หลวงพ่อเกษม เขมโก จำวัดโดยไม่ใช้มุ้ง ไม่ใช้ผ้าห่ม

หลวงพ่อเกษม เขมโก จำวัดโดยไม่ใช้มุ้ง ไม่ใช้ผ้าห่ม

หลวงพ่อเกษม เขมโก ยอดนักบุญ ผู้ปฎิบัติตนตามธุดงค์วัตรขั้นอุกฤษ์ พระอภิญญาแห่งนครลำปาง ท่านเกิดเมื่อ วันที่ 28 พฤศจิกายน พศ. 2455 มีเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือ เมื่อเล็ก มีความจำเป็นเลิศ สามารถท่องมนต์ 7 ตำนาน และ 12 ตำนานได้อย่างคล่องแคล่ว

ที่ว่าท่านปฎิบัติตามหลักธุดงค์วัตร อย่างอุกฤษ์นั้น ได้แก่ การนั่งกรรมฐานทั้งวัน ทั้งคืน ไม่ฉัน ไม่จำวัด เรียกว่า ไม่กิน ไม่นอนเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานแรมปี บทจะพิจารณาภัตตาหาร ว่าเป็นอาหารเก่า อาหารใหม่เพื่อให้จิตเข้าถึงพระกรรมฐานนั้น ท่านก็นำอาหารเก่าค้าง ที่เน่าบูด ส่งกลิ่นเหม็นเปรี้ยว มาฉันกิน เมื่ออาหารเข้าถึงปาก กำหนดจิตรับรู้รสว่า มีรสไม่อร่อยเพียงใด มีกลิ่นที่น่ารังเกียจเพียงใด ร่างกายทำปฎิกริยาไม่รับอาหารเน่าเสียนั้น โดยบังคับให้ปากจะอาเจียนออกมา ท่านก็กลับบังคับร่างกายให้รับรสอาหารบูดเน่านั้นเสียให้ได้ โดยกำหนดว่า ฉันเพื่อให้มีแรงปฎิบัติต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องฉันอาหารรสเลิศ เพื่อให้ติดยึดในรสอาหาร อันเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง

สถานที่จำเริญกรรมฐานของหลวงพ่อเกษมนั้น ท่านโปรดปราณ ป่าช้า เป็นหนักหนา ด้วยว่าเป็นที่วิเวก ยิ่งป่าช้าไหนมีเสียงเล่าลือกันว่ามีภูติผี วิญญาณร้ายมาก่อกวน ท่านยิ่งมุ่งเข้าไปหา ด้วยเห็นว่า เป็นการพิจารณาอสุภะกรรมฐานได้ดีกว่าที่อื่นใด

ที่โล่งเตียนใด ปราศจากเงาไม้ให้ร่ม ท่านจะเข้าไปนั่งกรรมฐาน บางคราวเป็นหน้าแล้งแดดร้อน ท่านก็จะนั่งกรรมฐานกลางแดดให้แดดแผดเผาตัวท่าน บางคราวหน้าหนาว ท่านก็จะนุ่งห่มจีวรน้อยชิ้น ออกไปนั่งรับลมหนาว ท้าทายกับความเย็นอยู่เช่นนั้น บางคราวฝนตก ท่านก็นั่งกรรมฐานกลางสายฝน โดยปราศจากเครื่องกางกั้น ร่างกายคนเราบางทีก็ทนไม่ไหว เมื่อร่างกายท่านประท้วง โดยการเจ็บป่วย ท่านก็ใช้ธรรมโอสถเป็นเครื่องแก้ ไม่เคยไปหาหมอ ไม่เคยขอร้องให้ใครมาช่วยพยุง ดูแลเลยแม้สักครั้ง ท่านใช้ร่างกายฝืนธรรมชาติแห่งความสุข ความสบาย อันพึงมี พึงได้ของมนุษย์ ตลอดชีวิตของท่าน จนเป็นที่ห่วงกังวลของศิษย์ทั้งหลาย เพียงเพื่อการปฎิบัติบูชาพระธรรม อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตของท่าน

ในปีพศ. 2492 ขณะที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสนั้นเสียโดยให้เหตุผลว่า “การเป็นเจ้าอาวาส เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว จึงไม่เหมาะสมกับเรา เราเป็นพระกรรมฐานที่ต้องการความสงบ เราไม่ขอกลับมาอีก” จากนั้นท่านก็เข้าสู่ป่าช้าวังทาน (ปัจจุบันคือบริเวณของสถานีโทรทัศน์ ช่อง 8 กรมประชาสัมพันธ์ ลำปาง) ซึ่งเป็นป่าช้ากว้างใหญ่ มีที่ทำศพ และเผาศพ

ขณะที่ท่านอาศัยทำกรรมฐานที่ป่าช้าวังทานนี้ ในคืนวันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังจำวัดอยู่ มีขี้ยาผู้หนึ่ง ลอบเข้ามาดึงมุ้ง และผ้าห่มของท่าน เพื่อจะนำไปเป็นของตน ท่านบอกว่า เอ็งอย่าดึง ….. อย่าดึง……เดี๋ยวมันจะขาด เมื่อขี้ยาปล่อยมือลงแล้ว ท่านจึงได้ปลดมุ้ง และพับผ้าห่มส่งให้ขี้ยาผู้นั้น ทั้งยังสั่งอีกว่า ให้รีบไปเสียโดยเร็ว ใครจะมาเห็นเข้า ไปแจ้งตำรวจ เอ็งจะลำบาก

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงพ่อเกษม ท่านไม่เคยใช้มุ้ง หมอนและผ้าห่มอีกเลยในการจำวัด ท่านสละได้ทุกอย่าง ความร้อน ความหนาว ความเย็น ยุงเหลือบ ริ้นไร เกาะดูดเลือดจากท่าน ท่านก็ไม่เคยตบ ไม่เคยสะบัดมือหนี การจำวัดของท่านมักจะเป็นลักษณะการนั่งขัดสมาธ แล้วคู้ตัวลงนอนไปเบื้องหน้า และก็เป็นการนอนเพียงชั่วเวลาไม่นานนักด้วย เมื่อท่านรู้สึกตัว ท่านก็จะตั้งกายตรง เพื่อการภาวนาสมาธิต่อไป แต่หากร่างกายไม่ไหวจริง ๆ หรือยามเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านก็จะจำวัดโดยการนอนไปกับพื้นกระดาน ไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ต้องมีเครื่องนอน หมอน มุ้ง ผ้าห่มใด ๆ เลย

มีเรื่องเล่าในฐานะนักกรรมฐานผู้สละแล้วทุกสิ่ง ทุกอย่าง ของหลวงพ่อเกษม มากมายหลายเรื่อง เช่นเรื่องนี้

ครั้งหนึ่งท่านนั่งตัดกระดาษรูปสัตว์อยู่ มียุงตัวใหญ่ตัวหนึ่ง ที่เรียกว่า ยุงป่า ตัวใหญ่ กัดเจ็บ บินรี่เข้ามาเกาะท่านที่แขน แล้วเจาะกินเลือดท่าน หลวงพ่อเกษม ครั้งท่านรู้ตัวว่า มียุงบินมาเกาะที่แขนท่าน ท่านจึงหยุดภารกิจตัดกระดาษทันที เพราะหากท่านยังคงขยับแขนตัดกระดาษต่อไป ยุงก็จะบินหนี เจ้ายุงป่า มันกินเลือดจนท้องมันเริ่มพองขึ้นเรื่อย ๆ จนท้องเปล่ง ก็ยังไม่ยอมไปไหนเสียที หลวงพ่อเกษมท่านจึงดุมันว่า

“อย่าดูดเลือดเราเยอะ เราผอม”
และว่า
“อิ่มแล้วก็ไปได้แล้ว เราจะทำงาน”

เจ้ายุงร้ายคล้ายจะฟังเข้าใจ มันรีบขยับปีก พาท้องอันปวมเปล่ง บินเข้าป่าไป ส่วนหลวงพ่อเกษม ท่านก็ตัดกระดาษของท่านต่อไป…….

http://www.sunanta.com/articles/42010715/

. . . . . . .