ปัจฉิมบท ในวัยชรานบแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนครเปลี่ยนอิริยาบทไปตามสถานที่วิเวกผาสุขวิหารหลายแห่ง คือ ณ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง (ปัจจุบันเป็นอำเภอโคกศรี สุพรรณ) บ้าง ที่ใกล้ๆ แถวนั้นบ้าง
ครั้นพ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยุ่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต ตลอดเวลา ๘ ปี ในวัยชรานี้ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวัน ศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้วให้ชื่อว่า “มุตโตทัย” ครั้นมาถึงปี ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างขึ้น ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ไกลต่างก็ทะยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจ และรักษาแล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคมเพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ
ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาสใกล้เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางมาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐ เศษ ครั้นถึงเวลา ๒.๒๓ น.ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่านก็ได้ถึงมรณภาพด้วยอาการสงบ ในท่างกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน รวม ๕๖ พรรษา การบำเพ็ญประโยชน์ของท่านหลวงปู่ประมวลลงในหลัก ๒ ประการดังนี้
๑. ประโยชน์ชาติ ท่านหลวงปู่ได้เอาธุระเทศนาอบรมสั่งสอนศีลธรรมอันดีงามแก่ประชาชน พลเมืองของชาติในทุกๆ ถิ่นที่ท่านได้สัญจรไปคือ ภาคกลางบางส่วน ภาคเหนือเกีอบทั่วทุกจังหวัดภาคอีสานเกือบทั่วทุกจังหวัด ไม่กล่าวสอนให้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองของประเทศ ทำให้พลเมืองของชาติผู้ได้รับคำสั่งสอนเป็นคนดี มีศีลธรรมดี มีสัมมาอาชีพง่ายแก่การปกครองของผู้ปกครอง ชื่อว่าได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติตามควรแก่ชาติตามควรแก่สมณวิสัย
๒. ประโยชน์ศาสนา ท่านหลวงปู่ได้บรรพชาและอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนานี้ด้วยความเชื่อ และความเลื่อมใสจริงๆ ครั้นบวชแล้วก็ได้เอาธุระศึกษา และปฏิบัติธรรมวินัยด้วยความอุตสาหะพากเพียรจริงๆ ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญสมณธรรม ท่านปฏิบัติธุดงควัตรเคร่งครัดถึง ๔ ประการดังกล่าวแล้วเบื้องต้น ได้ดำรงรักษาสมณกิจไว้มิให้เสื่อมสูญ ได้นำหมู่คณะฟื้นฟูปฏิบัติธรรมวินัยได้ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ และพระพุทธโอวาท หมั่นอนุศาสน์สั่งสอนศิษยานุศิษย์ให้ฉลาดอาจหาญในการฝึกฝนอบรมจิตใจตามหลักการสมถวิปัสสนา อันสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้ เป็นผู้มีน้ำใจเด็ดเดี่ยวอดทนไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมแม้จะถูกกระทบกระทั่งด้วยโลกธรรมอย่างไรก็มิได้แปรเปลี่ยนไปตาม คงมั่นอยู่ในธรรมวินัยตามที่พระบรมศาสดาประกาศแล้วตลอดมา ทำตนให้เป็นทิฏฐานุคติแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี ท่านได้จาริกไปเพื่อแสวงวิเวกตามที่ต่างๆ คือ บางส่วนของภาคกลางเกือบทั่วทุกจังหวัดในภาคเหนือ เกือบทุกจังหวัดของภาคอิสาน และแถมบางส่วนของต่างประเทศอีกด้วย นอกจากเพื่อวิเวกในส่วนตนแล้วท่านมุ่งไปเพื่อสงเคราะห์ผู้มีอุปนิสัยในถิ่นนั้นๆ ด้วย ผู้ได้รับสงเคราะห์ด้วยธรรมจากท่านแล้วย่อมกล่าวได้ด้วยความภูมิใจว่า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ส่วนหน้าที่ในวงการคณะสงฆ์ท่านหลวงปู่ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าในฐานะเจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุกติกาให้เป็นพระอุปัชฌายะในคณะธรรมยุตติกาตั้งแต่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับตั้งเป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมของเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจันทเถระ จันทร์) ท่านก็ได้ทำหน้าที่นั้นโดยเรียบร้อยตลอดเวลาที่ยังอยู่เชียงใหม่ ครั้นจากเชียงใหม่มาแล้วท่านก็งดหน้าที่นั้น โดยอ้างว่าแก่ชราแล้ว ขออยู่ตามสบาย งานศาสนาในด้านวิปัสสนาธุระ นับว่าท่านได้ทำเต็มกำลังยังศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ให้อาจหาญรื่นเริงในสัมมาปฏิบัติตลอดมา นับแต่พรรษาที่ ๒๓ จนถึงพรรษาที่ ๕๙ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน
อาจกล่าวได้ด้วยความภูมิใจว่าท่านเป็นพระเถระที่มีเกียรติคุณเด่นที่สุดในด้านวิปัสสนาธุระรูปหนึ่งในยุคปัจจุบัน…
ไปหน้า 1 / 2 / 3
รวบรวมจากอัตชีวประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต โดยพระอริยคุณาธาร วัดป่าเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://goldfish.wimutti.net/a_mun/kaew04.htm