การบำเพ็ญเพียรที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าและพระสัทธรรม คือ ความจงใจ ใคร่ต่อการประพฤติดีจริงๆ ธุระหน้าที่ที่ตนจะพึงทำทุกอย่าง ควรทำด้วยความจงใจ การประกอบการงานทุกประเภทถ้าขาดความจงใจแล้ว แม้จะเป็นงานเล็กน้อย ย่อมไม่สำเร็จลงได้ด้วยความเรียบร้อยและน่าดูเลย เพราะความจงใจ เป็นเรื่องของสติและหลักใจ ที่จะยังงานนั้นๆ ให้สำเร็จได้ขาดไปจากตัวและวงงาน ผู้มีสติและหลักใจประจำตัวและงาน จึงชื่อว่าผู้มีความเพียรไปในตัว
ทั้งกิจนอกการใน ถ้าขาดความจงใจ เป็นเครื่องจดจ่อต่องานแล้ว แม้ผู้เป็นนายช่างทำสิ่งต่างๆ ซึ่งมีความฉลาดอยู่บ้าง ทำอะไรมีความสวยงามและแน่นหนามั่นคง แต่ถ้าขาดความจงใจใคร่ต่องานแล้ว แม้งานนั้นจะสำเร็จก็ย่อมลดคุณภาพและความสวยงาม ฉะนั้น ความตั้งใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้มุ่งต่อผลของงานอันสมบูรณ์จึงไม่ควรมองข้ามไป
เราเป็นนักบวชและนักปฏิบัติ ควรเห็นความตั้งใจจดจ่อต่อธุระหน้าที่ที่ตนจะพึงทำทุกประเภท โดยมีความรู้สึกอยู่กับงานนั้นๆ แม้ที่สุดปัดกวาดลานวัด เช็ดถูกุฏีและศาลา ปูอาสนะ ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ตลอดการเคลื่อนไหวไปมา เหลือบซ้ายแลขวา ควรมีสติประจำอยู่ทุกๆ ขณะ ชื่อว่าผู้มีความเพียรประจำตน
การฝึกหัดนิสัยเพื่อเป็นคนมีสติอันเคยชิน จำต้องอาศัยการงานเป็นเครื่องฝึกหัด การประกอบการงานภายนอกแต่ละประเภทเป็นธุระชิ้นหนึ่งๆ การเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนาเป็นธุระชิ้นหนึ่งๆ ทั้งนี้ ถ้ามีสติจดจ่อกับงานที่ทำ ชื่อว่ามีความเพียร ไม่ขาดวรรคขาดตอน การฝึกหัดนิสัยของผู้ใคร่ต่อธรรมชั้นสูง จึงควรเริ่มและรีบเร่งฝึกหัดสติไปกับงานทุกประเภทแต่ต้นมือ
เพื่อความแน่นอนและมั่นคงในอนาคตของเรา โปรดฝึกหัดนิสัยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกลายเป็นคนมีสติประจำตนทั้งขณะที่ทำและขณะอยู่เฉยๆ ถึงเวลาจะทำความสงบภายในใจ สติจะกลายเป็นธรรมติดแนบอยู่กับใจและตั้งขึ้นพร้อมกับความเพียรได้อย่างใจหมาย ทั้งมีกำลังพอจะบังคับจิตใจให้หยั่งลงสู่ความสงบได้ตามต้องการ ส่วนมากที่พยายามให้จิตเข้าสู่ความสงบไม่ได้ตามใจหวังนั้น เนื่องจากสติที่เป็นแม่แรงไม่มีกำลังพอ จิตจึงมีโอกาสเล็ดลอดออกไปสู่อารมณ์ได้อย่างง่ายดาย เหมือนเด็กซนซึ่งปราศจากพี่เลี้ยงผู้ตามดูแล เด็กอาจได้รับอันตรายในเวลาใดก็ได้
จิตที่มีความเพลินประจำตนโดยปราศจากสติตามรักษา จึงมีสิ่งรบกวนตลอดเวลาจนหาความสงบสุขไม่ได้ พี่เลี้ยงของจิตคือ สติกับปัญญา คอยให้ความปลอดภัยแก่จิตตลอดสายที่จิตคิดไปตามอารมณ์ต่างๆ คอยพยายามปลดเปลื้องอารมณ์ที่มาเกี่ยวข้องกับใจ และพยายามแสดงเหตุผลให้จิตรับทราบเสมอ ใจที่ได้รับเหตุผลจากปัญญาพร่ำสอนอยู่เป็นนิจ จะฝืนคิดและติดอารมณ์ที่เคยเป็นข้าศึกต่อไปอีกไม่ได้ การฝึกหัดสติและปัญญาเพื่อให้มีกำลังคืบหน้าไม่ล่าถอยเสื่อมโทรม โปรดฝึกหัดตามวิธีที่กล่าวมา แต่อย่าปล่อยตัวเป็นคนสะเพร่ามักง่ายในกิจการทุกอย่างที่มุ่งประโยชน์แม้ชิ้นเล็กๆ นิสัยมักง่ายที่เคยเป็นเจ้าเรือนนี้ ยังจะกลายเป็นโรคเรื้้อรังฝังลงในใจอย่างลึกและจะทำลายความเพียรทุกด้านให้เสียไป จงพยายามฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนแน่นอนต่อกิจการที่ชอบทั้งภายนอกภายในเสมอ อย่ายอมปล่อยให้ความสะเพร่ามักง่ายเข้าฟักตัวอยู่ในนิสัยได้เลย
เพราะผู้เคยฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนจริงต่อหน้าที่การงานทุกประเภท ต้องเป็นผู้สามารถจะยังกิจการทุกอย่างไม่ว่าภายนอกภายในให้สำเร็จได้ โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ มากีดขวาง แม้จะอบรมจิตใจซึ่งเป็นงานสำคัญทางภายใน ก็จำต้องประสบความสำเร็จลงด้วยความรอบคอบ หาทางตำหนิตนเองไม่ได้ เพราะกิจการภายนอกกับภายในส่อถึง ใจ ผู้เป็นประธานดวงเดียวกัน ถ้าใจเป็นนิสัยมักง่าย เมื่อเข้าไปบ่งงานภายใน ต้องทำงานนั้นให้เหลวไปหมดไม่มีชิ้นดีเหลืออยู่พอเป็นที่อาศัยของใจได้เลย เรื่องภายนอกกับเรื่องภายในส่อถึงกันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการกระทำงานภายนอกจึงส่อถึงเรื่องหัวใจของเราในทางภายใน ถ้าใครเป็นคนสะเพร่ามักง่ายในกิจธุระหน้าที่ภายนอกแล้ว นิสัยซึ่งเคยนี้ก็หมายถึงเรื่องดวงใจนั่นเอง เป็นผู้บ่งงานในกิจการภายนอกนั้น เมื่อเข้าไปบ่งงานหรือว่าทำกิจการงานภายใน ใจที่เคยเป็นผู้สะเพร่ามักง่ายก็จะต้องทำเช่นนั้น
เพราะเหตุนั้น การฝึกหัดให้เป็นคนแน่นอน ให้เป็นคนจริงต่อธุระหน้าที่ด้วยความจงใจ ทำจนสุดวิสัยในกิจการงานนั้นๆ ให้สำเร็จลงด้วยความความสามารถของตนด้วยความตั้งใจ ผู้นี้แลเมื่อเข้าไปดำเนินภายในจิตใจ คือจะอบรมจิตใจให้เป็นไปในทางสงบก็ดี ให้เป็นไปในทางปัญญาก็ดี จะเป็นไปโดยรอบคอบทั้งสองทางคือ ความสงบ ในเมื่อปรากฏขึ้นภายในใจ ก็จะมีความรอบคอบในความสงบของตน เมื่อออกพิจารณาในทางปัญญา ก็จะรอบคอบในทางปัญญาของตน ปัญญารอบคอบปัญญา เหมือนกับว่าเหล็กแข็งกับเหล็กอ่อนสามารถจะบังคับกันได้ เรียกว่าเหล็กกล้าสามารถบังคับเหล็กอ่อนหรือตัดเหล็กอ่อนก็ได้อย่างที่เราเคยเห็นกันอยู่ ปัญญาที่มีความฉลาดสามารถที่จะพิจารณาปัญญาส่วนละเอียดได้เช่นเดียวกัน นี่ขึ้นอยู่กับการฝึกหัดนิสัย
ให้พยายามฝึกนิสัยของตนเสมอตั้งแต่ต้นทาง ต้นทางก็หมายถึงใจดวงนี้ ปลายทางก็หมายถึงใจดวงนี้ หยาบก็หยาบอยู่ที่ตัวของเราเอง เข้าสู่ความละเอียดก็เข้าสู่ความละเอียดอยู่ที่ตัวของเราเอง นี่เป็นการเทียบเฉยๆ ว่าต้นทางหรือปลายทาง คำว่าต้นทาง หมายถึงว่าเริ่มทำงานทีแรก หรือเริ่มอบรมจิตใจทีแรก เรียกว่าต้นทาง การเริ่มทำงานในด้านจิตใจของเราไปถึงขั้นที่มีความสงบ มีความเยือกเย็น จิตเป็นสมาธิและมีความแยบคายทางด้านปัญญาบ้าง นี้เรียกว่ากลางทาง จิตมีความเฉลียวฉลาด ทั้งด้านสมาธิก็ละเอียด ทั้งด้านปัญญาก็มีความสามารถจนถอดถอนตนของตนให้พ้นจากสิ่งแวดล้อมทั้งหลายได้ นั้นเรียกว่าปลายทาง แต่เมื่อสรุปความลงแล้ว ต้นกับปลายก็เหมือนกันกับผลไม้ ผลไม้เราจะเรียกได้ไหมว่าต้นของผลไม้ ปลายของผลไม้ มองดูที่ไหนก็เป็นผลไม้ลูกเดียวนั้นเอง เหมือนอย่างมะพร้าว เราจะชี้ถูกไหมว่า ปลายของมะพร้าวลูกหนึ่งๆนั้นอยู่ที่ไหน ต้นของเขาอยู่ที่ไหนในมะพร้าวลูกนั้น ก็เรียกว่ามะพร้าวลูกหนึ่งเท่านั้นไม่มีต้นไม่มีปลาย
เรื่องของใจก็ทำนองเดียวกันนั้น แต่เราพูดถึงเรื่องการปฏิบัติคือกิริยาของใจ ที่จะพินิจพิจารณาในความหยาบ ปานกลางหรือความละเอียดแห่งความเป็นอยู่ อารมณ์ที่เป็นอยู่ อุบายที่จะพิจารณาในอารมณ์เหล่านั้นมีความหยาบ มีความปานกลาง หรือมีความละเอียด ซึ่งเกิดขึ้นมาจากใจดวงเดียว ต่างกันเพียงเท่านี้เอง จึงเรียกว่าตอนต้น ตอนกลางหรือตอนปลาย เรียกว่าต้นทางหรือปลายทาง มีความหมายได้เพราะอาการของจิตหรือสิ่งแวดล้อมของจิตมีความหยาบความละเอียดเท่านั้น
ขอให้พากันฝึกหัดนิสัยของตนให้เป็นคนจริงเสมอ อย่าเป็นคนวอกแวกคลอนแคลน อย่าเป็นคนจับจด ฝึกหัดนิสัยให้จริง ว่าจะไปต้องไป ว่าจะอยู่ต้องอยู่ ว่าจะทำต้องทำ กำหนดเวล่ำเวลาอย่างใดไว้แล้วอย่าให้เคลื่อนคลาดในเวล่ำเวลาซึ่งตนของตนได้กำหนดเอาไว้ ตนของตนได้เอามือลงเขียนไปแล้วให้เอามือลบ อย่าทำทำนองที่ว่ามือเขียนแล้วลบด้วยเท้า เราตั้งความสัตย์ใส่ตัวของเราเอง แต่ก็ไม่มีใครที่จะมาสามารถทำลายความสัตย์ของเรา เราเสียเองเป็นผู้ทำลายความสัตย์ของเราอย่างนี้ เรียกว่าเราเขียนด้วยมือลบด้วยฝ่าเท้า เป็นการไม่ถูกตามหลักธรรมของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นผู้มีความแน่วแน่ต่อความดำริ ต่อความคิดหรือต่อความตัดสินใจของตนเสมอ ถ้าเราได้ตัดสินใจลงในกิจการงานอันใดที่เห็นว่าเป็นการถูกต้องแล้ว จงเป็นผู้พลีชีพลงเพื่อความสัตย์หรือเพื่อกิจการนั้นๆ เสมอ จะเป็นนิสัยที่แน่นอน เป็นนิสัยคนจริง ไม่เป็นนิสัยที่ว่าวอกแวกคลอนแคลนไว้ใจไม่ได้
เมื่อเราทำตัวของเราให้ไว้ใจของเราไม่ได้แล้วเราจะหวังพึ่งใคร ศีลก็เป็นเรื่องของเราจะพยายามรักษาไว้ให้สมบูรณ์ แต่เราก็ไม่ไว้ใจในการรักษาศีลของเรา เพราะเราเป็นคนวอกแวกคลอนแคลน ไม่แน่นอนในใจของตนที่จะรักษาศีลด้วยกายวาจาใจ ให้เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ แล้วเราจะอาศัยใครเป็นที่ไว้ใจ เมื่อเราเองเป็นผู้ตั้งใจจะรักษาศีลให้เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ แต่เราก็ไม่ไว้ใจเราเพราะเราเป็นคนไม่แน่นอน และคุณสมบัติซึ่งจะเกิดขึ้นจากศีลนั้นก็เป็นคุณสมบัติที่ไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน เพราะเหตุไม่แน่นอนผลก็ต้องตามรอยกันไปนั่นเอง ถึงจะพยายามทำสมาธิให้เกิด เราก็ไม่แน่นอนในกิจในธุระหรือในการกระทำของเรา ที่จะสามารถยังจิตของเราให้เป็นไปเพื่อสมาธิ ตั้งแต่สมาธิขั้นหยาบจนกระทั่งถึงสมาธิขั้นละเอียด เมื่อเราเป็นผู้ไม่แน่นอนในกิจการของเรา ในหน้าที่ของเรา ตัดสินใจลงไม่ได้แล้ว เราก็เป็นคนหลักลอย สมาธิก็ไม่มี ศีลก็เป็นศีลลอยลม สมาธิก็ลอยลม ปัญญาก็ลอยลม หาอะไรเป็นสาระแก่นสารในตัวของเราไม่ได้ นี่โทษแห่งความไม่แน่นอน โทษแห่งความเป็นคนไม่จริง ตัดสินใจของตนลงสู่หลักแห่งธรรมที่พระองค์เจ้าทรงตรัสไว้ชอบแล้วยังไม่ได้ เราจะหวังผลมาจากที่ไหนเล่า
ปัญญา จะหุงต้มแกงกินเหมือนอย่างอาหารหวานคาวไม่ได้ ขอให้บรรดาท่านทั้งหลายจงทราบเสมอและทราบทุกขณะว่า ปัญญานั้นจะเกิดขึ้นจากผู้ที่ชอบคิดชอบค้นชอบพิจารณา คนไม่มีปัญญาไม่สามารถจะรักษาสมบัติ จะประกอบการงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความเรียบร้อย ไม่สามารถจะรักษาสมบัติให้ปลอดภัยจากโจรจากมารได้ไม่ว่าทางโลกและทางธรรม คนมีความฉลาดคือคนมีปัญญา สามารถที่จะประกอบการงานตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ จนสามารถประกอบได้ถึงการงานที่เป็นชิ้นใหญ่ที่สุด ขึ้นอยู่กับปัญญา เรื่องการปฏิบัติพระศาสนา สำคัญอยู่ที่ปัญญา สติเมื่อมีความกระเทือนขึ้นภายในใจ ปัญญาต้องรับช่วงเสมอ สิ่งที่มาสัมผัสให้จิตได้รับความกระเพื่อมแสดงให้เห็นแล้วว่ามีความรู้สึกในสิ่งที่มาสัมผัสได้เริ่มขึ้นแล้ว สติเป็นผู้รับรู้ในวาระที่สอง ปัญญาเป็นผู้รับช่วงไปจากสติเป็นวาระที่สาม ให้ฝึกหัดตนของตนเป็นทำนองนี้ จิตจะได้อยู่ในกรอบของสติ จะได้อยู่ในกรอบของปัญญา
เมื่อปัญญาเป็นผู้ที่ได้ฝึกฝนอบรมมาจนเคยชิน จนกลายเป็นนิสัยของคนที่ชอบคิดอ่านไตร่ตรองดูเหตุผล ตัดสินตนของตนได้ด้วยความถูกต้องเพราะอำนาจแห่งปัญญาแล้ว แม้จะเข้าไปข้างในคือหมายถึงใจโดยเฉพาะ ก็ต้องเป็นผู้ที่สามารถที่จะตัดสินใจลงได้ด้วยหลักเหตุผลเพราะอำนาจของปัญญาอีกเช่นเดียวกัน เพราะเหตุนั้น จงพากันพยายาม สติกับปัญญาให้แนบกับตัวไปทุกเวลา ตาถึงไหนให้สติกับปัญญาไปถึงนั้น หูได้ยินถึงไหนสติกับปัญญาให้ถึงที่นั่น จมูก ลิ้น กาย มีอะไรมาสัมผัสชั่วระยะไกลใกล้แค่ไหน หยาบละเอียดแค่ไหน สติกับปัญญาให้ตามรู้ให้ได้รับความรู้สึกกันอยู่เสมอ อารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายในใจ สติกับปัญญาตามรอบรู้ตามพิจารณากันอยู่เสมอ
ท่านผู้ที่จะพ้นไปจากโลกท่านทำอย่างนี้ ท่านไม่ได้ทำอย่างไม้ซุงทั้งท่อนที่ทิ้งอยู่ให้เด็กเขาขึ้นบนไม้ซุงทั้งท่อนนั้นแล้วขี้รดลงไป เมื่อเราทำตัวของเราให้เป็นเช่นเดียวกับไม้ซุงทั้งท่อนแล้ว กิเลสตัณหาอาสวะจะมาทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส เครื่องสัมผัส ล่วงไหลเข้ามาสู่อายตนะภายในคือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็จะขี้รดลงไปถูกหัวใจดวงนั้น เพราะหัวใจดวงนั้นเป็นไม้ซุงทั้งท่อน ไม่มีความแยบคาย ไม่มีความเฉลียวฉลาด ไม่มีความรอบคอบต่อตนเอง ต่ออารมณ์ทั้งหลายทั้งภายนอกภายใน จนกลายเป็นขอนซุงทั้งท่อนให้กิเลสตัณหาอาสวะขี้รดทั้งวันทั้งคืน นี่ไม่สมควรสำหรับผู้ที่จะดำเนินเพื่อวิวัฏฏะ คือความพลิกโลกสงสารให้ออกจากจิตใจของตน จึงไม่ควรทำใจของตนให้เป็นซุงทั้งท่อน ขอให้ท่านทั้งหลายได้ทราบไว้อย่างนี้
เรื่องของสติ เรื่องของปัญญา เรานั่งอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าพยายามระวัง พยายามคิดค้น สติกับปัญญาจะมีอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ขึ้นอยู่กับใครทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ใคร่ต่อการระมัดระวัง ผู้ใคร่ต่อการพิจารณาสอดส่องหรือไตร่ตรองในเหตุทั้งหลายที่มาสัมผัส ซึ่งเป็นไปอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนยืนเดินนั่งนอน มีแต่ธรรมชาติที่จะมากระตุ้นเตือนหัวใจของเราให้สติได้รับรู้ ให้ปัญญาได้ไตร่ตรองทั้งนั้น เดินไปไหนตาถึงไหนให้มีสติปัญญาไปถึงที่นั่น นี้แล นักปฏิบัติเพื่อความรอบคอบทั้งภายนอกเข้าสู่ภายในต้องเป็นไปกับสติหรือปัญญาอย่างนี้ ถ้าเราทำเหมือนอย่างขอนซุงทั้งท่อน เดินไปก็สักแต่ว่าเดิน นั่งก็สักแต่ว่านั่ง ภาวนาก็สักแต่ว่าความตั้งไว้เบื้องต้นในใจเท่านั้น แล้วนั่งอยู่เหมือนกับหัวตอ ความรู้สึกความรอบคอบในการงานคือการภาวนาของตนไม่มี ก็เหมือนกันกับหัวตอไม่เห็นผิดแปลกกันอันใด นี่ขอให้เราทั้งหลายได้พินิจพิจารณา รื้อฟื้นสติซึ่งมีอยู่กับหัวใจของเราขึ้นมา รื้อฟื้นปัญญาที่มีอยู่กับหัวใจของเราขึ้นมาให้เป็นประโยชน์สำหรับหัวใจของเราเอง
กิเลสไม่ได้เกิดขึ้นจากที่อื่น เกิดขึ้นจากหัวใจของเรานี้เอง แต่ก็เหยียบย่ำหัวใจเพราะหัวใจเป็นขอนซุงทั้งท่อน ไม่สามารถที่จะปลดเปลื้องสิ่งมัวหมองซึ่งเกิดขึ้นจากตน กิเลสจึงกลายเป็นขี้รดใจดวงนั้นลงไปทุกวันๆ ท่านจึงเรียกว่า ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ขี้ลืม อย่างนี้เป็นต้น ขี้อย่างนี้เกิดขึ้นจากหัวใจทั้งนั้น ที่ท่านว่าขี้หมายถึงว่าเป็นของที่หยาบ ก็เลยให้ชื่ออย่างนั้นเสีย เมื่อเราเป็นผู้มีความมุ่งประสงค์ที่จะทำตัวของเราให้เป็นไปเพื่อความสะดวกภายในจิตใจ จงเป็นผู้ฝึกหัดสติเสมอ พยายามตั้งสติให้ดี ตรวจตรองดูอวัยวะทุกส่วน มีสติเป็นรั้วกั้นจิตอย่าให้เลยขอบเขตของสติไปได้ ปัญญาเป็นผู้จาระไนอยู่ทางภายใน พิจารณาให้ชัด นี่พูดถึงเรื่องกายฝึกหัดนิสัยในเบื้องต้น ต้องเป็นผู้มีความตั้งอกตั้งใจฝึกหัดจริงๆ เมื่อเรามีการตั้งอยู่เสมอจนชินต่อนิสัยเราแล้ว เราเดินไปที่ไหน สติจะต้องเป็นไปอยู่ ปัญญาก็ต้องเป็นไปอยู่เช่นนั้น ภัยจะมาจากที่ไหน
เหตุที่ภัยจะเกิดขึ้นให้ใจของเราได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากว่าจิตไม่มีสติไม่มีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน อะไรซึ่งเกิดขึ้นจากใจเอง จึงเกิดขึ้นได้ทุกๆ ประเภทและไม่เลือกกาลเวลาด้วย ไม่เลือกอิริยาบถใดด้วย ทีนี้เราก็มาตำหนิติโทษเราว่าจิตใจไม่สงบ จิตใจได้รับความเดือดร้อน แต่เราเสาะแสวงหาความเดือดร้อนเสียเองนั้นเราไม่คำนึง อาการที่แสวงหาความเดือดร้อนโดยไม่รู้สึกตัวนี้ท่านเรียกว่าสมุทัย เหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เมื่อก่อไฟขึ้นมาแล้วจะบังคับไม่ให้ร้อนก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน เมื่อก่อเหตุให้เป็นเรื่องของสมุทัยขึ้นมาแล้ว ผลที่จะพึงได้รับก็ต้องเป็นทุุกข์ จะกลายเป็นสุขไปไม่ได้
พระองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าและสาวกทั้งหลาย ท่านเดินจงกรมปรากฎในประวัติของสาวกว่า บางองค์ถึงฝ่าเท้าแตกก็มี อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็ส่อให้เห็นแล้วว่าท่านพยายามเอาจริงเอาจังแค่ไหน เพราะความที่จะแหวกว่ายจากวัฏจักรอันนี้ไปให้พ้นไปเสียได้ ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดได้รับความทุกข์ความยากความลำบากเช่นสัตว์ทั้งหลายที่เป็นอยู่ ณ บัดนี้ มีตัวของเราเป็นต้นซึ่งได้เคยผ่านความทุกข์ความทรมานมาเช่นเดียวกัน จึงไม่ควรที่จะทำความกล้าหาญหรือร่าเริงต่อความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้
ใจ ทำไมจึงเป็นไปเพื่อความสงบไม่ได้ ลองสังเกตดูซิ วันหนึ่งๆ ถ้าเราตั้งข้อสังเกตโดยเฉพาะในหัวใจของเราแล้ว เราจะได้เห็นข้อบกพร่องของเราทั้งวัน และในขณะที่เราได้เห็นข้อบกพร่องของเราทั้งวันนั้น แสดงว่าเราก็มีข้อสมบูรณ์ขึ้นด้วยกัน เพราะเรามีสติ เราจึงเห็นข้อบกพร่องของเรา ความที่เรามีสตินั้นเอง เรียกว่าเราได้ความสมบูรณ์ขึ้นมาเป็นลำดับๆ หรือว่าสมบูรณ์ตามขั้น เริ่มจะเป็นความสมบูรณ์เป็นขั้นๆ ขึ้นไป ต้องพยายามพิจารณาอย่างนี้ เราไม่ต้องสนใจกับเรื่องอะไรทั้งนั้น ให้สังเกตดูตั้งแต่เรื่องหัวใจที่จะปรุงเรื่องอะไรขึ้นมาแล้วบังคับไว้ภายในกายกับจิตนี้ ท่านว่าสติปัฏฐาน ๔ คือฐานที่ตั้งแห่งสติ พูดง่ายๆ ถ้าจิตเราได้ตั้งอยู่กับกายนี้แล้ว สติบังคับสติไว้กับกายนี้แล้ว ปัญญาท่องเที่ยวอยู่ในสกลกายนี้แล้ว เรียกว่าได้เดินทางในองค์แห่งอริยสัจอย่างสมบูรณ์
ทุกข์ก็เป็นอันที่จะรู้เท่าทันในองค์แห่งอริยสัจนี้ สมุทัยก็เป็นอันว่าจะได้ละได้ถอนกันอยู่ในองค์แห่งอริยสัจนี้ มรรคก็เป็นอันว่าเราได้บำเพ็ญอยู่ในตัวของเรา พร้อมกับเวลาที่เราบังคับจิตใจหรือไตร่ตรองในธาตุขันธ์ของเรานี้ นิโรธะความดับไปแห่งความทุกข์จะแสดงให้เราเห็นเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ชั้นหยาบที่สุด ชั้นกลาง จนกระทั่งถึงชั้นสูงสุด ไม่ได้นอกเหนือไปจากสติปัฏฐานทั้งสี่ เพราะเหตุนั้น สติปัฏฐานทั้งสี่ จึงเป็นทางเดินของพระอริยเจ้าทุกๆประเภท
กาย หมายถึง อวัยวะของเราทุกส่วนที่เรียกว่ากองรูป
เวทนา คือ ความสุข ความทุกข์และเฉยๆ
จิต หมายถึง เจตสิกธรรมที่ปรุงขึ้นไม่ขาดวรรคขาดตอน
ธรรม หมายถึง อารมณ์ที่เป็นเป้าหมายของใจ
นี่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ บรรดาพระอริยเจ้าทุกๆ ประเภท ได้ถือสติปัฏฐาน ๔ เป็นอารมณ์ของใจ
การพิจารณากาย จะเป็นกายภายนอกก็ตามกายในก็ตาม โดยความเป็นของไม่เที่ยงบ้าง โดยความเป็นทุกข์บ้าง โดยความเป็นอนัตตาบ้าง โดยความเป็นของปฏิกูลโสโครกบ้าง เหล่านี้เรียกว่าพิจารณา กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายนี้มีทั้งกายนอกกายใน กายในหมายถึงกายของเราเอง กายนอกหมายถึงกายของสัตว์อื่นบุคคลอื่น หรือสภาพที่จะเป็นอุบายแห่งปัญญาที่เกี่ยวกับด้านวัตถุ เราจะเรียกว่ากายโดยอนุโลมก็ได้ นี่เรียกว่ากายนอก พิจารณากายนอกก็ตามกายในก็ตาม ให้เป็นไปเพื่อความเห็นโทษ ให้เป็นไปเพื่อความแก้ไข ให้เป็นไปเพื่อความฉลาด ปล่อยวางในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เรียกว่าพิจารณาในสติปัฏฐาน การพิจารณากายทั้งหลายที่กล่าวมานี้ เพื่อให้เห็นโทษในส่วนแห่งกาย ซึ่งเป็นที่ยึดถือของอุปาทาน เมื่อได้พิจารณาเห็นชัดในส่วนแห่งกายนั้นแล้วทั้งกายนอกทั้งกายในโดยทางปัญญา ความสำคัญในกายนั้นว่าเป็นอย่างไรซึ่งเคยเป็นมาก็จะค่อยบรรเทาหรือเบาลงไป หมดความสำคัญว่ากายนั้นเป็นอะไรอีก เช่นอย่างเป็นของสวยของงาม เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นของน่ารักน่าชอบใจหรือน่ากำหนัดยินดี เหล่านี้เป็นต้น ก็จะขาดลงเพราะอำนาจของปัญญาเป็นผู้วินิจฉัยหรือตัดสิน ความสำคัญของใจซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งอุปาทานที่ไปเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ก็จะค่อยหมดไปเป็นลำดับ
เช่นอย่างองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านสอนพระสาวกให้ไปอยู่ในป่าช้า ให้พิจารณาซากอสุภในป่าช้า ก็หมายถึงเรื่องกายนอกนั่นเอง การพิจารณาสภาพของตัวทั้งหมดนี้เรียกว่ากายใน การพิจารณาไม่เพียงว่าครั้งหนึ่งครั้งเดียว ต้องถือเป็นกิจจำเป็นเช่นเดียวกันกับเรารับประทานอาหารเป็นประจำวัน แต่การรับประทานอาหารนั้นเป็นเวล่ำเวลา เช่นอย่างวันหนึ่ง ๓ มื้อบ้าง ๒ มื้อบ้างหรือมื้อเดียวบ้าง แต่การพิจารณาในส่วนแห่งกาย จะเป็นกายนอกก็ตามกายในก็ตามเป็นอาจิณ ยิ่งได้ตลอดเวลายิ่งดี สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์และเพื่อความถอดถอนอุปาทานออกจากกายที่เป็นบ่อเกิดแห่งความลุ่มหลง นี่เรียกว่าการพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อสรุปความลงในผลแห่งกายพิจารณาแล้วก็สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ด้วย ไม่ใช่บุคคลด้วย ไม่ใช่เราด้วย ไม่ใช่เขาด้วย สักแต่ว่ากายเท่านั้นโดยทางปัญญาจริงๆ เมื่อจิตได้เห็นชัดด้วยปัญญาจริงๆอย่างนี้แล้ว ความกังวลเกี่ยวข้องในเรื่องกาย ความเสาะแสวงหาทางอารมณ์ที่เกี่ยวกับกาย ความที่เรายึดมั่นถือมั่นในส่วนกาย ทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลอันหนึ่ง เมื่อตัวเหตุคืออุปาทานได้หมดไปแล้วเพราะอำนาจของปัญญา สิ่งเหล่านี้ก็ต้องหมดไปหรือดับไปพร้อมๆ กัน ไม่มีอันใดเหลือ
ทีนี้เราพึงทราบว่าการพิจารณาในสติปัฏฐาน ๔ นี้ เราจะต้องพิจารณากายเสียก่อน แล้วก็ต่อไปเวทนา ต่อไปจิต และต่อไปธรรมนั้น เป็นการคาดผิดไป อันนี้เป็นชื่อของส่วนแห่งสภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกันแล้วท่านแยกออกเป็น ๔ ประเภทเท่านั้น ในประเภททั้งหมดนี้มีอยู่กายอันเดียวนี้ เวทนาก็อยู่กาย จิตก็อยู่ในกายอันนี้ ธรรมก็อยู่ในกายอันนี้ แต่ท่านแยกประเภทออกไป ฉะนั้น ความเข้าใจของเราอาจจะมีความเห็นผิดไปว่า เมื่อท่านแยกออกเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรมแล้ว ถ้าหากเราจะพิจารณาในเวทนา หรือในจิต ในธรรม ส่วนใดส่วนหนึ่งก่อนแล้วจะเป็นการผิดอย่างนี้ นี่อาจเกิดขึ้นในความหลงผิด แต่แท้ที่จริงเวลาเราพิจารณากาย เวทนาก็แฝงอยู่ในกายนั้น ความทุกข์ไม่เลือกกาลใด จะเป็นกาลที่เรากำลังพิจารณากายอยู่ก็ตาม หรือออกจากกายนั้นแล้วก็ตาม เกิดขึ้นได้ทั้งสุขทั้งทุกข์ทั้งความเฉยๆ เช่นเป็นโอกาสหรือเป็นช่องที่เราจะควรพิจารณาในเวลาเวทนาเกิดขึ้นนั้น ให้ได้ทราบชัดว่าเวทนานี้เป็นอะไร นอกจากว่ากายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราแล้ว เราจะเห็นว่าเวทนาที่เกิดขึ้นนี้เป็นอะไรอีกในบรรดาเวทนาทั้งสามนี้
เราก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาในเวทนาทั้งสามนี้อีก มีลักษณะเช่นเดียวกันว่า อนิจฺจํ เวทนาจะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตาม เกิดขึ้นทุกกาลทุกสมัยมันต้องเป็นไปกับด้วยไตรลักษณ์ทั้งนั้น ไม่มีระยะเดียวที่จะห่างจาก ไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไป แล้วจะปฏิเสธความเป็นสัตว์เป็นบุคคลตายตัวอยู่เช่นนั้นตามสภาพของเขานี่เรียกว่าพิจารณาเวทนา เราจะพิจารณากาลใดสมัยใดไม่ขัดข้องทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ แล้วความติดในอาการทั้งสี่หรือในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม นี้ เราไม่ได้เลือกติดตามกาลตามเวลาของเขา ติดได้ทุกขณะ ติดได้ทุกเวลาในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ เพราะเหตุนั้นการที่เราจะพิจารณาแก้ไขในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ จึงไม่จำเป็นจะต้องกำหนดเวล่ำเวลา คำว่าพิจารณาจิต จะพิจารณาอย่างไร.. จิตก็พิจารณาเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นจากใจนั่นเอง ว่าไปสำคัญมั่นหมายในกายในเวทนาเหล่านี้ เป็นอะไรบ้าง ปรุงแต่งจะเป็น กายนอกก็ตาม กายในก็ตาม ปรุงว่าอย่างไร หมายว่าอย่างไร กำหนดพิจารณาตามกระแสของใจ สิ่งที่ไปหมายหรืออารมณ์เหล่านั้นเป็นธรรมขึ้นมาแล้วที่นี่ เรียกว่าเป้าหมายนั่นเอง อารมณ์ที่จิตพิจารณา ที่จิตจดจ่อนั้นเรียกว่าเป็นเป้าหมายของใจ เป้าหมายนั้นเองท่านเรียกว่าธรรม
ทีนี้ท่านว่าพิจารณา เวทนาใน เวทนานอก อันนี้เป็นปัญหาอันหนึ่ง ส่วนกายในกายนอกเราพอทราบกันได้ชัด เช่นอย่างกายของคนอื่นหรือเราไปเยี่ยมป่าช้า ก็แสดงว่าเราไปพิจารณากายนอก แต่เวทนาในนี้จะหมายถึงเวทนาอะไร เวทนานอกหมายถึงเวทนาอะไร เวทนานอกถ้าเราจะไปหมายคนอื่นเป็นทุกข์ทนลำบาก หากเขาไม่แสดงกิริยามารยาทอาการให้เราเห็นว่าเขาเป็นสุขหรือเป็นทุกข์แล้ว เราจะมีช่องทางหรือโอกาสพิจารณาเวทนาของเขาได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาอยู่ แต่นี้เพื่อจะให้เป็นสิ่งสำเร็จรูปในทางด้านปฏิบัติของเรา จะถูกก็ตามผิดก็ตาม ข้อสำคัญให้ถือเอาผลประโยชน์ซึ่งเกิดขึ้นในการกระทำของตน เป็นความสุข เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความแยบคาย เป็นไปเพื่อความเฉลียวฉลาดแล้ว ให้ถือว่านั้นเป็นของใช้ได้ เป็นการถูกกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นในสถานที่นี้หรือเวลานี้จะขออธิบายตามอัตโนมัติหรือความรู้โดยตนได้พิจารณาอย่างไรให้บรรดาท่านทั้งหลายฟัง
เวทนานอกนั้นหมายถึงกายเวทนา เวทนาในหมายถึงจิตเวทนา คือ เวทนาซึ่งเกิดขึ้นในส่วนแห่งกาย จะเป็นการเจ็บท้อง ปวดหัวก็ตาม เจ็บส่วนแห่งอวัยวะ หรือปวดที่ตรงไหนทุกข์ที่ตรงไหนก็ตามในส่วนแห่งอวัยวะนี้ทั้งหมดเรียกว่าเป็น เวทนานอก จะเป็นสุขทางกายก็ตาม เฉยๆ ขึ้นทางกายก็ตามจัดว่าเป็นเวทนานอกทั้งนั้น ส่วนเวทนาในนั้น หมายถึงใจได้รับอารมณ์อันใดขึ้นมาเพราะอำนาจของสมุทัยเป็นเครื่องผลักดัน เกิดความทุกข์ขึ้นมาบ้าง เกิดความสุขความรื่นเริงขึ้นมาบ้าง เฉยๆ บ้าง เรียกว่าเวทนาใน การพิจารณาเวทนานอก การพิจารณาเวทนาใน มีไตรลักษณ์เป็นเครื่องยืนยันหรือเป็นเครื่องตัดสิน เป็นเครื่องดำเนินด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อเราได้พิจารณาในส่วนกายให้เห็นชัด ส่วนเวทนานอกขึ้นอยู่กับกายนี้ชัดแล้ว แม้จะพิจารณาเวทนาส่วนภายในนี้ก็ย่อมจะชัดไปได้ เพราะอำนาจของปัญญาที่มีความละเอียดเข้าไปเป็นลำดับนี่การพิจารณาสติปัฏฐานพิจารณาอย่างนี้
พิจารณาจิตตามปริยัติท่านกล่าวไว้นั้น บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายก็พอเข้าใจแล้ว กระแสของใจเรามีความเกี่ยวข้องกระดิกพลิกแพลงไปในอารมณ์อันใดคอยสังเกตความเคลื่อนไหวของใจอยู่เสมอ นี่เรียกว่าพิจารณาจิต คือพิจารณาในขณะเดียวกันนั่นเอง เวลานั่งหรือเวลายืนเวลาทำความเพียรอยู่นั้นเอง ในกาลในสมัยเดียวนั้นเองสามารถที่จะพิจารณาสติปัฏฐานทั้งสี่นี้ไปพร้อมๆ กันได้เพราะอาการทั้งสี่นี้เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นสับสนปนเปกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีการกำหนดว่ากายจะต้องปรากฏขึ้นก่อน แล้ว เวทนาเป็นที่สอง จิตเป็นที่สามธรรมเป็นที่สี่ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นสิ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ทั่วสรรพางค์ร่างกาย และจิตใจ ของเราล้วนแล้วตั้งแต่เป็นเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ทั้งนั้น การที่เราจะพิจารณาในส่วนสภาวะทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นมาสัมผัสกับใจของเราส่วนใดนั้นเป็นเรื่องถูกต้อง
เมื่อท่านผู้ใดเป็นผู้หักห้ามร่างกายจิตใจของตน บังคับจิตใจของตนให้ท่องเที่ยวอยู่ในสติปัฏฐานทั้งสี่นี้แล้ว เรื่องของสติก็ดี เรื่องของปัญญาก็ดี จะเป็นขึ้นในสถานที่นี้ คำว่าอริยะที่ท่านกล่าวตั้งแต่เบื้องต้นว่า โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ก็ต้องได้อุบายไปจากธรรมทั้งสี่ประเภทนี้เอง ด้วยอำนาจของปัญญา เมื่อพิจารณาให้เห็นชัดแจ่มแจ้งตามเป็นจริงในสภาวะนี้แล้ว ควรจะได้รับผลในธรรมขั้นใดก็ต้องปรากฏขึ้นเป็นขั้นๆ ตามแต่กำลังความสามารถของตนจะพิจารณาได้ในธรรมขั้นไหน เพราะเหตุนั้นผลจึงปรากฏขึ้นว่าเป็น พระโสดาบ้าง เป็นพระสกิทาคาบ้าง เป็นพระอนาคาบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง อย่างนี้
การพิจารณาสติปัฏฐานทั้งสี่ก็ดี การพิจารณาในอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี อย่าพึงทราบว่าเป็นคนละทางและอย่าพึงทราบว่าเป็นคนละประเภท เป็นคนละหน้าที่ ต่างกันตั้งแต่ชื่อเท่านั้น ในหลักธรรมชาติแล้วเป็นอันเดียวกัน กายก็ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ นี้เรียกว่ากาย การพิจารณาในความทุกข์ความลำบากความทรมานของกายนี้ ก็จัดเป็นกายานุปัสสนาด้วย เป็นทุกขสัจด้วย การพิจารณาถึงเรื่องเวทนา ที่เกิดขึ้นทั้งส่วนแห่งกาย ทั้งส่วนแห่งใจ ก็จัดว่าเป็นการพิจารณาเพื่อจะรื้อถอนถึงเรื่องของสมุทัยและทุกข์ทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นเป็นตัวผลในส่วนแห่งกายก็ดี ในส่วนแห่งจิตก็ดี นี้เป็นเรื่องของทุกข์ การพิจารณาเพื่อจะรู้สาเหตุแห่งความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นมาจากอะไร นี่เป็นอุบายที่จะถอนสมุทัยซึ่งเป็นรากสำคัญอยู่ภายในใจพร้อมๆ กันไปแล้ว
เพราะเหตุนั้นอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี เรื่องสติปัฏฐานธรรมทั้งสี่ก็ดี พึงทราบว่าธรรมชาตินี้เป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น ถ้าจะเทียบอุปมาแล้วก็เหมือนดังกับว่า กายของเราทั้งหมดนี้ เราให้ชื่อว่าข้างหน้าข้างหนึ่ง ข้างหลังอย่างหนึ่ง ข้างซ้ายอย่างหนึ่ง ข้างขวาอย่างหนึ่ง ข้างบนอย่างหนึ่ง ข้างล่างอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าข้างบนที่ไหนนอกไปจากกาย ข้างล่างที่ไหนนอกไปจากกาย ข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวาที่ไหนนอกไปจากกายอันนี้ ออกจากกายอันเดียวกันทั้งนั้น เพราะเหตุนั้นลักษณะอาการที่ท่านว่าในอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี สติปัฏฐานธรรมทั้งสี่ก็ดี พึงทราบว่าออกจากธรรมชาติอันเดียวนี้ เมื่อปัญญาของเราได้พิจารณาให้เห็นชัดในส่วนรูป เรียกว่ากายานุปัสสนา ให้เห็นชัดตามเป็นจริงเพราะอำนาจของปัญญา เราพิจารณาไม่หยุดยั้งแล้ว ความปล่อยวางในกายนี้ก็จะปรากฏขึ้นชัดภายในจิตใจของเรา เรียกว่าถอนอุปาทานของกายเสียได้ เมื่อพิจารณาถึงเรื่องเวทนาทั้งสามให้เห็นชัดตามเป็นจริงเช่นเดียวกับส่วนแห่งกายนี้แล้ว สติ ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุง ความคิด วิญญาณ ความรับรู้ในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เห็นชัดเช่นเดียวกันแล้ว ความปล่อยวางในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จากความเป็นตน จากความเป็นเรา เป็นของเรา ก็ต้องปล่อยวางเช่นเดียวกันกับเราปล่อยวางกายเช่นนั้น
การกล่าวมาทั้งหมดนี้ หรือการพิจารณาในสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้ พิจารณาตามขั้นของจิต ที่มีความเกี่ยวข้องติดมั่นพัวพันอยู่ในส่วนใด ก็ต้องคลี่คลายเปิดเผยให้จิตดูว่ามีอะไรบ้างอยู่ภายในนี้ เช่นอย่างพิจารณากาย เหตุที่จะพิจารณากาย ก็เนื่องจากว่าใจ ไปสำคัญกายนี้ว่าเป็นอะไรบ้างไม่รู้กี่ช่องกี่ทาง ไม่รู้กี่สมมุตินิยมที่ใจไปทำความหมายขึ้นจาก กาย ท่อนเดียวหรือก้อนเดียวนี้ว่าเป็นสัตว์บ้าง ว่าเป็นบุคคลบ้าง ว่าเป็นหญิง ว่าเป็นชายบ้าง ว่าเป็นของสวยของงามบ้าง ว่าเป็นที่น่ารักใคร่ชอบใจบ้าง เหล่านี้ล้วนแล้วตั้งแต่เกิดขึ้นเป็นความสำคัญที่เกี่ยวกับกายทั้งนั้น
เมื่อปัญญาได้คลี่คลายดูให้เห็นชัดว่า มีเราอยู่ที่ไหน มีเขาอยู่ที่ไหนในกายอันนี้ มีของสะอาดของสวยงามอยู่ที่ไหนมีของเที่ยงแท้ถาวรที่ไหน มีความเป็นของเที่ยงที่ไหน มีความไม่แปรอยู่ที่ไหน มีอตฺตา หิ อยู่ที่ไหนในส่วนแห่งกายนี้ ชี้แจงแสดงโดยทางปัญญาให้ใจได้เห็นชัด ก็เทียบกับว่าคลี่คลายดูสิ่งปกปิดให้ใจได้เห็นชัด ให้ใจได้หายสงสัยในสิ่งเหล่านี้ ว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปตามจิตของตนมุ่งหวัง ว่าเป็นเราเป็นของเราเป็นต้น แล้วจิตก็จะปล่อยวางจากสภาพทั้งหลายเหล่านี้โดยอัตโนมัติของตนเอง ไม่ต้องบังคับให้ถอดให้ถอนให้ปล่อยให้วางแต่อย่างใดเพราะจิตได้เห็นชอบตามปัญญาแล้ว นี่ปล่อยวางมาอย่างนี้ การพิจารณาเวทนา ก็คลี่คลายเช่นเดียวกันกับที่ส่วนกายนี้ให้จิตได้เห็นชัด คลี่คลายดูเวทนา ทั้งสาม สุข ทุกข์ เฉยๆ คลี่คลายดูสัญญาให้ชัด คลี่คลายดูสังขารให้ชัด คลี่คลายดูวิญญาณให้ชัด โดยลักษณะเช่นเดียวกันกับคลี่คลายในส่วนกายด้วยปัญญา ให้จิตได้ตรองตามปัญญา รู้ตามปัญญาที่ชี้ช่องบอกทาง ได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว ก็ไม่ต้องบังคับให้ถอดถอนจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้โดยความถือว่าเป็นเราเป็นของเราเป็นต้นเสีย นี่เราก็ไม่ต้องบังคับอีกเช่นเดียวกัน
เพราะอำนาจของปัญญาได้หยั่งทราบทั่วถึงหมดแล้ว เปิดดูให้เห็นชัดไม่มีอันใดลี้ลับเพราะอำนาจของปัญญา จิตก็ถอนเข้ามาๆ กระแสของใจที่วิ่งอยู่ริก ๆ ๆ ต่อสภาวะทั้งหลายเหล่านี้ พร้อมทั้งสัญญาที่มีความสำคัญมั่นหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ก็เป็นอันถอดถอนมาพร้อมๆ กัน การเห็นโทษในสภาวธรรมทั้งหลาย เบื้องต้นก็ต้องเห็นโทษในสภาวธรรมเพราะเราไปเห็นคุณในสภาวธรรม แต่เมื่อได้พิจารณาในสภาวธรรมส่วนหยาบมี รูปเป็นต้นแล้ว ให้ชัดด้วยปัญญา สภาวะทั้งหลายเหล่านั้นก็หมดความลี้ลับ เป็นธรรมที่เปิดเผย เป็นสภาวธรรมที่เปิดเผยโดยทางปัญญา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อได้พิจารณาโดยทางปัญญาแล้ว ก็กลายเป็นธรรมที่เปิดเผยอีกเช่นเดียวกัน ยิ่งจะเห็นกระแสของใจที่เพ่นพ่านอยู่ทั้งวันทั้งคืน เป็นเรื่องที่ว่าตื่นเงาของตัวอยู่ตลอดเวลาให้ชัดขึ้นแล้วในขณะนี้ แต่ก่อนถูก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสและความสำคัญมั่นหมายในสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องปกปิดกำบังกระแสของใจ จึงไปเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นกลายเป็นคุณเป็นโทษไปเสียหมดโดยเราเป็นผู้บริสุทธิ์พุทโธแต่ผู้เดียว ทั้ง ๆที่เราเป็นผู้หลงต่อผู้หลงนั่นเอง ต่อเมื่อได้คลี่คลายสภาวะทั้งเป็นฝ่ายรูป ทั้งเป็นฝ่ายนาม ให้ชัดเจนด้วยปัญญาอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้ว ก็ยิ่งจะเห็นกระแสของใจเห็นกระแสของใจชัดจนกระทั่งถึงเห็นรากฐานของอวิชชาซึ่งเกิดขึ้นจากธรรมชาติที่รู้ๆ เป็นบ่อเกิดแห่งกระแสของ ใจนี้ ชัดเจนเข้าไปเช่นเดียวกับสภาวธรรมทั้งหลายแล้วเรียกว่าเปิดเผยขึ้นอีก
คลี่คลายดูความรู้ที่เป็นเจ้าวัฏจักร เป็นความรู้ที่โกหกนี้ให้เห็นชัดด้วยปัญญา ธรรมชาติอันนี้ก็เลยกลายเป็นความเปิดเผยขึ้นมาอีกไม่มีอันใดที่เหลือหลออยู่ เมื่อธรรมชาติอวิชชาที่เป็นความรู้ลี้ลับ เป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยโกหกมายาสาไถย ให้เห็นชัดด้วยปัญญานี้แล้ว ธรรมชาติที่ลี้ลับ ธรรมชาติที่ละเอียดที่สุดได้แก่อวิชชา คือความรู้ที่เป็นเจ้าวัฏจักรอันนี้ ได้แตกกระจายหรือเป็นธรรมที่เปิดเผยขึ้นมาแล้วนั้นแล เราจึงจะหมดปัญหาใดๆ ในเรื่องความปกปิดแห่งสภาวธรรมทั้งหลายก็ดี ในเรื่องความลุ่มหลงแห่งสภาวธรรมทั้งหลายก็ดี ไม่มีอันใดที่จะเหลือหลออยู่แล้ว จากนั้นไปแล้วธรรมชาติที่บริสุทธิ์พุทโธโดยไม่ต้องเสกสรรแต่อย่างใด ได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาตามหลักธรรมชาติของตนอย่างแจ่มแจ้งแล้วนั้นเรื่องทั้งหลายจึงจะเป็นอันว่าเปิดเผยอยู่ตลอดเวลา รูป ไม่เพียงแต่ว่ารูปหญิงรูปชายรูปสัตว์รูปบุคคล รูปสภาวะทั่วๆ ไปทั่วทั้งจักรวาลนี้ กลายเป็นสิ่งที่เปิดเผยขึ้นมาพร้อมๆ กัน นามก็เหมือนกัน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกๆ อย่างซึ่งไม่มองเห็นด้วยตาก็กลายเป็นธรรมที่เปิดเผยขึ้นมาพร้อมๆ กัน เพราะเหตุใด เพราะบ่อเกิดแห่งความลี้ลับได้แก่อวิชชานั้น ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาแล้วอย่างชัดเจนด้วยอำนาจของปัญญา สภาวะทั้งหลายทั่วไปทั่วโลกธาตุนี้จึงเป็นอันว่ายุติไม่ได้เกิดเรื่องเกิดราวกับจิตใจของเราต่อไปแล้ว วัฏจักรเป็นอันว่ายุติกันลงได้ในจุดนี้เอง ต่อจากนั้นไปก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นสิ่งลี้ลับต่อใจ ดวงนี้ไปได้อีกแล้ว
ตามภาษาบาลีท่านกล่าวไว้ว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ, กตํ กรณียํ หมดกิจในพระศาสนา หมดทั้งความบำเพ็ญเพื่อใจดวงนี้ให้เจริญยิ่งขึ้นไปอย่างไรอีก หมดทั้งการละการถอนความลี้ลับหรือปิดบังอันใดต่อไปอีกไม่มี เป็นอันว่าสภาวะทั้งหลายได้เปิดเผยเสียทุกอย่าง พร้อมทั้งความบริสุทธิ์พุทโธนั้นก็ได้เปิดขึ้นมาพร้อมๆ กันกับสภาวธรรมทั้งหลายได้เปิดขึ้นมา นี่เรียกว่าธรรมเปิดเผย วัฏจักรก็ได้เปิดเผย วิวัฏจักรก็ได้เปิดเผยขึ้นในขณะเดียวกัน นี่ผลแห่งการปฏิบัติ ผลแห่งการตั้งจิต ตั้งใจ เริ่มตั้งสติ ปัญญา เริ่มจำเพาะเจาะจง เริ่มอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญตนของตนด้วยความจำเพาะเจาะจง
ด้วยความตั้งอกตั้งใจ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงธรรมที่เปิดเผยไปเสียทั้งสิ้น ไม่มีอันใดลี้ลับในโลกธาตุนี้ แม้แต่ว่า วิวัฏฏะ ที่เรียกว่าพระนิพพานนั้นก็เป็นการเปิดเผยขึ้นมาพร้อมๆ กันเรียกว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ เพราะเหตุนั้นบรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายให้พึง โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัวของตัวทั้งหมด ในบรรดาธรรมทั้งหลายที่ได้อธิบายมานี้ เวลานี้เรากำลังอยู่ในความลี้ลับอันใดก็ลี้ลับเสียทั้งนั้นสำหรับเราซึ่งกำลังลุ่มหลงอยู่ รูปจะเป็นรูปชั่วก็ตามรูปดีก็ตาม มันให้เกิดได้ทั้งความดีใจและเสียใจ สิ่งเหล่านั้นจึงกลายเป็นของลี้ลับ
เพราะธรรมชาติอันหนึ่งซึ่งเป็นของใหญ่โตที่สุด แต่เราไม่มองเห็นด้วยตาและไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยใจด้วย นั้นคืออวิชชาแต่มันก็อยู่กับใจนั่นเองแต่เราไม่สามารถที่จะรู้ ธรรมชาตินั้นเป็นธรรมที่ลี้ลับที่สุด สิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นบริษัทบริวารที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาตินั้นเลยกลายเป็นของลี้ลับไปตามๆ กัน พอธรรมชาตินี้ได้ถูกเปิดเผยขึ้นแล้วด้วยปัญญาเท่านั้น สภาวธรรมทั้งหลายก็ได้เปิดเผยหมด จนกระทั่งถึงวิวัฏฏะคือพระนิพพานเสียเองก็ถูกเปิดเผยไปพร้อมๆ กัน นี่ท่านแนะการปฏิบัติเพื่อความเปิดเผยอย่างนี้ เราทำข้อวัตรปฏิบัติทุกชิ้นทุกอันก็ตามเพื่อความเปิดเผยทั้งสิ่งที่เป็นวัฏฏะ ทั้งสิ่งที่เป็นวิวัฏฏะ
ขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย ได้กำหนดพินิจพิจารณาเข้ามาสู่ตนของตนเสมอ ให้เป็นผู้มีความเป็นอยู่ด้วยสติด้วยปัญญาทุกอิริยาบถ พวกท่านทั้งหลายจะได้เห็นความเปิดเผยทั้ง วัฏจักรด้วย ทั้งวิวัฏจักรด้วย ในสนฺทิฏฺฐิโก ความเห็นเองของบรรดาท่านทั้งหลายเอง
……..
ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงดลบันดาลให้บรรดาท่านทั้งหลายให้มีความเจริญงอกงาม
ขอขอบคุณ https://sites.google.com/