ประวัติย่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ประวัติย่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ณ วัดภูริทัตตถิรวาส

เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ที่บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในสกุลแก่นท้าว เป็นตะกูลนักรบ เพียแก่นท้าวเป็นปู่ ปู่เคยผ่านศึกทุ่งเชียงขวาง นายคำด้วงเป็นบิดา นางจันทร์เป็นมารดา นับถือพระพุทธศาสนาตลอดมา
บุคลิกลักษณะ ร่างเล็ก ผิวขาวแดง คล่องแคล่ว ว่องไว สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความประพฤติ อัธยาศัยเรียบร้อย ชอบศึกษาธรรมะ รักในเพศนักบวชประจำนิสัย
อุปสมบทอายุ 22 ปี ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณเป็นอนุศาสนาจารย์
ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามเบื้องยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4)
เดินธุดงค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะแรก 24 พรรษา บั้นปลายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 พรรษา ที่วัดป่าบ้านหนองผือ 5 พรรษา (2487-2492)
มรณะภาพ 2492 ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร อายุ 80 ปี
_____________________________________________________________

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นอาจารย์ทางวิปัสสนาซึ่งควรได้รับยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่งจากบรรดาศิษย์ ผู้อยู่ใกล้ชิดท่าน ว่าเป็นอาจารย์วิปัสสนาชั้นเยี่ยมในสมัยปัจจุบัน จากเนื้อธรรมที่ท่านแสดงออกซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้มีโอกาสฟังอย่างถึงใจตลอดมา ทำให้ปราศจากความสงสัยในองค์ท่านว่า สมควรตั้งอยู่ในภูมิธรรมขั้นใด ท่านมีคนเคารพนับถือมาก ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ในภาคต่างๆ เกือบทั่วประเทศไทย นอกจากนั้น ท่านยังมีสานุศิษย์ทั้งนักบวชและฆราวาสในประเทศลาวอีกมากมายที่เคารพ เลื่อมใสในท่านอย่างถึงใจตลอดมา ท่านมีประวัติงดงามมาก ทั้งเวลาเป็นคฤหัสถ์และเวลาทรงเพศเป็นนักบวช ตลอดอวสานสุดท้าย ไม่มีความด่างพร้อยเลย ซึ่งเป็นประวัติที่หาได้ยากในสมัยปัจจุบัน ความเป็นผู้มีประวัติอันงดงานตลอดสายนี้ รู้สึกจะหายากยิ่งกว่าหาเพชรหาพลอยเป็นไหนๆ

ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว โดยนายคำด้วงเป็นบิดา นางจันทร์เป็นมารดา นับถือพระพุทธศาสนา ประจำสกุลตลอดมา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ที่บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องกัน ๙ คน แต่เวลาท่านมรณภาพปรากฏว่า ยังเหลือเพียง ๒ คน ท่านเป็นคนหัวปี มีร่างเล็ก ผิวขาวแดง มีความเข้มแข็งว่องไวประจำนิสัย มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาแต่เด็ก พออายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักวัดบ้านคำบง มีความสนใจและรักชอบในการศึกษาธรรมะ เรียนสูตรต่างๆ ในสำนักอาจารย์ได้อย่างรวดเร็ว มีความประพฤติและอัธยาศัยเรียบร้อย ไม่เป็นที่หนักใจหมู่คณะและครูอาจารย์ที่ให้ความอนุเคราะห์

เมื่อบวชได้ ๒ ปี ท่านจำเป็นต้องสึกออกไปตามคำขอร้องของบิดาที่มีความจำเป็นต่อท่าน แม้สึกออกไปแล้ว ท่านก็ยังมีความมั่นใจที่จะบวชอีก เพราะมีความรักในเพศนักบวชมาประจำนิสัย เวลาสึกออกไปเป็นฆราวาสแล้วใจท่านยังประหวัดถึงเพศนักบวชมิได้หลงลืมและจืด จาง ทั้งยังปักใจว่าจะกลับมาบวชอีกในไม่ช้า ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะอำนาจศรัทธาที่มีกำลังแรงกล้าประจำนิสัยมาดั้งเดิมก็ เป็นได้

พออายุได้ ๒๒ ปี ท่านมีศรัทธาอยากบวชเป็นกำลังจึงได้ลาบิดามารดา ท่านทั้งสองก็อนุญาตตามใจไม่ขัดศรัทธา เพราะมีความประสงค์จะให้ลูกของตนบวชอยู่แล้ว พร้อมทั้งมีศรัทธาจัดแจงบริขารในการบวชให้ลูกอย่างสมบูรณ์ ท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเลียบในตัวเมืองอุบล มีท่านพระอริยกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูสีทาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระครูประจักษ์อุบลคุณเป็นพระอนุศาสนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะให้นามฉายาว่า ภูริทตฺโต เมื่ออุปสมบท แล้วได้มาอยู่ในสำนักวิปัสสนากับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล

คำสอนที่องค์หลวงปู่มั่นเคยพูดอยู่เสมอๆ

” ….ท่านทั้งหลายจงอย่าทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอนคอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานเปล่าๆ โดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียว ซึ่งเป็นสมบัติของพระะพุทธเจ้า มาเป็นสมบัติของตน ด้วยความเข้าใจผิด ว่าตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจยิ่งกว่าภูเขาไฟ มิได้ลดน้อยลงบ้างเลย จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่าๆ เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย”

การตอบคำถามของหลวงปู่มั่นกับชาวกรุงเทพ

ชาวกรุงเทพ : ได้ทราบว่าท่านรักษาศีลองค์เดียว มิได้รักษาถึง ๒๒๗ องค์ เหมือนพระทั้งหลายที่รักษากันใช้ไหม

หลวงปู่มั่น : ใช่ อาตมารักษาเพียงอันเดียว

ชาวกรุงเทพ : ที่ท่านรักษาเพียงอันเดียวนั้นคืออะไร

หลวงปู่มั่น : คือใจ

ชาวกรุงเทพ : ส่วน ๒๒๗ นั้นท่านไม่ได้รักษาหรือ

หลวงปู่มั่น : อาตมารักษาใจไม่ให้คิดพูดทำในทางผิด อันเป็นการล่วงเกินข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ จะเป็น ๒๒๗ หรือมากกว่านั้นก็ตาม บรรดาที่เป็นข้อบัญญัติห้าม อาตมาก็เย็นใจว่า ตนมิได้ทำผิดต่อพุทธบัญญัติ ส่วนท่านผู้ใดจะว่าอาตมารักษาศีล ๒๒๗ หรือไม่นั้น สุดแต่ผู้นั้นจะคิดจะพูดเอาตามความคิดของตน เฉพาะอาตมาได้รักษาใจอันเป็นประธานของกายวาจาอย่างเข้มงวดกวดขันตลอดมา นับแต่เริ่มอุปสมบท

ชาวกรุงเทพ : การรักษาศีลต้องรักษาใจด้วยหรือ

หลวงปู่มั่น : ถ้าไม่รักษาใจจะรักษาอะไรถึงจะเป็นศีลเป็นธรรมที่ดีงามได้ นอกจากคนที่ตายแล้วเท่านั้นจะไม่ต้องรักษาใจแม้กายวาจาก็ไม่จำต้องรักษา แต่ความเป็นเช่นนั้นของคนตายนักปราชญ์ท่านไม่ได้เรียกว่าเขามีศีล เพราะไม่มีเจตนาเป็นเครื่องส่องแสดงออก ถ้าเป็นศิลได้ควรเรียกได้เพียงว่าศีลคนตาย ซึ่งไม่สำเร็จประโยชน์ตามคำเรียกแต่อย่างใด ส่วนอาตมามิใช่คนตายจะรักษาศีลแบบคนตายนั้นไม่ได้ ต้องรักษาใจให้เป็นศีลเป็นธรรมสมกับใจเป็นผู้ทรงไว้ทั้งบุญทั้งบาปอย่างตายตัว

ชาวกรุงเทพ : ได้ยินในตำราว่าไว้ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยเรียกว่าศีล จึงเข้าใจว่าการรักษาศีลไม่จำเป็นต้องรักษาใจก็ได้ จึงได้เรียนถามอย่างนั้น

หลวงปู่มั่น : ที่ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยนั้นก็ถูก แต่กายวาจาจะเรียบร้อยเป็นศีลได้นั้นต้นเหตุมาจากอะไร ถ้าไม่เป็นมาจากใจผู้เป็นนายคอยบังคับกายวาจาให้เป็นไปในทางที่ถูก เมื่อเป็นมาจากใจ ใจจะควรปฏิบัติอย่างไรต่อตัวเองบ้าง จึงจะควรเป็นผู้ควบคุมกายวาจาให้เป็นศีลเป็นธรรมที่น่าอบอุ่นแก่ตัวเอง และน่าเคารพเลื่อมใสแก่ผู้อื่นได้ ไม่เพียงแต่ศีลธรรมที่จำเป็นต้องอาศัยใจเป็นผู้คอบควบคุมรักษาเลย แม้กิจการอื่น ๆ จำต้องอาศัยใจเป็นผู้ควบคุมดูแลโดยดี การงานนั้น ๆ จึงจะเป็นที่เรียบร้อยไม่ผิดพลาดและทรงคุณภาพโดยสมบูรณ์ตามชนิดของมัน การรักษาโรคเขายังค้นหาสมุฏฐานของมัน จะควรรักษาอย่างไรจึงจะหายได้เท่าที่ควร ไม่เป็นโรคเรื้อรังต่อไป การรักษาศีลธรรมไม่มีใจเป็นตัวประธานพาให้เป็นไป ผลก็คือความเป็นผู้มีศีลด่างพร้อย ศีลขาดศีลทะลุ ความเป็นผู้มีธรรมที่น่าสลดสังเวช ธรรมพาอยู่ธรรมพาไปอย่างไม่มีจุดหมาย ธรรมบอ ธรรมบ้า ธรรมแตก ซึ่งล้วนเป็นจุดที่ศาสนาจะพลอยได้รับเคราะห์กรรมไปด้วยอย่างแยกไม่ออก ไม่เป็นศีลธรรมอันน่าอบอุ่นแก่ผู้รักษา และไม่น่าเลื่อมใสแก่ผู้อื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องบ้างเลย อาตมาไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก บวชแล้วอาจารย์พาเที่ยวและอยู่ตามป่าตามเขา เรียนธรรมก็เรียนไปกับต้นไม้ใบหญ้า แม่น้ำลำธาร หินผาหน้าถ้ำ เรียนไปกับเสียงนกเสียงกา เสียงสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ตามทัศนียภามที่มีอยู่ตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง ไม่ค่อยได้เรียนในคัมภีร์ใบลานพอจะมีความรู้สแตกฉานทางศีลธรรมการตอบปัญหาจึงเป็นไปตามนิสัยของผู้ศึกษาธรรมเถื่อน ๆ รู้สึกจนปัญญาที่ไม่สามารถค้นหาธรรมที่ไพเราะเหมาะสมมาอธิบายให้ท่านผู้สนใจฟังอย่างภูมิใจได้

ชาวกรุงเทพ : คำว่าศีลได้แก่สภาพเช่นไร และอะไรเป็นเป็นศิลอย่างแท้จริง

หลวงปู่มั่น : ความคิดในแง่ต่าง ๆ อันเป็นไปด้วยความมีสติ รู้สิ่งที่ควรคิดหรือไม่ควร ระวังการระบายออกทางทวารทั้งสาม คอยบังคับกายวาจาใจให้เป็นไปในขอบเขตของศีลที่เป็นสภาพปกติ ศีลที่เกิดจากการรักษาในลักษณะดังกล่าวมาชื่อว่ามีสภาพปกติไม่คะนองทางกายวาจาใจให้เป็นกิริยาที่น่าเกลียด นอกจากความปกติดีงามทางกายวาจาใจของผู้มีศีลว่าเป็นศีลเป็นธรรมแล้ว ก็ยากจะเรียกให้ถูกได้ว่าอะไรเป็นศีลเป็นธรรมที่แท้จริง เพราะศีลกับผู้รักษาศีลแยกกันได้ยาก ไม่เหมือนตัวบ้านเรือนกับเจ้าของบ้านเรือนซึ่งเป็นคนละอย่าง ที่พอจะแยกกันออกได้ไม่ยากนัก ว่านั่นคือตัวบ้าน และนั่นคือเจ้าของบ้าน ส่วนศีลกับคนจะแยกจากกันอย่างนั้นเป็นการลำบากเฉพาะอาตมาแล้วแยกไม่ได้ แม้แต่ผลคือความเย็นใจที่เกิดจากการรักษาศีลก็แยกไม่ออก ถ้าแยกออกได้ศีลก็อาจหลายเป็นสินค้ามีเกลื่อนตลาดไปนานแล้ว และอาจจะมีโจรมาแอบขโมยศีลธรรมไปขายจนหมดเกลี้ยงจากตัวไปหลายรายแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ศีลธรรมก็จะกลายเป็นสาเหตุก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของเช่นเดียวกับสมบัติอื่น ๆ ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเอือมระอาที่จะแสวงหาศีลธรรมกัน เพราะได้มาก็ไม่ปลอดภัย ดังนั้น ความไม่รู้ว่า “อะไรเป็นศิลอย่างแท้จริง” จึงเป็นอุบายวิธีหลึกภัยอันอาจเกิดแก่ศีล และผู้มีศีลได้ทางหนึ่งอย่างแยบยลและเย็นใจ อาตมาจึงไม่คิดอยากแยกศีลออกจากตัวแม้แยกได้ เพราะระวังภัยยาก แยกไม่ได้อย่างนี้รู้สึกว่าอยู่สบาย ไปไหนมาไหนและอยู่ที่ใดไม่ต้องเป็นห่วงว่าศีลจะหาย ตัวจะตายจากศีล และกลับมาเป็นผีเฝ้ากองศีลเช่นเดียวกับคนเป็นห่วงสมบัติ ตายแล้วกลับมาเป็นผีเฝ้าทรัพย์ ไม่มีวันไปผุดไปเกิดได้ฉะนั้น.

การตอบคำถามของหลวงปู่มั่นกับชาวโคราช

ชาวโคราช : เท่าที่ท่านอาจารย์มาโคราชคราวนี้ เป็นการมาเพื่ออนุเคราะห์ประชาชนตามคำนิมนต์เพียงอย่างเดียว หรือยังมีหวังเพื่อมรรคผลนิพพานอยู่ด้วยในการมารับนิมนต์คราวนี้

หลวงปู่มั่น : อาตมาไม่หิว อาตมาไม่หลง จึงไม่หาอะไรให้ยุ่งไป อันเป็นการก่อทุกข์ใส่ตัว คนหิวอยู่เป็นปกติสุข ไม่ได้จึงวิ่งหาโน่นหานี่ เจออะไรก็คว้าติดมือมาโดยไม่คำนึงว่าผิดหรือถูก ครั้นแล้วสิ่งที่คว้ามาก็มาเผา ตัวเองให้ร้อนยิ่งกว่าไฟ อาตมาไม่หลงจึงไม่แสวงหาอะไร คนที่หลงจึงต้องแสวงหา ถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา จะไปหาให้ลำบากทำไม อะไรๆก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้วจะตื่นเงาและตะครุบเงาไปทำไม

เพราะรู้แล้วว่าเงาไม่ใช่ตัวจริง ตัวจริงคือสัจจะทั้ง ๔ ก็มีอยู่ภายในกายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว และรู้อย่างหมดสิ้นแล้ว จะหาอะไรกันอีกถ้าไม่หลง ชีวิตลมหายใจยังมีและผู้มุ่งประโยชน์กับเรายังมี ก็สงเคราะห์กันไปอย่างนั้นเอง คนหาคนดีมีศีลธรรมในใจนั้นหายากยิ่งกว่าเพชรนิลจินดาเป็นไหนๆ ได้คนดีเพียงคนเดียวย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆ เพราะเงินเป็นล้านๆไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจ เหมือนได้ คนดีมาทำประโยชน์คนดีแม้เพียงคนเดียวยังสามารถทำความเย็นใจให้แก่โลกได้มากมายและยั่งยืน เช่น พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่าง

คนดีแต่ละคนมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นก่ายกองและเห็นคุณค่าแห่งความดีของตนที่จะทำต่อไปมากกว่าเงิน แม้จะจนก็ยอมจน ขอแต่ให้ตัวดีและโลกมีความสุข

แต่คนโง่ชอบเงินมากกว่าคนดีและความดี ขอแต่ได้เงินแม้ตัวจะเป็นอย่างไรไม่สนใจคิดถึงจะชั่วช้าลามกหรือแสนโสมมเพียงไรก็ตาม ขนาดนายยมบาลเกลียดกลัวไม่อยากนับเข้าบัญชีผู้ต้องหา กลัวจะไปทำลายสัตว์นรกด้วยกันให้เดือดร้อนชิปหายก็ไม่ว่า ขอแต่ได้เงินก็เป็นที่พอใจ ส่วนจะผิดถูกประการใด ถ้าบาปมีค่อยคิดบัญชีกันเองโดยเขาไม่ยุ่งเกี่ยวคนดดีกับคนชั่วและสมบัติเงินทองกับธรรม คือคุณงามความดีผิดกันอย่างนี้แล ใครมีหูมีตาก็รีบคิดเสียแต่บัดนี้ อย่าทำให้สายเกินไป จะหมดทางเลือกเฟ้น การให้ผลก็ต่างกันสุดแต่กรรมของตนจะอำนวย จะทักท้วงหรือคัดค้านไม่ได้ กรรมอำนวยให้อย่างใดต้องยอมรับเอาอย่างนั้น

ฉะนั้นสัตว์โลกจึงต่างกัน ทั้งภพกำเนิด รูปร่าง ลักษณะ จริต นิสัย สุข ทุกข์ อันเป็นสมบัติประจำตัวของแต่ละราย แบ่งเบาแบ่งหนักกันไม่ได้ ใครมีอย่างไรก็หอบหิ้วไปเอง ดีชั่ว สุขทุกข์ก็ยอมรับ ไม่มีอำนาจปฏิเสธได้ เพราะไม่ใช่แง่กฎหมาย แต่เป็นกฎของกรรม

ชาวโคราช : ขอประทานโทษพวกกระผมเคยได้ยินกิตติศัพท์กิติคุณท่านอาจารย์โด่งดังมานานแล้ว ไม่ว่าครูอาจารย์หรือพระเณรองค์ใดตลอด ฆราวาส ใครพูดถึงอาจารย์ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจารย์มิใช่พระธรรมดาดังนี้ จึงกระหายอยากฟังเมตตาธรรมท่าน แล้วจะได้เรียนถามไปตามความอยากความหิว แต่ไม่มีความฉลาดรอบคอบในการถามซึ่งอาจจะทำความกระเทือนแก่ท่านอยู่บ้าง กระผมก็สนใจปฏิบัติมานานพอควร จิตใตนับว่าได้รับความร่มเย็นประจักษ์เรื่อยมา ไม่เสียชาติที่เกิดมาพบพระศาสนาและยังได้ กราบไหว้ครูอาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์วเศษด้วยการปฏิบัติธรรม แม้ปัญหาธรรมที่เรียนถามวันนี้ก็ได้รับความแจ้งชัดเกินคาดหมาย วันนี้เป็นหายสงสัยเด็ดขาดตามภูมิของคนมีกิเลสที่ยังอยู่ก็ตัวเองเท่านั้นจะสามารถปฏิบัติให้ได้มากน้อยเพียงใด

หลวงปู่มั่น : โยมมาถามอย่างนั้นอาตมาก็ต้องตอบไปอย่างนั้น เพราะอาตามาไม่หิวไม่หลงจะให้อาตมาไปหาอะไรอีก อาตมาเคย หิวเคยหลง มาพอแล้ว ครั้งปฏิบัติที่ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรโน้น อาตมาแทบตายอยู่ในป่าในเขาคนเดียวไม่มีใครไปเห็นจนพอลืมหูลืมตาได้ บ้าง จึงมีคนนั้นไปหาคนนี้ไปหา แล้วร่ำลือกันว่าวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ขณะอาตมาสลบสามหนรอดตายครั้งนั้นไม่เห็นใครทราบและร่ำลือบ้าง จนเลยขั้นสลบและขั้นตายมาแล้ว จึงมาเล่าลือกันหาประโยชน์อะไร อยากได้ของดีที่มีอยู่กับตัวเราทุกคน ก็พากันปฏิบัติเอาทำเอา เมื่อเวลาตายแล้วจึงพากันวุ่นวาย หานิมนต์พระมาให้บุญ กุสลามาติกา นั่นไม่ใช่เกาถูกที่คันนะจะว่าไม่บอก ต้องรีบเกาให้ถูกที่คันเสียบัดนี้ โรคคันจะได้หายคือเร่งทำความดีเสียแต่บัดนี้จะได้หายว่วงหายหวงกับอะไรอะไรที่เป็นสมบัติของโลกมิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา แต่พากันจับจองเอาแต่ชื่อของมันเปล่าๆตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล

สมบัติในโลกเราแสวงหามาเป็นความสุขก็พอหาได้ จะแสวงหามาเป็นไฟก็ทำให้ฉิบหายได้จริงๆข้อนี้ขึ้นอยุ่กับความฮลาดและความโง่เขลา ของผู้แสวงหาแต่ละรายท่านผู้พ้นทุกข์ไปด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตน จนกลายสรณะของพวกเราจะเข้าใจว่าท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทอง เครื่องหวงแหนอย่างนั้นหรือ เข้าใจว่าเป็นคนร่ำรวยสวยงามเฉพาะสมัยพวกเราเท่านั้นหรือ จึงพากันรักพากันหวงพากันห่วงจนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย บ้านเมืองเราสมัยนี้ไม่มีป่าช้าสำหรับเผาหรือฝังคนตายอย่างนั้นหรือจึงสำคัญว่าตนจะไม่ตาย และพากันประมาทจนลืมเนื้อลืมตัว กลัวแต่จะไม่ได้กิน ไม่ได้นอนกลัวแต่จะไม่ได้เพลิดไม่ได้เพลิน ประหนึ่งโลกจะดับสูญไปเดี๋ยวนี้ จึงรีบพากันตักตวงเอาความไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว อันสิ่งเหล่านี้ แม้แต่สัตว์เขามีได้เหมือนมนุษย์เรา อย่าสำคัญว่าตนเก่งกาจสามารถฉลาดรู้ยิ่งกว่าเขาเลย ถึงกับสร้างความืดมิดปิดตามทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรกอาจจนยิ่งกว่าสัตว์ ใครจะไปทราบได้ถ้าไม่เตรียมทราบไว้ตั้งแต่บัดนี้ อาตมาต้องขออภัยด้วยถ้าพูดหยาบคายไป แต่คำพูดที่สั่งสอนให้คนละชั่วทำดียีงจัดเป็นคำหยาบคายอยู่แล้ว โลกเราก็จะถึงคราวหมดสิ่นศาสนาเพราะไม่มีผู้ ยอมรับความจริง การทำบาปหยาบคายมีมาประจำแทบทุกคนทำให้ผลเป็นทุกข์ ตนยังไม่อาจรู้ได้ และตำหนิมันแต่กลับตำหนิคำสั่งสอนที่หยาบคายนับว่าเป็นโรคที่หมดหวัง

การตอบคำถามของหลวงปู่มั่นกับพระมหาเถร

** โอกาสว่างๆ ตอนที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่กรุงเทพ จะมีพระมหาเถระ(ไม่ปรากฏพระนาม)สั่งพระมาอาราธนานิมนต์ท่านไปหาเพื่อสัมโมทนียกถาเฉพาะ โดยปราศจากผู้คนพระเณรเข้าไปเกี่ยวข้อง **

พระมหาเถร : ท่านชอบอยู่ในป่าในเขา ไม่ชอบเกี่ยวข้องกังวลกับพระเณรตลอดฆราวาส เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาท่านไปศึกษากับใคร จึงจะผ่านปัญหานั้น ๆ ไปได้ แม้ผมเองอยู่ในพระนครที่เต็มไปด้วยนักปราชญ์เจ้าตำหรับตำราพอช่วยปัดเป่าข้อข้องใจได้บางคราวยังเกิดความงงงันอั้นตู้ไปได้ ไม่มีใครสามารถช่วยแก้ให้ตกไปได้ ยิ่งท่านอยู่เฉพาะองค์เดียวเป็นส่วนมากตามที่ทราบเรื่องตลอดมา เวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ท่านศึกษาปรารภกับใคร หรือท่านจัดการกับปัญหานั้น ๆ ด้วยวิธีใด นิมนต์อธิบายให้ผมฟังด้วย

หลวงปู่มั่น : กราบเรียนด้วยความอาจหาญเต็มที่ไม่มีสะทกสะท้านเลย เพราะได้ศึกษาจากหลักธรรมชาติอย่างนั้น จึงกราบเรียนท่านว่าขอประทานโอกาส เกล้า ฯ ฟังธรรมและศึกษาธรรมอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีอริยาบถต่าง ๆ นอกจากหลับไปเสียเท่านั้น พอตื่นขึ้นมาใจกับธรรมก็เข้าสัมผัสกันทันที ขึ้นชื่อว่าปัญหาแล้วกระผมไม่มีเวลาที่หัวใจจะว่างอยู่เปล่า ๆ เลย มีแต่การถกเถียงโต้ตอบกันอยู่ทำนองนั้น ปัญหาเก่าตกไปปัญหาใหม่เกิดขึ้นมา การถอดถอนกิเลสก็ไปในระยะเดียวกันกับปัญหาแต้ละข้อตกไปปัญหาใหม่เกิดขึ้นมาก็เท่ากับรบกันกับกิเลสใหม่ ปัญหาทั้งใกล้ทั้งไกล ทั้งวงกว้างวงแคบทั้งวงในวงนอก ทั้งลึกทั้งตื้น ทั้งหยาบทั้งละเอียด ล้วนเกิดขึ้นและปะทะกันที่หัวใจ ใจเป็นสถานที่รบข้าศึกทั้งมวล และเป็นที่ปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวง ในขณะที่ปัญหาแต่ละข้อตกไปที่จะมีเวลาไปคิดว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นเฉพาะหน้าเราจะไปศึกษาปรารภกับใครนั้นเกล้าฯ มิได้สนใจคิดให้เสียเวลานิ่งไปกว่าจะตั้งท่าฆ่าฟันห้ำหั่นกันกับปัญหา ซึ่งเป็นฉากของกิเลสแฝงมาพร้อมให้สะบั้นหั่นแหลกกันลงไปเป็นทอด ๆ และถอดถอนกิเลสออกได้เป็นพัก ๆ เท่านั้น จึงไม่วิตกกังวลกับหมู่คณะว่าจะมาช่วยแก้ไขปลดเปลื้องกิเลสออกจากใจได้รวดเร็ว ยิ่งกว่าสติปัญญาที่ผลิตและฝึกซ้อมอยู่ตลอดเวลา คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนั้น เกล้า ฯ ได้ประจักษ์ใจตัวเองขณะปัญหาแต่ละข้อเกิดขึ้น และสามารถแก้ไขกันลงได้ทันท่วงทีด้วยอุบายวิธีของสติปัญญาที่เกิดกับตนโดยเฉพาะ มิได้ไปเที่ยวคว้ามาจากตำราหรือคัมภีร์ใดในขณะนั้น แต่ธรรมคือสติปัญญาในหลักธรรมชาติ หากผุดออกรับออกรบและแก้ไขกันไปในตัว และผ่านพ้นไปได้โดยลำดับไม่อับจน แม้จะมีอยู่บ้างที่เป็นปัญหาลึกลับและสลับซับซ้อนที่จำต้องพิจารณากันอย่างละเอียดลออและกินเวลานานหน่อย แต่ก็ไม่พ้นกำลังของสติปัญญาที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วไปได้ จำต้องทลายลงในเวลาหนึ่งจนได้ ด้วยเหตุดังที่กราบเรียนมา เกล้า ฯ จึงมิได้สนใจใผ่ฝันในการอยู่กับหมู่คณะ เพื่ออาศัยเวลาเกิดปัญหาจะได้ช่วยแก้ไขแต่สนใจไยดีต่อการอยู่คนเดียว ความเป็นผู้เดียวเปลี่ยวกายเปลี่ยวใจเป็นสิ่งที่พอใจแล้วสำหรับเกล้า ฯ ผู้มีวาสนาน้อย แม้ถึงคราวเป็นคราวตายก็อยู่ง่ายตายสะดวก ไม่พะรุงพะรังห่วงหน้าห่วงหลัง สิ้นลมแล้วก็สิ้นเรื่องไปพร้อม ๆ กัน ต้องขอประทานโทษที่เรียนตามความโง่ของตนจนเกินไป ไม่มีความแยบคายแสดงออกพอเป็นที่น่าฟังบ้างเลย

พระมหาเถร : ฟังท่านกราบเรียนอย่างสนใจและเลื่อมใสในธรรมที่เล่าถวายเป็นอย่างยิ่ง พร้อมกับอนุโมทนาว่า เป็นผู้สามารถสมกับชอบอยู่ในป่าในเขาคนเดียวจริง ๆ ธรรมที่แสดงออก ท่านว่าจะไปเที่ยวค้นดูในคัมภีร์ไม่มีวันเจอ เพราะธรรมในคัมภีร์กับธรรมที่เกิดจากใจอันเป็นธรรมในหลักธรรมชาติต่างกันอยู่มาก แม้ธรรมในคัมภีร์ที่จารึกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าว่าเป็นธรรมบริสุทธิ์ เพราะผู้จารึกเป็นคนจริงคือเป็นผู้บริสุทธิ์เหมือนพระองค์ แต่พอตกมานาน ๆ ผู้จารึกต่อ ๆ มาอาจไม่เป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริงเหมือนรุ่นแรก ธรรมจึงอาจมีทางลดคุณภาพลงตามส่วนของผู้จารึกพาให้เป็นไป ฉะนั้น ธรรมในคัมภีร์กับธรรมที่เกิดขึ้นจากใจอย่างสด ๆ ร้อน ๆ จึงน่าจะต่างกันแม้ธรรมด้วยกัน ผมหายสงสัยในข้อที่ถามท่านด้วยความโง่ของตนแล้ว

แต่ความโง่ชนิดนี้ทำให้เกิดประโบชน์ได้ดี เพราะถ้าไม่ถามโง่ ๆ ก็จะไม่ได้ฟังอุบายแบบฉลาดแหลมคมจากท่าน วันนี้ผมจึงเป็นทั้งฝ่ายขายทั้งความโง่และซื้อทั้งความฉลาด หรือจะเรียกว่าถ่ายความโง่เขลาออกไปไล่ความฉลาดเข้ามาก็ไม่ผิด ผมยังสงสัยอยู่อีกเป็นบางข้อ คือที่ว่าพระสาวกท่านทูลลาพระศาสดาออกไปบำเพ็ญอยู่ในที่ต่าง ๆ เวลาเกิดปัญหาขึ้นมาก็กลับมาเฝ้าทูลถาม เพื่อทรงช่วยชี้แจงปัญหานั้น ๆ จนเป็นที่เข้าใจ แล้วทูลลาไปบำเพ็ญตามอัธยาศัย นั้นเป็นปัญหาประเภทใด พระสาวกจึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ต้องมาทูลถามให้พระองค์ทรงช่วยชี้แจงแก้ไข

หลวงปู่มั่น : เมื่อมีผู้ช่วยให้เกิดผลรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลานาน นิสัยคนเราที่ชอบหวังพึ่งผู้อื่นย่อมจะต้องดำเนินตามทางลัด ด้วยความแน่ใจว่าต้องดีกว่าตัวเองพยายามไปโดยลำพัง นอกจากทางไกลไปมาลำบากจริง ๆ ก็จำต้องตะเกียกตะกายไปด้วยสติปัญญาของตน แม้จะช้าบ้างก็ทนเอา เพราะพระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้เห็นโดยตลอดทั่วถึงทรงแก้ปัญหาข้อข้องใจ ย่อมทำให้เกิดความกระจ่างแจ้งชัด และได้ผลรวดเร็วผิดกับที่แก้ไขโดยลำพังเป็นไหน ๆ ดังนั้น บรรดาสาวกที่มีปัญหาข้องใจจึงต้องมาทูลถามให้ทรงพระเมตตาแก้ไขเพื่อผ่านไปได้อย่างรวดเร็วสมปรารถนา แม้กระผมเองถ้าพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และอยู่ในฐานะจะพอไปเฝ้าได้ก็ต้องไป และทูลถามปัญหาให้สมใจที่หิวกระหายมานาน ไม่ต้องมาถูไถคืบคลานให้ลำบากและเสียเวลาดังที่เป็นมา เพราะการวินิจฉัยโดยลำพังตัวเองเป็นการลำบากมาก แต่ต้องทำเพราะไม่มีที่พึ่งนอกจากตัวต้องเป็นที่พึ่งของตัวดังที่เรียนแล้ว ความมีครูอาจารย์สั่งสอนดยถูกต้องแม่นยำ คอยให้อุบายทำให้ผู้ปฏิบัติตามดำเนินไปโดยสะดวกราบรื่นและถึงเร็ว ผิดกับการดำเนินไปแบบสุ่มเดาโดยลำพังตนเองอยู่มาก ทั้งนี้เกล้า ฯ เห็นโทษในตัวเกล้า ฯ เองแต่ก็จำเป็นเพราะไม่มีอาจารย์คอยให้อุบายสั่งสอนในสมัยนั้น ทำไปแบบด้นเดาและล้มลุกคลุกคลาน ผิดมากกว่าถูก แต่สำคัญที่ความหมายมั่นปั่นมือเป็นเจตนาที่เด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก ไม่ยอมลดละล่าถอยจึงพอมีทางทำให้สิ่งที่เคยขรุขระมาโดยลำดับค่อย ๆ กลับกลายคลายตัวออกทีละเล็กละน้อยพอให้ความราบรื่นชื่นใจ ได้มีโอกาสคืบคลานและเดินได้เป็นลำดับมา พอได้ลืมตาดูโลกดูธรรมได้เต็มใจดังที่เรียนให้ทราบตลอดมา.(จาก”ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น” โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

ขอขอบคุณ แหล่งที่มา

http://www.84000.org/

http://www.dhamboon.com/

http://www.luangpumun.org/

และท่านสามารถอ่านประวัติโดยละเอียดของหลวงปู่มั่นได้ที่

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-03-01.htm

http://watsiammin-sweden.com/default.asp?content=contentdetail&id=3206

. . . . . . .