ด้านการสั่งสอนเผยแผ่ (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
การสั่งสอนเผยแผ่ นับเป็นหน้าที่หลักประการหนึ่งของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นหน้าที่ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายแก่พระสงฆ์สาวกให้ช่วยกันปฏิบัติ ตั้งแต่เริ่มแรกก่อตั้งพระพุทธศาสนา เพราะเป็นหน้าที่ที่จะสร้างประโยชน์สุขให้แก่ชาวโลก หรือกล่าวอย่างรวม ๆ ก็คือ เป็นหน้าที่เพื่อการอนุเคราะห์โลก ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อ เกิดมีพระสงฆ์สาวกที่เป็นพระอรหันต์ชุดแรกขึ้น ๖๐ รูป หลังจากพระพุทธเจ้าเริ่ม ประกาศพระศาสนาเพียง ๕ เดือน พระพุทธองค์ก็ทรงส่งพระสงฆ์สาวกชุดแรกนั้นออก ไปประกาศพระศาสนาหรือสั่งสอนเผยแผ่พระศาสนาทันที โดยตรัสบอกถึงวัตถุประสงค์ ของการออกไปสั่งสอนเผยแผ่แก่พระสงฆ์สาวกเหล่านั้นว่า “เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
ลักษณะการสั่งสอนของพระพุทธศาสนานั้นเป็น การเผยแผ่ คือนำความจริงมาเปิดมา แสดงให้ผู้ฟังเห็นตามที่เป็นจริง ฉะนั้น การสั่งสอนของพระพุทธศาสนาตาม หลักการที่พระพุทธองค์ ได้ทรงวางไว้ จึงมิได้มุ่งให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่มุ่งให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่สอนอย่างถูก ต้องตามเป็นจริง ส่วนผู้ฟังจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้น ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของเขาเอง หากเขาพิจารณาไตร่ตรองจนเห็นจริง เห็นคุณค่าและประโยชน์ของสิ่งที่สอน เขาก็ย่อมจะเชื่อเองและนำไปใช้นำไปปฏิบัติเอง โดยที่ผู้สอนไม่จำต้องบังคับขู่เข็ญ บูรพาจารย์ทางพระพุทธศาสนาของไทย ซึ่งเข้าใจในหลักการสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี เมื่อพูดถึงการสั่งสอนพระพุทธศาสนา หรือการประกาศพระพุทธศาสนา ท่านจึงใช้คำว่า เผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น องค์การเผยแผ่ นักเผยแผ่ เป็นต้น ท่านไม่ใช้คำว่าเผยแพร่ ซึ่งมีความหมายเหมือนกับการแพร่ระบาดของโรค ฉะนั้น เรื่องนี้จึงน่าทำความเข้าใจไว้ก่อนแต่เบื้องต้น
เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงทำหน้าที่ด้านการสั่งสอนเผยแผ่อย่างกว้างขวาง การสั่งสอน เผยแผ่ที่นับว่าเป็นภารกิจประจำ ก็คือการอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรในฐานะที่ทรงเป็นพระอุปัชณาย์อาจารย์ อันเป็นส่วนหนึ่งของการให้การศึกษาดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น การเทศนาสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกาและพุทธศาสนิกชน ในวันธรรมสวนะหรือวันพระและในโอกาสต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วเช่นกัน
นอกจากที่กล่าวแล้ว การสั่งสอนเผยแผ่อีกลักษณะหนึ่งที่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสานโสภณได้ทรงดำริจัดขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก็คือการแสดงธรรม หรือว่าเทศน์แก่ชาวต่างประเทศในวันอาทิตย์ โดยเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๑๒ ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร และทรงมอบให้พระที่จบการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศบ้าง พระชาวต่างประเทศที่จำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร บ้างผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้แสดงธรรม ปรากฏว่าชาวต่างประเทศและชาวไทยให้ความสนใจมาร่วมฟังธรรมกันคราวละมาก ๆ แต่กิจกรรม นี้ดำเนินไปได้ไม่นานก็เลิกลาไป เพราะขาดแคลนพระสงฆ์ไทยที่ชำนาญภาษาอังกฤษถึงขั้นสามารถ แสดงธรรมแก่ชาวต่างประเทศได้
แต่พระดำริในเรื่องการสั่งสอนเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างประเทศ ผู้สนใจ ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ มิได้พลอยเหือดหายไปด้วย ถึงปี พ.ศ.๒๕๑๔ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงพื้นกิจกรรมดังกล่าวขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยทรงสอนด้วยพระองค์เอง เนื่องจากในระยะนี้ มีชาวต่างประเทศทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย เข้ามาบรรพชาอุปสมบทเพื่อศึกษาปฏิบัติ พระพุทธศาสนาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมทั้งมีชาวต่างประเทศที่เป็นคฤหัสถ์แสดงความสนใจที่จะศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องการฝึกปฏิบัติสมาธิกรรมฐานเพิ่มมากขึ้น บางคนก็มาขอสนทนาศึกษาด้วยเป็นการส่วนตัว เช่น นางโยเซฟีน สแตนตัน ภรรยา อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (ซึ่งเริ่มมาศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒) เพื่อเป็นการส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและเพื่อสนองกุศลเจตนาของผู้สนใจ เจ้าพระคุณ สมเด็จ ฯ จึงได้จัดให้มี “DHAMMA CLASS” ขึ้นที่กุฏิที่พำนักของพระองค์เอง (คือที่ห้องหน้ามุขชั้นล่าง ของตำหนักคอยท่า ปราโมช ในบัดนี้)
DHAMMA CLASS ที่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จัดขึ้นนี้ มีชาวต่างประเทศทั้งที่เป็นพระและ คฤหัสถ์มาร่วมฟัง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงสอนเป็น ภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง โดยมีพระชาวต่างประเทศ ช่วยบ้าง เป็นลักษณะการบรรยาย และซักถาม แล้วฝึกนั่งสมาธิ ในการสอน แต่ละครั้ง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงเตรียม บทบรรยายประกอบ การสอนเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยพระองค์ เองทุกครั้ง (บทบรรยายดังกล่าวได้มีการ จัดพิมพ์เผยแพร่ ในเวลาต่อมาด้วย) ในระยะแรกมีชาว ต่างประเทศมาร่วมฟัง การสอนไม่มากนัก และค่อยเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนต้อง ย้ายที่สอนจาก ภายในที่พำนักของพระองค์ไป ใช้สถานที่ที่ กว้างขวางยิ่งขึ้น พอเพียงแก่ผู้ร่วมฟังการสอนจำนวนมาก กิจกรรมนี้ได้ดำเนิน ต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ จึงได้เลิกไป เพราะเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีภารกิจด้านอื่น ๆ มากขึ้น และขาดพระผู้สามารถ ที่จะรับช่วงกิจกรรมนี้ต่อไป
ในโอกาสที่องค์ดาไลลามะ ประมุขแห่งศาสนจักรของ ธิเบตเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๐ และได้เสด็จ เยือนวัดบวรนิเวศวิหารด้วย ครั้งนั้น องค์ดาไลลามะ ทรงปรารภกับเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ซึ่งขณะนั้น ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณว่าอยาก ศึกษาการ ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานแบบเถรวาท เจ้าหน้าที่จัดการรับ เสด็จจึงได้จัดให้เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ถวายคำแนะนำในการปฏิบัติสมาธิ กรรมฐานแบบ เถรวาทแก่องค์ดาไลลามะตาม พระประสงค์ ณ สำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง องค์ดาไลลามะ เสด็จเยือนประเทศไทยหลายครั้ง และทุกครั้งได้ เสด็จเยือน วัดบวรนิเวศวิหารและทรงพบปะ สนทนากับเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ด้วย จึงทรงคุ้นเคยกับเจ้า พระคุณสมเด็จ ฯ เป็นอย่างดี ในการเสด็จ ประเทศไทยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ และประทับแรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร คำแรกที่องค์ดาไลลามะตรัสทักทายเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เมื่อทรงพบกันในพระอุโบสถวัด บวรนิเวศวิหารก็คือ “พี่ชายคนโตของข้าพเจ้า” อันแสดงถึงความเคารพ รักที่ทรงมีต่อกันเพียงไร
นอกจากการสั่งสอนเผยแผ่อันเป็นกิจกรรมภายในวัด/ภายในประเทศดังกล่าวแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ยังทรงมีภาระหน้าที่รับผิดชอบกิจการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในต่างประเทศอีกหลายด้าน นับแต่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เป็นต้นมา กล่าวคือ
พ.ศ. ๒๕๐๙ ในฐานะทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไป ต่างประเทศ เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ในพิธีเปิดวัดพุทธปทีป อันเป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศ อังกฤษและในทวีปยุโรป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ในโอกาสเดียวกันนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ดูกิจการพระธรรมทูตและกิจการ พระศาสนาในประเทศอังกฤษและในประเทศ อิตาลีด้วย
พ.ศ.๒๕๑๐ ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคมและประธานกรรมการอำนวยการฝึก อบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ได้ตามเสด็จสมเด็จพระสังฆราช (อุฏฺฐายีมหาเถร) วัด มกุฎกษัตริยาราม เสด็จเยือนประเทศศรีลังกาอย่างเป็นทางการ เพื่อเจริญศาสนไมตรี และดู กิจการพระศาสนาในประเทศนั้น
พ.ศ.๒๕๑๑ ในฐานะประธานสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย (ปัจจุบันเรียกว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย) โดยอนุมัติของมหาเถรสมาคม ได้เสร็จไปดูการพระศาสนา และการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ณ ประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ ผลจากการเดินทางครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศนั้น ๆ คือ
ในประเทศอินโดนีเชีย หัวหน้าชาวพุทธในประเทศนั้นพร้อมด้วยชาวพุทธต่างปลื้มปิติ และได้เจรจาขอให้เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรม พระธรรมทูตไปต่างประเทศ ช่วยจัดส่งพระธรรมทูตไทยออกไปช่วยฟื้นฟู พระพุทธศาสนาเถรวาท ในประเทศนั้น ในปีต่อมา (พ.ศ.๒๕๑๒) สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูต ฯ และกรมการศาสนา จึงได้ดำเนินการจัดส่งพระธรรมทูตไทย ๔ รูปออกไปปฏิบัติศาสนกิจฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในประเทศอินโดนีเซีย พระธรรมทูตไทยได้ผลัดเปลี่ยนกันไปปฏิบัติศาสนกิจในประเทศอินโดนีเชีย หลายชุดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ยังผลให้พระพุทธศาสนาเถรวาทประดิษฐานมั่นคงขึ้นใน ประเทศอินโดนีเชียอย่างรวดเร็ว กระทั่งปัจจุบันได้มีวัดพระพุทธศาสนาแผ่กระจายไปทั่วประเทศ อินโดนีเชียอีกครั้งหนึ่ง เหมือนที่เคยมีมาเมื่อ ๕๐๐ ปีก่อนและมีคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเชีย ที่มั่นคงเป็นหลักฐาน
ในระหว่างที่มีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินโดนีเชียนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ ได้เสด็จไปให้การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร ชาวอินโดนีเชียเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ ณ มหาเจดีย์บุโรพุทโธ หรือบุโรบูดู เป็นการ ปลูกสมณวงศ์แบบสยามวงศ์ขึ้นในประเทศอินโดนีเชียเป็นครั้งแรก และได้เสด็จไป ให้การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรอินโดนีเชียในเวลาต่อมาอีกหลายครั้ง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงทรงเป็นผู้ก่อกำเนิดสมณวงศ์หรือคณะสงฆ์เถรวาทขึ้นในประเทศอินโดนีเชียยุคปัจจุบัน
ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีผู้นับถือพระพุทธศาสนาและใสใจพระพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวน มาก ชาวพุทธในประเทศนั้นแสดงความประสงค์ใคร่มีวัดและพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศนั้น และได้ขอให้เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ช่วยอนุเคราะห์เพื่อให้มีวัดไทยและพระสงฆ์ไทยอยู่สั่งสอนพระพุทธศาสนาในออสเตรเรีย เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย (ในขณะนั้น) จึงทรงอำนาจการให้จัดตั้งสำนักสงฆ์ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นที่นครชิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ พร้อมทั้งได้จัดส่งพระสงฆ์ไทย และพระสงฆ์ชาวต่างประเทศที่บวชศึกษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ออกไปอยู่จำพรรษาเพื่อสั่งสอนพระพุทธศาสนา ณ สำนัก สงฆ์นั้นในปีเดียวกัน สำนักสงฆ์แห่งนี้ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับจนตั้งเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “วัดพุทธรังษี” นับเป็นวัดไทยแห่ง แรกในทวีปออสเตรเลีย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเป็นวัดพุทธรังษีนี้ในปีเดียวกัน
จากจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในออสเตรเลียที่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ ยังผลให้เกิดวัดพระพุทธศาสนาขึ้นในออสเตรเลีย และแผ่กระจาย ไปทั่วทุกภาคของประเทศในเวลาต่อมา ปัจจุบันมีวัดไทยและพระสงฆ์ในประเทศ ออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก
พ.ศ.๒๕๑๔ ในฐานะประธานสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย ได้เสด็จไปดูการ พระศาสนาและการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ณ ประเทศปากีสถาน ประเทศอินเดีย และ ประเทศเนปาล พร้อมทั้งทรงได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม ให้เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยไปเยี่ยม คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวปากีสถานตะวันออก (ปัจจุบันคือ ประเทศบังคลาเทศ) ซึ่งประสบวาตภัยครั้งใหญ่ในปีนั้นด้วย
ผลจากการเดินทางครั้งนี้ ทำให้ทรงทราบสถานการณ์ของพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น ๆ ว่ากำลังได้รับการฟื้นฟูและต้องการความช่วยเหลือจากชาวพุทธด้วยกันเป็นอันมาก โดยเฉพาะในประเทศเนปาล ซึ่งพระพุทธศาสนาได้เสื่อมสูญไปเป็นเวลาหลายร้อยปี และเพิ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้น อีกครั้งหนึ่งเริ่มแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นต้นมา จึงมีความต้องการความอนุเคราะห์ร่วมมือในการ ฟื้นฟูเป็นอันมาก เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในฐานะประธานสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยจึงทรงตอบ สนองความต้องการของ คณะสงฆ์เนปาลในเวลานั้น โดยทรงดำเนินการให้สภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัยให้ทุนการศึกษา แก่ภิกษุสามเณรเนปาล ๒ ทุนเพื่นอยู่ศึกษาพระพุทธศาสนา ในประเทศไทยเป็นการเริ่มต้น และวัดบวรนิเวศวิหารรับภิกษุสามเณรทั้ง ๒ รูปให้พำนัก อยู่ในวัดบวรนิเวศวิหารจนจบการศึกษา ศาสนสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเนปาลจึง ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ บัดนั้นเป็นต้นมา และมีความใกล้ชิด กันยิ่งขึ้นตามลำดับ ทั้งฝ่ายคณะสงฆ์และฝ่ายพุทธศาสนิกชนทั่วไป ในเวลาต่อมา คณะสงฆ์เนปาล ก็ได้จัดส่งภิกษุสามเณรเนปาลเข้ามาอยู่ศึกษา พระพุทธศาสนา อย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ภิกษุสามเณรเหล่านี้ เมื่อจบการศึกษาแล้วก็กลับไปช่วยกิจการ คณะสงฆ์ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในประเทศของตนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงทรงเป็นผุ้เริ่มสร้างสายสัมพันธ์ระหว่าง คณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนไทยกับเนปาลขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงเป็นผู้นำพลังเกื้อหนุนจาก พุทธศาสนิกชนชาวไทย ไปสู่การฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในประเทศเนปาลตั้งแต่บัดนั้นต่อเนื่อง มาจวบจนบัดนี้อย่างไม่ขาดสาย
นอกจากนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร ยังได้เสด็จไปให้การบรรพชาแก่กุลบุตรชาวเนปาล ณ นครกาฐมัณฑุครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ ซึ่งยังผลให้เกิดความตื่นตัวในการบวชเพื่อศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนา และการส่งเสริมฟื้นฟู พระพุทธศาสนา ขึ้นในหมู่ชาวเนปาลอย่างกว้างขวาง
พ.ศ.๒๕๒๓ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร เสด็จไปดูการพระศาสนา และการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเป็นเวลา ๑ เดือน
พ.ศ.๒๕๓๖ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เสด็จเยือนประเทศสาธารรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำกราบทูลอาราธนาของรัฐบาลจีน เป็นเวลา ๑๒ วัน นับเป็นประมุขแห่งศาสนจักร พระองค์แรกในประวัติศาสตร์จีน ที่รัฐบาลจีนกราบทูลให้เสด็จเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ในการเสด็จ เยือนจีนครั้งนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงพบปะกับผู้นำของประเทศ ผู้นำของมณฑลต่าง ๆ ที่เสด็จเยือน ผู้นำของชาวพุทธในเมืองนั้น ๆ ตลอดถึงเสด็จเยี่ยมเยียนวัดพระพุทธศาสนา พบปะภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก พระจริยาวัตรของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นที่ประทับใจของพุทธศาสนิกชนชาวจีนมาก ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ เพราะภาพของ “พระสงฆ์” เช่นเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้น พวกเขาไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ผลของการเสด็จเยือยจีนของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ครั้งนั้น ก่อให้เกิดความตื่นตัวในการฟื้นฟู พระพุทธศาสนาในประเทศจีนขึ้นในหมู่ชาวพุทธจีนเป็นอย่างมาก
http://www.watbowon.com/index_main.htm