พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๔๒ ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ในตระกูล “สุวรรณรงค์” เจ้าเมืองพรรณานิคม
บิดาของท่านคือ เจ้าไชยกุมมาร (เม้า) ผู้เป็นหลานปู่ของ พระเสนาณรงค์ (นวล) และหลานอาของ พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ ๒ และที่ ๔ ตามลำดับ
มารดาของท่านชื่อ นุ้ย เป็นบุตรีของหลวงประชานุรักษ์
พี่น้องร่วมบิดามารดา มีอยู่ทั้งหมด ๘ คน ถึงแก่กรรมแต่ยังเล็ก ๒ คน ส่วนอีก ๖ คน ได้แก่
๑. นางกองแก้ว อุปพงศ์
๒. ท้าวกุล
๓. นางเฟื้อง
๔. พระอาจารย์ฝั้น
๕. ท้าวคำพัน
๖. นางคำผัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกคนสู่สุคติภพไปสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่ลูกหลานที่สืบสกุลอยู่ทุกวันนี้เท่านั้น
บ้านบะทอง อ.พรรณานิคม
เมื่อ บุตรทุกคนเจริญวัยเป็นท้าวเป็นนางแล้ว เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ผู้บิดา ได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่น ๆ อีกหลายครอบครัว ออกจากบ้านม่วงไข่ ไปตั้งบ้านใหม่ขึ้นอีกหมู่หนึ่ง ให้ชื่อว่า บ้านบะทอง เพราะที่นั่นมีต้นทองหลางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันต้นทองหลางใหญ่ดังกล่าวได้ตายและผุพังไปสิ้นแล้ว สาเหตุที่อพยพออกจากบ้านม่วงไข่ก็เพราะเห็นว่า สถานที่ใหม่อุดมสมบูรณ์กว่า เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่นวัว ควาย และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงไหม เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำห้วยขนาบอยู่ถึงสองด้าน ด้านหนึ่งคือ ลำห้วยอูนอยู่ทางทิศใต้ ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือลำห้วยปลา อยู่ทางทิศเหนือ
ก่อนอพยพจากบ้านม่วงไข่ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) บิดาของพระอาจารย์ฝั้น ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขมาก่อนแล้ว ครั้นมาตั้งบ้านเรือนกันใหม่ที่บ้านบะทอง ท่านก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไปอีก เพราะลูกบ้านต่างให้ความเคารพนับถือในฐานะที่ท่านเป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวางและเยือกเย็นเป็นทีประจักษ์มาช้านาน
สำหรับพระอาจารย์ฝั้น เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยรุ่น มีความประพฤติเรียบร้อย อ่อนโยน อุปนิสัยในคอเยือกเย็นและกว้างขวาง เช่นเดียวกับบิดา ทั้งยังมีความขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค หนักเอาเบาสู้ ช่วยเหลือกิจการงานของบิดามารดาและญาติพี่น้อง โดยไม่เห็นแก่ความลำบากยากเย็นใด ๆ ทั้งสิ้น
ส่วนในด้านการศึกษานั้น พระอาจารย์ฝั้นได้เริ่มเรียนหนังสือมาตั้งแต่ครั้งยังอยู่ที่บ้านม่วงไข่ โดยเข้าศึกษาที่วัดโพธิชัย แบบเรียนที่เขียนอ่านได้แก่ มูลบทบรรพกิจเล่ม ๑ – ๒ ซึ่งเป็นแบบเรียนที่วิเศษสุดในยุคนั้น ผู้ใดเรียนจบจะแตกฉานในด้านการอ่านเขียนไปทุกคน ผู้เป็นอาจารย์สอนหนังสือแก่ท่านในครั้งนั้น ได้แก่พระอาจารย์ตัน (บิดาของ พันตรีนายแพทย์ตอง วุฒิสาร) กับนายหุ่น (บิดาของ นายบัวดี ไชยชมภู ปลัดอำเภอพรรณานิคม)
ปรากฏว่า ท่านมีความหมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอันมาก สามารถเขียนอ่านได้รวดเร็วกว่าเด็กอื่น ๆ ถึงขนาดได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์ให้เป็นครูสอนเด็ก ๆ แทน ในขณะที่อาจารย์มีกิจจำเป็น
ต่อมาพระอาจารย์ฝั้น ได้ไปศึกษาต่อกับนายเขียน อุปพงศ์ พี่เขยที่เป็นปลัดขวา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปเป็นปลัดขวา อำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย
เมื่อจบการศึกษา อ่านออกเขียนได้อย่างแตกฉานแล้ว พระอาจารย์ฝั้นมีความตั้งใจที่จะเข้ารับราชการ เพราะเป็นงานที่มีหน้ามีตา ได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนในสมัยนั้น แต่ภายหลังได้เปลี่ยนความตั้งใจเดิมเสียโดยสิ้นเชิง
สาเหตุที่ท่านเกิดไม่ชอบงานราชการนั้น ก็เพราะเมื่อครั้งไปเล่าเรียนกับพี่เขยที่ขอนแก่น พี่เขยไห้ใช้เอาปิ่นโตไปส่งให้นักโทษอยู่เสมอ นักโทษคนหนึ่งคือ พระยาณรงค์ฯ เจ้าเมืองขอนแก่นนั้นเอง ท่านต้องโทษฐานฆ่าคนตาย จึงถูกคุมขังตามกระบิลเมือง นอกจากนี้ยังมีข้าราชการถูกจำคุกอีกบางคน เช่น นายวีระพงศ์ ปลัดซ้าย เป็นต้น ต่อมาพี่เขยได้ย้ายไปเป็นปลัดขวาที่อำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย ครั้นเมื่อท่านเดินทางไปเยี่ยม ก็พบพี่เขยต้องหาฆ่าคนตายเข้าอีก เมื่อได้เห็นข้าราชการใหญ่โตได้รับโทษ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยานาหมื่นดังกล่าว ท่านจึงเปลี่ยนใจ ไม่อยากเข้ารับราชการเหมือนกับคนอื่น ๆ รีบลาพี่เขยกลับสกลนครทันที ซึ่งสมัยนั้นการคมนาคมมีทางเดียวคือทางบก จากจังหวัดเลยผ่านอุดรธานีถึงสกลนคร ท่านต้องเดินเท้าเปล่าและต้องนอนค้างกลางทางถึง ๑๐ คืน
ปรากฏว่า สภาพของบรรดานักโทษที่ท่านประสบมาทั้งโทษหนักโทษเบา ได้มาเป็นภาพติดตาท่านอยู่เสมอตั้งแต่นั้น นับได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านรู้จักปลง และประจักษ์ถึงความไม่แน่นอนของชีวิต
เช้าวันรุ่งขึ้น พระอาจารย์ฝั้นออกไปบิณฑบาต กลับมาก็ฉันได้เพียงนิดหน่อย แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังตัดสินใจออกเดินธุดงค์ต่อ จัดแจงเครื่องบริขาร บ่าข้างหนึ่งสะพายบาตร บ่าอีกข้างหนึ่งแบกกลด ออกเดินไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่หายอาพาธ ระหว่างทางท่านได้พบสุนัขตัวหนึ่ง กำลังแทะกระดูกอยู่ พอมันเห็นท่านก็วิ่งหนี แต่แล้วก็เลียบเคียงกลับมาแทะกระดูกต่อ เป็นเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง ทันใดท่านได้เกิดธรรมสังเวช บังเกิดความสลดขึ้นในใจเป็นอย่างมาก จึงถามตนเองว่า ขณะนี้เธอเป็นฆราวาสหรือพระกัมมัฏฐาน ถ้าเป็นฆราวาสก็เหมือนกับสุนัขแทะกระดูกนี่แหละ กระดูกมีเนื้อหนังเมื่อไหร่ อย่างมากก็กลืนลงคอไปได้แต่น้ำลายเท่านั้นเอง แต่นี่เธอเป็นพระกัมมัฏฐาน เท่าที่เธอภาวนาไม่สำเร็จมาถึง ๓ คืน ก็เพราะเธออยากสร้างโลก สร้างภพ สร้างชาติ สร้างวัฏฏสงสาร ไม่มีสิ้นสุดแห่งความคิด อยากมีบ้าน มีเรือน มีไร่มีนา มีวัวมีควาย อยากมีเมียมีลูกมีหลาน จะไปสร้างคุณงามความดีในที่ใดก็ไม่ได้ เพราะเป็นห่วงสมบัติ และห่วงลูกห่วงเมีย พร้อมกันนั้น พระอาจารย์ฝั้นก็กล่าวภาษิตขึ้นมาบทหนึ่ง มีข้อความดังนี้
“ตัณหารักเมีย เปรียบเหมือนเชือกผูกคอ ตัณหารักลูกหลาน เปรียบเหมือนปอผูกศอก ตัณหารักวัตถุข้าวของต่าง ๆ เปรียบเหมือนปอผูกตีน”
สมบัติพัสถานต่าง ๆ ที่สร้างสมไว้ เมื่อตายลงไม่เห็นมีใครหาบหามเอาไปได้เลยสักคนเดียว มีแต่คุณงามความดีกับความชั่วเท่านั้นที่ติดตัวไป พระอาจารย์ฝั้นปลงด้วยว่า ถ้าเธอเป็นพระกัมมัฏฐานไม่ควรคิดสร้างโลกวัฏฏสงสารเช่นนั้น ควรตั้งใจภาวนาให้รู้ให้เห็นในอรรถธรรมสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งสิ้น
เมื่อกำหนดใจได้เช่นนั้น ไข้หวัดก็ดี ข้อขัดข้องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างอาพาธก็ดี ก็ปลาศนาการไปสิ้น เกิดสติสัมปชัญญะ รู้อาการของจิตทุกลมหายใจเข้าออก
ต่อมาพระอาจารย์ฝั้นจึงได้เดินธุดงค์กลับไปนมัสการพระอาจารย์มั่นที่วัดมหาชัย อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี
เมื่อไปถึง พอกราบพระอาจารย์มั่นเสร็จ ท่านก็บังเกิดความอัศจรรย์ใจอีกครั้งหนึ่ง เหมือนตอนกลับจากฝั่งลาวครั้งที่แล้ว เพราะพระอาจารย์มั่นได้หัวร่อก้ากขึ้นมาในทันใด แล้วกล่าวกับพระอาจารย์ฝั้นว่า
“ท่านฝั้น ครั้งก่อนได้ยินเสือร้อง จิตใจถึงสงบ มาครั้งนี้ได้หมาแทะกระดูกเป็นอาจารย์เข้าอีกแล้ว จึงมีสติรอบรู้ในอรรถในธรรม ท่านฝั้นถือเอาหมาแทะกระดูกเป็นอุบายอันแยบคายสำหรับเปลี่ยนจิตใจให้สงบจน สามารถทำให้เห็นแจ้งในธรรมนั้นได้ถูกต้อง ชื่อว่าเป็นศิษย์ของพระพุทธองค์โดยแท้ การเห็นอะไรแล้วน้อมนำเข้ามาพิจารณาภายในจิตเช่นนี้ เป็นการกระทำที่ชอบแล้ว”
น่าสังเกตว่า เมื่อพระอาจารย์ฝั้น สามารถฝึกจิตใจให้เข้มแข็งมั่นคง บำเพ็ญภาวนาได้ตลอดรอดฝั่ง โดยอุปสรรคใด ๆ ไม่อาจมารบกวนได้แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจขอรับการญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลา ๑๕ นาฬิกา ๒๒ นาที ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นที่พระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌายะ พระรถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ก่อนหน้านั้น ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้มีพระอาจารย์มารับการญัตติเป็นธรรมยุตอีก ๒ รูป คือ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และ พระอาจารย์อุ่น ฯ
นอกนั้นยังมีพระอาจารย์กว่า สุมโน อีกรูปหนึ่ง ซึ่งพออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทเป็นพระธรรมยุติกนิกาย หลังจากพระอาจารย์ฝั้นญัตติเพียงไม่กี่วัน
สำหรับพระอาจารย์ฝั้น ภายหลังญัตติแล้ว ท่านก็เดินทางไปหาพระอาจารย์มั่นที่วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายและจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นเลย
พระอาจารย์ต่าง ๆ ที่ร่วมจำพรรษาในปีเดียวกันนั้น (พ.ศ. ๒๔๖๘) ได้แก่
– พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
– พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน
– พระอาจารย์กว่า สุมโน
– พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ
– พระอาจารย์สาร
– พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
– พระอาจารย์กว่า สุมโน
และยังมีพระภิกษุสามเณรอีกรวมถึง ๑๖ รูป
ระหว่างพรรษานั้น พระอาจารย์ฝั้นอาพาธเป็นไข้มาเลเรีย ออกพรรษาแล้วก็ยังไม่หายขาด ปรากฏว่า ระหว่างอาพาธอยู่นั้น แม้จะมีไข้จับ แต่เมื่อถึงวันประชุมฟังโอวาทจากพระอาจารย์มั่น ท่านก็ไม่เคยย่อท้อ อุตส่าห์ไปฟังโอวาทมิได้ขาดเลยสักครั้งเดียว ยิ่งไปกว่านั้น การทำข้อวัตรปฏิบัติ เช่น ตักน้ำ และปัดกวาดบริเวณวัด ทำความสะอาดเสนาสนะ ท่านก็ร่วมทำกับภิกษุสามเณรอื่น ๆ อยู่เสมอมา แม้จะมีผู้นิมนต์ให้ท่านหยุด ท่านก็ไม่ยอม การกระทำตนเหมือนมิได้ป่วยไข้ โดยใช้พลังจิตเข้าต่อสู้ดังกล่าว เป็นอุบายให้ท่านสามารถพลิกความป่วยเจ็บมาเป็นธรรมอริยสัจจขึ้นได้ จนกระทั่งพระอาจารย์มั่นถึงกับออกปากชมว่า “ท่านฝั้นได้กำลังใจมากนะ พรรษานี้”
เมื่อใกล้จะออกพรรษา พระอาจารย์มั่นได้แระชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่วิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปเป้นพวก ๆ โดยจัดพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้ั่นให้ไปเป็นชุดเดียวกัน เพราะเห็นว่ามีนิสัยต้องกันมาก นอกนั้นก็จัดเป็นชุด ๆ อีกหลายชุด
ก่อนออกธุดงค์ พระอาจารย์มั่นได้สั่งไว้ด้วยว่า แต่ละชุดให้เดินธุดงค์เลียบภูเขา ภาวนาวิเวกไปตามแนวภูเขานั้น และแต่ละชุดก็ไม่จำเป็นต้องเดินธุดงค์ไปด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทาง ท่านใดอยากไปพักวิเวก ณ ที่ใด เช่นตามถ้ำซึ่งมีอยู่ตามทางก็ทำได้ เพียงแต่บอกเล่ากันให้ทราบ ในระหว่างพระภิกษุชุดเดียวกัน จะได้นัดหมายไปพบกันข้างหน้าเพื่อเดินธุดงค์ต่อไปได้อีก
ครั้นออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์อ่อน ได้แยกไปทางภูเขาพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ส่วนพระอาจารย์ฝั้น ออกไปทางบ้านนาบง ตำบลสามขา (ปัจจุบันเป็นตำบลกองนาง) อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แล้วไปภาวนาอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่ง
พระอาจารย์ฝั้นพักอยู่ที่วัดร้างนั้นอีกหลายวัน จึงออกเที่ยวธุดงค์ต่อไปโดยเลียบไปกับฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อเข้าเขตศรีเชียงใหม่ วันหนึ่งขณะที่ท่านออกเที่ยวไปจนค่ำ ไปพบศาลภูตาแห่งหนึ่งที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เป็นศาลากว้างครึ่งวา ยาว ๑ วา สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ ศอก มุงหลังคาด้วยแผ่นไม้เล็ก ๆ คล้ายกระเบื้อง เปิดโล่งสามด้านข้าง ท่านจึงเข้าไปอาศัยพัก ตอนย่ำรุ่ง มีคนแจวเรือมาจอดที่ริมฝั่งน้ำตรงกับบริเวณที่ตั้งศาลภูตานั้น แล้วยกมือขึ้นอธิษฐานด้วยเสียงอันดังว่า “ขอให้เจ้าแม่นางอั้วบันดาลให้ค้าขายดี ๆ ร่ำรวย อยู่เย็นเป็นสุข” ท่านนึกขำ จึงออกเสียงแทนเจ้าแม่ไปว่า “เออ เอาซี” เล่นเอาผู้นั้นรีบแจวหนีไปอย่างตกอกตกใจ
ออกจากศาลภูตาแล้วท่านก็เที่ยวต่อไป และไปแวะที่วัดผาชัน (วัดอรัญญาบรรพต) ซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกัน พักอยู่หลายวันจึงเลยไปถึงที่หินหมากเป้ง พักอยู่อีกระยะหนึ่ง ต่อมาจึงเดินทางย้อนกลับไปพบพระอาจารย์กู่และพระอาจารย์อ่อน ที่พระพุทธบาทบัวบกตามที่ตกลงกันไว้ก่อนแยกทาง แต่พอถึงบ้านผักบุ้ง เชิงเขาพระบาทบัวบก ก็ทราบว่าพระอาจารย์ทั้งสองได้ออกเดินธุดงค์ไปที่บ้านค้อแล้ว ท่านจึงพักอยู่ที่บ้านผักบุ้ง ๕ วัน โดยหาสถานที่สงบ เจริญกรรมมัฏฐานอยู่ตามภูเขาลูกนั้น
ระหว่างพำนักอยู่ที่นั่น มีเหตุการณ์อันไม่คาดฝันอุบัติขึ้น คือวันหนึ่งเมื่อท่านได้เดินขึ้นไปบนภูเขาเพื่อแสวงหาสถานที่สงบตามลำพัง ขณะผ่านราวป่าท่านถึงกับสะดุ้ง เพราะได้ยินเสียงผิดสังเกตห่างออกไปไม่มากนักทางด้านข้าง เป็นเสียงคล้ายสัตว์กำลังตะกุยดินอยู่ สามัญสำนึกบอกท่านว่าคงเป็นสัตว์ใหญ่ อาจเป็นสัตว์ร้าย และอาจเป็นเสือก็ได้
พอนึกถึงเสือ ท่านก็ยืนนิ่งตัวแข็ง แล้วในอึดใจนั้นเอง ขณะที่ท่านกำลังสำรวมจิตมิให้ตื่นเต้นต่อเหตุการณ์ที่จะบังเกิดขึ้น สัตว์ตัวนั้นก็ผงกหัวพ้นกอหญ้าอันรกทึบขึ้นมา
เสือจริง ๆ นั่นแหละ เห็นจากหัวที่โผล่ขึ้นมา ตัวมันไม่ใช่เล็ก
พอแน่ใจว่าเป็นเสือ ท่านก็เย็นวาบไปตามไขสันหลัง เหงื่อเม็ดโป้ง ๆ ผุดขึ้นตามใบหน้า ความรู้สึกบอกตัวท่านโดยฉับพลันว่า ถ้าหันหลังวิ่ง เป็นเสร็จมันแน่ มันจะกระโจนเข้าใส่อย่างไม่มีปัญหา จึงพยายามสำรวมจิตใจให้แน่วแน่เพื่อรับกับสถานการณ์ที่อุบัติขึ้นอย่าง กะทันหัน ทุกลมหายใจในขณะนั้นมันให้ติดให้ขัด ไม่สะดวกดายเหมือนในภาวะธรรมดา
นับว่าท่านตัดสินใจรับสถานการณ์ได้ถูกต้อง เจ้าเสือร้ายจ้องดูท่านได้เพียง ๒ – ๓ อึดใจ ก็ร้องก้องป่าแล้วกระโจนหายกลับเข้าไปในป่า
บรรดาพระเณรข้างล่างได้ยินเสียงร้องของเสือ ก็ตามขึ้นมาตะโกนถามว่าเกิดอะไรขึ้น ครั้นเมื่อทราบความจริงแล้ว ทุกรูปต่างก็โล่งอก
หลังจากไปเที่ยวธุดงค์ไปหลายแห่งแล้ว พระอาจารย์ฝั้น ก็กลับมายังวัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นวัดที่ท่านจำพรรษา แต่ขณะที่กลับมาถึง ปรากฏว่าก่อนหน้านั้น พระอาจารย์มั่นออกเดินธุดงค์ไปที่ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ท่านจึงได้ติดตามไป พอถึงอำเภอสว่างแดนดิน ท่านก็เกิดอาพาธขึ้น การเดินทางจึงช้าลง และมาทราบภายหลังว่า พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และ พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ได้อาราธนานิมนต์พระอาจารย์มั่นไปอยู่บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอศรีสงคราม) จังหวัดนครพนม พระอาจารย์ฝั้นได้พยายามติดตามไปจนพบพระอาจารย์มั่น แต่อาการอาพาธของท่านก็ยังไม่หายดี พระอาจารย์มั่นจึงให้ท่านนั่งพิจารณาภายในร่างกายตลอดคืน ก็น่าอัศจรรย์อยู่ไม่น้อย พอรุ่งเช้า อาการอาพาธของท่านก็หายไปราวปลิดทิ้ง ท่านจึงตั้งใจว่า ในปีต่อไปจะจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์มั่นอีก
พอเดือน ๗ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พระอาจารย์ฝั้นได้เข้าร่วมทำญัตติกรรมพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร พร้อมทั้งพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ อีกด้วย ในจำนวนพระภิกษุที่มาทำการญัตติ มีพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นสามเณรรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง ที่อุทกุกเขปสีมา (โบสถ์น้ำ) หนองสามผง สำหรับโบสถ์น้ำที่ท่านจัดสร้างขึ้นนี้ ใช้เรือ ๒ ลำลอยเป็นโป๊ะ เอาไม้พื้นปูเป็นแพ แต่ไม่มีหลังคา เหตุที่สร้างโบสถ์น้ำทำสังฆกรรมคราวนี้ ก็เพราะในป่าจะหาโบสถ์ให้ถูกต้องตามพระวินัยไม่ได้ การทำญัตติกรรมครั้งนี้ ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นพระครูชิโนวาทธำรง มาเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นอีก ๗ วัน ท่านอาญาครูดี ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์ฝั้นมาก่อน ก็เดินทางมาขอญัตติอีกรูปหนึ่ง ณ ที่เดียวกันนี้
ก่อนเข้าพรรษาประมาณ ๗ วัน กำนันบ้านดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยลูกบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเลื่อมใสศรัทธาในคณะพระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ได้เข้ามาพบ และขอร้องให้พระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง แต่พระอาจารย์มั่นมีเหตุอันจำเป็นต้องขัดข้อง จึงให้พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กว่า ไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง ตามที่ชาวบ้านปรารถนา ซึ่งนับเป็นพรรษาที่ ๒ ของพระอาจารย์ฝั้น
หลังจากออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่นได้เดินทางมาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป และได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแพร่ธรรมและไปโปรดเทศนาญาติโยม ที่เมืองอุบล พร้อมกันนั้นก็ได้หารือในการที่จะให้โยมมารดาของพระอาจารย์มั่น ย้ายไปอยู่ที่เมืองอุบลด้วย เมื่อตกลงกันแล้วก็ปฏิบัติไปตามนั้น
เมื่อส่งโยมมารดาของพระอาจารย์มั่น ไปอยู่เมืองอุบลแล้ว ก็แยกเดินทางออกเป็นหมู่ ๆ สำหรับพระอาจารย์ฝั้นได้เดินทางออกจากบ้านดอนแดงคอกช้างกับพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์กว่า และพระเณรอีก ๒ – ๓ รูป เดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ผ่านบ้านตาน บ้านนาหว้า บ้านนางัว – บ้านโพธิสว่าง จนถึงบ้านเชียงเครือ แล้วพักอยู่ที่สกลนคร ๗ วัน จึงออกเดินธุดงค์ไปทางอำเภอนาแก ลัดป่าข้ามภูเขาไปยังบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม แล้วเดินธุดงค์เข้าสู่เขตเมืองอุบล
ระหว่างเดินธุดงค์ร่วมกันมา พระอาจารย์อ่อนเกิดความวิตกและกล่าวขึ้นว่า เมื่อไปพบกับพระอาจารย์มั่นที่เมืองอุบลแล้ว ที่นั่นมีญาติโยมที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนแตกฉานเป็นปราชญ์อยู่มาก ถ้าโยมเหล่านั้นตั้งปัญหาธรรมต่าง ๆ พระอาจารย์มั่นคงต้องตอบได้ไม่ติดไม่คา แต่ถ้าถามพระอาจารย์มั่นแล้ววกมาถามพวกศิษย์อย่างเรา ๆ บ้าง ว่าจะเก่งเหมือนพระอาจารย์มั่นหรือไม่ประการใด พวกศิษย์อย่างเราจะตอบปัญหาได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ พระอาจารย์ฝั้นได้กล่าวว่า จะกลัวไปทำไมในเรื่องนี้ ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นที่ใจ รวมอยู่ที่ใจ พวกเรารู้จุดรวมของธรรมทั้งหลายอยู่แล้ว ตอบเขาไปวันยังค่ำก็ไม่มีอับจน เรื่องนี้ไม่ต้องวิตก พระอาจารย์อ่อนได้ฟังดังนั้นก็เกิดกำลังใจ หายวิตกไปได้
ทั้งหมดเดินธุดงค์ไปถึงบ้านหัววัว ตำบลกำแมด เมืองอุบล (ปัจจุบันอยู่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร) ก็พบพระอาจารย์มั่นคอยอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว เมื่อศิษย์ทั้งหลายตามมาครบทุกชุด ก็เดินธุดงค์ต่อไป จนกระทั่งไปพักที่บ้านหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี แต่พระอาจารย์มั่นแยกไปพักที่บ้านหนองขอน ห่างจากบ้านหัวตะพานไปประมาณ ๕๐ เส้น โดยพระอาจารย์ฝั้นติดตามไปจัดเสนาสนะถวาย
ระหว่างนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสเถระ อ้วน) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุติในภาคอีสาน ทราบข่าวว่าคณะพระกัมมัฏฐานของพระอาจารย์มั่น เดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระภิกษุคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกัมมัฏฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่า ในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่ พระอาจารย์สิงห์ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลฯ ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกัมมัฏฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้งพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา ฯลฯ จนหมด แม้กระทั่งนามโยมบิดามารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรหว่า ๕๐ รูป ปละพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วมร้อยคน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป
ทางฝ่ายพระอาจารย์ก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นรับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข
เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้น ก็รีบเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น พระอาจารย์มั่น ทราบเรื่องจึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า
“แผ่นดินตรงนั้นขาด”
คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่าง พระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้พระอาจารย์มั่นฟัง
เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อน ได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบล เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง
เมื่อผ่านพ้นเรื่องนั้นไปด้วยดีแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้กราบลาพระอาจารย์มั่นออกธุดงค์ ย้อนกลับไปเยี่ยม พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ที่บ้านกุดแห่ ตำบลกุดเชียงหมี อำเภอเลิงนกทา (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับจังหวัดยโสธร)
พระอาจารย์ดี ต้อนรับขับสู้พระอาจารย์ฝั้นอย่างแข็งขัน จากการถามทุกข์สุข พระอาจารย์ดีได้แสดงความวิตกกังวลต่อพระอาจารย์ฝั้นเรื่องหนึ่งว่า ท่านได้สอนธรรมข้อปฏิบัติให้ญาติโยมทั้งหลายไปแล้ว แต่ญาติโยมบางคนเมื่อปฏิบัติแล้วได้เกิดวิปัสสนูกิเลส มีอันเป็นไปต่าง ๆ บางพวกออกจากการภาวนาเดินไปถึงสี่แยก เกิดเข้าใจเอาว่าเป็นทางเดินของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้า พวกนี้จะพากันคุกเข่ากราบไหว้อยู่ที่นั่นเป็นเวลานานจึงได้ลุกเดินไปบ้าง พอไปถึงสี่แยกหน้าก็เข้าใจผิด และปฏิบัติเช่นนี้อีกเรื่อย ๆ บางคนลุกจากภาวนาได้ ก็ถอดผ้านุ่งผ้าห่มออกจนหมด เดินฝ่าญาติโยมที่นั่งภาวนาอยู่ด้วยกัน จนเกิดโกลาหลกันยกใหญ่ มีญาติโยมบางคนกราบไหว้พระอาจารย์ดี ให้ท่านช่วยไปแก้ไขให้ ท่านก็มิรู้จะแก้ได้อย่างไร เป็นเหตุให้กระวนกระวายใจมาเกือบปีแล้ว จึงขอความกรุณาให้พระอาจารย์ฝั้นช่วยแก้ไขให้ด้วย พระอาจารย์ฝั้นตรองหาทางแก้ไขอยู่ไม่นานนักก็รับปาก พระอาจารย์ดีจึงให้เณรเข้าไปป่าวร้องในหมู่บ้าน ให้บรรดาญาติโยมไปฟังธรรมโอวาทของพระอาจารย์ฝั้นที่วัดในตอนค่ำ
ถึงเวลานัด ญาติโยมทั้งหลายก็หลั่งไหลเข้าไปในวัด เริ่มแรก พระอาจารย์ฝั้นให้ญาติโยมเหล่านั้นยึดพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง เมื่อบูชาคุณพระรัตนตรัยแล้ว ท่านได้เริ่มเทศนาให้รู้จักแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง เมื่อญาติโยมเข้าใจวิธีแก้แล้ว ท่านจึงนำเข้าที่ภาวนา เมื่อเห็นผู้ใดกำหนดจิตไม่ถูกต้อง ท่านก็เตือน ขณะเดียวกันท่านก็กำหนดจิตติดตามกำกับจิตของญาติโยมเหล่านั้นไปเรื่อย ๆ ญาติโยมที่เคยกำหนดจิตหลงทาง ต่างก็กลับมาเดินถูกทางไปทั้งหมด พอเลิกจากการภาวนา ต่างก็สาธุการ และแซ่ซ้องยินดีโดยทั่วกัน พากันกราบไหว้เคารพว่า ท่านอาจารย์ช่างเข้าใจวิธีแก้ได้เก่งมาก หากไม่ได้ท่าน พวกเขาอาจถึงกับเสียจริตไปก็ได้
พระอาจารย์ฝั้นได้นำพวกญาติโยมภาวนาติดต่อกันไปถึง ๔ – ๕ คืน เมื่อเห็นว่าต่างก็เดินถูกทางกันแล้ว ท่านก็กลับมากราบเรียนพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ให้ทราบเรื่องราวที่ได้ปฏิบัติไป
พระอาจารย์ฝั้นตั้งใจไว้ว่า ในปีนี้จะจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์มั่นต่อไปอีก ขณะเดียวกันท่านอาจารย์กู่ก็ไปจำพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง อำเภอเดียวกัน ระยะนั้นปรากกว่าฝนตกชุกมาก พระภิกษุประสบอุปสรรคไม่อาจไปร่วมทำอุโบสถได้สะดวก โดยเฉพาะที่บ้านบ่อชะเนง ไม่มีพระสวดปาฏิโมกข์ได้ พระอาจารย์มั่นจึงได้สั่งให้พระอาจารย์ฝั้นซึ่งสวดปาฏิโมกข์ได้ ไปจำพรรษาเพื่อช่วยพระอาจารย์กู่ ที่บ้านบ่อชะเนง
ในระหว่างพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง พระอุปัชฌาย์ลุย เจ้าคณะตำบลบ้านเค็งใหญ่ได้ทราบว่าพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้นมาสร้างเสนาสนะป่าเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตตำบลของท่าน จึงเดินทางไปขับไล่ เพราะไม่ชอบพระกัมมัฏฐาน พระอุปัชฌาย์ลุยปรารภขึ้นว่า ผมมาที่นี่เพื่อไล่พวกท่าน และจะไม่ให้มีพระกัมมัฏฐานอยู่ในเขตตำบลนี้ ท่านจะว่าอย่างไร พระอาจารย์ฝั้นตอบไปว่า ท่านมาขับไล่ก็ดีแล้ว กัมมัฏฐานนั้นได้แก่อะไร ได้แก่ เกศา คือ ผม โลมา คือขน นขา คือ เล็บ ทันตา คือ ฟัน และ ตโจ คือ หนัง ท่านเจ้าคณะก็เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ได้สอนกัมมักฐานแก่พวกกุลบุตรที่เข้ามาบวชเรียนเป็นศิษย์ของท่าน ท่านก็คงสอนกัมมักฐานอย่างนี้ให้เขาไม่ใช่หรือขอรับ แล้วท่านจะมาขับไล่กัมมัฏฐานด้วยวิธีใดกันล่ะ เกศา – โลมา ท่านจะไล่ด้วยวิธีต้มน้ำร้อนลวก แบบฆ่าเป็ดฆ่าไก่ แล้วเอาคีมเอาแหนบมาถอนเช่นนี้หรือ ? ส่วน นขา – ทันตา – และตโจ ท่านจะไล่ด้วยการเอาค้อนตี ตาปูตีเอากระนั้นหรือไร? ถ้าจะไล่กัมมัฏฐานแบบนี้กระผมก็ยินดีให้ไล่นะขอรับ
พระอุปัชฌาย์ลุยได้ฟังก็โกรธมาก พูดอะไรไม่ออก คว้าย่ามลงจากกุฏิไปเลย
ระหว่างจะพรรษาปีนั้น พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์ฝั้น ได้เทศนาสั่งสอนพวกญาติโยมบ้านบ่อชะเนงและบ้านอื่น ๆ ใกล้เคียงมาตลอด ผู้คนต่างก็เลื่อมใสในปฏิปทาของท่านทั้งสองเป็นอย่างมาก ถึงกับให้ลูกชายลูกสาว บวชเป็นพระเป็นเณร และเป็นแม่ชีกันอย่างมากมาย
เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่น ได้พาพระภิกษุสามเณร มาที่บ้านบ่อชะเนง แล้วปรึกษาหารือกันในอันที่จะเดินทางเข้าตัวจังหวัดอุบลฯ เพื่อเทศนาสั่งสอนประชาชนตลอดจนญาติโยมที่ศรัทธาต่อไป
ระหว่างพักที่วัดบูรพา พระอาจารย์มั่นได้พาดยมมารดาจากอุบลฯ ไปอยู่บ้านบ่อชะเนง ตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น เมื่อจัดหาที่พักให้โยมมารดาเรียบร้อยแล้ว ก็มอบให้พระอาจารย์อุ่น รับภาระดุแลโยมมารดาต่อไป
ออกพรรษาครั้งนี้ พระอาจารย์ฝั้น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร ๓ รูป และลูกศิษย์ผ้าขาว ๒ คน ได้ลาพระอาจารย์มั่นออกเที่ยวธุดงค์ไปตามป่าเขา จนกระทั่งไปถึงบ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม
ขณะเสาะหาสถานที่บำเพ็ญภาวนาอยู่นั้น โยมผู้หนึ่งได้แจ้งแก่ท่านว่า ละแวกนี้มีถ้ำอยู่แห่งหนึ่ง ชื่อถ้ำจำปา ท่านจึงให้พาไป ครั้นพอไปถึงหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่งก็พากันหยุดพักพอหายเหนื่อยก็พากันเดินทาง ต่อไป เมื่อเดินไปได้พักใหญ่ก็ยังไม่ถึงสักที โยมชักละล้าละลัง แล้วก็บอกว่า ถ้าจะเลยมาเสียแล้ว จึงได้พากันเดินย้อนกลับมาที่หนองน้ำใหม่ ได้เดินกลับไปกลับมาเช่นนี้อยู่สองเที่ยว โดยวกไปเวียนมา ในที่สุดก็กลับมาที่เก่าทุกคราว โยมที่นำมาบอกว่า ไม่ใช่ที่เก่า ท่านจึงได้ชี้น้ำหมากที่ท่านได้บ้วนไว้ตอนหยุดพักเหนื่อยเมื่อสักครู่นี้ให้ ดู โยมคนนั้นจึงได้ยอมจำนน แล้วได้พากันเดินทางต่อไป ในที่สุดก็พบถ้ำจำปาเอาเมื่อเวลาประมาณ ๕ โมงเย็น ต่างก็เข้าไปดูสภาพภายในถ้ำและจัดเตรียมที่ที่จะพักกันต่อไป
พระอาจารย์ฝั้นได้ถามโยมผู้นั้นอีกว่าหมู่บ้านอยู่ที่ไหน เพื่อที่จะทราบที่บิณฑบาตและบริเวณนี้จะหาน้ำได้ที่ไหน โยมตอบว่า หมู่บ้านไม่รู้เหมือนกันว่าอยู่ตรงไหนแน่ ส่วนน้ำอยู่ใต้ถ้ำ
คืนนั้น ในขณะที่ท่านได้นั่งสมาธิอยู่ ได้นิมิตเห็นทางคนเดิน และได้ยินเสียงวัวร้อง ท่านจึงได้มองตามทางสายนั้นไปเรื่อย ๆ จนได้ระยะจากถ้ำประมาณ ๒๐๐ เส้น จึงเห็นโรงนาหลังหนึ่งและทางเข้าหมู่บ้านอยู่ใกล้ ๆ ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นท่านพร้อมด้วย พระ เณร และลูกศิษย์ผ้าขาวคนหนึ่งได้ออกบิณฑบาต โดยตัวท่านเองเดินนำไปตามทาง ปรากฏว่า ระหว่างทางเป็นป่ารก ต้นไม้ก็ทึมทึบ สุดท้ายก็ได้พบโรงนาและทางเข้าหมู่บ้านซึ่งตรงกับที่ปรากฏในนิมิต ท่านจึงนำเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๗ – ๘ หลังคาเรือน ในตอนกลับ ทั้งหมดต่างก็กลับไม่ถูก ได้ถามชาวบ้านดู ก็ไม่มีใครรู้จักถ้ำจำปาเลยสักคนเดียว ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านเหล่านี้เพิ่งจะอพยพมาอยู่และตั้งหมู่บ้านนี้ขึ้น ได้เมื่อไม่นานมานี้เอง ยังไม่คุ้นกับภูมิประเทศในละแวกนี้ ท่านได้ออกปากถามถึงหนองน้ำใหญ่ ชาวบ้านก็รู้จักกันดี ท่านจึงได้ให้ชาวบ้านพาไปส่ง แล้วจับเส้นทางจากหนองน้ำกลับไปถ้ำ กว่าจะถึงก็เป็นเวลาล่วงเข้า ๓ โมงเช้าแล้ว
ที่ถ้ำจำปา พระอาจารย์ฝั้นได้พักทำความเพียรอยู่เป็นเวลาถึง ๒๐ วัน จึงได้เดินทางกลับ
ที่มา : http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=65
http://www.dhammatoday.com/index.php?option=com_content&view=article&id=555:2009-11-18-02-37-34&catid=118:2009-10-08-04-23-43&Itemid=74