ศิษย์ผู้ได้รับมอบไม้เท้า และพัดหางนกยูง จากครูบาเจ้าศรีวิชัย (ครูบาเจ้าชุ่ม วัดชัยมงคล (วังมุย) )

ศิษย์ผู้ได้รับมอบไม้เท้า และพัดหางนกยูง จากครูบาเจ้าศรีวิชัย

ครูบาเจ้าศรีวิชัย-ตนบุญแห่งล้านนา ได้ริเริ่มดำเนินการก่อสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงได้เรียกหาครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ผู้เป็นศิษย์ให้เข้ามาช่วยเหลือ​การก่อสร้างด้วย ตอนนั้นครูบาเจ้าชุ่มมีอายุเพียง ๓๗ ปี ท่านได้มาอยู่รับใช้ช่วยเหลืองานของครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มเจ้าศรีวิชัยอย่างใกล้ชิด โดยครูบาเจ้าชุ่มทำงานในแผนก “สูทกรรม” เวลาต่อมา พระภิกษุหนุ่มวัยยี่สิบเศษนาม “ตุ๊วงศ์” หรือ หลวงปู่ครูบาวงศ์ ก็มาปวารณาตัวช่วยงานครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยเช่นกัน โดยตุ๊วงศ์ทำงานในแผนก “ดินระเบิด” ท่านครูบาศรีวิชัยได้แบ่งหน้าที่การงานต่างๆ มอบหมายให้พระลูกศิษย์แต่ละท่านอย่างชัดเจน

จากการที่ได้อยู่ใกล้ชิดช่วยเหลือกิจการงานดังกล่าว ครูบาเจ้าชุ่มจึงมีโอกาสได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติจากครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างเต็มที่ ท่านได้นำไปฝึกฝนปฏิบัติต่อหลังจากเสร็จงานทุกวัน จนเกิดความชำนาญแตกฉานขึ้นตามลำดับ

ในยามค่ำ ครูบาเจ้าศรีวิชัยท่านจะอบรมสั่งสอนธรรมะ และการเจริญพระกรรมฐานแก่พระเณรและประชาชนทั่วไป โดยท่านจะเริ่มวัตรปฏิบัติในเวลาตี ๔ ของทุกวัน ครั้นฟ้าสว่างแล้วก็ให้พระเณรออกบิณฑบาต โดยข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลายที่ท่านสอนนั้น ท่านยังได้บอกว่า

“หากปฏิบัติถูกต้องแล้ว จะมีอายุยืนยาว”

ครูบาเจ้าชุ่ม ได้อยู่ศึกษาปฏิบัติ และช่วยเหลืองานของครูบาศรีวิชัยหลายด้าน จนท่านเป็นที่รักและเมตตาของครูบาศรีวิชัยเป็นอย่างยิ่ง บางครั้งท่านได้รับความไว้วางใจให้อยู่ดูแลรักษาวัด ทำหน้าที่เหมือนเจ้าอาวาสแทนเวลาที่ครูบาศรีวิชัยไม่อยู่ เพราะตอนนั้นครูบาศรีวิชัยถูกเรียกตัวเข้าพระนคร (กรุงเทพฯ) บ่อยๆ จากกรณีต้องอธิกรณ์ต่างๆ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ฝากให้ครูบาเจ้าชุ่มทำหน้าที่แทนท่าน ตั้งแต่การรับประเคนเครื่องไทยธรรม จนถึงการนั่งรับแขกที่มาหาครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยระบุว่า “หากพวกชาวบ้านมาหาให้ต้อนรับ ให้ศีลให้พรแทนด้วย บอกเขาด้วยว่า ไม่กี่วันเฮาจะกลับมา”

แม้ในขณะที่ครูบาเจ้าชุ่มกลับไปประจำที่วัดวังมุย เมื่อครูบาศรีวิชัยมีกิจธุระ ก็จะส่งคนไปตามท่านถึงวัดวังมุย และทุกครั้งครูบาเจ้าชุ่มก็เต็มใจเดินทางมาสนองงานอาจารย์ของท่านด้วยความผูกพันและกตัญญู

ช่วงที่การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพใกล้จะแล้วเสร็จนั้น ในวันหนึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เรียกครูบาเจ้าชุ่มเข้าไปพบ เพื่อทบทวนธรรมะพระสูตรต่างๆ ทั้งหมดที่เล่าเรียนกันมา จากนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มอบพัดหางนกยูงพร้อมกับไม้เท้าประจำองค์ท่านให้ครูบาเจ้าชุ่ม โดยสั่งไว้ด้วยว่า “เอาไว้เดินทางเทศนา”

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านอาพาธและรักษาตัวอยู่ที่วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน ศิษย์ใกล้ชิดที่คอยพยาบาลอุปัฏฐากท่านในตอนนั้น คือ ครูบาเจ้าชุ่ม วัดชัยมงคล (วังมุย) จ.ลำพูน, ครูบาบุญทืม พรหมเสโน วัดจามเทวี จ.ลำพูน และครูบาธรรมชัย ธมฺมชโย วัดทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-choom-photigo/kb-choom-hist-01-01.htm

. . . . . . .