รอยของพระธรรม โดย ท่าน พุทธทาส ภิกขุ

รอยของพระธรรม โดย ท่าน พุทธทาส ภิกขุ

หน้าที่ 1 – สันติสุข
โลกนี้ก็มีสันติสุขทีนี้ยังจะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาเอง คือพระศาสนาไม่สาบสูญไปเสีย ยังมีชีวิตอยู่ นี่แหละประโยชน์ที่พึงจะได้ ที่อยู่อย่างนี้ก็นับว่ามากหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายทำให้สำเร็จประโยชน์ เรามานั่งกันกลางดินนี่ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องกำหนดไว้ในใจ ข้อแรกก็ว่า ธรรมะนี่เกิดกลางดิน เพราะพระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน ท่านตรัสรู้กลางดิน ท่านสอนกลางดิน ท่านอยู่กลางดิน ท่านนิพพานคือตายก็กลางดิน นั่นมันเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ท่านสอนกลางดินโดยส่วนใหญ่พระไตรปิฎก นั้นเป็นสูตรที่กลับกันมันนั่งกันกลางดิน เพราะว่าธรรมะศาลาก็กลางดิน ก็จัดได้ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าที่ไหน แผ่นดินจึงเป็นที่เกิดของธรรมะ เรามานั่งกันกลางดินก็ควรจะพอใจเป็นพิเศษกว่าการนั่งเรียนศึกษากันบนตึกราคาแพง อย่างที่มหาวิทยาลัย เป็นต้น เมื่อนั่งกลางดินมีจิตใจอย่างไรขอให้กำหนดไว้ให้ดีๆ ถ้าไปนั่งบนตึกเรียนมีจิตใจอย่างไรก็จะได้กำหนดเพื่อเปรียบเทียบกันดูและจิตใจชนิดไหนที่เหมาะจะศึกษาและปฏิบัติธรรมะข้อนี้ก็จะรู้ได้เอง การมีจิตใจต่ำ การมีความเป็นอยู่ต่ำ จิตใจมันก็ใฝ่สูง ถ้าจิตใจมันอยู่สูง จิตใจมันก็ไปต่ำ นี่ควรจะกำหนดข้อนี้ไว้ด้วย จะได้พยายามเป็นอยู่อย่างต่ำ อย่างง่าย อย่างถูกที่สุด ถ้าเป็นอย่างพระสาวกแล้วก็เป็นอยู่อย่างไม่ต้องใช้เงินเลย อย่างนี้เป็นต้น นั่นขอให้ตั้งสังเกต ตั้งแต่เรื่องเหล่านี้เป็นต้นไป ทีนี้เรื่องที่จะพูดกันวันนี้ เท่าที่ได้รับทราบมาเป็นความประสงค์จะให้พูดเรื่อง แนวการปฏิบัติเพื่อความเป็นอยู่ของพุทธบริษัท สำหรับจะได้ดำเนินตาม

อาตมาก็จะขอตั้งชื่อเสียใหม่ สำหรับการบรรยายในครั้งนี้ ว่าจะบรรยายเรื่อง รอยของพระธรรม ร่องรอยของพระธรรม ขอให้พยายามทำใจกำหนด ฟังให้ดีๆ เพราะว่ามันเป็นการลำบากอยู่ ในการที่จะพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และมีผู้ฟังชนิดที่แตกต่างกันมาก ระดับหนึ่งเป็นศิษย์ ระดับหนึ่งเป็นครูบาอาจารย์ ยิ่งกว่าครูบาอาจารย์ก็มี มันก็เป็นการยากที่จะพูดประโยคเดียวคำเดียวให้เหมาะสมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นจะต้องคอยกำหนดเอาเอง กำหนดเอาใจความเป็นสำคัญ สำนวนที่พูด คำที่พูดนั้นก็ไม่สำคัญอะไรนัก มันสำคัญอยู่ที่เนื้อหาของเรื่องที่พูด ขอให้กำหนดให้ได้ตามภูมิแห่งสติปัญญาของตนของตน ที่ว่าจะพูดเรื่องรอยของพระธรรมนั้น หมายความว่า รอยนี้หรือพระธรรมนี้เป็นสิ่งที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้ว ได้ดำเนินไปแล้ว รอยแห่งการดำเนินไปแล้วนั้น มีอยู่สำหรับพวกเราจะต้องเดินตามแม้ว่าจะต้องลำบากบ้าง ถึงขนาดที่เรียกว่า แกะรอย ก็ยังเป็นการสมควรอยู่นั่นเองที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสในทำนองอย่างนี้ ตัวทางเดินเก่า ท่านเรียกว่าทางเดินเก่า ทางที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเคยได้เดินไปแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายได้เคยเดินไปแล้ว พระอริยสงฆ์ได้เคยเดินไปแล้ว ทางเดินเก่า ไม่มีร่องรอยพอที่จะกำหนดได้ ไม่เหลือวิสัย ท่านตรัสไว้อย่างไร เราก็ควรจะกำหนดให้เป็นเหมือนกัน เดินตาม เดินตามไปไหน จุดหมายปลายทางของพรหมจรรย์ ของศาสนาหรือของการปฏิบัตินี้ก็คือความดับทุกข์สิ้นเชิงนี่จุดหมายอยู่ที่นั่น และที่สำคัญที่สุดก็คือ พระพุทธองค์ได้ตรัสยืนยันว่า แต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี พูดแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ เราอย่าเอาอะไรให้มันมากไปกว่านั้น มันยุ่งเปล่าๆ มันเสียเวลาเปล่าๆ เรื่องที่แตกตื่น ฮือฮากันไปตะเลิดเปิดเปิงไปอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเรื่องวิจิตรพิสดาร แปลกประหลาดก็มีมาก ถ้ามันไม่ได้ดับทุกข์ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ให้เรา ท่านตรัสว่า กล่าวแต่เรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ ทำไมต้องพูดถึงเรื่องความทุกข์ล่ะ ก่อนมันต้องดูกันเสียว่ามีความทุกข์กันเสียก่อน ถ้าไม่มีความทุกข์ก็ไม่มีปัญหาอะไร คนเรานี่อย่าอวดดีไป ถ้าไม่มีความทุกข์และไม่มีปัญหาอะไรขอให้ดูกันให้ดีๆ มันจะต้องมีปัญหาคือตัวความทุกข์ และพยายามที่จะดับความทุกข์นั้นเสีย คนบางคนอาจจะเขลาไป รู้สึกว่าไม่มีความทุกข์อะไร พอใจทุกอย่าง หรือว่าเกิดความทุกข์ขึ้นมาบ้างก็ทำไม่รู้ไม่ชี้เสียอย่างนี้ก็มี คนบางคนยังมีแปลกไปกว่านั้นอีก คือเขาพูดว่าถ้าเป็นคนธรรมดา ปกติธรรมดาก็ต้องมีความทุกข์สิ ถ้าไม่มีความทุกข์เลย ก็เป็นคนผิดปกติ ผิดปกติในความหมายที่มันน่ารังเกียจ เป็น Abnomal มันเป็นคนผิดปกติ คนบ้าคนบอไปอย่างนั้น ถ้าไม่มีความทุกข์เลยพวกนั้นก็เห็นว่าเป็นคนผิดปกติเราไม่เอา เราจะเอาแต่ปกติคือมีทุกข์บ้างสุขบ้างคละเคล้ากันไปอย่างนี้ก็มีอยู่ เป็นอันว่าไม่ต้องมีปัญหาในเรื่องอย่างนี้ เรายังมีปัญหาที่เป็นเครื่องบีบคั้นจิตใจ ทรมานจิตใจ รบกวนจิตใจ แม้ที่สุดแต่ว่าทำจิตให้หม่นหมองก็เรียกว่าความทุกข์ แม้ที่สุดก็แปลว่ารำคาญ ในตัวชีวิตนี้เองมันช่างไม่ได้อย่างใจเลยเสียทุกอย่าง ในความรำคาญแก่ชีวิตนั้นก็ต้องเรียกว่าความทุกข์ด้วยเหมือนกัน มันต้องไม่มี ถ้าไม่มีจะดีไหมหรือจะเหมือนกับคนนั้นว่าเป็นมนุษย์ต้องมีความทุกข์ เรื่องนี้ตามหลักของพระพุทธศาสนาถือว่าเราจะต้องพยายามให้ถึงที่สุดซึ่งแห่งความทุกข์ มีความสิ้นสุดลงแห่งความทุกข์ ก็มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ขึ้นมา เพราะมีความทุกข์นั่นแหละ ความเป็นมนุษย์ของเราจึงไม่เต็ม ถ้ามีความทุกข์มากเท่าใดก็เรียกว่าความเป็นมนุษย์มันพร่องมากเท่านั้น ความเป็นทุกข์น้อยลงไปเท่าใดความเป็นมนุษย์ก็มีมากเท่านั้น ความเป็นมนุษย์เต็มขึ้น เต็มขึ้น ความทุกข์ลดลงไป ลดลงไป พอดับทุกข์ได้สิ้นเชิงความเป็นมนุษย์ก็ถึงที่สุด นี่ฝรั่งเขารู้มาอย่างไรก็ไม่รู้ เขาแปลคำว่าพระอรหันต์นี่เป็นที่ถูกใจมาก ที่เขาแปลว่า The man Perfectted คือพระอรหันต์นี่แหละเป็นคนที่เต็ม มนุษย์ที่เต็มเป็นพระอรหันต์ พูดอย่างไม่เกี่ยวกับศาสนา ก็พูดตามความรู้ทั่วไป ตามหลักทั่วไป ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาก็ได้ ว่าเป็นพระอรหันต์นั่นก็คือมนุษย์จิตเต็ม ไอ้คำนี้เป็นคำที่น่าสนใจ เป็นคำเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธศาสนาโน่น ก่อนมีพุทธศาสนาก็มีคำว่าอรหันต์ อรหันต์นี่ใช้กันอยู่แล้วแหละที่เขาหมายถึงมนุษย์ที่ดีที่สุดที่ประเสริฐที่สุด แต่มันก็ยังไม่ประเสริฐจริง มันประเสริฐเท่าที่เขารู้ เขาคิดได้ เราก็ยกให้เป็นพระอรหันต์ไป พระพุทธเจ้าไม่ทรงพอพระทัยในความเป็นอรหันต์เพียงเท่านั้น ท่านก็ตรัสเรื่องความดับทุกข์อย่างมากขึ้นไป ขึ้นไปจนดับทุกข์สิ้นเชิงเขาเรียกว่าพระอรหันต์ นี่เรียกว่ามนุษย์ที่ถึงที่สุดแห่งความเป็นมนุษย์ เราจะเอาหรือไม่เอาก็ลองคิดดู ไม่เอาทั้งหมด เอาสักครึ่งหนึ่งก็ยังดีถมไป ให้ดับทุกข์ได้สักครึ่งหนึ่งก็ยังดีถมไป เอาล่ะเป็นว่าเราต้องการกันแล้วเดี๋ยวนี้

หน้าที่ 2 – รอยของพระธรรม
บางคนไม่เอา บางคนเอาน้อย บางคนเอามากเกินไป บางคนจะเอาอะไรมันมากเกินไปชีวิตนี้ อย่างนี้ก็มีอยู่ จะต้องเป็นที่แน่นอนว่าเราจะเอาอะไรกันบ้าง สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้ ถ้าให้เลือกเอาตามชอบใจดูจะไม่สิ้นสุด ถ้าท่านเอาสิ่งที่ตรงกันข้ามตะเลิดเปิดเปิงก็ไม่ควรเอา เหมือนอย่างเดี๋ยวนี้เราทุกคนมองดูตัวเอง มองดูผู้อื่น มองดูเพื่อนมนุษย์ทั้งโลกว่าเขาต้องการอะไร คือเขาต้องการมากเกินไปกว่าความดับทุกข์จนเรียกได้ว่าต้องการจนเป็นบ้า ต้องการเรื่องสวยงาม เรื่องอะเหร็ดอร่อย เรื่องสนุกสนาน เรื่องอำนาจวาสนาเรื่องอะไรสารพัดอย่างกระทั่งต้องการสวรรค์มากกว่าต้องการความดับทุกข์ ความดับทุกข์ไม่ค่อยมีความหมายสำหรับคนจำพวกนี้ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าสวรรค์ตามความคิดของเขามีความหมายมาก

ดังนั้นเขาจึงตะเลิดเปิดเปิงในความต้องการ เรื่องความดับทุกข์ไม่สนใจ สนใจที่จะมีรถยนต์ราคาแสน ราคาล้าน ต้องการบ้านราคาหลายสิบล้าน ต้องการอะไรอย่างนั้น จนไม่มีที่สิ้นสุด เห็นเป็นเรื่องดีกว่าความดับทุกข์ หรือคิดว่าถ้าถึงนั้นแล้วมันจำไม่มีความทุกข์ นี่มันเป็นเรื่องที่คิดผิดทั้งสองอย่าง มันอยู่ที่จิตใจวางไว้ถูกหรือวางไว้ผิด มันจะเป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์อยู่ที่จิตใจวางไว้ถูกหรือวางไว้ผิด ให้มันร่ำรวยมีรถยนต์ราคาล้านๆ มีรถหลายคัน มีบ้านราคาหลายสิบล้าน ตั้งหลายหลัง บ้านมีอะไรเต็มไปหมดตามอัตรานั้น และมันตั้งใจผิดก็เท่านั้นแหละมันก็ตกนรก หรือถ้าไม่มีอะไรเลยก็ได้ แต่ถ้าตั้งใจไว้ถูกมันก็จะไม่มีความทุกข์เลยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันคนละเรื่องกันถ้าจะพูดถึงความดับทุกข์ ความดับทุกข์ก็ขอให้เป็นเรื่องของความดับทุกข์และให้มันถูกต้อง นี่เรามาคำนวณใคร่ครวญกันดูให้ดี ถ้าอย่างไรเราต้องการกันอย่างพอเหมาะพอดี เรียกว่าต้องการชีวิตชนิดที่ว่าไม่มีความทุกข์เลย และก็มีการเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายเพียงเท่านี้เอาไหม ตกลงไหม เรามีชีวิตชนิดที่ว่าไม่เป็นทุกข์เลย ก็หมายความว่ามันเย็น ไม่ร้อน ไม่เป็นทุกข์ แล้วก็อิ่มคือไม่ต้องตาย ความพอใจมาแต่ความอิ่ม เมื่ออิ่มมันก็ไม่มีความทุกข์ ถ้ามันอยาก มันหิว มันก็มีความทุกข์ เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักว่าควรอยากอะไร ไม่ควรอยากอะไร จะอิ่มอะไรก็ไม่รู้ไปเสียทั้งนั้น เอาความหิวมาเป็นความอิ่มมากลับกันเสียได้ เป็นความสุขชนิดหัวมังกุดท้ายมังกร เอาเรื่องความบ้าหลังในเรื่องของวัตถุ ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟื้อว่าเป็นความสุขอย่างนี้ก็มี ความอิ่มคำนี้สำคัญมาก บาลีเรียกว่าจุดฐิ จุดฐิ ที่มาเป็นคำว่าสันโดษ ยินดีพอใจ จุดฐิแปลว่าความอิ่ม ไม่มีใครจะเป็นคนอิ่มนอกจากพระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่มีความต้องการ ไม่มีกิเลส ไม่มีเหตุให้ต้องการ ไม่มีอวิชชาสำหรับไปคิดว่าต้องการอะไร ท่านก็ไม่มีความหิว ในบาลีกล่าวไว้แปลกมากคือ ในบางสูตรกล่าวเรื่องการหมดจดสิ้นสุดของกิเลสอย่างนั้น อย่างนั้น และก็มีประโยคนึงว่าความอิ่มของท่านถึงที่สุดนี่ มีว่าอย่างนี้ ความอิ่มของท่านถึงที่สุด ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ยังมีหิวอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยตรงโดยอ้อม รับโดยเปิดเผยเองก็ตามใจ อิ่มยังไม่สมบูรณ์ นี่คำว่าสันโดษ สันโดษนี่ของพระอรหันต์เท่านั้นแหละที่จะสมบูรณ์ ของคนทั่วๆไปมันก็สันโดษแกล้งๆกันไปทั้งนั้น ที่ว่าสันโดษเพราะมันหาไม่ได้ คือมันไม่รู้จักทำจิตใจให้พอใจ ให้หยุดมันก็สันโดษไม่ได้ ในความอิ่มเป็นชื่อเดียวกับความสิ้นสุดความทุกข์ ดับสิ้นสุดแห่งความทุกข์ก็เป็นความอิ่ม เรียกสมมุติอีกอย่างนึงก็ว่าเป็นความสุข เรื่องความสุขนี้รู้จักกันไว้ให้ดีๆ มันมีอยู่ 2 ชนิด ซึ่งมันหลอกลวงได้มาก ความสุขชนิดหนึ่งเกิดมาจากกิเลสได้เหยื่อ มีเหยื่อให้กิเลสกิน กิเลสก็พอใจก็เป็นความสุขนี่ ความสุขชนิดนี้เกิดมาจากการที่กิเลสได้เหยื่อตามที่มันต้องการ ทีนี้ความสุขอีกชนิดหนึ่งเกิดมาจากการที่ไม่มีกิเลสหรือกิเลสไม่ต้องได้เหยื่อ ไม่ต้องได้เหยื่อ กิเลสถูกทำให้หมดไป ให้ลดไป ให้หายไป หรือจะพูดใกล้เคียงกันว่าเมื่อกิเลสไม่ต้องการกินเหยื่อ เมื่อกิเลสไม่หิว ไม่มีกิเลสจะหิว ก็มีความสุข ความสุขอย่างที่หนึ่ง เมื่อกิเลสได้กินเหยื่อ ความสุขอย่างที่สองก็เมื่อไม่มีเหยื่อให้กิเลสกิน จิตไม่มีกิเลส จิตก็สงบระงับก็เป็นสุขมาทางนี้ ทางที่ไม่ต้องมีกิเลสสำหรับกินเหยื่อ มีทางหนึ่งที่กิเลสต้องได้เหยื่อ ทางที่กิเลสต้องการ รู้สึกเป็นสุข นั่นก็คือคนทั่วไปหรือปุถุชน ต้องการเหยื่อแห่งราคา แห่งโทสะ โมหะ อย่างที่รู้จักกันดีแล้ว อะไรเป็นความสนุกสนานอะเหร็ดอร่อย ทางวัตถุ ทางเนื้อ ทางหนัง เป็นความเพลิดเพลินอันหลอกลวง ก็เรื่องที่กิเลสได้เหยื่อก็จะเห็นว่าเป็นความสุข เป็นเรื่องของปุถุชน ขอพูดลุกล้ำไปสักหน่อยว่า ทุกคนในโลกมันจะเป็นไปอย่างนี้ อุตส่าห์เล่าเรียนอย่างนักเรียนนักศึกษา ก็จะได้ทำงานชนิดที่ได้เงินมากแล้วก็ไปซื้อหาสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น เรียนเมื่อได้เงินมาก เพื่อเอาเงินไปซื้อหาเหยื่อเลี้ยงกิเลส ก็ได้ความสุขชนิดที่กิเลสได้เหยื่อ เป็นความสุขสนุกสนานอะเหร็ดอร่อยไปตามแบบนั้นจะเป็นกันเสียทั้งโลก ทีนี้ควรจะรู้ในส่วนที่เป็นตรงกันข้ามบ้างว่า มันมีอีกอันหนึ่งที่ตรงกันข้ามคือไม่เกิดกิเลสและไม่ต้องการเหยื่อ เรื่องทั้งหมดมันมีแต่จิตยืนอยู่เป็นประธาน จิตเป็นกลางๆ ยืนอยู่เป็นประธาน ถ้าจิตปรุงแต่งเป็นกิเลส กิเลสครอบงำจิต กิเลสครอบครองชีวิตมันก็เป็นไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อจิตไม่มีกิเลส มีแต่วิชชา ปัญญา โพธิเหล่านี้ไม่มีกิเลส วิชชาหรือปัญหาครอบงำชีวิต ชีวิตมันก็เป็นไปตามแบบของปัญญา หรือโพธิซึ่งตรงกันข้ามกับกิเลส ฝ่ายหนึ่งเรียกว่ากิเลสมาจากความโง่ ฝ่ายหนึ่งเรียกว่าไม่มีกิเลสมาจากโพธิคือความฉลาด ถ้าจิตเป็นกิเลสมันก็ต้องการเหยื่อของกิเลส ถ้าจิตมันเป็นโพธิมันก็ไม่ต้องการเหยื่อของกิเลส เกิดความเกียจชัง ขยักแขยง ไอ้เหยื่อของกิเลสมันก็ต้องการอย่างหนึ่ง เรารู้จักกันให้ดีว่ามันมีความเป็นไปหรือข้อเท็จจริงในชีวิตมันเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตพึงเป็นกิเลสจิตมีกิเลสก็เป็นไปตามแบบของกิเลส จิตพึงเป็นโพธิ มีโพธิอยู่กับจิตมันก็เป็นไปตามแบบของโพธิ โพธิๆ คือปัญญา คือความรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ ถ้าเราจะศึกษาชนิดที่เป็นประโยชน์แม้จริงก็คือจิตศึกษาให้เกิดโพธิชนิดที่จะไม่เกิดกิเลส การศึกษาอย่างอื่น ร้อยอย่าง พันอย่างก็ตามใจว่ามันไม่สู้การศึกษาชนิดที่ทำให้เกิดโพธิได้ เดี๋ยวนี้ในโลกมันก็ศึกษาเพื่อพร้อมไปรับใช้กิเลสกันเสียมาก วิชาที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งหลายก็เพื่อไปรับใช้กิเลสกันเสียเป็นส่วนมาก ก็ใช้วิชานั้นผลิตสิ่งที่เป็นเหยื่อแก่กิเลสและก็เป็นอุปกรณ์ จึงเป็นโลกที่เต็มไปด้วยกิเลส มีความทุกข์ร้อนเราจะทำกันอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคิดดูให้ดีๆ เอาล่ะทีนี้ก็จะพูดถึงรอยของพระธรรม ที่อยู่เป็นระบบ เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกันเป็นระบบครบถ้วนสมบูรณ์ เรื่องของพระธรรม แต่ว่าใจความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่ากำจัดกิเลส กำจัดกิเลสอย่างเป็นระบบ การสอนธรรมะหรือการศึกษาธรรมะมันมีอยู่ 2 ชนิดคือ ว่าอย่างฉาบฉวยไม่มีระบบนี่ก็พวกหนึ่ง อย่างมีระบบครบถ้วนนั้นก็อีกอย่างหนึ่ง พวกที่สั่งสอนอย่างฉาบฉวยไม่มีระบบก็คือ พูดไปตามความคิดนึก เชื่อขณะ คิดอะไรก็เป็นประโยคหนึ่งน่าฟังมันก็ยึดถือกันไป เป็นใหญ่ เป็นโต เป็นศักดิ์สิทธ์ เป็นขลัง เป็นอะไร แต่ไม่มีระบบ ตายด้าน ไม่ถึงกับดับทุกข์ได้ พูดอย่างมีระบบที่มันครบถ้วนในทุกแง่ทุกมุมจะมองเห็นได้ชัดเจนว่ามันจะไปสู่ความดับทุกข์ได้อย่างไร

หน้าที่ 3 – ชนะกิเลส
ดังนั้นขอให้ทุกคนศึกษาธรรมะอย่างมีระบบ แต่ก็ไม่ต้องเกินขอบเขต ต้องไม่เกิน ไม่ต้องมีส่วนเกิน เท่าที่เป็นระบบนี่มันก็ไม่เกิน ถ้าเกินก็ตัดออกให้ระบบมันสั้นเข้ามา ให้พอดีสำหรับที่จะดับทุกข์ได้ก็แล้วกัน ทีนี้ที่เรียกว่ารอยของพระธรรมนี่ เป็นรอยของบุคคลที่ชนะกิเลสได้แล้ว ชนะกิเลสได้แล้ว มีรอยไว้อยู่ ทั้งอย่างที่เป็นหลักวิชชาก็มีเรียนกันอยู่ เป็นหลักปฏิบัติในการปฏิบัติกันอยู่ ส่วนผลของการปฏิบัตินั้นก็มีกันตามส่วน มีการปฏิบัติถูกต้องที่ไหนก็มีการบรรลุผลที่ดีที่สุดอยู่ที่นั่นอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าจะเป็นอยู่โดยชอบแล้วโลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ท่านอัตมาภาพภิกขุเหล่านี้จะเป็นอยู่โดยชอบแล้วโลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์

คำว่าเป็นอยู่โดยชอบนั่นแหละก็ดี ถ้าเป็นบาลีก็ ธรรมาวิหาโร เป็นคำกิริยาว่า สัมมาวิหารยุง ถ้าอยู่กันโดยชอบแล้ว อสันโยโลโกวิหันเตหัตสะ โลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ อย่างไรเรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบกำปั้นทุบดินก็เป็นอยู่อย่างไม่มีผิดพลาด ผิดพลาดเป็นเหตุให้กิเลสเกิดขึ้นหรือส่งเสริมกิเลส ถ้ามันไม่มีทางให้กิเลสเกิดแล้วกำจัดกิเลสก็เรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ โดยส่วนใหญ่ โดยหลักในระบบก็หมายถึงอริยมรรคมีองค์ 8 นี่แหละ เป็นอยู่อย่างอริยมรรคมีองค์ 8 ก็เรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ เป็นอยู่อย่างนั้นโดยที่สุด แล้วโลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เมื่ออริยมรรคมีองค์ 8 นี้เข้าใจว่านักเรียนนักศึกษาทั้งหลายคงจะได้ยินได้ฟังมาแล้ว บางคนคงจะท่องได้ จำได้ สวดได้ ถ้าใครยังไม่จำได้ จำไม่ได้ เรียนรู้ไว้เถิดเป็นสิ่งสูงสุดในฐานะเป็นศาสนาเป็นเนื้อเป็นตัวของศาสนา เป็นหัวใจด้วย เป็นทั้งตัวทั้งหัวใจของพุทธศาสนาแล้วแต่ว่าจะมองกันในแง่ไหน ความถูกต้อง 8 ประการนั้นเรียกว่า เป็นอยู่โดยชอบ จะมีคำชนิดที่สั้นมาก ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของสติปฐานทั้ง 4 สติปฐานทั้ง 4 ได้ตรัสไว้อย่างยืดยาวเท่าไรก็ตามสวดกันหลายชั่วโมง และมีคำที่เป็นใจความสั้นๆ ประโยคสั้นๆ ว่า สัมปชาโน สติมา อวิรินัยโลเก วิชชาโทมะนัสสัง หรือบางทีก็อตโตสัมปชาโน อินัยโลเก อวิชชาโทมะนัสสัง ไม่จำก็ได้บาลียุ่งๆนี่ แต่ใจความเป็นภาษาไทยสั้นๆ ก็คือว่า มีสติสัมปชัญญะนำอวิชชาหรือโทมนัสในโลกออกเสียได้ ซ้ำที่สติสัมปชัญญะนำอวิชชาหรือโทมนัสในโลกออกเสียได้ ขอซ้ำอีกทีนึงสำหรับคนที่ไม่ได้จดมีสติสัมปชัญญะ นำอวิชชาหรือโทมนัสในโลกออกเสียได้ นี่คือเป็นรอยพระธรรมที่สั้นที่สุด ชัดเจนที่สุด เป็นรอยที่หลงไม่ได้ เป็นรอยที่เราจะเดินตามกันได้โดยไม่อยาก อยู่ในวิสัยที่เราจะปฏิบัติได้ทั้งวันทั้งคืนมีสติสัมปชัญญะ นำอวิชชาและโทมนัสในโลกออกไปได้ ปฏิบัติตัวอย่างนี้ จะไปถึงความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง มารู้เรื่องอวิชชาและโทมนัสซึ่งมีอยู่ในโลก อวิชชาคือส่วนที่น่ารัก น่าพอใจ ทำอยากได้ มีมากอย่างไม่รู้กี่ร้อยกี่พันอย่าง โทมนัสคือสิ่งที่ขัดใจ ขัดแค้น โกรธเคือง ไม่เป็นสุข นี่เรียกว่าโทมนัสบาลีเรียกว่าอวิชชาหรือโทมนัส เราเรียกเป็นไทยๆ ว่าความยินดี ยินร้าย อวิชชาความยินดี โทมนัสความยินร้าย มีอยู่ในโลกแล้วก็นำออกเสียได้ อวิชชาหรือโทมนัส โดยเป็นคนมีสติสัมปชัญญะ ทำอยู่อย่างนี้เท่านั้นแหละนั่นคือการเดินตามรอยพระธรรม เดินตามรอยพระพุทธเจ้า เดินตามรอยพระอรหันต์ อยู่ในรอยของพระธรรมอย่างยิ่ง แต่มันก็มีเรื่องที่จะต้องศึกษาหรือคำอธิบาย เราอยู่ในโลกนี้ ถูกรบกวน ถูกกระชากลากถูก หรือว่าถูกตบหน้าได้ เซไปเซมาอยู่ด้วยเรื่อง 2 อย่างนี้ เรื่องด้วยของ 2 อย่างนี้ คือ อวิชชาและโทมนัส บางเรื่องมาทำให้ยินดี บางเรื่องมาทำให้ยินร้าย ที่ทำให้ยินดีนั้นไม่ใช่ความสงบมันก็เสียสมดุลเป็นบวก ถ้ายินร้ายก็ทำให้เป็นทุกข์ทรมานเสียสมดุลเป็นลบ ถ้าเป็นพุทธศาสนาต้องอยู่ตรงกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา อยู่ตรงกลาง มันไม่บวก มันไม่ลบ เดี๋ยวนี้เราไม่มีสติสัมปชัญญะพอ คือบางทีเราจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ตั้งแต่เกิดมาในโลกนี้ เราได้รับการสั่งสอนมาในเรื่องนี้ แต่แล้วเราก็ได้เพิ่มรากเหง้าหรือต้นตอของกิเลสเพิ่มขึ้นๆ โดยไม่รู้สึกตัว อย่างนี้อาจจะแปลกสำหรับบางคน แต่ที่จริงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่สุด พอเราเกิดมาจากท้องแม่ ซึ่งเมื่ออยู่ในท้องแม่หรือเมื่อเกิดมาใหม่ๆนั้น ไม่มีอะไร ไม่มีปัญหาอะไร มันมีจิตใจที่เที่ยง แต่พอทารกนั้นรู้จักกินนม รู้จักกินอาหาร รู้จักอะไรต่างๆ มันก็เกิดในความรู้สึกใหม่ๆ อันแรกก็คือ พอใจอร่อยกินนมแม่ก็พอใจ ก็เกิดความคิดปรุงแต่งตามความพอใจ ในบางเวลาไม่ได้กิน บางเวลาเขาไม่ให้กิน บางเวลามันมีเรื่องอื่นมาขัดขวางก็ยินร้าย เมื่อยินดียินร้าย ในที่นี้ความยินดียินร้ายซึ่งเป็นความรู้สึกเท่านั้นแหละที่เกิดขึ้นนี่ มันทำให้เกิดความรู้สึกอันเลวร้ายที่สุดต่อไปอีก คือความรู้สึกว่าตัวกู ในชั้นแรกมันรู้สึกว่าเป็นตัวกู รู้สึกแต่ว่าพอใจหรือไม่พอใจอะไร อร่อยหรือไม่อร่อย เป็นความอยากในสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ มีความอยากจะทำลายสิ่งที่ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ พอมีความอยากความต้องการ ซึ่งเป็นเพียงความรู้สึก ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เป็นความโง่ของจิตชนิดหนึ่ง ไอ้ความโง่ชนิดที่เป็นความอยาก ความต้องการที่เกิดขึ้นแล้วมันก็ปรุง ให้เกิดความรู้สึกประเภทตัวกูที่ได้มาเป็นของกู มันก็เลยเป็นกูที่อยาก ที่ต้องการเอามาเป็นของกู นี่ความเลวร้ายถึงที่สุด ที่เรียกว่าตัวตนมันก็เกิดขึ้นแล้ว โดยที่เด็กทารกนั้นไม่รู้สึกตัวและมันก็ไม่หยุดและยังมีเรื่องที่ทำให้รู้สึกมากขึ้นๆ จนเป็นเด็ก โตขึ้นมาเป็นเด็กเดินได้ วิ่งได้ เป็นเด็กวัยรุ่น เป็นเด็กหนุ่มสาวอะไรก็ตาม มันมีสิ่งที่ทำให้รู้สึกยินดียินร้าย เมื่อยินร้ายก็กู ยินดีก็กู ก็กูอยู่ดี มากขึ้นๆ จนถึงที่สุด ซึ่งเป็นความทุกข์ถึงที่สุด ตามเรื่องราวที่กล่าวไว้ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้ายังไม่เคยรู้เรื่องก็ควรจะสนใจศึกษาให้เข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท โดยย่อก็มีว่าเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และข้างนอกเรามีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ข้างในก็ 6 ข้างนอกก็ 6 มันพอดีกัน 6 คู่ ยกตัวอย่างเพียงคู่แรกคือ ตา ตาเห็นกันเข้าก็รู้ เหมือนกับเกิดวิญญาณทางตา นั่นคือ จักขุวิญญาณ ตาหนึ่ง สองรูป สามจักขุวิญญาณ เพราะตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ 3 ประการนี้ทำความรู้สึกกันอย่างนี้เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะนี้มันยังโง่มันไม่มีการศึกษา มันได้ยินได้ฟังอะไรมาเลยเป็นผัสสะของปุถุชนคนโง่ ก็เป็นผัสสะโง่ มันก็เกิดเวทนาโง่ออกมา นั่นคือเวทนาสำหรับหลงรักหลงโกรธ สุขเวทนาก็ยินดี ทุกข์เวทนาก็ยินร้าย นี่เป็นเวทนาสำหรับจะยินดีหรือยินร้าย เวทนาโง่ ทีนี้เวทนาโง่เกิดแล้วก็ทำให้เกิดความอยากที่โง่ ความอยากที่ไม่มีสติปัญญา อยู่ด้วยความอยากที่โง่นี้เรียกว่า ตัณหาบ้าง โลภะบ้างแล้วแต่จะเรียก ตัณหาคือความอยากที่โง่ เมื่อความอยากไปตามนั้นแหละ ถ้าว่าน่ารักก็อยากได้ น่าเกียจก็อยากตีซะให้ตาย ในความอยากนั้นรุนแรงเข้า รุนแรงเข้ามันก็ปรุงให้เกิดความรู้สึกอันที่ 2 คือ มีตัวกู ผู้อยาก หัวใจของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า อนัตตา อนัตตามันไม่มีตัวตนอันแท้จริง ตัวกูหรือตัวตนที่แท้จริงมิได้มี มันเพียงแต่เป็นจิตผลของความอยาก ซึ่งในความรู้สึกอยากถึงที่สุดแล้วมันจะเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูผู้อยาก ก็เลยเรียกว่าอนัตตาไม่ใช่ตัวตนอันแท้จริง เป็นเพียงความคิดปรุงแต่งอย่างโง่เขลา พอมีตัวกูผู้อยากอย่างนี้แล้วมันก็ยึดเอาสิ่งต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นของกู นี่ก็มีตัวกูโดยสมบูรณ์ เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูขึ้นมาโดยสมบูรณ์ เรียกว่า ภพ เรียกว่า ชาติ เด็กเกิดมาจากท้องแม่ยังไม่มีภพชาติอันสมบูรณ์ จนกว่าเด็กจะเกิดความรู้สึกมาถึงขั้นนี้ มาถึงขั้นว่ามีตัวกู มีภพมีชาติเรียกว่าตัวกูนั้นสมบูรณ์ แล้วมันก็ยึดเอาทุกอย่างเป็นของกู ที่เป็นสุขก็ของกู ที่เป็นทุกข์ก็ของกู อะไรก็ของกู ที่น่ารักก็ของกู ที่น่าเกียจก็ของกู น่าโกรธก็ของกู น่ากลัวก็ของกู อะไรก็เป็นของกูไปหมด นี่เรียกว่าทุกข์เพราะยึดไว้ถือไว้ซึ่งของหนัก นี่เรื่องปฏิจจสมุปบาทมีเรื่องย่อๆอย่างนี้ เป็นเรื่องอริยสัจที่ขยายมาให้เต็มที่ เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็เป็นพระพุทธเจ้า โดยรายละเอียดได้ศึกษาเอาไว้ก็จะเป็นการดี

หน้าที่ 4 – ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
มันมีความสำคัญอย่างยิ่งอยู่ตรงที่ว่า มันเป็นความโง่ของคนนั้นเอง สร้างขึ้นมาเองโดยไม่รู้สึกตัว ที่เกี่ยวพันธ์ทุกข์มันน่าปวดหัว มันสร้างขึ้นมาเอง มันสร้างขึ้นมาเอง โดยความโง่ของตัว แล้วก็โดยไม่รู้สึกตัว และในที่สุดมันก็ฆ่าตัว ตัวมันก็เป็นทุกข์ เกิดความรู้สึกกลัวเมื่อใดก็มีความทุกข์เมื่อนั้น ความรู้สึกว่าเป็นตัวกูของกูเกิดเมื่อไหร่มันก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็ทุกข์กันใหญ่เลย นี่มันน่าปวดหัวตรงที่ว่ามันสร้างความโง่ขึ้นมาเอง สำหรับตัวเองก็เป็นทุกข์ แล้วก็โดยไม่รู้ตัว มาเพื่อจำง่าย หรือก็อยากจะเล่านิทานสั้นๆ ที่เล่าเมื่อวานนี้อีกครั้งหนึ่ง ว่ามันมีคนโง่คนหนึ่งมันเอาเครื่องเขียน สี มาเขียนเป็นรูปมาร รูปยักษ์ รูปมารขึ้นมา พอมันเขียนเสร็จเลยเหลือบดูมันก็กลัว มันเขียนรูปสีมันก็กลัว เขียนรูปยักษ์มันก็กลัว เขียนรูปมารมันก็กลัว ทั้งที่มันเขียนเอง แต่พอมันมองดูแล้วมันลืมไปที่มันเขียนขึ้นเองแล้วมันก็กลัวจึงไม่เขียนต่อ มันเติมลายละเอียดลงไปชัดเข้าชัดเข้าก็เลยยิ่งกลัว ยิ่งกลัว ที่ไปเขียนจนถึงที่สุด เป็นของจริง เหมือนของจริงที่สุด แล้วมันก็มองดู แล้วมันก็กลัวถึงที่สุด แล้วมันก็ตาย มันกลัวจนตาย นี่คิดดูไอ้ชาติโง่ มันทำขึ้นเองโดยไม่รู้สึกตัว โดยความโง่ของตัวแล้วก็ไม่รู้สึกตัวว่าทำอะไรขึ้น แล้วมันก็ตาย เพราะไอ้สิ่งนี้คือเป็นทุกข์ถึงที่สุด เมื่อตัวกูของกูเจริญขึ้นไปถึงที่สุด ก็เติมมันลงไปเรื่อย มีความรู้สึกประเภทโง่เขลาเป็นตัวกูของกูมากขึ้นๆ มันก็มีความทุกข์ถึงที่สุด เรียกว่ามันตาย เพราะฉะนั้นรู้เอาไว้ว่าไอ้เรื่องความทุกข์มันน่าปวดหัวที่มันทำขึ้นเอง สร้างขึ้นเอง โดยไม่รู้สึกตัว แล้วมันก็รับผลของมันเอง นี่มนุษย์ตอนนี้น่าสงสารนัก เกิดมาจากท้องแม่จิตใจเกลี้ยงไม่มีปัญหาอะไร แต่พอมาได้รับอะไรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นเข้านี่ มันก็ค่อยๆ รู้สึกอร่อย ไม่อร่อย คือ ยินดียินร้ายเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น ก็มีความอยากไปตามความยินดียินร้ายเพิ่มขึ้น และมันเกิดความรู้สึกว่ากูผู้อยากขึ้นมา ตามความรู้สึกยินดียินร้ายเพิ่มมากขึ้น จนได้เป็นทุกข์ถึงที่สุด เพราะว่ามีตัวกูแล้วมันก็ยึดถือเป็นนั่น นี่ของกูมาก อะไรๆ ในโลกจะถูกยึดคืนเป็นของกู ก็ถูกสอนให้ยึดถือกันมาตั้งแต่เล็กๆ นี่ไม่ใช่ว่าจะเนรคุณผู้สอน แต่อยากจะบอกให้รู้เป็นการสอนผิด ที่พ่อแม่ พี่เลี้ยงอะไรก็ตามมันสอนเด็กทารกนั้นเข้าใจว่าพ่อของกู แม่ของกู บ้านของกู เรือนของกู อะไรก็ของกูหมด เด็กทารกไม่ได้รับคำสั่งสอนให้รู้จักยึดถือเป็นของกู มากขึ้นๆ โตขึ้นมาก็ยึดถือได้เอง มันมีความรู้สึกผิดแล้ว มันจะรู้สึกผิดได้เอง ของกู ตัวกู ของกู จนบัดนี้ จนเดี๋ยวนี้มีเท่าไร มีหนาแน่นเท่าไร และมีความทุกข์เท่าไรก็ลองคิดดู มันมีเรื่องเหตุปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมก็ตามแล้วแต่จะเรียก เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เกิดความยินดียินร้าย ที่พูดแล้วอยากจะใช้คำว่ายินดียินร้าย ถ้ายินดีก็เรียกว่าอวิชชา ถ้ายินร้ายก็เรียกว่าโทมนัส ดังนั้นในชีวิตคนธรรมดาสามัญจึงเต็มไปด้วยอวิชชาและโทมนัส ดังนั้นการปฏิบัติที่รัดกุมที่สุด ก็คือนำออกเสียซึ่งอวิชชาและโทมนัส นำออกด้วยอะไร นำออกด้วยความรู้ด้วยสติสัมปชัญญะ สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว นั่นก็คือความรู้ ความรู้คือรู้อะไรเป็นอะไร อะไรเข้ามาทางตา สติระลึกได้ทันควันว่าเป็นอารมณ์ที่เข้ามาทางตา ตามธรรมชาติมีสติสัมปชัญญะรู้ว่ามันเป็นเช่นนี้เอง มันก็ไม่เกิดความยินดี เรียกว่านำความยินดีออกมาในโลกจนได้ มีสติสัมปชัญญะคือถ้ามาในลักษณะตรงกันข้ามให้โกรธ ให้เกียจ ให้กลัว เพราะมีสติสัมปชัญญะเช่นนั้นเอง มันก็ไม่เกิดยินร้าย ยินดียินร้ายมันก็ไม่เกิดความอยาก ตามความยินดียินร้ายแล้วมันก็ไม่เกิดปัญหาคือความอยาก ไม่เกิดอุปทานคือตัวกูผู้อยากเกิดภพ เกิดชาติ เกิดความเต็มเปี่ยม ความรู้สึกว่าตัวกูมันไม่เกิด ความยินดียินร้ายมันไม่เกิด ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่มาทำให้เป็นทุกข์ได้ มันต้องมีสติสัมปชัญญะอย่างเพียงพอ เป็นทุกข์ขณะที่มาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันก็ไม่มียินดี ยินร้าย นี่คือการเดินอยู่ในรอยของพระธรรมอย่างแท้จริง ไม่เกิดยินดียินร้าย ตามเวทนานั้นคือมีผัสสะ มีสติสัมปชัญญะผัสสะไม่โง่ เวทนาก็ไม่โง่ ก็ไม่เกิดปัญหา คือความอยากที่โง่มันก็ไม่เกิดอุปทานที่เป็นตัวกูของกู มันก็เลยไม่เป็นทุกข์อย่างไง เดี๋ยวนี้ปัญหามันก็อยู่ที่ว่าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ บางทีก็ไม่มีเอาเสียเลย บางทีก็มีน้อยเกินไป บางทีก็มีช้าเกินไปไม่ทันแก่เหตุการณ์หรือเวลา จงพยายามฝึกสติสัมปชัญญะให้มาก ให้เร็ว สำหรับจะใช้ในขณะที่มีผัสสะ มีผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้ผัสสะนั้นมันตื่นอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็ไม่คลอดเวทนาโง่ ตัณหาโง่ อุปทานโง่ ก็เลยไม่มีความทุกข์นี่ มันต้องกันไม่ให้มีความทุกข์ เรื่องมันมีเท่านี้ หัวใจของมหาสติมหาสูตร มันมีประโยคสั้นๆว่า สัมปชาโน สติมา วินัยยะโลเก อวิชชา โทมนัสสัง มีสติสัมปชัญญะ นำอวิชชาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ความยินดียินร้ายในโลกที่มีอยู่ตามธรรมดาโลก ในจิตใจที่ยังเป็นโลกมันจะมียินดียินร้ายก็นำออกเสียได้ ไม่ทำให้มันเกิดมาเสียได้ คือไม่เกิดปัญหา ไม่เกิดอุปทาน ไม่เกิดภพ เกิดชาติ เป็นตัวกู มันไม่มีตัวกู และมันก็ไม่เอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมาเป็นของกู ก็ไม่มีความทุกข์อะไร เดี๋ยวนี้มันมีอวิชชาโทมนัสทางตาสวยหรือไม่สวย ทางหูไพเราะไม่ไพเราะ ทางจมูกหอมหรือเหม็น ทางลิ้นอร่อยหรือไม่อร่อย ทางผิวหนังนิ่มนวลหรือกระด้าง ทางจิตนี่ยินดีหรือยินร้าย มันเป็นคู่ เป็นคู่สำหรับทางจิตคือความรู้สึก ยินดีหรือยินร้ายที่เป็นคู่ๆ ความรู้สึกที่เป็นคู่นั่นแหละสำหรับคำว่ายินดีหรือยินร้ายมีมากมาย หลายคู่หรือหลายสิบคู่ เคยเห็นใครรวบรวมไว้ได้ตั้ง 37 คู่ ความรู้สึกว่าสุขหรือทุกข์นี่ ความรู้สึกว่ายินดียินร้ายเป็นคู่แรก ยินดีคู่กับยินร้าย สุขหรือทุกข์ น่ารักหรือไม่น่ารัก เลยไปถึงความรู้สึกได้หรือเสีย ได้มาหรือเสียไป แพ้หรือชนะ กระทั่งเรื่องสุขทุกข์ บุญบาป ความเป็นหญิงความเป็นชาย อย่างนี้ให้เกิดความรู้สึกตรงกันข้าม เป็นบวก เป็นลบนั้น ไม่ได้อยู่แต่นรกและสวรรค์ว่าเป็นเรื่องบ้าบอ ในความรู้สึกบวก ในความรู้สึกลบ อย่าให้ความรู้สึกคู่ๆ อย่างนี้เข้ามาหลอกได้ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ในความรู้สึกที่เป็น ที่แสดงผลออกมาเป็นคู่บวกหรือลบ ดังนั้นพระอรหันต์จึงเป็นผู้ที่มีจิตใจ ไม่มีความทุกข์เลย ก็ไม่มีความรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบ ในสิ่งใด มันไม่มีความรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบในจิตใจของพระอรหันต์ ดังนั้นท่านจึงไม่รู้สึกเป็นคู่ๆใดๆหมด ไม่บวกไม่ลบ ไม่Prositip ไม่Nextkatip ไม่Oftimid ไม่Prosimid ไม่รู้สึกแต่ในแง่ดี ไม่รู้สึกแต่ในแง่ร้าย ที่เกิดเป็นคู่ทั้งหลายและก็ไม่มี เรียกว่าอยู่ตรงกลาง เป็นตัวพุทธศาสนาแท้เพื่ออยู่ตรงกลาง ไม่ใช่อันนี้หรืออันนั้น ไม่ใช่อันอื่นหรืออันนี้ ไม่ใช่ทำเองหรือคนอื่นทำ ซึ่งเป็นคู่เหวี่ยงสุดโต่ง เป็นคู่ๆมันไม่มี มันมีแต่อยู่ตรงกลาง ดีและชั่วก็อยู่ตรงกลาง

http://www.vcharkarn.com/varticle/32725

. . . . . . .