ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๑๑

ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๑๑

จากหนังสือ จันทสาโรบูชา

โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต

พรรษาที่ ๔๑-๔๒ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๐๙ เสวยสุข

จำพรรษา ณ วัดป่าถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย

ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ และ พ.ศ. ๒๕๐๙ นั้นควรจะนับได้ว่า เป็นปีแห่งการ “เสวยสุข” โดยแท้ วัดป่าถ้ำแก้งยาวเป็นสถานที่ซึ่งท่านเคยมาจำพรรษาแล้วแต่ในปี ๒๕๐๔ ได้พบงูใหญ่มานอนขดอยู่ใต้แคร่ถึงสามวันสามคืนจึงจากไป และเมื่อจากไปก็ได้ฝากรอยทิ้งไว้ในนาข้าว ขนาดตัวที่ทอดไปตามนานั้นใหญ่ขนาดทับข้าว ๓ กอเป็นแนวโล่งตรงไปทีเดียว ระหว่างการภาวนาก็ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงจีวรสีเหลืองคร่ำจนเกือบจะเป็นสีใบไม้เสด็จมาเยี่ยม อนุโมทนาที่ท่านได้ทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ทำให้ท่านรู้สึกปีติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีผู้รอบรู้การบำเพ็ญเพียรตลอดเวลา

เมื่อจากบ้านกกกอกมา ท่านจึงระลึกถึงสถานที่อันเป็นมงคลนี้ ถือเป็นที่วิเวกซึ่งจะได้พิจารณาย้อนไปเป็นอนุโลม ปฏิโลมได้อย่างสงัดเงียบ

สำหรับสถานที่เป็นมงคลนี้ ท่านเคยเทศนาสอนศิษย์รุ่นหลัง ๆ อยู่เสมอว่าต้องตรวจวินัยให้บริสุทธิ์ ข้อวัตรให้เคร่งครัด และที่ลืมไม่ได้คือ การแผ่เมตตาจิตออกไปโดยไม่มีประมาณ แผ่ไปในที่ใกล้ แผ่ไปในที่ไกล แผ่ไปในเบื้องบน แผ่ไปในเบื้องล่าง แผ่ไปในทางเบื้องซ้าย แผ่ไปในทางเบื้องขวา…หน้า หลัง…กว้าง ไกลแผ่ถึงเทพและอมนุษย์เสมอ เพื่อทำความคุ้นเคยเป็นมิตรไมตรีต่อกัน รวมทั้งสิงสาราสัตว์น้อยใหญ่ จตุบาท ทวิบาททั่วถ้วนกัน เขาจะได้รับกระแสแห่งความเย็นใจอาบรดจิตใจอย่างชุ่มฉ่ำ เวลาเจริญภาวนา

“น้อมจิตเข้าไปถึงหลัก จิตสว่างไสวมุทุจิต เบาจิต ตรวจปฏิภาค อุคคหนิมิตแจ่มแจ้งดี จิตสู่วิปัสสนาเพื่อความรู้เท่าสังขาร นำมาซึ่งความเห็นใจและสงบ”

หลวงปู่บันทึกในเดือนตุลาคม ๒๕๐๘ ถึงการภาวนา ณ ที่ถ้ำแก้งยาว ว่า

“ถ้ำแก้งยาว ตุลา ๐๘

เมื่อแต่ก่อน ภาวนาแน่วแน่ แต่ปฏิภาค แต่ธาตุ แต่ไม่แน่วแน่ทางจิต เดี๋ยวนี้แน่วแน่ทางปฏิภาคด้วย แน่วแน่ทางจิตด้วยความรู้อริยสัจจึงแม่นยำดีกว่าเก่านั้นมาก จิตสละตายลงไปถึงอมตธรรม แต่ก่อนสละตายลงไปไม่ได้เกิดกลัว เพราะภูมิสมถะและวิปัสสนาไม่พร้อมสามัคคีกัน

เมื่อภาวนาพิจารณาแยบคายแล้ว สังขารโลกปลงให้เขาเสีย แล้วแต่เขาจะแกเจ็บตาย เป็นเรื่องของเขา รีบเดินมรรคให้พ้นไปจากสังขารโลก เพราะสังขารโลกเป็นภัยใหญ่โต จะอยู่ไปก็เป็นเรื่องของเขา จะตายก็เป็นเรื่องของเขา แต่ภาวนาความรู้ความเห็นในอมตธรรมนั้นให้มาก นั้นเองเป็น “วิหารธรรม” ที่พึ่งของจิต เมื่อตายแล้วนั้นเองจะไปเกิดในที่ดี แปลว่าไม่อุทธรณ์ร้อนใจในความแก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นเรื่องของสังขาร

เมื่อรู้เท่าแล้ววางเฉย เป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้ามีความรักความชังอยู่…นั้นเองเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะยินดียินร้ายในเรื่องนั้น แปลว่า เจ็บ แสบ ร้อนไปด้วยเขา จึงเป็นทุกข์”

ท่านได้รับความสงัดวิเวกมาก มีบันทึกด้านธรรมะมากมาย ซึ่งได้แยกนำไปรวบรวมไว้กับภาค “ธารแห่งธรรม” แล้ว ประหนึ่งธรรมนั้นได้หลั่งไหลออกมาประดุจกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ตกลงมาจากภูผาสูง แรก ๆ อาจจะไหลแรง แต่ต่อไปก็จะไหลระเรื่อยไปตามโขดหิน กลายเป็นธารแห่งธรรม

ออกพรรษาแล้ว คงจะมีคณะญาติโยมมาอาราธนานิมนต์ให้ท่านไปร่วมงานกฐิน ทอดผ้าป่า ถวายพระไตรปิฎก ฯลฯ ตามวัดต่าง ๆ ในเขตจังหวัดเลยมากมาย ด้วยกล่าวกันว่า หากหลวงปู่ไปด้วยแล้ว ธรรมกว่าของท่านจะโน้มน้าวจิตใจคนให้ยินดีในทาน และปัจจัยบำรุงวัดมากขึ้นเสมอ ซึ่งท่านคงเมตตารับนิมนต์ไปตามที่เหล่านั้น เพราะได้มีบันทึกโดยย่อของธรรมกถาที่แสดงพรรณนาลักษณะที่ตั้งความงดงามน่าประทับใจของวัด และอานิสงส์ในการที่มาร่วมทำทานการกุศลในครั้งนั้น ๆ หลายแห่งด้วยกัน

สำหรับบันทึกเกี่ยวกับความรู้สึก วิจารณ์การบำเพ็ญภาวนาขององค์ท่านไม่ค่อยมี แต่เมื่อท่านไปอยู่ถ้ำผาบิ้งแล้ว ในปี ๒๕๑๐ ท่านได้เขียนสั้น ๆ ไว้ในสมุดบันทึกถึงการพักภาวนาระหว่างอยู่ที่ถ้ำแก้งยาวนี้ ว่า

“พ.ศ. ๐๔, ๐๘, ๐๙ จำพรรษา ณ ที่วัดป่าถ้ำแก้งยาว ต. ผาน้อย อ. วังสะพุง จ. เลย ได้รับความสงบสงัดมาก วิเวกมาก เพราะสถานที่เป็นมงคล ดีกว่าจำพรรษาทุก ๆ แห่ง เพราะไม่มีกังวลด้วยสิ่งใด ๆ ถึงจะมีการก่อสร้างสิ่งใด ๆ ก็ไม่เป็นสัญญา…..”

หลังจากการทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ณ บ้านกกกอก แล้ว ท่านก็ได้พัก “เสวยสุข” อยู่ จิต “ไม่มีกังวลด้วยสิ่งใดๆ” ทุกอย่างได้ เปลื้อง ออกไปหมดแล้ว

พรรษาที่ ๔๓ – ๔๔ พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๕ สร้างวัดถ้ำผาบิ้ง

จำพรรษา ถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ต.ผาบิ้ง อ. วังสะพุง จ. เลย

เมื่อเสร็จจากงานบุญที่วัดต่าง ๆ ในเขตจังหวัดบ้านเกิดของท่าน ที่ขอร้องให้หลวงปู่ไปเป็นประธาน และช่วยในการเทศนาโน้มน้าวให้มหาชนสนใจการทำบุญ ทาน การกุศลแล้ว ใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษาของปี ๒๕๑๐ ท่านก็คิดหาสถานที่ซึ่งจะ “หยุดยั้ง” อยู่กับที่บ้าง ท่านเคยอยู่องค์เดียวไปองค์เดียวมาโดยตลอด จนภายหลังจากปี ๒๕๐๐ จึงได้มีเณรดูแลบ้าง เช่น ระหว่างที่อยู่บนเขา แต่ถ้าหากเป็นการทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ที่จะต้องแบกกลดขึ้นเขาไปเช่นนี้ บางทีท่านก็ไปองค์เดียวโดยไม่รอพระหรือเณรเลย

ปากถ้ำผาบิ้ง

ปี ๒๕๑๐ ท่านได้กลับไปจำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ตำบลผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นการเริ่มของเวลาจำพรรษาที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของท่าน กล่าวคือ ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้งนี้ แต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ไปจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นเวลาถึง ๖ พรรษาติดต่อกัน นามถ้ำผาบิ้งปรากฏในสมุดบันทึกของหลวงปู่เท่าที่ค้นได้เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า

“อยู่ถ้ำผาบิ้ง วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตวิปัสสนาสุขุม กลัวแต่ทีแรก ต่อไปไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตเกิดความรู้แปลก ๆ สถานที่ไม่เป็นมงคลเท่าไร สู้ถ้ำโพนงามไม่ได้ วิถีจิตเดินไปตามลำดับ ไม่ขอบบังคับจิต ไปตามสายกลาง รู้ตามความเป็นจริง”

ท่านบันทึกไว้อีกแห่งหนึ่งในวันเดียวกัน แสดงว่าท่าน ประทับใจ ในถ้ำผาบิ้งมาก

“ทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตสุขุม กลัวแต่ทีแรก แล้วไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตตามรู้แปลก ๆ ถ้ำโพนงามที่ ๑ ถ้ำผาบิ้งที่ ๒ ถ้ำผาปู่ที่ ๓”

หมายความว่า ในการไปทำความพากความเพียรระหว่างนั้น ท่านถือว่า ถ้ำโพนงามเป็นที่ ๑ อยู่ แต่ถ้ำผาบิ้งนั้นเป็นที่ ๒ ซึ่งอย่างไรก็ตาม ยังดีกว่าถ้ำผาปู่ซึ่งเป็นที่ ๓….! ปี ๒๔๘๑ นั้น ท่านอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งแห่งเดียว ถึง ๗-๘ เดือน จนกระทั่งจะเข้าพรรษา และถึงปี ๒๔๘๒ ท่านก็ได้กลับไปอีก ท่านได้วนเวียนกลับไปวิเวกที่ถ้ำผาบิ้งอีกนับครั้งไม่ถ้วน นับจากเวลาที่ได้พบความอัศจรรย์ที่ถ้ำผาบิ้งนั้น จนกระทั่งถึงวันย้อนกลับมาเข้าพรรษาครั้งนี้ เป็นเวลาถึง ๓๐ ปีเต็ม

ท่านเล่าว่า ที่ถ้ำผาบิ้งเป็นที่พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล คือ ท่านพระอุบาลีเหาะมาด้วยบุญฤทธิ์มานิพพานที่นี่ และท่านพระอาจารย์มั่นก็เคยมาจำพรรษา ณ ที่นี้เหมือนกัน สำหรับท่านผู้เป็นศิษย์รุ่นพี่ของหลวงปู่ที่มาเที่ยวธุดงค์ที่นี้นั้น ตามที่ปรากฏชื่อก็คือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่กล่าวว่า ถ้ำผาบิ้งเป็นสถานที่เป็นมงคลอย่างยิ่งนอกจากเป็นที่นิพพานของพระอรหันต์แล้ว ยังมีเทพรักษาสถานที่อย่างดี ระหว่างภาวนาจะได้กลิ่นดอกไม้หอมอยู่บ่อย ๆ เป็นการนอบน้อมบูชาของรุกขเทพที่ดูแลสถานที่

ระยะแรกที่หลวงปู่มาวิเวกที่ถ้ำผาบิ้ง ท่านจะใช้เพิงนี้ บริเวณในถ้ำ เป็นที่พัก ปากรู้ถ้ำทางขวาเป็นรูพญานาค วันดีคืนดีจะมีเสียงร้องคำรามมาจากภายในรูถ้ำนี้

การกลับมาพักที่ถ้ำผาบิ้งอีกในครั้งนี้ ท่านได้มาบูรณะตั้งเป็นวัด ด้วยความอนุเคราะห์ของท่านเจ้าคุณมหาศรีจันทร์ แห่งวัดเลยหลง (เจ้าคณะจังหวัดเลย) ในสมุดบันทึกได้มีข้อความกล่าวถึงการที่จะริเริ่มทำการก่อสร้างว่า

“ถ้ำผาบิ้ง” เจ้าคณะอำเภอจะริเริ่มทำการก่อสร้างแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นต้นไป เพื่อความถาวร เพื่อความมั่นคง เพื่อความรุ่งเรือง บูชาอุทิศไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อนำคณะอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ให้เป็นมหากุศลอันไพศาล สืบบุตรลูก บุตรหลาน บุตรเหลน เป็นประวัติการณ์ต่อไปในอนาคต”

“เวลานี้ถ้ำผาบิ้งที่ได้ก่อสร้างขึ้นแล้ว เป็นศาลาก็ดี เป็นกุฎีก็ดี เป็นวัตถุชั่วคราวมุงด้วยหญ้าแฝกเป็นกำมะลอ ที่พักอาศัยยังไม่ถาวรตามที่ท่านทั้งหลายได้พากันทัศนาการเห็นแล้ว”

“ถ้ำผาบิ้งจะมีการทำบุญประจำปีทุกปี เพื่อสะสมเงินทอง การก่อสร้างขยับขยายไปทีละเล็กละน้อย ให้นึกดู คณะอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย พากันบริจาคปัจจัยก่อสร้างปีละเล็กละน้อยตามความสามารถ ของพวกเราทั้งหลาย เรียกว่า พวกเราพุทธบริษัท แสวงหาเงินมาด้วยปลีแข้ง ทำการก่อสร้างไว้ในศาสนา”

“สถานที่ถ้ำผาบิ้ง เป็นสถานที่ตั้งแห่งภูเขาเอกเทศลูกหนึ่งต่างหาก ไม่ติดต่อกับเขาลกอื่น ๆ มีถ้ำอยู่ทางทิศตะวันออกกบทางทิศตะวันตกตรงกัน เป็นสถานที่ติดต่อกับทุ่งนา อากาศดีบริสุทธิ์ มีลมพัดมาชำระสิ่งโสโครกในถ้ำและภูเขาให้สะอาด ปราศจากเชื้อโรค และมีบ่อน้ำใกล้ชิดเป็นที่อาศัยอุปโภคบริโภคได้สะดวก ทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน ฤดูหนาว ไม่ให้ขัดข้องด้วยน้ำ ไม่กันดารน้ำเหมือนถ้ำผาปู่ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย วัดถ้ำผาบิ้งห่างไกลจากหมู่บ้านนาอ้อ และนาแก ๕๐๐ คันธนูบ้านอื่น ๆ ก็ไม่ไกลนัก เข่น บ้านกกเกี้ยง บ้านนาเหล่า เป็นต้น และไม่ห่างไกลจากอำเภอวังสะพุง ทางรถยนต์ไปมาได้สะดวกในฤดูแล้ง ศาสนิกขนมาร่วมกินร่วมทานได้สะดวก ไม่ขัดข้องด้วยประการใด”

“ถ้ำผาบิ้ง เป็นสถานที่บรรพบุรุษของพวกเราเหล่าพุทธบริษัทได้นับถือกันสืบ ๆมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ว่า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ถึงฤดูเทศกาลปีใหม่มา ท่านพุทธศาสนิกชน พุทธบริษัท เฒ่าแก่ หนุ่มสาวตลอดพระภิกษุสงฆ์ ได้พากันมานมัสการพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐาน ณ ถ้ำผาบิ้งทุก ๆ ปี เพื่ออายุ วรรณะ สุขะ พละ และขอฟ้าขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล นี้ก็นับว่าถ้ำผาบิ้งเป็นสถานที่อันอัศจรรย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ อำนวยความต้องการของมนุษย์ได้”

“ระยะต่อนี้ ขอเชิญชวนท่านศาสนิกชน พุทธบริษัททั้งหลายพากันก่อสร้างให้เป็นวัตถุถาวรมั่นคง ดำรงไว้ในพระพุทธศาสนาถึงกึ่งพุทธกาลต่อไปในอนาคตข้างหน้า เพื่อสืบบุตรลูก บุตรหลาน บุตรเหลนของพวกเราทั้งหลาย พากันฝากฝังอริยทรัพย์ไว้ในพุทธศาสนา ที่ไม่ฉิบหายด้วยโจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย ราชภัยใด ๆ เป็นที่สืบประวัติการณ์ไปข้างหน้า

อนึ่ง พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย พระภิกษุสามเณรที่ทรงเพศในศาสนา ท่านเหล่านั้นรักใคร่รักษาธุดงค์ เดินตามทางพระอริยเจ้าที่สืบ ๆ กันมาแต่กาลก่อน พากันมาเที่ยววิเวกเจริญสมณธรรม มาพักพาอาศัยที่ร่มที่เย็น ณ ถ้ำผาบิ้ง ที่เราได้ก่อสร้างไว้แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายพุทธบริษัทคณะอุบาสก อุบาสิกา พึงพิจารณา พึงดำริ พึงสนใจ พึงตริตรองที่พวกท่านทั้งหลายพากันก่อสร้างไว้แล้ว อันเป็นบุญมหากุศลไพศาล อนึ่ง บุญกุศลอันนี้จะพาพวกเราเหล่าพุทธบริษัทไปสู่สุคติโลกสวรรค์ นำมาซึ่งความสุขอันเลิศ กายก็เลิศ วาจาก็เลิศ น้ำใจก็เลิศ เลิศตลอดทั้งที่นั่ง นอน ยืน เดิน เครื่องอุปโภค บริโภค เป็นของที่เลิศ ๆ ทั้งนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ เป็นเหตุให้พวกเราปลื้มอกปลื้มใจต่อสมบัติอันเลิศในกิจที่พวกเราทำบูชาไว้แล้ว”

กุฏิไม้ไผ่ ผ่าแล้วทุบแบนเป็นฟาก
ท่านจำพรรษาที่กุฏินี้

นอกจากที่ท่านบันทึกถึงการเชิญชวนให้มาร่วมกันก่อสร้างถ้ำผาบิ้ง ซึ่งขณะเริ่มแรกนั้น ศาลา กุฏิ ที่สร้างคงยังมีสภาพ “กำมะลอ” อย่างที่ท่านกล่าวไว้คือ เป็นวัตถุชั่วคราว หลังคามุงหญ้าแฝก ท่านได้บันทึกเกี่ยวกับการเจริญสมณธรรมที่ถ้ำผาบิ้งไว้อีกหลายแห่ง เช่น

“ทำความเพียรเจริญสมณธรรม ณ ถ้ำผาบิ้ง ไม่มีวันจืดจาง จิตปลื้มใจดูดดื่มเรื่อยๆ เพราะสถานที่เป็นมงคล สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่พระอริยเจ้านิพพาน”

“ภายในจิตตัดลงไปเรื่องอริยสัจอย่างเดียว ไตรลักษณ์ลบนิมิตทั้งหลาย เพราะนิมิตและสังขารเป็นตัวมาร กำลังวิปัสสนารู้เท่าถึงการ เมื่อรู้จริงแล้วจิตไม่กำเริบด้วยประการต่าง ๆ จิตปกติ จิตบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ด้วยอมตธรรม เพิ่งเจริญธรรมได้ ณ ถ้ำผาบิ้งนี้ ที่ไม่ประกอบด้วยความฝันเพราะจิตไม่ถือสังขารนิมิตใด ๆ เป็นตัวมารของจิต”

ความตอนนี้ท่านบันทึกต่อท้ายไว้ว่า “ตุลาคม ๒๕๑๑” แสดงว่า ท่านบันทึกในระยะนั้น

“เดินบิณฑบาตมีสติทั้งไปและทั้งกลับ ภาวนาเรื่อย ๆ ดีกว่าอยู่แห่งอื่นทั้งหมด”

การบิณฑบาตในขณะปี ๒๕๑๐ กว่านั้นเป็นอย่างไร มีพระซึ่งระหว่างนั้นยังเป็นเณรอยู่ด้วย ท่านเล่าว่า ยังคงต้องเก็บใบมะขามมาตำ ผสมกับน้ำปลาร้าต้มถวายให้ฉันอยู่แทบทุกวัน เพราะไม่มีจริง ๆ….! แต่ท่านก็คงมิได้สนใจกับอาหารว่าขาดแคลนอย่างไร ท่านสนใจแต่ สติ และจิตที่ดูดดื่ม กับการภาวนามากกว่า

“การภาวนาเป็นเครื่องจูงใจในอารมณ์ที่คุ้นเคยในกัมมัฎฐาน กระดูกและลมหายใจเป็นคู่กัน มีสมาธิเป็นบาทหน้า มีปัญญาเกิดทีหลัง คอยแก้คอยไข ส่วนร่างกายให้เห็นไตรลักษณ์ของขันธ์แปรปรวนอยู่เสมอ ลมฟืดออกถอนพิษตัณหาอาสวกิเลส พิจารณากระดูกให้เห็นแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ ด้วยญาณทัสนะ ด้วยความจริงใจในสังขารทั้งปวงให้เห็น ใจหดมาตั้งอยู่อมตธรรม ให้เดินอารมณ์ทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นนิจ”

ท่านบันทึกย่อ ๆ ไว้ตอนท้ายข้อความว่า “ถ้ำผาบิ้ง เดือน ๘ พ.ศ. ๒๕๑๐”

ระหว่างที่อยู่ถ้ำผาบิ้ง ได้มีพวกที่นครเวียงจันทน์มานิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ของฝ่ายไทยไปทำบุญ ได้ความว่า พยายามนิมนต์ ๑๐ องค์ มี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จันทะสาโร หลวงปู่ชามา อจุตโต หลวงปูอ่อน ญาณสิริ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม เป็นต้น ความจริงเขานิมนต์ หลวงปู่ขาว อนาลโย ด้วย แต่ท่านมอบให้ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เดินทางไปแทน

เรื่องนี้ได้เรียนถามท่านผู้ที่เกี่ยวข้องในการนิมนต์ที่เวียงจันทน์ เเละผู้นิมนต์ได้เล่าให้ฟังว่า ในการเดินทางไปเมื่อปี ๒๕๑๓ ก็ได้นิมนต์ท่านไปแล้ว ให้ไปพักอยู่ที่ วัดจอมไตร ที่เวียงจันทน์ ที่ดงนาซ๊อก เป็นเวลา ๒ อาทิตย์ หลังจากที่ทางเวียงจันทน์นิมนต์แล้ว มีคนไทยท่านหนึ่งซึ่งระหว่างนั้นกำลังทำงานอยู่ในองค์การระหว่างประเทศที่เวียงจันทน์ ทราบข่าวก็มาขอนิมนต์ท่านและคณะไปทำบุญบ้าน

เธอเล่าว่า หลวงปู่ชอบ หลวงปู่หลุย หลวงปู่ชามา หลวงปู่บุญมา หลวงปู่อ่อน ท่านอาจารย์บุญเพ็ง ก็รับนิมนต์มา เมื่อมาถึงบ้าน เธอได้รู้สึกประทับใจอย่างมากหลายประการ โดยเฉพาะเมื่อหลวงปู่ชอบมาถึง หลวงปู่หลุยซึ่งมาถึงก่อน ก็มาช่วยล้างเท้าให้ และเช็ดเท้าให้หลวงปู่ชอบเอง ท่านบอกว่า หลวงปู่ชอบคุณธรรมสูงกว่า ท่านต้องขอปรนนิบิต หลังจากการถวายจังหันแล้วก็ได้ตามไปที่วัด เธอก็ได้ลองเรียนถามว่า ได้ยินข่าวว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ อยากจะทราบว่า ถ้าเผื่อท่านแผ่เมตตามาถึงเรา เราจะได้รับกระแสแห่งเมตตานั้นหรือไม่

เผอิญเธอก็เป็นคนที่ช่างเจรจาสักหน่อย จึงกล่าวต่อไปเป็นเชิงตัดพ้อว่า หลวงปู่มีลูกศิษย์มากจะแผ่เมตตามาถึงได้อย่างไร จะต้องเจือจานคนมากมาย จะมาถึงได้ครบทุกคนกระนั้นหรือ หลวงปู่หลุยเป็นผู้ตอบว่า “ถึงซิ เมตตาต้องมาถึงแน่” แต่หลวงปู่ชอบนั้นยิ้ม ไม่ได้ตอบว่ากระไร

เธอเล่าว่า ในคืนนั้น เธอและสามีก็เข้าห้องพระภาวนา ต่างคนต่างเข้าที่ภาวนา จุดธูปเทียนบูชาพระแล้ว นั่งสมาธิต่อไปไม่นานก็ได้กลิ่นหอมดอกไม้ป่าตลบเต็มไปทั้งห้อง หอมจนทนไม่ได้ ต้องออกปากถามกัน ได้ความว่า ทั้งสามีและภรรยาต่างได้กลิ่นหอมเหมือนกัน กลิ่นอธิบายไม่ถูกเช่นกัน รุ่งขึ้น พอไปกราบที่วัดจอมไตร เธอก็ต่อว่าว่า ไหนว่าจะแผ่เมตตามาให้ลูกหลาน ไม่เห็นได้รับ ไม่เห็นมาหาเลย หลวงปู่หลุยเป็นองค์ที่ตอบแทนว่า ทำไมจะไม่ไป ไปแล้ว

ถามว่า “ไปอย่างไร ไม่เห็นองค์มา ไม่เห็นตัว หลวงปู่นั่งอยู่เฉย ๆ แล้วบอกว่าไป ใครจะเชื่อ”

ท่านก็ยิ้ม แล้วตอบว่า “ก็ไปแล้วนะซิ ไปด้วยกลิ่น หลวงปู่ชอบก็ไป ไม่ได้กลิ่นหรือ หอมกลิ่นศีลของท่าน” ได้ยินเช่นนั้น เธอและสามีก็ต่างมองตากันด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะการที่ได้กลิ่นดอกไม้ป่าหอมเต็มห้องนั้น ไม่ได้เคยพูดกับใคร นอกจากรำพึงกันระหว่างสองสามีภรรยา ก่อนจะไปกราบท่าน ท่านก็กลับตอบเช่นนี้ และตั้งแต่วันนั้นมา เธอก็ได้กลิ่นหอมตลอดมา และทราบว่า ถ้าเป็นหลวงปู่หลุยจะหอมกลิ่นหนึ่ง ท่านหลวงปู่ชอบจะหอมอีกกลิ่นหนึ่ง

เวลาท่านอบรม ท่านก็แนะบอกให้รักษาศีล ๘ เมื่อบอกว่าทำไม่ได้ ทำราชการไม่มีวันเวลาที่จะดูแเลตนเพื่อรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ได้ หลวงปู่หลุยท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้น รักษาศีลอุโบสถเฉพาะวันพระก็แล้วกัน

วันหนึ่งอยู่เวียงจันทน์ไปเที่ยว วันนั้นไม่ได้เป็นวันที่รักษาศีล แต่กลับหอมดอกไม้ หอมชื่นใจไปหมด รู้ว่าเป็นดอกไม้ที่ไม่มีขายในท้องตลาด เพียงนึกถึงท่านก็ได้กลิ่นดอกไม้ เมื่อเล่าว่า กลิ่นในครั้งก่อน ๆ นั้นเป็นกลิ่นดอกไม้สด แต่เดี๋ยวนี้ดูจะปนกลิ่นกระแจะด้วย ระยะนั้นหลวงปู่ชอบยังไม่อาพาธ ท่านเทศน์ให้ฟังอยู่ด้วย จำได้ว่า เทศน์ที่ท่านเทศน์ให้ฟังนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับให้ทุกคนทำจิตให้สงบ ท่านเทศน์อยู่เป็นเวลาถึง ๑๕ นาที แล้วก็สรุปว่า “ความสุขจะเท่ากับจิตสงบเป็นไม่มี เอวํ” ง่าย ๆ เช่นนี้

ในระยะที่พักอยู่ที่เวียงจันทน์ นอกจากท่านจะพักกันที่วัดจอมไตรแล้ว ก็พักที่นาคำน้อย แต่ก็มีการนิมนต์ไปภาวนาที่ถ้ำผาพร้าวด้วย เธอว่าเธอรู้สึกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับหลวงปู่ทุกองค์ โดยเฉพาะวันนั้นจวนจะถึงกำหนดกลับแล้ว เพราะท่านได้มาพักอยู่หลายอาทิตย์ จึงไปกราบหลวงปู่ชอบ เรียนถามว่าจะกลับเมืองไทยอย่างไร ท่านบอกว่า กลับเครื่องบิน สามีของเธอที่เป็นผู้กราบเรียนถามก็งงว่าจะกลับอย่างไร เพราะถ้าจะกลับโดยเครื่องบิน จะต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่เวียงจันทน์ซึ่งห่างจากที่หลวงปู่และคณะกำลังพำนักอยู่มาก เป็นร้อยกว่ากิโลเมตร ก็ในเมื่อตำบลที่คณะท่านพักอยู่นั้น อยู่ตรงข้ามกับฝั่งไทยพอดี เพียงข้ามแม่น้ำโขงก็จะถึงเมืองไทย การเดินทางกลับทางเรือดูจะเป็นการสะดวกที่สุด อีกประการหนึ่ง ถึงจะไปเวียงจันทน์แต่เครื่องบินไม่มีทุกวัน ตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่ได้จอง จะทำอย่างไร เมื่อท่านบอกว่ากลับเครื่องบิน จึงคิดว่าไม่มีทางจะทำได้

แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา ปรากฏว่ามีผู้นำเสนอจะนำเครื่องบินมาส่งให้ เป็นเครื่องบินของทางราชการ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาใด ตกลงพระ ๙ องค์ ก็ขึ้นเครื่องบินมา สามีของเธอได้ติดตามมาดูแลท่านมาในเครื่องบินลำนั้นด้วย ขณะที่นั่งอยู่ในเครื่องบิน ได้กราบเรียนหลวงปู่ชอบว่า อยากจะขอของดีไว้ให้พวกที่เขามาส่งนี้ด้วย เช่น พวกนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินได้มีไว้คุ้มครองตัว เพราะต้องปฏิบัติงานเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา ท่านก็ยิ้ม ๆ แล้วก็ล้วงลงไปในย่าม ซึ่งย่ามนั้นมองเหมือนไม่มีอะไร แต่ท่านหยิบออกมาทีไร ก็มีพระให้ทุกที ได้ครบกันทุกคนทั้ง ๖- ๗ คน สามีของเธอเป็นคนสุดท้าย ก็คิดอยู่ในใจว่าเราจะขอ “ไอ้งั่ง” เถอะ

“ไอ้งั่ง” นี้เป็นพระที่ทางประเทศลาวยกย่องกันมากว่าศักดิ์สิทธิ์ ช่วยในด้านแคล้วคลาด ก็นึกขออยู่ในใจในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเวลาที่เฝ้าดูนั้นออกสงสัยเป็นกำลังว่า หลวงปู่ชอบหยิบอะไรออกจากย่าม พระแต่ละองค์ที่แต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน และขนาดก็ไม่ใช่เล็กน้อย ทำไมจึงมีได้ทุกครั้ง จึงแกล้งนึกว่า ขอไอ้งั่งเถอะ แต่น่าประหลาด หลวงปู่ชอบท่านก็ควักออกมาจากย่าม แล้วก็ได้ “พระงั่ง” จริง ๆ

เรื่องนี้แม้จะเป็นการแสดงเรื่องพระเรื่องเครื่องราง แต่ก็แสดงว่าท่านมีจิตบริสุทธิ์ สามารถทำสิ่งใด ๆ ได้เสมอ เพียงแต่ท่านไม่พูดไม่แสดงเท่านั้น

เธอกล่าวว่า อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความอ่อนน้อมถ่อมองค์ของหลวงปู่หลุย ระยะนั้นท่านพรรษา ๔๐ กว่า และอายุก็มากถึง ๖๘ พรรษาแล้ว คุณธรรมของท่านเองก็มีอย่างเหลือล้นแล้ว ประดุจน้ำเต็มแก้วเต็มฝั่งแล้ว แต่ท่านก็ยังคุกเข่าล้างเท้าให้หลวงปู่ชอบ และเช็ดเท้าให้อย่างนอบน้อมถ่อมตน เป็นบุคลิกประจำองค์ของท่านโดยแท้

ถ้าจะนำบันทึกธรรมที่หลวงปู่บันทึกไว้ระหว่างที่อยู่จำพรรษามาลงพิมพ์ในประวัติคงจะยืดยาวมากมาย และความจริงก็ได้รวบรวมไปไว้ในภาค “ธารแห่งธรรม” แล้ว เฉพาะครั้งนี้จะขอนำบันทึกอันหนึ่ง ซึ่งท่านจดไว้ตอนที่อยู่ถ้ำผาบิ้ง ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ขันของท่านอย่างยิ่ง เป็นบันทึกที่ท่านคงจะอ่านพบจากหนังสือพิมพ์ และเห็นความน่าขัน ท่านจึงจดลงในสมุดบันทึกของท่าน และเมื่อสิ้นกระแสความจากหนังสือพิมพ์ท่านก็แสดงเป็นธรรมะต่อไปเป็น

“เบื่ออะไรไม่เท่าเบื่อเมีย เบื่อกับข้าว เลิกกินกลับอยากอีก เบื่อดูหนัง เลิกชั่วคราวกลับชอบดูอีก เมียไม่ใช่วัตถุเช่นนั้น เบื่อแล้วจะเปลี่ยนก็ยาก จะขายก็ไม่ได้ จะเก็บไว้ก็ไม่สนิท จะให้คนอื่นเสียก็ไม่ถนัด จะทิ้งก็ไม่รู้ว่าจะทิ้งที่ไหน เบื่อแล้วยังต้องเห็นต้องพบ เข้าใกล้ก็ยิ่งเบื่อ ต้องเป็นเช่นนั้น นี้แหละ ความเบื่อถึงอุกฤษฎ์ ความเบื่อเกิดจากความซ้ำซากจำเจ แก้เบื่อด้วยวิธี หยุด ย้ายที่ หรือพัก หรือเปลี่ยน จะแก้เบื่อพอแล้ว จิตเสมอ ๆ แล้วก็พออยู่ โบราณท่านว่า หนามปัก เอาหนามบ่ง เมื่อเบื่อเกิดจากความช้ำซาก หนักเข้าก็ชาจนชิน การเบื่อมีขึ้นแล้ว ความเบื่อก็หมด ธรรมดาผู้ชายทั้งหมดต้องเบื่อเมีย ส่วนผู้หญิงเป็นเจ้าของผู้ชายต้องทนความเบื่อ ไม่มีความรู้สึกชนิดใดอีกแล้ว ที่มีฤทธิ์รุนแรงเท่ากับความรู้สึกเบื่อเมีย จำเป็นจำใจต้องอดทนไป เบื่อแล้วกลับชอบ เช่นนักเรียนคนหนึ่ง เบื่ออาหารที่เธอกิน ยิ่งกินช้ำซากบ่อยด้วยการจำเป็นจนชิน ต่อไปเธอกลับชอบ เมื่อเธอมีครอบครัวแล้ว เธอก็แต่งอาหารชนิดนั้น กินบ่อย ๆ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค เป็นคู่กัน ชังแล้วกลับรัก รักแล้วกลับชัง เพราะไม่เที่ยง ปุถุชนมีอารมณ์วนเวียนอยู่กับอารมณ์เท่านั้น วางความรัก ความชังไม่ได้ เหมือนพระอริยเจ้าทั้งหลายเพราะเหตุไม่รู้เท่าสังขาร ผัวเมียวนเวียนนอนนำกันอยู่เรื่อย ๆ”

ปี ๒๕๑๕ ปีสุดท้ายที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี่ เป็นปีที่ท่านได้รับกฐินจากคณะศรัทธาจากกรุงเทพฯ นำโดย พล.อ.อ.โพยม เย็นสุดใจ และ คุณหญิงสมควร เย็นสุดใจ ซึ่งท่านเล่าว่า สมัยที่เข้าไปนั้น เป็นครั้งแรกที่มีคณะกฐินใหญ่โตไปถึง ทางเข้าก็ยังไม่มี ต้องใช้รถเกรดนำหน้า ชาวบ้านใกล้บริเวณวัดดีอกดีใจมากที่ได้มีศรัทธามาจากกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะเป็นกฐินที่ได้เงินสูงสุดสำหรับระยะนั้น คือ ๑๕๐,๐๐๐.- บาท จากนั้นพอถึงสิ้นปี ๒๕๑๕ ท่านก็ได้จากถ้ำผาบิ้งมาโปรดประชาชนทางภาคอื่นต่อไป แต่ท่านก็ได้ให้ความเมตตาอุปถัมภ์ บำรุงวัดถ้ำผาบิ้งเสมอมามิได้ขาด หลวงปู่เป็นประดุจพญาช้างที่พอใจซอกซอนซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก ไม่ค่อยยอมออกมาพบความศรีวิไลของบ้านเมือง จนล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัยอายุกว่า ๗๐ ปี ท่านจึงยอมรับนิมนต์เข้ามากรุงเทพฯ บ้าง

พรรษาที่ ๔๙ – ๕๐ พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๑๗

กลับไปบูรณะบ้านหนองผือ และถ้ำเจ้าผู้ข้า

พ.ศ. ๒๕๑๖ จำพรรษา วัดป่าบ้านหนองผือ ต. นาใน อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร

พ.ศ. ๒๕๑๗ จำพรรษา ถ้ำเจ้าผู้ข้า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ. สกลนคร

หลังจากการจัดสร้างวัดถ้ำผาบิ้งแล้ว ท่านก็ได้เดินทางมาเตรียมบูรณะที่บ้านหนองผือต่อไป ความรู้สึกผูกพันที่ท่านมีต่อบ้านหนองผือนั้นมีมากอย่างยากที่จะกล่าวได้ ชาวบ้านเล่นกันว่า เมื่อครั้งแรกตอนที่นิมนต์ท่านมาพร้อมกับยาหม้อใหญ่ในปี ๒๔๗๘ จำพรรษาแล้วท่านก็หายไป กว่าจะกลับมาให้ชาวบ้านได้เห็นอีกก็ปี ๒๔๘๖ ชาวบ้านนึกว่าหลวงปู่ล้มหายตายจากไปแล้ว เพราะเห็นหายไปนาน ก็ได้แต่อาลัยอาวรณ์ด้วยว่าเป็นพระที่เมตตากรุณา เข้ากับพวกเขาได้มากที่สุด ในยามอัตคัดขาดแคลนท่านก็ช่วยแนะนำสั่งสอนการช่วยวิธีการครองชีพ แม้แต่การทอผ้าท่านก็มาสอนแนะ หาคนมาเป็นครูสอนให้ ทำยาหม้อใหญ่อย่างที่กล่าวแล้ว ช่วยให้ชาวบ้านได้อาศัยกินไม่ต้องซื้อหาหยูกยาอย่างอื่นต่อไป เมื่อร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยเบียดเบียนแล้ว ซึ่งพวกเขาได้รู้สึกประจักษ์แก่พุทธภาษิตที่ว่า อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ

(เมื่อก่อนที่หลวงปู่จะไปอยู่แถวบ้านหนองผือ มีการเจ็บไข้อยู่เรื่อยเพราะบ้านหนองผือเป็นหมู่บ้านที่อยู่กลางหุบเขา มีเขาล้อมรอบ อากาศย่อมชื้น จริงอยู่สำหรับพระธุดงค์กัมมัฏฐานจะใช้เป็นที่หลบขึ้นไปแสวงหาความวิเวกบนเขาได้เกือบรอบด้าน แต่ผู้ที่อยู่จำเจ ณ ที่นั้นจะต้องถูกอากาศกดอยู่เสมอ การที่ได้รับประทานยาตำรับของหลวงปู่ ทำให้คนในหมู่บ้านมีความสุขขึ้น สุขภาพแข็งแรง เมื่อไม่เจ็บไม่ไข้ ก็สามารถใช้สติปัญญากำลังกายทำมาหาเลี้ยงตนได้ต่อไป)

พวกเขากล่าวกันว่าเขารู้สึกสำนึกในพระคุณของหลวงปู่อยู่เสมอ เมื่อเห็นหายหน้าไปนาน เข้าใจว่าท่านคงมรณภาพแล้ว เมื่อกลับมาให้เห็นจึงดีใจกันขนานใหญ่

เมื่อกลับมาในรอบที่แล้ว ก็ยังได้เป็นผู้นำหมู่ ให้อุบายจนสามารถอาราธนานิมนต์หลวงปู่ใหญ่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ให้อยู่เป็นขวัญตาขวัญใจเป็นหลักชัยที่พึ่ง ให้ชาวบ้านหนองผือได้ยึดประจำใจอยู่เป็นเวลานาน ท่านจากมาหลังจากที่หลวงปู่มั่นมรณภาพแล้ว ในระหว่างนั้น แม้ท่านจะไม่ได้จำพรรษาที่บ้านหนองผือ แต่ท่านก็เข้าออกไปมา และคอยดูแลกำกับการอยู่ตลอด ท่านกลับไปอีกทีหนึ่งในปี ๒๕๑๖ จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ และปี ๒๕๑๗ ที่วัดถ้ำเจ้าผู้ข้าซึ่งอยู่ไม่ไกลกันในเขตอำเภอพรรณานิคมด้วยกัน และเป็นที่ซึ่งหลวงปู่ได้ไปบูรณะช่วยเหลือสร้างขึ้นให้เป็นวัดอย่างถาวร ท่านได้บันทึกไว้ว่า

“อยู่บ้านผือ ภาวนาดีมากกว่าอยู่แห่งอื่นเพราะสถานที่พระอริยเจ้า ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เมียง ประทับอยู่ ณ ที่นั้น เป็นสถานที่เป็นมงคล สถานที่เตือนสติบ่อยๆ คล้ายอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ความรู้ธรรมลึกลับสุขุมคัมภีรภาพ ฉะนั้นการบำรุงก่อสร้าง จึงทำให้ถาวรมั่นคงรุ่งเรือง ให้สมฐานะกับสถานที่เป็นมงคล เทศนามีปฏิภาณดี บุคคลสอนง่าย อุบาสกอุบาสิกากลัวเรามาก เพราะเราทรมาน เขามาแต่ก่อน ดุด่าเขาไม่โกรธ อยู่ได้แต่ออกพรรษา เข้าพรรษาอยู่ไม่ได้ อากาศดับ ถ้ำผู้ข้าอากาศดี มีถ้ำเป็นมงคลดี บ้านผือสงัดดีกว่า เกิดธรรมะ สถานที่ดีมาก พระเณรเราว่ากล่าวสั่งสอนได้ ได้มีธรรมะจากสถานที่ ๒ แห่งนี้มากมาย”

ท่านได้เห็นว่า หลังจากที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้มรณภาพแล้ว สภาพวัดป่าบ้านหนองผือดูทรุดโทรมมาก ระยะนั้นแทบไม่มีใครที่จะมาดูแล ได้กล่าวกันว่าแม้แต่ฐานที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยอยู่ถ่าย ก็ได้มีผู้มาขอขุดเอาดินไป ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพระธาตุทั้งนั้น อย่าว่าแต่กระดูกของท่านจะกลายเป็นพระธาตุเลย แม้แต่สิ่งซึ่งถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็จะถือเป็นของปฏิกูลสกปรกโสมมน่าสะอิดสะเอียน ของดีท่านถ่ายทิ้งลงแล้ว หากเป็นของผู้บริสุทธิ์ สิ่งใดผ่านร่างท่าน ผ่านการภาวนาแผ่เมตตาชำระความบริสุทธิ์อยู่ตลอด มูลมูตรมูลคูถจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป

ท่านไปจัดการสอนให้ชาวบ้านรู้จักรักและภาคภูมิใจในสิ่งที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้ฝากร่องรอยไว้ จะเป็นกุฏิของท่านก็ดี ศาลาธรรมก็ดี บริเวณวัด ทางจงกรม ขอให้รักษาไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม ดังที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้เคยอยู่ ท่านกล่าวกับชาวบ้านไว้ว่า

“สถานที่นี้จักมีชื่อเสียงต่อไปอีกนานแสนนาน พวกเราอยู่แล้วก็จะตายไปเพียงอายุเท่าชั่วชีวิตของเรา แต่สถานที่นี้ จะอยู่ตลอดไป เพราะเป็นสถานที่พระอรหันตเจ้าได้มาอยู่ในระยะเวลาปัจฉิมวัยของท่าน เป็นสถานที่ได้อบรมบ่มร่ำศิษย์ของท่านให้กลายเป็นต้นโพธิ์อันงดงามในพุทธศาสนา แตกกิ่งก้านสาขา เป็นที่พักพึ่งพิงทางใจแก่พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ แต่ละต้นต่างมีชื่อเสียงขจรขจาย ตามรอยต้นโพธิ์พ่อโพธิ์แม่ คือท่านพระอาจารย์มั่น”

“โพธิ์เหล่านั้นที่ได้รับธรรมจากบ้านหนองผือ มีอีกมากมายหลายองค์ อย่างเช่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ตื้อ หรือท่านอาจารย์พระมหาบัว หรือรุ่นเล็ก ๆ ต่อไปเช่น ท่านพระอาจารย์วัน ท่านพระอาจารย์จวน ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง เป็นอาทิ พวกท่านชาวบ้านหนองผือควรจะต้องบำรุงรักษาสถานที่เหล่านั้น อาจจะขาดแคลนกำลังทรัพย์ แต่คนไทยจากจังหวัดถิ่นอื่นก็คงจะส่งมาให้ความช่วยเหลือได้ ”

“พวกเจ้าอาจจะไม่มีกำลังทรัพย์ แต่เจ้ามีกำลังกายที่จะช่วยบำรุงให้อยู่ต่อไป อย่างน้อยรักษาความสะอาดเรียบร้อยไว้ อย่าให้สกปรกรกรุงรัง ทางเดินจงกรมเป็นดินก็ต้องให้ดูแลไว้ พระสงฆ์องคเจ้าที่จะมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ เป็นการสืบต่อพระศาสนา ก็ขอให้ถวายการอุปัฎฐากอย่างดี”

ชาวบ้านเล่าว่า หลวงปู่ได้เมตตาสั่งสอนให้พวกเขาได้สามารถมีส่วนแห่งการบุญ ขาดกำลังทรัพย์ ก็ช่วยได้ทางกำลังกายและกำลังใจ จัดเป็นบุญกุศลอย่างมหาศาลเช่นกัน

ระยะนั้นกำลังศรัทธาที่จะมาช่วยสนับสนุนท่านยังมีไม่มาก ท่านก็ได้แต่แนะให้ชาวบ้านรู้จักหน้าที่ รู้จักหวงแหนสมบัติอันมีค่าของตน ท่านกล่าวว่าท่านได้ไปดูทั้ง ๒ วัด ด้วยความเป็นห่วง ไม่ต้องการให้ทรุดโทรมเสื่อมสลายไป การภาวนา ณ สถานที่ ๒ แห่งนั้นได้รวบรวมไว้อยู่ในภาคธารแห่งธรรมเรียบร้อยแล้ว หลวงปูได้กลับมาบูรณะใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี ๒๕๒๕ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

พรรษาที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๕๑๘ โปรดชาวภาคตะวันออก

จำพรรษา ณ สวนบ้านอ่าง อ.มะขาม จ.จันทบุรี

ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่คงอยู่เป็นหลักชัยให้ญาติโยมที่อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำเจ้าผู้ข้า และบริเวณใกล้เคียงแถบอำเภอพรรณานิคมต่อไปอีกระยะหนึ่ง พอดีมีงานนิมนต์ทางกรุงเทพฯ ท่านจึงเดินทางลงมาตามคำนิมนต์ โดยพักที่วัดอโศการามบ้าง ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ บ้าง

ท่านออกบิณฑบาตในกรุงเทพ ปี ๑๗

ระหว่างอยู่กรุงเทพฯนั้น นายแพทย์โรจน์ สุวรรณสุทธิ และภรรยามากราบท่าน และปฏิบัติธรรมกับท่าน คุยให้ท่านฟังถึงที่สวนของท่านที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งปลูกยางเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีต้นผลไม้อื่น เช่น ส้มเขียวหวานและมะม่วงบ้าง รวมทั้งมีสวนพริกไทยซึ่งเป็นพืชพันธุ์ไม้ที่ทำให้จันทบุรีมีชื่อเสียง มีพริกไทยเป็นสินค้าขาออกสำคัญของจันทบุรี นอกเหนือจากอัญมณี อย่างพลอยด้วย

คุณหมอกราบเรียนท่านว่า บริเวณสวนนั้นกว้างใหญ่ มีอาณาบริเวณหลายร้อยไร่ ต้นยางก็สูงระหง มีร่มเงาดีบริเวณด้านหลัง มีเนินเขา มีอ่างน้ำ มีลำธาร ควรถือได้ว่า เป็นป่า เป็นเขา อุดมด้วยต้นไม้ใหญ่ ท่อธารละหานห้วย ดังเช่นป่าเขาที่หลวงปู่ได้เคยเดินธุดงค์วิเวกมาในภาคอีสาน หากท่านจะเมตตาไปพักบำเพ็ญภาวนา ก็จะเป็นมงคลแก่สถานที่เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อท่านไปเห็นสถานที่ และได้พักภาวนา กำหนดจิตแผ่เมตตาอยู่ระยะหนึ่งก็รับว่าสถานที่นั้นสัปปายะอย่างยิ่ง คุณหมอและภรรยาจึงอาราธนานิมนต์ว่า ในพรรษาที่จะถึงนี้ ขอให้หลวงปู่เมตตาอยู่จำพรรษา ณ สวนบ้านอ่างนี้

เมื่อท่านรับนิมนต์แล้วนั้น มีเวลาพอควรก่อนถึงเวลาปวารณาเข้าพรรษา หลวงปู่จึงกลับมาโปรดญาติโยมทางกรุงเทพฯก่อน ระหว่างนั้นทางที่สวนก็เตรียมจัดสถานที่รอรับคณะท่าน คุณหมอเล่าว่า ผู้อยู่ว่าพระป่าไม่ชอบสถานที่หรูหราฟุ่มเฟือย ขอเพียงมีแคร่เล็ก ๆ พอแขวนกลด แขวนมุ้งก็พอแล้ว แต่โดยที่ระหว่างพรรษาเป็นเวลาหน้าฝน และฝนทางจันทบุรีนั้นตกหนักและชุกมาก จำจะต้องจัดให้ท่านมีที่มุงที่บังอันแข็งแรงพอจะป้องกันลมกันฝนได้

อย่าว่าแต่ความหรูหราฟุ่มเฟือยเลย แม้แต่การจะไปซื้อวัสดุ เช่น ไม้ จากข้างนอก หลวงปู่ก็ปรารภห้ามไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น เจ้าภาพจึงหาทางประนีประนอมที่จะจัดสร้างที่พักให้แข็งแรงทนแดดทนฝนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เป็นการจัดซื้อให้เสียเงิน โดยจัดหาวัสดุในสวน “ก็ตามมีตามเกิด… นะ !” อย่างที่ท่านสั่ง

กล่าวคือ ในสวนแถบจันทบุรีย่อมอุดมด้วยต้นระกำป่า คุณหมอก็ให้ตัดต้นมา สร้างเป็นกุฏิไม้ระกำได้ ๑ หลัง ส่วนพระและเณรที่จะติดตามท่านมานั้น ก็หาไม้ไผ่ในสวนมาสร้างเป็นกระท่อมเล็ก ๆ ขนาดกว้างพอแขวนกลดและมุ้งได้ มุงด้วยหญ้า ซึ่งก็เก็บเกี่ยวจากในเขตสวนยางสวนส้มนั่นเอง บริเวณใกล้อ่างน้ำและลำธาร ทำเป็นศาลา ใช้ทั้งเป็นที่ประชุม สวดมนต์ ฟังธรรม และทั้งเป็นที่ฉันจังหันด้วย

ใช้วัสดุเรียบง่าย และตามมีตามเกิด คือหาได้ในสวนตรงตามหลวงปู่สั่งไว้…! ดังนั้น เมื่อท่านมาเห็นเข้า จึงพอใจสถานที่จำพรรษานี้อย่างยิ่ง

ท่านได้บันทึกชมเชยสถานที่จำพรรษาครั้งนี้ว่า…ดีกว่าภาคอีสาน

“ภาวนาดีนัก ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่กลางคืนเพ่งอารมณ์กรรมฐานโดยเฉพาะ ประกอบไตรลักษณ์ไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่น ในสังขารทั้งปวง เห็นว่า สังขารเป็นภัยใหญ่”

ปกติในการเดินทางไปพำนักอยู่ที่ใดก็ตาม หลวงปู่มักจะนำหนังสือติดองค์ไปอ่านด้วยเสมอ เป็น วิหารธรรม เป็น เครื่องอยู่ ของท่าน ระหว่างว่างจากเวลารับแขกหรือเวลาภาวนา แต่สำหรับที่สวนเมืองจันท์นี้ เมื่อนำหนังสือขึ้นมาอ่าน ท่านก็ต้องรำพึง ว่า

“ดูหนังสืออยากนอน เข้าอารมณ์ภาวนาไม่อยากนอน ชวนให้ภาวนาเรื่อย ๆ นิมิตไม่ฝันร้าย นิสัยถูกกับเขา (หมายถึงญาติโยม) อยากนำเขาไปเรื่อย ๆ”

“เพ่งกาย ตรวจกายไปเรื่อย ๆ ไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่นในสังขารใด ๆ ถูกกับอากาศทะเล ไม่เจ็บป่วยเหมือนกะอยู่ภาคอีสาน กินข้าวมีรส นอนหลับดี ร่างกายสมบูรณ์ไม่เจ็บป่วย เทศนาแก่บุคคลมีปาฎิหาริย์…ลึกตื้นมีคนเข้าใจ”

ทำให้ท่านแทบไม่ได้หยิบหนังสือเล่มใดขึ้นมาอ่าน เพราะจิตใจดูดดื่มเพลิดเพลินในการภาวนาโดยตลอด อีกตอนหนึ่ง ในสมุดบันทึกท่านกล่าวว่า

“ตรวจกายถึงหลักธรรมะเสมอ ค้นอนุสัยของจิตเสมอ คุณหมอโรจน์พร้อมด้วยภรรยา เข้าใจธรรมะมาก สอนให้ม้างกาย เข้าใจมากกว่าคนอื่นในจังหวัดพระนคร…..”

ความจริง เมื่อกล่าวแต่ต้นว่าหลวงปู่ พอใจ สถานที่จำพรรษานี้ อย่างยิ่ง นั้น ตั้งใจจะกล่าวต่อไปว่า แต่สิ่งที่ทำให้ พอใจอย่างที่สุด นั้น มิใช่สถานที่อันสงัดวิเวกแต่เป็นบุคคล…ผู้เป็นศิษย์ ผู้รับฟังคำสอนจากท่านด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และสามารถปฏิบัติตามได้.. !!

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อหลวงปู่ไปพักอยู่ที่ใด ท่านจะนำคนให้ไหว้พระสวดมนต์ รักษาศีล รู้จักการให้ทาน การภาวนา เป็นประจำทุกวัน ณ ที่สวนบ้านอ่างนี้แต่แรกก็อบรมเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตสวน เช่น ผู้จัดการและคนงานพร้อมครอบครัว ต่อมาชาวบ้านใกล้เรือนเคียงทราบข่าว ก็เข้ามาฟังธรรมด้วย รวมทั้งจากอำเภอนอก ๆ หรือที่ตลาดในตัวจังหวัดที่จันทบุรี หรือระยองก็มาใส่บาตร ฟังเทศน์ด้วย ตอนระยะหลัง ๆ มีผู้เลื่อมใสศรัทธามาขอนอนวัดภาวนาทุกคืน

อันที่จริง แถบจังหวัดภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่จันทบุรีนี้ เคยมีพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายกัมมัฏฐานสาย ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มาโปรดญาติโยมทางนี้อยู่มากแล้ว เช่น พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์) ท่านพระอาจารย์ลี ธัมมธโร (พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์) ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นอาทิ ศรัทธาญาติโยมจึงเป็นผู้คุ้นเคยกับพระกัมมัฏฐาน เคยต่อการทัสนานุตริยะ ได้เห็นพระ กราบไหว้พระ บังเกิดความชื่นอกชื่นใจ เลื่อมใส เชื่อฟัง นิสัยจึงน้อมมาทางธรรม เชื่อมั่นในธรรมอยู่แล้ว เมื่อได้มากราบหลวงปู่หลุย ท่านจึงชมพุทธบริษัททางภาคตะวันออกนี้ว่า เป็น “ช้างที่ฝึกแล้ว ว่าง่าย สอนง่าย”

บาปมี บุญมี อานิสงส์ของบุญ…มีอย่างจริงแท้ ท่านผู้ให้ที่พักในการบำเพ็ญเพียรภาวนาแก่พระภิกษุ สามเณร และญาติโยมผู้ประพฤติปฏิบัติ ย่อมได้รับอานิสงส์แห่งการนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างน้อยที่สุดที่เห็นโดยพลันก็ได้ทำให้การภาวนาของท่านก้าวหน้าไปอย่างน่าปลื้มใจ

คุณสำรวย สุวรรณสุทธิ ภรรยาคุณหมอโรจน์ เป็นผู้ที่หลวงปู่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างยกย่องเสมอ

ท่านสอนเสมอ ให้ทุกคน ม้างกาย ซึ่งเป็นการพิจารณากาย… กายคตานุสติแบบหนึ่ง โดยใช้วิธีแยกกายออกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นความเกิด ความเสื่อม ความดับไปแห่งสกลกายนี้ เพ่งพิจารณากายให้เป็นอุคคหนิมิต ให้เป็นปฏิภาคนิมิต…แล้วดำเนินจิตเข้าสู่ไตรลักษณ์

หลวงปู่สอนไป…สอนไป แต่ก็แทบไม่มีใครจะสามารถกำหนดจิต “ม้างกาย” ทำตามท่านได้ กระทั่งท่านมาอยู่ที่สวนเมืองจันทบุรีนี้ ท่านได้ “เคี่ยว” ศิษย์ กระทั่งวันหนึ่ง ศิษย์ผู้นั้น…หรือคุณสำรวย ก็สามารถกราบเรียนเรื่องการหัด “ม้างกาย” ของเธอถวายให้หลวงปู่ฟังได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ

“สอนให้ม้างกาย…เข้าใจมากกว่าคนอื่นในจังหวัดพระนคร…” ตามที่หลวงปู่บันทึกไว้ คือ

คุณสำรวยเล่าว่า เมื่อไม่ทราบจะ “ม้างกาย” อย่างไร ทำแบบไหน…..ท่านว่า ให้แยกกาย ให้ตัดกาย…..เฮ้อ…ก็เลยนึกแบบทำกับข้าว…..สับไก่ ฉีกไก่ เอ…มันก็ยังไม่ได้ความ

วันหลังเล่าถวายท่านว่า สับก็แล้ว ฉีกก็แล้ว กายมันก็ยังเป็นแท่งทึบอยู่นั่นแล้ว หลวงปู่ก็เอ็ดเปรี้ยงเข้าให้

“แม่มีตีน มือ…! มีเอาไว้ทำไม ? เอามือฉีก เอาตีนถีบ ตบมันออกไปซี…! นะแม่นะ”

เมื่อก็กลับมาทำต่อ ผ่าอกตัวเองออกไป เหมือนผ่าอกเป็ด อกไก่ ผ่าออกเป็น ๒ ซีก จะฉีกให้เป็นชิ้น ๆ แล้วก็น้อมเข้ามาที่ตัวเรา สับเหมือนสับเป็ด สับไก่ สับจนละเอียด

พยายามเพ่งกาย สับกาย อยู่เช่นนั้น… น้อมนึกอยู่ดังนั้นเรื่อย ๆ…..

วันหนึ่งเมื่อไปทำบุญที่พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่วัดป่าสุทธาวาส ได้เห็นอัฐิพระธาตุของท่านที่ใสเป็นแก้ว ก็บังเกิดความปลื้มปีติ…คำนึงว่าเราได้ทำบุญอย่างเต็มเปี่ยมกับท่าน น่าชื่นใจ

นึกย้อนดูกายเรา กระดูกของเรา มันเป็นอย่างไร…?

ความที่เคยหัด “ม้างกาย” ตามคำหลวงปู่สอน สับมัน…หั่นมัน…ฉีกมัน…ถีบมัน…ตบมัน อยู่เป็นประจำ…บ่อย ๆ วันนั้นเกิดปีติส่ง…..

นึก “ม้างกาย” ตามกรรมวิธีของท่าน เพียงอึดใจเดียว ก็รวมพั่บลง เห็นกระดูกในร่างกายแหลกละเอียดลงเป็นฝุ่น แล้วไปหมดเลย…..

…..เหลือแต่ “ผู้รู้”

…..เด่นดวงอยู่อย่างเดียว

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-11.htm

. . . . . . .