อุปนิสัยและปฏิปทาของหลวงพ่อปาน

อุปนิสัยและปฏิปทาของหลวงพ่อปาน

จากปากคำของผู้ทราบเคยอยู่ใกล้ชิดกับท่าน และเรื่องเล่าสืบต่อกันมาพอจะอนุมานได้ดังนี้
จากบันทึกของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำ บันทึกไว้ว่า

“ปกติท่านเป็นคนขยัน เวลาพวกเราทำงาน ท่านไม่หยุดเหมือนกัน เป็นคนขยันจริง ๆ ขยันงานภายนอก ขยันงานภายในทุกอย่าง จุกจิก หมายความจุกจิกรอบ ๆ ดูของรอบ ๆ ตรวจตราของรอบ ๆ แล้วคำว่าไม่มีไม่ได้ ของท่านมีสั่งให้ไปหาอะไร ถ้าไม่มีให้เลย ไปเลย ห้ามกลับ ถ้าวันหลังไปพบเขา ถามว่า ทำไมไม่เอามาให้ บอกว่าไม่มีนี่ครับ ถ้าไม่มีจัดซื้อทันที ของท่านต้องมีทุกอย่าง”
“หลวงพ่อปานท่านมีลักษณะของชายชาตรีที่มีผิวพรรณขาวละเอียด ลักษณะสมส่วนเสียงดังกังวานไพเราะมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสชวนให้ศรัทธาปสาทะเป็นอย่างยิ่ง ดวงตาบ่งบอกถึงความเมตตาปรานีในสัตว์โลกทั้งหลาย ต้อนรับผู้คนที่มาหาไม่เลือกเศรษฐี ผู้ดี ไพร่ ใครไปก็ไต่ถาม ว่ากันว่าถ้าหลวงพ่อพูดจากับผู้ใดแล้วนั้น มักจะจับจิตจับใจ ที่ใจชั่วมั่วเมามาก็กลับตัว แม้แต่ผู้นับถือคริสต์ศาสนาก็ยังหันมานับถือพระพุทธศาสนา”
ตลอดเวลาท่านจะไม่แสดงทีท่าว่าเหน็ดเหนื่อยหรือทำให้ผู้ที่มาหาเสื่อมศรัทธาเลย วันหนึ่งๆ จะมีคนมาหาท่าน เพื่อขอความช่วยเหลือนับเป็นจำนวนร้อยๆ คน ไหนจะให้รดน้ำมนต์ไหนจะต้องพ่น ไหนจะขอยา ไหนจะมาปรึกษาถึงเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ บางคนก็เรียกว่า หลวงพ่อบางคนเรียกว่าหลวงปู่บ้าง เป็นเราๆ ท่านๆน่ากลัวจะนั่งไม่ทน เพราะตั้งแต่เพลจนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 4 หรือ 5 ทุ่ม นั่นแหละท่านถึงจะพักผ่อน และเป็นอย่างนี้อยู่ประจำทุกวัน จนกระทั่งท่านมรณภาพ
“ท่านไม่ยินดียินร้ายในทางโลกธรรมแต่ประการใด คงปฏิบัติธรรมเหมือนพระแก่ๆ รูปหนึ่งที่ไม่ต้องการยศบรรดาศักดิ์หรือชื่อเสียงดีเด่นแต่อย่างใด ท่านคงหวังแต่ทำหน้าที่ให้ความสุขสบายแก่พระสงฆ์และชาวบ้านทั่วไปตามกำลังความสามารถเท่านั้น

ปฏิปทาในการประชุมและการอบรมพระเณรในวัดบางนมโค

หลวงพ่อฤๅษีฯ ได้เล่าถึงปฏิปทาในการสั่งสอนอบรมพระเณรลูกศิษย์ของท่านไว้ในหนังสือ ประวัติหลวงพ่อปาน ไว้พอสรุปได้ ดังนี้

หลวงพ่อปานท่านมีกำหนดการประชุมพระเณรในวัดบางนมโคไว้เป็นการแน่นอน คือ ในทุกวันโกน เป็นวันประชุมใหญ่ พระทุกองค์ในวัดจะต้องมาประชุม ขาดไม่ได้ ถ้าขาด ถ้าป่วยจะต้องแจ้งมา ไม่ว่าพระเล็ก พระใหญ่ จะกี่พรรษาก็ตาม ถ้าป่วยจะต้องมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรมา ว่า ผมขอลาการประชุม
เวลาท่านประชุม ก็เริ่มกัน 2 ทุ่ม ไปเลิกกัน 4 ทุ่ม 5 ทุ่ม บางทีมีเรื่องคุยกันมากก็ 6 ทุ่ม แต่ว่าถ้าหากว่าท่านพูดเรื่องสำคัญหมด ท่านก็อนุญาตว่า ต่อแต่นี้ไปใครจะคุยกับท่านก็คุย ใครไม่อยากคุย อยากจะนอนหรือมีธุระที่ไหนก็ไป ถ้าอยากจะคุยกับท่าน ก็อยู่คุยกัน นี่เป็นกรณีพิเศษ
พอท่านสั่งงาน เสร็จประชุมแล้ว ท่านก็แนะนำสั่งสอน พร่ำสอนเสร็จ แต่คำสอนของท่านก็ไม่ผิดไปจาก เรื่องศีลธรรมและวินัย การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา และในสำนักของท่าน พระที่ไม่เอาถ่านก็เยอะ อย่าเข้าใจว่าดีทุกองค์นะ พระที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนานี่ แม้แต่ในสมัยของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน วินัยปรากฏว่ามีตั้งหลายร้อยข้อก็เพราะความชั่วที่พระทำขึ้น ถ้ายังไม่มีใครทำความชั่วเพียงใด พระพุทธเจ้าก็ยังไม่ประกาศพระวินัย ไม่ประกาศเป็นกฎบังคับ แต่กฎบังคับแต่ละข้อ ๆ ที่มันปรากฏตั้ง 200 กว่าข้อ นี่แสดงว่าหลวงพี่สมัยนั้นแกก็ทำความเลวตั้ง 200 กว่าข้อเหมือนกัน นี่แม้แต่สมัยพระพุทธเจ้ายังเป็นอย่างนั้น แล้วสมัยของหลวงพ่อปานอย่าไปคิดนะว่าพระจะดีทุกองค์ พระประเภทที่ต่ำกว่าดีก็มาก
แต่ว่าท่านแบ่งประเภทของพระไว้ ท่านแบ่งไว้ว่าพระองค์ไหนขี้เกียจเจริญพระกรรมฐาน พระพวกนี้อยู่กองโยธาธิการทำงานก่อสร้าง องค์ไหนขยันเรียนหนังสือ ขยันเจริญกรรมฐาน พระประเภทนี้ไม่เรียกทำงาน ใครจะสมัครไปทำก็ได้ ถ้ามีงานเกี่ยวกับหนังสือท่านก็เรียกใช้ นี่เป็นปฏิปทาของท่าน ถ้าพระอะไรก็ตาม เป็นพระประเภทไม่เอาถ่าน อยู่ไม่ได้นาน ขี้เกียจ นอนกินอืด แล้วก็เป็นนักเบ่งแต่งตัวสวย ๆ อย่างนี้ไม่มีหวัง อยู่สำนักนั้นไม่ได้นาน ถูกขับ ไม่ใช่ว่าท่านจะมายิ้มกับคนดีคนชั่วทุกอย่างนั้น
เป็นอันว่าทราบกันแล้วนะ ว่าพระของท่านไม่ใช่ว่าดีเสมอไป ที่เลวก็มี ที่ท่านด่าพระของท่าน ทีนี้พระของหลวงพ่อปานเป็นพระประเภทนั้น ท่านด่าของท่านด่าดี เวลาท่านจะรู้พระดีพระชั่ว ท่านย่องไปฟังตามหลังกุฏิ ใต้ถุนกุฏิ บางทีท่านก็นั่งที่หลังกุฏิของท่านก็มีเทวดาบ้าง มีพระบ้างบอกท่าน
คำว่าพระ ไม่ใช่พระคน พระผี ใครทำอะไรไม่ดีตรงไหน ถูกฟ้อง มีนางตะเคียนอยู่ 2 ต้น คอยฟ้องท่านเสมอ อันนี้ ฉันก็เคยถูกนางตะเคียนฟ้องเหมือนกัน ถ้าทำไม่ดี ไม่ได้ คนนี้แกเคร่งมาก ถ้าใครไม่ดีไม่ช้าถูกขับ วิธีด่าพระ ท่านใช้ความเป็นคนแก่ของท่านเป็นเครื่องมือด่าพระ หมายความว่าท่านไปที่วัดนู้น วัดทางเหนือก็ตาม วัดทางใต้ก็ตาม ท่านไปเห็นพระร้องเพลง พระทำไม่ดี แต่ว่าตาของท่านไม่ดี ท่านอ่านไม่ออกว่าวัดอะไร นี่เรียกว่าท่านเอาความแก่ของท่านมาสู้ เอาความแก่เข้ามาชนเอา แล้วท่านก็ใช้วิธีด่า จะเล่าให้ฟังวิธีด่าพระ
ปราบพระเลว

วันหนึ่ง ท่านไปพบพระของท่านไปนอนร้องเพลงกันที่ศาลาปรก
ศาลาปรกน่ะรู้จักไหม รู้จักศัพท์ภาษาเก่าภาษาวัดไหม คือศาลาที่เขาเอาไว้ผีน่ะ เขาปลูกไว้ในป่าช้า สมัยก่อนยังไม่มีกุดัง ใครมีใครตายก็เอามาไว้ป่าช้าที่ศาลา วาง ๆ ไว้กับศาลา ใครเดินมาก็เห็นหีบศพเป็นแถว เขาเรียกศาลาปรก มันแปลว่าอะไรไม่รู้
แล้วก็ที่ศาลานี้ไม่มีศพเอาไว้ พระ 2 องค์ไปนอนร้องเพลงกันอยู่ที่นั่น บังเอิญท่านเดินเข้าไปในป่าช้าไปเห็นเข้าได้ยินเข้า เมื่อท่านได้ยินเข้าแล้วท่านก็จำหน้าพระไว้ พอเวลาวันโกน ท่านเข้าประชุม เวลาท่านประชุมท่านก็ชม
คำว่า สัมโมทนียกถา นี่หมายความว่า ท่านพูดจาไพเราะสรรเสริญความดีของบรรดาพระที่สร้างความดี พระองค์ไหนทำความดีท่านสรรเสริญ ๆ เสียจนเรียกว่าพอใจ แล้วก็กล่าวถึงอานิสงส์ความดีต่าง ๆ อย่างนี้ งานก่อสร้างก็ดี สมถวิปัสสนาก็ตาม หรือว่าสร้างความดีอะไรก็ตาม มีอานิสงส์อย่างไรท่านพูดให้ฟังหมด พูดให้ฟังแล้วท่านบอกว่าเวลาพวกเธอสร้างความดี ฉันติดตามความดีของเธอ เวลาฉันนั่งพระกรรมฐานฉันก็ขึ้นไปบนสวรรค์ ไปบนพรหมโลกบ้าง หรือว่าไปนิพพานบ้าง และไปดูว่าคุณความดีของใครจะปรากฏ
แล้วท่านก็ชี้แจงว่าผลความดีของคนนี้ปรากฏอยู่ที่นั่น ผลความดีของคนนั้นปรากฏอยู่ที่โน่น เรียกว่าท่านไปพบดีมาแล้ว ท่านมาเล่าให้ฟัง ทำให้พระที่ทำความดีปลื้มใจอยากสร้างความดีต่อไป เรียกว่าไม่ยับยั้งในการสร้างความดี คือพยายามดิ้นรนหาความดีอยู่เสมอ
ทีนี้สำหรับพระที่สร้างความชั่ว ท่านก็บอกว่าวัดของท่านไม่มีพระชั่ว ไม่มีหรอก ฉันดีใจเหลือเกินที่ลูกของฉันเป็น ลูกดีทุกคน ลูกของฉันไม่มีเลว ฉันไม่มีพระเลวในสำนักของฉัน แต่ถ้าบังเอิญในสำนักของฉันมีคนเลว มีพระเลว มีลูกเลว ฉันจะเสียใจมาก พระเลว ๆ มี ฉันจะยกตัวอย่างให้ฟัง ท่านว่าอย่างนั้นนะ ท่านก็พูดให้ฟัง ยกตัวอย่างพระเลวว่า
เมื่อ 2-3 วันนี่นะ ฉันนั่งเรือไป ท่านมีเรือนั่งสำหรับคนแจว ท่านไม่ชอบนั่งเรือยนต์บอกว่ามันกระเทือนแล้วก็เสียงดัง ท่านบอกว่าให้คนแจวไปทางใต้ ไปได้ยินเสียงคนร้องเพลง คนร้องเพลงนี่เขาร้องเพลงไทยเป็น 2 เสียง หมายความว่าคน 2 คน ก็ถามคนแจวเรือเขาว่านั่นใครร้องเพลง คนแจวเรือก็บอกว่าพระขอรับ ถามว่าร้องที่ไหน คนแจวเรือก็บอกว่าร้องที่ศาลาปรก ก็เลยถามวัด ท่านว่าอย่างนั้น คำว่าศาลาปรกมันก็บอกยี่ห้อว่าเป็นวัด แต่ฉันก็มองดูป้ายวัด ตาฉันมันไม่ดี อ่านป้ายวัดไม่ออกไม่ทราบว่าเป็นวัดอะไร
นี่วิธีด่าพระของท่าน แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า
ลูกของฉันไม่มีใครเลวอย่างนั้น ฉันได้ยินเสียงร้องเพลงเขาบอกว่าเป็นเสียงพระ ฉันคิดว่าถ้าฉันได้ยินเสียงหมาหอนจะชอบใจมากกว่าเสียงพระร้องเพลง เสียงพระร้องเพลงนี่มันไพเราะสู้เสียงหมาหอนไม่ได้ เพราะว่าพระองค์นั้นมีความเลว ๆ ยิ่งกว่าหมา หมา ไม่มีสภาพหลอกลวงใคร คือว่าหมามันเป็นหมา มันก็ประกาศความเป็นหมาของมันตลอดกาลตลอดสมัย มันไม่ให้ใครมายกมือไหว้มัน แต่พระที่ไปร้องเพลงนี่มีสภาพเลวกว่าหมามาก เพราะว่าพระไปร้องเพลง
การร้องเพลงนี่เป็นภาวะของฆราวาสเขา พระถ้าทำตนอย่างฆราวาสเรียกว่าเลวกว่าฆราวาสเขา เพราะพระเป็นปูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่เขาจะต้องไหว้เขาจะต้องบูชา เวลาเขาให้ของขอทาน ๆ ไหว้เขา แต่นี่เวลาเขาให้ของพระ คนให้ไหว้พระ พระเป็นบุคคลที่ชาวบ้านควรบูชา ทำตนแบบนั้นเป็นคนเลวมาก
ฉันได้ยินพระร้องเพลงฉันสลดใจมาก รู้สึกดีใจว่าพระของฉันไม่มีอย่างนั้น ถ้าหากว่าพระของฉันมีอย่างนั้น ฉันคิดว่าชาวบ้านเขาให้ข้าวมานี่ฉันไม่ให้กิน ฉันให้หมากินดีกว่า เพราะพระแบบนี้เลวกว่าหมามาก นี่อย่างนี้เวลาตายตกอบายภูมิเป็นสัตว์นรก พระหลอกลวงชาวบ้าน ตัวมีความเลวยิ่งกว่าหมาแล้วทำตนเป็นพระให้ ชาวบ้านเขาไหว้ นี่มันเลวยิ่งกว่าหมามาก นี่ดีนะที่ไม่ได้อยู่ในสำนักของฉัน ในบ้านของฉันไม่มี ในวัดของฉันไม่มี ถ้าในวัดของฉันมีฉันจะเสียใจไม่น้อย ฉันจะสลดใจมาก
นี่ท่านว่าต่อไปว่า
พระประเภทนี้เวลาตายมันตกอเวจีนรกทั้งหลายหมด ไม่เหลือหรอก เพราะมันหลอกลวงชาวบ้านเขา เวลาจะกินข้าวก็ให้เขาประเคนและเขาไหว้ เวลาเป็นพระเข้าร่วมสังฆกรรม ๆ นั้นเสียหมด เวลาเขาจะบวช พระจะบวชเจ้าจะลงอุโบสถทำปาติโมกข์สังฆกรรมนั้น ไม่มีเหลือเลยเสียหมด เมื่อสังฆกรรมเสียแล้วตัวจะไปอยู่ไหนก็ไปอบายภูมิ คนประเภทนี้บวชแล้วลงนรก นี่ฉันดีใจนะที่ฉันไม่มีพระเลวอย่างนั้น มีลูกเลวอย่างนั้นฉันเสียใจมาก เอาล่ะ พวกเธอทั้งหลาย มีความดีจงรักษาความดีของเธอเหมือนเกลือรักษาความเค็ม ความดีของเธอแม้แต่นิดหน่อย การสงเคราะห์สัตว์ วัดไหนหมาผอมอย่าไปอยู่นะ วัดไหนตีฆ้องกลองระฆังถ้าสุนัขไม่หอนอย่าไปอยู่ แสดงว่าขาดความเมตตา หมาก็ดีแมวก็ดีมันมาอยู่ในวัดให้ทานมันนะ เพราะเอามันเป็นเกราะป้องกันภัย หมายความว่าเป็นด่านป้องกันนรกเป็นด่านแรก
ปฏิปทาในด้านการเอาใจใส่ต่อผู้น้อย

ในฐานะท่านเป็นผู้ใหญ่ เวลาอยู่กับท่านน่ะ เวลาจะฉันข้าว ท่านเดินตรวจกับข้าวก่อน วงไหนถ้าพร่องไปท่านจัดแบ่งให้ครบถ้วน แม้แต่ ลูกเด็กเล็กแดงก็เหมือนกัน
คนในวัดทั้งหมด คนงานทั้งหมด ท่านสนใจเป็นพิเศษ คนไข้ทั้งหมด คนที่มารักษาโรคกับท่าน จะมีกินหรือไม่มีกินท่านตรวจหมด ถ้าไม่มีกินให้ข้าวสุกกับข้าวสารไปเลย ถ้าไม่มีใครหุงหาให้เป็นเรื่องเดือดร้อนของพระ พระกับเด็กจะต้องจัดให้ นี่ท่านมีทานบารมีสูง เป็นบุพการีอย่างสูงเป็นสาธารณประโยชน์หายาก
a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
เรื่องการเสียสละ คือว่าปฏิปทาในการปกครองพระของหลวงพ่อปานท่านทำอย่างนี้ คือ
1. เวลาตอนเช้า ก่อนจะกินข้าว เวลาเขาตีระฆังแป๊งลงไป ภายใน 5 นาที พระเจ้าต้องนั่งรวมพร้อมกันที่วงข้าว ฉันวงเดียวกัน แล้วหลวงพ่อปานจะมาทีหลัง เรียกว่าพอ 5 นาทีนี่ตีระฆัง 5 นาที ท่านลุกจากกุฏิทันที มาถึงก็เดินดูรอบ ๆ วงกับข้าว รอบวงพระ ถ้าเห็นว่ากับข้าววงไหนพร่องไป ท่านก็นั่งลงในที่ของท่านจัดแจงแบ่งกันข้าวให้สม่ำเสมอกัน
แม้เด็กวัดก็เหมือนกัน เวลาจะกินข้าวท่านต้องคอยตรวจดู ต้องให้กันข้าวสม่ำเสมอกัน กินกันด้วยความยุติธรรม ขนมถ้ามีน้อยท่านตักแบ่งให้เองเท่า ๆ กัน เป็นชิ้นเป็นอันเท่า ๆ กัน นี่ว่ากันถึงเรื่องกินข้าวนะ แล้วเวลากินข้าวนี่พระของท่านไม่มีคุยกัน อยู่ในอาการสำรวมทั้งหมด นี่เรื่องการกิน
ทีนี้มาถึงเรื่องการแจกภัตร คำว่าแจกภัตรในที่นี้หมายถึงลาภจะพึงเกิดแก่พระ มีการสวดผีสวดสางก็ตาม จะไปสวดมนต์เย็นตามบ้านตามช่องก็ตามที่เขานิมนต์ อันนี้ท่านแจกภัตรพระสม่ำเสมอกัน ให้เรียงลำดับกัน ถ้ารายแรกมานิมนต์ 5 องค์ ให้พระจัดไป 5 องค์ ถ้ารายที่สองมาท่านให้จัดต่อไปอีก รายที่ 3 มาให้จัดต่อไปอีก ใครจะมาเลือกพระองค์นั้นองค์นี้ไม่ได้ ท่านบอกว่าต้องได้เสมอกัน ท่านไม่กีดไม่กันว่าหนึ่งต้องฉัน แบบต้องฉัน หนึ่งต้องหัวหน้านี่ เจอะเสียเยอะ แบบนี้มันแย่เหมือนกัน หัวหน้ามั่งคั่ง หลังกินเกลือ อย่างนี้ไม่ไหว นี่ของท่านจัดเป็นระเบียบจริง ๆ ต้องไล่ 1-2-3-4 ไปถึงสุดท้าย แล้วกลับวนมาถึงต้นใหม่ นี่พูดกันถึงกิจนิมนต์นะประการต่อไป ว่าถึงการเสียสละ หลวงพ่อปานมีการเสียสละดีมาก สมกับที่ท่านปรารถนาพุทธภูมิ แต่ว่าเวลาถึง วันเดือน 8 แรม 14 ค่ำ แหมนี่มันตรงกับวันตายของท่านพอดีน่ะ เดือน 8 แรม 14 ค่ำทุกปี หลวงพ่อปานมีทรัพย์สินอยู่เท่าไร ของที่เขาถวายมาเท่าไรในปีนั้นยังเหลืออยู่ ไม่ใช่สตางค์นะของใช้เป็นจีวร สบง เก้าอี้ มุ้ง เตียง อะไรก็ตาม ของใช้มาก ๆ นี่แหละ ของใช้เป็นอดิเรกนี้แหละพระมีกี่องค์ก็ตาม ท่านก็มาจัดไว้เป็นกอง ๆ เท่าจำนวนกับพระที่มีอยู่ในวัด แล้วท่านก็ให้พระจับสลากใครได้หมายเลข 1 – 2 – 3 – 4 – 5 ตามลำดับ
เมื่อใครได้หมายเลขแล้ว กองที่กองไว้ท่านไม่ได้เขียนว่าเลข 1 – 2 – 3 ของที่กองน่ะไม่เขียนเลข ใครได้หมายเลข 1 ไปเลือกเอาตามชอบใจใครอยากได้อะไรเอาอย่างนั้น แล้วหมายเลข 2 หมายเลข 3 ก็ไปเลือกกันตามลำดับ ยังงี้ท่านเสียสละทุกปี เรียกว่าทุกปีของท่านทำอย่างนี้ ของท่านไม่ค้างปี นี่เป็นการเสียสละจริง ๆ บางทีของดี ๆ มีราคามาก ๆ ฉันเห็นว่าของอย่างนี้หลวงพ่อควรจะกันไว้ใช้เอง แต่ถึงเวลาวันแจกพระคืนวันแรม 14 ค่ำเดือน8 ท่านกลับสั่งให้ขนมากอง ๆ กันให้หมด ขนกองเข้าไว้ แล้วท่านก็จัดเป็นลำดับเข้าไว้ นี่ก็แจกแก่พระ
หลวงพ่อปานทอดกฐิน

มาพูดกันถึงการปฏิบัติประจำอีกอย่างหนึ่ง
หลวงพ่อปานนี่มีอุปนิสัยอย่างหนึ่งชอบทอดกฐินทุกปี เรื่องกฐินนี่ท่านทอดของท่านทุกปี ปีละหลายๆ วัด ปีหนึ่งที่จังหวัดสุพรรณบุรี รู้สึกว่าข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านต้องกินขุยไผ่ ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวชโน่น เลยจังหวัดสุพรรณขึ้นไปมาก ตอนนั้นไม่ได้ข้าวไม่ได้ปลา ต้องไปขุดขุยไผ่กิน หลวงพ่อปานก็ไปทอดกฐิน ๗-๘ วัด
แต่การทอดกฐินคราวนั้น ท่านประกาศกับบรรดาพุทธบริษัทของท่านว่า จะต้องการเอาอาหารไปช่วยเขา เขาอดข้าวอดอาหาร นี่ ท่านเป็นนักสังคมสงเคราะห์ แต่ไม่มีใครเขาช่วยท่านหรอก รัฐบาลไม่ได้ร่วมมือ แต่ว่าชาวบ้านช่วย
ท่านไปคราวนั้น ปรากฏว่านำข้าวเปลือกบ้าง ข้าวสารบ้างไป ๗ ลำเรือ เรือลำหนึ่งจุประมาณ ๑๐ เกวียนบ้าง จุประมาณ ๒๐ เกวียนบ้าง เอาไป ๗ ลำ ที่ท่านได้มายังงั้นเพราะอะไร เพราะใครมาหาท่านก็บอกท่านจะไปทอดกฐิน แล้วว่าการทอดกฐินคราวนี้ต้องเอาข้าวเอาอาหารไปสงเคราะห์คนที่อดข้าว คนนั้นก็ให้ คนนี้ก็ให้ บางคนก็ให้เงิน บางคนก็ให้ข้าว บางคนก็ให้กับ
พวกกรุงเทพฯ ก็ให้ทั้งเงินให้ทั้งของทะเล ผ้าผ่อนท่อนสไบ พวกจังหวัดสมุทรสาคร โยมพ่วง อยู่ที่นั่นก็เอาของทะเลมาเป็นลำๆ เรือ น้ำปลาอย่างดี ของทะเลต่างๆ แล้วก็เงินทองด้วย ผลที่สุดนำไป ๗ ลำเรือ แจกกันขนาดหนัก บรรดาประชาชนสาธุไปทั่วกัน
ปฏิปทาในด้านกตัญญูกตเวที

หลวงพ่อฤๅษีฯ ได้เล่าว่า

หลวงพ่อปานท่านมีความกตัญญูกตเวทีกับแม่ท่านมาก ทั้งพ่อ ทั้งแม่นั่นแหละ พ่อก็ดีแม่ก็ดี เวลาป่วยท่านไม่ยอมให้อยู่ที่บ้าน ท่านเอามารักษาตัวที่วัดให้นอนในกุฏิท่าน ผ้านุ่งแม่ของท่าน ๆ ซักเอง ท่านเอาผ้านุ่งแม่ของท่านไปตากไว้บนขื่อ ไอ้ขื่อบ้านนี่มันสูงนะลูกหลานนะ มันสูงกว่าหัวคนนะ เวลาเดินไปเดินมาหัวคนก็ต้องลอดขื่อ แต่ผ้านุ่งแม่ของท่าน ท่านไปตากไว้บนขื่อ เวลาแม่ท่านลุกไม่ถนัดท่านก็อุ้มลุกอุ้มนั่ง
ถึงได้บอกว่าแม่ท่านเป็นผู้หญิง แต่ว่าเวลานั้นท่านเป็นพระ มีคนหลายคนเขามาตำหนิท่าน ผู้หญิงเขาติว่า คุณปาน โยมของคุณน่ะเป็นผู้หญิง ผ้านุ่งเอาไปตากบนขื่อ ซักผ้านุ่งแม่เอง อุ้มลุกอุ้มนั่งเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวเองอย่างนี้แม่จะบาป
ท่านก็เลยบอกว่า พระพุทธเจ้าท่านว่าไม่บาปนี่ พระพุทธเจ้าท่านว่าดีนี่
ท่านก็ตอบกับคนพูดว่า เวลานี้ไม่ใช่คนแล้ว ฉันเป็นพระ พอฉันมาเป็นพระ ฉันเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ในเมื่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นพ่อว่าไม่บาปเป็นความดี ฉันก็เลยทำตามท่านน่ะซิ หากว่าฉันจะทำตามคนอื่นพูดก็ชื่อว่าฉันไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ฉันทำตามคำของพระพุทธเจ้าชื่อว่าฉันไม่เชื่อคนอื่น หากว่าฉันเป็นฆราวาสฉันจะเชื่อชาวบ้าน แต่ว่าเวลานี้ฉันเป็นพระ ฉันต้องเชื่อพระพุทธเจ้า
เมื่อเขาสงสัยก็ถามว่าพระพุทธเจ้าเทศน์ไว้ที่ไหน ว่าอย่างไร
ท่านก็บอกว่า พระพุทธเจ้าเทศน์ไว้ในพระไตรปิฎกมีอยู่ แล้วก็นำเรื่องราวของพระลูกเศรษฐีที่ปรากฏมาในธรรมบทมาเล่าให้ฟัง
(เป็นเรื่องพระลูกเศรษฐีที่นำพ่อมแม่ที่ตกยากจนเป็นขอทานมาอุปการะเลี้ยงดู ได้ข้าวมาก็ให้กินก่อน ตนกินทีหลัง ได้ผ้าใหม่มาก็เอาไปให้นุ่งก่อน ตนเองเอาผ้าเก่ามานุ่งแทน จนมีผู้นำเรื่องไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเมื่อทรงทราบเรื่องก็ทรงประทานสาธุการ และชมเชยภิกษุนั้น)
หลวงพ่อปานท่านบอกว่า เมื่อเอาเรื่องขึ้นมาโต้ คนคัดค้านก็ถอยหลังกรูด เท่าที่ท่านประคบประหงมพ่อแม่ของท่านนั้น หาว่าทำผิด ไปซักผ้าขี้ผ้าเยี่ยวผู้หญิง เอาผ้าผู้หญิงไปตากบนขื่อ อุ้มผู้หญิงลุก อุ้มผู้หญิงนั่ง เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวเอง ป้อนข้าวเอง หาว่าทำผิด พระทำผิดประเพณี พอโดนเรื่องนี้เข้า หลวงพ่อปานบอกว่า ถอยหลังกรูดยอมแพ้ ยกมือขอขมาท่าน
ท่านเลยบอกเรื่องขอขมาท่านไม่ถูกหรอก ธรรมะนี่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า เรื่องส่วนตัวของท่านไม่มีหรอก ท่านทำตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้า แล้วคนที่คัดค้านนั่นเป็นการค้านธรรมะของพระพุทธเจ้า การขอขมาต้องไปขอขมาต่อพระพุทธรูปในโบสถ์โน่นมันถึงจะพ้น ขอขมากับท่านไม่พ้น
อีตานั่นกลัว ลงนรกก็เลยต้องไปขอขมากับพระพุทธรูปในโบสถ์
ปฏิบัติของท่านน่ะ ท่านมีความกตัญญูกตเวทีจริง ๆ แล้วก็มีความห่วงใยในด้านบุพการีของท่านดีมาก
แล้วท่านก็บอกว่า ตอนที่ฉันโตขึ้นมาแล้วฉันก็ไปเทศน์ให้แม่ฉันฟัง พ่อฉันฟัง ถึงเรื่องอรหังและพุทโธ ว่าไม่ใช่เรื่องของคนตายจะพูดคนเดียว ต้องพูดกันก่อนตาย ภาวนากันก่อนตาย พ่อแม่ของท่านก็รับฟัง แล้วท่านก็ลงท้ายเรื่อง ท่านบอกว่า ตอนท้ายเมื่อตอนพ่อแม่ฉันตายนะ ฉันดีใจ ไม่ใช่ดีใจเพราะพ่อแม่ตายจะรับทรัพย์มรดก ไม่ใช่ยังงั้น ท่านบอกว่า พ่อแม่ฉันตาย ฉันดีใจมาก
แล้วท่านก็ว่าไป บอกว่า
ที่ฉันดีใจน่ะมันยังงี้ คือว่าทั้งพ่อแม่ฉันก่อนที่ท่านจะตายได้ญาณทั้งหมดนะ ท่านทรงญาณละเอียด แล้วก็ได้วิปัสสนาญาณละเอียด แต่ว่าท่านทั้งสองก็ต้องมาเกิดอีกวาระหนึ่ง แล้วฉันต้องเป็นลูกท่านอีกทีหนึ่ง แล้วต่อจากนั้นไปท่านก็ไม่มีโอกาสจะเกิดอีก

http://www.dharma-gateway.com/

. . . . . . .