ไหว้สา “ครูบาน้อย” วัดศรีดอนมูล
หากเอ่ยชื่อ “วัดพระเจ้าก้นกึ่ง” เชื่อว่าคงไม่ค่อยมาใครรู้จัก แต่หากเอ่ยชื่อ “วัดศรีดอนมูลครูบาน้อย” หลายท่านคงนึกออก เพราะวัดพระเจ้าก้นกึ่งก็คือวัดเดียวกับวัดศรีดอนมูล ตั้งอยู่ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
จากหลักฐานการสร้างวัดนี้ไม่มีปรากฏเป็นหลักฐานแน่ชัด แต่จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่สืบต่อกันมาเล่าว่า ในอดีตวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อใดไม่มีใครทราบ แต่ชาวบ้านในอดีตเรียกว่า “วัดพระเจ้าก้นกึ่ง” เนื่องจากวัดมีสภาพรกร้างรวมถึงมีพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณวัด ต่อมามาช้างป่าเข้ามาหากินและได้ใช้งางัดพระพุทธรูปจนหน้าคว่ำลงทำให้ฐานพระพุทธรูปยกขึ้น ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “วัพระเจ้าก้นกึ่ง”
อย่างไรก็ตามจากหลักฐานภาษาล้านนาสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นมาในสมัยของพระเจ้าติโลกราช ต่อมาเกิดสงครามพม่ายกทัพเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ทำให้บ้านเมืองเกิดระส่ำระสายชาวบ้านต่างพากันหนีตาย วัดแห่งนี้จึงรกร้างขาดการทำนุบำรุงหลายร้อยปี ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละได้เข้ามากู้อิสรภาพด้วยการขับไล่พม่าข้าศึกออกจากล้านนาไทย และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ทรงพระนามว่า “เจ้าพระยาวชิระปราการ” แล้วได้ให้แสนพิงยี่เป็นแม่ทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน แต่ไม่สำเร็จเลยกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเชียงแสนมาจำนวนมาก พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นจึงได้ให้พระยาชมภูเป็นหัวหน้านำผู้คนจากเมืองเชียงแสนที่กวาดต้อนมานั้นไปหาที่สร้างบ้านเรือนในบริเวณบ้านยางเนิ้ง ซึ่งเป็นอำเภอสารภีในปัจจุบัน
พระยาชมภูพร้อมด้วยชาวเชียงแสนได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านยางเนิ้งเห็นว่าเป็นทำเลที่ดีต่างพากันหักร้างถางพงสร้างบ้านเรือนอาศัย ก็พบวัดร้างอยู่ 2 วัด วัดที่อยู่ทิศเหนือชาวพระยาชมภูได้บูรณะก่อสร้างขึ้นใหม่ให้ชื่อว่า “วัดพญาชมภู” ส่วนวัดร้างที่พบทางทิศใต้อันเป็นชัยภูมิเหมาะสมเพราะเป็นที่ดอนพูนขึ้นเป็นเนินสูง ชาวเชียงแสนจึงบูรณะและให้ชื่อว่า “วัดศรีดอนมูล”
วัดศรีดอนมูล เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับมีเจ้าอาวาสปกครองสืบต่อกับมาหลายองค์ ถึงกระทั่งปี พ.ศ.2474 พระภิกษุคำมูล สิทธิโก เป็นเจ้าอาวาสได้ก่อสร้างวิหารขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ จนถึงปี พ.ศ.2493 พระภิกษุผัด ผุสุสิตธมฺโม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัด สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารตึก 2 ชั้นให้พระเณรได้ศึกษาเล่าเรียน รวมถึงสร้างวิหารขึ้นแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธียกช่อฟ้า บรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนเศียรพระประธานในวิหารด้วย
ในปี พ.ศ.2539 พระครูสิริศีลสังวร (ครูบาน้อย) ได้สร้างกุฎิสงฆ์ล้านนา เป็นอาคารไม้ทั้งหลังและได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดป้ายกุฏิและได้พระราชทานนามว่า “กุฏิสงฆ์ล้านนาญาณสังวราราม”
http://www.chiangmainews.co.th/page/?p=221861