ประวัติสมเด็จโต ฉบับพระยาทิพโกษา(สอนโลหะนันท์)ตอน12 เป็นพระมหาโต

ประวัติสมเด็จโต ฉบับพระยาทิพโกษา(สอนโลหะนันท์)ตอน12 เป็นพระมหาโต

(ต่อไปนี้จะได้บรรยายประวัติในรูปภาพที่ฝาผนังโบสถ์ วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม ฝ่ายทักษิณแห่งพระอุโบสถวัดนั้น เป็นฉากที่ ๕ ต่อไป ในฉากที่ ๕ นั้น ท่านให้ช่างเขียนรูปพระสังฆราชมี เขียนรูปท่านเข้าไปไหว้ลา เขียนรูปวัดระฆัง เขียนรูปเรียนหนังสือ เขียนรูปพระบรมมหาราชวัง และรูปพระบวรราชวัง รูปฉันในบ้านตระกูลต่างๆ รูปพระสังฆราชนาค สันนิษฐานตามเค้าเหตุผล เรียงตามลำดับดังนี้)
ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันแรมสองค่ำ เดือนหก ศกนั้น ท่านพระยาพิษณุโลกให้ส่งสมเด็จพระวันรัตและพระภิกษุโตกับพระอาจารย์แก้วกลับกรุงเทพฯ ได้ขอทุเลากับสมเด็จพระวันรัตว่า “เกล้าฯ ขอทุเลาให้หายเหนื่อยสัก ๒ วัน และสั่งกิจการ ต่อวันแรม ๔ ค่ำ เดือนหก จึงจะไปหาพระคุณเจ้า” สมเด็จพระวันรัตว่า “ตามใจเจ้าคุณเถิด” ครั้นตกลงกันแล้ว พระยาพิษณุโลกก็ทำรายงานเรื่องอุปสมบทตราพระกระแสร์รับสั่ง มอบให้เสมียนตราด้วงน้อมเกล้าถวายแล้วส่งเจ้าเมืองทั้ง ๔ กลับพร้อมทั้งผู้คน สั่งยกกระบัตรและกรมการใหญ่น้อยให้ทำหน้าที่ แล้วจัดเรือแจว ๖ แจว มีฝีพาย เรือครัวไปส่งพระในกรุงเทพฯ ในวันแรม ๔ ค่ำ เดือนนั้น

ครั้นแรม ๔ ค่ำ ศกนั้น พระยาพิษณุโลกได้อาราธนาสมเด็จพระวันรัต พระอาจารย์แก้ว พระภิกษุโตบวชใหม่เข้าไปฉันในจวน เลี้ยงข้าหลวงเสมียนตรา ฝีพาย พราหมณ์ เสร็จแล้วก็ลงเรือล่องลงมาเป็น ๕ ลำด้วยกัน
วันแรม ๖ ค่ำ ศกนั้น ครั้นถึงวัดนิพพานาราม สมเด็จพระวันรัต พระอาจารย์แก้วได้พาพระภิกษุโต พระยาพิษณุโลก พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง เฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพร้อมกัน กราบเรียนให้ทราบพอสมควร สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจึงมอบให้เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระวันรัตเป็นอาจารย์สอนและบอกคัมภีร์พระปริยัติธรรมต่อไป ด้วยพระดำรัส “การสอนการบอกจงเป็นภาระของสมเด็จฯ ด้วยข้าพเจ้าชรามากแล้ว ลมก็กล้า อาหารก็น้อย จำวัดไม่ใคร่หลับ บอกหนังสือก็ออกจะพลาดๆ ผิดๆ” รับสั่งให้พระครูฐานาจัดกุฏิให้ภิกษุโตอาศัยต่อไปในคณะตำหนัก วัดนิพพานารามแต่วันนั้นมา
บรรดาสัปปุรุษ สีกา ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เลื่อมใสคุ้นเคยกับพระภิกษุโตแต่ครั้งเป็นสามเณร ครั้นทราบว่าอุปสมบทแล้ว ต่างก็พากันมาเยี่ยมเยียนปวารณาตัว ความอัตคัดขัดข้องไม่มีแก่ภิกษุโตเลย ฟุ่มเฟือยสง่าโอ่อ่าองอาจผึ่งผายเสมอๆ มา
ครั้นเข้าพรรษาปีนั้น จึงได้ข้ามไปเรียนคัมภีร์กับสมเด็จพระวันรัตเสมอๆ มา ก็มีความรู้แตกฉานลึกซึ้งในธรรมวินัยไตรปิฎกไม่ติดขัด ทั้งท่านก็ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัย มีความเคารพยำเกรงต้อผู้ใหญ่ ปฏิบัตินอบน้อมยอมตนให้สม่ำเสมอไป จึงเป็นเหตุให้อำมาตย์ราชเสนา คฤหบดี คฤหปตานี คุณท้าว คุณแก่ คุณแม่ คุณนาย คุณชาย คุณหญิง ผู้คุ้นเคยไปมาหาสู่อาราธนาให้แสดงธรรมตลอดไตรมาสบ้าง พิเศษบ้าง เทศน์มหาชาติบ้าง สวดมนต์เย็น ฉันเช้าในงานมงคลต่างๆ เกิดอดิเรกลาภเสมอๆ มิได้ขาด ทั้งพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง พระวิเชียร ขุนพรหม ปลัดนุท ขรัวยายโหง เสมียนบุญ ทั้ง ๗ ท่านนี้ ได้เป็นอุปัฏฐากประจำที่ไว้วางใจ
ครั้นเห็นว่างราชกิจควรเข้าเฝ้าถวายพระราชกุศล จึงหารือด้วยพระโหราธิบดี พระวิเชียร เสมียนตราด้วง ทั้งหมดเห็นดีด้วย จึงพร้อมกันเข้าเฝ้าถวาย ณ พระราชวังเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จออกทรงรับพระราชกุศล ถวายเป็นองค์อุปัฏฐาก ท่านก็รุ่งเรืองในกรุงเทพฯ แต่นั้นมา
ครั้นลุปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘ ปี พระภิกษุโตมีอายุ ๓๐ ปี มีพรรษาได้ ๑๐ อันเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้รับพระราชทานพระบวรราชอิศรศักดิ์สูงขึ้น เมื่อเสร็จอุปราชาภิเศกแล้ว ท่านได้เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล จึงได้ทรงโปรดพระราชทานเรือพระที่นั่งกราบเป็นเรือสี ถวายแก่พระภิกษุโต โปรดรับสั่งว่า “เอาไว้สำกรับไปเทศน์โปรดญาติโยม” ทั้งยังทรงตั้งให้เป็น “มหาโต” ด้วย แต่นั้นมาทุกคนจึงเรียกท่านมหาโตทั่วทั้งแผ่นดิน หากมีราชกิจกุศลในวังหน้า หรือการงานเล็กน้อยแล้ว พระมหาโตเป็นต้องถูกราชการด้วยองค์หนึ่ง
(๒ ปีล่วงมา สมเด็จพระสังฆราชมีชราภาพ ถึงมรณะล่วงไปแล้ว ยังหามีสมเด็จพระสังฆราชครองวัดนิพพานารามไม่) ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ ปี กรมพระราชวังบวรเสด็จขึ้นเถลิงราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงทรงพระมหากรุณาโปรดยกพระปัญญาวิสารเถร (พระชินวร) วัดถมอรายขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงพระราชทานนามวัดนิพพานารามเสียใหม่ว่า “วัดมหาธาตุ” สมเด็จพระสังฆราชได้ลงมาประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุด้วย พระมหาโตจึงร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับสมเด็จพระสังฆราชถึง ๒ พระองค์ คือสมเด็จพระสังฆราชมี สมเด็จพระสังฆราชนาค (จึงได้ให้ช่างเขียนเป็นรูปพระสังฆราชไว้ ๒ พระองค์ ตามที่ท่านได้ผ่านพบมา) ในศกนี้ พระมหาโตมีพรรษา ๑๒ ในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ กรุงเทพฯ พระมหาโตทำสง่าโอ่โถงภาคภูมิมาก เทศนาวาจากล้าหาญองอาจ เพราะเชี่ยวชาญรอบรู้พระไตรปิฎกแตกฉาน ทั้งยังเป็นพระของพระเจ้าแผ่นดิน อันพระองค์ทรงเป็นอุปัฏฐากอีกด้วย อดิเรกลาภก็มีทวีคูณ ลูกศิษย์ลูกหามากมาย ชื่อเสียงโด่งดังกึกก้องตลอดกรุง

ที่มาhttp://www.dharma-gateway.com/monk-h…index-page.htm

ขอขอบคุณ : http://board.palungjit.org/

. . . . . . .