มุตโตทัย (๒)
แนวทางการปฏิบัติให้ถึงความหลุดพ้น
๕. มูลเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุ
พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เว้นมหาปัฏฐาน มีนัยประมาณเท่านั้นเท่านี้ ส่วนคัมภีร์มหาปัฏฐาน มีนัยหาประมาณมิได้เป็น “อนันตนัย” เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรอบรู้ได้ เมื่อพิจารณาพระบาลีที่ว่า เหตุปจฺจโย นั้นได้ความว่า เหตุซึ่งเป็นปัจจัยดั้งเดิมของสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุนั้นได้แก่ มโน นั่นเอง มโน เป็นตัวมหาเหตุเป็นตัวเดิม เป็นสิ่งสำคัญ นอนนั้นเป็นแต่อาการเท่านั้น อารมฺมณ จนถึงอวิคฺคต จะเป็นปัจจัยได้ก็เพราะมหาเหตุคือใจเป็นเดิมโดยแท้ ฉะนั้น มโนซึ่งกล่าวไว้ในข้อ ๔ ก็ดี ฐีติ ภูตํ ซึ่งจะกล่าวในข้อ ๖ ก็ดี และมหาธาตุซึ่งกล่าวในข้อนี้ก็ดี ย่อมมีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัยก็ดี รู้อะไรๆ ได้ด้วย ทศพลญาณ ก็ดี รอบรู้ สรรพเญยฺยธรรม ทั้งปวงก็ดี ก็เพราะมีมหาเหตุนั้นเป็นดั้งเดิมทีเดียว จึงทรงรอบรู้ได้เป็นอนันตนัย แม้สาวทั้งหลายก็มีมหาเหตุนี้แลเป็นเดิม จึงสามารถรู้ตามคำสอนของพระองค์ได้ด้วยเหตุนี้แลพระอัสสชิเถระผู้เป็นที่ ๕ ของพระปัญจวัคคีย์จึงแสดงธรรมแก่ อุปติสฺส (พระสารีบุตร) ว่า เย ธมฺมา เหตุปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ความว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ…เพราะว่ามหาเหตุนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นตัวเดิม เมื่อท่านพระอัสสชิเถระกล่าวถึงที่นี้ (คือมหาเหตุ) ท่านพระสารีบุตรจะไม่หยั่งจิตลงถึงกระแสธรรมอย่างไรเล่า? เพราะอะไร ทุกสิ่งในโลกก็ต้องเป็นไปแต่มหาเหตุถึงโลกุตตรธรรม ก็คือมหาเหตุ ฉะนั้น มหาปัฏฐาน ท่านจึงว่าเป็น อนันตนัย ผู้มาปฏิบัติใจคือตัวมหาเหตุจนแจ่มกระจ่างสว่างโร่แล้วย่อมสามารถรู้อะไรๆ ทั้งภายในและภายนอกทุกสิ่งทุกประการ สุดจะนับจะประมาณได้ด้วยประการฉะนี้
๖. มูลการของสังสารวัฏฏ์
ฐีติภูตํ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา อุปาทานํ ภโว ชาติ
คนเราทุกรูปนามที่ได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนแล้วแต่มีที่เกิดทั้งสิ้น กล่าวคือมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็แลเหตุใดท่านจึงบัญญัติปัจจยาการแต่เพียงว่า อวิชฺชา ปจฺจยา ฯลฯ เท่านั้น อวิชชา เกิดมาจากอะไรฯ ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่ พวกเราก็ยังมีบิดามารดาอวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน ได้ความตามบาทพระคาถาเบื้องต้นว่า ฐีติภูตํ นั่นเองเป็นพ่อแม่ของอวิชชา ฐีติภูตํ ได้แก่ จิตดั้งเดิม เมื่อฐีติภูตํ ประกอบไปด้วยความหลง จึงมีเครื่องต่อ กล่าวคือ อาการของอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้วจึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งเป็นสังขารพร้อมกับความเข้าไปยึดถือ จึงเป็นภพชาติคือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านเรียก ปัจจยาการ เพราะเป็นอาการสืบต่อกัน วิชชาและอวิชชาก็ต้องมาจากฐีติภูตํเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อฐีติภูตํกอปรด้วยวิชชาจึงรู้เท่าอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง นี่พิจารณาด้วยวุฏฐานคามินี วิปัสสนา รวมใจความว่า ฐีติภูตํ เป็นตัวการดั้งเดิมของสังสารวัฏฏ์ (การเวียนว่ายตายเกิด) ท่านจึงเรียกชื่อว่า “มูลตันไตร” (หมายถึงไตรลักษณ์) เพราะฉะนั้นเมื่อจะตัดสังสารวัฏฏ์ให้ขาดสูญ จึงต้องอบรมบ่มตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชารู้เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็จะหายหลงแล้วไม่ก่ออาการทั้งหลายใดๆ อีก ฐีติภูตํ อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ด้วยประการฉะนี้
๗. อรรคฐาน เป็นที่ตั้งแห่งมรรคนิพพาน
อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ มคฺคํ สตฺตวิสุทธิยา
ฐานะอันเลิศมีอยู่ในมนุษย์ ฐานะอันดีเลิศนั้นเป็นทางดำเนินไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ โดยอธิบายว่าเราได้รับมรดกมาแล้วจาก นโม คือ บิดามารดา กล่าวคือตัวของเรานี้แล อันได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นชาติสูงสุด เป็นผู้เลิศตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีคือมีกายสมบัติ วจีสมบัติ แลมโนสมบัติบริบูรณ์ จะสร้างสมเอาสมบัติภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทองอย่างไรก็ได้ จะสร้างสมเอาสมบัติภายในคือมรรคผลนิพพานธรรมวิเศษก็ได้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติแก่มนุษย์เรานี้เอง มิได้ทรงบัญญัติแก่ ช้าง มา โค กระบือ ฯลฯ ที่ไหนเลย มนุษย์นี้เองจะเป็นผู้ปฏิบัติถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนมีบุญวาสนาน้อย เพราะมนุษย์ทำได้ เมื่อไม่มี ทำให้มีได้ เมื่อมีแล้วทำให้ยิ่งได้สมด้วยเทศนานัยอันมาในเวสสันดรชาดาว่า ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวตฺวา เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ เมื่อได้ทำกองการกุศล คือ ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาตามคำสอนของพระบรมศาสดาจารย์เจ้าแล้ว บางพวกทำน้อยก็ต้องไปสู่สวรรค์ บางพวกทำมากและขยันจริงพร้อมทั้งวาสนาบารมีแต่หนหลังประกอบกัน ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานโดยไม่ต้องสงสัยเลย พวกสัตว์ดิรัจฉานท่านมิได้กล่าวว่าเลิศ เพราะจะมาทำเหมือนพวกมนุษย์ไม่ได้ จึงสมกับคำว่ามนุษย์นี้ตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีสามารถนำตนเข้าสู่มรรคผล เข้าสู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์ได้แล
๘. สติปัฏฐาน เป็น ชัยภูมิ คือสนามฝึกฝนตน
พระบรมศาสดาจารย์เจ้า ทรงตั้งชัยภูมิไว้ในธรรมข้อไหน? เมื่อพิจารณาปัญหานี้ได้ความขึ้นว่า พระองค์ทรงตั้งมหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ
อุปมาในทางโลก การรบทัพชิงชัย มุ่งหมายชัยชนะจำต้องหา ชัยภูมิ ถ้าได้ชัยภูมิที่ดีแล้วย่อมสามารถป้องกันอาวุธของข้าศึกได้ดี ณ ที่นั้นสามารถรวบรวมกำลังใหญ่เข้าฆ่าฟันข้าศึกให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปได้ ที่เช่นนั้นท่านจึงเรียกว่า ชัยภูมิ คือที่ที่ประกอบไปด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคงฉันใด
อุปไมยในทางธรรมก็ฉันนั้น ที่เอามหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิก็โดยผู้ที่จะเข้าสู่สงครามรบข้าศึก คือ กิเลส ต้องพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้นก่อน เพราะคนเราที่จะเกิด กามราคะ เป็นต้น ขึ้น ก็เกิดที่กายและใจ เพราะตาแลไปเห็นกายทำให้ใจกำเริบ เหตุนั้นจึงได้ความว่า กายเป็นเครื่องก่อเหตุ จึงต้องพิจารณากายนี้ก่อน จะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ทำให้ใจสงบได้ ณ ที่นี้พึง ทำให้มาก เจริญให้มาก คือพิจารณาไม่ต้องถอยเลยทีเดียว ในเมื่ออุคคหนิมิตปรากฏ จะปรากฏกายส่วนไหนก็ตาม ให้พึงถือเอากายส่วนที่ได้เห็นนั้นพิจารณาให้เป็นหลักไว้ไม่ต้องย้ายไปพิจารณาที่อื่น จะคิดว่าที่นี่เราเห็นแล้ว ที่อื่นยังไม่เห็น ก็ต้องไปพิจารณาที่อื่นซิ เช่นนี้หาควรไม่ ถึงแม้จะพิจารณาจนแยกกายออกมาเป็นส่วนๆ ทุกๆอาการอันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้อย่างละเอียด ที่เรียกว่าปฏิภาคก็ตาม ก็ให้พิจารณากายที่เราเห็นทีแรกด้วยอุคคหนิมิตนั้นจนชำนาญ ที่จะชำนาญได้ก็ต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ณ ที่เดียวนั้นเอง เหมือนสวดมนต์ฉะนั้น อันการสวดมนต์ เมื่อเราท่องสูตรนี้ได้แล้ว ทิ้งเสียไม่เล่าไม่สวดไว้อีก ก็จะลืมเสียไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่ทำให้ชำนาญด้วยความประมาทฉันใด การพิจารณากายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้อุคคหนิมิตในที่ใดแล้ว ไม่พิจารณาในที่นั้นให้มากปล่อยทิ้งเสียด้วยความประมาทก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรอย่างเดียวกัน
การพิจารณากายนี้มีที่อ้างมาก ดั่งในการบวชทุกวันนี้ เบื้องต้นต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก็คือ กายนี้เอง ก่อนอื่นหมดเพราะเป็นของสำคัญ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมบทขุทฺทกนิกายว่า อาจารย์ผู้ไม่ฉลาด ไม่บอกซึ่งการพิจารณากาย อาจทำลายอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ของกุลบุตรได้ เพราะฉะนั้นในทุกวันนี้จึงต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก่อน
อีกแห่งหนึ่งท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าจะไม่กำหนดกาย ในส่วนแห่ง โกฏฐาส (คือการพิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ) ใดโกฏฐาสหนึ่งมิได้มีเลย จึงตรัสแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้กล่าวถึงแผ่นดินว่า บ้านโน้นมีดินดำดินแดงเป็นต้นนั้นว่า นั่นชื่อว่า พหิทฺธา แผ่นดินภายนอกให้พวกท่านทั้งหลายมาพิจารณา อัชฌัตติกา แผ่นดินภายในกล่าวคืออัตตภาพร่างกายนี้ จงพิจารณาไตร่ตรองให้แยบคาย กระทำให้แจ้งแทงให้ตลอด เมื่อจบการวิสัชชนาปัญหานี้ ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปก็บรรลุพระอรหันตผล
เหตุนั้นการพิจารณากายจึงเป็นของสำคัญ ผู้ที่จะพ้นทุกทั้งหมดล้วนแต่ต้องพิจารณากายนี้ทั้งสิ้น จะรวบรวมกำลังใหญ่ได้ต้องรวบรวมด้วยการพิจารณากาย แม้พระพุทธองค์เจ้าจะได้ตรัสรู้ทีแรกก็ทรงพิจารณาลม ลมจะไม่ใช่กายอย่างไร? เพราะฉะนั้นมหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาเป็นต้น จึงชื่อว่า “ชัยภูมิ” เมื่อเราได้ชัยภูมิดีแล้ว กล่าวคือปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานจนชำนาญแล้ว ก็จงพิจารณาความเป็นจริงตามสภาพแห่งธาตุทั้งหลายด้วยอุบายแห่งวิปัสสนา ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://luangpumun.org/muttothai_2.html