พระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น

พระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น

ประมวลเหตุการณ์และภาพ
งานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

จากหนังสือ ภาพ ชีวประวัติและปฏิปทาของ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

ฝูงชนที่มาร่วมงานนับจำนวนหมื่น

วันนั้น…. ๒๑ มกราคม ๒๕๒๑ บริเวณวัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งกว้างขวางเป็นจำนวนหลายสิบไร่ กลับดูคับแคบลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ

การจราจรของยวดยานที่ผ่านเข้าออกในบริเวณวัดติดขัด แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะวางแผนรับสถานการณ์ไว้แล้วเป็นอย่างดี ก็ยังต้องแก้ไขอุปสรรคเฉพาะหน้า กันอย่างชุลมุน

สำหรับคลื่นมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยประชาชนทุกเพศทุกวัยหลายเชื้อชาติหลายศาสนาซึ่งหลั่งไหลเข้าสู้บริเวณวัดนับเป็นจำนวนแสน ๆ นั้นเล่า ต่างก็เบียดเสียดเยียดยัดยิ่งกว่าจำนวนผู้คนในงานมหกรรมใหญ่ ๆ

แม้บรรยากาศ จะเต็มไปด้วยความอึดอัด จนกระทั่งหลายคนเป็นลม และหน่วยพยาบาลจากโรงพยาบาลจังหวัดสกลนครต้องออกแจกจ่ายยาดมอยู่ตลอดเวลา แต่อุปสรรคเหล่านั้น มิได้บั่นทอนศรัทธาของคลื่นมนุษย์เหล่านั้นลงได้เลย

เพราะว่าวันนั้น…๒๑ มกราคม ๒๕๒๑ เป็นวันกำหนดการงานพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ปูชนียภิกษุรูปเดียว ที่บารมีธรรมของท่านสามารถครองใจผู้คนทุกทิศานุทิศ

แต่ละคนที่หลั่งไหลเข้าสู่บริเวณงานจนมีลักษณะเป็นคลื่นมนุษย์ในวันงานนั้น ต่างก็มุ่งมั่นในปณิธานเดียวกัน ในอันที่จะแสดงความอาลัยขอให้ได้มีโอกาสร่วมบำเพ็ญกุศล และส่งวิญญาณของท่านสู่สรวงสวรรค์ด้วยดอกไม้จันทน์สักดอกหนึ่งเป็นอย่างน้อย

กำหนดการงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นวันที่ ๒๑ ม.ค.ก็จริง แต่คณะกรรมการงานพระราชทานเพลิงศพทั้งฝ่ายสงฆ์และผ่ายฆราวาส คาดการณ์ล่วงหน้าไว้ไม่ผิดเลยว่า บรรยากาศจะต้องเริ่มคึกคักมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลาหลายวันแน่ๆ เพราะพุทธบริษัทและพระภิกษุสามเณรจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จะต้องทยอยมาร่วมงานในลักษณะละลอกแล้วระลอกเล่า ปัญหาเกี่ยวกับการพักแรมและข้าวปลาอาหาร จึงเป็นปัญหาใหญ่ ที่จะต้องต้อนรับหรือรับมือไว้ให้อยู่ ให้สมควรแก่ศรัทธาของผู้รอนแรมมาจากสารทิศต่าง ๆ ในที่สุดคณะกรรมการจัดงานก็มีมติให้สร้างที่พักและโรงทานขึ้นล่วงหน้าอย่างเร่งรีบ

ที่พักชั่วคราวของพระภิกษุที่มาร่วมงาน

ที่พักประกอบด้วยที่พักสงฆ์และฆราวาส ซึ่งจัดแยกไปต่างหากไม่ให้ปะปนกัน และเนื่องจากไม่อาจจัดให้อยู่อาศัยในกุฏิสงฆ์ซึ่งมีจำนวนจำกัดได้ คณะกรรมการจึงจัดสร้างที่พักชั่วคราวโดยมีหลังคาคุ้มแดดฝนให้ ส่วนพื้นดินก็จัดทำ “ฟาก” สำหรับรองนั่งนอนไว้ให้เสร็จ ที่พักดังกล่าวได้ปลูกสร้างขึ้นในบริเวณด้านหลังของตัววัด แต่ละหลังทั้งกว้างและทั้งยาว ซ้ำยังแบ่งออกเป็นห้องใหญ่ๆ สำหรับพุทธบริษัทแต่ละจังหวัดที่เข้ามาพักแรมอีกด้วย สำหรับน้ำใช้นั้น หน่วยราชการและเอกชนหลายรายได้นำถังน้ำมาตั้งไว้ให้หลายสิบแห่ง โดยเติมน้ำให้เต็มถังอยู่ทุกวันจนกระทั่งถึงวันงาน

ส่วนโรงทานซึ่งจำเป็นสำหรับผู้พักแรมและผู้ไปร่วมงานโดยทั่วไป ก็ได้ปลูกสร้างเป็นเรือนโรงหลังคาจาก ขึ้นทางหลังวัดสองแถว และทางด้านหน้าอีกหนึ่งแถว แต่ละแถวกันไว้เป็นช่วงๆ. สำหรับให้คณะบุคคลหรือเอกชนผู้มีจิตศรัทธา ไปประกอบอาหารเพื่อแจกจ่ายเป็นทาน อันนับเป็นการร่วมกุศลอุทิศถวายแด่พระอาจารย์ฝั้น อาจาโรผู้ละสังขารขันธ์ไปแล้วอีกทางหนึ่ง

ในที่สุดเหตุการณ์ก็เป็นไปดังคาดหมายตั้งแต่วันที่ ๑๕ ม.ค. มีพุทธบริษัทและพระภิกษุสามเณรจากจังหวัดไกลๆ ทยอยกันเข้าไปพักแรมและยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน จนถึงวันที่ ๑๘ ม.ค. จำนวนพระภิกษุสามเณรเพิ่มขึ้นเป็น ๖๐๐ กว่ารูป พุทธบริษัทเพิ่มจำนวนขึ้นนับเป็นจำนวนพัน เมื่อคืนวันที่ ๒๐ ม.ค. ก่อนวันงานพระราชทานเพลิงศพหนึ่งวัน พระภิกษุสามเณรเพิ่มจำนวนขึ้นไปเป็น ๑,๔๐๐ รูป พุทธบริษัทจากจังหวัดต่างๆ หลั่งไหลเข้าพักแรมนับเป็นจำนวนหมื่น ๆ โดยเฉพาะในวันงานจำนวนพระภิกษุสามเณรเฉพาะที่ลงบัญชีทวีจำนวนขึ้นเป็นกว่า ๒,๐๐๐ รูป ส่วนพุทธบริษัทนั้นมากมายจนสุดคณานับ

พระภิกษุสวดให้พรก่อนฉัน

สำหรับพระภิกษุสามเณรที่เข้าไปพักแรมก่อนวันงาน จนถึงเช้าวันงานนั้น ทุกเช้าไม่จำเป็นต้องไปบิณฑบาตนอกวัด แต่ละเช้า บรรดาชาวบ้านจากตำบลและอำเภอต่างๆ จะนำภัตตาหารมาถวายเป็นจำนวนหลายร้อยราย บ้างก็เดินกันมาก่อนไก่โห่ บ้างก็เช่ารถรวมกันมาเป็นหมู่ๆ. ทางวัดจึงจำต้องจัดระเบียบการใส่บาตรขึ้น เป็นพิเศษ ทุกๆ เช้าพุทธบริษัทนับร้อย ๆ ยืนเรียงกันสองฟากถนนตรงสามแยกข้างศาลาโรงธรรม อันเป็นที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศล แล้วให้พระภิกษุสามเณรแยกกันออกรับบิณฑบาต เป็นสามสาย ปรากฏว่าทุกเช้าแม้พระภิกษุสามเณรจะเพิ่มจำนวนจนเป็นพัน พุทธบริษัททั้งหลายก็ใส่บาตรกันจนล้นบาตรไปทุกรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเช้าวันงานพระราชทานเพลิงศพ คือวันที่ ๒๑ ม.ค.. แม้พระภิกษุสามเณรจะเพิ่มจำนวนเป็น ๒,๐๐๐ กว่ารูปเข้าไปแล้วแต่ละรูปก็ยังล้นบาตรอยู่เช่นเดิม เพราะพุทธบริษัทที่ไปใส่บาตร ได้ทวีจำนวนขึ้นเป็นเงาตามตัว

ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนลงมือฉันในโรงฉัน พุทธบริษัทอีกจำนวนไม่น้อยยังถวายภัตตาหารพิเศษในที่ฉันอาหารอีกด้วย ภัตตาหารของแต่ละรูปที่วางอยู่ตรงหน้าจึงมากมายก่ายกองจนเป็นที่กังวลของทั้งฝ่ายพระและฝ่ายฆราวาสไปด้วยกัน. ฝ่ายพระนั้นจำต้องฉันให้ถ้วนทั่วทุกอย่าง ให้สมแก่ศรัทธาของฝ่ายฆราวาส ฝ่ายฆราวาสนั้นเล่า ต่างก็เฝ้าดูมิให้คลาดสายตา ว่าพระท่านฉันภัตตาหารที่ตนได้ถวายไปแล้วหรือยัง ท่านหลงลืมไปบ้างหรือเปล่า เพราะพระภิกษุบางรูปมีภัตตาหารรวมทั้งนอกบาตรในบาตรเป็นจำนวนมากมายไม่น้อยกว่า ๓๐ อย่าง เมื่อใดพระท่านฉันภัตตาหารที่ตนได้ถวายไปแล้ว แม้เพียงคำเดียวผู้ถวายก็โล่งอกและปลาบปลื้มจนสุดที่จะพรรณนา

สำหรับข้าวก้นบาตรของพระภิกษุองค์สำคัญบางรูป เช่นพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (ภูเหล็ก) ฯลฯ เป็นต้น บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและพุทธศาสนิกชนส่วนหนึ่งจะพากันเฝ้าแหนไว้เป็นพิเศษ เมื่อใดท่านฉันเสร็จเมื่อนั้นก็จะขอจากท่านไปแบ่งรับประทานทั่วๆ กัน เพื่อเป็นสิริมงคล

ประมวลเหตุการณ์และภาพ

งานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร (๒)

พระอาจารย์วัน อุตฺตโม

พระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราชฯ สมเด็จพระญาณสังวร (วัดบวรนิเวศวิหาร) และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วัดราชผาติการาม) สำหรับสมเด็จพระสังฆราชฯนั้น พระองค์ท่านได้เสด็จจากกรุงเทพฯไปจังหวัดสกลนครตั้งแต่ ๒๐ ม.ค. ๒๑ โดยไปพักแรมอยู่ที่วัดประสิทธิวนาราม (วัดบ้านต้าย) อำเภอสว่างแดนดิน รุ่งขึ้นวันงานจึงได้เสด็จไปยังวัดป่าอุดมสมพร เพื่อทรงร่วมในพิธีสงฆ์ ส่วนพระเถระผู้ใหญ่รูปอื่นๆได้แก่ พระพุทธพจนวราภรณ์ (วัดราชบพิธฯ) พระพรหมมุนี (วัดนรนารถฯ) พระธรรมบัณฑิต (วัดสัมพันธวงศ์) พระธรรมวราภรณ์ (วัดราชาธิวาส) พระเทพบัณฑิต วัดศรีเมือง (หนองคาย) พระเทพวราลังการ (เลย) พระเทพเมธาจารย์ วัดโพธิสมภรณ์ (อุดรธานี) พระราชธรรมานุวัติ วัดประชานิยม (กาฬสินธุ์) พระศรีธรรมวงศาจารย์ วัดสุทธจินดา (นครราชสีมา) ฯลฯ ส่วนพระคณาจารย์รูปสำคัญผ่ายวิปัสสนาธุระที่ไปร่วมงานครั้งนี้ มี พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ (อาจารย์เทสก์) วัดหินหมากเป้ง หลวงปู่บุญมา ฐิตธมฺโม วัดสิริสาลวัน (อุดรธานี) หลวงบู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม (อุดรธานี) พระรัตนากรวิสุทธิ วัดบูรพาราม (สุรินทร์) พระอาจารย์ซามา อุจุตฺโต (เลย) พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง (เ.ชียงใหม่) พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมปนฺโน วัดป่าบ้านตาด (อุดรธานี) พระอาจารย์สาม อภิญฺจโน วัดไตรวิเวก (สุรินทร์) พระครูวิโรจน์ฯ วัดพระธาตุเขาน้อย(ราชบุรี) พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (สกลนคร) พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ วัดเจติยาคีรีวิหาร (หนองคาย) พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล (สกลนคร) พระอาจารย์แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์. (สกลนคร) พระอริยเวที วัดป่ารังษีปาลิวัลย์ (กาฬสินธุ์) พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม (จันทบุรี)… ฯลฯ เป็นต้น

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร และพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

ทางด้านโรงทานสำหรับพุทธบริษัทที่ไปพักแรมและพุทธบริษัทโดยทั่วไปนั้น ได้เปิดบางแห่งตั้งแต่วันที่ ๑๕ ม.ค. และทยอยเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยจนกระทั่งถึงวันงาน ผู้มีจิตศรัทธาไปเปิดโรงทานแจกจ่ายอาหารดังกล่าวเห็นจะได้กุศลแรงไม่แพ้ผู้ร่วมบำเพ็ญกุศลด้านอื่นๆ เพราะทางวัดไม่ปรารถนาให้เข้าลักษณะงานนักขัตฤกษ์ จึงห้ามมิให้พ่อค้าแม่ค้า. เข้าไปจำหน่ายสินค้าทุกประเภทในบริเวณวัด แต่ละคนจึงได้อาศัยโรงทานดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวนมื้อ

ผู้มีจิตศรัทธาไปเปิดโรงทานมีอยู่มากมายหลายสิบราย อาทิ คณะศิษย์ ๗๕ และน้องๆ, คณะคุณกันทรัตน์, คณะศิษย์ ทอ., คณะศานตินิเวศน์, คณะศูนย์ ๑ ภาคพิเศษ, คณะวัดป่าภูธรพิทักษ์, คณะศาสตราจารย์นายแพทย์อวยฯ, คณะบุนยะรัตน์จันทบุรี, คณะบ้านกุดไห, คณะเขาน้อยสามผาน, คณะแพร่งภูธร -ป. โภชนา, บริษัทสหสันต์อุดรธานี, นายเอนก สิทธิประศาสน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง, คณะวัดบวรนิเวศวิหาร, คณะคุณหลุย สุวรรณเวช, คณะบ้านต้าย, นายช่างประมวล วงษ์ดี, คณะจังหวัดเชียงใหม่, คณะดอนเขือง, โรงครัวจังหวัดอุดรธานี, คณะอำเภอกุดบาก, คณะครัวนครพนม และโรงครัวหนองคาย ฯลฯ เป็นต้น

พุทธบริษัทได้ช่วยกันผ่าท่อนไม้จันทน์

ก่อนวันงานพระราชทานเพลิงศพหนึ่งวัน คือวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๑ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ได้ขึ้นไปตบแต่งบริเวณปริมณฑลซึ่งเป็นที่ตั้งจิตกาธาน จิตกาธานดังกล่าวแล้วนี้ตั้งอยู่บนเขาย่อมๆ ลูกหนึ่ง ในบริเวณวัด เมื่อแรกเริ่มคณะกรรมการจัดงานศพตั้งใจจะจำลองภูเขาให้มีสภาพเหมือนถ้ำขาม ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์ที่พระอาจารย์ฝั้นพำนักบำเพ็ญภาวนาอยู่ในระยะหลัง แต่จำลองให้เหมือนไม่ทันการ ทางสำนักพระราชวังจึงออกแบบให้ใหม่เป็นพิเศษ ขณะกำลังตบแต่งบริเวณมณฑลอยู่นั้น ประชาชนนับหมื่นได้ทยอยไปเดินดูรอบๆ เขา ส่วนใหญ่อดใจอยู่ไม่ได้ถึงกับออกปากชมกันหนาหู ว่าสวยงามที่สุดในบรรดาที่เคยพบเห็นกันมา

(ล่าง) พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์สาม อภิณฺจโณ พระอาจารย์อุ่น กลฺยาณธมโม

วันนั้น พุทธบริษัทจำนวนไม่น้อยได้แย่งกันผ่าท่อนไม้จันทน์สำหรับเป็นฟืนพระราชทานเพลิงในวันรุ่งขึ้น กองรักษาการณ์ในบริเวณวัดมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาปฏิบัติหน้าที่คึกคักขึ้นกว่าวันก่อน พอถึงเวลา ๑๖.๐๐ น. มีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานในการออกเมรุบนศาลาโรงธรรมซึ่งตั้งศพบำเพ็ญกุศลมาแต่ต้นพระภิกษุ ๑๐รูป สวดพระพุทธมนต์ มีพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ พระสงฆ์ ๔ รูป สวดธรรมกถา มีพระพิธีธรรมแล้วสวดพระอภิธรรม

ค่ำวันเดียวกันนั้น คือวันที่ ๒๐ ม.ค.พระภิกษุจากวัดต่างๆ ทั้งใกล้และไกลได้ผลัดกันขึ้นธรรมาสน์ในโรงฉันภัตตาหาร เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาจนกระทั่ง ๒๔.๐๐ น.จึงยุติ ปรากฏว่ามีพุทธบริษัทนับจำนวนพันไปนั่งฟังพระธรรมเทศนาอย่างคับคั่งตั้งแต่หัวค่ำ เมื่อเลิกแล้วจึงทยอยกันกลับไปนอนยังโรงที่พัก

สมเด็จพระญาณสังวรฯ แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์

ในคืนนั้นอีกเหมือนกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายแจกหนังสือเล่มเล็ก ซึ่งทางวัดป่าอุดมสมพร จัดพิมพ์แจกเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้แยกย้ายกันออกแจกตามโรงที่พักและถนนหลายสายภายในบริเวณวัด ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นอนหลับไปแล้วต่างก็ถูกปลุกขึ้นรับแจกอย่างทั่วถึง เมื่อทราบว่าเป็นหนังสืออนุสรณ์และเห็นภาพสี่สีพระอาจารย์ฝั้นที่พวกตนเคารพนับถือภายในเล่ม ต่างก็ยกหนังสือขึ้นพนมเหนือศีรษะ เป็นการสักการะพระอาจารย์ฝั้นไปตามๆ ปรากฏว่าเพียงประมาณสองชั่วโมงหนังสือดังกล่าวได้ถูกแจกจ่ายจนถึงมือชาวบ้านจากสารทิศต่างๆ ถึงหมื่นกว่าเล่มทั้งนี้ มิได้รวมถึงการแจกจ่ายในวันงานอีกประมาณ ๓ หมื่นกว่าเล่ม

ถึงวันงานพระราชทานเพลิง… คือวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๑ แต่เช้าตรู่ได้มีพุทธบริษัทจากอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงไปใส่บาตรพระภิกษุสามเณรเหมือนวันก่อน เช้าวันนี้คับคั่งเป็นพิเศษ เพราะพระภิกษุสามเณรได้เพิ่มจำนวนขึ้นถึง ๒,๐๐๐ กว่ารูปดังกล่าวแล้วข้างต้น เวลา๐๘.๐๐ น. พระสงฆ์ ๑๐ รูป ที่สวดพระพุทธมนต์แต่วันวานรับพระราชทานฉัน

เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเชิญศพ

พระอาจารย์ฝั้น ลงจากศาลาโรงธรรม

พอถึงเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. พระ-สงฆ์ ๑๐ รูปได้บังสุกุล แล้วเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้เชิญศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรลงจากศาลาโรงธรรม จากนั้นเชิญศพจากศาลาโรงธรรมไปเวียนเมรุ เพื่อเชิญขึ้นตั้งบนจิตกาธาน โดยมีพระภิกษุเดินตามศพนับร้อยรูป พร้อมด้วยพุทธบริษัททั้งหลายร่วมขบวนศพด้วยอย่างคับคั่ง

เชิงเขาด้านหน้าของเมรุ คณะกรรมการจัดงานศพได้สร้างโต๊ะยาวสำหรับให้ประชาชนวางดอกไม้จันทน์ไว้ด้วย ถึงระยะนี้เจ้าหน้าที่ได้เริ่มเข้มงวดให้ประชาชนอยู่นอกเชือกกั้นตามแนวริมถนนรอบๆ เขา ชาวบ้านทุกเพศทุกวัยต่างก็นั่งกับพื้นดินเพื่อรอเวลาพระราชทานเพลิงอยู่อย่างยัดเยียด แต่ก็โดยสงบ มิได้มีเหตุร้ายหรือเหตุกระทบกระทั่งใดๆ เกิดขึ้นเลย

หลวงปู่เทสก์ เดินนำศพพระอาจารย์ฝั้นสู่จิตกาธาน

เรื่องปรารภที่อุบัติขึ้นในตอนนี้ดูจะเป็นเรื่องเดียวกันหมด คือประชาชนคับคั่งเป็นแสนๆ เช่นนี้เจ้าหน้าที่จะเปิดโอกาสให้ขึ้นไปเผาศพพระอาจารย์ฝั้น ที่เขาเคารพบูชา ให้ได้สมปรารถนาที่อุตส่าห์รอนแรมมาหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่เปิดโอกาสให้ ความชุลมุนวุ่นวายจะอุบัติขึ้นเพียงไหน ตนจะหน้ามืดเป็นลมหรือล้มลงจนถูกเหยียบจากคลื่นมนุษย์ที่กำลังหลั่งไหลขึ้นไปหรือเปล่า และถ้ามีโอกาสจริง ถึงสองยามจะได้เผากันถ้วนทั่วทุกตัวคนหรือไม่

คณะกรรมการจัดงานศพดูจะคำนึงถึงปัญหานี้อยู่แล้ว จึงได้เปิดโอกาสให้ประชาชนนำดอกไม้จันทน์ ไปวางสักการะบนโต๊ะยาวที่จัดไว้ให้ดังกล่าวข้างต้น เพื่อบรรเทาความหนักใจไปชั่วระยะเวลาหนึ่งเสียก่อน แม้กระนั้นก็ยังมีผู้คนอีกเป็นหมื่นๆ ที่ไม่ยอมออกไปวาง โดยหวังว่าจะได้มีโอกาสขึ้นไปวางให้ถึงจิตกาธานเลยทีเดียว

ประมวลเหตุการณ์และภาพ

งานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร (๓)

ครั้นได้เวลาประมาณ ๑๔.๓๕ น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ได้เสด็จ ฯ ถึงวัดป่าอุดมสมพร ปกติรถยนต์พระที่นั่งจะเข้าเทียบยังพลับพลาที่ประทับซึ่งจัดถวายไว้ข้างเมรุ แต่ทั้งสามพระองค์ได้โปรดเกล้าฯให้หยุดรถลงตรงปากทางเข้าด้านหน้าเมรุ แล้วเสด็จ ฯ โดยปราศจากลาดพระบาทไปตามทางเขา เพื่อให้ประชาชนที่แน่นขนัดอยู่สองข้างทางได้เฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นไปอีก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น

เมื่อเสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาและได้เวลาอันสมควรแล้ว ทั้งสามพระองค์ได้เสด็จฯขึ้นสู่เมรุทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๑๐ รูป บังสุกุล แล้วพระราชทานเพลิงศพ

ที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงลดพระองค์ลงกราบศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร บนพระสุหนี่ปูลาดที่พื้นสนามหน้าจิตกาธาน ภาพประทับใจเช่นนี้บรรดาประชาชนที่เฝ้าอยู่นับแสนต่างก็สำนึกโดยทั่วกัน ว่ามีโอกาสพบเห็นได้ยากยิ่ง

เมื่อได้เวลาอันสมควร ทั้งสามพระองค์ได้เสด็จกลับตามทางเดิม ทรงปฏิสันถารต่อประชาชนที่เฝ้าอยู่สองข้างทางโดยมิได้ทรงถือพระองค์ จนกระทั่งเสด็จขึ้นประทับบนรถยนต์พระที่นั่งกลับออกไปจากวัด เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่งกลับพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ที่เชียงใหม่

เมื่อเสด็จ ฯ กลับแล้ว บรรดาพระภิกษุสงฆ์และแม่ชีได้ขึ้นเผาตามลำดับสำหรับประชาชนนั้น เจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้ขึ้นเผาได้ โดยให้ขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์บนถาดนอกลวดหนามกั้นชั้นในเท่านั้น ปรากฏว่าผู้คนหลั่งไหลขึ้นไปอย่างแน่นขนัด เจ้าหน้าที่เกรงว่าจะเกิดเหยียบกันถึงขนาดบาดเจ็บล้มตาย จึงจำต้องสกัดกั้นและห้ามขึ้นเผาบนเมรุ ทั้งๆ ที่ประชาชนได้ขึ้นไปเผากันไม่ทั่วถึง

๑๘.๐๐ น. เป็นเวลาเผาจริง ท่ามกลางฝูงชนนับหมื่นๆ ที่รายล้อมแสดงความอาลัยอยู่รอบๆ เมรุ จนกระทั่งเวลาประมาณ ๐๑.๐๐ น. ของวันใหม่ไฟจึงได้มอดลง

น่าสังเกตว่า ตลอดคืนนั้นได้มีการเฝ้าอัฐิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร บนจิตกาธานอย่างเข้มแข็ง กล่าวคือนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรายล้อมชั้นในไว้ชั้นหนึ่งแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายจังหวัดรายล้อมไว้อีกชั้นหนึ่งส่วนชั้นนอกซึ่งเป็นรอบๆ เมรุชั้นล่าง ประชาชนนับพัน ๆ ยังรายล้อมเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ด้วยเป็นชั้นสุดท้าย ทั้งนี้เพราะอัฐิของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นยอดปรารถนาที่ทุกๆ ฝ่ายต่างก็อยากได้ไปกราบไหว้บูชาบรรยากาศรอบ ๆ เมรุในคืนนั้นจึงมีสภาพไม่ผิดอะไรกับการ “คุมเชิง” ซึ่งกันและกัน

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๒๒ มกราคม บนจิตกาธานยังมีควันกรุ่นอยู่ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ อ.ส. ตลอดจนบรรดาประชาชนต่างก็ยังรายล้อมอยู่ในสภาพเดิม

พิธีสามหาบได้กระทำกันแต่เช้าพระภิกษุที่บังสุกุลในตอนนี้ได้แก่พระเทพบัณฑิต เจ้าคณะธรรมยุตภาค ๙ พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี) และพระรัตนากรวิสุทธิ (ดูลย์ อตุโล) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดสุรินทร์

หลังจากพิธีสามหาบเสร็จสิ้นลงแล้วก็ถึงวาระของการเก็บอัฐิ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนพระสงฆ์บางรูป ได้ช่วยกันเก็บอัฐิบรรจุในเจดีย์หินอ่อน จากนั้นจึงเก็บอังคารบรรจุลงในหีบไม้มะค่าโมงลั่นกุญแจ แล้วอัญเชิญทั้งอัฐิและอังคารขึ้นรถนำไปไว้บนศาลาโรงธรรม ต่อมาทางวัดได้จัดเก็บไว้อย่างแข็งแรงในตู้เซฟที่วัดหามาถึง ๒ ใบ ที่กุฏิพระอาจารย์ฝั้น ในวัดป่าอุดมสมพร

เมื่อเชิญอัฐิและอังคารไปแล้ว ประ-ชาชนที่ขึ้นไปมุงสังเกตการณ์รอบๆ เมรุ ตั้งแต่เริ่มเก็บอัฐิ ได้พยายามขอร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งรายล้อมอยู่ชั้นใน ให้ช่วยหยิบดอกไม้บ้าง หยวกกล้วยบ้าง หรืออะไรอื่นๆ ที่พอจะนำไปกราบไหว้บูชาได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้หยิบหยวกกล้วยส่งออกมาให้ท่อนหนึ่ง พอได้มาต่างก็ฉีกแบ่งกันคนละเล็กละน้อย นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เกรงว่าจะเป็นการไม่เหมาะสม จึงสั่งระงับเสียโดยทันที แม้กระนั้นก็ยังมีผู้ส่งผ้าเช็ดหน้าบ้าง หมวกบ้างให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยนำไปซับน้ำตรงเชิงเมรุให้

๑๘.๐๐ น. เป็นเวลาเผาจริง

สำหรับหยวกกล้วยก็ดี ดอกไม้ที่ประดับเมรุก็ดี ฯลฯ เจ้าหน้าที่ได้จัดการรวบรวมเผาอีกครั้งหนึ่งในลำดับต่อนา เพื่อป้องกันมิให้เกิดการจลาจลในการแย่งชิงกันขึ้น

อัฐิของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ทางจังหวัดและทางวัดป่าอุดมสมพร ได้ตกลงกันจะบรรจุไว้ในสถูป โดยจะสร้างสถูปขึ้นไว้บนพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการฯ ได้ออกแบบพิพิธภัณฑ์และสถูปไว้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนสถานที่ที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์และสถูป ขณะบันทึกเรื่องนี้ยังมิได้ตกลงกันแน่นอนว่าจะสร้างขึ้นตรงไหน อาจบนเขาย่อม ๆ ซึ่งเป็นที่พระราชทานเพลิงศพ อาจเป็นสถานที่หนึ่งที่ใดในบริเวณวัดป่าอุดมสมพร และก็อาจจะขึ้นไปจัดสร้างบนถ้ำขาม อันเป็นสถานที่ซึ่งพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พำนักภาวนาอยู่ในวาระสุดท้าย ก่อนละสังขารขันธ์ของท่านไปก็ได้

ประมวลเหตุการณ์และภาพ

งานพระราชทานเพิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร (๔)

๑๘.๐๐ น. เป็นเวลาเผาจริง

สมเด็จพระญาณสังวรทรงประทับทอดพระเนตรการเผาจริง

พระอาจารย์วิริยังค์ และพระอาจารย์หลอด เฝ้าดูการเผาจริง

(บน) พระอาจารย์เทสก์ และพระอาจารย์ดูลย์

(ล่าง) พระเทพบัณฑิต เจ้าคณะธรรมยุตภาค ๙

บังสุกุลในพิธีสามหาบ

(บน) พระอาจารย์เทสก์ และ(ล่าง) พระอาจารย์ดูลย์

บังสุกุลในพิธีสามหาบ

เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเก็บอัฐิ

บรรจุอัฐิเก็บไว้ในหีบไม้มะค่าโมง เก็บรักษาไว้ที่กุฏิ

เมื่อเชิญอัฐิและอังคารไปเก็บรักษาแล้ว ประชาชนได้พยายาม

ขอร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับผ้าเช็ดหน้าไปซับน้ำ

ใต้จิตกาธานบ้าง ขอให้หยิบหยวกกล้วย

ดอกไม้รอบ ๆ จิตกาธานบ้าง เพื่อนำไปกราบไหว้บูชา

เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเก็บเศษจีวรที่มิได้ไหม้ไฟลงบรรจุในถุง

ส่วนหยวกกล้วยและดอกไม้ประดับเมรุที่หลงเหลือ

เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมเผาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันการจลาจล

จากการแย่งชิง

รูปจำลองพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขาร

และสถูปที่จะบรรจุอัฐิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

http://konbandon.igetweb.com/articles/594209/

. . . . . . .