มหานักบุญแห่งล้านนา ครูบาศรีวิชัย
ประวัติ
ครูบาศรีวิชัย เป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือของประเทศไทย (ล้านนา) ว่าเป็น “ตนบุญ” หรือ “นักบุญ” อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ตุ๊เจ้าสิลิ
ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่อ เฟือน หรืออินท์เฟือน บ้างก็ว่าอ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้นปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ของภาคกลาง) ขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ. 1240 เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ที่หมู่บ้านชื่อ “บ้านปาง” ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของนายควาย นางอุสา
ในสมัยที่ครูบาศรีวิชัยหรือนายอินท์เฟือนยังเป็นเด็กอยู่นั้น หมู่บ้านดังกล่าวยังกันดารมาก มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ 17 ปีได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัตติยะ เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา ในช่วงนั้น เด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ 18 ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ อารามแห่งนี้โดยมีครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์
3 ปีต่อมา (พ.ศ. 2442) เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่างเข้า 21 ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย
เมื่ออุปสมบทแล้ว สิริวิชโยภิกขุก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก 1 พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วย และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน
ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง 5 เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง 7 คือ
■วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง,
■วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา,
■วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ,
■วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก,
■วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย,
■วันศุกร์ ไม่ฉันเทา (อ่าน “เตา”-สาหร่ายน้ำจืดคล้ายเส้นผมสีเขียวชนิดหนึ่ง),
■วันเสาร์ ไม่ฉันบอน
นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิกและผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง 4 จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก
คำสอนที่สำคัญ
ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า “…ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว…” และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายของคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง
อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 5 เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ
การเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ในล้านนา
ในช่วงนั้น เชียงใหม่ถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงศูนย์กลางของมณฑลพายัพ ถึงแม้ทางส่วนกลางจะพยายามรวมทุกแว่นแคว้นเข้าเป็นไทยเดียวกัน แต่ล้านนายังคงเอกลักษณ์ทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ไว้อย่างเหนียวแน่น ต่างจากภาคอื่น ๆ ที่ถูกกลืนเข้าอยู่ภายใต้นโยบายการปกครองของส่วนกลาง ส่วนกลาง (สยาม) พยายามจะลดบทบาทของล้านนาลงในทุกวิถีทาง เช่น ทางด้านการปกครอง ก็ส่งข้าหลวงจากส่วนกลางมาประจำมณฑลพายัพ ส่วนทางด้านศาสนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เป็นผู้ดำเนินการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร
แต่ในขณะนั้นรูปแบบการปกครองสงฆ์ในล้านนาได้มีรูปแบบเฉพาะของตน โดยผ่านความคิดระบบครูกับอาจารย์ นอกจากนี้นิกายต่าง ๆ นั้น ยังเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขืน นิกายยอง อีกด้วย เป็นต้น
ทำดีไม่ได้ดี
แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันในระยะแรกนั้น เกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ (ถูกจับกุม) ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้นให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง ดังนั้นครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา
การที่ครูบาศรีวิชัยถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ. 2446) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้น ๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้วจึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป การจัดระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯ นี้ ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ในล้านนา องค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงทีละน้อยเพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง ดังกรณี ความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับพระครูมหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น
การต้องอธิกรณ์ระยะแรกของครูบาศรีวิชัยนั้นเกิดขึ้นเพราะครูบาศรีวิชัยถือธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตเดิมของล้านนา ส่วนเจ้าคณะแขวงลี้ซึ่งใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าคณะแขวงลี้ จึงถือว่าเป็นความผิด เพราะตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เองและเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ครูบามหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้กับหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ได้เรียกครูบาศรีวิชัยไปสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาที่ครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรโดยมิได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ การจับกุมครูบาศรีวิชัยสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วงเนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกือบ 30 ปีและแต่ละช่วงจะมีรายละเอียดของสภาพสังคมที่แตกต่างกัน
จะเห็นได้ว่า การที่ครูบาศรีวิชัยถูกจับกุมเนื่องจากความกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าคณะแขวง ตลอดจนไม่สนใจพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ อาจเนื่องด้วยครูบาเจ้าศรีวิชัยมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรม มากกว่าที่จะสนใจในระเบียบแบบแผนใหม่ อีกทั้งท่านยังยึดมั่นกับจารีตแบบแผนแบบดั้งเดิม โดยปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ที่อาจารย์พระอุปัชฌาย์สั่งสอนมา ความสัมพันธ์แบบหัวหมวดวัด ได้สร้างความผูกพันระหว่างพระในชุมชนด้วยกันที่ให้ความเชื่อถือในอาจารย์หรือพระอุปัชฌาย์ที่ถูกแต่งตั้งจากส่วนกลาง เป็นจุดเริ่มต้นของการยืนหยัดที่จะสืบสานจารีตแห่งความเป็นล้านนา
บูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานแผ่นดินล้านนา
ครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านเดินทางไปหนแห่งใดก็มีศรัทธาสาธุชนเคารพศรัทธา จากที่ได้ธุดงธ์ไปทั่วแผ่นดินล้านนาได้พบเห็นโบราณสถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแผ่นดินล้านนาเก่าแก่ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จึงได้ร่วมกับศรัทธาสาธุชนบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมวัดวาอารามโบราณสถานทั่วแผ่นดินล้านนาไม่อาจจะนับได้
หลังจากกลับจากกรุงเทพฯ แล้วไปบูรณะพระเจดีย์ พระธาตุดอยเกิ้ง อำเภอฮอด (พ.ศ. 2464) สร้างวิหารวัดศรีโคมคำพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา (พ.ศ. 2465)บูรณะพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงรายบูรณะพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ (พ.ศ. 2466) วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2467) สร้างธาตุและบันไดนาค วัดบ้านปางพระธาตุเกตุสร้อยแก่งน้ำปิง (พ.ศ. 2468) รวบรวมพระไตรปิฏกฉบับอักษรล้านนาจำนวน 5,408 ผูก (พ.ศ. 2469-2471) บูรณะวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2474) และผลงานชิ้นอมตะคือ การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ศรัทธาสานุชนมาร่วมกันสร้างถนนวันละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ตามสัจจะวาจา (พ.ศ. 2478) สร้างวิหารวัดบ้านปาง (พ.ศ. 2478 เสร็จปี พ.ศ. 2482) วัดจามเทวี (พ.ศ. 2479) สุดท้าย คือ สะพานศรีวิชัย เชื่อมระหว่างลำพูน (ริมปิง) – เชียงใหม่(พ.ศ. 2481) ที่มาสร้างเสร็จภายหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ (รวมวัดต่างๆที่ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยไปบูรณะปฏิสังขรณ์รวม 108 วัด)ต่อมามีผู้เรียกท่านว่า พระศรีวิชัย ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า ครูบาศรีวิชัยบ้าง ครูบาวัดบ้านปางบ้าง ครูบาศีลธรรมบ้างซึ่งเป็นนามที่ชาวบ้านตั้งให้ ด้วยความนับถือ
ผลงานที่เด่นมากของครูบาศรีวิชัยก็คือ การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้รับคำเรียกร้องจากศรัทธาประชาชน ให้ช่วยดำริและจัดการเรื่องนี้ จึงเริ่มลงมือสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ เชิงดอยสุเทพด้านห้วยแก้ว โดยมี พลตรี เจ้าแก้วเนาวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้ขุดจอบเป็นปฐมฤกษ์ การสร้างถนนสายนี้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากวันหนึ่งๆ จะมีผู้คนช่วยทำงานประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ถ้าคิดมูลค่าแรงงานเป็นเงินก็คงมากมายมหาศาลทีเดียว การสร้างทางสายนี้ใช้เวลา 5 เดือน กับ 22 วัน จึงแล้วเสร็จ และเปิดให้รถขึ้นลงได้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2478
การจับกุมในช่วงที่สาม พ.ศ. 2478-2479
เกิดขึ้นในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ ขณะก่อสร้างทางอยู่นั้นเอง ปรากฏว่า มีพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่รวม 10 แขวง 50 วัด ขอลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ ไปขึ้นอยู่ในปกครองของครูบาศรีวิชัยแทน เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ลุกลามไปทั่วทุกหัวเมือง รวมวัดต่าง ๆ ที่แยกตัวออกไปถึง 90 วัด พระสงฆ์ในจังหวัดต่าง ๆ ก็เริ่มที่จะเคลื่อนไหวที่จะขอแยกตัว ทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกส่งตัวไปยังกรุงเทพฯ เพื่อระงับเหตุที่จะบานปลาย ขณะเดียวกันนั้น กลุ่มพระสงฆ์วัดที่ขอแยกตัว ถูกสั่งให้มอบตัวและพระที่ถูกบวชโดยครูบาเจ้าศรีวิชัยก็โดยคำสั่งให้สึก เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกควบคุมตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งในหมู่พระสงฆ์และฆราวาสในหมู่หัวเมืองที่รักและเคารพในตัวท่าน ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัย จึงถูกโยงเข้าไปสู่ปัญหาการเมืองในขณะนั้นไปด้วย
ในขณะนั้น ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ได้แปรสภาพจากปัญหาเล็ก ๆ ระหว่างสงฆ์ล้านนารูปหนึ่งกับคณะสงฆ์ในส่วนกลาง มาเป็นปัญหาระหว่างชาวล้านนากับอำนาจจากส่วนกลาง
จากการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ยังคงปฏิบัติตามจารีตของล้านนาโดยไม่โอนอ่อนผ่อนตามนโยบายของส่วนกลาง เป็นเหมือนการปลุกจิตสำนึกของชาวล้านนา สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าท่านจะยอมรับระเบียบธรรมเนียมสงฆ์ของส่วนกลางในตอนท้ายที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่าจิตวิญญาณของล้านนานั้นได้ถูกทำลายไปด้วย กลับทว่าจิตวิญญาณของล้านนาได้แสดงให้เห็นปรากฏชัดต่อชาวล้านนาและคนทั่วไป จากที่มีอยู่แล้วยิ่งชัดเจนเพิ่มมากขึ้น จากความขัดแย้งของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย กับรัฐ ในขณะนั้นการตั้งอยู่บนพื้นฐานความพยายามที่จะสลายจิตวิญญาณล้านนา เพื่อที่จะรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่นเป็นเอกภาพกับส่วนกลาง เพื่อที่จะต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม แต่ในปัจจุบัน รัฐให้การสนับสนุนทุกวิถีทางที่จะปลุกกระแสความเป็นล้านนา เพื่อใช้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแหล่งหนึ่งเมื่อเทียบกับครั้งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยปลุกกระแสการสืบสานจิตวิญญาณล้านนา ไม่อาจนำมาเทียบได้เลย
สิ้นแห่งตนบุญล้านนา
เมื่อครูบาเจ้าโดนขับออกจากเมืองเชียงใหม่ ครูบาเจ้าได้ปวารณาตนว่าจะไม่กลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก เว้นแต่แม่น้ำปิงจะไหลย้อนกลับ ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2481 ที่วัดบ้างปาง ขณะมี อายุได้ 59 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางนั้นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี จนถึงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาถวายพระเพลิงศพเป็นจำนวนมาก
“ตราบใดสายน้ำปิงไม่ไหลคืน จะไม่เหยียบแผ่นดินเชียงใหม่ตราบนั้น”…
นี่เป็นคำวาจาสิทธิ์ที่”ครูบาศรีวิชัย”ได้กล่าวไว้กับหลวงศรีประกาศ หลังจากที่ท่านพ้นข้อกล่าวที่ถูกทางคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่กล่าวร้าย นับว่าเป็นวาจาสิทธิ์ที่ออกมาจากปากนักบุญแห่งล้านนาไทย ก่อนที่ครูบาศรีวิชัยจะกลับสู่เมืองลำพูนจนกระทั่งวาระสุดท้ายของท่าน…
กาลต่อมา เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของครูบาศรีวิชัย ผู้ช่วยพัฒนาศาสนสถานที่ชำรุดทรุดโทรม กลับคืนสู่อดีตที่เจริญรุ่งเรือง บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือ พระสงฆ์ พ่อค้า ข้าราชการและประชาชน จึงมีการลงประชามติจัดสร้าง “อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย”…ขึ้น
อนุสาวรีย์นี้สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ หล่อเท่าองค์จริงในท่ายืน จัดสร้างและออกแบบโดยช่างของกรมศิลปากร…การสร้างดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อย แต่คณะกรรมการไม่สามารถนำเอาขึ้นไปประดิษฐานที่เชียงใหม่ได้ เล่ากันว่าเมื่อจะเอาขึ้นไปคราวใด มักจะเกิดอุปสรรคและปัญหาเสมอ…
จนเวลาได้ล่วงเลยไปนานหลายปี “หลวงศรีประกาศ” ทนรอต่อไปไม่ไหว จึงได้นำเอาดอกไม้ไปบูชา นัยว่าเพื่อเป็นการบอกกล่าวอัญเชิญ และตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า…
“แม้จะมีเหตุขัดข้องอย่างไร ก็จะต้องจัดการเอาขึ้นไปให้ได้…”
ซึ่งก่อนจะนำขึ้นไปหลวงศรีประกาศ ได้โทรเลขสั่งชาวเชียงใหม่เตรียมขบวนแห่มารอรับที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ เมื่อได้เวลาจึงอัญเชิญรูปหล่อครูบาศรีวิชัยขึ้นรถด่วนเชียงใหม่ บรรดาคณะสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนและเจ้านายฝ่ายเหนือได้ร่วมกันจัดขบวนแห่มารอรับอย่างคับคั่งและทำการเฉลิมฉลองสมโภชอย่างยิ่งใหญ่…
และในวันที่รูปหล่อครูบาศรีวิชัยถูกอัญเชิญถึงจังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง… “ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ประชาชนซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแม่น้ำแม่ปิงต้องจดจำได้อย่างไม่มีวันลืมเลือน”….คือ….
“กระแสน้ำปิงได้ไหลบ่า หวนย้อนกลับคืนขึ้นเหนือ กระแสน้ำได้นองท่วมท้นจนเต็มเขื่อนภูมิพล ท่วมถึงเขตอำเภอฮอด…..”
สัจจวาจาของ “ครูบาศรีวิชัย” ที่ได้กล่าวไว้… “แม้แต่ธรรมชาติก็ยังไม่สามารถขัดขวางได้…”
การที่กระแสน้ำปิงได้ไหลย้อนกลับขึ้นไปนั้น เนื่องจากทางการสั่งปิดเขื่อนเพื่อใช้งานเป็นครั้งแรก ในการกักเก็บน้ำสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าและเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกรได้มีไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง..
”คำพูดของท่านครูบาศรีวิชัยที่ท่านได้เอ่ยไว้กับหลวงศรีประกาศ…เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และแม้กระทั่งท่านใกล้จะมรณภาพที่ก็ยืนหยัดในวาจาสิทธิ์ของท่าน…ที่เป็นปริศนาซึ่งไม่มีผู้ใดจะคาดคิด….”
จะว่าเป็นเหตุบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่จะคิดกันไป….แต่มันก็เป็นเหตุการณ์ที่คนทั่วไปกล่าวกันว่าอัศจรรย์ยิ่งนัก….
“เขื่อนภูมิพลเปิดใช้ น้ำปิงไหลคืนขึ้นเหนือ.. สมดั่งคำวาจาสิทธิ์ของครูบาศรีวิชัยและท่านครูบาฯก็ได้ขึ้นมาที่เชียงใหม่จริง ๆ…”
“อะยัง วุจจะติ สิริวิชะโย นามะ มหาเถโร อุตตะมะสีโล นะระเทเวหิ ปูชิโต โส ระโห ปัจจะยาทีนัง มะหะลาภา ภะวันตุ เม อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ…”อธิบายความตามข้างบนว่า…”พระมหาเถระรูปนี้..” ซึ่งพุทธศาสนิกชนพากันเรียกขานว่า “พระมหาเถระศรีวิชัย” ผู้มีศีลอันอุดม ผู้อันเหล่านรชนและเทวดาพากันบูชา ท่านเป็นผู้สมควรแก่เครื่องสักการะบูชาอันมีปัจจัยสี่เป็นต้น ขอให้ลาภเป็นอันมากจงเกิดมีแก่ข้าพเจ้า…
ข้าพเจ้าขออภิวาทซึ่งพระเถระเจ้ารูปนั้นตลอดเวลา ขอกราบไหว้ด้วยเศียรเกล้า ขอกราบไหว้ด้วยอาการทั้งปวง ขอให้สำเร็จประโยชน์ ขอให้สำเร็จประโยชน์ ขอให้สำเร็จประโยชน์ ข้าพเจ้าขออนุโมทนาฯ…
ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki
http://www.watkoh.com/