ครูบาศรีวิชัย
ครูบาศรีวิชัย เกิดที่บ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีนามเดิมว่า อ้ายฟ้าร้อง เพราะในขณะที่ท่านเกิด อากาศวิปริตมีลมฝน ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า จึงถือเอานิมิตนั้นมาตั้งชื่อ ท่านเกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ใต้) ตรงกับวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ ปีขาล เวลาพลบค่ำ บิดาชื่อ นายควาย มารดา ชื่อ นางอุสา
การบรรพชา อุปสมบท
ครูบาศรีวิชัย ได้เริ่มบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๘ ปี ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ ซึ่งเป็นอารามเล็กๆ ประจำหมู่บ้าน มี ครูบาขัติยะ วัดบ้านปาง เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ อายุครบ ๒๐ ปี ก็อุปสมบท มี พระครูสุมโณ วัดบ้านโฮ่งหลวงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า สิริวิชโย ต่อมาได้เดินทางไปศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานจาก ครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา (ปัจจุบันอยู่ในตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน) ด้วยเหตุที่มีอุปนิสัยชอบสงบเสงี่ยม เจียมตัว พูดน้อย กินน้อย และรู้แนวทางปฏิบัติธรรมบ้างแล้ว จึงถือโอกาศขึ้นไปอยู่ปฏิบัติกัมมัฏฐานบนดอยทิศใต้ของหมู่บ้าน (ที่ท่านสร้างเป็นวัดบ้านปางเดี๋ยวนี้)เมื่อท่านได้วิเวกทางกาย จิตใจก็หยั่งรู้เข้าสู่สมาธิหยั่งลงสู่วิปัสสนาญาณ ท่านก็ยิ่งมีความพากเพียรในการปฏิบัติกัมมัฏฐานมากขึ้นเคร่งครัดในวินัย ไม่แตะต้องลาภสักการะปัจจัย ฉันอาหารมังสะวิรัติ ประชาชนจึงเกิดความเลื่อมใส ชื่อเสียงของท่านก็ยิ่งโด่งดังไกลออกไป ชาวบ้านหลั่งไหลเข้ามาเคารพบูชาท่านมากขึ้น ต่อมา ครูบาขัติยะย้ายไปจำพรรษาที่อื่น ท่านจึงรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง และบุกเบิกป่านั้นสร้างเป็นวัดขึ้น ไม่นานก็สร้างเสร็จมีงานฉลอง (ปอยหลวง) ถึง ๗ วัน ๗ คืน และได้ตั้งชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดศรีดอนชัยทรายมูลบุญเรืองบ้านปาง ชาวบ้านเรียกว่า วัดบ้านปาง ส่วนวัดเดิมที่มีอยู่ในหมู่บ้านก็หมดสภาพไป นับเป็นวัดแรกที่ท่านได้สร้างขึ้นมา (พ.ศ. ๒๔๔๔) ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๔๖๓ ต้องอธิกรณ์ถูกกล่าวหาในหลายกรณี เช่นเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ไม่ประพฤติตนให้ เป็นไปตามคำสั่งของคณะสงฆ์ ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของพระครูมหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้ ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ตามพ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ ฯลฯ ครูบาศรีวิชัยถูกกักบริเวณให้อยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัย ๑ ปี(พ.ศ.๒๔๕๔) ถูกกักบริเวณอยู่ในวัดศรีดอนชัยเชียงใหม่ ๓ เดือน สุดท้ายจึงถูกนิมนต์ให้เข้าไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ (พ.ศ.๒๔๖๓) แต่ทุกคดีก็ได้รับการวินิจฉัยจากสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้นว่าไม่มีความผิดครูบาศรีวิชัยจึงเดินทางกลับจังหวัดลำพูน บรรดาสานุศิษย์จัดขบวนต้อนรับ ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ประชาชนก็เพิ่มความเคารพเลื่อมใสยิ่งขึ้น (ถูกอธิกรณ์ครั้งที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘) จึงทำให้ศรัทธาสาธุชนทั่วสารทิศมาเฝ้าชื่นชมบารมี ร่วมทำบุญกับครูบาศรีวิชัยที่ถือว่าเป็นพระอริยสงฆ์มาโปรดสัตว์โลกในยุคกึ่งพุทธกาล ท่านมักจะรับนิมนต์ไปเป็นประธาน (นั่งหนัก)ในการบูรณะศาสนสถานทั่วภาคเหนือไม่ต่ำกว่า ๑๐๘ แห่ง
ผลงานการก่อสร้างศาสนาสถาน และสาธารณสมบัติ
บูรณะซ่อมแซมบริเวณหน้าวิหารหลวงและพระบรมธาตุ วัดพระธาตุหริภุญชัย (พ.ศ.๒๔๖๓) หลังจากกลับจากกรุงเทพฯแล้วไปบูรณะพระเจดีย์ พระธาตุดอยเกิ้ง อำเภอฮอด (พ.ศ.๒๔๖๔) สร้างวิหาร วัดพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา (พ.ศ.๒๔๖๕) บูรณะพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ (พ.ศ.๒๔๖๖) วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๔๖๗) สร้างธาตุและบันไดนาค วัดบ้านปางพระธาตุเกตุสร้อยแก่งน้ำปิง (พ.ศ. ๒๔๖๘) รวบรวมพระไตรปิฏกฉบับอักษรล้านนาจำนวน ๕,๔๐๘ ผูก (พ.ศ.๒๔๖๙-๒๔๗๑) บูรณะวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๔๗๔) และ
ผลงานชิ้นอมตะคือ การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพจังหวัดเชียงใหม่ ที่ศรัทธาสานุชนมาร่วมกันสร้างถนนวันละไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คน แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน ตามสัจจะวาจา (พ.ศ.๒๔๗๘) สร้างวิหารวัดบ้านปาง(พ.ศ.๒๔๗๘ เสร็จปี พ.ศ.๒๔๘๒) วัดจามเทวี (พ.ศ.๒๔๗๙) สุดท้าย คือ สะพานศรีวิชัย เชื่อมระหว่างลำพูน (ริมปิง) – เชียงใหม่(พ.ศ.๒๔๘๑) ที่มาสร้างเสร็จภายหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ (รวมวัดต่างๆที่ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยไปบูรณะปฏิสังขรณ์รวม ๑๐๘ วัด)ต่อมามีผู้เรียกท่านว่า พระศรีวิชัย ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า ครูบาศรีวิชัยบ้าง ครูบาวัดบ้านปางบ้าง ครูบาศีลธรรมบ้างซึ่งเป็นนามที่ชาวบ้านตั้งให้ ด้วยความนับถือ
ผลงานที่เด่นมากของครูบาศรีวิชัยก็คือ การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้รับคำเรียกร้องจากศรัทธาประชาชน ให้ช่วยดำริและจัดการเรื่องนี้ จึงเริ่มลงมือสร้างเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ณ เชิงดอยสุเทพด้านห้วยแก้ว โดยมี พลตรี เจ้าแก้วเนาวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้ขุดจอบเป็นปฐมฤกษ์ การสร้างถนนสายนี้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากวันหนึ่งๆ จะมีผู้คนช่วยทำงานประมาณวันละไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คน ถ้าคิดมูลค่าแรงงานเป็นเงินก็คงมากมายมหาศาลทีเดียว การสร้างทางสายนี้ใช้เวลา ๕ เดือน กับ ๒๒ วัน จึงแล้วเสร็จ และเปิดให้รถขึ้นลงได้ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘
วาระสุดท้ายชีวิต
ผลงานชิ้นสุดท้ายของท่านคือ การสร้างสะพานข้ามลำน้ำปิง ระหว่างบ้านริมปิง จังหวัดลำพูน กับอำเภอหางดงจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ สะพานยังไม่ทันเสร็จ โรคริดสีดวงทวารของท่านกำเริบ จึงต้องไปพักที่วัดจามเทวี อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ก็รับสั่งให้หาหมอดีๆ มารักษา แต่อาการก็ไม่ทุเลา ท่านจึงกลับวัดบ้านปาง อำเภอลี้ อาการของท่านมีแต่ทรงกับทรุดจนถึงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๑ เวลา ๐๐.๐๕ นาฬิกา กับ ๓๐ วินาที ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ศพของท่านได้เก็บไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา ๑ ปี เมื่อวิหารที่วัดบ้านปางเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำศพของท่านแห่เป็นขบวนใหญ่กลับเข้าสู่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูนเป็นเวลา ๗ ปี เพื่อให้ลูกศิษย์ได้พึ่งบารมีของท่าน ทำการสร้างสะพานข้ามแม่น้าปิงให้เสร็จตามคำสั่งของท่าน
ต่อมาเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ทางจังหวัดลำพูนจึงได้บำเพ็ญกุศลฌาปนกิจศพของท่านอย่างใหญ่โตถึง ๑๕ วัน ๑๕ คืนตำรวจ ทหาร เข้ารักษาการณ์อย่างเข้มแข็ง เพื่อมิให้ใครเข้ายื้อแย่งอัฐิของท่าน และได้มีการตกลงแบ่งอัฐิของท่านออกเป็น ๖ ส่วน คือ
บรรจุไว้ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ส่วนหนึ่ง
บรรจุไว้ที่วัดจามเทวี อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ส่วนหนึ่ง
บรรจุไว้ที่วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ส่วนหนึ่ง
บรรจุไว้ที่วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปางส่วนหนึ่ง
บรรจุไว้ที่วัดพระเจ้าตนหลวง จังหวัดเชียงราย (ปัจจุบันจังหวัดพะเยา) ส่วนหนึ่ง
บรรจุไว้ที่วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ส่วนหนึ่งเพื่อให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา และเคารพนับถือท่านจะได้กราบไหว้สักการบูชาต่อไป
ครูบาศรีวิชัย คือนักบุญในกึ่งยุคพุทธกาล ที่ได้สร้างคุณประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ และพุทธศาสนาด้วยความเมตตากรุณาอันเปี่ยมล้นด้วยความศรัทธาอันแน่วแน่ ท่านจึงได้รับการขนานนามว่า นักบุญแห่งล้านนาไทย (ต๋นบุญ โพธิสัตว์)
****************************************************************
ที่มา : หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จังหวัดลำพูน พ.ศ.2544
Navigator : สท.ลำพูน > ลำพูนเมืองน่าอยู่ > วัฒนธรรมและประเพณี > ครูบาศรีวิชัย
http://www.rd.go.th/lamphun/51.0.html