ท่านพุทธทาสภิกขุ มรณภาพ
08 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 : ท่านพุทธทาสภิกขุ มรณภาพ
8 กรกฎาคม 2536 ท่านพุทธทาสภิกขุ (2449-2536) มรณภาพอย่างสงบที่สวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี
พระธรรมโกษาจารย์ (พุทธทาส ภิกขุ) เดิมชื่อเงื่อม เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนแรกของนายเซี้ยงและนางเคลื่อน พานิช มีน้องชายชื่อนายยี่เกย (นายธรรมทาส พานิช) และน้องสาวชื่อนางกิมช้อย เหมะกุล ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย บิดาเป็นคนจีน ส่วนนามสกุล “พานิช” นั้นเป็นนามสกุลที่ นายอำเภอตั้งให้ มรณะภาพเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536
เมื่ออายุได้ 8 ปี ท่านได้เรียนหนังสือโดยหัดอ่านจากทางบ้าน ครั้นอายุได้ 9 ปี จึงเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียน โพธิพิทยากร วัดโพธาราม จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนแห่งนี้ แล้วไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนมัธยม ประจำอำเภอไชยา จนจบการศึกษาชั้นต้นในปี พ.ศ.2463 แล้วลาออกมาช่วยบิดาค้าขายและศึกษาด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลาเมื่อบิดา ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2465 ได้เลิกค้าขายที่ไชยาแล้วกลับมาค้าขายที่พุมเรียงตามเดิมโดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านจนกระทั่งอายุได้ 20 ปี บริบูรณ์จึงได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2463 โดยมีพระครูโสภณเจตสิดาราม (คง วิมาโล) เจ้าอาวาสวัดโพธาราม และรองเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า “อินทปัญโญ” จำพรรษาอยู่ที่วัดใหม่
ท่านสอบนักธรรมโท ได้หลังจากบวชได้ 2 พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษาธรรมที่วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ จนกระทั่งสอบได้นักธรรมเอกและภาษาบาลี ได้เปรียญธรรมสามประโยค แล้วจึงเดินทางกลับพุมเรียงเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475
งานศึกษาค้นคว้าเริ่มแรกเมื่อปี 2473 ท่านเขียนบทความชิ้นแรกชื่อ “ประโยชน์แห่งทาน” ปลายปีเขียนบทความขนาดยาวชื่อ “พระพุทธศาสนาชั้นปุถุชน”
ปี 2475 เริ่มเขียน “ตามรอยพระอรหันต์”
ในปี 2476 เริ่มเขียนวิจารณ์สภาพพระพุทธศาสนา และพระสงฆ์
ในปี 2477 เขียนเรื่องการปฏิบัติธรรม และเริ่มพูดให้ผู้สนใจธรรมะฟัง เช่น พูดเรื่อง “การส่งเสริมการปฏิบัติธรรม” และ “หลักพุทธศาสนา” เป็นต้น
ตั้งแต่ปี 2478 เป็นต้นมา ท่านเริ่มทำงานหนักยิ่งขึ้น ทั้งงานเขียนและงานแปล ในส่วนของ งานเขียน เช่น “พระพุทธศาสนาในถิ่นไทยภาค-ใต้” ส่วนงานแปล ได้แก่ “อริยสัจจากพระโอษฐ์” และอื่นๆ อีกมากมาย และท่านยังได้สร้าง สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นสถานปฏิบัติธรรมและเผยแพร่พุทธธรรมจนเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ ท่านยังได้รับเกียรติคุณว่าเป็นปรัชญาเมธีตะวันออก และเป็นนักปฏิรูป สังคมและศาสนาและยุคปัจจุบัน จากผลงานที่มีคุณค่าและเป็นที่แพร่หลายทั่วไป
คำสอนอันโดดเด่นของท่านคือเรื่อง “การปล่อยวาง” ผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่านคืองานนิพนธ์ชุด “ธรรมโฆษณ์” และงานนิพนธ์อีกไม่น้อยกว่า ๓๕๐ เล่ม ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับการสดุดีว่าเป็นมหาปราชญ์แห่งพุทธธรรมทางบูรพาทิศ ที่มีเกีตรติคุณไม่น้อยไปกว่าท่านนาคารชุน ปราชญ์ใหญ่ฝ่ายมหายานในอดีต ปัญญาชนทั้งไทยและต่างประเทศถือว่า ท่านเป็นนักปฏิรูปพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดรูปหนึ่งของเมืองไทย
ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชชัยกวี พระเทพวิสุทธิเมธี และพระธรรมโกษาจารย์ ตามลำดับ นอกจากนี้มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปกร มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาวิชาต่างๆ แด่ท่านอีกด้วย
นอกจากนี้พระพุทธทาสภิกขุ ยังได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระชาตกาลครบ 100 ปี ขององค์การยูเนสโกด้วย
ที่มา wordpress ไดอารียอดรัก
http://guru.sanook.com/