ที่พึ่งของชีวิต อันไม่มีที่พึ่งใดเปรียบได้ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ที่พึ่งของชีวิต อันไม่มีที่พึ่งใดเปรียบได้
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเพื่อจิตใจโดยแท้ เป็นศาสนาที่ทะนุถนอมจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มุ่งพิทักษ์รักษาจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มุ่งพิทักษ์รักษาจิตใจให้ห่างไกลจากความเศร้าหมองทั้งปวง อันจักเกิดแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ศึกษาพระพุทธศาสนาให้รู้จริง ก็จะเห็นพระพุทธเจ้าว่า ทรงมีพระหฤทัยละเอียดอ่อนและสูงส่งเหนือผู้อื่นทั้งปวง ความอ่อนโยนประณีตแห่งพระหฤทัย ทำให้ทรงเอื้ออาทรถึงจิตใจสัตว์โลกทั้งหลาย ทรงแสดงความทะนุถนอมห่วงใยสัตว์น้อยใหญ่ไว้แจ้งชัด สารพัดที่ทรงตรัสรู้อันจักเป็นวิธีป้องกันจิตใจของสัตว์โลก สมเด็จพระบรมศาสดาทรงพระมหากรุณาพร่ำชี้แจงแสดงสอนตลอดพระชนมชีพที่ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เช่นนี้แล้วไม่ความหรือที่พุทธศาสนิกทุกถ้วนหน้า จะตั้งใจสนองพระมหากรุณาเต็มสติปัญญาความสามารถปฏิบัติตามที่ทรงสอน เอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลาย ด้วยการแนะนำบอกเล่าให้รู้จัก ให้เข้าใจว่าสมเด็จพระพุทธศาสดานี้ทรงยิ่งด้วยพระมหากรุณา จึงทรงอบรมพระปัญญา จนถึงสามารถทรงยังให้เกิดพระพุทธศาสนาขึ้นได้ เป็นที่พึ่งยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกทั้งหลายได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่มีที่พึ่งอื่นใดเปรียบได้
ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด
พึงรำลึกในพระคุณและน้ำใจของพระพุทธองค์
ทุกคนที่เคยประสบความขัดข้องในชีวิต ปรารถนาจะได้รับความช่วยเหลืออย่างที่สุด เมื่อมีผู้ใดมาให้ความช่วยเหลือแก้ไขความขัดข้องนั้นให้คลี่คลาย ช่วยให้ร้ายกลายเป็นดี แม้มีจิตใจที่กตัญญูรู้คุณ ผู้ได้รับความช่วยเหลือด้วยเมตตา ให้ผ่านพ้นความมืดมัวขัดข้อง ย่อมสำนึกในพระคุณและน้ำใจ ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบแทน… พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่เหนือความกรุณาทั้งหลายที่ทุกคนเคยได้รับ มาในชีวิต แม้ไม่พิจารณาให้ประณีตก็ย่อมไม่เข้าใจ แต่แม้พิจารณาให้ประณีตด้วยดี ย่อมไม่อาจที่จะละเลยพระคุณได้ ย่อมจับใจในพระคุณพ้นพรรณนา
สติปัญญา เมตตากรุณา สำคัญยิ่งแก่ทุกชีวิต
สติ ปัญญา และเมตตา กรุณา เป็นความสำคัญอย่างยิ่งของทุกคน เป็นสิ่งช่วยให้คนเป็นคนอย่างสมบูรณ์ขึ้น งามพร้อมขึ้นจึงพึงเพิ่มพูนทั้งสติ ปัญญา และเมตตา กรุณา ซึ่งสามารถอบรมได้พร้อมกัน ให้เกิดผลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ก่อนจะพูดจะทำอะไร พึงมีสติรู้ว่าแม้พูดแม้ทำลงไป จะเกิดผลอะไรตามมา เป็นความเสียหายแก่ผู้ใดหรือไม่ ต้องใช้ปัญญาในตอนนี้ให้พอเหมาะพอควร พร้อมทั้งใช้เมตตากรุณาให้ถูกต้อง เว้นการพูดการทำที่จะเป็นเหตุแห่งความกระทบกระเทือนใจผู้ฟังโดยไม่จำเป็น
พระ พุทธเจ้าทรงยิ่งด้วยพระมหากรุณา ทรงตั้งพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาเพื่อจิตใจ ผู้เป็นพุทธศาสนิกพึงคำนึงถึงความจริงนี้ให้อย่างยิ่ง จะคิด จะพูด จะทำอะไร มีสตินึกถึงจิตใจผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย อย่าให้ได้รับความชอกช้ำโดยไม่จำเป็น
ผู้ปรารถนาความดี ความสว่างแห่งชีวิต พึงดำเนินชีวิตตามพระธรรมคำสั่งสอน
พระพุทธองค์ทรงตามประทีปไว้แล้ว ให้เราเห็นทางดำเนินไปสู่ที่ดีที่พ้นทุกข์ เราจงอย่าปิดตาจงลืมตาดูแสงประทีปนั้น ให้เห็นทางสว่างด้วยแสงแห่งพระมหากรุณา แล้วพากันน้อมรับพระมหากรุณานั้นดำเนินไปตามทางที่สว่าง จักไม่พบอันตรายที่ย่อมแอบแฝงอยู่ในความมืด
ความสำคัญจึงมิได้อยู่ที่แสงประทีป ซึ่งพระพุทธองค์ทรงจุดประทานไว้ด้วยพระมหากรุณาเท่านั้น แต่ต้องอยู่ที่ตนเองของทุกคนด้วย ถ้าพากันปิดตาไม่แลให้เห็นแสงประทีป ก็อาจจะเดินไปสู่ที่มืดที่ชั่ว ที่มีอันตรายร้อยแปดประการได้ แต่ถ้าพากันลืมตาขึ้น ดูให้เห็นทางอันสว่างไสว แล้วเดินไปตามทางนั้น ก็ย่อมจะเดินไปสู่ที่สว่าง ไปสู่ที่ดี พ้นภยันตรายมากมีทั้งหลาย
พึงอบรมตนให้เป็นคติ คือทางที่ดีของตน
ไม่มีผู้ใดปรารถนาจะมีหนทางชีวิตที่มืด มีแต่ปรารถนาหนทางชีวิตที่สว่าง ดังนั้นต้องอบรมตนให้รู้จักทาง ทางมืดก็ให้รู้ ทางสว่างก็ให้รู้ ทางไปสู่ที่มืดก็รู้ ทางไปสู่ที่สว่างก็รู้ รู้ทางแล้วยังไม่พอ ต้องศึกษาวิธีเดินทางให้ดีด้วย เดินทางสว่างนั้นท่านเดินกันอย่างไรต้องศึกษาให้ดี เดินอย่างไรจะเป็นการเดินทางมืด และต้องรู้ว่าขึ้นชื่อว่าทางมืดต้องมีอันตรายแอบแฝงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่พึงเดินไปอย่างส่งเดช อบรมใจให้ดีให้ตาสว่าง จะได้เดินถูกทาง สามารถนำไปดีได้ ทำตนให้เป็นคติคือทางที่ดีของตนได้
จากหนังสือ “ทุกชีวิต มีเวลาอันจำกัด”
พระราชนิพนธ์เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต
และพระคติธรรมเพื่อเป็นแสงส่องใจ
หนังสือพระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=37145
http://kalayanadham.diaryis.com/2013/02/03