โปรดเกล้าฯไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 30 วัน ถวายอาลัย “สมเด็จพระสังฆราช” 25ต.ค.ถึง23 พ.ย. วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 09:00:16 น.

โปรดเกล้าฯไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 30 วัน ถวายอาลัย “สมเด็จพระสังฆราช” 25ต.ค.ถึง23 พ.ย.
วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 09:00:16 น.

แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เรื่อง
พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ฉบับที่ ๙
************************

วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา ๑๙.๓๐ นาฬิกาของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖

*******************************************************

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม สำนักพระราชวัง ได้ออกประกาศไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก ความว่า

เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค.56 เวลา 19.30 น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก จาก 15 วัน เป็น 30 วัน นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ต.ค.56 ถึง วันเสาร์ที่ 23 พ.ย.56 และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระตำหนักเพชร วัดบวรฯ และถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณีทุกประการ

สำนักพระราชวัง

+++++++

ก่อนหน้านี้ เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์ เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬากรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2556 เวลา 19 นาฬิกา 30 นาที

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 15 วัน นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 ถึงวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2556 และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร และถวายพระเกียรติยศ ตามราชประเพณีทุกประการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่องพระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยฉบับที่ ๙ ความว่า วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา ๑๙.๓๐ นาฬิกาของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

+++++++++++++++++++++

ทางด้านนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กำหนดการในวันพรุ่งนี้( 25 ตุลาคม) อยู่ระหว่างรอทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยคาดว่าจะมีการเคลื่อนพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กลับวัดบวรนิเวศวิหาร ในเวลา 12.00 น. และอัญเชิญพระศพประดิษฐานยังตำหนักเพ็ชร ในวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งคาดว่าจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพ ในเวลา 13.00 น. โดยรัฐบาลจะออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งชุดไว้ทุกข์ ถวายความอาลัยเป็นเวลา 15 วัน ส่วนสถานที่ราชการลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน

ส่วนประชาชนที่ต้องการไปร่วมพิธีถวายน้ำสรงพระศพต่อหน้าพระรูป สามารถไปได้ยังอาคารมนุษยนาควิทยาทาน ภายในวัดบวรฯ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป

ด้านนายสมพงษ์ แก้วเจริญไพศาล ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศิษย์ของพระเทพสารเวที ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่าเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนิกชนชาวไทย และแม้ว่าพระองค์ท่านจะจากไป แต่คุณงามความดีและคำสอนของพระองค์ท่านจะยังคงอยู่สืบไป และขอให้นำคุณงามความดีของพระองค์ท่านเป็นแบบอย่าง ซึ่งในวันที่ 25 ต.ค. เวลา 08.00 น.จะมีการเปิดให้สักการะที่โรงพยาบาล ก่อนจะมีพิธีเคลื่นพระศพในเวลา12.00น.

สำหรับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) (3 ตุลาคม พ.ศ. 2456—ปัจจุบัน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปัจจุบันทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตและทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา100ปี

พระประวัติ

ขณะทรงพระเยาว์
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร ชาวกาญจนบุรี พระองค์มีน้องชาย 2 คน ได้แก่ นายจำเนียร คชวัตร และนายสมุทร คชวัตร บิดาของพระองค์ป่วยเป็นโรคเนื้องอกและเสียชีวิตไปตั้งแต่พระองค์ยังเล็ก หลังจากนั้น พระองค์ได้มาอยู่ในความดูแลของป้าเฮงซึ่งเป็นพี่สาวของนางกิมน้อยที่ได้ขอพระองค์มาเลี้ยงดู

เมื่อพระชันษาได้8ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2468 ในขณะที่มีพระชันษา 12 ปี หลังจากนั้น ทรงไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อและไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน ทรงเล่าว่า “เมื่อเยาว์วัยมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้าที่อยู่ ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย” จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยไปเรียนต่อที่อื่น

บรรพชาและอุปสมบท
เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ โดยมีอยู่คราวหนึ่งที่ทรงป่วยหนักจนญาติ ๆ ต่างพากันคิดว่าคงไม่รอดแล้วและได้บนไว้ว่า ถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน แต่เมื่อหายป่วยแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ได้บวช จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถม 5 แล้ว พระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนในปี พ.ศ. 2469 ขณะมีพระชันษาได้ 14 ปี ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆารามเป็นพระอุปัชฌาย์และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสสวัดศรีอุปลารามเป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล

ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม1พรรษาและได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี” จนกระทั่ง พระชันษาครบอุปสมบทจึงทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ. 2476 ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยและที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เอง พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม
พระองค์ทรงเริ่มเรียนพระปริยัติธรรมตามคำชักชวนของพระเทพมงคลรังษี(ดีพุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ ที่ตั้งใจจะให้พระองค์กลับมาสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามและจะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเตรียมไว้ให้โดยพระอุปัชฌาย์นำพระองค์ไปฝากไว้กับพระครูสังวรวินัย(อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสน่หา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2470 แล้วจึงเริ่มเรียนภาษาบาลีโดยมีพระเปรียญจากวัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นอาจารย์สอน หลังจากนั้น จึงเดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. 2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2473

พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างมากในการสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค แต่ผลปรากฏว่าทรงสอบตก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้และคิดว่า “คงจะหมดวาสนาในทางพระศาสนาเสียแล้ว” แต่เมื่อทรงคิดทบทวนและไตร่ตรองดูว่าทำไมจึงสอบตก ก็ทรงตระหนักได้ว่าเหตุแห่งการสอบตกนั้นเกิดจากความประมาทโดยแท้ กล่าวคือ ทรงทำข้อสอบโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบด้วยสำคัญผิดว่าตนรู้ดีแล้ว ทั้งยังมุ่งอ่านเฉพาะเนื้อหาที่เก็งว่าจะออกเป็นข้อสอบเท่านั้น ซึ่งพระองค์ทรงพบว่าเป็นวิธีการเรียนที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พระองค์สอบตก เมื่อพระองค์ทรงตระหนักได้ดังนี้แล้วจึงทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีเรียนแบบสม่ำเสมอและทั่วถึง พระองค์จึงสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค ในปี พ.ศ. 2475

หลังจากนั้น พระองค์ทรงกลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่โรงเรียนเทวานุกูล วัดเทวสังฆาราม เพื่อสนองพระคุณพระเทพมงคลรังษีเป็นเวลา 1 พรรษา แล้วจึงทรงกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป โดยทรงสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค โดยในระหว่างที่ทรงอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น พระองค์ก็ยังคงกลับไปช่วยสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามอยู่เสมอ พระองค์ยังทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง สอบได้เปรียญธรรม 9 ในปี พ.ศ. 2484

การปฏิบัติหน้าที่ด้านคณะสงฆ์
หลังจากที่พระองค์สอบได้เปรียญธรรม 9 แล้ว พระองค์ทรงเริ่มงานอันเกี่ยวเนื่องกับคณะสงฆ์อีกมากมาย ซึ่งนอกเหนือจากเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแล้ว พระองค์ยังเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาของภิกษุสามเณรทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีรวมทั้งทรงเป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่งในฐานะเป็นพระเปรียญ9 ประโยค ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2488 พระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการสภาการศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์และรักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกาในกาลต่อมา นอกจากนี้ ยังทรงเป็นเลขานุการในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์อีกด้วย

เมื่อมีพระชันษาได้ 34 ปี พระองค์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระโศภนคณาภรณ์ โดยพระองค์ได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุและเสด็จประทับณวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2499 ต่อมา ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ โดยราชทินนามทั้ง 2 ข้างต้นนั้นเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่พระองค์เป็นรูปแรก

ในปีพ.ศ.2504 พระองค์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาคและเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ในปีเดียวกันนี้เองพระองค์ได้รับการสถาปนาที่ พระสาสนโสภณ พระองค์เข้ารับตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และยังคงดำรงตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังได้ทรงนิพนธ์ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนาไว้มากมาย

สมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. 2515 พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานสถาปนาสมเด็จพระอริยวงษญาณสมเด็จพระสังฆราช(สุก ญาณสังวร) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2359 ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร จึงเป็นตำแหน่งพิเศษที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น

เมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช(วาสน์ วาสโน)สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2531 ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งราชทินนามดังกล่าวนับเป็นราชทินนามพิเศษ กล่าวคือ สมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์นั้น โดยปกติจะใช้ราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ บางพระองค์ ครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งครั้งมีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเพื่อเป็นพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์ นับเป็นสมเด็จพระญาณสังวรสังฆราชพระองค์แรกของประเทศไทย

ที่มา : urai1791

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1382622550&grpid=00&catid=&subcatid=

. . . . . . .