‘หลวงตามหาบัว’ เล่าถึงวินาทีมรณภาพ ของ หลวงปู่เสาร์ – หลวงปู่มั่น
สมัยปัจจุบันครูอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติดีจนปรากฏชื่อลือนามก็มี ๒ องค์ คือพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น แต่เวลานี้ท่านมรณภาพเสียแล้ว พระอาจารย์ทั้งสององค์นี้ ปรากฏว่าเป็นผู้เด็ดเดี่ยว อาจหาญในทางความเพียรมาก จนปรากฏเป็นคติตัวอย่างแก่บรรดาศิษย์รุ่นหลังได้ถือเป็นปฏิปทาอันดีตลอดมา
ท่านพระอาจารย์ทั้งสองนี้ชอบแสวงหาที่สงัดวิเวก แต่เริ่มอุปสมบทตลอดมาจนถึงวาระสุดท้าย ไม่เคยลด ละ ผลความดีของท่านที่บำเพ็ญมาจึงแสดงออกให้โลกได้ทราบกิตติศัพท์กิตติคุณฟุ้งขจรไปทุกหนทุกแห่งว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์และท่านพระอาจารย์มั่นเป็นพระสำคัญ ทั้งด้านปฏิบัติและความรู้ภายในใจ คุณสมบัติทั้งนี้ฟุ้งขจรมาให้ประชาชนได้ยินทั่วถึงกันในสมัยปัจจุบัน
เฉพาะองค์ของท่านพระอาจารย์มั่น ตามที่ได้ไปศึกษาอบรมและอาศัยอยู่กับท่านตามกาลอันควร รู้สึกว่า ปฏิปทา และความรู้ทางภายในของท่านเป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก สมกับท่านเป็นผู้ปรากฏชื่อลือนามในที่ทั่วๆ ไป ในความรู้สึกที่ไปเกี่ยวข้องกับท่านว่า ไม่มีอะไรจะสงสัยว่าท่านอาจจะยังตกค้างอยู่ในภพใดภพหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร เช่นเดียวกับสัตว์และสามัญชนทั่วๆ ไป เพราะปฏิปทาที่ท่านปฏิบัติมา และความรู้ที่เกิดจากปฏิปทานั้น ท่านไม่เคยปิดบังบรรดาศิษย์ ผู้ไปอบรมศึกษาในวงใกล้ชิด ยังเมตตาเปิดเผยให้ฟังอย่างถึงใจไม่มีวันลบเลือนและจืดจาง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนใจบรรดาศิษย์ให้มีความอิ่มเอิบในผลที่ท่านได้รับและแสดงให้ฟัง แล้วน้อมนำมาเป็นเครื่องเชิดชูใจ เพื่อจะได้บำเพ็ญตามด้วยความขยันหมั่นเพียร เผื่อผลจะพึงได้รับจะเป็นอย่างท่านบ้าง หรืออย่างน้อยก็เป็นคนประเภทศิษย์มีครู
พระอาจารย์ทั้งสองนี้รู้สึกว่าท่านชอบในความสงัดวิเวกประจำนิสัย ไม่ค่อยจะไปเกี่ยวข้องกับใครๆ แม้กับพระท่านก็ไม่ทำความเกี่ยวข้องและสนใจเท่าไรนัก คงจะคิดว่าการสั่งสอนก็เป็นภาระหนักและเป็นความกังวล ผู้รับฟังจะปฏิบัติตามก็คงจะเป็นความลำบาก ไม่กล้าทำตามท่านได้
แต่กิตติศัพท์กิตติคุณฟุ้งขจรออกมาจากความดีเด่นของท่านในเวลานั้น เป็นเหตุให้ทั้งพระและประชาชนมีความสนใจใคร่ต่อการอบรมศึกษากับท่านอย่างใกล้ชิด จึงต่างก็ไปอบรมศึกษาและขออยู่อาศัยกับท่าน ประกอบกับท่านผู้มีธรรมขนาดนั้นแล้ว ก็ย่อมปราศจากความเมตตาไม่ได้ จำต้องเมตตาสั่งสอนตามภูมิสติปัญญาความสามารถของผู้ไปศึกษาบำเพ็ญด้วย
จากนั้นมาท่านพระอาจารย์เสาร์และท่านพระอาจารย์มั่น รู้สึกจะเป็นแหล่งใหญ่ของบรรดาศิษย์ทั้งพระและประชาชนในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ที่เข้าไปขออาศัยและศึกษาอบรมกับท่าน เพราะภูมิลำเนาเดิมของท่านพระอาจารย์ทั้งสองอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ปรากฏว่าท่านพระอาจารย์ทั้งสองนี้ มีลูกศิษย์มากมายทั้งนักบวชและประชาชนในภาคต่างๆ
เมื่อถึงมรณกาลของท่าน ก็ไม่ทิ้งลวดลายของนักปฏิบัติ วาดภาพอันดีเด่นไว้แก่หูแก่ตาของบรรดาศิษย์ผู้เข้าใกล้ชิดในเวลานั้นอย่างเปิดเผย คือขณะจะมรณภาพ ก็เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก
ท่านพระอาจารย์เสาร์ พอมรณกาลจวนตัวเข้ามา จริงๆ ท่านตั้งใจจะมรณภาพที่นครจำปาศักดิ์ ซึ่งเวลานั้น เป็นของฝรั่งเศส แต่บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระและประชาชนจำนวนมาก ต่างก็ขออาราธนานิมนต์ท่านให้กลับมามรณภาพที่ฝั่งไทยเรา เมื่อคณะลูกศิษย์ที่มีจำนวนมากอาราธนาวิงวอน ท่านทนไม่ไหว ท่านจำต้องรับคำ
การทอดอาลัยในชีวิต ซึ่งปลงใจจะปล่อยวางสังขารลงที่นครจำปาศักดิ์ ก็ได้ถอดถอนล้มเลิกไป จำต้องปฏิบัติตามความเห็นและเจตนาหวังดีของคนหมู่มาก ยอมรับปากคำและเตรียมลงเรือข้ามฝั่งลำแม่น้ำโขงมาฝั่งไทยเรา
พอมาถึงท่าวัดศิริอำมาตย์ จังหวัดอุบลราชธานี เขาก็อาราธนาท่านขึ้นบนแคร่ แล้วหามท่านขึ้นไปสู่วัดนั้น พอก้าวขึ้นสู่วัดและปลงท่านลงที่ลานวัดเท่านั้น เขากราบเรียนท่านว่า
“บัดนี้มาถึงวัดศิริอำมาตย์ในเขตเมืองไทยเราแล้ว ท่านอาจารย์”
เวลานั้นท่านนอนหลับตาและพยายามพยุงธาตุขันธ์ของท่านมาตลอดทาง ท่านก็ลืมตาขึ้น แล้วถามว่า
“ถึงสถานที่แล้วหรือยัง?”
เขาก็กราบเรียนถวายท่านว่า “ถึงที่แล้วครับ”
ท่านก็พูดขึ้นมาว่า “ถ้าเช่นนั้นจงพยุงผมลุกขึ้นนั่ง ผมจะกราบพระ”
พอเขาพยุงท่านลุกขึ้นนั่งแล้ว ท่านก็ก้มกราบพระสามครั้ง พอจบครั้งที่สามแล้วเท่านั้น ท่านก็สิ้นในขณะนั้นเอง ไม่อยู่เป็นเวลานาน ขณะที่ท่านจะสิ้นก็สิ้นด้วยความสงบเรียบร้อย และมีท่าทางอันองอาจกล้าหาญต่อมรณภัย มีลักษณะเหมือนม้าอาชาไนย ไม่มีความหวั่นไหวต่อความตาย ซึ่งสัตว์โลกทั้งหลายกลัวกันยิ่งนัก
แต่ท่านที่ปฏิบัติจนรู้ถึงหลักความจริงแล้ว ย่อมถือเป็นคติธรรมดาว่ามาแล้วต้องไป เกิดแล้วต้องตาย จะให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะสติปัญญาที่ฝึกหัดอบรมมาจากหลักธรรมทุกแขนง ก็ฝึกหัดอบรมมาเพื่อรู้ตามหลักความ จริงที่มีอยู่กับตัว ก็เมื่อการไปการมา การเกิดการตาย เป็นหลักความจริงประจำตัวแล้ว ต้องยอมรับหลักการด้วย ปัญญาอันเป็นหลักความจริงฝ่ายพิสูจน์เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ท่านที่เรียนและปฏิบัติรู้ถึงขั้นนั้นแล้ว จึงไม่มีความหวั่นไหวต่อการไปการมา การเกิดการตาย การสลายพลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งของท่านและของผู้อื่น จึงสมนามว่าเรียนและปฏิบัติเพื่อ “สุคโต” ทั้งเป็นคติตัวอย่างอันดีแก่คนรุ่นหลังตลอดมาจนบัดนี้
นี่เป็นประวัติของท่านพระอาจารย์เสาร์ ที่วาดภาพอันดีและชัดเจนไว้แก่พวกเรา เพื่อยึดเป็นคติเครื่องสอนคนต่อไป ไม่อยากให้เป็นทำนองว่าเวลามามีความยิ้มแย้ม แต่เวลาไปก็มีความเศร้าโศก
………
ส่วนท่านพระอาจารย์มั่น ในเวลาต่อมาตอนท่านเริ่มป่วย จำได้แต่เพียงว่าเดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นวันท่านเริ่มป่วย ท่านเล่าให้ฟังตอนไปเที่ยวกลับมา กราบนมัสการท่าน ท่านเริ่มป่วยคราวนี้ไม่เหมือนกับคราวใดๆ ซึ่งแต่ก่อนเวลาท่านป่วย ถ้ามีผู้นำยาไปถวายท่าน ท่านก็ฉันให้บ้าง มาคราวนี้ท่านห้ามการฉันยาโดยประการทั้งปวงแต่ขั้นเริ่มแรกป่วย โดยให้เหตุผลว่า “การป่วยคราวนี้ไม่มีหวังได้รับประโยชน์อะไรจากยา เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ตายยืนต้นอยู่เท่านั้น ใครจะมารดน้ำพรวนดินทะนุบำรุงเต็มสติกำลังความสามารถ ต้นไม้นั้นจะไม่มีวันกลับมาผลิดอกออกผลใบและแสดงผลต่อไปอีกได้เลย เพียงสักว่ายังยืนต้นอยู่เท่านั้น ไม่แน่ใจว่าจะล้มลงจมดินวันใด ธาตุขันธ์ที่แก่ชราภาพขนาดนี้แล้ว ย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น หยูกยาจึงไม่เป็นผลอะไรกับโรคประเภทนี้ที่เขาเรียกว่า โรคคนแก่”
ท่านว่า แม้ท่านจะห้ามยามิให้นำมาเกี่ยวข้องกับท่าน แต่ก็ทนต่อคนหมู่มากไม่ไหว คนนั้นก็จะให้ท่านฉันยานั้น คนนี้ก็จะให้ท่านฉันยานี้ คนนั้นจะฉีด คนนั้นจะให้ฉัน หนักเข้าท่านก็จำต้องปล่อยตามเรื่อง มีคนมากราบเรียนถามเรื่องยาถูกกับโรคของท่านหรือไม่ ท่านก็นิ่งไม่ตอบโดยประการทั้งปวง
เมื่ออาการของท่านหนักจวนตัวเข้าจริงๆ ท่านก็บอกกับคณะลูกศิษย์ทั้งพระและญาติโยมว่า
“จะให้ผมตายในวัดป่าหนองผือนี้ไม่ได้ เพราะผมน่ะตายเพียงคนเดียว แต่ว่าสัตว์ที่ตายตามเพราะผมเป็นเหตุจะมีจำนวนมากมาย เพราะฉะนั้นขอให้นำผมออกจากที่นี้ไปจังหวัดสกลนคร เพื่อให้อภัยแก่สัตว์ซึ่งมีจำนวนมาก อย่าให้เขาพลอยทุกข์และตายไปด้วยเลย ที่โน้นเขามีตลาด ซึ่งมีการซื้อขายกันอยู่แล้ว ไม่มีทางเสียหาย เนื่องจากการตายของผม”
พอท่านพูดและให้เหตุผลอย่างนั้น ทุกคนต้องยอมทำตามความเห็นของท่าน จึงเตรียมแคร่ที่นอนมาถวายและอาราธนานิมนต์ท่านขึ้นนอนบนแคร่ แล้วพร้อมกันหามท่านออกไปในวันรุ่งขึ้น พอมาถึงวัดป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร แล้วก็พาท่านพักแรมคืนอยู่ที่นั้นหลายคืน ท่านก็คอยเตือนเสมอว่า
“ทำไมพาผมมาพักค้างที่นี่ล่ะ ผมเคยบอกแล้วว่าจะไปจังหวัดสกลนคร ก็ที่นี่ไม่ใช่สกลนคร” ท่านว่า
เมื่อจวนตัวเข้าจริงๆ ในสามคืนสุดท้าย ท่านไม่ค่อยจะพักนอน แต่คอยเตือนให้รีบพาท่านไปสกลนครเสมอ เฉพาะคืนสุดท้ายไม่เพียงแต่ไม่หลับนอนเท่านั้น ยังต้องบังคับว่า
“ให้รีบพาผมไปสกลนครในคืนวันนี้จงได้ อย่าขืนเอาผมไว้ที่นี่เป็นอันขาด” ท่านพูดย้ำแล้วย้ำเล่าอยู่ทำนองนั้น
แม้ที่สุดท่านจะนั่งภาวนา ท่านก็สั่งว่า “ให้หันหน้าผมไปทางจังหวัดสกลนคร”
ที่ท่านสั่งเช่นนั้น เข้าใจว่าเพื่อให้เป็นปัญหาอันสำคัญแก่คณะลูกศิษย์ จะได้ขบคิดถึงคำพูดและอาการที่ท่านทำอย่างนั้นว่า มีความหมายแค่ไหนและอย่างไรบ้าง พอตื่นเช้าจะเป็นเพราะเหตุไรก็สันนิษฐานยาก เผอิญชาวจังหวัดสกลนครซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน พร้อมกันเอารถยนต์มารับท่าน ๓ คัน แล้วอาราธนานิมนต์ให้ท่านไปจังหวัดสกลนคร ท่านก็เมตตารับทันที เพราะท่านเตรียมจะไปอยู่แล้ว
ก่อนจะขึ้นรถยนต์ หมอได้ไปฉีดยานอนหลับให้ท่าน จากนั้นท่านก็นอนหลับไปตลอดทางจนถึงวัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เวลา ๑.๐๐ น. ท่านก็เริ่มตื่น พอตื่นจากหลับแล้ว จากนั้นท่านก็เริ่มทำหน้าที่เตรียมลา “ภาราหเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ห้าเป็นภาระหนัก” จะมรณภาพ
จนถึง ๒.๒๓ นาฬิกาก็เป็นวาระสุดท้าย ก่อนหน้านี้ประมาณสองชั่วโมงเศษ ท่านนอนท่าตะแคงข้างขวา แต่เห็นว่าท่านจะเหนื่อยมาก เพราะนอนท่านี้มานาน จึงพากันเอาหมอนที่หนุนอยู่หลังท่านถอยออก เลยกลายเป็นท่านนอนหงายไป พอท่านทราบก็พยายามขยับตัวหมุน กลับจะนอนท่าตะแคงข้างขวาตามเดิม พระเถระผู้ใหญ่ซึ่ง เป็นศิษย์ของท่าน ก็พยายามเอาหมอนหนุนหลังท่านเข้าไปอีก ท่านเองก็พยายามขยับๆ เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นอาการของท่านอ่อนเพลียมากและหมดเรี่ยวแรง ก็เลยหยุดไว้แค่นั้น
ดังนั้น การนอนของท่านจะว่านอนหงายก็ไม่ใช่ จะว่านอนตะแคงข้างขวาก็ไม่เชิง เป็นอาการเพียงเอียงๆ อยู่เท่านั้น ทั้งเวลาของท่านก็จวนเข้ามาทุกที บรรดาศิษย์ ก็ไม่กล้าแตะต้องกายท่านอีก จึงปล่อยท่านไว้ตามสภาพ คือท่านนอนท่าเอียงๆ จนถึงเวลา ซึ่งเป็นความสงบอยู่ตลอดเวลา
ในวาระสุดท้ายนี้ต่างก็นั่งสังเกตลมหายใจของท่านแบบตาไม่กระพริบไปตามๆ กัน การนั่งของพระที่มีจำนวน มากในเวลานั้น ต้องนั่งเป็นสองชั้น คือชั้นใกล้ชิดกับท่าน และชั้นถัดกันออกมา ชั้นในก็มีพระผู้ใหญ่มีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น ชั้นนอกก็เป็นพระที่มีพรรษาน้อย แล้วถัดกันออกไปก็เป็นพระนวกะและสามเณร บรรดาพระทั้งพระเถระและรองลำดับกันลงมาจนถึงสามเณร ในขณะนั้นรู้สึกจะแสดงความหมดหวังและหมดกำลังใจไปตามๆ กัน แต่ไม่มีใครกล้าปริปากออกมา นอกจากมีแต่อาการที่เต็มไปด้วยความหมดหวังและความเศร้าสลดเท่านั้น เพราะร่มโพธิ์ใหญ่มีใบหนา ซึ่งเคยเป็นที่อาศัยและร่มเย็นอย่างยิ่งมาเป็นเวลานาน กำลังถูกพายุจากมรณภัยคุกคาม จะหักโค่นพินาศใหญ่ขณะนั้นอยู่แล้ว การทำหน้าที่ของท่านก็กำลังเป็นไปแบบมองดูแล้วหลับตาไม่ลงทั้งท่านผู้อื่นและเรา
ขณะที่ท่านจะสิ้นลมจริงๆ รู้สึกว่าอาการทุกส่วนของท่านอยู่ในความสงบและละเอียดมาก จนไม่มีใครจะสามารถทราบได้ว่า ท่านสิ้นลมไปในขณะใด นาทีใด เนื่องจากลมหายใจของท่านละเอียดเข้าเป็นลำดับ จนไม่ปรากฏว่าท่านสิ้นไปเมื่อไร เพราะไม่มีอวัยวะส่วนใดส่วน หนึ่งแสดงอาการในวาระสุดท้าย พอให้ทราบได้ว่าท่านสิ้นไปในวินาทีนั้น
แม้จะพากันนั่งสังเกตอยู่เป็นเวลานานก็ไม่มีใครรู้ขณะสุดท้ายของท่าน ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ซึ่งเป็นประธานอยู่ในที่นั้น เห็นท่าไม่ได้การ จึงพูดขึ้นว่า “นี่ไม่ใช่ท่านสิ้นไปแล้วหรือ?” จากนั้นท่านก็ดูนาฬิกาเป็นเวลา ๒.๒๓ น. จึงได้ยึดเอาเวลานั้นเป็นเวลามรณภาพของท่าน
(จากส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนา
วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๘
ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 128 กรกฎาคม 2554 โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี)
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://muangput.com/webboard/index.php/topic,61.0.html