พระสมเด็จวัดระฆังนอกสายตาเซียน
วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556
พระสมเด็จวัดระฆัง
พระสมเด็จวัดระฆัง คือพระที่หลวงปู่โต หรือบรรดาสานุศิษย์ของพระคุณท่านสร้างขึ้นมาต่อหน้าท่านที่วัดระฆัง โดยอยู่ในการควบคุมของท่าน ซึ่งทราบจากประวัติการบอกเล่าจากหลาย ๆ ที่ว่าแทบทุกวันจะมีการตำโขกมวลสารต่าง ๆ และอัดเป็นองค์พระกันที่หน้ากุฏิของท่าน เมื่อตากแห้งดีแล้วก็นำขึ้นไปเก็บไว้ที่หอสวดมนต์ของท่าน ซึ่งท่านจะนั่งสวดมนต์ภาวนาปลุกเสกพระของท่านทุกวัน
แม่แบบหรือแม่พิมพ์พระก็มีมากมายหลายแบบ มีทั้งที่ช่างจากวังหลวงบ้าง วังหน้าบ้าง วังหลังบ้าง ชาวบ้านผู้มีฝีมือในการแกะพิมพ์บ้าง ลูกหลานของท่านบ้าง ช่วยกันแกะแม่พิมพ์ถวาย ถ้าเป็นชาวบ้านแม่พิมพ์ก็เป็นไม้ธรรมดา ถ้าเป็นช่างหลวงแม่พิมพ์ก็เป็นไม้ที่แข็งแรงทนทาน หรือใช้หินอ่อนบ้าง หินลับมีดโกนหรือหินทรายบ้าง เครื่องแกะสลักก็มีมาตรฐาน ก็จะได้แม่พิมพ์ที่สวยงาม มาตรฐาน
ดังนั้นพระสมเด็จวัดระฆังจึงมีมากมาย ซึ่งจากการบันทึกย่อประวัติหลวงปู่โตและพระสมเด็จของท่านมีรายละเอียดไว้พอสมควรทีเดียว
บันทึกย่อของหลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์
ประวัติของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จโตมีคนบันทึกและแต่งไว้ 2-3 คน แต่มาเขียนเอาสมัยหลังก็มี สถานที่เกิด วันเดือนปีเกิด ไม่ตรงกันสักฉบับ ฉบับที่คนให้การเชื่อถือคือของพระยาทิพย์โกษา (สอน โลหนันท์) ซึ่ง วันเดือน ปี เกิด พอเข้ากับบันทึกที่หลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ ซึ่งเคยรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จโตแทบจะทุกวัน เพราะไปช่วยท่านทำพระสมเด็จนั่นเอง บันทึกย่อนี้มีใจความว่า
“พ่อโตบวชพระเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ เกิด ชาตะ ๒๓๓๐ บวชพระ ๖๕ พรรษา มรณะ ๒๔๑๕ บวชเณร ๘ พรรษา บวชตั้งแต่เป็นเณร พ.ศ.๒๓๔๒”
ตัวอักษรดำใหญ่เป็นบันทึกเพิ่มเติมภายหลังว่า “แต่ เป็นบันทึกของหลวงปู่คำ เขียนไว้ถี่ถ้วน เป็นที่เชื่อได้ เป็นประวัตอันแท้จริงของขรัวโตวัดระฆัง แล้วมาลอกต่อเมื่อปู่คำได้มรณภาพ ไปแล้ว ๔ ปี ในราว พ.ศ.๒๔๒๕ แล้วบันทึกนี้ตกอยู่ที่พระครูปลัดมิศร์ และนายพึ่ง ลูกนายเหลี่ยมบ้านช่างหล่อ ได้ไปขอปลัดมิศร์มาลอกเอาไว้ในราว ๒๔๓๙ แล้วนายจอม องค์ช่างหล่อ มาลอกครั้งสุดท้ายเมื่อ ๒๔๔๓ นายจอมเป็นหัวหน้ากองโรงกษาป ได้ลอกมาจากบ้านช่างหล่อ หลังวัดระฆัง เป็นหลานนายพึ่งปฏิมาปกร เคยเป็นเจ้ากรมกษาปหรือช่างสิบหมู่สมัยนั้น ต่อมา หลานนายจอมได้ลอกมาไว้เป็นครั้งสุดท้าย พระคุณท่านได้เป็นพระวิปัสสนาสูง จะหาพระองค์ใดมาเปรียบมิได้”
อีกหน้าเป็นบันทึกของหลวงปู่คำต่ออีกว่า “พิมพ์พระสมเด็จทรงนิยมที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จัก
พิมพ์ที่ ๑ ทรงพระประธาน มี ๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๒ ทรงชายจีวร มี ๑๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๒ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๓ อกร่องหูยานฐานแซม มี ๓ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๔ เกศบัวตูม มี ๔ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๕ ปรกโพธิ์มีพิมพ์ที่ไม่แตกมี ๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๖ ฐานคู่มีพิมพ์ที่ไม่แตก มี ๓ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๗ เส้นด้าย มี ๑๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๒ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๘ สังฆาฏิ มี ๗ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๙ หน้าโหนกอกครุฑ มี ๑๖ พิมพ์ ทั้งพิมพ์ใหญ่
พิมพ์ที่๑๐ พิมพ์ทรงเจดีย์ มี ๒ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
เมื่อพระคุณท่านได้มรณภาพแล้ว รวมพิมพ์พระที่ไม่แตกชำรุดได้ ๑๖๔ พิมพ์ เป็นพิมพ์สมเด็จที่นิยมและไม่นิยม ๘๑ พิมพ์ นอกนั้นเป็นพิมพ์พระอย่างอื่นเสีย ๘๓ พิมพ์ แล้วที่แตกหัก ๘ ถาดทองเหลืองเต็ม ๆ และพิมพ์ไกเซอที่เสด็จยุโยป ๓๐๐ องค์ ๆ พิมพ์เป็นพระได้แจกให้พระเจ้าไกเซอ ต่อมาได้ทำพิมพ์เศียรบาตรขึ้นมาแทนพิมพ์ไกเซอ เพราะใครก็อยากได้พิมพ์ไกเซอ เลยเอาพิมพ์เศียรบาตรแทน ต่อมาคนได้เชื่อว่าพิมพ์นี้เป็นพิมพ์ไกเซอ แต่ความจริงไม่ใช่ พิมพ์ไกเซอองค์พระนั่งบนบัว.” จบบันทึกของหลวงปู่คำเพียงเท่านี้
ทีนี้ เมื่อพิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังที่ไม่แตกชำรุดมีถึง 164 พิมพ์เช่นนี้ ถ้ารวมทั้งที่แตกไปแล้วมันจะมีกี่ร้อยพิมพ์ก็ไม่รู้ได้ แต่เอาเฉพาะที่ยังไม่แตกไว้เป็นหลักฐานแค่นี้ก็มากพอแล้วที่จะแสดงให้เห็นว่าพระสมเด็จวัดระฆังนั้นมีมากมายเหลือเกิน ที่ท่านเอาไปแจกตอนบิณฑบาตนั้นจะหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ซึ่งมันก็กระจัดกระจายไป ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ผู้คนก็อาจไม่ได้ให้ความสำคัญจนรักษาไว้อย่างหวงแหน เพราะมันไม่มีราคาค่างวดอันใดให้เหลือแล ก็น่าจะสาบสูญไปกับการเวลา ที่เหลือมากก็อยู่กับเจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ให้ความเคารพนับถือท่านมาก ๆ ก็จะเก็บพระของท่านแต่ละชุด ๆ ไว้มากพอทีเดียว พระเหล่านี้ในภายหลังก็ถูกแจกจ่ายออกมาสู่บุคคลภายนอกบ้าง ในช่วงที่พระสมเด็จเริ่มหายากขึ้นแล้ว
สมัยก่อนโน้นการค้าขายพระยังไม่มี แผงพระวัดราชนัดดาและท่าพระจันทร์ก็ยังไม่มี พระสมเด็จก็จะอยู่กับบุคคลต่าง ๆ ตามที่กล่าวแล้ว อาจจะมีการอวดกันบ้างเมื่อคนชอบสิ่งเดียวกันจรมาพบกัน และมีการแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งก็มักเป็นคนขั้นสูง ส่วนชาวบ้านร้านตลาดก็คงมีไม่มากพอที่จะอวด เพราะรักษาไว้ไม่ดีก็เสื่อมสูญไปก่อนที่พระจะดัง พอพระดังขึ้นมาก ๆ ในสมัยหลัง ก่อนและหลัง พ.ศ. 2500 ไม่มากนัก คนที่มีพระสมเด็จไว้อวดกันก็เหลืออยู่ไม่มากนัก
เมื่อมาถึงยุคที่ ตรี ยัมปวาย ได้รวบรวมประวัติสมเด็จโตและการสร้างพระสมเด็จขึ้น และรวบรวมพระสมเด็จถ่ายรูปลงหนังสือนั้น จึงมีพระสมเด็จไม่มากพอ คือมีให้เห็นไม่กี่พิมพ์เท่านั้นเอง ต่อมาเมื่อมีกรุพระสมเด็จวัดนั้นบ้างวัดนี้บ้างแตก ก็มีพระสมเด็จพิมพ์ต่าง ๆ ทะลักสู่ตลาดพระเครื่องมากขึ้นให้ได้ชมและเลือกหาบูชากันในราคาแพง ๆ จนที่สุดก็มีกลุ่มที่เห็นว่าพระสมเด็จเป็นที่สนใจของบุคคลระดับสูง มีกำลังซื้อมาก ก็เข้ามาจัดระดับความสำคัญของพระสมเด็จให้เป็นพิเศษขึ้นไปอีก ก็กลายเป็นกลุ่มที่เข้ามาการันตีว่าพระเด็จองค์ไหนจริงองค์ไหนปลอม เมื่อสังคมให้ความเชื่อถือคนกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ พระสมเด็จของจริงแท้เลยเหลืออยู่เพียงไม่กี่พิมพ์ โดยเขาเอาพิมพ์ที่แกะโดยหลวงวิจารณ์เจียรนัย ที่แกะพิมพ์โดยหินลับมีดโกน เป็นพิมพ์ยอดนิยม นอกนั้นก็ลดหลั่นลงมา ขึ้นอยู่ว่ามาจากกรุวัดไหน ก็ต้องเป็นกรุของวัดที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันมาก่อน จึงจะจัดให้เป็นของแท้ ของมีราคา
ดังนั้นพระสมเด็จของแท้ที่ไม่มีชื่อเสียงก็หามีราคาค่างวดใด ๆ ไม่ ถึงแม้จะวางอยู่บนแผงพระแบกะดินก็หามีคนรู้จักไม่ ก็ตีเก๊ไปเสียสิ้น จึงโชคดีไปตกอยู่กับคนที่มีตาในบ้าง คนที่รู้จักของเก่าบ้าง ได้เก็บพระเหล้านั้นไปในราคาเหมือนได้เปล่า แต่ถึงกระนั้นเมื่อนำไปเสนอตลาดพระก็ยังไม่มีราคาอยู่นั่นเอง เพราะเป็นพระนอกพิมพ์ที่เขากำหนดกัน เขาไม่เล่นกัน ก็คำว่าเล่นนี่แหละ ทำให้ของดีกลายเป็นของนอกสายตา คนที่แสวงหาก็จะแสวงหาแต่ของที่เล่นกัน เพราะเอาไปปั่นเป็นเงินทองได้ แต่คนที่แสวงหาความศักดิ์สิทธิ์ของพระสมเด็จก็ไม่รู้จะหาแบบไหน เพราะความรู้ในพระสมเด็จจริง ๆ นั้นกลับหาได้ยาก เพราะที่เขาเผยแพร่กันในหนังสือและนิตยสารต่าง ๆ นั้นมันก็อยู่ในวงพานิชกันทั้งนั้น
พระสมเด็จวัดระฆังที่เซียนพระไม่เคยเห็น
ใน ช่วงที่มีการบูรณะวัดพระแก้ว และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีพระสมเด็จแตกกรุทะลุทะลายออกมามากจริง ๆ มากจนวงการพระสมเด็จอกสั่นขวัญแตก เพราะมันอาจทำให้ราคาพระสมเด็จองค์ละหลาย ๆ ล้านกลายเป็นพระหลักร้อยหลักพันก็ได้ จึงมีการตีกันจากคนในตลาดพระเครื่องว่าพระสมเด็จวังหน้า พระสมเด็จวัดพระแก้วไม่มีจริง เป็นเพียงการกรุข่าวเท่านั้น ซึ่งถ้อยคำที่มาจากบรรดาเซียนพระก็ทำให้คนเชื่อถือ จึงทำให้พระที่มาจากวัดพระแก้วถูกตีเป็นพระเก๊ไปหมด แม้วางอยู่บนแผงไหนคนก็ไม่ให้ความสนใจ เพราะไม่มีราคาค่างวดในการตลาดนั่นเอง จึงได้ดีเฉพาะคนที่รู้จักและรู้คุณค่าตามเก็บจากตลาดท่าพระจันทร์บ้าง วัดราชนัดดาบ้าง ในราคาถูก ๆ เหมือนได้เปล่า
เชื่อ มั้ยว่าในจำนวนพระที่แตกกรุมาจากวัดพระแก้วนั้นไม่ได้มีแต่พระที่ทางวังหน้า หรือวังหลังสร้างขึ้นมาเท่านั้น มันมีพระสมเด็จวัดระฆังก็ติดออกมาด้วยจำนวนมาก ซึ่งพระเหล่านั้นเป็นพระที่เจ้านายระดับสูงท่านเก็บสะสมจากวัดระฆัง เมื่อมีการสร้างพระแต่ละพิมพ์ท่านก็ไปขอมาเก็บไว้ มีจำหนวนหลายสิบพิมพ์ แต่ที่แปลกคือไม่มีพิมพ์นิยมของหลวงวิจารณ์เจียรนัยเลย แสดงว่าผู้เก็บได้เสียชีวิตไปก่อนที่หลวงวิจารณ์จะแกะพิมพ์นิยม แต่มีพิมพ์ที่สวยงามคล้ายของหลวงวิจารณ์อยู่หลายพิมพ์ทีเดียว ซึ่งผมจะนำแสดงให้ท่านชมทั้งหมด
พระเหล่านี้มีที่มาที่แน่นอน แต่ก่อนก็ไม่กล้าบอกเล่า แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาใด ๆ แล้ว คือ เมื่อมีการบูรณะวัดพระแก้วก็ต้องมีการรื้อหลังคา และปรับปรุงส่วนต่าง ๆ ที่ทรุดโทรมลง เมื่อช่างขึ้นไปรื้อหลังคาจึงพบว่ามีหีบไม้ ลังไม้ หีบหนัง มากมาย วางอยู่บนเพดาน เมื่อเปิดดูก็พบว่าเป็นพระเครื่องชนิดต่าง ๆ จึงต้องนำลงมาเก็บรักษาไว้ในสถานที่อันสมควร ผู้เคลื่อนย้ายพระเหล่านี้ก็ต้องเป็นนายทหารช่างระดับสูงซึ่งมีอำนาจ ดังนั้นหีบกำปั่น ลังไม้ต่าง ๆ จึงถูกนำออกมาจากวัดพระแก้วโดยรถจีเอ็มซี จะกี่คันรถไม่ทราบได้ เมื่อบูรณะพระอุโบสถเสร็จแล้วก็นำขึ้นไปเก็บไว้ดุจเดิม
แต่ สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือของขึ้นไปเก็บไม่ครบ เพราะท่านนำส่วนหนึ่งมาแจกจ่ายให้บริวารญาติมิตรของท่าน นี่คือที่มาของพระกรุวัดพระแก้วแตก ที่พวกช่างนำออกมานั้นไม่มากหรอก และถูกยึดคืนจำนวนมาก แต่ที่ไม่ได้ถูกยึดคืนนั้นมีจำนวนมากกว่า และไม่ได้แพร่งพรายในช่วงระยะ 30 ปีแรก ถ้าจะมีคนแสวงหาพระวัดพระแก้วในช่วงแรกนั้นจะได้จากกรุเจดีย์ทองที่พวกช่าง แอบนำออกมา และเจ้าของร้านที่ท่าพระจันทร์และวัดราชนัดดาแอบเก็บไว้ เขาจึงยึดเอาไปไม่ได้ เมื่อผ่านไปหลาย ๆ ปี เมื่อมีคนไปถามหา เจ้าของร้านก็นำออกมาขายให้ แต่ก็ยังไม่กล้าวางหน้าร้าน นี่คือที่มาของพระที่เขาหาซื้อได้ยุคแรก แล้วข่าวเรื่องพระวัดพระแก้วก็ค่อย ๆ หายไปจากวงการ คนที่ไปหาสมัยหลังก็ไม่เหลือเช่นกัน
จนมา ถึงปี 2549 ผมได้เขียนเรื่องนี้นิตยสารพระเครื่องติดต่อกันหลายฉบับ จึงมีการแสวงหาพระเหล่านี้กันขึ้นมาอีก จากนั้นพระที่ถูกเก็บไว้ตามบ้านนายทหารก็ถูกทยอยออกมาสู่ตลาด แต่ส่วนมากเป็นพระที่สร้างยุครัชกาลที่ ๕ ในวาระต่าง ๆ กัน ไม่มีพระจากเจดีย์ทองเลย เพราะพระเจดีย์ทองถูกจับเข้ากรุเหมือนเดิม ที่หลงเหลืออยู่ก็ไปสู่บุคคลภายนอกที่ช่างรู้จัก เขาจึงยึดคืนไม่ได้ ดังนั้นอย่าได้สงสัยเลยว่าพระทีท่านพบในท้องตลาดว่าเป็นจริงหรือเก๊ แต่มันก็มีเก๊นะ ไม่ใช่ไม่มี ต้องดูของเก่าเป็นจึงรู้ว่าจริงหรือเก๊
ทีนี้มันมีพระสมเด็จวัดระฆังจริง ๆ ที่ติดออกมาด้วย พระเหล่านี้ตกอยู่กับนายทหารยศพันเอก ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของท่านนายพลที่นำพระออกมา ซึ่งท่านแบ่งพระใส่ถุงกระสอบวางไว้ให้ลูกน้องเลือกเอาเอง ก็แล้วแต่ใครจะได้ถุงไหน เป็นพระอะไรแบบไหน ท่านผู้พันท่านหนึ่งได้พระสมเด็จวัดระฆังทั้งสิ้น จำนวนหลายพันองค์ มีพิมพ์ต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่มีพิมพ์ของหลวงวิจารณ์เจียรนัยเลย ผู้พันท่านนี้ตอนนี้อายุ 90 ปีแล้ว หง่อมมากแล้วครับ ผมได้เงินทองมาผมก็ค่อย ๆ ย้ายพระของท่านมาไว้ที่ผมนี่แหละ ลองชมพระของท่านนะครับ ถ้าอยากดูให้มากกว่านี้ต้องคลิกที่ลิ๊งค์ที่แนบไว้นะครับ
https://picasaweb.google.com/104334518550952231607
ขออภัยนะครับที่ผมไม่สามารถบอกชื่อพิมพ์ได้ ถ้าไม่โดดเด่นจริง ๆ ก็ไม่รู้จัก เช่นพิมพ์พระประธานอย่างนี้ผมดูไม่เป็น พิมพ์เจดีย์ยังงี้ ผมดูองค์ไหนมันก็คล้ายเจดีย์หมด จึงกำหนดไม่ถูก ส่วนนอกนั้นก็พอบอกได้เป็นบางพิมพ์ ซึ่งท่านผู้อ่านก็คงรู้พอ ๆ กับผมรู้ แต่ถ้าผมรู้ผมก็จะบอก เผื่อคนที่รู้น้อยกว่าผมไงครับ
ชออภัยเกี่ยวกับด้านหลังภาพที่มีบ้างไม่มีบ้าง สาเหตุเกิดจากการเขียนลำดับภาพผิดพลาด เมื่อดาวน์โหลดทำให้ภาพไม่เรียงลำดับกัน เกิดภาพหลังพระติด ๆ กันหลายภาพ ก็เลยตัดออกเพื่อความเหมาะสม
พระแต่ละองค์มาจากหีบกำปั่นเดียวกัน แต่ลักษณะแตกต่างกันนั้นผมให้คำตอบไม่ได้ โปรดช่วยกันวินิจฉัยด้วยครับ
พระสมเด็จวัดระฆัง หลังกระดาน
คำว่าหลังกระดานนี่ ท่านเอาไม้หมากมาผ่าแล้วเซาะให้เกิดร่องรอยตามร่องธรรมชาติ ใช้กดหลังพระ จึงได้รอยกระดานนี้มา ไม่ใช่แบบที่เขาหลับตาเขียนว่ากดพระกับกระดานอะไรทำนองนั้นนะครับ
ขอขอบคุณ : http://prasomdejwatrakang.blogspot.com/