ธรรมมะสำหรับคนเจ็บไข้ โดย พุทธทาสภิกขุ

ธรรมมะสำหรับคนเจ็บไข้ โดย พุทธทาสภิกขุ

หน้าที่ 1 – อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร
ธรรมมะสำหรับคนเจ็บก็มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกอย่างเพียงพอ มากมาย ซึ่งถ้าสรุปเอาแต่ใจความสำคัญรวมกันแล้วก็ได้แก่ คำสอน ที่สอนให้เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เรียกว่า ตถตา เป็นเช่นนั้นเอง มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันแล้วเป็นเช่นนั้นเอง เรียกว่า อิทิปปัจยตา โดยละเอียด นี่ถ้าเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง ก็เห็นเป็นของที่ไม่หวาดกลัวอะไร ไม่ต้องเกิดปัญหายุ่งยากลำบากใจ เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นของธรรมดาที่มันต้องมี ตามธรรมชาติ

เราไม่รู้สึกว่าเป็นของธรรมดาตามธรรมชาติ ก็เป็นทุกข์ คือ เกิดความรู้สึกว่าตัวเราขึ้นมา รับเอาความทุกข์นั้น ข้อนี้ต้องฟังให้ดีๆสักหน่อยจึงจะเข้าใจได้ คือว่า เป็นของธรรมดา ของธรรมชาติ ไม่ใช่ของใคร แต่ครั้นมันเกิดขึ้นกับ ชีวิตจิตใจนี้ มันก็มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นกับชีวิตจิตใจนี้ คือ เกิดความเข้าใจไปว่า มันเกิดแก่ตัวเรา ไม่ใช่เป็นของธรรมชาติ เกิดแก่ธรรมชาติ

ข้อนี้มันมีความลับอยู่นิดหนึ่งว่า พอมีความทุกข์เกิดขึ้นในจิตแล้ว จิตนี้ก็จะปรุงความรู้สึกคิดนึกว่า ตัวเราผู้ทุกข์ ตัวเราผู้เป็นเจ้าของความทุกข์ นั่นแหละมีอยู่ มันก็เลยเกิดแก่ตัวเรา ความทุกข์ก็เลยเป็นว่าไม่เป็นของธรรมชาติ เกิดอยู่ตามธรรมชาติ กลายเป็นเกิดแก่ตัวเรา ที่จริงนั้นจะให้มองเห็นว่า ความทุกข์เกิดอยู่ตามธรรมชาติ ระบบประสาท มันสัมผัสแล้วรู้สึกว่าเป็นทุกข์ ไอ้ตัวระบบประสาทนั้นก็เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวเรา แต่ว่าพอความทุกข์ปรากฏที่ระบบประสาท ตามธรรมชาติแล้ว มันเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราผู้ทุกข์ขึ้นมา แล้วก็มีปัญหา เราเป็นผู้ทุกข์ เรามีความทุกข์ เราจะต้องทนทรมาน จะต้องถึงแก่ความตายเป็นต้น นี้เรียกว่าความทุกข์ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความไข้ กระทั่งความตายในที่สุด แต่พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า ถ้าได้อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้วก็จะหมดปัญหา

อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรนั้นเป็นอย่างไร คือว่าได้อาศัยพระองค์เป็นผู้บอก ผู้สอน ผู้กล่าว ผู้ชี้ ผู้แนะ ให้เห็นความเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นตัวเรา ตัวตน ซึ่งมีความทุกข์หรือ เป็นผู้ทุกข์ ให้ทั้งเนื้อ ทั้งตัว ทั้งจิต ทั้งใจ อะไรทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นเพียงธรรมชาติ กำลังเป็นไปตามธรรมชาติ ปรุงแต่งกันอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีส่วนไหนเป็นตัวเรา อย่างนี้เรียกว่า อนัตตา เพราะไม่มีตัวเราและความทุกข์ก็ไม่เป็นของเราเพราะไม่มีตัวเรา ความทุกข์ก็กลายเป็นของธรรมชาติ นี่เรียกว่า ใจความสั้นๆ สำหรับที่จะหมดปัญหาหรือไม่มีปัญหาอันเนื่องมาแต่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกอย่างกลายเป็นกิริยาอาการโดยอยู่ตามธรรมชาติ ก็มีผลปรากฏที่ระบบประสาทของสิ่งที่มีชีวิต ครั้นปรากฏแก่ระบบประสาทของสิ่งที่มีชีวิตแล้ว สิ่งที่มีชีวิตเหล่านั้นก็เกิดความคิดมาใหม่ ตามธรรมชาติ ตามธรรมดาอีกเหมือนกัน เกิดความคิดขึ้นมาใหม่ เรียกว่า เรา กู เป็นผู้เกิด เป็นผู้แก่ เป็นผู้เจ็บ เป็นผู้ตาย มันก็เลยเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย จึงได้มีความทุกข์ทรมานเพราะเหตุนั้น

ทุกคนถ้าอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร คือรับเอาคำสั่งสอนของพระองค์มาศึกษาพินิจพิจารณา จนเห็นความจริงว่า มันมีสิ่งที่เป็นตัวเรา ที่จะเป็นผู้ทุกข์ เป็นผู้รับทุกข์ มันมีแต่เรื่องเช่นนั้น อาการเช่นนั้นของธรรมชาติ เป็นจริงตามธรรมชาติ เป็นอยู่ตามธรรมดา อย่าให้เกิดความคิดเป๋ออกไปนอกทางว่ามันมีตัวเราเป็นเจ้าของเรื่องนั้น ถ้าทำได้อย่างนี้ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็ไม่เป็นปัญหา แก่ผู้มีสติปัญญามองเห็นเช่นนั้น แม้ว่าข้อนี้จะทำได้ยากลำบากบ้าง แต่ก็เป็นของที่มีอยู่จริง และเป็นของที่ทำได้ ไม่เหนือวิสัย เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสสิ่งที่เหนือวิสัย ตรัสสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่คนตามปรกติธรรมดาสามัญนี้จะพอเข้าใจได้ ทำความรู้อย่างแจ่มแจ้งให้เกิดขึ้นในจิตใจได้ แล้วก็เรียกจิตใจที่หลุดพ้น หลุดพ้นจากความทุกข์นั้นเอง

ถ้าจิตใจประกอบไปด้วยความไม่รู้หรือความรู้ผิด มันก็ติดอยู่ในความรู้ผิดหรือความไม่รู้นั้น จำเป็นจะต้องมีความทุกข์ อันเกิดมาจากความไม่รู้นั้น ถ้ารู้ความจริงข้อที่ว่าอันไม่มีตัวตนแล้ว จิตใจก็หลุดพ้นจากความทุกข์ อันที่เกิดจากความไม่รู้ นี่เรียกว่าพ้นจากเกิดแก่เจ็บตาย โดยที่ว่าร่างกายเป็นไปอย่างนั้น ร่างกายมันก็มีอาการเกิดแก่เจ็บตาย แต่จิตใจของคนที่มีความรู้อย่างนี้พ้นเสียจากอำนาจของการเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ ขอให้เรื่องของธรรมชาติเป็นของธรรมชาติ อย่าได้เอามาเป็นของเรา

หน้าที่ 2 – หัวเราะเยาะความตาย หัวเราะเยาะผลของกรรม
ยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือว่า ถ้าได้ศึกษารู้เรื่องความไม่มีตัวตนหรือไม่มีของตนโดยแท้จริงอย่างนี้แล้ว จะพ้นจากอำนาจของกรรม สิ่งที่เรียกว่ากรรม ซึ่งทุกคนอาจมองเห็นว่าอะไรๆก็เป็นกรรม ความเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ก็เรียกเป็นกรรมหรือผลกรรมในชาติก่อน อย่างนี้ก็จะหมดไปด้วยหรือไม่มีตัวตนที่ทำกรรม หรือไม่มีตัวตนที่จะรับผลของกรรม อาการเลวร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นนี้เพราะเราตั้งจิตไว้ผิด ไปมีตัวตน ไปรับเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตน แล้วก็สันนิษฐานหรือพูดตามๆกันไปว่าเป็นผลของกรรมเก่า แล้วก็เลยมีความทุกข์หนักขึ้นไปอีกกว่าที่มันจะเจ็บไข้ตามธรรมดา เคยท้อแท้ใจแล้วก็มีความกระวนกระวายใจ

ขอให้คิดดูให้ดีๆว่า ถ้าตั้งจิตไว้ถูก แล้วความเจ็บป่วย ปวดเจ็บ ทนทุกข์ทรมานเหล่านั้นก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไป ไม่มีเป็นของเรา เพราะไม่มีตัวเรา อย่างนี้เรียกว่าพ้นจากกรรมทั้งปวง ไม่ต้องรับผลของกรรมอะไร ถ้าจะพูดว่าเป็นเรื่องของกรรม มาให้เกิดความทุกข์เช่นนี้ จิตก็ไม่รับเอาในฐานะเป็นผลของกรรม เพราะมีความรู้เรื่องอนัตตา ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน เป็นเพียงกระแสของธรรมชาติ อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตนั้นหลุดพ้นจากกรรม หลุดพ้นจากผลของกรรม เป็นอิสระ ก็เลยหมดปัญหา หมดปัญหาเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย หรือหมดปัญหาที่จะคิดว่าเกิดแก่เจ็บตายนี้เป็นผลกรรม นี่ก็เลยไม่มีเลยไปเสียทั้งสองอย่าง ถ้ามีความรู้สึกอยู่อย่างนี้ ก็จะหัวเราะเยาะได้ทั้งหมด หัวเราะเยาะความเกิด หัวเราะเยาะความแก่ หัวเราะเยาะความเจ็บ หัวเราะเยาะความตาย หัวเราะเยาะผลของกรรม

คำพูดนี้อาจจะแปลกจากคำพูดที่เค้าพูดๆกัน จากที่เคยได้ยินได้ฟังมา อาจจะไม่ยอมเชื่อก็ได้ แต่เมื่อกล่าวตามพระบาลีนี่แหละ ตามข้อเท็จจริงที่พอจะมองเห็นได้ มันก็มีอยู่อย่างนี้ จงใคร่ครวญด้วยสติปัญญา มองเห็นความที่ไม่มีตน และไม่มีอะไรเป็นของตน เว้นแต่เรื่องของธรรมชาติปรุงแต่งไปเป็นเรื่องๆ หลายร้อยเรื่องก็สุดแท้ เป็นเรื่องของธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่ายกไปให้ธรรมชาติ ซึ่งมันเป็นเช่นนั้นเอง การเกิดแก่เจ็บตายมันก็เป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติ กรรมและผลกรรมก็เป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติ เราไม่หลงไปตามความรู้สึกของสัญชาตญาณที่ยังไม่มีความรู้ หลงไปว่าเป็นตัวเป็นตน แล้วก็มีเป็นของๆตน เอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมาเป็นของตน เอาความได้รับผลต่างๆมาเป็นผลกรรมของตน

หน้าที่ 3 – อาการรู้เรื่องความดับไม่เหลือ
ทั้งหมดนี้คือ ธรรมะสำหรับคนเจ็บไข้ ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ควรจะศึกษาเป็นข้อแรกนี้ก่อนหนึ่ง ธรรมะสำหรับคนเจ็บไข้มีนัยยะที่ลึกละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก คือ อาการรู้เรื่องความดับไม่เหลือ ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วงวิตกกังวล และถ้าร่างกายแตกดับก็ให้เป็นความดับไม่เหลือ แม้จะยังไม่ดับก็ตั้งความปรารถนาไว้ว่าต้องการจะดับไม่เหลือ อย่างนี้ก็ทำได้ เพราะว่าเมื่อต้องการจะดับไม่เหลือแล้ว อะไรๆก็ไม่มีปัญหา

อันการว่าดับไม่เหลือนั้นอธิบายว่า ไม่มีอะไรเหลือสำหรับจะไปเกิดใหม่กันอีก โดยมองเห็นตามความจริงว่า เมื่อมีเกิด ต้องมีแก่ ต้องมีเจ็บ ต้องมีตาย นี่หรือว่าถ้ายังมีเกิด มันก็จะต้องเหมือนกับว่า ซ้ำรอย กับที่เคยเกิดมาแล้ว มันเป็นอย่างไรก็รู้ๆกันอยู่ เพียงแต่ถามตนเองว่ามันน่าเกิดมาไหม ถ้าเกิดมาเหมือนอย่างที่เกิดๆมาแล้วเต็มไปด้วยปัญหานี้ มันน่าเกิดไหม หรือว่าหยุดเกิด ดับสนิทแล้วดีกว่า ถ้าเบื่อเรื่องการเกิดมาแสดงซ้ำ ซ้ำอย่างเดียวกันอีก จิตก็จะน้อมไปสู่ความดับไม่เหลือโดยตัวมันเอง ถ้าแม้ยังมีชีวิตอยู่ ยังมองเห็นว่าความดับไม่เหลือนั้นเป็นธรรมะสูงสุด เป็นเรื่องที่จะต้องถึงกันในโอกาสข้างหน้า

ดับไม่เหลือนี้มีสองอย่าง คือ ร่างกาย อัตภาพที่ตาย ดับไม่เหลือก็ได้ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญกว่า คือดับไม่เหลือแห่งความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตน อย่าให้ความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตนกลับมาอีก เกิดมาอีก ก็เรียกว่าดับไม่เหลือด้วยเหมือนกัน อย่างนี้พูดเป็นโวหาร ซึ่งฟังแล้วก็คงประหลาดหรืออัศจรรย์อยู่บ้าง เรียกว่า ตายเสียก่อนตาย

คือความรู้สึกว่าตัวตน ตัวกู ของกู อะไรนี้ดับไปเสียก่อนแต่ที่ร่างกายจะตาย ก่อนแต่ที่จะตายทางร่างกายนั้น ท่านสอนให้จับตัวตน ความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตน ซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำ นั้นดับมันเสีย ดับมันเสีย ถ้าดับความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตนนี้ได้แล้ว แม้ร่างกายยังอยู่ ชีวิตยังไม่ตาย ก็เรียกว่า ดับ หรือดับไม่เหลือได้เหมือนกัน คือรู้จักเข็ดหลาบในข้อที่ว่า เกิดความรู้สึกเป็นตัวตน เป็นของตนขึ้นมาทีไร มันก็เป็นทุกข์ทุกที ยิ่งเป็นเรื่องตัวตนใหญ่ ตัวตนมาก ของตนมาก มันก็เป็นทุกข์มาก ถ้าดับความรู้สึกว่าตัวตนเสีย ความทุกข์ก็ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่อาศัย ไม่มีอาจจะเกิด ไม่อาจจะตั้งอยู่ จึงมีวิธีที่จะดับทุกข์โดยการดับตัวตนเสีย ดับความรู้สึกว่าตัวตนนี้เสีย ก่อนที่ร่างกายจะตายจริง อย่างนี้เรียกว่า ตายเสียก่อนตาย

ดับตัวตนเสียก่อนร่างกายแตกดับ ตายทีแรกหมายความว่าตายจากอวิชชา ความไม่รู้ ความยึดถือว่าตัวตน ว่าของตนนั้นเสีย ตายของตัวตนในความรู้สึก แล้วก็ตายเสียก่อนที่ร่างกายจะตายจริง นี้เป็นความดับทุกข์อย่างยิ่ง ไม่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายอะไรจะก่อให้เกิดปัญหาแก่กลุ่มคนชนิดนี้ได้ คือเขาได้รู้ความจริงในข้อนี้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีของตน อย่างนี้ รู้สึกอย่างนี้เสียแล้วเมื่อไหร่ ความทุกข์จะไม่มีอีกต่อไป

แม้ว่าความตายยังไม่มาถึง ชีวิตร่างกายยังเหลืออยู่ และเป็นความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วย มันก็จะหัวเราะเยาะความเจ็บไข้ ความทุกข์เหล่านั้นได้ด้วย เพราะความรู้เรื่องไม่มีตัวตน นี่มันจะดับเย็นสนิท คือถ้าสมัครดับไม่เหลือ สมัครดับไม่เหลือ มันก็ไม่ต้องเป็นห่วงอะไร ไม่ต้องห่วงอะไรทุกอย่างทุกประการ อย่างที่มนุษย์ธรรมดาสามัญเค้าเป็นห่วงกัน ห่วงบ้าน ห่วงเรือน ห่วงบุตร ภรรยา สามี ห่วงลูก ห่วงหลัง ห่วงเกียรติยศชื่อเสียง ห่วงอะไรต่างๆ ซึ่งเรียกว่าเป็นห่วงนั่นหละ ล้วนแต่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน ถ้าสมัครตายก่อนตายแล้ว ห่วงเหล่านี้ก็จะไม่มีอีก ไม่มีห่วงอะไรมาครอบงำจิตใจ

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ทบทวนดูถึงเวลาที่ล่วงมาแล้วว่า เราได้กระทำสิ่งที่ควรทำ ได้ทำสิ่งที่ควรทำสำเร็จแล้ว ควรแก่ความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แล้วก็ได้ทำแต่สิ่งที่ดีๆ มีประโยชน์ ไม่มีสิ่งที่น่าติเตียน มองเห็นแต่สิ่งที่ถูกต้องดีมีประโยชน์อย่างนี้แล้ว ก็พอใจตัวเอง ก็ไม่เป็นทุกข์ มีความยินดีเสียอีกว่าได้ทำในสิ่งที่ควรทำสำเร็จแล้ว แล้วมันก็จะมาถึงรอบที่จะต้องดับไปตามธรรมดาของสังขาร ที่ทางร่างกายนี้เกิดมาชาติหนึ่ง ที่เกิดมาชาติหนึ่งได้ทำสิ่งที่ควรทำสำเร็จแล้ว มันก็เป็นที่พอใจว่าได้สิ่งที่ควรทำสำเร็จแล้ว

ทุกอย่างทบทวนแล้วไม่ต้องห่วงอะไรอีก ผลของการกระทำถ้าเชื่อว่ามีตัวตน มันก็ไม่สิ้นสุด มันก็หวังที่จะไปเกิดใหม่ รับผลกรรมกันใหม่ อะไรกันใหม่ ถ้าชอบอย่างนั้นก็ทำได้ แต่พระพุทธภาษิตคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ท่านต้องการให้สลัดออกไป สลัดออกไป ไปทำลายรากฐานที่ตั้งของมันเสีย คือไปทำลายความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตนเสีย ให้มันไปหยุดความเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีความอยาก ความคิด ที่จะเกิดอีกต่อไป แต่ว่าให้รู้สึกว่าไม่มีอะไรใหม่หรือแปลก ที่น่าจะน่าพอใจในการเกิดใหม่ ในการเกิดใหม่เป็นเพียงการฉายซ้ำ เรียกกันแบบเด็กๆ เรียกว่าฉายซ้ำ ในการที่ต้องเป็นทุกข์กันใหม่ จึงได้สมัครที่จะดับไม่เหลือ

หน้าที่ 4 – การน้อมจิตไปเพื่อการดับไม่เหลือ
ตั้งใจไว้อย่างดีที่สุด ก็คือ การน้อมจิตไปเพื่อการดับไม่เหลือ ถ้าความเจ็บไข้มา ก็ยินดีต้อนรับว่ามันมาช่วย ส่งเสริมความดับไม่เหลือ จะทำได้ง่ายเข้า ถ้าจะต้องแตกดับไปจริงๆ ก็ดับด้วยความรู้สึกว่าเราสมัครดับไม่เหลือ นี่เป็นคำสอนที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎก รวบรวมเอามาแล้ว มันก็จะได้ความอย่างนี้

เรามีความแน่ใจในการที่จะดับไม่เหลือแล้วก็จะหัวเราะเยาะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายได้ เพราะเราสมัครดับไม่เหลือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายจะมีความหมายอะไร ท่านสอนเรื่องความไม่มีตัวตนถึงขนาดนี้ ในลักษณะอย่างนี้ เราเป็นพุทธบริษัท ควรจะได้รับประโยชน์จากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ คือรู้เรื่องทุกเรื่องที่ควรรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องดับทุกข์อย่างไร นี่ท่านรู้จึงเรียกว่าเป็นผู้รู้ และเป็นผู้ตื่น ก็คือไม่หลับอยู่ด้วยความหลับของกิเลส

โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คืออวิชชา ไม่ได้หลับอยู่ด้วยความหลับของกิเลส คือ อวิชชา จึงเรียกว่าท่านเป็นผู้ตื่น แล้วท่านก็เป็นผู้เบิกบาน เหมือนดอกไม้บาน แสดงว่ามีความพอใจ ในการที่เป็นอย่างนี้ คือไม่มีทุกข์ ไม่มีร้อน มีลักษณะเหมือนกับว่าพอใจ โดยไม่ต้องรู้สึกพอใจอะไรก็ได้ เรียกว่าจิตใจเบิกบานอยู่เสมอ จนกระทั่งวาระสุดที่ปรินิพพานก็ยังเบิกบานอยู่ ทำหน้าที่ของพระองค์จนวาระสุดท้าย คือสอนคนให้บรรลุธรรมะชั้นสูงได้ ในขณะที่จะปรินิพพานอยู่ในอีกไม่กี่นาทีนี้แล้ว เสร็จแล้วก็ทรงเข้าสมาธิ คือมีจิตว่าง เกลี้ยงจากกิเลส และความทุกข์ทั้งปวง อยู่ในสมาธิที่เป็นความว่างจากความทุกข์ทั้งปวงชั่วขณะหนึ่งแล้ว ออกจากสมาธินั้นแล้วก็ดับไป
นี่เป็นคำกล่าวไว้สำหรับการศึกษาของผู้ที่ต้องการที่จะดับทุกข์ตามพระองค์ เมื่อเราเป็นศิษย์ของพระองค์ เราก็จงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้ได้เหมือนพระองค์ คือเดินตามพระองค์ เป็นสาวกของพระองค์ เป็นผู้รู้สิ่งที่ควรรู้ หรือแม้แต่เดี๋ยวนี้ก็ได้ เป็นผู้ตื่นจากหลับ คือความเข้าใจผิด ความหลงผิด ซึ่งเหมือนความหลับเหล่านั้นเสียได้ และก็เบิกบาน กล้าหาญ ร่าเริง ท้าทายได้แม้แต่ ความเกิดแก่เจ็บตาย หัวเราะเยาะได้แม้แต่ความเกิดแก่เจ็บตาย นี่เรียกว่าเป็นผู้เบิกบาน ผู้เจ็บไข้ทำจิตใจได้อย่างนี้ เรียกว่าได้รับประโยชน์เต็มที่ ตามคำสอนของพระพุทธองค์ ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ดังที่ได้รวบรวมมากล่าว เป็นเครื่องประดับสติปัญญา ต่อสู้กับความเจ็บไข้ได้อย่างไม่ผิดหวัง ไม่ลำบาก เป็นการได้ที่ดี ได้ความเจ็บความไข้นี้มาสอนให้ฉลาด มาช่วยให้บรรลุถึงธรรมะขั้นสุดท้ายได้โดยง่าย ขอให้พิจารณาอยู่ตลอดเวลาด้วย

หน้าที่ 5 – ธรรมดาสามัญตามกฎของธรรมชาติ
เรื่องสำหรับคนเจ็บไข้ที่ควรจะพูดกันต่อไปตามที่มีกล่าวสอนไว้ในพระไตรปิฎก ผู้ที่อยู่ในภาวะความเจ็บไข้ ไปไหนไม่ได้เป็นต้น นี่ควรทำสมาธิดีกว่า ทำสมาธิในที่นี้อย่าได้เข้าใจเป็นเรื่องลึกลับมหัศจรรย์เกินวิสัย มันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญตามกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องที่อยู่ในหลัก ในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ตามแนวแท้ของวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่ทำได้ ทำสมาธิในที่นี้ คือการกำหนดจิตไว้ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าคนอยากเกิดใหม่ก็กำหนดไว้ถึงบุญกุศลที่จะได้ไปเกิดในสวรรค์ แต่เรื่องอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านไม่แนะนำ ท่านแนะนำไปในทางหยุด ดับ สิ้นสุด จบเรื่องกันที

การทำสมาธินี้ก็จะเพ่งเอา ความสิ้นสุด แห่งความเวียนว่ายเป็นอารมณ์ เดี๋ยวนี้มาทำสมาธิเพื่อหยุดหรือว่างจากความคิดนึกปรุงแต่งอันสับสนวุ่นวายเหล่านั้น ทำอย่างง่ายที่สุด คือว่าเอาจิตกำหนดที่ลมหายใจ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ มีลักษณะเหมือนว่าจิตเป็น ปูวิ่งตามลมหายใจเข้าอยู่ออกอยู่ ไม่ให้ไปมีความคิดชนิดใดชนิดไหน ไม่ให้เกิดความรู้สึกอะไร นอกจากรู้สึกว่าจิตกำลังกำหนดอยู่ที่ลมหายใจที่เข้าอยู่ ที่ออกอยู่ มันก็เป็นสมาธิด้วยเหตุนั้น คือจิตสงบจากความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ แล้วก็จิตตั้งมั่นกับการกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ต้องหมายมั่นอะไรให้มากนัก ไม่ต้องหมายมั่นว่าตัวตนตัวกูจะทำสมาธิ ปล่อยไว้ตามธรรมชาติ มีแต่จิตที่กำหนดอยู่ แล้วก็กำหนดลมหายใจอยู่

จิตประคองจิตไว้ในลักษณะเช่นนั้นอยู่ จึงไม่ฟุ้งซ่าน จิตมีความตั้งใจจะทำเช่นนั้น ดังนั้นตัวกูไม่ต้องพูดถึง ตัวกูไม่ต้องพูดถึงแล้ว มีแต่จิต มีแต่จิตทำหน้าที่อย่างนั้นอยู่ นี้เป็นสิ่งที่ทำได้แน่ไม่เหนือวิสัย ถ้ามีความตั้งใจจริง ตั้งใจมากพอ ก็จะมีความพยายามทำจนได้ แต่อย่าไปเครียด ให้ทำอย่างเบาๆสบาย อย่าทำอย่างหมายมั่นโมโหโทโส ทำอย่างสบายๆ ตั้งใจจะทำแล้วก็ทำไป โดยไม่หมายมั่นให้เป็นตัวกูทำ ทำเพื่อได้ผลแก่กูก็ไม่ต้อง ให้จิตอย่างนั้น จิตที่ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ตัวกู จิตแบบนั้นทำ แล้วจิตก็จะตั้งมั่น จิตก็จะไม่ฟุ้งซ่าน ความทุกข์ก็จะไม่แทรกแซงเข้ามาได้ เพราะจิตตั้งมั่นเสียในสมาธิ ข้อนี้เปรียบเทียบเหมือนกับเราจะหัดขี่รถจักรยานมันยาก พอขี่เข้ามันล้ม พอพยายามอีก มันก็ล้มอีก มันก็ล้มอีก ล้มหลายหนหลายสิบหน จนกระทั่งไม่ล้ม มันก็ได้

การจะบังคับจิตมันก็คล้ายๆกันอย่างนั้น พอล้มก็ไม่ต้องเสียใจ ทำใหม่ ไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียใจทำใหม่ ทำเหมือนกับจะเล่นกัน อย่างเล่นกีฬา อย่างนี้เป็นสมาธิได้ง่าย อย่าไปเครียด ทำจิตใจให้เครียดก็ยิ่งทำยาก ทำจิตใจให้หลวมๆ ตามสบาย กำหนดอยู่ที่ลมหายใจ มันก็ต้องทำได้ ที่นี้ก็สังเกตดู ธรรมชาติของลมหายใจ มันสั้นอย่างไร มันยาวอย่างไร มันหยาบอย่างไร มันละเอียดอย่างไร

ยิ่งใครสนใจอย่างนี้เข้ามันก็เป็นสมาธิมากขึ้น คือจิตมาสนใจอยู่กับลมหายใจมากขึ้น มันก็เป็นสมาธิขึ้น ศึกษาให้รู้จักลมหายใจที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันมีความเจ็บไข้อยู่ เดี๋ยวมันเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวมันเป็นอย่างนี้ ลมหายใจมันก็ต้องเปลี่ยนแปลง เป็นลมหายใจที่คล่องบ้าง ไม่คล่องบ้าง ขัดข้องบ้าง มีอะไรแทรกแซงบ้าง ถ้ามีอะไรเข้ามาแทรกแซง ก็กำหนดอยู่ที่ลมหายใจ หรือกำหนดพร้อมกันไปทั้งสองอย่าง เช่นถ้ามีความเจ็บปวดเกิดขึ้นก็กำหนดความเจ็บปวดอยู่ที่ลมหายใจ มันก็ยิ่งเป็นสมาธิได้ด้วยการกำหนดความเจ็บปวดนั้นเอง ความเจ็บปวดนั้นก็ไม่เป็นอันตรายต่อสมาธิ เพราะว่าเอาความเจ็บปวดมาเป็นอารมณ์ของสมาธิเสีย

ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า รู้จักธรรมชาติของลมหายใจได้ดีขึ้นๆ ยิ่งทำไปมากเข้าก็รู้จักลมหายใจหลายลักษณะ หลายชนิด ว่าลมหายใจอย่างไร ร่างกายปกติสบาย ลมหายใจเป็นอย่างไรไม่ปกติ ไม่สบาย กระทั่งว่าจิตก็พลอยกระสับกระส่ายไปด้วย เมื่อบังคับลมหายใจให้สงบแล้ว ร่างกายก็พลอยสงบด้วย จิตเองก็พลอยสงบด้วย บังคับลมหายใจแต่ไปผลที่ร่างกาย หรือมีผลที่ความทุกข์ จิตเป็นสมาธิแล้ว ร่างกายก็สงบระงับเอง ความทุกข์ก็ไม่ปรากฏเอง มันเป็นวิธีที่ฉลาดอย่างหนึ่ง

เราบังคับร่างกายโดยตรงไม่ได้ แต่เราบังคับทางลมหายใจได้ เราบังคับลมหายใจให้สงบ ให้ละเอียด ให้ระงับอยู่ ร่างกายก็จะสงบระงับดับเย็นตามลมหายใจที่สงบระงับ นี่เป็นลักษณะที่น่าศึกษาว่า บังคับลมหายใจแต่ไปผลที่ร่างกายและจิตใจ

แล้วสังเกตลักษณะของลมหายใจว่าเป็นอย่างไร แล้วร่างกายเป็นอย่างไร นี่มันจะเป็นเหตุให้เราจะรู้สึกได้ว่า ร่างกายนั้นความเจ็บไข้ของเราจะมากขึ้นหรือความเจ็บไข้ของเราจะลดลง ถ้าพูดตรงๆภาษาชาวบ้านก็พูดว่า มันจะตายหรือยัง มันจะดับหรือยัง สังเกตได้ที่ลมหายใจ ที่เราพยายามศึกษาอยู่เป็นประจำ คนธรรมดาก็ขลาดกลัว กลัวตาย กลัวความทุกข์เสียจนทำอะไรไม่ได้
แต่ถ้าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่ฉลาดพอ มันก็ต้องไม่ขลาด ไม่ต้องกลัว ศึกษาลมหายใจนี่แหละที่เป็นนิมิตเครื่องหมายของชีวิต ของความตาย ว่าลมหายใจเป็นอย่างไรมันใกล้ความตายมาทุกที ลมหายใจเป็นอย่างไรมันจะยังไม่ตายโดยแน่นอน เรื่องเหล่านี้พยายามศึกษาให้ดีที่สุด กำหนดไว้เป็นอารมณ์ สูงชันลึกประจำอยู่ตลอดเวลา จะไม่มีผลร้ายแต่ประการใด จะมีผลดีคือ จะไม่มีความทุกข์ จะอยู่ก็ไม่มีความทุกข์ จะดับจะตายก็ไม่มีความทุกข์ เพราะบังคับจิตได้ ดำรงจิตได้ไว้ให้อยู่แต่ในเรื่องของสมาธิ

ถ้ามันจะตาย มันก็จะออกจากสมาธิแล้วมันก็ตายมันก็ดับของมันเอง ไม่ต้องมีความทุกข์อะไร ระหว่างที่ยังไม่มีความตายนี้ก็ยังไม่ต้องมีความทุกข์หรือ ข่มความรู้สึกที่เป็นทุกข์นั้นเสียได้ด้วยสมาธิ ด้วยสมาธิ อันจะยินดีพอใจในการที่จะทำสมาธิ มีความกล้าพอ มีความกล้าหาญพอที่จะประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เพื่อเผชิญหน้ากับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ว่าเราจะไม่มีเรื่องที่จะต้องเป็นทุกข์ เราจะไม่เป็นทุกข์ จะอยู่ก็จะไม่เป็นทุกข์ จะตายก็ไม่เป็นทุกข์ นี่ฟังดูเหมือนกับว่าพูดเล่นหรือ อาจจะรู้สึกว่าพูดง่ายแต่ทำยาก จริงๆมันก็พอๆกันแหละ ไอ้เรื่องง่ายหรือเรื่องยากมันอยู่ที่ทำพอดี ทำพอเหมาะ ถูกวิธีหรือว่าไม่ถูกวิธี ถ้าทำไม่ถูกวิธีแล้วมันยาก ยากกว่าอะไรหมด ถ้าทำถูกวิธีแล้วมันก็ง่ายยิ่งกว่าอะไรหมด

ขอให้พิจารณาดูถึงการศึกษา ถึงผลอะไรต่างๆที่มันถูกวิธี หรือมันไม่ถูกวิธี นี่เราก็ต้องกล้าหาญ เพราะไม่รู้จะต้องไปกลัวอะไร ไปหัวเราะเยาะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย จะไปกลัวอะไร ไม่มีเหตุผลที่จะไปกลัว ไม่มีประโยชน์อะไร จะไปกลัวทำไม จะไปเป็นทุกข์ทำไม ไม่มีประโยชน์อะไร เลือกเอาคำเดียวไม่กลัวแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ด้วย นี่จะทำให้ชีวิตในบั้นปลาย ชีวิตขณะที่เจ็บไข้นี้ไม่เป็นปัญหา ไม่เป็นปัญหาเหมือนกับเวลาสบายดีอยู่ เจ็บไข้ก็ไม่เป็นปัญหา แม้จะต้องตายก็ไม่เป็นปัญหา

เรียกว่าพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะได้อาศัยพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตร และตามที่พระองค์ได้ตรัสไว้ อยากจะกล่าวย้ำอีกครั้งว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า ถ้าอาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา จะพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย หมายความว่าปัญหายุ่งยากใดๆ ที่เกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้นจะไม่มาเป็นความยุ่งยากลำบากใดๆแก่ผู้มีจิตใจที่ดำรงไว้อย่างนี้

คือมีสมาธิ ดำรงจิตไว้ในสมาธิ ไม่ให้ความทุกข์เวทนา ความหวาดกลัวอะไรเป็นต้นมาครอบงำได้ ใจคอเป็นปกติ แล้วก็รู้อยู่ได้ว่ามันจะอยู่ต่อไปหรือมันจะดับไป ก็รู้อย่างยิ่ง เป็น ผู้รู้เรื่องของจักรกลแห่งชีวิตร่างกายนี้อย่างยิ่ง สามารถที่จะควบคุมได้ให้อยู่ได้ในภาวะที่ไม่เป็นปัญหา จะขอเรียกสั้นๆว่า ไม่เป็นปัญหา คือไม่มีความทุกข์ ไม่มียุ่งยากลำบากใดๆถ้ารู้จักทำจิตใจไว้ถูกต้อง กล้าหาญพอที่จะหัวเราะเยาะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้โดยแท้จริง

หน้าที่ 6 – คือ ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ
ขอโอกาสมาเยี่ยม และเป็นการมาเยี่ยม ชนิดที่นำเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาด้วย เพื่อประโยชน์แก่ความเจ็บไข้ จะให้ความเจ็บไข้กลายเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์ แทนที่จะเป็นโทษที่น่ากลัว การที่จะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้นั้น ต้องมีหัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ขึ้นอยู่กับคำเพียงสามคำ คือ ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ความสะอาดในที่นี้ก็คือ ไม่มีสิ่งเศร้าหมอง คือกิเลส เมื่อไม่มีกิเลส ก็สะอาด

คนเราไม่ได้มีกิเลสตลอดเวลา ทุกเวลานาที มันมีเวลาที่กิเลสไม่ได้เกิดขึ้นก็มีเหมือนกัน รู้จักความสะอาดได้ในเวลาเช่นนั้น และไม่มีความรู้สึกที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ รบกวนนั้นก็เรียกว่าสะอาด เมื่อสะอาด ไม่มีสิ่งมัวหมอง มืดมัวแล้ว มันก็สว่างไสวแจ่มแจ้งเหมือนพระอาทิตย์ที่ไม่มีเมฆมาบิดบัง ครั้นสว่างได้จริงแล้วทางจิตใจ มันก็มีความสงบ ใช้คำว่าสงบนี้เป็นเรื่องที่บางคนอาจจะเข้าใจผิด สงบในทางธรรมะหมายถึงไม่มีอะไรปรุงแต่ง ไม่มีอะไรปรุงแต่งให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีการปรุงแต่งให้เป็นการกระทำ ความรู้สึกว่าตัวตนของตนทำอะไรโดยเจตนา มีกรรม มีผลของกรรม ยุ่งไปหมดอย่างนี้ ไม่เรียกว่า ความสงบ

ต้องว่างจากการปรุงแต่งชนิดนี้ทั้งหมด จึงจะเรียกว่า ความสงบ ถ้าสะอาด สว่าง และสงบ รวมกันทั้งสามความหมาย มันก็จะกลายเป็นคำที่ประหลาดที่สุดคำหนึ่งว่า เป็นความว่าง ว่างในที่นี้หมายถึงทางจิตใจ ไม่ใช่ว่างทางวัตถุซึ่งหมายถึงไม่มีอะไร อะไรๆจะมีในโลกในกายก็มีไปเถิด แต่ว่าในจิตใจนี้ว่าง จากความรู้สึก รู้สึกคิดนึกว่าตัวตน ไม่มีความหมายมั่นเป็นตัวตนรบกวนอยู่ในจิตใจ จิตใจก็ว่าง เพราะว่าจิตใจไม่ได้จับฉวยอะไรโดยความเป็นตัวตนหรือความเป็นของตน จิตใจว่าง ไม่มีตัวตน นี้เรียกว่ามีความว่างทางจิต ทางวิญญาณ ไม่มีตัวตน เมื่อไม่มีตัวตนอย่างนี้ ความเกิดแก่เจ็บตายก็ไม่ต้องครอบงำ พระพุทธเจ้าตรัสเป็นคำสั้นๆไว้อีกคำหนึ่งว่า มัจจุราชจะหาไม่พบ มัจจุราชจะหาคนที่มีจิตใจว่างไม่พบ เพราะมันไม่มีตัวตนนั่นเอง แล้วมัจจุราชจะหาอะไรพบ การจะมีความว่างชนิดนี้ จึงเป็นอมตะธรรม อมตะธรรม อมฤตธรรม คือ ธรรมที่ไม่มีความตาย ไม่มีตัวตนให้มัจจุราชหาพบ แล้วจะตายได้อย่างไร เป็นสำนวนเปรียบเทียบให้เห็นในทางวัตถุ

เมื่อมัจจุราชหาไม่พบก็คือไม่มีความตาย คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บความตายนั่นก็สลายเป็นอากาศธาตุไปเสีย มันจะไม่มีความหมาย ชนิดที่เป็นการยึดถือว่าเป็นตัวตน มันว่างเพราะไม่ดีไม่ชั่ว ถ้ายังดียังชั่วอยู่ก็ยังวุ่นไปตามแบบดีแบบชั่ว,มันไม่บุญมันไม่บาปเพราะถ้าบุญก็วุ่นไปตามแบบบุญ บาปก็วุ่นไปตามแบบบาปนั่น มันจะไม่ว่าง,ไม่สุขไม่ทุกข์ ถ้าสุขสนุกสนานร่าเริงหัวเราะอยู่ก็วุ่นไปตามแบบสุข ทุกข์ก็วุ่นไปตามแบบทุกข์

มันไม่มีอะไรที่เป็นคู่ๆ ไม่ได้ไม่เสีย,ไม่แพ้ไม่ชนะ,ไม่เอาเปรียบไม่ได้เปรียบ แม้กระทั่งว่าไม่มีความเป็นคน,เป็นตัวเป็นตน,ไม่ได้มีความเป็นหญิงเป็นชาย คราวนี้เรียกว่าจิตไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน เรียกว่าจิตมันว่างเพราะมันไม่ได้จับฉวยอะไรเอามาเป็นตัวตน เหมือนกับมือที่ไปจับอะไรไว้ก็เรียกว่ามันไม่ว่าง ถ้ามือไม่ได้จับอะไรไว้เลยก็เรียกว่ามือมันว่าง จิตนี้ก็เหมือนกันถ้าไปจับฉวยอะไรเข้าแล้วมันก็เป็นจิตที่ไม่ว่าง มันยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น

จิตมีความสะอาดมีความสว่างมีความสงบจึงเป็นลักษณะของการที่ไม่ได้ยึดถืออะไรไว้ว่าเป็นตัวตน ของที่เป็นคู่ๆเหล่านั้นมันก็หมดไปไม่มีความหมาย ดีหรือชั่วก็ตาม,เกิดหรือตายก็ตาม,บุญหรือบาปก็ตาม,สุขหรือทุกข์ก็ตาม,นรกก็ตามสวรรค์ก็ตาม อะไรก็ตามที่เป็นคู่ๆจะไม่มีความหมายในความว่าง ถ้ามันว่างมันก็ไม่มีเป็นคู่ๆ ถ้ามันยังมีเป็นคู่ๆมันก็ยังไม่ว่าง เพราะมันยึดมั่นถือมั่นความหมายที่มันตรงกันข้ามกันอยู่เป็นคู่ๆเหล่านั้น ดังนั้นจะมองเห็นได้ว่าไม่มีอะไรจะสะอาดเท่าความว่าง,ไม่มีอะไรสงบเท่าความว่าง,ไม่มีอะไรสว่างเท่าความว่าง

ไม่มีอะไรจะสะอาดสว่างสงบเท่าความว่าง นี่คือสิ่งที่ต้องสังเกตดู มันไม่ยากมันไม่เหลือวิสัย เอาความว่างจากตัวตน จิตที่มีความว่างจากตัวตนออกรับหน้ากับความเกิด,ความแก่,ความเจ็บ,ความตาย ความเกิด,ความแก่,ความเจ็บ,ความตายก็หงายหลังเตลิดเปิดเปิงสูญหายสลายไป เพราะมันถูกกันเข้ากับความว่าง ซึ่งทำให้ไม่มีความเกิดแก่เจ็บตาย ไม่มีตัวตนบุคคลที่จะเกิดแก่เจ็บตาย นี่เรียกว่าเอาความว่างมาขับไล่ความเกิดแก่เจ็บตายออกไปได้ สมตามพระพุทธภาษิตที่ว่า ถ้าได้อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดแก่เจ็บตายก็จะพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตาย เพราะทำให้ไม่มีตัวสัตว์,ตัวบุคคลหรือตัวตน ที่จะเป็นผู้เกิดแก่เจ็บตาย

หน้าที่ 7 – ความว่างเป็นเครื่องมือวิเศษสูงสุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีความว่างไว้เป็นเครื่องมือวิเศษสูงสุด เมื่อจะต้องเผชิญกับความเกิด,ความแก่,ความเจ็บ,ความตาย เดี๋ยวนี้ถ้าเรามีความเจ็บไข้ก็ดูว่าอะไรเจ็บไข้ เป็นเพียงการปรุงแต่งตามธรรมชาติของร่างกายคือดินน้ำลมไฟ มันปรุงแต่งไปในแบบนั้นโดยเหตุปัจจัยมันมีอยู่นั้นมันก็มีอาการอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ จิตใจอย่างได้รับเอามาเป็นเรื่องของตัวกู คืออย่างเอาจิตใจมาเป็นตัวกูแล้วรับเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวกู นั่นมันเป็นจิตใจที่ยังไม่ตื่นจากหลับคือกิเลส

ถ้าจิตใจมันตื่นคือรู้ตามที่เป็นจริงโดยความเป็นของธรรมชาติ ไม่มีอะไรเป็นตัวกูมันก็ไม่มีความหมายอะไรสำหรับความเกิดแก่เจ็บตาย ความเกิดแก่เจ็บตายสลายกลายเป็นอากาศธาตุในที่สุด คือปล่อยว่างไปด้วยนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความเจ็บไข้ครบงำ จะพยายามกระทำจิตใจโดยวิธีที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าทำธรรมสมาธิเสีย จะเกิดภาวะสะอาดสว่างสงบขึ้นมาใจจิตใจตามสมควร แล้วก็จะขับไล่ให้ความทุกข์หรือปัญหาต่างๆที่เกิดจากความเกิดแก่เจ็บตายนั้นออกไปได้ ดังนั้นเวลาเจ็บไข้จึงควรเป็นเวลาทำสงครามรบพุ่งกันกับความเกิดแก่เจ็บตายนั่นเอง ทำให้ประสบชัยชนะเพราะอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร

อย่างที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้แล้ว ถ้าสัตว์ทั้งหลายได้อาศัยตถาคตเป็นกัลยาณมิตรแล้วสัตว์ที่มีความเกิดจะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่จะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความตายจะพ้นจากความตาย สัตว์ที่มีความเจ็บจะพ้นจากความเจ็บ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตายเป็นธรรมดา เพราะเหตุว่าจิตนั้นมันกลายเป็นพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เสียเอง ผู้เจ็บป่วยผู้นั้นได้ทำให้จิตของเขากลายเป็นจิตสะอาดสว่างสงบโดยไม่วิตกกังวลถึงสิ่งใดๆ เพราะไม่มีสิ่งใดๆจะมีค่ามากเท่ากับสิ่งนี้ จิตใจยังสนใจอยู่กับสิ่งเหล่านี้จึงไม่ต้องมีปัญหาใดๆที่เรียกว่าความทุกข์อันเกิดจากความเกิดแก่เจ็บตาย

ให้จิตมีคุณธรรมคือสะอาดสว่างสงบเช่นเดียวกับมีในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ มันก็อยู่เหนือปัญหาอะไรหมดไม่มีปัญหาอะไรเหลือ เราเป็นพุทธบริษัทเราต้องได้ประโยชน์อันสูงสุดจากพระพุทธ,พระธรรม,พระสงฆ์ ข้อนี้ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเราทำจิตใจของเราให้เป็นพระพุทธ,พระธรรม,พระสงฆ์เสียเอง อย่างเพิ่งเข้าใจว่าพูดง่ายแล้วจะทำยาก คือมันปล่อยวางความรู้สึกคิดนึกชนิดว่าเป็นตัวตน ยึดมั่นถือมั่นในของเป็นคู่ๆ เช่น ดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ ได้เสีย แพ้ชนะ ไม่มีความรู้สึกในความหมายของคำเป็นคู่ๆเหล่านี้ นี่จะเรียกว่าเป็นผู้ที่มีจิตสะอาดสว่างสงบ มีพระพุทธ,พระธรรม,พระสงฆ์อยู่ในจิต

หรือจะพูดอีกทีว่าจิตได้กลายเป็นจิตของพระพุทธ,พระธรรม,พระสงฆ์ไปเสียแล้วจะมีปัญหาอะไรเหลือ มันไม่มีปัญหาอะไรเหลือไม่มีสิ่งที่จะสร้างความทุกข์ให้เลย เรียกได้ว่าไม่มีปัญหาอะไรเหลือก็ไม่มีสิ่งให้เดือดร้อนต้องต่อสู้ต้องแก้ไขอะไรอีก จงมีคุณธรรมอันสูงสุดคือความสะอาดแห่งจิต,ความสว่างแห่งจิต,ความสงบแห่งจิต เป็นสิ่งที่ต่อสู้กันกับความเกิดแก่เจ็บตาย ตามธรรมชาติเป็นไปตามธรรมชาติที่จะหลุดพ้นจากสิ่งที่จะยึดถือหลุดพ้นจากความทุกข์ ไม่เป็นจิตที่มีกิเลสหรือจะยึดมั่นถือมั่นอะไรอีกต่อไป ขอให้ประคับประคองจิตให้ดีๆ ในโอกาสเช่นนี้ให้เป็นจิตที่มีพระพุทธ,พระธรรม,พระสงฆ์มาสิงสถิตอยู่ ก็จะกลายเป็นสมาชิกของพระพุทธ,พระธรรม,พระสงฆ์ไปโดยสมบูรณ์ เรียกว่าหลุดพ้นจาก“ความเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์” ขอให้พยายามสังเกต, เข้าใจ, นึกคิด, กล้าหาญ แล้วก็เชื่อมั่นในการกระทำ ก็จะกระทำได้สมความปรารถนา

http://www.vcharkarn.com/varticle/1109

. . . . . . .