ผลงาน (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

ผลงาน (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กล่าวได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นพระมหาเถระผู้คงแก่เรียนพระองค์หนึ่งในยุคปัจจุบัน ทรงรอบรู้แตกฉานในพระพุทธศาสนาทั้งในด้านทฤษฎีหรือปริยัติ ทั้งในด้านปฏิบัติ ในด้านปริยัตินั้นทรงสำเร็จภูมิเปรียญธรรม ๙ ประโยคซึ่งเป็นชั้นสูงสุดทางการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ส่วนในด้านปฏิบัตินั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ทรงเป็นพระนักปฏิบัติ หรือที่นิยมเรียกกันเป็น สามัญทั่วไปว่า พระกรรมฐาน พระองค์หนึ่งดังเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่พระนักปฏิบัติและสาธุชน ผู้ไฝ่ใจในด้านนี้ ฉะนั้น ผลงานทางพระพุทธศาสนาของพระองค์จึงนับได้ว่ามีความสมบูรณ์พร้อม เป็นองค์ความรู้ที่มีความชัดเจนทั้งในเชิงทฤษฎีและในเชิงปฏิบัติ เพราะเป็นองค์ความรู้ที่ถูก กรั่นกรองออกมาจากความรู้ความเข้าใจที่มีทฤษฎีเป็นฐาน และมีการปฏิบัติด้วยพระองค์เอง เป็นเครื่องตรวจสอบเทียบเคียง เป็นผลให้องค์ความรู้ที่พระองค์แสดงออกมาทั้งในผลงานที่เป็นบท พระนิพนธ์ ทั้งในผลงานที่เป็นการเทศนาสั่งสอนในเรื่องและในโอกาสต่าง ๆ มีความลึกซึ้ง ชัดเจน และเข้าใจง่าย

ผลงานของพระองค์ที่สมควรนำมากล่าวในที่นี้ เพื่อเป็นแบบอย่างแห่งการสร้างองค์ ความรู้ทางพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านปริยัติและในด้านปฏิบัติ แบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ ด้านวิชาการ และด้านการสั่งสอนเผยแผ่

ผลงานด้านวิชาการ

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นผู้ใคร่การศึกษา ฉะนั้น นอกจากจะทรงศึกษาพระปริยัติธรรม คือศึกษาภาษาบาลี ตามประเพณีนิยมทางพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ยังสนพระทัยศึกษาภาษาต่างๆ อีกมากสุดแต่จะมีโอกาสให้ทรงศึกษาได้ เช่น ทรงศึกษาภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน แต่ส่วนใหญ่โอกาสไม่อำนวยให้ทรงศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง การศึกษา ภาษาต่าง ๆ ของพระองค์จึงต้องเลิกราไปในที่สุด คงมีแต่ภาษาอังกฤษที่ทรงศึกษาต่อเนื่อง มาจนทรงสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งในการพูด การอ่าน และการเขียน และจากความรู้ ภาษาอังกฤษนี้เองที่เป็นหน้าต่างให้พระองค์ทรงมองเห็นโลกทางวิชาการได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่จำกัด อยู่เฉพาะโลกทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะฉะนั้น บทพระนิพนธ์ทางพระพุทธศาสนาของพระองค์ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความรอบรู้ทางปริยัติและความลึกซึ้งทางปฏิบัติแล้ว บางครั้งพระองค์ก็ ยังทรงนำเอาความรู้สมัยใหม่ด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ในการอธิบายพระพุทธศาสนาให้คนร่วม สมัยเข้าใจความหมาย และประเด็นความคิดทางพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเริ่มสร้างผลงานทางวิชาการมาตั้งแต่ยังทรงเป็นพระเปรียญ โดยการทรงนิพนธ์เรื่องทางพระพุทธศาสนาในลักษณะต่าง ๆ ลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร ธรรมจักษุซึ่งเป็นนิตยสารเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระ บรมราชูปถัมภ์บ้าง ตีพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่าง ๆ บ้าง และได้ทรงสร้างผลงานด้านนี้ มาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ฉะนั้น ผลงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนาของพระองค์จึงมี เป็นจำนวนมาก ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เรื่อง พระนิพนธ์เรื่องสำคัญที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ มีดังนี้

(๑) หลักพระพุทธศาสนา พระนิพนธ์เรื่องนี้ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ ในชั้นต้นทรงนิพนธ์เป็นกัณฑ์เทศน์สำหรับ เทศน์สอนนักเรียนนักศึกษา ต่อมาทรงปรับปรุงเป็นความเรียงเพื่อสะดวกแก่การอ่าน ศึกษาของผู้สนใจทั่วไป

พระนิพนธ์เรื่องนี้ แม้ว่าชั้นต้นจะทรงมุ่งสำหรับสอนหรืออธิบายพระพุทธศาสนา แก่นักเรียนนักศึกษา แต่เนื้อหาเป็นเรื่องที่สามารถใช้เป็นคู่มือศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับคน ทั่วไปได้ทุกระดับ พระนิพนธ์เรื่องนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่ชั้นต้นไปจนถึงชั้นสูงสุด ประกอบด้วยหลักธรรมคำสอนที่สำคัญ ๆ ที่คนทั่วไปควรรู้ และพอเพียงแก่การที่จะทำให้รู้จัก พระพุทธศาสนาและพอเพียงแก่การที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นอกจากความรู้เกี่ยวกับ พระพุทธศาสนาแล้วยังให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของศาสนาทั่ว ๆ ไปที่ควรรู้ด้วย

ลักษณะเด่นของพระนิพนธ์เรื่องนี้ คือทรงใช้ภาษาง่าย ๆ สละสลวย ทรงยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว หรือที่เป็นเรื่องในประสบการณ์ของคนทั่วไปมาประกอบการอธิบาย และบางเรื่องก็ทรงนำ เอาทฤษฎีหรือความรู้สมัยใหม่มาเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

(๒) ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์เรื่องนี้ทรงเริ่มนิพนธ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ พระนิพนธ์เรื่องนี้มุ่งแสดงคำสอนของพระพุทธศาสนา ไปตามลำดับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพุทธประวัติ เป็นทำนองเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในพระประวัติของพระพุทธเจ้าไปตามลำดับปี นับแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเริ่มประกาศสั่งสอน พระพุทธศาสนาไปจนถึงปีสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของพระพุทธเจ้า แต่เนื่องจากเรื่องราว ในพุทธประวัตินั้นตามที่ปรากฏในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะคัมภีร์พระไตรปิฎก ไม่ได้กล่าวไว้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งไม่ได้ลำดับกาลเวลาของเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน ฉะนั้น จึงเป็นการยากที่จะเล่าเรื่อง พุทธประวัติตั้งแต่ต้นจนไปตามลำดับกาลได้อย่างถูกต้อง ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้วในพระนิพนธ์เรื่องนี้ พระองค์จึงทรงมุ่งแสดงคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อความรู้เข้าใจในธรรมเป็นหลักโดยมีเรื่องราวทางพุทธประวัติเท่าที่ปรากฏหลักฐานหรือ ตามที่ทรงสันนิษฐานได้จากคัมภีร์นั้น ๆ มาเป็นส่วนประกอบเพื่อช่วยให้เข้าใจความเป็นมาและ ความหมายของพระธรรมคำสอนเรื่องนั้น ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น มิได้ทรงมุ่งแสดงรายละเอียด ทางพุทธประวัติโดยตรง แต่งถึงกระนั้น พระนิพนธ์เรื่องนี้ก็นับได้ว่าเป็นการเรียบเรียง พุทธประวัติแนวใหม่อีกแบบหนึ่งที่ไม่ซ้ำแบบใคร

ลักษณะเด่นของพระนิพนธ์เรื่องนี้ก็คือ เป็นเรื่องที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่พุทธประวัติและในแง่พระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะ ได้ทรงประมวลเอาความรู้และเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ทั้งจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและปกรณ์วิเสสต่าง ๆ รวมทั้งจากตำราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ มารวม ไว้อย่างพิสดารตลอดถึงเรื่องราวจากคัมภีร์ฝ่ายมหายานที่น่าสังเกตศึกษา ก็ได้ทรงประมวลมา ไว้เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบด้วย พระนิพนธ์เรื่องนี้จึงให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในหลายด้าน

แต่น่าเสียดายว่า พระนิพนธ์เรื่องนี้ทรงนิพนธ์ไว้ยังไม่จบสมบูรณ์

(๓) โสฬสปัญหา พระนิพนธ์เรื่องนี้ ในชั้นต้นทรงเตรียมสำหรับเป็นคำสอนพระใหม่และได้ทรงบรรยายเป็นธรรมศึกษาแก่พระใหม่ (พระนวกะ) ในพรรษกาล พ.ศ. ๒๕๒๔ ตั้งแต่ต้นจนจบบริบูรณ์

โสฬสปัญหา (คือปัญหา ๑๖ ข้อ) พร้อมทั้งคำพยากรณ์คือคำกล่าวแก้นั้น เป็นธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา มีความละเอียดลึกซึ้งทั้งในด้านอรรถะ คือความหามาย ทั้งในด้านพยัญชนะ คือถ้อยคำสำนวน ผู้ที่ใคร่รู้พระพุทธศาสนาควรจัก ได้ศึกษาและพิจารณาไตร่ตรอง อย่างรอบคอบ และเมื่อได้พิจารณาไตร่ตรองจนเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะทำให้เห็นความละเอียดลึกซึ้งของพระพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันส่องแสดงให้เห็นถึงความสุขุมลุ่มลึกแห่งพระปรีชาญาณของพระพุทธเจ้า การศึกษาเรื่องนี้ นอกจากจะช่วยให้ได้รับความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาลึกซึ้งกว้างขวางยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยเสริมศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนาและในพระรัตนตรัยให้มั่นคงและบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นด้วย อันจะยังผลให้เกิดการน้อมนำธรรมเหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติตามความสามารถของตนต่อไป

เรื่องโสฬสปัญหานี้ เป็นการแสดงหรืออธิบายธรรมที่ปรากฏอยู่ในปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นไปตามอรรถะและพยัญชนะแห่งบทธรรม ประกอบกับคำอธิบายในคัมภีร์อรรถกถา และความสันนิษฐานส่วนพระองค์ ทั้งนี้ก็โดยที่พระองค์ทรงเห็นว่าธรรมบรรยายหรือการ อธิบายธรรมนั้น เป็นเพียงเครื่องมือประกอบการศึกษาธรรม เพื่อที่ผู้ศึกษาจะได้อาศัยเป็นแนว ในการพิจารณาไตร่ตรองธรรมจะกระทั่งเกิดความเห็นแจ้งประจักษ์ธรรมนั้น ๆ แก่ใจตนด้วยตนเอง เพราะผู้ศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ควรจักได้พิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาอันชอบให้ เห็นจริงแก่ใจตน ไม่ควรเอาแต่เชื่อดายไปตามที่ได้ยินได้ฟัง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ในกาลามสูตรเป็นตัวอย่าง เพราะเพียงแต่เชื่อไม่พิจารณานั้น อาจจะไม่ได้ความรู้ธรรม ทั้งไม่ทำให้ได้ซาบซึ้งในรสแห่งธรรมด้วย

ลักษณะเด่นของพระนิพนธ์เรื่องนี้ก็คือ แสดงให้เห็นถึงแนวการวิเคราะห์หรือวิจารณ์ ธรรมขององค์ผู้นิพนธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิเคราะห์หรือวิจารณ์ธรรมชั้นสูง นั้นมิใช่ เรื่องที่ทำได้ง่าย ผู้ที่จะสามารถวิเคราะห์หรือวิจารณ์ธรรมดังกล่าวได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนนั้น จำต้องใช้ทั้งความรู้ ในทางปริยัติและประสบการณ์ในทางปฏิบัติประกอบกัน จึงจะเกิดการ สังเคราะห์เป็นความรู้ ความเข้าใจและถ่ายทอดไปยังบุคคลอื่นได้ตามวัตถุประสงค์หรือตรงตาม ความหมายของข้อธรรม นั้น ๆ

(๔) ลักษณะพระพุทธศาสนา พระนิพนธ์เรื่องนี้ทรงเตรียมขึ้นสำหรับเป็นคำสอนพระใหม่ และได้ทรงบรรยายสอนพระใหม่ในพรรษกาล พ.ศ. ๒๕๒๖ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จ พระญาณสังวร พระนิพนธ์เรื่องนี้ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงลักษณะของพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ คือในด้านความหมาย ในด้านการสอน ในด้านคำสอน ในด้านการปฏิบัติ และในด้านเป้า หมายของการปฏิบัติของพระพุทธศาสนา เนื้อหาของพระนิพนธ์เรื่องนี้ จึงเป็นการมองหรือเป็น การศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างรอบด้าน เพราะฉะนั้น พระนิพนธ์เรื่องนี้ จึงช่วยให้ผู้อ่าน หรือผู้ศึกษามองเห็นภาพของพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ช่วยให้ผู้ศึกษากล่าวถึงพระพุทธศาสนาได้ตรงประเด็น

ลักษณะเด่นของพระนิพนธ์เรื่องนี้ก็คือ ทรงอธิบายไว้ในตอนต้นของเรื่องนี้ว่า สิ่งที่พระองค์ ทรงแสดงหรือทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์เรื่องนี้ เป็นผลจากการศึกษาปฏิบัติเพ่งพิจารณา ของพระองค์เอง ฉะนั้น พระนิพนธ์เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสะท้อนถึงความรู้ความเข้าใจของพระองค์ ในเรื่องพระพุทธศาสนาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง

(๕) สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงเตรียมขึ้นสำหรับเป็นคำสอนพระใหม่และทรงบรรยายสอนพระใหม่ในพรรษกาล พ.ศ. ๒๕๒๗ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปรารถถึงพระนิพนธ์เรื่องนี้ว่า “พระธรรมเทศนา ชุดนี้ นอกจากแสดงข้อธรรมสำคัญ ๆ อันเป็นแก่นคำสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว ยังแสดง ให้ประจักษ์ถึงปรีชาญาณอันกว้างขวางล้ำลึกของพระสารีบุตรเถระในการอธิบายธรรมนี้อีกประการหนึ่ง และประการที่สาม สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฒนมหาเถระ) ได้นำพระเถราธิบายแห่งพระอัครสาวก องค์นั้นมาอธิบายถ่ายทอดเพิ่มเติมให้พอเหมาะพอดีแก่ความรู้ความคิดของคนในยุคปัจจุบันให้เข้าใจได้ โดยสะดวก และแจ่มแจ้ง” ด้วยพระราชปรารภดังกล่าวแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นสำหรับพระราชทานในงานฉลองพระชนมายุ ๖ รอบของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นครั้งแรก ต่อมาทรงมีพระราชปรารภว่า เรื่องสัมมาทิฏฐิ ที่จัดพิมพ์ขึ้นในครั้งนั้น ยังมีข้อพกพร่องอยู่หลายแห่ง จึงได้ทรงพระราชอุตสาหะ ตรวจทานต้นฉบับใหม่ด้วยพระองค์ เองตลอดทั้งเรื่อง แล้วพระราชทานมายังเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เพื่อจัดพิมพ์ ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

จากพระราชปรารภดังกล่าวแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระนิพนธ์เรื่องสัมมาทิฏฐินี้มี ความสำคัญและมีคุณค่าควรแก่การศึกษาเพียงไร

ลักษณะเด่นของพระนิพนธ์เรื่องนี้ก็คือ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงนำธรรมาธิบายของ พระสารีบุตรเถระ ซึ่งล้วนเป็นคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนา “มาอธิบายถ่ายทอดเพิ่มเติม ให้พอเหมาะพอดีแก่ความรู้ความคิดของคนในยุคปัจจุบันให้เข้าใจได้โดยสะดวกและแจ่มแจ้ง”

(๖) ทศบารมี ทศพิธราชธรรม พระนิพนธ์เรื่องนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเตรียม ขึ้นสำหรับเป็นคำสอนพระใหม่เช่นกัน และได้ทรงบรรยายสอนพระใหม่ ในพรรษกาล พ.ศ. ๒๕๓๐ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร

เนื้อหาของพระนิพนธ์เรื่องนี้ คือการอธิบายความหมายของธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา ๒ หมวด คือ คำสอนเรื่องทศบารมี และคำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม โดยเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงวิเคราะห์ให้เห็นว่า ธรรม ๒ หมวดนี้ แม้จะดูว่าต่างกันแต่ความจริงมีความเกี่ยวโยงกัน กล่าวคือ ทศบารมีนั้น เป็นหลักปฏิบัติเพื่อผลสูงสุดในทางพุทธจักร คือการบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงสร้างสันติสุขให้แก่มวลมนุษยชาติ ส่วนทศพิธราชธรรมนั้น เป็นหลักปฏิบัติเพื่อผลสูงสุดในทางอาณาจักร คือการบรรลุถึงความเป็นพระธรรมจักรพรรดิ หรือพระจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ซึ่งจะเป็นผู้สร้างสันติสุขให้แก่มวลพสกนิกรของพระองค์ทั่วราชอาณาเขต กล่าวสั้นก็คือทศบารมีนั้น เป็นหลักธรรมเพื่อความเป็นประมุขหรือผู้นำทางพุทธจักร ส่วน ทศพิธราชธรรมนั้นเป็นหลักธรรมเพื่อความเป็นประมุขหรือผุ้นำทางอาณาจักร นอกจากนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ยังทรงแสดงให้เห็นว่า ธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน ที่แตกต่างกันไปบ้าง ก็เพราะมุ่งผลหรือมีเป้าหมายต่างกัน ทศบารมีมุ่งผลในทางธรรมหรือความพ้นโลก ส่วนทศพิธราชธรรมมุ่งผลในทางโลกหรือการอยู่ในโลกอย่างมีความสุข กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทศบารมีเป็นบารมีทางธรรม ส่วนทศพิธราชธรรมเป็นบารมีทางโลก ธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้ จึงเป็นบารมีธรรมด้วยกัน

ลักษณะเด่นของพระนิพนธ์เรื่องนี้ก็คือ เป็นการวิเคราะห์ตีความธรรมสำคัญทาง พระพุทธศาสนาในเชิงประยุกต์และในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งทำให้ได้ความรู้ความเข้าใจในคำสอนของ พระพุทธศาสนาในแง่มุมที่แตกต่างออกไปและกว้างขวางยิ่งขึ้น

ผลงานด้านการสั่งสอนเผยแผ่

งานด้านการสอนที่สำคัญของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็คือการสอน “แนวปฏิบัติในการฝึก สมาธิ” หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่าสอนกรรมฐาน ในส่วนพระองค์เองก็ทรงสนพระทัยในการฝึกปฏิบัติ สมาธิหรือปฏิบัติกรรมฐานมาตั้งแต่ยังทรงเป็นพระเปรียญ ผู้ที่เป็นครูทางกรรมฐานของพระองค์ก็คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ ทรงเล่าว่า

ครั้งหนึ่ง เมื่อสมัยที่ยังทรงเป็นพระเปรียญอยู่และกำลังสนพระทัยในการศึกษาภาษาต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ได้มีรับสั่งให้เฝ้าและตรัสถามว่า “กำลังเรียนใหญ่หรือ อย่าบ้าเรียนมากนัก หัดทำกรรมฐานเสียบ้าง”

รับสั่งของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ดังกล่าว เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงถือว่าเป็นเสมือน พระบัญชา และเป็นเหตุให้พระองค์ทรงสนพระทัยในการปฏิบัติกรรมฐาน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้น มาและทรงถือว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นครูกรรมฐาน พระองค์แรกของพระองค์

การปฏิบัติกรรมฐาน เป็นประเพณีนิยมในพระสงฆ์คณะธรรมยุคที่สืบเนื่องมาแต่ครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวขณะยังทรงผนวช อยู่ได้รื้อฟื้นประเพณีนี้ขึ้นด้วยการเอาพระทัยใส่ในการศึกษาวิปัสสนาธุระ คือการฝึกปฏิบัติอบรมจิตใจ และทรงแนะนำศิษยานุศิษย์ให้เอาใจใส่ศึกษาปฏิบัติเช่นกัน ทั้งนี้เพราะทรงถือปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ว่า พระภิกษุสามเณรมีธุระคือหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ ๒ อย่าง คือ คันถธุระได้แก่การศึกษาเล่าเรียนพระคัมภีร์ เพื่อให้มีความรู้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อเป็นแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติ และสำหรับแนะนำ สั่งสอนผู้อื่นต่อไป วิปัสสนาธุระ คือการศึกษาอบรมจิตใจตามหลักสมถะและวิปัสสนา เพื่อให้รู้แจ้งในธรรม และกำจัดกิเลสออกจากจิตใจ ฉะนั้น พระสงฆ์ธรรมยุตจึงถือเป็นประเพณี ปฏิบัติสืบมาแต่ครั้งนั้นว่า ต้องศึกษาทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ กล่าวคือในเวลาพรรษา ก็อยู่ศึกษาคันถธุระในสำนักของตน ๆ เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็จาริกธุดงค์ไปตามป่าเขา เพื่อหาที่วิเวกศึกษาปฏิบัติวิปัสสนาธุระ แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเมื่อยังทรงผนวชอยู่ก็ทรงถือปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด ดังปรากฏในพระราชประวัติว่า ได้เสด็จจาริกไปตามหัวเมืองต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ประเพณีปฏิบัติดังกล่าวนี้ได้เจริญแพร่หลาย ในหมู่พระสงฆ์ธรรมยุตสืบมาจวบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ความนิยม ในการศึกษาปฏิบัติกรรมฐานมิได้จำกัด อยู่เฉพาะในหมู่พระสงฆ์ธรรมยุตเท่านั้น แต่ได้แพร่หลายไปในหมู่พระภิกษุสามเณรทั่วไป ตลอดไปถึงพุทธศาสนิกชนทั้งหญิงชายด้วย ดังเป็นที่ทราบกันว่ามีสำนักกรรมฐาน เกิดขึ้นในภาคอีสานทั่วไป และมีบูรพาจารย์ทางกรรมฐาน เกิดขึ้นมากมายสืบเนื่องกันมาไม่ขาดสาย ที่ปรากฏเกียรติคุณเป็นรู้จักกันทั่วไปก็เช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนโท) พระอาจารย์เสาร์ กนตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตโต พระอาจารย์ฟั้น อาจาโร พระอาจารย์ชา สุภทโท เป็นต้น พระบูรพาจารย์ดังกล่าวนี้ล้วน สืบสายมาจากสัทธิวิหาริก คือศิษย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเมื่อ ยังทรงผนวชอยู่ทั้งนั้น

สำหรับพระภิกษุสามเณรผู้สนใจในการปฏิบัติกรรมฐาน แต่ไม่มีโอกาสที่จะอยู่ในสำนักวัดป่า ก็สามารถปฏิบัติได้โดยปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “แม้จะอยู่ในบ้านในเมือง ก็ให้ทำสัญญา คือทำความรู้สึกกำหนดหมายในใจว่าอยู่ในป่า อยู่ในที่ว่าง อยู่ในที่สงบ ก็สามารถทำจิตใจให้ว่างให้สงบได้” เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ทรงปฏิบัติพระองค์ตามหลักดังกล่าวนี้ ทรงปฏิบัติพระองค์แบบพระกรรมฐานในเมืองและเมื่อทรงมีโอกาส ก็จะเสด็จจาริกไปประทับ ตามสำนักวัดป่าในภาคอีสานชั่วระยะเวลาหนึ่งเสมอมา

สำหรับวัดบวรนิเวศวิหาร อันเป็นสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวชอยู่ และเป็นเสมือนวัดตัวอย่างของคณะธรรมยุตนั้น ก็ได้มีการสอนกรรมฐานแก่ พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาผู้สนใจต่อเนื่องกันมา มาถึงยุคที่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ก็ได้ทรงรับภาระการสอนกรรมฐานดังกล่าวสืบมา โดยมีกำหนด สอนในตอนค่ำของวันพระและวันหลังวันพระ (สัปดาห์ละ ๒วัน) ตลอดมาไม่ขาดสาย เป็นเหตุให้การศึกษาปฏิบัติกรรมฐานเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปในหมู่พุทธศาสนิกชนทั่วไปทางหนึ่ง

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงรับภาระสอนกรรมฐานที่วัดบวรนิเวศวิหารมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ การสอนกรรมฐานที่วัดบวรนิเวศวิหารได้กำหนดเป็นรูปแบบที่ชัดเจนขึ้นในสมัยที่พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ครั้นพระพรหมมุนีมรณภาพแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ก็ได้สืบทอดรูปแบบการสอนกรรมฐานดังกล่าวต่อมา กล่าวคือ การสอนเริ่มเมื่อเวลา ๑๙.๐๐ น. พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนผู้ร่วมฟังการสอน ทำวัตรสวดมนต์แล้วพระอาจารย์เริ่มกล่าวอบรมธรรมปฏิบัติ จบแล้วพระสงฆ์ ๔ รูปสวด พระสูตรที่แสดงหลักปฏิบัติทางสมถะและวิปัสสนา สวดทั้งภาคบาลีและแปลเป็นไทย เพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติ ตอนหนึ่งจบแล้ว นั่งสงบฝึกปฏิบัติจิตใจตามเวลาที่กำหนด จบแล้ว สวดบทที่พึงพิจารณาเนือง ๆ และแผ่ส่วนกุศลเป็นจบการสอนในวันนั้น

หลักการสอนสมาธิหรือการสอนกรรมฐานนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงดำเนิน ตามหลักสติปัฏฐาน คือการกำหนดจิตพิจารณาอยู่ในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม อันเป็น หลักใหญ่หรือหลักสำคัญในการฝึกอบรมจิตหรือฝึกปฏิบัติสมาธิที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้

วิธีปฏิบัติหรือฝึกทำสมาธินั้น มีมากมายหลายวิธีสุดแต่ความสะดวกหรือความชอบ ที่เรียกว่าเหมาะกับจริตของผู้ปฏิบัติ ฝ่ายอาจารย์ผู้สอนก็สอนในวิธีที่แตกต่างกันไปตามความถนัด หรือประสบการณ์ของอาจารย์นั้น ๆ แต่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงสรุปตามหลักสติปัฏฐานว่า โดยสรุปแล้วการทำสมาธิมี ๒ วิธี วิธีที่หนึ่ง คือการหยุดจิตให้อยู่ในตำแหน่งอันเดียว ไม่ให้คิดไปในเรื่องอื่น เช่น การกำหนดจิตให้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ที่เรียกว่าวิธีอานาปานสติ วิธีที่สอง คือพิจารณาไปในกายอันนี้ กำหนดพิจารณาดูกายแยกให้เห็นเป็นอาการหรือเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น แยกให้เห็นเป็นอาการ ๓๒ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการฝึกปฏิบัติสมาธินั้น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงสรุปว่ามี ๒ อย่างคือ (๑) ทำสมาธิเพื่อแก้อารมณ์และกิเลสของใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ความรัก ความโกรธ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อหน้าที่การงานหรือการศึกษาเล่าเรียน เมื่อจะทำให้อารมณ์หรือกิเลส ดังกล่าวนั้นสงบลงได้ จึงต้องใช้สมาธิคือการหัดเอาชนะใจ ทำใจให้สงบจากอารมณ์ดังกล่าวนั้น (๒) ทำสมาธิเพื่อฝึกใจให้มีพลัง คือพลังตั้งมั่น พลังรู้ มากขึ้น เช่นเดียวกับร่างกายจะแข็งแรง ก็ต้องมีการฝึกออกกำลังกาย จิตใจจะมีพลัง ก็ต้องมีการฝึกหัดทำสมาธิ

นอกจากการสอนดังกล่าวแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ยังได้ทรงนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับการฝึก ปฏิบัติสมาธิ เพื่อเป็นหลักประกอบการศึกษาปฏิบัติสมาธิไว้อีกจำนวนมาก ทั้งหลักปฏิบัติเบื้องต้น และหลักปฏิบัติชั้นสูง เช่น

– หลักการทำสมาธิเบื้องต้น

– แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน

– การปฏิบัติทางจิต

– อนุสสติและสติปัฏฐาน

– หลักธรรมสำหรับการปฏิบัติอบรมทางจิต เป็นต้น

พ.ศ. ๒๕๑๑ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ ทรงเริ่มรายการ “การบริหารทางจิต” ทางสถานีวิทยุ อส พระราชวังดุสิต ตามพระราชปรารภของสมเด็จพระศรี นครินทราบรมราชชนนี รายการบริหารทางจิตมีวัตถุประสงค์ คือเพื่อชักนำให้เกิดความสนใจ ในการอบรมจิตใจจนถึงปลูกฝังเป็นนิสัยในทางที่ถูก เพื่อประโยชน์ในทางที่จะพฤติปฏิบัติตนโดย เหมาะสม มีความเจริญในการศึกษาเล่าเรียนการอาชีพการงาน สามารถเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ ครองชีวิตอย่างมีความสุขราบรื่นตามสมควร การอบรมดังกล่าวควรเริ่มต้นตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เพราะเด็กเป็นไม้อ่อนที่อาจจะตัดได้ง่าย และสมควรที่จะเริ่มหัดให้ถูกทาง ถ้าได้สนใจอบรมเด็ก ทางจิตใจให้ความเจริญทางจิตใจเติบโตขึ้นพร้อมกันกับความเจริญทางร่างกาย ก็จะเป็นประโยชน์มาก จะไม่ต้องมาแก้ปัญหายุ่งยากต่าง ๆ ในเมื่อเด็กเติบใหญ่ขึ้น และผู้ใหญ่มักจะเป็นไม้แก่สักหน่อย ซึ่งอาจจะดัดได้ยาก แต่ก็ยังดัดได้ เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่พึงฝึกอบรมได้ทุกรุ่นทุกวัยเป็น สิ่งที่ไม่แก่ไม่แข็งเกินไปต่อการอบรม เว้นไว้แต่จะไม่สนใจไม่ยอมที่จะฝึกอบรมเท่านั้น และผู้ใหญ่ย่อม จะได้เปรียบกว่าเด็กในข้อที่ได้ผ่านได้รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ มามากกว่า ทำให้เกิดความสำนึก และความฉลาดรอบคอบมากขึ้น ฉะนั้น หากได้สำนึกในประโยชน์ของการอบรมจิตก็จะทำได้ไม่ยาก และผู้ใหญ่จำต้องปกครองตนเองมากขึ้นกว่าเด็ก ทั้งโดยมากต้องเป็นผู้ปกครองเด็กของตนอีกด้วย ก็ยิ่งจำเป็นที่ผู้ใหญ่เองจะต้องทราบวิธีอบรมจิตใจ เพื่อที่จะปฏิบัติตนเอง และเพื่อที่จะแนะนำอบรม บุตรหลานของตนต่อไป

กล่าวโดยสรุปรายการบริหารทางจิตนี้ มุ่งแนะวิธีปฏิบัติทางจิตแก่เด็กและผู้ใหญ่ทั่วไปโดยมีวัตถุประสงค์กล่าวโดยสรุปตามประเภท ดังนี้

สำหรับเด็ก – เพื่อฝึกหัดให้เด็กมีความตั้งใจเพิ่มมากขึ้น เป็นการเสริมสร้างหลังใจ

เพื่อให้รู้จักใช้ความคิด เป็นการเสริมสร้างพลังปัญญา

เพื่อให้รู้จักสวดมนต์ไหว้พระ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้เป็นสรณะที่พึ่ง

เพื่อให้รู้จักเมตา รู้จักขอพรพระ ให้เป็นเด็กดี คนดี ประพฤติดี และข้อ อื่น ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เด็กในเรื่องการเล่าเรียน และความประพฤติตน ให้ดีขึ้น

สำหรับผู้ใหญ่ – เพื่อฝึกหัดและเสริมสร้างให้มีความเข้มแข็ง เพื่อปฏิบัติการงานให้ดีขึ้น

เพื่อไม่เป็นผู้พ่ายแพ้แก่ชีวิต เมื่อพบกับอุปสรรค หรือเมื่อจะดีใจก็ไม่

ถึงกับสิ้นใจ

เพื่อให้ผู้ที่มีจิตใจไม่เป็นปกติอยู่กับที่ สามารถระงับความฟุ้งซ่านนั้นได้

เพื่อให้เกิดความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากยิ่งขึ้น

โดยสรุป – เพื่อหัดทำใจให้สงบ มีความมุ่งมั่น และหัดใช้ความคิดให้เกิดปัญญา

ฉะนั้น เพื่อให้เป็นประโยชน์ในทางที่จะนำไปปฏิบัติได้ จึงแบ่งรายการนี้ออกเป็นสอง หรือสามตอน สำหรับเด็กตอนหนึ่ง หรือบางคราวอาจจะสำหรับเด็กใหญ่อย่างชั้นมัธยม ศึกษาขึ้นไปซึ่งอาจจะรวมถึงผู้ใหญ่สามัญทั่วไปด้วย บางคาวอาจสำหรับผู้ใหญ่ชั้นมีภูมิทาง จิตใจปัญญาที่สูงกว่า รวมกันเข้าทุกตอนเป็นเวลาครั้งละไม่เกิน ๒๕ นาที

การทำรายการบริหารทางจิตนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้นิมนต์และเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิ หลายท่านมาประชุมหารือจัดทำ กำหนดหลักการและหัวข้อ นำมาประมวลให้อยู่ในแนว พระราชประสงค์ จัดหัวข้อสำหรับบรรยายบรรจุเข้าให้สัมพันธ์หรือสืบต่อกันไปโดยลำดับจัดผู้ทรง คุณวุฒิทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์เป็นผู้บรรยาย ตามหลักการและหัวข้อดังกล่าวแล้ว หลักแนวสำคัญของรายการนี้ก็คือหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่เลือกสรรมาให้เกิดความเข้าใจ ซาบซึ้ง มองเห็นประโยชน์ในการบริหารจิตใจให้เกิดผลดังกล่าว

ในรายการบริหารทางจิตดังกล่าวนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงรับหน้าที่บรรยายในส่วน ที่เป็นการบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นรายการหลักของ รายการดังกล่าว การบรรยาย ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในรายการนี้ เป็นการสอนการหัดทำสมาธิแบบประยุกต์ เพื่อ ให้ง่ายต่อการเข้าใจและการนำไปฝึกปฏิบัติในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเป็นหลักสำคัญ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการฝึกทำสมาธิเพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำวันอย่างมีความสุข

และจากการทำรายการบริหารทางจิตดังกล่าวนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงจัดเตรียม คำบรรยายขึ้นชุดหนึ่ง เรียกว่า “การบริหารทางจิต สำหรับผู้ใหญ่” นับเป็นคำสอนเกี่ยวกับการ บริหารจิตหรือการฝึกจิตที่มีคุณค่ายิ่งเรื่องหนึ่ง

พ.ศ. ๒๕๑๙ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับอาราธนาให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชา การฝึกปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา (ปัจจุบันเรียกว่า การฝึกสมาธิตามแนวพุทธศาสนา) แก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิชาการฝึกปฏิบัติ สมถะและวิปัสสนา ดังกล่าวนี้ ก็คือการฝึกทำสมาธิตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา วิชาดังกล่าวนี้ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดให้เป็น วิชาบังคับสำหรับนิสิตชั้นปีที่ ๔ แต่ก็เปิดโอกาสให้นิสิตทั่วไปที่สนใจลงทะเบียนเรียนได้ด้วย เป็นวิชาที่กำหนดให้มีหน่วยกิต ๓ หน่วยกิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ บรรจุวิชาการฝึกสมาธิตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไว้ในหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัย และเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ทรงเป็นอาจารย์สอนวิชาดังกล่าวนี้ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นพระองค์แรกและทรงสอนต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี จึงได้ทรงมอบหมายให้พระเถระ รูปอื่นทำหน้าที่สอนสืบต่อไป

ในชั้นแรก ได้พานิสิตที่ลงเรียนวิชานี้ไปเรียนที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าพระคุณ สมเด็จ ฯ ได้ทรงพระเมตตามาบรรยายให้นิสิตฟังพร้อมทั้งทรงนำในการฝึกหัดทำสมาธิ ด้วยพระองค์เองตลอดมา กระทั่งทรงมอบหมายให้พระเถระรูปอื่นสอนแทน จึงได้ย้าย สถานที่เรียนมาที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และต่อมาได้ย้ายสถานที่ ไปที่วัดโสมนัสวิหาร ซึ่งสะดวก เงียบสงบ และเหมาะสมยิ่งกว่าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในระยะแรกที่เปิดสอนวิชาการฝึกทำสมาธิ ฯ ดังกล่าวนี้ มีนิสิตที่สนใจลงทะเบียนไม่กี่คน และก็ค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่าสังเกต กระทั่งในปัจจุบัน มีนิสิตที่สนใจลงทะเบียน เรียนวิชานี้นับจำนวนเป็นร้อย

ผลจากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ริเริ่มให้มีการสอนวิชาการฝึกทำสมาธิ ฯ ดังกล่าวนี้ขึ้น ปรากฏว่า ต่อมาได้มีสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ตั้งแต่ระอุดมศึกษา ตลอดไปจนถึง ระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษา ให้ความสนใจในการสอนการฝึกหัดทำสมาธิตาม หลักคำสอนของพระพุทธศาสนากันมากขึ้น กระทั่งในบางสถาบันก็ได้บรรจุวิชา การฝึกหัด ทำสมาธิไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย

นอกจากทรงได้รับอาราธนาให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการฝึกทำสมาธิตามแนวพระพุทธศาสนา ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ยังทรงได้รับอาราธนาให้บรรยายเกี่ยวกับการฝึกทำสมาธิ แก่นิสิตนักศึกษาสถาบันอื่น ๆ ตลอดถึงแก่ข้าราชการและบุคลากรในหน่วยราชการและองค์กรอื่น ๆ อีกอย่างกว้างขวาง นับได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงเป็นผุ้จุดประกายในการศึกษาปฏิบัติสมาธิกรรมฐานในหมู่พุทธศาสนิกชนทุกระดับ พระเกียรติคุณของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหาเถระฝ่ายคันถธุระและทรงเชี่ยวชาญในฝ่ายวิปัสสนาธุระด้วย ก็ได้มีส่วนส่งเสริมให้เกิดความนิยมในการศึกษาปฏิบัติสมาธิกรรมฐานขึ้นในหมู่พุทธศาสนิกชนทุกระดับอย่างกว้างขวาง

ไม่เฉพาะแต่ในด้านวิปัสสนาธุระ คือการสอนการฝึกทำสมาธิกรรมฐานเท่านั้น แม้ในด้านปริยัติ คือการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนา เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ทรงได้รับการ อาราธนาจากสถาบันการศึกษาและหน่วยราชการ องค์กรต่าง ๆ ไปทรงบรรยายหรือแสดงพระธรรมเทศนาอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการศึกษาระดับอุมดศึกษาเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ทรงได้รับอาราธนาให้บรรยายเรื่องพระพุทธศาสนา อย่างเป็นวิชาการแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ โดยทรง บรรยายเรื่อง “พุทธศาสนากับสังคมไทย” ในวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทยร่วมกับ ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช

ในคำบรรยายเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทย เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงกล่าวถึง ความเป็นมาของพระพุทธศาสนา คำสอนสำคัญบางข้อในพระพุทธศาสนา และความสัมพันธ์ของ พระพุทธศาสนากับสังคมไทย โดยทรงชี้ให้เห็นองค์ประกอบ ของสังคมไทยว่าประกอบด้วยระบบ ความเชื่อถือ ระบบความเคารพนับถือเชื่อฟัง ระบบความประพฤติ ระบบแสวงบุญ ระบบบ้าน และวัด ระบบการปกครอง ระบบความเป็นไทย คำบรรยายของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เรื่อง ดังกล่าว นี้แม้จะเป็นเพียงคำบรรยายสั้น ๆ แต่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงทรรศนะและความลึกซึ้ง ของพระองค์เกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนา เรื่องสังคมไทย และเรื่องการศึกษา ได้เป็นอย่างดี

http://www.watbowon.com/index_main.htm

. . . . . . .