หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

พระสุปฏิปนฺโนรูปหนึ่งที่ต้องการนำเสนอในโพสต์นี้ คือ หลวงพ่อเกษม เขมโก วัตรปฏิบัติของหลวงพ่อองค์นี้เป็นเรื่องอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง

ปฏิปทาของท่าน แม้ว่าจะมองดูตามลักษณะที่ท่านบำเพ็ญภาวนาในสถานที่ต่างๆดูเหมือนว่าท่านทรมานตนเกินกว่าเราจะคิดว่านั่นท่านปฏิบัติธรรม

ปกติหลวงพ่อเกษม เขมโก จะอาศัยอยู่ในป่าช้า นั่งสมาธิภาวนาอยู่ที่หน้าเชิงตะกอนเผาผีบ้าง นั่งภาวนากลางแดดร้อนระอุ นั่งภาวนายามค่ำคืนที่หนาวอย่างทารุณของภาคเหนือ นั่งภาวนาท่ามกลางสายฝนที่ตกชุก อย่างนี้เป็นต้น

ทำไมท่านต้องทำถึงขั้นนั้น จะไม่เป็นการทรมานตนจนเกินไปหรือ? เปล่าเลย!ท่านทนได้และทำได้ โดยไม่มีอันตรายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไม่เกิดกับท่านเลย

นอกจากว่า ความเจ็บป่วยที่มีขึ้นตามปกติของมนุษย์พึงมีพึงเป็นเท่านั้น มันเป็นความเลี่ยงไม่ได้

แต่การกระทำเยี่ยงท่าน เป็นนิสัยที่ท่านเคยปฏิบัติมาก่อนแต่อดีต ซึ่งท่านเคยพูดอยู่เสมอว่า”การปฏิบัติอย่างนี้ ต้องแยกกายและจิตให้ออกจากกัน”

หลวงพ่อเกษม เขมโก กำเนิดเมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือนยี่เหนือ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นบุตรชายคนหัวปีของเจ้าน้อยหนู มณีอรุณ และเจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง ณ บ้านท่าเค้าม่วง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

เจ้าเกษม ณ ลำปาง(หลวงพ่อเกษม) จบการศึกษาประถมปีที่ ๕ อันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนบุญทวงษ์สมัยนั้น

ต่อมาท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะนั้นสามเณรเกษมอายุได้ ๒๐ ปี ก็สามารถเรียนนักธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นโท มีความแตกฉานในทางธรรมมาก

พ.ศ. ๒๔๗๖ อายุได้ ๒๑ ปี ท่านจึงได้อุปสมบท โดยมีท่านเจ้าคุณธรรมจินดานายก(ฝอย) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูอุตตรวงศ์ธาดา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมโก ภิกฺขุ

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ท่านเขมโก ภิกขุ ก็ยังศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในระยะแรกๆ ในระยะหลังจากที่หลวงพ่อเกษม เขมโก เข้าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืนนี่เอง ทำให้ท่านเกิดเบื่อหน่ายและได้สละตำแหน่ง ออกเดินธุดงค์เข้าไปอยู่ในป่าช้า บำเพ็ญภาวนาธรรม

โดยท่านหลวงพ่อเกษม เขมโก ได้รับอุบายธรรมมาจากหลวงพ่อครูบาแก่น(อุบล สุมโน) ถือได้ว่าเป็นพระอาจารย์สอนกัมมัฏฐานองค์แรก

ในการปฏิบัติ หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านมีปฏิปทาเช่นเดียวกับ พระป่า ที่เที่ยววิเวกไปในที่ทุกหนทุกแห่งนั่นเอง อาศัยป่าที่สงบจากผู้คน โดยเฉพาะป่าช้าศาลาวังทาน ในเขตจังหวัดลำปาง

หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ทุกคนเข้าใจปฏิปทาของท่าน แล้วพากันสงสัยว่า”การปฏิบัติที่ตึงเปรี๊ยะ คือการนั่งภาวนากลางแดดจัดร้อนระอุบ้าง นั่งทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ไหวกายบ้าง อดอาหารเป็นเวลานานถึง ๔๙ วันบ้าง มิหนำซ้ำท่านยังไม่ติดในรสอาหารอีกด้วย”

ดังนั้น คณะศรัทธาทั้งหลาย จึงมีความเป็นห่วงกังวลในเรื่องนี้มาก เพราะเป็นการถือเคร่งทรมานกิเลสภายใน อันได้แก่ตัณหาอุปาทาน เป็นวิธีที่ล่อแหลมต่ออันตรายทางด้านสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง

หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านไม่มีความกังวลในการทรมานตนของท่านเลย ท่านไม่เป็นอะไร ยังแข็งแรงเช่นเดิม

หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่มีข้อวัตรปฏิบัติไม่เหมือนพระรูปอื่น อาจเป็นบารมีเก่าของท่านที่เคยดำเนินมาก่อนก็เป็นได้ เพราะการกระทำของนักปฏิบัติธรรมนั้น เป็นการรู้เฉพาะจิตตนเอง ไม่มีใครรู้หรือเดาได้เลย

หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤษฏ์ ตลอดพรรษาได้อย่างสบาย ไม่มีอะไรติดขัด ก็เพราะท่านมีกำลังจิตแก่กล้ามั่นคงนี่เอง

การกระทำเช่นท่านหลวงพ่อเกษม เขมโก จะต้องมีอารมณ์จิตระระดับฌาน ๔ หรือเรียกว่า จตุตถฌาน คือมีอารมณ์จิตสงัดเงียบ จิตไม่เกี่ยวข้องกับร่างกายสังขารเลย

ฌาน ๔ นี้ แม้ความร้อนอ่อนแข็งจะไม่มีอาการรู้เลย หรือจะมีใครมาทำอะไรแก่บุคคลผู้ได้ระดับฌาน ๔ เช่นคนมาตีศีรษะอย่างแรง มาทำร้ายร่างกาย จะไม่มีความรู้สึก เพราะจิตและกายได้แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด

ปัญหาเรื่องนี้ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย แห่งวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า

“ถ้าบุคคลใด ปฏิบัติมาได้ชั้นนี้แล้ว จะเป็นผู้มีกำลังจิตที่แก่กล้ามาก อาการเช่นนี้ ถ้าจะมีใครยกเราหย่อนลงไปในน้ำ ก็สามารถอยู่ได้ ไม่มีอันตรายเลย และไม่รู้อะไรอีกด้วย ว่าเย็นหรือหนาว

“และถ้าเขาจะจับศีรษะบิดจนรอบ ก็ไม่มีความรู้สึกอะไร จะนั่งอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง บุคคลเช่นนี้มีอำนาจจิตที่แก่กล้า แสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆได้ทุกเมื่อเลยทีเดียว”

เป็นอันว่า สรุปผลแห่งการปฏิบัติของหลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นผู้ทรงอภิญญา จะต้องแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้เป็นที่แน่นอน

หลวงปู่ ศรี มหาวีโร ท่านเคยเมตตาอธิบายว่า

“การเจริญสมาธิภาวนาแบบอุกฤษฏ์ทรมานตนนี้ เป็นการสร้าง มหาสติ อีกแบบหนึ่ง ผู้ทำสำเร็จจะมีพลังจิตแก่กล้ามาก เป็นความจริงในเรื่องนี้”

เมื่อตอนที่หลวงพ่อเกษม เขมโกยังอยู่ป่าช้าประตูม้า ศาลาดำ(สุสานไตรลักษณ์) เป็นจุดหมายปลายทางของท่านที่สนใจในทางธรรม จะเห็นได้ว่า มีผู้คนหลั่งไหลกันเข้าไปนมัสการท่านอยู่ทุกวัน

แม้ว่าท่านจะพูดน้อย คือ พูดค่อยๆ เชิงกระซิบ โดยท่านให้เหตุผลว่า” ถ้าต้องพูดกับคนทุกคนแล้ว ท่านคงไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมแน่ๆ”

หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านมีคุณธรรมวิเศษอีกข้อหนึ่ง อันได้แก่ เป็นผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ และมีเมตตาธรรมสูง โดยไม่เลือกขั้นวรรณะของผู้เดินทางไปถึงสุสานไตรลักษณ์จังหวัดลำปาง

นับได้ว่า ท่านหลวงพ่อเกษม เขโก เป็นพระสุปฏิปันโนองค์หนึ่งในภาคเหนือขณะนั้น

แม้ว่า บัดนี้ หลวงพ่อเกษม เขมโก จะได้ละสังขารมานานหลายปีแล้ว(เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙) แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านในฐานะพระกัมมัฏฐาน คงจะยืนยงอยู่นานเท่านานเป็นแน่

http://forestmonksstory.blogspot.com/2013/01/blog-post_4.html

. . . . . . .