ปาฏิหาริย์เกศาครูบาศรีวิชัย
เรื่องราวปาฏิหารย์เกี่ยวกับครูบาศรีวิชัยที่พวกเราเพิ่งได้ประสบมาก็เริ่มจาก ในงานนิทรรศการพระบรมธาตุที่จัดร่วมกับวัดสวนดอกในครั้งนี้ ได้มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีพระเครื่องและเกศาของครูบาศรีวิชัย ได้กรุณานำวัตถุมงคลทั้งหลายเหล่านี้มาให้ประชาชนได้รวมสักการะด้วยในวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 ณ วิหารหลวงวัดสวนดอก พวกเราจึงได้เห็นเกศาของครูบาศรีวิชัยเป็นครั้งแรกที่นี่
ในวันนั้น ท่านอาจารย์ผู้นี้ได้แบ่งเส้นเกศาของครูบาศรีวิชัยจำนวน 3 เส้น ให้กับท่านผู้หนึ่งที่อาศัยอยู่ในจ.เชียงใหม่ และ ท่านได้กรุณาให้ทางชมรมฯ ถ่ายภาพไว้ในเย็นวันนั้นด้วย
ต่อมาในวันที่ 3 มกราคม 2548 ท่านที่ได้รับแบ่งเส้นเกศาครูบาศรีวิชัยท่านนี้ คิดว่าอยากจะแบ่งเส้นเกศาไว้ให้กับทางชมรมฯเพื่อให้ประชาชนสามารถมาสักการะได้อย่างใกล้ชิดในการจัดงานนิทรรศการพระธาตุครั้งต่างๆ แต่ใจของท่านนั้นก็คิดว่า จะแบ่งอย่างไรดีให้ได้เท่าๆกัน เพราะมีอยู่ 2 เส้น แต่เมื่อนำมาให้แบ่งจริงๆก็พบว่า ปรากฎมีเส้นเกศาอยู่ในผอบนั้น 4 เส้น ทั้งๆที่ท่านไม่ได้เปิดผอบอีกเลยหลังจากที่ให้ทางชมรมฯได้ถ่ายรูปในเย็นวันที่ 26 ธ.ค.47 สร้างความประหลาดใจให้กับคุณปราโมช รองประธานชมรมฯเป็นอย่างมาก แต่เหตุการณ์นี้มีประจักษ์พยานอยู่หลายคน ในที่สุด ทางชมรมฯจึงได้รับแบ่งเส้นเกศามาจำนวน 2 เส้น ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงเชื่อว่า เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องราวปาฎิหารย์อย่างหนึ่งของเส้นเกศาครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาก็เป็นได้ สาธุ สาธุ สาธุ
ประวัติครูบาศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนาไทย)
ความหมายของคำว่าครูบา คำว่า “ครูบา” เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า “ครุปิ อาจาริโย ” แปลว่าเป็นทั้งครูและอาจารย์ มาจากคำว่า”ครุปา” และเพี้ยนเป็น “ครูบา” ในที่สุด เป็นคำที่พบว่า ใช้กันเฉพาะในวัฒนธรรมล้านนาเท่านั้น เป็นตำแหน่งทางสังคมของสงฆ์ หมายถึงการยกย่องเชิดชูพระสงฆ์ผู้ได้รับ การยกย่องและ นับถือศรัทธา จากประชาชน หรือมีผลงานปรากฎแก่ชุมชน โดยจะใช้คำว่า ครูบานี้ เป็นสรรพนามนำหน้า ภิกษุสงฆ์รูปนั้นๆ พระสงฆ์ทั่วๆไปไม่มีสิทธิ์แต่งตั้งตัวเองเป็นครูบา ปัจจุบันตำแหน่งดังกล่าวยังคงมีการใช้อยู่โดยทั่วไป เช่น ครูบาวงค์ (ไชยวงค์ศาพัฒนา ) วัดพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ครูบาดวงดี วัดท่าจำปี อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ครูบาคำปาน วัดหัวขัว ตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น สำหรับครูบาศรีวิชัย เป็นพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งที่ได้รับยกย่องว่าเป็น ครูบา เพราะท่านมีมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด และเป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชนทั่วภาคเหนือ ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าท่านเป็นตนบุญซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกิดจากศรัทธาของ ชุมชนและเป็นตำแหน่ง ที่อยู่ในฐานะของการเป็นศูนย์รวมของพลังศรัทธาประชาชนอย่างแท้จริง
ครูบาศรีวิชัย พระผู้ทรงคุณประโยชน์ทางด้านการศาสนา กำเนิดที่บ้านปาง ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน เมื่อวันอังคารที่ ๑๑ มิ.ย.๒๔๒๐ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล เวลา ๑๘.๐๐ น. บิดามารดาของท่าน คือ นายควาย และนางอุสา มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด ๕ คน คือ
๑. นายอินทร์ไหว
๒. นางอวน
๓. นายอินทร์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย)
๔. นางแว่น
๕. นายทา
เริ่มการศึกษาเมื่ออายุ ๑๗ ปี โดยได้ศึกษาอักษรไทยล้านนากับท่านครูบาขัตติยะ ต่อมาเมื่ออายุ ๑๘ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยพระครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ได้รับสมญานามว่า “สามเณรศรีวิชัย”
เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ สามเณรศรีวิชัย ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบ้านโฮ่งหลวง อ. บ้านโฮ่ง จ. ลำพูน โดยมีพระครูบาสมณะเจ้าอาวาส วัดบ้านโฮ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ได้รับฉายานามว่า “สิริวิชะโยภิกขุ”
เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ หลังอุปสมบทได้ ๑ ปี ท่านได้ขอลาไปศึกษา กัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับพระครูบาอุปละ (อุบล) วัดดอยแต อ.แม่ทา จ.ลำพูน หลังจากได้ศึกษากัมมัฏฐานกับพระครูบาอุปละได้ ๑ พรรษา ก็ได้อำลามาสู่วัดบ้านปาง จนถึงพรรษาที่ ๖ จึงได้รับเป็นเจ้าอาวาส วัดบ้านปาง
ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ทรงศีลจริยวัตรปฏิบัติบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา กัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมเจริญรอยตามพระบรมศาสดา ท่านจะคอย แนะนำอบรมสั่งสอนพระเณรเด็กวัดและแนะนำศรัทธาญาติโยมสาธุชนที่เคารพเลื่อมใส ให้ตั้งมั่นในศีลในธรรมช่วยกันบำรุงบวรพุทธศาสนา ไม่ให้ทอดทิ้งประเพณีอันดีงาม กิตติศัพท์การครองวัตรอันเคร่งครัดของท่านได้เลื่องลือไปทั่ว ผู้คนเกิดศรัทธาทำบุญถวาย ทักขินาทานมากขึ้นตามลำดับบรรดาพระภิกษุ สามเณร ตามวัดต่างๆ ต่างตำบล ต่างอำเภอ ได้พากันมาขอฝากตัวเป็นสานุศิษย์ด้วยเป็นอันมากและได้มีกุลบุตรจำนวนมากมาขอ บรรพชาและอุปสมบทอยู่ในสำนักบ้านปาง
ครูบาศรีวิชัย ได้ใช้ความศรัทธาของประชาชน และสานุศิษย์ ชักชวนให้ก่อสร้างพัฒนาวัดวาอาราม พระธาตุ พระบาท พระเจดีย์ ศาสนสถานรวม ๑๐๖ แห่ง ใน ๕ จังหวัด คือ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำปาง และจ.ลำพูน ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่ประชาชน ชาวไทยยกย่องไม่รู้ลืมก็คือเป็นองค์ประธานในการสร้างพระบรมธาตุดอยสุเทพ โดยสร้างทางขึ้นระยะทาง ๑๒ กม. ใช้เวลา ๕ เดือน ๒๒ วัน คือเริ่มสร้างเมื่อ ๙ พ.ย.๒๔๗๗ และเปิดใช้ทางขึ้นดอยสุเทพครั้งแรกเมื่อ ๓๐ เม.ย.๒๔๗๘ ค่าก่อสร้างประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ยี่สิบล้านบาท) โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐบาล
เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ – ๒๔๗๑ พระครูบาศรีวิชัยได้รวบรวมสังคายนาพระไตรปิฏก ฉบับล้านนาที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามวัดต่างๆ ตำบล อำเภอ และจังหวัดต่างๆ เก็บมารวบรวมจารลงในใบลานขึ้นมาใหม่
ครูบามรณภาพ เมื่อวันอังคารที่ ๒๑ ก.พ. ๒๔๘๑ รวมสิริอายุได้ ๖๑ ปี ๕ เดือน ๙ วัน ณ วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ข่าวการ มรณภาพของครูบาเจ้ายังความเศร้าสลด อาลัยนักบุญผู้ทรงศีล จึงพากันหลั่งไหลมายังวัดบ้านปางมากมาย พระศพของท่าน ตั้งบำเพ็ญ กุศลให้ผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสกราบสักการะเป็นเวลา ๒ ปี จึงเคลื่อนพระศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่ วัดจามเทวีนานถึง ๗ ปี และได้กำหนด พิธีพระราชทานเพลิงศพของท่านในวันที่ ๒๒ มี.ค. ๒๔๘๙ โดยมีประชาชนมาถวายพระเพลิงศพเป็นจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้น ได้เข้าแย่งชิงอัฐิธาตุของครูบาศรีวิชัยตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการะบูชา อัฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น ๗ ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้
๑. ส่วนที่ ๑ บรรจุที่ วัดจามเทวี จ.ลำพูน
๒. ส่วนที่ ๒ บรรจุที่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
๓. ส่วนที่ ๓ บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
๔. ส่วนที่ ๔ บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
๕. ส่วนที่ ๕ บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
๖. ส่วนที่ ๖ บรรจุที่ วัดน้ำออกรู จ.แม่ฮ่องสอน
๗. ส่วนที่ ๗ บรรจุที่ วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน
ปัจจุบัน วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้จัดสร้าง พิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ของครูบาศรีวิชัย เพื่อให้พุทธศานิกชน ได้ศึกษา กราบไหว้บูชาและยึดถือครูบาศรีวิชัยเป็นแบบอย่างในด้านปฏิบัติอันดีงามต่อไป
http://www.rakpratat.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=79485