึงอยู่ในที่อื่นอีกมากแห่งในพระไตรปิฎก ข้อความที่เป็นตัวใจความสำคัญนั้นมีอยู่ตรงกันหมดทุกแห่ง. ส่วนบทประกอบเรื่องเบ็ดเตล็ดนั้น ต่างกันบ้างตามกรณี. สำหรับส่วนที่เราจักได้ถือเอาเป็นหลักนั้น คือ ตัวสูตรซึ่งมีข้อความที่ทรงแสดงถึงวิธีการเจริญอานาปานสติโดยตรง จนกระทั่งถึงผลที่เกิดอานาปานสตินั้น เป็นที่สุด.
หัวข้อหรือใจความของเรื่อง.
พระพุทธภาษิตที่เป็นอุเทศแห่งเรื่องนี้ เริ่มขึ้นด้วยคำว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตามนั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น. ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติอยู่นั่นเทียว หายใจเข้า, มีสติอยู่ หายใจออก” ดังนี้. ตอนต่อจากนี้ได้ตรัสถึงวิธีกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างไร และ การพิจารณาสิ่งใดอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จนครบ ๑๖ ระยะ ; จัดเป็นหมวดๆ ได้ ๔ หมวด หมวดละ ๔ ระยะ ตอนต่อจากนั้น ก็ได้ตรัสถึงผลที่เกิดขึ้นว่า การทำเช่นนั้นได้ทำให้เกิดมีสติปัฏฐานทั้ง ๔ และโพชฌงค์ทั้ง ๗ ขึ้นมาโดยสมบูรณ์ได้อย่างไร แล้วเกิดวิชชาและวิมุตติซึ่งเป็นความดับทุกข์สิ้นเชิงได้อย่างไร ในที่สุด. เพื่อสะดวกในการทำความเข้าใจ และเพื่อเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นๆ โดยตรง จะได้ยกเอาพระพุทธภาษิตเหล่านั้นมาอธิบายทีละตอนตามลำดับ และในตอนหนึ่งๆ ก็จะอธิบายทีละข้อ หรือทีละคำ ตามที่เห็นว่าจำเป็น.
การทำความเข้าใจในเบื้องต้น
สำหรับตอนแรกนี้ เริ่มด้วยข้อพุทธภาษิตว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปแล้วสูป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ฯลฯ หายใจเข้า – ออก” ดังนี้ มีคำอธิบายเป็นลำดับข้อ ดังนี้ :
(ก) คำว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้” ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น ในข้อที่ว่าใครเป็นผู้เจริญอานาปานสติ. ในที่นี้ สรุปแล้วก็ได้แก่พระสาวกผู้ที่จะปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยเคร่งครัดนั่นเอง.
(ข) คำว่า “ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม” มีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่า ทำไมจึงต้องไปสู่ป่า ? และป่านั้นคืออะไร ? ที่แนะนำให้ไปสู่ป่า มีความหมายสำคัญอยู่ตรงที่ ต้องการให้พรากตัวเองจากสิ่งแวดล้อมที่เคยชินจนเป็นนิสัย.. อุปมาข้อหนึ่ง ท่านแนะนำให้สังเกตว่า เมื่อชาวนาเห็นว่าลูกวัวตัวนี้โตพอสมควรที่จะแยกไปฝึกได้แล้ว ก็ต้องแยกจากแม่ของมัน นำไปผูกไว้ที่ใดที่หนึ่ง จนกว่ามันจะลืมแม่ หรือลืมความเคยชินที่เคยติอยู่กับแม่เสียก่อน แล้วจึงฝึกหรือจัดการอย่างอื่นตามประสงค์. ลูกวัว เมื่อถูกผูกอยู่ในที่อื่น ห่างจากแม่ ก็ย่อมร้องและดิ้นรนต่างๆ นานา แต่นานเข้า ในที่สุดก็หยุดดิ้น เพราะดิ้นไม่ไหว และลงนอนอยู่ข้างเสาหลักนั่นเอง มีจิตใจเปลี่ยนเป็นวัวอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอาจจะรับการฝึกอย่างใดอย่างหนึ่งได้. ความติดหรือความเคยชินในโลกิยารมณ์ของคนเรานั่นแหละ คือแม่วัว ; จิตคือลูกวัว. หรือถ้ากล่าวโดยบุคลาธิษฐานอีกอย่างหนึ่ง ก็คือสถานที่ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ยั่วยวนนั่นแหละ คือแม่วัว, ภิกษุใหม่นั่นแหละ คือลูกวัว ; เพราะเหตุนี้จึงต้องมีการไปสู่ป่า ซึ่งเป็นการแยกลูกวัวจากแม่วัวนั่นเอง. อีกอุปมาหนึ่ง ก็คือพระศาสดาเป็นผู้ที่เปรียบได้กับบุคคลผู้ฉลาดในการดูพื้นที่ หรือเป็นหมอดูพื้นที่ให้แก่คนอื่น พระองค์ได้ทรงแนะพื้นที่ว่า ป่านั่นแหละ เป็นที่เหมาะสม สำหรับบุคคลผู้ที่จะบำเพ็ญความเพียรในทางจิตทุกชนิด. และยังตรัสไว้เป็นอุปมาอีกอย่างหนึ่งในที่อื่นว่า เป็นเสือต้องไปคอยซุ่มจับเนื้อในป่าซิ จึงจะมีเนื้อให้จับและจับได้ง่าย ดังนี้. เนื้อในที่นี้ หมายถึงมรรคผล และเสือก็คือภิกษุผู้มีตนอันส่งไปแล้วสู่ความเพียร ที่จะประกอบการงานทางจิตอย่างแท้จริงนั่นเอง. คำว่า ป่า ตามวินัย หมายถึงที่ที่อยู่ห่างไกลจากเขตบ้านชั่ว ๕๐๐ ธนู (ประมาณ ๑๐๐๐ เมตร) ขึ้นไป. แต่ คำว่า ป่า ตามทางธรรมะ หรือฝ่ายการปฏิบัติธรรมนั้น หมายความเป็นอย่างอื่นได้ตามกรณีที่สมควร ; แต่อย่างน้อยไม่ควรจะใกล้บ้านน้อยกว่า ๕๐๐ ชั่วธนูอยู่นั่นเอง. สิ่งที่เรียกว่า ป่า ในพระบาลีสูตรนี้ มีความหมายรวมๆ ถึงป่าโปร่งตามปรกติ หรือป่าละเมาะก็ได้ ซึ่งในป่านั้น จะมีโคนไม้หรือมีถ้า หรืออื่นๆ ก็ได้. พระอาจารย์ในชั้นหลังได้ให้ข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นฤดูร้อนควรไปสู่ป่า หรือที่โล่ง ถ้าเป็นฤดูหนาว ควรไปสู่โคนไม้หรือดงทึบ. ถ้าเป็นฤดูฝน ควรไปสู่สุญญาคารอย่างอื่น นอกจากป่าและโคนไม้ ซึ่งท่านได้ระบุไว้เป็นถ้ำ เป็นภูเขาที่มีเงื้อมกันฝนได้ ริมลำธารที่ตลิ่งกันฝนได้ และใต้ลอมฟาง ดังนี้เป็นต้น. ในบาลีบางแห่ง แสดงให้เห็นละเอียดไปอีกว่า ถ้าในฤดูร้อน กลางวันอยู่ในป่าสบายกลางคืนอยู่ในที่โล่งสบาย, แต่ถ้าเป็นฤดูหนาว กลางวันอยู่ที่โล่งสบาย กลางคืนอยู่ในป่าสบาย ดังนี้ก็มี. แต่เท่าที่ปรากฏอยู่ในพระพุทธภาษิตทั่วๆ ไปก็มีอยู่สั้นๆ เป็น ๓ อย่าง โดยมีเป็นบทบาลีว่า ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตามไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม ดังนี้. ชะรอยพระอาจารย์เหล่านั้นจะเห็นว่า เมื่อมีอยู่ ๓ อย่าง ก็เลยบัญญัติให้เป็นสำหรับ ๓ ฤดูเสียเลยก็เป็นได้ ผู้ปฏิบัติควรสังเกตความเหมาะสมเอาด้วยตนเอง ว่าควรจะเป็นสถานที่เช่นไร ขอแต่ให้ได้ความหมายอันแท้จริงของคำว่า ป่า คือเป็นที่สงัดจากการรบกวนของโลกิยารมณ์ ทำให้เกิดความวิเวกหรือความสงัดในทางกายก่อนก็เป็นการเพียงพอ.
(ค) คำว่า “นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ” มีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่าทำไมจะต้องใช้อิริยาบถนั่ง ? และนั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบนั้น คือนั่งอย่างไร ? อิริยาบถนั่ง เป็นอิริยาบถที่เหมาะสมที่สุด สำหรับการเจริญภาวนาคือทำให้สามารถคิดนึกอะไรได้อย่างแน่วแน่ โดยไม่ต้องห่วงว่าจะเซ หรือล้มอย่างในอิริยาบถยืน ; และไม่ก่อให้เกิดอาการอยากหลับ หรือความหลงใหลอย่างอื่นเหมือนอิริยาบถนอน ; จึงมีธรรมเนียมหรือประเพณีที่ใช้อิริยาบถนี้มาแล้วแต่โบราณกาล นานจนทราบไม่ได้ว่ามีตั้งแต่เมื่อไร. เหตุผลอย่างอื่นบางประการได้มีกล่าวไว้แล้วข้างต้น ในตอนอันว่าด้วยจริต. แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้นั้นจะต้องนั่งไปเสียงตลอดเวลา โดยไม่มีการเปลี่ยนไปสู่อิริยาบถอื่น หรือว่าในอิริยาบถอื่นไม่สามารถเจริญสมาธิได้ ก็หามิได้. คำว่า “คู้ขาเข้ามาโดยรอบ” หรือที่เรียกว่า บัลลังก์ นั้น มีความหมายอยู่ตรงที่จะได้ท่านั่งที่มั่นคงและสมดุล ทรงตัวอยู่ได้โดยง่ายและสะดวกสบายแก่ร่างกาย หรือแก่การไหลเวียนของเลือดลมในร่างกายตามสมควร. ถ้าอยากจะเข้าใจว่าการนั่งเช่นนี้ คือการนั่งโดยท่าไร ก็มีทางทำได้โดยการหย่อนตัวนั่งลงแล้วเหยียดขาออกไปตรงๆ ข้างหน้า ทั้งสองข้าง แล้วงอเข่าซ้ายเข้ามาจนฝ่าเท้าอยู่ใต้ขาขวา แล้วยกเท้าขวาขึ้นทับเข่าซ้าย มือวางซ้อนกันไว้บนตัก ; อย่างนี้เรียกว่า ปัทมาสนะ ซึ่งแปลว่า ท่านั่งอย่างดอกบัว. แต่ถ้าหากว่านั่งอย่างนั้นแล้วยังได้ยกเท้าซ้ายขึ้นมาขัดบนขาขวาอีกทีหนึ่ง ก็จะกลายเป็นท่านั่งที่มั่นคงยิ่งขึ้นไปอีก และเรียกว่า สิทธาสนะ แปล่า ท่านั่งของพวกสิทธา หรือท่านั่งที่จะให้สำเร็จประโยชน์จริงๆ ถึงที่สุด ซึ่งเรียกกันในเมืองไทยว่า นั่งขัดสมาธิเพชรนั่นเอง. คำว่า “บัลลังก์” หมายถึงการนั่งด้วยการคู้ขาอย่างนี้. ผู้นั่งจะต้องหัดนั่งด้วยความลำบากมากหรือน้อย ย่อมแล้วแต่กรณีที่ตนเกิดมาภายใต้สิ่งแวดล้อมเช่นวัฒนธรรมเป็นต้น. แต่อย่างไรก็ตาม ควรจะพยายามหัดนั่งให้ได้มากกว่าที่จะดัดแปลงแก้ไขระเบียบอันนี้ไปเป็นอย่างอื่น ซึ่งจะไม่ได้รับผลเท่ากัน เว้นไว้เสียแต่ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เช่น คนเจ็บ หรือคนขาพิการ เป็นต้นเท่านั้น. สำหรับคนธรรมดาแล้ว แม้จะต้องหัดอยู่เป็นเวลานาน ก็ควรพยายามเป็นอย่างยิ่ง. ท่านั่งชนิดนี้ ชาวจีนเรียกว่า “ท่านั่งของชาวอินเดีย” เพราะชาวจีนก็นั่งเก้าอี้หรือนั่งอย่างอื่น. แต่ถึงกระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นที่ต้องทำสมาธิ ก็ยังถูกสั่งให้นั่งด้วยท่านั่งของชาวอินเดียอยู่นั่นเอง ปรากฏอยู่ในวรรณคดีทางพุทธศาสนาของจีนอยู่เป็นหลักฐาน ตั้งพันกว่าปีมาแล้ว ; เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะมีใครไปเปลี่ยนแปลงท่านั่งของการทำสมาธิให้เป็นอย่างอื่น เพราะได้พิสูจน์แล้วว่ามิใช่เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยเลย.
(ง) คำว่า “ตั้งกายตรง” หมายความว่า ให้นั่งตัวตรงนั่นเอง. คำว่าตรง ในที่นี้ หมายถึงกระดูสันหลังตั้งตรงราวกะว่าเอาแกนเหล็กตรงๆ เข้าไปสอดไว้ในกระดูกสันหลัง. ทั้งนี้เพราะท่านต้องการจะให้ข้อกระดูกสันหลังทุกๆ ข้อจดกันสนิทเต็มหน้าตัดของมัน ด้วยความมุ่งหมายว่าการทำอย่างนี้ จะมีผลคือโลหิตและลมหายใจ เป็นไปอย่างถูกต้องตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงประสงค์มากที่สุดในกรณีนี้. อีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกขเวทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเลือดลมในกายเดินไม่สะดวกนั้น จะเกิดขึ้นได้โดยยากหรือมีแต่น้อยที่สุด นี้เป็น ความมุ่งหมายทางรูปธรรม ในทางนามธรรม มุ่งหมายถึงการทำจิตให้ตรงแน่ว ไม่เอียงซ้ายหรือเอียงขวา หรือเอียงหน้าเอียงหลัง ด้วยความน้อมไปสู่กามสุขัลลิกานุโยคหรืออัตตกิลมถานุโยคเป็นต้น. พึงทราบว่าผู้ที่ทำได้ดี จะมีตัวตรงอยู่ได้ตลอดเวลาทั้งในขณะลืมตาและหลับตา หรือแม้แต่เมื่อจิตเข้าสู่สมาธิ ไร้สำนึกในการควบคุมแล้วก็ตาม.
(จ) คำว่า “ดำรงสติมั่น” ที่เรียกว่า “ปริมุข” นั้น หมายถึงสติที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จะกำหนด ซึ่งในที่นี้ได้แก่ลมหายใจโดยตรง. ท่านจำกัดความไว้ว่า ทำจิตให้เป็นเอกัคคตาต่อลมหายใจ คือมีลมหายใจอย่างเดียว ที่จิตกำลังรู้สึกอยู่ หรือกำหนดอยู่. คำว่า สติ ในที่นี้ เป็นเพียงการกำหนดล้วนๆ ยังไม่เกี่ยวกับความรู้ หรือการพิจารณาแต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงขึ้นที่เพิ่งเริ่มกำหนดเท่านั้น. โดยพฤตินัย ก็คือ นั่งตัวตรงแล้วก็เริ่มระดมความสังเกตหรือความรู้สึกทั้งหมด ตรงไปยังลมหายใจ ที่ตนกำลังหายใจอยู่นั่นเอง ผู้กระทำไม่จำเป็นต้องหลับตาเสมอไป กล่าวคือสามารถทำได้ทั้งลืมตา โดยทำให้ตาของตนจ้องจับอยู่ที่ปลายจมูกของตน จนกระทั่งไม่เห็นสิ่งอื่นใด. อาศัยกำลังใจที่เข้มแข็งแล้วย่อมจะทำได้โดยไม่ยาก. ตาลืมอยู่ และมองอยู่ที่ปลายจมูกก็จริง แต่จิตไม่ได้มามองด้วย คงมุ่งอยู่ที่การจะกำหนดลม หรือติดตามลมแต่อย่างเดียว. การทำอย่างลืมตา ยากกว่าการหลับตา, ต้องใช้ความพยายามมากในเบื้องต้น แต่แล้วก็ได้ผลคุ้มกัน คือง่วงยาก และมีกำลังจิตเข้มแข็งกว่า ในตอนหลัง ; หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นผู้ที่สามารถดำรงสติได้มั่นคงกว่านั่นเอง. พวกที่ตั้งใจจะทำอย่างเข้มแข็ง ถึงขนาดเป็นโยคีทีสมบูรณ์แบบ ย่อมได้รับการแนะนำให้เริ่มฝึกอย่างลืมตาทั้งนั้น.
(ฉ) คำว่า “ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติอยู่นั่นเทียว” มีสิ่งที่ต้องวินิจฉัยตรงคำว่า “มีสติ” ถ้าถามว่ามีสติในอะไรขึ้นมาก่อน ก็ต้องตอบว่ามีสติไปตั้งแต่การหายใจ คือมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก. เมื่อการหายใจเข้าและออกถูกกำหนดอยู่เพียงใด ภิกษุนั้นก็ได้ชื่อว่า สโตการี คือผู้ทำสติอยู่เพียงนั้น. ฉะนั้น จะพูดกลับกันว่า “มีสติหายใจ” หรือ “หายใจมีสติ” ก็ย่อมมีความหายเท่ากัน. ลมหายใจเข้าเรียกว่า อาปานะ, ลมหายใจออกเรียกว่าอานะ รวม ๒ คำเข้าด้วยกัน โดยวิธีสนธิตัวหนังสือ หรือสนธิทางเสียงก็ตามย่อมได้เป็นคำเดียวว่า “อานาปานะ” ; แปลว่า ลมหายใจเข้าและออก. สติที่กำหนดลมทั้งเข้าและออก นั้น ชื่อว่า อานาปานสติ. ผู้กระทำสติเช่นนี้ชื่อว่า สโตการี ในที่นี้
https://sites.google.com/site/smartdhamma/part4_anapanasati_buddhadhas